In Focusจับตาแคนดิเดทนายกฯอังกฤษคนใหม่ พร้อมสัมผัสดราม่าและเกมหักเหลี่ยมนักการเมือง

ข่าวต่างประเทศ Wednesday July 6, 2016 13:05 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

การเมืองประเทศไหนล้วนแล้วแต่มีความดราม่าและเกมหักเหลี่ยม แต่ดราม่าแบบอังกฤษจะเป็นเช่นไร พรรคการเมืองทั้งฝั่งรัฐบาลและฝ่ายค้านของอังกฤษจะเป็นอย่างไร ภายหลังต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงไม่เว้นแต่ละวันเมื่อสหราชอาณาจักรได้ลงประชามติถอนตัวจากสหภาพยุโรป (Brexit)

ล่าสุด พรรคอนุรักษ์นิยมอยู่ในระหว่างการโหวตเลือกหัวหน้าพรรค ซึ่งจะขึ้นมาทำหน้าที่นายกรัฐมนตรีคนใหม่ ขณะที่ฝั่งพรรคฝ่ายค้านเองก็ระส่ำระสายไม่แพ้กัน รวมทั้งฝั่งพรรค UKIP ที่ได้สร้างสีสันให้กับการหาเสียงช่วงก่อนลงประชามติ ความเคลื่อนไหวล่าสุดที่เกิดขึ้นในแต่ละพรรคสะท้อนให้เห็นถึงภาพการเมืองที่มีทั้งดราม่าและเกมหักเหลี่ยมในแดนผู้ดี

ว่าที่นายกฯอังกฤษและหัวหน้าพรรคอนุรักษ์นิยมคนใหม่

บุคคลที่จะเข้ามาทำหน้าที่หัวหน้าพรรคอนุรักษ์นิยมและนายกรัฐมนตรีคนใหม่ของอังกฤษนั้น จะขึ้นอยู่กับการเลือกตั้งหัวหน้าพรรคที่เปิดฉากขึ้นแล้วเมื่อวานนี้ (5 ก.ค.) โดยมีแคนดิเดทรอบแรก 5 รายด้วยกัน คือ นางเทเรซา เมย์ รัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทย, แอนเดรีย ลีดซัม, ไมเคิล โกฟ รัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรม, เลียม ฟ็อกซ์ และสตีเฟน แครบ

ล่าสุด เทเรซา เมย์ รัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทยสามารถคว้าชัยในการคัดเลือกรอบแรกไปด้วยคะแนนเสียง 165 เสียง จากสมาชิกรัฐสภาอังกฤษที่มาใช้สิทธิ 329 เสียง โดยมีแอนเดรีย ลีดซัม ได้คะแนนตามมาเป็นที่ 2 ด้วยคะแนนเสียง 66 เสียง ส่วนไมเคิล โกฟ กวาดคะแนนเสียงไปได้ 48 เสียง ในขณะที่เลียม ฟ็อกซ์ ได้คะแนนไปเพียง 16 เสียง ส่งผลให้ฟ็อกซ์หลุดจากโผแคนดิเดท ส่วนแครบได้ประกาศถอนตัว เพราะฉะนั้นแคนดิเดทนายกฯอังกฤษคนใหม่จึงเหลือเพียง 3 ราย

ทั้งนี้ จะมีการโหวตอีกครั้งในวันพรุ่งนี้ (7 ก.ค.) เพื่อเลือกแคนดิเดทให้เหลือเพียง 2 ราย หลังจากนั้น สมาชิกพรรคจะลงคะแนนโหวตเลือกเป็นครั้งสุดท้ายในวันที่ 9 ก.ย.

In Focus จึงขอเจาะโปรไฟล์ของแคนดิเดทดาวเด่นทั้ง 3 ราย ดังนี้ เทเรซา เมย์, แอนเดรีย ลีด ซัม และไมเคิล โกฟ

เทเรซา เมย์

เทเรซา เมย์ รั้งตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทยของสหราชอาณาจักรมาอย่างยาวนาน เมย์ ซึ่งสนับสนุนให้อังกฤษคงอยู่เป็นสมาชิกสหภาพยุโรป (EU) ต่อไป เธอจะอายุครบ 60 ปีในปีนี้ และยังถูกจับตามานานว่าจะเป็นว่าที่หัวหน้าพรรคคนใหม่ต่อไปแทนที่นายเดวิด คาเมรอน ซึ่งประกาศลาออกจากตำแหน่งภายหลังจากที่ทราบผลการลงประชามติ

ชีวิตในเส้นทางการเมืองของเมย์โดดเด่นยิ่งกว่ารมว.มหาดไทยคนก่อนๆ ด้วยผลงานการผลักดันให้นายอาบู คาทาดา นักการศาสนาชาวจอร์แดนออกจากประเทศสำเร็จ แต่เธอก็ยังไม่วายต้องเผชิญกับเสียงวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับความล้มเหลวของรัฐบาลในการลดจำนวนผู้ลี้ภัยในประเทศลงให้เหลือน้อยกว่า 1 หมื่นคนต่อปี

สิ่งที่น่าสนใจในระหว่างการหาเสียงชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรคของเมย์ คือ เธอมองว่าประชาชนไม่ได้ต้องการนายกฯที่สนับสนุน Brexit เท่านั้น พร้อมกับให้คำมั่นว่า จะประสานความแตกแยกระหว่างกลุ่ม Remain หรือกลุ่มที่สนับสนุนให้อังกฤษเป็น EU และกลุ่ม Leave หรือกลุ่มที่สนับสนุนให้อังกฤษถอนตัวจาก EU ภายในพรรคอนุรักษ์นิยมให้ได้

ส่วนเงื่อนเวลาที่จะมีการใช้มาตรา 50 ตามสนธิสัญญาลิสบอนในสายตาของเมย์นั้น เธอบอกว่า จะไม่เร่งกดปุ่มเพื่อดึงอังกฤษออกจาก EU ก่อนที่จะถึงสิ้นปีนี้ เพื่อให้อังกฤษได้มีเวลาในการสรุปถึงจุดยืนในการเจรจาต่อรองที่ประเทศต้องการ

แอนเดรีย ลีดซัม

แอนเดรีย ลีดซัม ปัจจุบันดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงพลังงาน ลีดซัม เข้าเป็นสมาชิกรัฐสภาเมื่อปี 2553 ให้กับเมืองเซาท์นอร์ทแทมตันเชียร์ โดยก่อนหน้านั้นเธอคร่ำหวอดอยู่ในแวดวงการเงินและธนาคารมาเป็นเวลานานถึง 25 ปี

สำหรับจุดยืนของลีดซัมที่มีต่อ Brexit นั้น เธอต้องการให้อังกฤษถอนตัวจาก EU และมองว่า ผลการลงประชามติเป็นโอกาสที่ยิ่งใหญ่สำหรับประเทศ เพราะเธอเชื่อมั่นในเรื่องการยกเลิกการเดินทางอย่างเสรีภายในกลุ่มประเทศสมาชิก และต้องการที่จะเจรจาเรื่องการค้ากับประเทศต่างๆทั่วโลกเองอย่างเสรี

ส่วนมุมมองของลีดซัมที่มีต่อมาตรา 50 นั้น ลีดซัมกล่าวว่า หากเธอได้เป็นนายกรัฐมนตรีเมื่อใดเธอจะผลักดันให้อังกฤษออกจาก EU โดยเร็วที่สุด

ไมเคิล โกฟ

ไมเคิล โกฟ รัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรมเป็นหนึ่งในนักการเมืองผู้หักเหลี่ยมเพื่อนร่วมมหาวิทยาลัยและเพื่อนร่วมพรรคการเมืองอย่างนายบอริส จอห์นสัน ได้อย่างแสบสัน แม้กระทั่งหัวหน้าพรรคอย่างนายเดวิด คาเมรอนเองก็ยังไม่วายถูกโกฟแทงข้างหลัง

ก่อนหน้าที่จะเข้าสู่วงการการเมืองนั้น โกฟเป็นผู้สื่อข่าวบีบีซีและคอลัมนิสต์ระดับดาวรุ่งที่นสพ.ไทม์สมาก่อน หลังจากที่ได้เข้ามาเป็นสมาชิกพรรคอนุรักษ์นิยมและมีโอกาสทำหน้าที่รัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการ โกฟเคยถูกคาเมรอนปลดออกจากตำแหน่งเพราะสร้างความขัดแย้งให้เกิดขึ้นหลายครั้ง ไม่เพียงแต่คาเมรอนเท่านั้นที่ถูกดราม่าการเมืองจากโกฟ นายบอริส จอห์นสันก็เป็นสมาชิกพรรคอีกรายที่ต้องเซอร์ไพรส์กับพฤติกรรมลวงโลกของโกฟ ทั้งที่ก่อนหน้านี้จอห์นสันถูกสื่อจับตาว่า จะขึ้นมาเป็นนายกฯและหัวหน้าพรรคคนใหม่แทนคาเมรอน

บีบีซีได้ทำรายงานเกี่ยวกับเบื้องหลังการแทงข้างหลังบอริส จอห์นสันไว้ได้น่าสนใจ เรียกได้ว่าดราม่าไม่แพ้ละครเวที ด้วยความเงียบที่อันตราย พฤติกรรมหน้าไหว้หลังหลอกที่เกิดขึ้นของโกฟภายหลังทราบผลการลงประชามติที่ออกมาเป็น Brexit และคาเมรอนประกาศลาออก ทั้งที่พรรคและนายจอห์นสันได้เตรียมความพร้อมที่จะประกาศชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรค ด้วยการเตรียมสุนทรพจน์เพื่อประกาศยอมรับความพ่ายแพ้ของผลการลงประชามติ แต่โกฟก็ทำเซอร์ไพรส์ด้วยการโทรหาผู้จัดการฝ่ายหาเสียงของพรรคช่วงค่ำคืนก่อนที่จอห์นสันจะประกาศชิงตำแหน่งในวันรุ่งขึ้นว่า ตนเองจะลงชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรค

ผู้จัดการฝ่ายหาเสียงซึ่งรับสายจากโกฟถึงกับต้องถามย้ำว่า จะลงสมัครอะไรเพื่อให้แน่ใจว่าตนเองไม่ได้อยู่ในภวังค์ แต่แล้วผู้จัดการฝ่ายหาเสียงก็ต้องตั้งสติอีกครั้ง เมื่อโกฟบอกว่า ตนเองจะลงชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรค

เบื้องหลังการตัดสินใจดังกล่าวมาจากความเชื่อของโกฟที่ว่า ตนเองมีบทบาทสูงในการรณรงค์หาเสียงให้ Leave และเมื่อประชาชนโหวตออกจาก EU โกฟจึงจำเป็นต้องทำตามเสียงของประชาชน 17 ล้านคน

บอริส จอห์นสัน เจอแบบนี้เข้าไปถึงกับต้องเปลี่ยนแถลงการณ์ใหม่ จอห์นสันเป็นผู้รณรงค์คนสำคัญที่ให้อังกฤษถอนตัวจากสหภาพยุโรปในการลงประชามติได้แถลงต่อสื่อมวลชนว่า ตนเองจะไม่ลงสมัครชิงตำแหน่งทั้งหัวหน้าพรรคและนายกฯ แม้กระทั่งสื่อบางรายยังพาดหัวผิดกับการรายงานข่าวที่สร้างเซอร์ไพรส์ของตัวเก็งนายกฯคนนี้

สำหรับจุดยืนของโกฟที่มีต่อ Brexit คือ ชาวอังกฤษได้โหวตเพื่อที่จะให้เกิดการเปลี่ยนแปลง และได้ตัดสินใจอย่างชัดเจนว่าจะออกจาก EU ประชาชนต้องการให้เราฟื้นนโยบายเรื่องการควบคุมผู้ลี้ภัยตามระบอบประชาธิปไตย รวมทั้งใช้จ่ายงบประมาณที่ได้มาจากภาษีประชาชนไปกับภารกิจที่สำคัญของประเทศ เช่น สาธารณสุข การศึกษา และวิทยาศาสตร์แทนที่จะต้องปันเงินเหล่านี้ให้กับ EU

ส่วนมุมมองของโกฟที่มีต่อการใช้มาตรา 50 ของสนธิสัญญาลิสบอนนั้น โกฟมองว่า อย่างน้อยตนเองจะรอจนกว่าจะถึงปี 2560 เพื่อที่จะเดินหน้ากระบวนการเจรจาต่อรองเพื่อถอนตัวจาก EU โดยจะดำเนินการตามมาตรา 50 ภายหลังจากที่ได้มีการหารืออย่างเข้มข้นในรัฐสภาแล้ว

พรรค UKIP

ไนเจล ฟาราจ หัวหน้าพรรค UKIP เป็นนักการเมืองรุ่นลายครามของอังกฤษที่มีส่วนสำคัญเป็นอย่างยิ่งในการผลักดันให้อังกฤษโหวตถอนตัวจากสหภาพยุโรป ด้วยการชูประเด็นเรื่องผู้ลี้ภัยในระหว่างที่มีการรณรงค์หาเสียงค่าย Leave ฟาราจ ชี้ว่า การเปิดประตูรับผู้ลี้ภัยของอังกฤษนำมาซึ่งกระแสการก่ออาชญากรรมในกรุงลอนดอน ภาวะขาดแคลนที่อยู่อาศัย ระบบสาธารณสุข รวมทั้งโควต้าในโรงเรียนและตำแหน่งงานที่น้อยลงสำหรับเยาวชน

หากย้อนดูประวัติทางการเมืองของฟาราจแล้ว จะเข้าใจได้ว่า เพราะเหตุใดนักการเมืองฝีปากกล้ารุ่นเก๋ารายนี้ถึงสามารถดึงคะแนนเสียงโหวตได้จนถึงขนาดพลิกมาชนะค่าย Remain เพราะประวัติและผลงานในวงการเมืองนั้นเรียกได้ว่าไม่ธรรมดา ฟาราจเป็นนักการเมืองที่มักจะสร้างสีสันทางการเมืองให้ตกเป็นที่วิจารณ์เสมอ ฟาราจเคยกล่าวต้อนรับนายเฮอร์มาน ฟาน รอมปุย ประธานสภายุโรป เมื่อปี 2553 ว่า “ผมไม่ต้องการที่จะหยาบคาย คุณเป็นใคร ผมไม่เคยได้ยินชื่อของคุณมาก่อน ไม่มีใครในยุโรปรู้จักคุณ"

นอกจากนี้ ฟาราจผู้ซึ่งสนับสนุนให้อังกฤษออกจาก EU มาโดยตลอดยังเคยกล่าวแก้ตัวที่เดินทางมาร่วมประชุมซึ่งจัดขึ้นที่เวลส์อย่างล่าช้าด้วยเหตุผลที่ว่า “ผมใช้เวลาถึง 6 ชั่วโมง 15 นาที เพื่อที่จะเดินทางมาที่เวลส์ เพราะนโยบายการเปิดประตูรับผู้ลี้ภัยนี่แหละ มอเตอร์เวย์ที่เชื่อมระหว่างลอนดอนมายังเซาท์เวลส์ก็ไม่สามารถใช้งานได้เหมือนที่เคยเป็น"

หากไม่มีการพูดถึงป้ายโปสเตอร์หาเสียงของฟาราจแล้วก็ดูเหมือนว่าจะขาดอะไรไป เพราะป้ายหาเสียงที่มีรูปผู้ลี้ภัยเข้าแถวยาวเป็นหางว่าวพร้อมด้วยคำว่า “Breaking Point" นั้น ทำให้เกิดกระแสความโกรธในวงกว้าง แต่ท้ายที่สุดหลายฝ่ายก็ยอมรับว่า เพราะเรื่องผู้ลี้ภัยนี่แหละที่มีส่วนอย่างยิ่งที่ทำให้ผลการลงประชามติออกมาเช่นนี้

ฟาราจเข้าสู่วงการการเมืองเมื่อปี 2535 ด้วยการเป็นสมาชิกของพรรคอนุรักษ์นิยม แต่ต่อมาได้ปลีกตัวออกจากพรรคข้ามห้วยมาเป็นสมาชิกผู้ก่อตั้งพรรค UKIP เมื่อปี 2536 เหตุเพราะไม่พอใจที่จอห์น เมเจอร์ นายกฯอังกฤษในสมัยนั้นที่ได้ลงนามในสนธิสัญญามาสทริชต์ ซึ่งผูกมัดอังกฤษกับ EU มากยิ่งขึ้น ฟาราจสามารถก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งหัวหน้าพรรค UKIP ได้เมื่อปี 2549 และยังเป็นผู้ที่นำพาพรรค UKIP ให้เป็นพรรคที่ได้รับคะแนนเป็นอันดับ 3 ในเลือกตั้งในยุโรปเมื่อปีที่แล้ว

แม้ว่า ฟาราจจะประกาศลาออกจากตำแหน่งหัวหน้าพรรค แต่ฟาราจก็ยังคงเป็นบุคคลที่ได้รับความเคารพจากภายในพรรคอยู่ นอกจากนี้ ฟาราจยังได้ลั่นวาจาไว้ว่า จะติดตามการเจรจาต่อรองเรื่องการออกจากสหภาพยุโรปของอังกฤษอย่างใกล้ชิดเหมือน “เหยี่ยว"เลยทีเดียว เพราะไม่ต้องการให้คำพูดต่างๆที่เคยให้ไว้ต้องหายไปกับสายลม

พรรคแรงงาน

พรรคแรงงาน ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายค้านเป็นอีกพรรคหนึ่งที่ต้องเผชิญกับสถานการณ์ท้าทาย เมื่อนายเจเรมี คอร์บิน ถูกลูกพรรคลงมติไม่ไว้วางใจ หลังจากที่คอร์บินไม่ได้ออกมาเคลื่อนไหวมากนักในช่วงที่มีการรณรงค์หาเสียงเรื่อง Brexit ส่งผลให้ แองเจลา อีเกิล สมาชิกพรรคแรงงานและรัฐมนตรีเงาด้านเศรษฐกิจ ได้ออกมาประกาศถึงความพร้อมที่จะแก้ปัญหาภายในพรรค หากนายคอร์บินลาออกจากตำแหน่ง

เนื่องจากการลงมติไม่ไว้วางใจดังกล่าวไม่มีผลบังคับใช้เป็นรูปธรรม สมาชิกพรรคที่เป็นรัฐมนตรีเงากระทรวงต่างๆจึงแห่ประกาศลาออกจากตำแหน่งแทน ล่าสุด ยังไม่มีความเคลื่อนไหวจากคอร์บิน เนื่องจากคอร์บินต้องการให้มีการเปิดเผยรายงานเรื่องปฏิบัติการทางทหารของอังกฤษในอิรักในวันนี้ ภายหลังจากที่ได้มีการไต่สวนมาเป็นเวลานานกว่า 7 ปี ซึ่งจัดทำโดยเซอร์จอห์น ชิลคอท เพื่อที่จะกำหนดท่าทีของพรรคต่อรายงานดังกล่าว เนื่องจากเซอร์ชิลคอมต้องการที่จะทำให้ประชาชนและนักการเมืองอังกฤษได้วิเคราะห์อย่างใคร่ครวญก่อนที่จะตัดสินใจใช้มาตรการแทรกแซงทางการทหารในอนาคต

อังกฤษจะได้ใครมาเป็นนายกฯ จะเป็นนายกฯหญิงอีกคนหรือไม่ หรือจะเป็นนักการเมืองเพื่อนรักหักเหลี่ยมเพื่อน และนายกฯคนต่อไปจะมีนโยบายเช่นไร ต้องติดตามต่อไป อย่าได้กระพริบตา


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ