เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 23 มิถุนายน 2559 รัฐบาลอังกฤษได้จัดทำประชามติในประเด็นที่ว่า สหราชอาณาจักร ซึ่งประกอบด้วยอังกฤษ เวลส์ สกอตแลนด์ และไอร์แลนด์เหนือ จะถอนตัวออกจากสหภาพยุโรป (EU) หรือไม่ ซึ่งผลปรากฏว่า ฝ่ายที่ต้องการ “ออกจาก EU" ชนะฝ่ายที่ต้องการ “อยู่ใน EU" ด้วยสัดส่วน 52% ต่อ 48% จากจำนวนผู้ใช้สิทธิกว่า 30 ล้านคน (71.8% ของประชากรทั้งหมด)
เมื่อแบ่งตามประเทศ อังกฤษและเวลส์มีฝ่ายสนับสนุนให้ออกจาก EU มากกว่าฝ่ายที่ต้องการอยู่ใน EU โดยสัดส่วนในอังกฤษอยู่ที่ 53.4% ต่อ 46.6% ส่วนในเวลส์อยู่ที่ 52.5% ต่อ 47.5%
อย่างไรก็ดี สกอตแลนด์และไอร์แลนด์เหนือมีฝ่ายที่ต้องการอยู่ใน EU มากกว่าฝ่ายที่ต้องการออกจาก EU โดยในสกอตแลนด์มีสัดส่วน 62% ต่อ 38% ขณะที่ไอร์แลนด์เหนือมีสัดส่วน 55.8% ต่อ 44.2%
ผลพวงทางการเมือง
นางนิโคลา สเตอร์เจียน ผู้นำและมุขมนตรีของสกอตแลนด์ กล่าวว่า การลงประชามติครั้งนี้เป็นสิ่งที่ “รับไม่ได้ตามหลักประชาธิปไตย" เพราะสกอตแลนด์โหวตให้อยู่ใน EU แต่กลับถูกบังคับให้ต้องออกจาก EU พร้อมกับเผยว่า สกอตแลนด์จะจัดทำประชามติเช่นกันเพื่อตัดสินว่าจะอยู่ในสหราชอาณาจักรต่อไปหรือไม่ นอกจากนี้ รัฐสภาสกอตแลนด์อาจใช้สิทธิวีโต้เพื่อขวางสหราชอาณาจักรออกจาก EU ด้วย
ขณะเดียวกัน ในไอร์แลนด์เหนือได้เกิดกระแสเรียกร้องให้มีการจัดทำประชามติว่าจะรวมชาติกับไอร์แลนด์หรือไม่ แต่ผู้นำของทั้งสองฝ่ายได้ออกมาปฏิเสธเสียงเรียกร้องดังกล่าว
ด้าน 6 ประเทศสมาชิกผู้ก่อตั้ง EU ได้แก่ เยอรมนี เนเธอร์แลนด์ ฝรั่งเศส อิตาลี เบลเยียม และลักเซมเบิร์ก ต่างเร่งกดดันให้สหราชอาณาจักรแยกตัวออกไปให้เร็วที่สุด อย่างไรก็ดี อังกฤษจะต้องใช้กฎหมายมาตรา Article 50 ตามสนธิสัญญากรุงลิสบอนว่าด้วยการลาออกจากการเป็นสมาชิกของ EU เสียก่อน กระบวนการถอนตัวจาก EU อย่างเป็นทางการจึงจะเริ่มต้นขึ้น จากนั้นอังกฤษจะมีเวลา 2 ปีเพื่อบรรลุข้อตกลงต่างๆในการถอนตัว ซึ่งก็ยังไม่มีใครรู้ว่ากระบวนการดังกล่าวจะดำเนินไปอย่างไร เพราะยังไม่มีประเทศใดเคยใช้ Article 50 มาก่อน
นายเดวิด คาเมรอน นายกรัฐมนตรีอังกฤษ ที่ได้ประกาศลาออกจากตำแหน่งหลังการลงประชามติ เผยว่า กระบวนการถอนตัวออกจาก EU ควรจะเริ่มขึ้นเมื่ออังกฤษได้นายกฯคนใหม่ภายในเดือนตุลาคมนี้ สำหรับผู้ที่หลายฝ่ายคาดว่าจะมารับตำแหน่งนายกฯคนใหม่ก็คือ นายบอริส จอห์นสัน แกนนำสนับสนุนให้สหราชอาณาจักรออกจาก EU โดยเขาเชื่อมั่นว่าการออกจาก EU จะทำให้สหราชอาณาจักรกลับมาผงาดบนเวทีโลกอีกครั้ง
อย่างไรก็ดี ผลการลงประชามติไม่มีผลผูกมัดทางกฎหมาย ดังนั้น รัฐสภาอังกฤษยังต้องผ่านกฎหมายเพื่อเปิดทางในการออกจาก EU และต้องให้การรับรองข้อตกลงต่างๆเกี่ยวกับการถอนตัวออกจาก EU ด้วย ซึ่งมีความเป็นไปได้ว่ารัฐสภาอาจโหวตไม่รับ เนื่องจากสมาชิกส่วนใหญ่ของรัฐสภาต้องการให้สหราชอาณาจักรอยู่กับ EU ต่อไป
นอกจากนี้ หากสมาชิก 2 ใน 3 ของรัฐสภาโหวตให้มีการจัดการเลือกตั้งทั่วไป ก่อนที่จะถึงกำหนดการเลือกตั้งในปี 2563 และผลปรากฏว่า พรรคที่ให้สัญญาว่าสหราชอาณาจักรจะอยู่ใน EU ต่อไปชนะการเลือกตั้ง ก็จะสามารถอ้างได้ว่าผลการเลือกตั้งเหนือกว่าผลการลงประชามติ ซึ่งหากเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นจริงก็จะโกลาหลอย่างแน่นอน
ผลพวงทางเศรษฐกิจ
จุดแข็งของ EU คือ การเป็นตลาดเดียว (Single Market) ซึ่งหมายความว่า ประเทศสมาชิกสามารถเคลื่อนย้ายสินค้า ทุน และแรงงานได้อย่างเสรีภายใน EU เหมือนกับเป็นประเทศเดียว เพื่อเป็นการส่งเสริมการค้า สร้างงาน และลดต้นทุนสินค้า ดังนั้น เมื่อสหราชอาณาจักรออกจาก EU ก็น่าจะต้องออกจาก Single Market ซึ่งจะทำให้ภาคธุรกิจประสบกับความยากลำบากมากขึ้นในการเคลื่อนย้ายสินค้า ทุน และแรงงาน จึงเกิดความกังวลว่าบริษัทข้ามชาติอาจไม่อยากเข้ามาลงทุนหรืออาจย้ายบริษัทออกไป อย่างไรก็ดี ฝ่ายสนับสนุน Brexit ยังคงมีมุมมองในเชิงบวก โดยเชื่อมั่นว่าสหราชอาณาจักรยังสามารถดึงดูดนักลงทุนได้ เพราะเป็นผู้นำเข้าสินค้าและบริการรายใหญ่ของโลก ที่สำคัญคือไม่ต้องจ่ายเงินหลายพันล้านปอนด์ต่อปีให้ EU อีกต่อไป ซึ่งเงินจำนวนดังกล่าวสามารถนำมาพัฒนาเศรษฐกิจประเทศได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย
อย่างไรก็ตาม ยังมีอีกหนึ่งความกังวลหลัง Brexit นั่นคือ ข้อตกลงต่างๆที่อังกฤษเคยทำไว้กับ EU และประเทศอื่นๆทั่วโลก ซึ่งต้องมีการเจรจากันใหม่ และการเจรจาน่าจะยากขึ้นเพราะ EU อาจพยายามขัดขวางเพื่อไม่ให้ประเทศอื่นเอาเยี่ยงอย่างและพยายามถอนตัวออกจาก EU เหมือนที่อังกฤษทำ ส่วนข้อตกลงเขตการค้าเสรีที่ใหญ่ที่สุดในโลกอย่างข้อตกลงหุ้นส่วนทางการค้าและการลงทุนระหว่างแอตแลนติก (TTIP) ที่สหรัฐกับ EU กำลังเจรจากันอยู่นั้น ทางอังกฤษก็ต้องเจรจากับสหรัฐเอาเองเพราะไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของ EU แล้ว
นอกจากนี้ อังกฤษน่าจะต้องเผชิญกับวิกฤตความน่าเชื่อถือในระยะยาว เพราะไม่กี่วันหลังการลงประชามติ Brexit บรรดาสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือระหว่างประเทศต่างพร้อมใจกันหั่นเครดิตอังกฤษ โดยสแตนดาร์ด แอนด์ พัวร์ (S&P) ลดอันดับความน่าเชื่อถือของอังกฤษลง 2 ขั้น สู่ระดับ "AA" จากระดับ "AAA" ด้านฟิทช์ เรทติ้งส์ ก็ลดอันดับความน่าเชื่อถือของอังกฤษลงสู่ระดับ "AA" จากระดับ "AA+" พร้อมกับเตือนว่าอังกฤษอาจถูกปรับลดอันดับความน่าเชื่อถืออีก
ผลพวงทางสังคม
หลักการเคลื่อนย้ายแรงงานอย่างเสรีของ EU เปิดทางให้ประชาชนใน EU สามารถเดินทางหรืออยู่อาศัยในประเทศสมาชิก EU อื่นๆได้โดยไม่ต้องขอวีซ่า จึงเกิดการอพยพย้ายถิ่นของประชาชนไปยังประเทศที่มั่งคั่งกว่า ซึ่งมักก่อให้เกิดปัญหาต่างๆตามมา ทั้งปัญหาด้านความปลอดภัย สาธารณสุข การศึกษา ฯลฯ การออกจาก EU จะทำให้อังกฤษไม่ต้องปฏิบัติตามหลักการดังกล่าว และกลับมามีอำนาจควบคุมชายแดนของตนเองอีกครั้ง ซึ่งจะช่วยแก้ปัญหาสังคมที่กล่าวถึงข้างต้นได้
อย่างไรก็ดี อีกฝ่ายมองว่า Brexit จะส่งผลกระทบต่อการเคลื่อนย้ายแรงงานที่มีทักษะสูง และแย้งว่าแรงงานส่วนมากที่เข้ามาในอังกฤษเป็นคนหนุ่มสาวที่ตั้งใจทำงาน ซึ่งช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้ นอกจากนี้ การออกจาก EU อาจทำให้การรับมือกับอาชญากรรมและการก่อการร้ายข้ามพรมแดนด้อยประสิทธิภาพลง
อันที่จริงแล้ว ขณะนี้ยังไม่มีใครบอกได้ว่าผลพวงจาก Brexit จะมากน้อยหรือรุนแรงแค่ไหน เพราะทั้งหมดทั้งปวงขึ้นอยู่กับการเจรจาที่จะเกิดขึ้นระหว่างกระบวนการถอนตัวออกจาก EU ซึ่งกินเวลา 2 ปี รวมถึงการเจรจากับประเทศอื่นๆอีกมากมายที่อาจใช้เวลานานหลายปี ตอนนี้จึงยังเร็วไปที่จะฟันธงว่าการถอนตัวออกจาก EU จะทำให้อังกฤษรุ่งหรือร่วงกันแน่...