นับเป็นอีกครั้งที่หนึ่งในประเทศเศรษฐกิจยักษ์ใหญ่อันดับ 2 ของเอเชียอย่างญี่ปุ่นที่ต้องเผชิญกับเหตุแผ่นดินไหว โดยในคืนวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา ได้เกิดแผ่นดินไหวรุนแรงในจังหวัดคุมาโมโตะ บนเกาะคิวชู ทางภาคตะวันตกเฉียงใต้ของญี่ปุ่น และตามด้วยอาฟเตอร์ช็อกหลายครั้ง ซึ่งเพียงแค่เกิดแผ่นดินไหวขนาด 6.5 ริคเตอร์เพียงครั้งเดียวก็ได้สร้างความเสียหายและความวุ่นวายมากพอแล้ว แต่โชคไม่ได้เข้าข้างดินแดนแห่งนี้เลยสักนิด ในเวลาไล่เลี่ยกันก็เกิดอาฟเตอร์ช็อกความรุนแรง 5.7 ริคเตอร์ตามมา ต่อมาในเวลา 1.25 น. วันเสาร์ ตามเวลาท้องถิ่น ก็เกิดแผ่นดินไหวอีกระลอกซึ่งวัดแรงสั่นสะเทือนได้ 7.3 ซ้ำร้ายยังเกิดเหตุอาฟเตอร์ช็อกขึ้นอีกครั้งด้วยความแรง 6.4 ริคเตอร์ และแม้กระทั่งในวันจันทร์ที่ผ่านมาก็ยังเกิดอาฟเตอร์ช็อกซ้ำอีกครั้งโดยความแรง 5.8 ริคเตอร์ ซึ่งนี่เป็นเพียงตัวอย่างของการสั่นสะเทือนเพียงไม่กี่ครั้งจากทั้งหมดนับร้อยครั้งในช่วงเวลาดังกล่าว ส่งผลให้ผู้คนแตกตื่นหนีตายกันกลางดึก บ้านและอาคารต่างจมอยูในโคลน มีผู้เสียชีวิตล่าสุดอยู่ที่ 47 ราย บาดเจ็บ 190 ราย สูญหายอีก 9 รายและประชาชนอีกนับ 1.1 แสนรายต้องไร้ที่อยู่ แผ่นดินไหวครั้งนี้ถือเป็นเหตุแผ่นดินไหวที่รุนแรงที่สุดครั้งแรกนับตั้งแต่เมื่อวันที่ 11 มี.ค. 2011 ซึ่งในครั้งนั้นมีความรุนแรงถึง 9 ริคเตอร์ อีกทั้งยังเกิดสึนามิความสูง 10 เมตร แม้ว่าแผ่นดินไหวครั้งนี้จะเบากว่าเมื่อปี 2011 ก็ตาม แต่แน่นอนว่าทุกครั้งที่ภัยพิบัติอุบัติขึ้น สิ่งที่ตามมานอกเหนือจากความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินก็คือผลกระทบเชิงลบด้านเศรษฐกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อภัยธรรมชาติครั้งใหญ่ได้เกิดขึ้นระหว่างที่ชาวญี่ปุ่นกำลังหวาดระแวงกับภาวะเศรษฐกิจของประเทศตนที่ยังคงอยู่ในสถานะที่ไม่สู้ดีนัก
เคราะห์ซ้ำกรรมซัด ส่องความเสียหายด้านเศรษฐกิจจากเหตุแผ่นดินไหว
นอกจากความเสียหายมูลค่ามหาศาลแล้ว แน่นอนว่าต้องมีผลกระทบอื่นๆมากมายที่ตามมากับภัยพิบัติครั้งนี้ด้วย สิ่งหนึ่งที่น่าจะเห็นได้ชัดเจนคือผลกระทบทางเศรษฐกิจ เนื่องจากบริเวณเกาะคิวชูเป็นแหล่งรวมโรงงานอุตสาหกรรมผลิตรถยนต์ของญี่ปุ่นโดยคิดเป็น 10% ของจำนวนโรงงานอุตสาหกรรมผลิตรถยนต์ทั่วประเทศ ซึ่งหลังจากที่เกิดเหตุแผ่นดินไหวครั้งนี้ ส่งผลให้เส้นทางสัญจรทั้งทางถนน รถไฟ และเครื่องบินได้รับความเสียหายไม่สามารถใช้บริการได้ โดยเพดานของสนามบินคุมาโมโตะเกิดพลังทลายลง ส่งผลให้เที่ยวบินทั้งขาเข้าและขาออกถูกระงับเป็นการชั่วคราวและสร้างความเดือดร้อนให้แก่ผู้โดยสารไม่น้อยกว่า 6,000 ราย ส่วนเส้นทางสัญจรอื่น ๆ เช่น ถนน คงไม่ต้องพูดถึง เส้นทางต่าง ๆ ในพื้นที่ประสบเหตุล้วนถูกตัดขาด แยกออกจากกันตามแรงสะเทือนของแผ่นดินไหว ส่วนเส้นทางรถไฟชินคันเซ็นบนพื้นที่ดังกล่าวก็ถูกระงับการให้บริการชั่วคราวเช่นกัน สภาพเช่นนี้ไม่เพียงแต่จะสร้างความยากลำบากต่อการเข้าช่วยเหลือผู้ประสบภัยเท่านั้น แต่ยังส่งผลต่อการขนส่งสินค้าของบริษัทยักษ์ใหญ่ต่าง ๆ มากมายของญี่ปุ่น อันจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวมของญี่ปุ่นเป็นมูลค่ากว่าหลายแสนล้านเยน
โตโยต้าถือเป็นบริษัทยักษ์ใหญ่ที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากภัยธรรมชาติครั้งนี้ ฐานการผลิตของโตโยต้า ไดฮัทซุ และฮีโนภายในเกาะคิวชูได้รับผลกระทบจากความเสียหายที่เกิดขึ้นจากแรงแผ่นดินไหว อีกทั้งยังมีปัญหาด้านการจัดการอุปทานและการขนส่ง ทำให้โตโยต้าต้องออกมาประกาศระงับการผลิตในพื้นที่ดังกล่าวทันทีในวันศุกร์ ส่งผลให้โรงงานของโตโยต้ากว่า 26 แห่งทั่วประเทศประสบกับภาวะขาดแคลนชิ้นส่วน และต้องทยอยยุติการผลิตในที่สุด โดยความคืบหน้าอื่น ๆ จะต้องติดตามอย่างใกล้ชิดในระหว่างวันที่ 18-23 เมษายน 2559 โดยจะต้องรอฟังความคืบหน้าจากโตโยต้าว่าจะเปิดดำเนินการผลิตต่อไปในสัปดาห์หน้าหรือไม่ ปัจจัยนี้เองทำให้ นักวิเคราะห์จากมิตซูบิชิ ยูเอฟเจ มอร์แกน สแตนลีย์ออกมาคาดการณ์ว่า กำไรจากการดำเนินงานของโตโยต้าในไตรมาสที่สิ้นสุดเดือนมิ.ย. จะลดลงราว 3 หมื่นล้านเยน นอกจากนี้ยังคาดว่า การผลิตรถยนต์แบรนด์โตโยต้า และเล็กซัส จะลดลง 56,000 คัน และการผลิตรถยนต์ขนาดเล็กอย่างไดฮัทสุ และโคอิชิ ซูกิโมโต จะลดลง 7,500 คัน
มิตซูบิชิ มอเตอร์ส บริษัทผลิตรถยนต์ยักษ์ใหญ่อีกรายก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน โดยมิตซูบิชิได้ประกาศระงับการผลิตในโรงงานซึ่งอยู่ในจังหวัดโอโกยามาซึ่งเป็นจังหวัดที่อยู่ห่างจากเกาะคิวชูไม่มากนัก อีกทั้งโรงงานในเครือแห่งหนึ่งซึ่งตั้งอยู่ในจังหวัดคุมาโมโตะก็ได้รับความเสียหายอย่างหนักเช่นกัน สิ่งนี้แสดงให้เห็นว่า ความเสียหายไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะบนในจังหวัดคุมาโมโตะเท่านั้น แต่ยังเกิดขึ้นในบริเวณจังหวัดใกล้เคียงด้วย ทำให้มิตซูบิชิต้องยุติการผลิตตั้งแต่คืนวันจันทร์ไปจนถึงวันอังคารที่ผ่านมา
เมื่อพูดถึงโตโยต้า และมิตซูบิชิแล้ว ก็คงจะอดนึกถึงบริษัทฮอนด้าไม่ได้ เนื่องจากฮอนด้าเองก็มีโรงงานผลิตรถจักรยานยนต์อยู่ที่เมืองโอซุของจังหวัดคุมาโมโตะเช่นกัน ซึ่งฮอนด้าได้สั่งระงับการดำเนินการในพื้นที่ดังกล่าวไปเรียบร้อยแล้ว
นอกจากบริษัทจากอุตสาหกรรมยานยนต์แล้ว บริษัทผลิตอุปกรณ์ไอทีอย่างโซนี่ก็ได้รับความเสียหายไม่แพ้กัน เนื่องจากโซนี่มีโรงงานผลิตเซมิคอนดักเตอร์อยู่ที่เมืองคิคุโยะ จังหวัดคุมาโมโตะ ซึ่งโรงงานดังกล่าวเป็นแหล่งสำคัญในการผลิตเซ็นเซอร์ภาพถ่ายซึ่งจะถูกนำไปใช้ในกล้องถ่ายรูปและโทรศัพท์สมาร์ตโฟนของโซนี่ ซึ่งความเสียหายที่เกิดขึ้นส่งผลให้โซนี่ต้องออกมาประกาศระงับการผลิตอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ส่วนบริษัทเรเนซาส อิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งเป็นผู้ผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ชื่อดังอีกรายของญี่ปุ่นก็พลอยติดร่างแหไปกับบริษัทยักษ์ใหญ่รายอื่น ๆ ด้วย เนื่องจากมีโรงงานอยู่ในจังหวัดคุมาโมโตะเช่นกัน โดยโรงงานดังกล่าวได้ปิดทำการนับตั้งแต่วันพฤหัสบดีเป็นต้นมา และด้วยอาฟเตอร์ช็อกที่เกิดขึ้นไม่ต่ำกว่าร้อยครั้ง ส่งผลให้ขณะนี้ยังไม่มีบุคลากรคนใดของบริษัทเข้าไปสำรวจความเสียหายภายในโรงงาน
เหตุแผ่นดินไหวครั้งนี้ก็สะเทือนไปถึงตลาดหุ้นอย่างไม่ต้องสงสัย เมื่อเช้าวันจันทร์ที่ผ่านมา ดัชนีนิกเกอิตลาดหุ้นโตเกียวร่วงลงทันที 505.83 จุด หรือ 3.00% ส่วนค่าเงินเยนในวันนั้นก็แข็งค่าขึ้นเนื่องจากนักลงทุนต่างพากันเข้าซื้อเงินเยนซึ่งเป็นทรัพย์สินที่ปลอดภัยหลังจากที่เกิดเหตุภัยพิบัติดังกล่าว นอกจากนี้ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคของญี่ปุ่นก็มีแนวโน้มว่าจะลดลงอีกด้วย ภัยพิบัติครั้งนี้ถือเป็นอีกปัจจัยที่น่าวิตกอันจะส่งผลกระทบสาหัสต่อเศรษฐกิจญี่ปุ่น เนื่องจากเศรษฐกิจญี่ปุ่นยังคงอยู่ในสภาวะอ่อนแอ ดังนั้นเมื่อเราดูจากความเสียหายและผลกระทบด้านเศรษฐกิจข้างต้น โดยยังไม่ได้มองไปถึงรายได้ที่อาจขาดไปจากการท่องเที่ยว การส่งออก เราก็พอจะเห็นภาพได้ส่วนหนึ่งว่า เหตุใดแผ่นดินไหวครั้งนี้จึงเป็นสิ่งที่น่าวิตก ซึ่งความท้าทายต่อจากการเยียวยาผู้ประสบภัยก็คือ ญี่ปุ่นจะทำอย่างไรต่อไปเพื่อป้องกันไม่ให้ประเทศตนตกอยู่ในสภาวะเศรษฐกิจถดถอย
อุตสาหกรรมยานยนต์ ส่งออกไทยไม่อาจหนีผลกระทบจากแดนปลาดิบ
หนึ่งในอุตสาหกรรมที่นำมาซึ่งรายได้หลักของไทยที่เรามองข้ามไม่ได้เลยก็คือ อุตสาหกรรมอุปกรณ์และชิ้นส่วนของรถยนต์และการประกอบรถยนต์ของไทย แน่นอนว่า เมื่อบริษัทยานยนต์ยักษ์ใหญ่ในญี่ปุ่นได้ประสบกับปัญหาขาดแคลนชิ้นส่วนและได้ปิดทำการชั่วคราวไปหลายแห่ง ประเทศไทยเองก็มีแนวโน้มว่าจะได้รับผลกระทบดังกล่าวด้วยเช่นกัน เนื่องจากเรายังต้องพึ่งการนำเข้าอะไหล่บางส่วนจากญี่ปุ่น อีกทั้งในเรื่องของการส่งออกสินค้าเกษตรของไทย โดยเฉพาะวงการยางพาราที่มองว่าญี่ปุ่นเป็นตลาดขนาดใหญ่ น่าจะได้รับผลกระทบเชิงลบเช่นกัน ด้วยสถานะของญี่ปุ่นที่ยังคงอยู่ในระหว่างการฟื้นฟูประเทศเช่นนี้ การนำเข้ายางพาราจากประเทศไทยก็อาจจะน้อยลง ส่วนจะน้อยลงแค่ไหนก็ขึ้นอยู่กับการเจรจาค้าขายของผู้ประกอบการ นอกจากนี้ สินค้าฟุ่มเฟือยที่ไทยส่งสินค้าไปยังญี่ปุ่นประเภท เสื้อผ้า อัญมณี น่าจะมียอดจำหน่ายที่ร่วงลงเมื่อดูจากสถานการณ์ที่ญี่ปุ่นกำลังเผชิญ
นายกญี่ปุ่นเดินหน้าจัดสรรงบช่วยเยียวยา
สำหรับการช่วยเหลือและฟื้นฟูพื้นที่ประสบภัยเบื้องต้น นายชินโซ อาเบะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นก็มิได้เพิกเฉยต่อมหันตภัยยิ่งใหญ่ครั้งนี้ โดยนายอาเบะได้มีคำสั่งให้จัดสรรงบประมาณสำรอง 3.5 แสนล้านเยนตามแผนงบประมาณสำหรับปีงบประมาณที่เริ่มต้นเมื่อวันที่ 1 เม.ย. เพื่อช่วยเยียวยาพื้นที่ประสบภัย พร้อมทั้งส่งกองกำลังป้องกันตนเองกว่า 25,000 นายลงพื้นที่เพื่อทำการช่วยเหลือ อีกทั้งยังมีแผนเพิ่มการจัดหาอาหารยามฉุกเฉินเป็นสองเท่าให้แก่ผู้ประสบภัย และยังคงประกาศให้มีการเดินหน้าตามหาผู้สูญหาย ด้านกระทรวงยุติธรรมญี่ปุ่น จัดสรรที่พักพิงชั่วคราวโดยมีการเปิดเรือนจำให้เป็นที่พักพิงชั่วคราวสำหรับผู้ประสบภัย
อย่างไรดี เมื่อวันที่ 18 เม.ย.ที่ผ่านมา นายกอาเบะยังคงยืนยันว่า จะยังคงดำเนินการตามแผนการขึ้นภาษีในปี 2017 จาก 8% เป็น 10% ตามกำหนดการณ์เดิม โดยแผนดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้ภายในเดือน เม.ย. 2560
นานาชาติร่วมใจ บรรเทาทุกข์ภัยในญี่ปุ่น
แม้เราจะเห็นแล้วว่า ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่ให้ความสำคัญกับมาตรการในการรับมือกับภัยแผ่นดินไหว อีกทั้งยังมีเครือข่ายเตือนภัยที่ทันสมัยมากก็ตาม แต่ความเสียหายครั้งนี้ก็เป็นสิ่งที่ไม่สามารถต้านทานได้ไหว และถึงแม้ว่ารัฐบาลญี่ปุ่นจะทุ่มแรงเงินและแรงกายมากแค่ไหน ก็ไม่อาจฟื้นฟูความเสียหายใหญ่ครั้งนี้ได้อย่างทันท่วงทีและทั่วถึง ดังนั้น นานาประเทศทั้งภาครัฐและเอกชนก็ไม่ได้ปล่อยญี่ปุ่นให้เดียวดายอยู่ฝ่ายเดียว ทุกฝ่ายต่างรวมใจช่วยให้ญี่ปุ่นฟันฝ่าวิกฤตครั้งนี้ไปให้ได้อีกครั้ง
เริ่มที่ประเทศมหาอำนาจอย่างสหรัฐ โดยสหรัฐมีคำสั่งให้ส่งเจ้าหน้าที่จากกองทัพบกประมาณ 50,000 นายลงพื้นที่ประสบภัย พร้อมทั้งส่งเครื่องบินไป เพื่อใช้ในการสนับสนุนการบรรเทาทุกข์ในพื้นที่อีกด้วย
ในส่วนของประเทศไทยนั้น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เปิดเผยอย่างเป็นทางการแล้วว่า ได้บริจาคเงิน 100,000 ดอลลาร์สหรัฐเพื่อช่วยเยียวยาผู้ประสบภัยในญี่ปุ่น โดยเป็นไปตามระเบียบของกระทรวงการต่างประเทศ พร้อมยืนยันที่จะให้การสนับสนุนญี่ปุ่นอย่างเต็มที่
ภาคเอกชนมากมายก็เข้ามามีส่วนร่วมในการบรรเทาทุกข์ครั้งนี้เช่นกัน ยกตัวอย่างเช่น Airbnb ซึ่งทำธุรกิจในการเป็นตัวกลางให้ผู้คนมาปล่อยเช่าห้องพัก หรือบ้านได้อย่างเสรี ได้ก่อตั้งโครงการเพื่อให้บริการห้องพักเร่งด่วนในจังหวัดคุมาโมโตะแบบฟรี ๆ ระหว่างวันที่ 14-20 เม.ย. โดยมีผู้เสนอที่พักประมาณ 96 รายร่วมโครงการที่พักฟรีครั้งนี้ด้วย นับเป็นตัวอย่างหนึ่งจากภาคเอกชนที่น่าชื่นชมอย่างยิ่ง
เหตุการณ์ครั้งนี้ทำให้เรามองเห็นว่า แม้ประเทศที่มีความพร้อมอย่างญี่ปุ่นจะประสบปัญหาภัยพิบัติ แต่ญี่ปุ่นก็ไม่ได้ถูกปล่อยให้เผชิญปัญหานี้อยู่เพียงลำพัง น้ำใจจากเพื่อนมนุษย์ยังคงส่งไปถึงญี่ปุ่นอย่าท่วมท้น ผู้เขียนมองว่า เมื่อเรามองย้อนไปในอดีต เราจะเห็นว่า ที่ผ่านมาไม่ว่าญี่ปุ่นจะถูกกระหน่ำด้วยภยันตรายมากี่ครั้ง แต่แดนอาทิตย์อุทัยแห่งนี้ก็จะยังคงสามารถเดินหน้าและกลับมาเข้มแข็งได้อย่างสง่างามเสมอ และเชื่อเป็นอย่างยิ่งว่า ในเหตุการณ์ครั้งนี้ ญี่ปุ่นจะกลับมายืนผงาดอย่างผ่าเผยได้อีกเช่นเคย และเราไม่ลืมที่จะส่งแรงใจไปถึงผู้ประสบภัยในเอกวาดอร์ด้วยเช่นกัน