เปิดฉากขึ้นแล้วอย่างเป็นทางการสำหรับการเลือกตั้งขั้นต้นเพื่อเฟ้นหาตัวแทนจากสองพรรคการเมืองใหญ่อย่าง เดโมแครต และ รีพับลิกัน เพื่อไปชิงชัยเก้าอี้ประธานาธิบดีสหรัฐในช่วงปลายปีนี้ ต่อจากนายบารัค โอบามา ประธานาธิบดีคนปัจจุบันซึ่งจะพ้นจากตำแหน่ง หลังบริหารประเทศมาครบ 2 สมัย ยาวนาน 8 ปี ทำให้หมดสิทธิลงเลือกตั้งอีกตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด
ประเดิมกันด้วยการหยั่งเสียงหรือการเลือกตั้งขั้นต้นแบบคอคัส (caucus) ที่รัฐไอโอวาเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ตามด้วยการเลือกตั้งแบบไพรมารี (primary) ที่รัฐนิวแฮมป์เชอร์ในวันที่ 9 กุมภาพันธ์ การเลือกตั้งแบบคอคัสในรัฐเนวาดา และไพรมารีในรัฐเซาท์แคโรไลนา เมื่อช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ และล่าสุดกับศึก “Super Tuesday" ในวันที่ 1 มีนาคม
เพื่อให้การเกาะติดบรรยากาศการหาเสียงและลุ้นผลเลือกตั้งเป็นไปอย่างสนุก เรามาลองทำความรู้จักระบบเลือกตั้งที่ค่อนข้างสลับซับซ้อนของสหรัฐอเมริกาที่ได้ชื่อว่าเป็นดินแดนที่มีกลิ่นอายความเป็นประชาธิปไตยหอมหวนที่สุดประเทศหนึ่งของโลก
* ขับเคี่ยวเพื่อเป็นตัวแทนพรรค
เป็นที่ทราบกันดีว่า สหรัฐอเมริกามีพรรคการเมืองหลักอยู่สองพรรค คือ รีพับลิกัน (GOP) ที่มีแนวทางอนุรักษ์นิยมชัดเจน และเดโมแครต ที่มีนโยบายเสรีนิยม เมื่อถึงคราวเลือกตั้ง แต่ละพรรคก็จะต้องสรรหาตัวแทนของพรรคเองเสียก่อนที่จะส่งไปลงสนามชิงเก้าอี้ประธานาธิบดีสหรัฐ ซึ่งกระบวนการนี้ก็คือการเลือกตั้งขั้นต้นนั่นเอง
สำหรับพรรคเดโมแครต มีผู้เหลือรอดอยู่บนสังเวียนเพียง 2 ราย โดยแคนดิเดตหมายเลข 1 ที่ประกาศตัวลงชิงชัยมาตั้งแต่ไก่โห่ พร้อมยืนหยัดบนเวทีอย่างเหนียวแน่น ได้แก่ นางฮิลลารี คลินตัน วัย 68 ซึ่งคุ้นหน้าคุ้นตากันดีอยู่แล้ว ด้วยดีกรีอดีตสุภาพสตรีหมายเลข 1 พ่วงด้วยตำแหน่งสำคัญทางการเมืองอีกหลายตำแหน่ง ซึ่งรวมถึงรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐ ขณะที่ผู้ท้าชิง คือ นายเบอร์นี แซนเดอร์ส วัย 74 ปี วุฒิสมาชิกจากรัฐเวอร์มอนต์
ด้านฟากฝั่งรีพับลิกัน นับว่ามีสีสันอย่างมาก ด้วยมีผู้หาญกล้าลงสมัครชิงตำแหน่งตัวแทนพรรคกันหลายคน นำโดยแคนดิเดตที่ถูกพูดถึงมากที่สุดและยึดพื้นที่สื่อมวลชนไปเกือบทั้งหมดอย่างนายโดนัลด์ ทรัมป์ มหาเศรษฐีนักธุรกิจ วัย 69 ปี ซึ่งอาจกล่าวได้ว่าไม่มีใครในอเมริกาไม่รู้จัก ขณะที่ชาวต่างชาติอาจรู้จักเขาในฐานะที่เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์การประกวดนางงามจักรวาล ส่วนผู้สมัครคนอื่นๆ ประกอบไปด้วยนายเท็ด ครูซ วัย 45 ปี วุฒิสมาชิกจากรัฐเท็กซัส นายมาร์โค รูบิโอ วัย 44 ปี วุฒิสมาชิกจากรัฐฟลอริดา นายจอห์น คาซิค วัย 63 ปี ผู้ว่าการรัฐโอไฮโอ และนายเบน คาร์สัน ศัลยแพทย์ผิวสี วัย 64 ปี
โดยผู้สมัครจะเจอกับการเลือกตั้งขั้นต้นแบบ คอคัส และ ไพรมารี ใน 50 มลรัฐ บวกกับดิสตริกต์ออฟโคลัมเบีย ซึ่งเป็นที่ตั้งของกรุงวอชิงตัน ดีซี เมืองหลวงของประเทศ รวมถึงดินแดนโพ้นทะเลอื่นๆ ที่เป็นเครือรัฐของสหรัฐอเมริกา ได้แก่ อเมริกันซามัว กวม จอห์นสตันอะทอลล์ หมู่เกาะมิดเวย์ หมู่เกาะนอร์ธเทิร์นมาเรียนา เปอร์โตริโก หมู่เกาะเวอร์จิน และเขตคลองปานามาในส่วนที่สหรัฐอเมริกาเช่าไว้จากประเทศปานามา
* คอคัส หรือ ไพรมารี ต่างกันอย่างไร?
รัฐส่วนใหญ่ในสหรัฐอเมริกาใช้รูปแบบการเลือกตั้งแบบไพรมารี ซึ่งเป็นการลงคะแนนลับในคูหาเหมือนการเลือกตั้งทั่วไป โดยในบางรัฐ ผู้ที่ลงทะเบียนเป็นสมาชิกพรรคการเมืองเท่านั้นจึงจะมีสิทธิลงคะแนนเสียงเลือกตั้งขั้นต้นแบบไพรมารีของพรรคนั้นๆ ได้ ซึ่งเรียกว่า closed primary ขณะที่ในรัฐอื่นๆ ผู้โหวตไม่จำเป็นต้องเป็นสมาชิกพรรคก็สามารถลงคะแนนเสียงได้ หรือที่เรียกว่า open primary
สำหรับการเลือกตั้งแบบคอคัสนั้น ปัจจุบันมีใช้กันในเพียง 12 มลรัฐ และมีขั้นตอนที่สลับซับซ้อนกว่า นอกจากนี้ ในแต่ละมลรัฐ และในแต่ละพรรค ต่างก็มีกฎกติกาในการจัดคอคัสแตกต่างกัน อย่างไรก็ดี ในรัฐส่วนใหญ่ อาทิ ไอโอวา ซึ่งถือเป็นรัฐที่โดดเด่นสำหรับการเลือกตั้งแบบคอคัสนั้น ผู้ที่ลงทะเบียนเป็นสมาชิกพรรคระดับท้องถิ่นจะนัดหมายประชุมกันตามโบสถ์ โรงเรียน โรงยิม ห้องสมุด สถานีดับเพลิง หรืออาคาร สาธารณะอื่นๆ เพื่ออภิปรายเกี่ยวกับตัวผู้สมัครแต่ละราย ตลอดจนนโยบายต่างๆ จากนั้นสมาชิกผู้มีสิทธิออกเสียงจึงจะลงคะแนน โดยการเลือกตั้งแบบคอคัสอาจจะเป็นการลงคะแนนลับด้วยวิธีหย่อนบัตรลงในหีบ หรือยกมือโหวตแบบเปิดเผย
* Super Tuesday
ศึก Super Tuesday นับว่ามีความสำคัญในขั้นตอนการหยั่งเสียง เพราะเป็นวันที่มีการเลือกตั้งขั้นต้นทั้งแบบ ไพรมารี และ คอคัส พร้อมกันหลายรัฐทั่วประเทศ ซึ่งอาจจะทำให้เห็นโฉมหน้าตัวแทนพรรคตั้งแต่เนิ่นๆ แต่ในทางกลับกัน หากผลการเลือกตั้งที่ออกมายังไม่ชัดเจน ผู้สมัครก็ยังคงต้องขับเคี่ยวกันต่อไปจนถึงช่วงเดือนมิถุนายน เนื่องจากยังมีรัฐอื่นๆกำหนดจัดการเลือกตั้งขั้นต้นหลังจาก Super Tuesday ซึ่งหนึ่งในนั้นรวมถึงรัฐที่มีประชากรหนาแน่นอย่าง แคลิฟอร์เนีย
สำหรับศึก Super Tuesday ในการเลือกตั้งประจำปี 2559 นี้ ตรงกับวันที่ 2 มีนาคม
* การประชุมใหญ่ระดับชาติของพรรค
หลังจากเสร็จสิ้นการเลือกตั้งขั้นต้น ทั้งสองพรรคจะจัดการประชุมใหญ่ระดับชาติ (Party National Convention) เพื่อประกาศชื่อตัวแทนพรรคอย่างเป็นทางการ ซึ่งได้รับเลือกมาจากการโหวตแบบไพรมารี และ คอคัส ในแต่ละรัฐดังที่กล่าวมาก่อนหน้านี้ นอกจากนี้ การประชุมใหญ่จะเป็นเวทีให้ตัวแทนพรรคได้แถลงนโยบายอีกด้วย
โดยปกติแล้ว การประชุมใหญ่จะจัดขึ้นก่อนวันเลือกตั้งทั่วไปประมาณสองเดือนครึ่ง สำหรับในการเลือกตั้งคราวนี้ พรรครีพับลิกันกำหนดจัดประชุมใหญ่ในเมืองคลีฟแลนด์ รัฐโอไฮโอา ระหว่างวันที่ 18-21 กรกฎาคม ส่วนพรรคเดโมแครตกำหนดจัดขึ้นในวันที่ 25-28 กรกฎาคม ในเมืองฟิลาเดลเฟีย มลรัฐเพนซิลเวเนีย
* โค้งสุดท้ายของการหาเสียงกับการโต้วาที
เมื่อแต่ละพรรคได้เลือกตัวแทนเพื่อลงชิงตำแหน่งประธานาธิบดีแล้ว ผู้สมัครของสองพรรคก็เตรียมประจันหน้ากันในการแสดงวิสัยทัศน์โค้งสุดท้ายแบบเต็มสูบ ผ่านทางการโต้วาที (debate) ที่มีการถ่ายทอดออกอากาศให้ผู้ชมทั่วประเทศได้รับชมรับฟัง
การดีเบตถือเป็นเวทีสำหรับวัดกึ๋นผู้สมัคร และอาจเป็นเวทีชี้ชะตาผลการลงคะแนนเลือกตั้ง หากผู้สมัครคนหนึ่งสามารถนำเสนอนโยบาย แสดงปฏิภาณไหวพริบ ตอบข้อซักถาม ได้โดนใจกว่าผู้สมัครอีกราย
สำหรับการเลือกตั้งคราวนี้ จะมีการจัดดีเบตระหว่างผู้สมัครชิงประธานาธิบดีทั้งหมด 3 ครั้ง ได้แก่ วันที่ 26 กันยายน ในเมืองเดย์ตัน รัฐโอไฮโอ วันที่ 9 ตุลาคม ในเมืองเซนต์หลุยส์ รัฐมิสซูรี และวันที่ 19 ตุลาคม ในเมืองลาสเวกัส รัฐเนวาดา นอกจากนี้ยังมีการโต้วาทีระหว่างผู้สมัครชิงตำแหน่งรองประธานาธิบดีสหรัฐ 1 ครั้ง ในฟาร์มวิลล์ รัฐเวอร์จิเนีย วันที่ 4 ตุลาคม
นอกจากการโต้วาทีแล้ว แต่ละฝ่ายยังทุ่มเงินมหาศาลในการโฆษณาและเดินสายหาเสียงในรัฐสำคัญๆ โดยอาสาสมัครผู้สนับสนุนของแต่ละพรรคจะโทรศัพท์หรือเคาะประตูตามบ้านเพื่อขอคะแนนเสียงในช่วงโค้งสุดท้าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสัปดาห์ท้ายๆ ก่อนถึงวันเลือกตั้ง ผู้สมัครจากสองพรรคจะเน้นหนักไปที่รัฐที่เปรียบเหมือนสนามรบในการหาเสียง (battleground states) เนื่องจากผู้มีสิทธิออกเสียงในรัฐกลุ่มนี้ยังไม่ได้เทใจให้พรรคใดพรรคหนึ่งเป็นพิเศษ
* ดีเดย์วันเลือกตั้งทั่วไป 8 พฤศจิกายน
หลังจากที่ผ่านกระบวนการทั้งหลายทั้งปวงในข้างต้น และแล้วก็มาถึงวันสำคัญ นั่นคือ "วันเลือกตั้งทั่วไป" (Election Day) ซึ่งรัฐธรรมนูญสหรัฐกำหนดให้เป็นวันอังคารหลังวันจันทร์แรกของเดือนพฤศจิกายนในปีที่มีการเลือกตั้ง ซึ่งในครั้งนี้ตรงกับวันที่ 8 พฤศจิกายน
ทั้งนี้ ในทางทฤษฎี ประชาชนชาวอเมริกันไม่ได้ลงคะแนนเพื่อเลือกตั้งประธานาธิบดีโดยตรง แต่เป็นการเลือกตั้งทางอ้อมผ่าน "คณะผู้เลือกตั้ง" (electoral college) เพื่อให้ไปทำหน้าที่ออกเสียงเลือกประธานาธิบดีอีกต่อหนึ่ง
โดยคะแนนเลือกตั้งจะมี 2 แบบ เรียกว่า popular vote กับ electoral vote การที่ประชาชนออกจากบ้านไปเลือกคณะผู้เลือกตั้ง ถือเป็น popular vote จากนั้น คณะผู้เลือกตั้งไปเลือกประธานาธิบดีอีกทอดหนึ่งเรียกว่า electoral vote
ผู้ที่จะชนะการเลือกตั้งและก้าวขึ้นเป็นประธานาธิบดีจะต้องได้รับคะแนนเสียงเกินกึ่งหนึ่ง หรือ 270 เสียง ของจำนวนคณะผู้เลือกตั้งทั้งหมด 538 เสียง
* การรับตำแหน่ง
รัฐธรรมนูญสหรัฐระบุไว้ว่า ผู้ที่ได้รับการเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีจะทำพิธีสาบานตนเข้ารับตำแหน่งในวันที่ 20 มกราคมของปีถัดจากปีที่มีการเลือกตั้ง ซึ่งหมายความว่า สหรัฐอเมริกาจะได้ประธานาธิบดีคนใหม่อย่างเป็นทางการในวันที่ 20 มกราคม 2560 นั่นเอง
ระบบการเลือกตั้งสหรัฐยังมีรายละเอียดมากกว่าที่กล่าวถึงในข้างต้น อย่างไรก็ดี หวังว่าคุณผู้อ่านจะได้เห็นภาพรวมของกระบวนการสรรหาผู้นำประเทศแม่แบบประชาธิปไตยแห่งนี้ไม่มากก็น้อย