In Focus:อาเซียน ซัมมิท 2559 - โชว์โต้คลื่นของสหรัฐเพื่อชิงความเป็นพี่ใหญ่อาเซียนคืนจากจีน

ข่าวต่างประเทศ Wednesday February 17, 2016 14:31 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ถือว่าผิดแผนไม่น้อยเมื่อที่ประชุมสุดยอดอาเซียน-สหรัฐ ไม่ได้ระบุชื่อ “ทะเลจีนใต้" ลงไปในแถลงการณ์ แต่กลับเน้นพันธกิจร่วมกันสู่ "สันติวิธี" ในการคลี่คลายข้อพิพาท และ "สิทธิแห่งเสรีภาพในการเดินเรือและการบิน"

การประชุมสุดยอดระยะเวลา 2 วันระหว่างวันที่ 15-16 ก.พ. เปิดฉากขึ้นที่สถานตากอากาศซันนีแลนด์ รัฐแคลิฟอร์เนีย และมุ่งถกประเด็นความมั่นคงทะเลและประเด็นสำคัญต่างๆ โดยเฉพาะความเคลื่อนไหวของจีนในทะเลจีนใต้

นับเป็นครั้งแรกที่สหรัฐเป็นโต้โผจัดการประชุมนี้ ซึ่งหลายฝ่ายมองว่าการประชุมครั้งนี้ส่อไปในเชิงสัญลักษณ์มากกว่าเชิงสาระ เนื่องจากสหรัฐต้องการทวงคืนความเป็นพี่ใหญ่ในภูมิภาคอาเซียนคืนมาอีกครั้งหนึ่ง โดยอาศัยสถานการณ์ความตึงเครียดในทะเลจีนใต้ หลังจากที่ปล่อยให้จีนแย่งซีนอยู่เป็นเวลานาน

* เปิดปมทะเลจีนใต้เดือด

ความเคลื่อนไหวในทะเลจีนใต้ของจีนคือสิ่งที่กวนใจเพื่อนบ้านอาเซียนมาโดยตลอด แต่สถานการณ์มาถึงจุดพีค เมื่อจีนได้สร้างหมู่เกาะเทียมขึ้นมาในบริเวณหมู่เกาะสแปรตลีย์ ที่ประกอบด้วยเกาะเล็กๆ กระจายในทะเลจีนใต้ ด้วยการดูดตะกอนจากใต้ทะเล แล้วส่งตะกอนเหล่านั้นผ่านท่อ เพื่อให้ตะกอนเหล่านั้นไปกองทับถมบนแนวปะการังที่จมใต้น้ำจนกลายเป็นเกาะ โดยเกาะดังกล่าวเผยโฉมเป็นรูปร่างขึ้นช่วงเดือนส.ค.-ก.ย.2557

นอกเหนือจากจีนแล้ว ประเทศอื่นๆ ได้แสดงความเป็นเจ้าของหมู่เกาะสแปรตลีย์ด้วยเช่นกัน ได้แก่ ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย บรูไน เวียดนาม และไต้หวัน อันที่จริงจีนไม่ใช่ประเทศแรกที่ขยายพื้นที่หมู่เกาะสแปรตลีย์ เพราะประเทศอื่นที่อ้างกรรมสิทธิ์ในหมู่เกาะนี้ ก็เคยถมพื้นที่ขยายอาณาเขต เช่น เวียดนาม ซึ่งถมพื้นที่ยื่นออกไปจากเกาะ Sand Cay แต่สาเหตุที่กรณีของจีนกลายเป็นเรื่องฮือฮาขึ้นมา เพราะจีนถมพื้นที่สร้างเกาะเทียมขนาดใหญ่กว่ากันลิบลับ

ฟิลิปปินส์และเวียดนามคือสองประเทศอาเซียนที่แสดงความไม่พอใจเกี่ยวกับความเคลื่อนไหวของจีน ยิ่งหลังจากที่จีนทดสอบการบินบนเกาะเทียมดังกล่าวเมื่อเดือนม.ค.ที่ผ่านมา ทั้งสองประเทศยิ่งมีปฏิกิริยามากกว่าเดิม โดยฟิลิปปินส์ได้ประท้วงจีนอย่างเป็นทางการในเรื่องการทดสอบเที่ยวบินบนเกาะเทียม รวมถึงประท้วงการกระทำอันยั่วยุของจีนที่จำกัดเสรีภาพในการเดินเรือและการบินในทะเลฟิลิปปินส์ตะวันตก ขณะที่เวียดนามมองกว่าการทดสอบบินถือเป็นการละเมิดอำนาจอธิปไตยของเวียดนาม และ "เป็นการคุกคามความปลอดภัยของเที่ยวบินทั้งหมดภายในภูมิภาค"

* เหตุใด “ซันนีแลนด์ ซัมมิท" จึงสำคัญต่อสหรัฐนัก

สถานการณ์ตึงเครียดในทะเลจีนใต้ เอื้อต่อการให้สหรัฐกลับมาถ่วงสมดุลอิทธิพลของจีนในอาเซียน แม้ว่าการประชุมไม่นำไปสู่บทสรุปสุดท้ายเกี่ยวกับสถานการณ์ความมั่นคงทางทะเลภายในภูมิภาคก็ตาม แต่ถือเป็นโอกาสทองสำหรับประธานาธิบดีบารัค โอบามาของสหรัฐ ซึ่งครบวาระการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีเป็นปีสุดท้ายในปีนี้ การจัดประชุมสุดยอดอาเซียนที่ซันนีแลนด์ เป็นการส่งสัญญาณความสำคัญของอาเซียนสู่ผู้สืบทอดตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐในเวลาต่อไป

ทั้งนี้ ภูมิภาคอาเซียนคือหนึ่งในแกนนโยบายหลักว่าด้วยเอเชียของสหรัฐ และสหรัฐเป็นประเทศแรกนอกกลุ่มอาเซียนที่แต่งตั้งทูตประจำภูมิภาคอาเซียน หลังการอนุมัติสนธิสัญญาไมตรีและความร่วมมือในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Treaty of Amity and Cooperation: TAC) เมื่อไม่กี่ปีก่อนหน้านี้

นอกเหนือจากประเด็นทางการเมืองและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศแล้ว สหรัฐยังหวังให้การประชุมครั้งนี้ปูทางไปสู่ความเป็นหุ้นส่วนเศรษฐกิจเต็มรูปแบบในภูมิภาค หลังจากที่สหรัฐเป็นแกนนำทำข้อตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (TPP) ซึ่งประกอบด้วยประเทศอาเซียน 4 ประเทศ ได้แก่ บรูไน มาเลเซีย สิงคโปร์ และเวียดนาม

อาเซียนคือตลาดส่งออกขนาดใหญ่ที่สุดอันดับ 4 ของสหรัฐ ที่ช่วยสร้างงานให้ชาวอเมริกันเกือบล้านคน อีกทั้งยังขับเคลื่อนการขยายตัวของบริษัทสหรัฐหลายแห่งที่ได้เข้าไปลงทุนภายในภูมิภาค โดยอาเซียนคือกลุ่มเศรษฐกิจขนาดใหญ่ที่สุดอันดับ 7 ของโลก ซึ่งมีประชากรทั้งหมดราว 625 ล้านคน

* สถานะความสัมพันธ์ซับซ้อน อาเซียน-จีนก็เช่นกัน

อาจกล่าวได้ว่าอาเซียนมีความหมายอย่างยิ่งต่อสหรัฐ ขณะที่กลุ่มประเทศอาเซียนเองกลับมองสหรัฐด้วยท่าทีที่แตกต่างกันออกไป โดยประเทศอาเซียนส่วนใหญ่ต้องการทำการค้าและการลงทุนกับจีนให้มากที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ ขณะที่รักษาสถานะความสัมพันธ์ด้านความมั่นคงกับสหรัฐเอาไว้

ฟิลิปปินส์และเวียดนามจัดอยู่ในกลุ่มที่แสดงความไม่พอใจต่อจีนอย่างชัดเจนที่สุด โดยฟิลิปปินส์เคยทำข้อตกลงความร่วมมือด้านกลาโหมเพิ่มเติม (Enhanced Defense Cooperation Agreement) ร่วมกับสหรัฐ ท่ามกลางกระแสวิจารณ์ภายในประเทศเกี่ยวกับประเด็นด้านอำนาจอธิปไตย ในกรณีของเวียดนามนั้น ความสัมพันธ์กับสหรัฐถือว่าอยู่ในเกณฑ์ดี ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นเพราะเวียดนามมีประเด็นพิพาทกับจีนที่เกี่ยวเนื่องกับหมู่เกาะทะเลจีนใต้

ส่วนกลุ่มที่มีท่าทีแบ่งรับแบ่งสู้ ประกอบด้วย อินโดนีเซีย สิงคโปร์ และไทย ซึ่งมุ่งรักษาความสัมพันธ์เชิงกลยุทธ์เป็นหลัก อันเนื่องมาจากโครงการพื้นที่และเส้นทางเศรษฐกิจ "Belt and Road" และธนาคารเพื่อการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานแห่งเอเชีย (AIIB) โดยจีนเป็นประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่และเป็นคู่ค้าสำคัญของทั้งสิงคโปร์และไทย ขณะที่อินโดนีเซียหวังพึ่งเม็ดเงินลงทุนในโครงการสาธารณูปโภคจากจีน โดยเมื่อเดือนต.ค.ปีที่แล้ว จีนและอินโดนีเซียได้ลงนามในข้อตกลงเพื่อร่วมลงทุนก่อสร้างและดำเนินงานรถไฟความเร็วสูงจากกรุงจาการ์ต้าไปยังเมืองบันดุง

ด้านกัมพูชา เมียนมาร์ และลาว ต่างพยายามหลีกเลี่ยงความขัดแย้งกับจีนทุกวิถีทาง โดยกัมพูชานั้นสานสัมพันธ์ทางการทูตกับจีนมาอย่างยาวนานนับตั้งแต่ปี 2501 และเมื่อช่วงต้นเดือนก.พ.ที่ผ่านมา จีนและกัมพูชาเพิ่งบรรลุข้อตกลงความร่วมมือทางการค้า การลงทุน และการเกษตร ขณะที่เมียนมาร์ซึ่งกำลังอยู่ระหว่างช่วงเปลี่ยนผ่านทางการเมือง เดินหน้าใช้นโยบายต่างประเทศที่เป็นมิตรกับทุกประเทศซึ่งรวมถึงจีนด้วยเช่นกัน ส่วนลาวที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับจีนนั้น ได้ออกตัวคัดค้านการระบุชื่อทะเลจีนใต้ลงในแถลงการณ์หลังเสร็จสิ้นการประชุม

อย่างไรก็ดี ประธานาธิบดีโอบามาเปิดเผยหลังการประชุมว่า สหรัฐจะส่งเสริมนโยบายที่มุ่งเน้นภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกเป็นสำคัญต่อไป โดยผู้นำสหรัฐมีกำหนดเดินทางเยือนเวียดนามในเดือนพ.ค. และลาวในเดือนก.ย.ปีนี้ ซึ่งโอบามาจะเป็นประธานาธิบดีสหรัฐคนแรกที่เดินทางไปเยือนลาว

* ประชุมจบ แต่คลื่นลมไม่สงบ

แม้สหรัฐ-อาเซียนเห็นพ้องกันว่าจะมุ่งสู่ “แนวทางสันติ" เพื่อคลี่คลายข้อพิพาทต่างๆ ที่รวมถึงประเด็นทะเลจีนใต้ แต่ผู้ครองสปอตไลท์หลักของการประชุมอย่างจีน ดูเหมือนไม่อยากนิ่งเฉยซักเท่าไหร่นัก

หลังเสร็จสิ้นการประชุม เจ้าหน้าที่สหรัฐและไต้หวันเปิดเผยว่า จีนได้ติดตั้งระบบขีปนาวุธแบบภาคพื้นดินสู่อากาศ เข้าไปในหมู่เกาะซึ่งตั้งอยู่ในทะเลจีนใต้ที่กำลังเป็นข้อพิพาท และนั่นส่งผลให้เกิดความตึงเครียดมากขึ้น

สำนักข่าวฟ็อกซ์นิวส์รายงานว่า เจ้าหน้าที่สหรัฐออกมายืนยันภาพถ่ายของระบบขีปนาวุธ HQ-9 ขอบเขตครอบคลุมระยะ 125 ไมล์ (200 กิโลเมตร) โดยระบบขีปนาวุธที่ว่านี้อาจเป็นภัยคุกคามต่อเครื่องบินพลเรือนและเครื่องบินทหารที่บินเข้าใกล้บริเวณดังกล่าว

... ดูทรงแล้วคลื่นในทะเลจีนใต้คงยากที่จะสงบนิ่ง อาจต้องรอดูว่าใครจะออกมากระเพื่อมคลื่นน้ำเป็นรายต่อไป


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ