เมื่อช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมามีข่าวว่าแอปเปิล อิงค์ บริษัทเทคโนโลยีรายใหญ่ของโลกได้ทุ่มทุนสูงถึง 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐให้กับ “ตีตี ชูสิง" (Didi Chuxing) บริการเรียกแท็กซี่รายใหญ่ของจีนที่สามารถเบียดเบอร์ 1 ของโลกอย่าง อูเบอร์ (Uber) ขึ้นเป็นเจ้าตลาดในประเทศได้ สิ่งที่น่าสนใจก็คือแอปเปิลทุ่มเงินสูงมากขนาดนี้ในขณะที่ยอดขายไอโฟนในไตรมาสแรกลดลงเป็นครั้งแรกในรอบ 10 กว่าปี In Focus ในสัปดาห์นี้ จึงขอพาท่านผู้อ่านไปรู้จักกับ “ตีตี " ให้มากขึ้น ให้ได้ทราบกันว่าบริษัทแห่งนี้มีดีอย่างไร แอปเปิลซึ่งสถานการณ์ไม่สู้ดี จึงใจปล้ำควักเงินก้อนโตให้
*จุดเริ่มต้น
“ตีตี ชูสิง" มีชื่อเดิมคือ ตีตี ไคว่ตี (Didi Kuaidi) เป็นผลจากการรวมตัวกันของ 2 แอพเรียกแท็กซี่รายใหญ่ของจีน ได้แก่ ตีตี ต่าเชอ (Didi Dache) ซึ่งสนับสนุนทุนโดยเทนเซนต์ (Tencent) และไคว่ตี ต่าเชอ (Kuaidi Dache) ซึ่งสนับสนุนโดยอาลีบาบา เดิมที 2 แอพเป็นคู่แข่งกัน โดยตีตี ต่าเชอระดมทุนได้ 700 ล้านดอลลาร์ ในขณะที่ไคว่ตี ต่าเชอระดมเงินได้ 600 ล้านดอลลาร์ แม้ทั้ง 2 บริษัทจะระดมเงินได้สูง แต่ด้วยกลยุทธแก่งแย่งส่วนแบ่งตลาดด้วยการตัดราคาค่าโดยสาร ส่งผลให้ตีตี ต่าเชอ และไคว่ตี ต่าเชอต่างบอบช้ำจากภาวะขาดทุนสะสม และนำไปสู่การรวมธุรกิจกันในเดือนกุมภาพันธ์ 2558
*บริการ
ตีตีเป็นที่รู้จักจากบริการเรียกแท็กซี่ผ่านสมาร์ทโฟน อย่างไรก็ดี บริษัทยังมีบริการด้านขนส่งอื่นๆเพื่อรักษาความเป็นผู้นำในตลาด อาทิ การเพิ่มฟีเจอร์แชร์รถยนต์สำหรับผู้โดยสารที่ไปทางเดียวกัน การเรียกรถยนต์หรู การเจาะจงพนักงานขับรถ และบริการพิเศษสำหรับผู้ทุพพลภาพ
นอกจากนี้ ตีตียังขยายธุรกิจไปสู่รถประจำทาง โดยเปิดตัว “ตีตี บัส" (Didi Bus) ในเดือนตุลาคมปีที่แล้ว ซึ่งเป็นบริการเรียกรถประจำทางผ่านทางแอพแชตวีแชต (WeChat) ข้อมูล ณ เดือนตุลาคมระบุว่า ตีตี บัส ให้บริการรถโดยสาร 500,000 คันต่อวัน โดยนำร่องให้บริการในกรุงบักกิ่ง และเสิ่นเจิ้น สำหรับแหล่งที่มาของรถเหล่านี้มาจากบริษัทปล่อยเช่าหรือบริษัททัวร์
*สถานการณ์ปัจจุบัน
ตีตีเป็นแพลตฟอร์มด้านคมนาคมที่ใหญ่ที่สุดในจีนซึ่งเติบโตอย่างรวดเร็ว โดยครองส่วนแบ่งตลาดบริการเรียกแท็กซี่ถึง 99% และครองส่วนแบ่งตลาดบริการรถยนต์ส่วนบบุคคลถึง 87% ตีตีมีผู้ใช้มากกว่า 300 ล้านคน มีคนขับมากกว่า 1 ล้านคน ให้บริการในเมืองต่างๆของจีนมากกว่า 400 เมือง และมีเที่ยวรถ 11 ล้านเที่ยวต่อวัน สำหรับมูลค่าบริษัทในขณะนี้ทะลุ 2 หมื่นล้านดอลลาร์แล้ว อย่างไรก็ตาม บริษัทยังไม่อยู่ในระยะที่สามารถทำกำไรได้ แต่ถึงกระนั้นก็ผ่านจุดคุ้มทุนแล้วเกินครึ่งของเมืองที่ตีตีให้บริการ
*การระดมทุน
ตีตี คือตัวอย่างบริษัทที่ประสบความสำเร็จในการระดมทุน บริษัทจัดการระดมทุนหลายครั้ง แต่ละครั้งสามารถระดมทุนได้ครบตามเป้าหมาย สำหรับนักลงทุนที่สนับสนุนตีตีก็ไม่ใช่บริษัทโนเนมที่ไหนแต่เป็นบริษัทชื่อดังระดับโลก ไม่ว่าจะเป็น เทนเซนต์, อาลีบาบา, ซอฟต์แบงก์,ไชน่า อินเวสต์เมนท์, ฮิลเฮาส์ แคปิตอล, เทมาเส็ก และอื่นๆอีกมากมาย
และล่าสุดเมื่อวันศุกร์ที่ 13 พฤษภาคมที่ผ่านมา ตีตี ประกาศความสำเร็จจากการระดมทุนรอบใหม่ โดยได้รับเงินทุนสูงถึง 1 พันล้านดอลลาร์จากแอปเปิล โดยทางแอปเปิลให้เหตุผลในการลงทุนครั้งนี้ว่า แอปเปิลทึ่งที่ธุรกิจตีตีเติบโตอย่างรวดเร็ว และแอปเปิลมีความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจในระยะยาวของจีน
"เราตัดสินใจลงทุนครั้งนี้ด้วยเหตุผลทางกลยุทธิ์ อาทิ โอกาสที่จะเรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับภาคส่วนในตลาดจีน เราเห็นโอกาสมากมายจากการที่สองบริษัทมีความร่วมมือใกล้ชิดกันมากขึ้น และเราเชื่อว่าสิ่งนี้จะสร้างผลตอบแทนอย่างงดงาม" นายทิม คุก ซีอีโอของแอปเปิลกล่าว
สำหรับการลงทุนของแอปเปิลครั้งนี้ ถือเป็นการลงทุนครั้งใหญ่ที่สุดที่ตีตีเคยได้รับ และทำให้แอปเปิลก้าวขึ้นมามีบทบาทในฐานะนักลงทุนเชิงยุทธศาสตร์ของบริษัท
นอกจากนี้ สื่อสหรัฐยังเปิดเผยว่า ตีตียังวางแผนระดมทุนผ่านทางการเสนอขายหุ้นครั้งแรกต่อสาธารณชน (IPO) ในตลาดหุ้นสหรัฐราวๆปีหน้าด้วย
*ลูกรักคนใหม่ของแอปเปิล
แอปเปิลเปิดเผยในช่วงเมษายนที่ผ่านมาว่า ยอดขายไอโฟนในไตรมาสแรกของปีนี้ลดลงเป็นครั้งแรกในรอบกว่า 10 ปี ในขณะที่รายได้ลดลงแตะที่ 5.06 หมื่นล้านดอลลาร์ ซึ่งทำให้นักลงทุนพากันกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ของแอปเปิล เคราะห์ซ้ำกรรมซัด นายคาร์ล ไอคาห์น มหาเศรษฐีนักลงทุนชื่อดังของสหรัฐ ยังประกาศเทขายหุ้นทั้งหมดที่ถืออยู่ในแอปเปิล เนื่องจากความกังวลเกี่ยวกับศักยภาพในการทำกำไรของแอปเปิล การที่แอปเปิลลงทุนเป็นเงินก้อนโตครั้งนี้ จึงสร้างความประหลาดใจให้กับผู้ติดตามข่าวสารของแอปเปิลอยู่ไม่น้อย
อย่างไรก็ดี ความเคลื่อนไหวของแอปเปิลครั้งนี้ อาจสะท้อนความพยายามครั้งใหญ่ในการหาลู่ทางใหม่ๆเพื่อให้ธุรกิจอยู่รอดและเพื่อทำรายได้ในจีนแผ่นดินใหญ่ ในขณะที่ยอดขายไอโฟนซึ่งเป็นแหล่งรายได้หลักชะลอตัว และบริการแอปเปิลบางรายการถูกปิดกั้นการใช้งานที่จีน อาทิ iTunes Movies และ iBooks
ตีตี จึงอาจเป็นความหวังครั้งใหม่ของแอปเปิล ซึ่งอาจเรียกได้ว่าลูกรักคนใหม่เลยก็ได้ ดังจะเห็นได้จากการที่นายทิม คุก ซีอีโอของแอปเปิล แชร์ภาพตนเองใช้บริการเรียกแท็กซี่ผ่านแอพตีตีที่กรุงปักกิ่ง ในระหว่างการเดินทางเยือนจีนเพื่อพบปะเหล่านักพัฒนาแอพพลิเคชันตีตีเมื่อเร็วๆนี้
*คู่แข่งและพันธมิตร
แม้ว่าตีตีจะครองส่วนแบ่งตลาดบริการเรียกแท็กซีในจีนถึง 99% แต่บริษัทยังคงลงทุนอย่างหนักในด้านการตลาดเพื่อให้แน่ใจว่าตำแหน่งหมายเลขหนึ่งจะไม่โดนซิวไป โดยไม่ประมาทอูเบอร์ ซึ่งครองส่วนแบ่งตลาดจีนไม่ถึง 1% แต่ก็เป็นคู่แข่งที่ไม่เคยรามือ
อูเบอร์เคยประกาศว่า อูเบอร์ ไชน่า (Uber China) ซึ่งเป็นธุรกิจในจีน ขาดทุน 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่กระนั้นบริษัทก็วางเป้าหมายให้บริการครบ 100 เมืองภายในปีนี้ ในขณะที่ปัจจุบันให้บริการใน 40 เมือง
นอกจากนี้ ตีตียังสร้างพันธมิตรในภูมิภาคเพื่อสร้างความแข็งแกร่งให้กับธุรกิจ โดยจับมือเป็นพันธมิตรและเข้าไปลงทุนในบริษัทโอลา (Ola) และแกร็บ (Grab) ซึ่งเป็นบริการเรียกรถแท็กซี่ในอินเดียและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตามลำดับ ไม่เพียงเท่านี้ ตีตียังเข้าไปลงทุนในบริษัทลิฟท์ (Lyft) ซึ่งเป็นคู่แข่งของอูเบอร์ในสหรัฐด้วย