แอปเปิล อิงค์ บริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ของสหรัฐ ซึ่งมีไอโฟนเป็นสินค้าเรือธง ที่ผ่านมาสามารถทำยอดขายพุ่งกระฉูดนับตั้งแต่ยุคของนายสตีฟ จ็อบ ผู้บุกเบิกคนสำคัญของแอปเปิล อย่างไรก็ดี ถือเป็นข่าวช็อกตลาดไม่น้อย เมื่อบริษัทได้เปิดเผยในสัปดาห์ที่แล้วว่ายอดขายไอโฟนได้ตกต่ำลงอย่างที่ไม่เคยปรากฎมาก่อน พร้อมกับรายได้ของบริษัทที่ลดลงเป็นครั้งแรกในรอบ 13 ปี
นอกเหนือจากเรื่องผลประกอบการที่ดิ่งลงอย่างน่าใจหายแล้ว เมื่อต้นปีนี้ แอปเปิลยังมีเรื่องราวขัดแย้งกับศาลสหรัฐ และหน่วยสืบสวนสอบสวนกลางสหรัฐ (FBI) เกี่ยวกับการปลดล็อกเครื่องไอโฟนของมือปืน 14 ศพที่ซาน เบอร์นาร์ดิโน
ถ้าเป็นคนที่ถือเรื่องดวงชะตาคงต้องบอกว่าปีนี้ถือเป็นปีชงสำหรับแอปเปิล และนายทิม คุก ซีอีโอคนปัจจุบัน ซึ่งถ้าหากนายสตีฟ จ็อบ ยังคงมีชีวิตอยู่ในปัจจุบัน คงต้องถามตัวเองว่า มันมาถึงจุดนี้ได้อย่างไร
คอลัมน์ In Focus ของ InfoQuest จึงขอนำผู้อ่านเจาะลึกถึงเบื้องหน้าเบื้องหลังรายได้ที่น่าผิดหวังของแอปเปิล และปัญหาความขัดแย้งกับทางการสหรัฐเรื่องการปลดล็อกไอโฟนดังกล่าว
*นักลงทุนแห่ขาย"แอปเปิล"เน่า หลังยอดขาย,กำไรวูบเกินคาด
แอปเปิลเปิดเผยผลประกอบการที่ย่ำแย่ โดยระบุว่ายอดขายไอโฟนในช่วง 3 เดือนแรกของปีนี้ อยู่ที่ประมาณ 51 ล้านเครื่อง ซึ่งลดลง 10 ล้านเครื่องจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว และเป็นการลดลงเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่แอปเปิลเปิดตัวไอโฟนรุ่นแรก ส่วนรายได้อยู่ที่ 5.06 หมื่นล้านดอลลาร์ ขณะที่กำไรสุทธิอยู่ที่ 1.05 หมื่นล้านดอลลาร์ หรือ 1.90 ดอลลาร์ต่อหุ้น ลดลงจากรายได้ระดับ 5.8 หมื่นล้านดอลลาร์ และกำไรสุทธิ 1.36 หมื่นล้านดอลลาร์ หรือ 2.33 ดอลลาร์ต่อหุ้น เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีที่ผ่านมา
เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ราคาหุ้นแอปเปิลดิ่งลง 11% ทำสถิติทรุดตัวลงมากที่สุดนับตั้งแต่ปี 2013 และร่วงลงไปถึง 14% ในเดือนเม.ย. โดยปรับตัวลง 8 วันติดต่อกันเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 1998 ก่อนที่จะฟื้นตัวขึ้นวานนี้ หลังเปิดเผยว่ายอดขายไอโฟนตกต่ำลงเกินคาด และหลังจากที่นายคาร์ล ไอคาห์น นักลงทุนระดับมหาเศรษฐีพันล้าน ประกาศว่า เขาได้เทขายหุ้นแอปเปิลจนหมดพอร์ท
แรงขายหุ้นแอปเปิลในตลาดยังฉุดให้ราคาดิ่งลงสู่ระดับ 11 เท่าของกำไรที่คาดไว้ในช่วง 12 เดือนข้างหน้า เทียบกับค่าเฉลี่ย 17.5 เท่าในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา
ขณะนี้นักวิเคราะห์ตั้งเป้าหมายราคาหุ้นแอปเปิลที่ระดับ 120 ดอลลาร์ ลดลงจากระดับ 130 ดอลลาร์ในช่วงสิ้นเดือนมี.ค.
*"แอปเปิล"แพ้ภัยความสำเร็จของตัวเองในปีที่แล้ว ต้นเหตุกำไรดิ่ง
นักวิเคราะห์ชี้ว่า สาเหตุหนึ่งที่ผลประกอบการของแอปเปิลดิ่งลงในช่วง 3 เดือนแรกนี้ เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว มาจากความสำเร็จเกินคาดของยอดขายไอโฟนในปีที่ผ่านมา ซึ่งส่งผลให้บริษัทมียอดขายและรายได้จำนวนมากในไตรมาสดังกล่าวของปีที่แล้ว และทำให้ผลประกอบการของแอปเปิลถูกกดดันอย่างมากในไตรมาสแรกของปีนี้
*อุปสงค์จีนวูบ,นโยบายรัฐพ่นพิษ อีกสาเหตุทุบยอดขายทรุด
อีกสาเหตุหนึ่งที่ฉุดผลประกอบการของแอปเปิลคือการดิ่งลงของยอดขายในจีน
ที่ผ่านมา แอปเปิลต้องพึ่งพายอดขายสมาร์ทโฟนจากจีนมาช่วยพยุงผลประกอบการของบริษัท แต่ปรากฎว่า รายได้จากจีนกลับทรุดตัวถึง 26% ในช่วง 3 เดือนแรกของปีนี้ ซึ่งถือว่าตกต่ำที่สุดในบรรดา 5 ตลาดภูมิภาคของบริษัท ขณะที่จีนสั่งปิดร้าน iBook และระงับการให้บริการ iTunes Movie หลังจากที่แอปเปิลเริ่มเปิดตัวบริการดังกล่าวได้เพียง 6 เดือนในจีน โดยรัฐบาลจีนได้ออกกฎระเบียบใหม่ในการควบคุมสื่อออนไลน์ โดยเฉพาะต่อภาพยนต์ต่างประเทศ
ด้านนายทิม คุก กล่าวว่า จีนเป็นตลาดที่ยอดขายผลิตภัณฑ์ของแอปเปิลปรับตัวลดลงมากที่สุดในไตรมาสที่ผ่านมา นอกจากนี้ ยอดขายไอโฟนในฮ่องกงยังลดลงด้วย เนื่องจากฮ่องกงผูกค่าเงินไว้กับสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ
นายไอคาห์นกล่าวให้สัมภาษณ์กับสถานีโทรทัศน์ CNBC ว่า เขาได้ขายหุ้นแอปเปิลทั้งหมดในพอร์ท เนื่องจากมีความเสี่ยงจากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวของจีน และการที่รัฐบาลจีนอาจออกมาตรการที่เป็นอุปสรรคต่อการทำธุรกิจของแอปเปิล
นายไอคาห์นได้ซื้อหุ้นแอปเปิลล็อตใหญ่เมื่อ 3 ปีก่อน ซึ่งเมื่อสิ้นปีที่แล้ว เขามีหุ้นแอปเปิลในมือราว 45.8 ล้านหุ้น และเคยระบุว่า ราคาหุ้นแอปเปิลมีมูลค่ามากถึง 240 ดอลลาร์ ซึ่ง ณ ราคาดังกล่าว จะทำให้แอปเปิลมีมูลค่าตลาดสูงถึง 1.4 ล้านล้านดอลลาร์
นายไอคาห์นสามารถทำกำไรได้ถึง 2 พันล้านดอลลาร์จากการถือหุ้นแอปเปิลเป็นเวลา 3 ปี โดยได้รับผลตอบแทนมากถึง 50% .
ผู้เชี่ยวชาญเตือนว่าแอปเปิลยังคงมีความเสี่ยงรออยู่ข้างหน้าหากยังตัดสินใจเดินหน้าทำธุรกิจในจีน อันเนื่องจากการที่ไม่สามารถเอาแน่เอานอนได้กับนโยบายของรัฐบาลจีน
นักวิเคราะห์จากยูบีเอส และโกลด์แมน แซคส์ได้ออกรายงานเมื่อไม่นานมานี้เกี่ยวกับการที่รัฐบาลจีนจะยังคงใช้อิทธิพลจำกัดธุรกิจของแอปเปิลต่อไป ส่วนนายเอียน เบรมเมอร์ จากยูเรเซีย กรุ๊ป ก็ได้ระบุเมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่า จีนมีแนวโน้มที่จะควบคุมการขยายตัวของแอปเปิล เพื่อรักษาตลาดของผู้ผลิตโทรศัพท์มือถือของจีนเอง ซึ่งก็มีอยู่หลายราย
และเมื่อมองไปยังบริษัทเทคโนโลยีอื่นๆของสหรัฐ ก็เห็นได้ชัดว่าต่างก็ประสบชะตากรรมที่ไม่แตกต่างจากแอปเปิล โดยขณะนี้ กูเกิล, เฟซบุ๊ค และทวิตเตอร์ ต่างก็ไม่สามารถให้บริการในจีน ขณะที่ไอบีเอ็ม, ซิสโก้ และฮิวเลตต์ แพคการ์ด ก็ต้องพบกับมาตรการของจีนที่จำกัดการขยายตัวของบริษัทต่างประเทศ เพื่อเอื้อประโยชน์ให้แก่บริษัทคู่แข่งในประเทศ
"เราคงต้องจับตาดูต่อไปว่า การที่รัฐบาลจีนออกคำสั่งปิดร้าน iBook และระงับการให้บริการ iTunes Movie ของแอปเปิล จะส่งผลกระทบในวงกว้างต่อภาวะการดำเนินธุรกิจของแอปเปิลในจีนหรือไม่" โกลด์แมน แซคส์ ระบุในบทวิจัย หลังแอปเปิลเปิดเผยผลประกอบการที่น่าผิดหวังในสัปดาห์ที่แล้ว
*รายงานชี้ยอดขายสมาร์ทโฟนตกต่ำทั่วโลกในไตรมาสแรก
สตราเตจี อนาลิติกส์ออกรายงานระบุว่า ตลาดสมาร์ทโฟนทั่วโลกได้ร่วงลงเป็นครั้งแรกในไตรมาส 1 โดยตลาดขนาดใหญ่หลายแห่ง เช่น จีน เริ่มถึงจุดอิ่มตัว ขณะที่ผู้บริโภคมีความระมัดระวังเกี่ยวกับอนาคตของเศรษฐกิจโลก
รายงานเปิดเผยว่า ยอดขายสมาร์ทโฟนทั่วโลกดิ่งลง 3% ในไตรมาสแรก เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปีที่แล้ว แตะระดับ 335 ล้านเครื่อง หลังจากที่พุ่งขึ้น 5.7% ในไตรมาส 4 ของปีที่แล้ว เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปี 2014
*"ซัมซุง"ครองอันดับ 1 จ้าวตลาดสมาร์ทโฟน เขี่ย"แอปเปิล"ร่วงอันดับ 2
ซัมซุงครองอันดับ 1 ของยอดขายสมาร์ทโฟนทั่วโลกในไตรมาสแรก ที่ระดับ 78.6-81.9 ล้านเครื่อง โดยมีสัดส่วนตลาด 22.8-24.5% ขณะที่แอปเปิลร่วงลงมาอยู่ในอันดับ 2 ด้วยยอดขายไอโฟน 51.2 ล้านเครื่อง และมีสัดส่วนตลาด 15.3-17.8% โดยลดลงจากระดับ 61.2 ล้านเครื่องที่ทำไว้ในช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ซึ่งถือเป็นบริษัทในกลุ่มท็อปไฟว์ที่ทำยอดขายดิ่งลงมากที่สุด
*"แอปเปิล"ฝากความหวังไอโฟน SE, ไอโฟน 7 กู้ชีพบริษัท
อย่างไรก็ดี นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ยังคงคาดว่าผลประกอบการของแอปเปิลจะฟื้นตัวขึ้น จากการเปิดตัวไอโฟน SE ในวันที่ 21 มี.ค. ขณะที่ในไทยเพิ่งเปิดตัวเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา (2 พ.ค.) โดยหวังว่าสาวกไอโฟนจะให้การต้อนรับอย่างอบอุ่นต่อไอโฟนน้องใหม่รุ่นล่าสุด ซึ่งมีขนาดจิ๋วแต่แจ๋ว โดยมีหน้าจอเล็ก แต่มีสเปคจัดเต็มแบบไอโฟนรุ่นใหญ่
นอกจากนี้ การเปิดตัวไอโฟน 7 ที่คาดว่าจะมีขึ้นในเดือนก.ย.ปีนี้ ซึ่งจะเป็นรุ่นที่ปฏิวัติโทรศัพท์ตระกูลไอโฟนของแอปเปิล ก็คาดว่าจะช่วยกอบกู้สถานะทางการเงินของบริษัทได้
*ย้อนรอยศึกปลดล็อกไอโฟน "แอปเปิล" VS เอฟบีไอ
ส่วนเรื่องความขัดแย้งระหว่าง FBI และบริษัทแอปเปิล ถึงแม้ได้ข้อยุติแล้ว หลังจากที่ FBI ระบุว่าสามารถปลดล็อกเครื่องไอโฟน 5ซี ของมือปืนที่ซาน เบอร์นาร์ดิโนได้แล้ว ด้วยความช่วยเหลือของบริษัทแห่งหนึ่ง
อย่างไรก็ดี ปัญหาเรื่องการรักษาความเป็นส่วนตัวของข้อมูลลูกค้าในโทรศัพท์ และการเข้าถึงข้อมูลเหล่านี้ ยังคงเป็นปัญหาที่ค้างคาใจระหว่างบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ และฝ่ายบังคับใช้กฎหมาย
*จุดเริ่มต้นของความขัดแย้ง: 1 เหรียญแต่มองกัน 2 ด้าน
ในช่วงแรก FBI แจ้งบริษัทแอปเปิลเพื่อขอความช่วยเหลือในการปลดล็อกระบบปฏิบัติการไอโอเอส 9 ของไอโฟน 5ซี ซึ่งเป็นของนายไซเอ็ด ฟารุค มือปืนที่ก่อเหตุกราดยิงที่เมืองซาน เบอร์นาร์ดิโน ซึ่งส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 14 ราย
FBI ต้องการให้แอปเปิลแก้ไขระบบที่กำหนดให้ไอโฟนลบข้อมูลในเครื่อง หากมีการป้อนรหัสผิด 10 ครั้ง ซึ่งจะทำให้เจ้าหน้าที่ไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลทุกอย่างในเครื่อง
FBI ระบุว่า หากแอปเปิลปลดล็อกระบบดังกล่าว จะทำให้เจ้าหน้าที่สามารถเข้าถึงข้อมูลในไอโฟนเครื่องนี้ภายในเวลาเพียง 26 นาที
อย่างไรก็ดี แอปเปิลปฏิเสธที่จะทำตามคำขอของ FBI โดยอ้างถึงการปกป้องความเป็นส่วนตัวของข้อมูลลูกค้า ส่งผลให้ FBI ยื่นเรื่องต่อศาล โดยหวังว่าศาลจะออกคำสั่งให้แอปเปิลให้ความช่วยเหลือต่อ FBI ในการปลดล็อกข้อมูลดังกล่าวตามกฎหมาย All Writs Act
ต่อมา ศาลมีคำสั่งให้แอปเปิลให้ความช่วยเหลือ FBI ทางด้านเทคนิคในการปลดล็อกระบบปฏิบัติการไอโอเอสของไอโฟนของนายฟารุค แต่แอปเปิลก็ยังคงยืนกรานไม่ปฏิบัติตามคำสั่งศาล โดยนายทิม คุก กล่าวว่า คำสั่งของศาลดังกล่าวจะส่งผลกระทบที่รุนแรง เนื่องจากจะทำให้แอปเปิลต้องเขียนซอฟท์แวร์ใหม่ ซึ่งจะทำหน้าที่เหมือนกับกุญแจหลัก หรือกุญแจผี ที่สามารถปลดล็อกเครื่องไอโฟนได้จำนวนหลายร้อยล้านเครื่อง
นายคุกชี้ว่า หาก FBI สามารถเข้าถึงข้อมูลในไอโฟนเครื่องนี้ ก็จะไม่มีสิ่งใดมาขัดขวาง FBI มิให้เข้าถึงข้อมูลของไอโฟนเครื่องอื่นๆ นอกจากนี้ หากซอฟท์แวร์ดังกล่าวตกไปอยู่ในมือของผู้ไม่หวังดี ก็จะสร้างความเสียหายเป็นอย่างมาก
อย่างไรก็ดี FBI ยืนยันว่า นี่เป็นคำขอความช่วยเหลือเพียงครั้งเดียว เพื่อช่วยในการสอบสวนคดีดังกล่าว พร้อมกับระบุว่า การเข้ารหัสข้อมูลกำลังช่วยให้ผู้ที่เป็นภัยต่อสหรัฐสามารถปิดบังกิจกรรมต่างๆของพวกเขา
กรณีดังกล่าวถือเป็นความขัดแย้งที่เป็นข่าวโด่งดังไปทั่วโลก และเป็นที่ถกเถียงกันระหว่างบริษัทเทคโนโลยี และรัฐบาลสหรัฐเกี่ยวกับประเด็นการเข้ารหัสเพื่อล็อกข้อมูล และการรักษาความเป็นส่วนตัวของข้อมูลลูกค้า
เจ้าหน้าที่ฝ่ายบังคับใช้กฎหมายระบุว่าการเข้ารหัสเพื่อล็อกข้อมูลของบริษัทแอปเปิลทำให้เจ้าหน้าที่ประสบปัญหาในการสืบสวนคดี และสกัดการโจมตีของกลุ่มก่อการร้าย
ส่วนบริษัทเทคโนโลยีก็ได้อ้างว่า การเข้ารหัสจะช่วยปกป้องข้อมูลของลูกค้าจากพวกแฮคเกอร์
เรื่องการรักษาความเป็นส่วนตัวของข้อมูลถือเป็นประเด็นที่อ่อนไหว หลังจากนายเอ็ดเวิร์ด สโนว์เดน ซึ่งเป็นอดีตนักวิเคราะห์ข้อมูลของหน่วยงานความมั่นคงแห่งชาติสหรัฐ (NSA) ออกมาแฉข้อมูลที่แสดงว่ารัฐบาลสหรัฐได้ลักลอบดักฟัง และล้วงข้อมูลของรัฐบาลหลายประเทศ ซึ่งรวมทั้งพันธมิตรของสหรัฐ
*FBI ยืมมือบริษัทไฮเทคยิวปลดล็อกไอโฟนสำเร็จ
ศาลกำหนดการไต่สวนคดีดังกล่าวเมื่อปลายเดือนมี.ค. แต่กระทรวงยุติธรรมสหรัฐได้ขอถอนฟ้องคดีนี้ หลังจากที่สามารถหาบริษัทแห่งหนึ่งเข้าช่วยเหลือในการปลดล็อกไอโฟนเครื่องดังกล่าวได้ ซึ่งแหล่งข่าวระบุว่า บริษัทที่ว่าคือบริษัทเซลเลไบร์ทของอิสราเอล อย่างไรก็ดี ทางบริษัทปฏืเสธที่จะยืนยันข่าวดังกล่าว
FBI ออกแถลงการณ์ว่า ไม่สามารถแสดงความเห็นเกี่ยวกับประเด็นด้านเทคนิคที่ FBI ใช้ในการปลดล็อกโทรศัพท์ และชื่อของบริษัทที่เข้ามาเกี่ยวข้อง
ทางด้านแอปเปิลระบุว่า ทางบริษัทจะยังคงให้ความช่วยเหลือต่อทางเจ้าหน้าที่ในการสืบสวน เช่นเดียวกับที่ทางบริษัทให้ความช่วยเหลือมาโดยตลอด และบริษัทจะเพิ่มการรักษาความปลอดภัยของข้อมูลในผลิตภัณฑ์บริษัท ท่ามกลางภัยคุกคาม และการโจมตีข้อมูลของบริษัทที่บ่อยขึ้น และซับซ้อนขึ้น
*ผลสรุปเรื่องนี้ ทั้ง 2 ฝ่ายต่างอ้างชัยชนะ
หลังจากเหตุการณ์นี้ แอปเปิลอ้างว่าได้ชัยชนะในการปกป้องความเป็นส่วนตัวของข้อมูลลูกค้า โดยการไม่ปฏิบัติตามการเรียกร้องของ FBI ที่ต้องการให้สร้างประตูหลังเข้าสู่ข้อมูลของลูกค้า ซึ่งจะเป็นแบบอย่างที่อันตราย
ทางด้าน FBI ก็พูดได้ว่าได้รับในสิ่งที่ตนเองต้องการเช่นกัน โดยสามารถเจาะเข้าไปสู่ข้อมูลในไอโฟนของมือปืน 14 ศพ แม้ว่าจะเกิดขึ้นจากการได้รับความช่วยเหลือจากบริษัทภายนอกก็ตาม
*ดรามาเรื่องนี้จบแบบไม่จบ
ผู้สันทัดกรณีชี้ว่า ถึงแม้ว่าเรื่องนี้ดูเหมือนจบลงไปแล้ว แต่ความเป็นจริงคงไม่จบลงง่ายๆ โดยบริษัทเทคโนโลยี และรัฐบาลสหรัฐยังคงมีแนวโน้มที่จะขัดแย้งกันในเรื่องนี้ต่อไป ขณะที่แอปเปิลก็มีการบ้านที่ต้องทำอีกมากในการอุดช่องโหว่ของระบบปฏิบัติการไอโอเอสที่ส่งผลให้ FBI สามารถเจาะข้อมูลไอโฟนได้
นอกจากนี้ แอปเปิลก็ไม่รู้โจทย์ที่ว่าบริษัทที่ FBI ว่าจ้างมานี้ใช้วิธีการแฮคข้อมูลอย่างไร และ FBI ก็ไม่มอบไอโฟนเครื่องดังกล่าวให้แก่แอปเปิลเพื่อใช้ในการวิเคราะห์ระบบ
"แอปเปิลเป็นธุรกิจ ซึ่งจำเป็นต้องได้รับความไว้วางใจจากลูกค้า" นายเจย์ แคบแลน ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของบริษัทไซแนค ซึ่งเป็นบริษัทดูแลความปลอดภัยด้านเทคโนโลยี และเป็นอดีตนักวิเคราะห์ของสำนักงานความมั่นคงแห่งชาติของสหรัฐ (NSA)
"แอปเปิลจำเป็นต้องมีบางอย่างที่จะมาอุดช่องโหว่นี้โดยเร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้"
ขณะเดียวกัน แอปเปิลยังถูกซ้ำเติมจากปัญหาภายในของบริษัท โดยแผนกรักษาความปลอดภัยของระบบมีการปรับโครงสร้างเมื่อปลายปีที่แล้ว โดยผู้จัดการซึ่งรับผิดชอบต่อคำขอของรัฐบาลในการเข้าถึงข้อมูลของลูกค้า ได้ออกจากแผนกเพื่อไปทำงานในส่วนอื่นของบริษัท ส่วนพนักงานรายอื่นๆ ซึ่งรวมถึงผู้ที่มีหน้าที่ในการแฮคผลิตภัณฑ์ของแอปเปิลเอง ก้ได้ลาออกจากบริษัทเมื่อไม่กี่เดือนที่ผ่านมา
ส่วนรัฐบาลสหรัฐก็จะยังคงมีความต้องการไม่สิ้นสุดที่จะเข้าตรวจสอบข้อความ, รูปภาพ และไฟล์อื่นๆในอุปกรณ์ต่างๆ รวมทั้ง โทรศัพท์มือถือต่อไป ท่ามกลางภัยคุกคามจากการก่อการร้าย
กระทรวงยุติธรรมสหรัฐแถลงว่า ทางกระทรวงจะยังคงเดินหน้าหาหลักฐานข้อมูลทางดิจิตอลต่อไป ไม่ว่าจะด้วยความร่วมมือกับบริษัทภายนอก หรือผ่านทางระบบศาล หากการขอความร่วมมือจากบริษัทผู้ผลิตโทรศัพท์มือถือไม่เป็นผลสำเร็จ
*ผู้เชี่ยวชาญแฉเคล็ดลับรัฐบาลสหรัฐเจาะระบบไอโฟน
ผู้เชี่ยวชาญด้านนิติเวชระบุว่า รัฐบาลสหรัฐอาจใช้วิธีโจมตีระบบปฏิบัติการของไอโฟน ด้วยการใช้วิธีดึงข้อมูลจากพื้นที่ซึ่งได้รับการเข้ารหัสในโทรศัพท์ โดยการถอดชิพอันหนึ่งออก และทำการหลอกกลไกซึ่งทำหน้าที่บล็อกการทายรหัส เพื่อที่จะค้นหารหัสของผู้ใช้โทรศัพท์ และปลดล็อกพื้นที่ดังกล่าว
นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่อาจใช้วิธีการก้อปปี้ชิพที่ใช้บรรจุข้อมูลของโทรศัพท์ ซึ่งเรียกว่า NAND ลงในชิพอีกตัวหนึ่ง ซึ่งจะทำให้ FBI ทดแทนชิพตัวดั้งเดิมด้วยชิพ NAND ที่ก็อปปีมา ซึ่งหาก FBI ป้อนรหัส 10 ครั้งแล้วไม่สามารถปลดล็อกโทรศัพท์ได้ FBI ก็จะก็อปปีชิพอันใหม่เพื่อเข้าสู่การป้อนรหัสแบบนับหนึ่งใหม่
“รัฐบาลสหรัฐคงจะไม่บอกว่าปลดล็อกไอโฟนได้อย่างไร เพราะวิธีการนี้ถือเป็นลิขสิทธิ์ของบริษัทที่เข้ามาช่วยเหลือ FBI " นายสจ๊วต เอ. เบเกอร์ นักกฎหมายของสเต็ปโท แอนด์ จอห์นสัน กล่าว
"ไม่มีระบบการรักษาความปลอดภัยไหนที่ปกป้องได้ 100% มันอยู่ที่ระดับของความยากง่าย, เวลาที่ใช้แกะรหัส และค่าใช้จ่ายที่ทุ่มลงไป สิ่งนี้แสดงให้เห็นว่า ถ้าแอปเปิลไม่ยอมทำ คนอื่นก็จะทำ" นายเดวิด บลูมเบิร์ก ผู้จัดการของบลูมเบิร์ก แคปิตอล กล่าว
ส่วนนายกาย คาวาซากิ อดีตเจ้าหน้าที่ระดับสูงของแอปเปิล กล่าวว่า “สิ่งนี้ขัดแย้งกับแถลงการณ์ของแอปเปิลที่ว่า จะไม่มีใครสามารถเจาะข้อมูลในโทรศัพท์ได้ คุณมักพึ่งพาแฮคเกอร์ได้เสมอ"
*จับตาย่างก้าว"แอปเปิล" หนทางที่ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ
เมื่อพิจารณาทั้งปัญหาเรื่องผลประกอบการบริษัท และการรับมือกับเจ้าหน้าที่สหรัฐในการขอให้ช่วยปลดล็อกข้อมูลไอโฟน ก็เป็นสิ่งที่น่าหนักใจไม่น้อยสำหรับนายทิม คุก ที่จะนำพาแอปเปิลให้ผ่านพ้นมรสุมที่กำลังเผชิญอยู่ในขณะนี้ ซึ่งจะเป็นบททดสอบภาวะผู้นำของเขา เมื่อเทียบกับนายสตีฟ จ็อบ ยอดอัจฉริยะผู้ก่อตั้งแอปเปิลมากับมือ ขณะที่บรรดาสาวกแอปเปิลคงต้องเอาใจช่วยให้แอปเปิลว็อทช์ และไอแพดรุ่นใหม่ รวมทั้งผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ของแอปเปิลที่จะออกมา ช่วยสร้างรายได้ให้บริษัทมากขึ้น แทนที่จะต้องพึ่งพารายได้ส่วนใหญ่อยู่ที่ไอโฟนเพียงอย่างเดียว
นอกจากนี้ ยังต้องจับตาการปรับกลยุทธ์ในตลาดจีน ที่แอปเปิลต้องต่อสู้ทั้งบริษัทคู่แข่ง และรัฐบาลจีน ซึ่งเป็นสาเหตุของการทรุดตัวของทั้งยอดขาย และกำไรในไตรมาสแรก โดยเวลาเท่านั้นที่จะให้คำตอบ และพิสูจน์ความสำเร็จของแอปเปิล และนายทิม คุก