เมื่อวันที่ 12 ก.ค.ที่ผ่านมา ทั่วโลกจับตาศาลอนุญาโตตุลาการถาวร (Permanent Court of Arbitration หรือ PCA) ในกรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ ซึ่งมีคำตัดสินกรณีที่ฟิลิปปินส์ยื่นฟ้องขอให้ศาลวินิจฉัยกรณีที่จีนอ้างสิทธิเหนือพื้นที่ส่วนใหญ่ของทะเลจีนใต้ ซึ่งผลที่ออกมาก็ไม่เหนือความคาดหมาย โดยศาลตัดสินว่าจีนไม่มีพื้นฐานทางกฎหมายในการอ้างสิทธิเหนือพื้นที่จำนวนมากในทะเลจีนใต้จากการอ้างหลักฐานข้อมูลทางประวัติศาสตร์
จีนซึ่งดูเหมือนจะรู้ตัวล่วงหน้าว่าคำตัดสินของศาลจะไม่เป็นคุณกับจีนอย่างแน่นอน ก็ได้ออกมาพูดดักคอล่วงหน้าว่า จีนจะไม่ยอมรับคำตัดสินของ PCA และจะปกป้องอำนาจอธิปไตย ความมั่นคง สิทธิทางทะเล และผลประโยชน์ของประเทศอย่างแน่วแน่มั่นคง
อย่างไรก็ดี ไฮไลท์ที่เกิดขึ้นจากเหตุการณ์ครั้งนี้ นอกเหนือจากความขัดแย้งในทะเลจีนใต้แล้ว ก็ยังมีประเด็นความสับสนของสื่อทั่วโลกในการรายงานสถานะของ PCA ซึ่งสื่อหลายสำนักเข้าใจผิดว่าเป็นศาลโลก จนทำให้ศาลโลกตัวจริง ซึ่งก็คือ ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (International Court of Justice หรือ ICJ) ซึ่งตั้งอยู่ที่กรุงเฮกเหมือนกัน ต้องออกแถลงการณ์ชี้แจงว่า PCA เป็นองค์กรที่ให้คำตัดสินเกี่ยวกับข้อพิพาทในทะเลจีนใต้ โดยที่ ICJ หรือศาลโลกไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องแต่อย่างใด
คอลัมน์ In Focus ของ InfoQuest จึงขอพาผู้อ่านมาทำความรู้จัก PCA และ ICJ อย่างละเอียด เพื่อให้เข้าใจถึงบทบาท และสถานะที่แตกต่างกันขององค์กรทั้งสองนี้ และสาเหตุที่ทำให้จีนไม่ได้ให้ความสำคัญต่อคำตัดสินของ PCA ในข้อพิพาทที่เกิดขึ้น รวมทั้งความเสี่ยงที่ความขัดแย้งในทะเลจีนใต้อาจลุกลามเป็นภัยต่อเสถียรภาพของโลก
*ทะเลจีนใต้ พื้นที่ยุทธศาสตร์,แหล่งทรัพยากรสำคัญที่หลายชาติจ้องตาเป็นมัน
ทะเลจีนใต้เป็นพื้นที่ทางทะเลกว้างใหญ่ราว 3.5 ล้านตารางกิโลเมตร ขนาดใกล้เคียงกับประเทศเม็กซิโก โดยมีอาณาเขตตั้งแต่ตอนใต้ของเกาะไหหลำของจีน จนถึงชายฝั่งตะวันออกของเวียดนาม และจากแนวชายฝั่งเกาะบอร์เนียวของมาเลเซีย ไปจนถึงแนวชายฝั่งของบรูไน และชายฝั่งด้านตะวันตกของฟิลิปปินส์ ไปถึงตอนใต้ของเกาะไต้หวัน
พื้นที่ดังกล่าวนี้เป็นน่านน้ำสำคัญทั้งในทางการค้าและทางยุทธศาสตร์ เนื่องจากมีการขนส่งสินค้ามูลค่าไม่น้อยกว่า 4.5 ล้านล้านดอลลาร์ผ่านน่านน้ำนี้ในแต่ละปี ซึ่งถ้าจีนสามารถปิดกั้นทะเลจีนใต้ได้ทั้งหมดก็จะสามารถควบคุมเส้นทางทะเลสำคัญ และลดการคุกคามทางทะเลได้เป็นอย่างมาก
นอกจากนี้ ยังเป็นที่รู้กันดีว่าทะเลจีนใต้เป็นขุมทรัพย์ทางทะเลที่มีแหล่งทรัพยากรสำคัญ ทั้งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ รวมทั้งเป็นแหล่งทำการประมงขนาดใหญ่
ปัญหาเกิดขึ้นเมื่อการอ้างสิทธิของจีนเหนือดินแดนส่วนใหญ่ในทะเลจีนใต้ได้ไปทับซ้อนกับอาณาเขตทางทะเลของหลายประเทศในภูมิภาคดังกล่าว ซึ่งได้แก่ เวียดนาม มาเลเซีย บรูไน ฟิลิปปินส์ และไต้หวัน
สำหรับกรณีความขัดแย้งระหว่างจีนและฟิลิปปินส์ที่ทำให้ฟิลิปปินส์ยื่นฟ้องต่อ PCA นั้น เกิดจากข้อพิพาทในพื้นที่บางส่วนของหมู่เกาะสแปรตลีย์และหมู่เกาะปะการังสการ์โบโรห์ ซึ่งอยู่ห่างจากเกาะปาลาวันของฟิลิปปินส์เพียง 120 ไมล์ แต่อยู่ห่างจากเกาะไหหลำของจีนถึง 900 ไมล์
*เจาะลึกคำตัดสิน PCA ให้จีนแพ้คดีอ้างสิทธิเหนือทะเลจีนใต้
สาระสำคัญในคำวินิจฉัยของ PCA กรณีข้อพิพาทในทะเลจีนใต้มีดังนี้:-
--จีนไม่มีพื้นฐานทางกฎหมายที่จะอ้างสิทธิทางประวัติศาสตร์เหนือทรัพยากรภายในบริเวณทะเลที่อยู่ภายในเส้นประ 9 เส้นตามที่จีนอ้าง
--จีนไม่มีสิทธิทางประวัติศาสตร์เหนือทรัพยากรในน่านน้ำที่เป็นข้อพิพาท ถ้าหากมีการทับซ้อนกับเขตเศรษฐกิจจำเพาะของประเทศอื่นที่อยู่ภายใต้อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล (UNCLOS)
--ไม่มีหลักฐานที่แสดงว่าจีนได้เข้าทำการควบคุมเพียงลำพังทางประวัติศาสตร์เหนือน่านน้ำหรือทรัพยากรรอบหมู่เกาะที่จีนเคยใช้ประโยชน์
--สิ่งที่จีนอ้างเป็นเจ้าของ ซึ่งได้ถูกดัดแปลงจากการสร้างเกาะเทียมและสิ่งปลูกสร้างอื่นๆของจีน ไม่ได้ทำให้จีนมีสิทธิเหนือน่านน้ำในอาณาเขต 12 ไมล์ทะเล หรือก่อให้เกิดเขตเศรษฐกิจจำเพาะอาณาเขต 200 ไมล์ทะเล
--จีนไม่สามารถอ้างสิทธิในน่านน้ำอาณาเขต 12 ไมล์ทะเลเหนือหมู่เกาะสแปรตลีย์
--จีนได้ละเมิดสิทธิทางอำนาจอธิปไตยของฟิลิปปินส์ในเขตเศรษฐกิจจำเพาะ โดยการแทรกแซงด้วยการทำการประมง และสำรวจปิโตรเลียม รวมทั้งสร้างเกาะเทียม และปฏิเสธที่จะป้องกันชาวประมงจีนมิให้เข้าหาปลาในพื้นที่ดังกล่าว
--จีนได้แทรกแซงสิทธิดั้งเดิมของชาวประมงฟิลิปปินส์ด้วยการสกัดมิให้เข้าหาปลาในหมู่เกาะปะการังสการ์โบโรห์
--การถมทะเล และการสร้างเกาะเทียมของของจีน ได้สร้างความเสียหายที่ไม่สามารถฟื้นคืนได้ต่อสิ่งแวดล้อมทางทะเล
--เรือยามฝั่งของจีนได้กระทำผิดกฎหมาย และก่อให้เกิดความเสี่ยงรุนแรงต่อการชนกันขณะเข้าขวางเรือฟิลิปปินส์
*เบื้องหลังจีนเมินคำตัดสิน PCA รู้เป็นแค่เสือกระดาษ
จีนได้ประกาศก่อนหน้าวันที่ PCA จะมีคำตัดสินเกี่ยวกับทะเลจีนใต้ว่าจะไม่ให้ความสนใจต่อคำวินิจฉัยดังกล่าว และหลังจาก PCA มีคำตัดสินออกมาว่าจีนไม่สามารถอ้างสิทธิเหนือพื้นที่ส่วนใหญ่ในทะเลจีนใต้ จีนก็ได้แถลงไม่ยอมรับคำตัดสิน เพราะรู้ว่า PCA ไม่มีกลไก และอำนาจที่จะบังคับให้คู่พิพาทปฏิบัติตามคำตัดสินได้ ซึ่งแตกต่างจากศาลโลก หรือ ICJ ที่สามารถส่งเรื่องไปยังคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติเพื่อให้ออกมติลงโทษประเทศสมาชิกที่ไม่ปฏิบัติตามคำตัดสินได้ และต่อให้ ICJ เป็นองค์กรที่ได้พิจารณาข้อพิพาทนี้ และมีคำตัดสินให้จีนแพ้คดี จีนก็จะไม่ปฏิบัติตามอยู่ดี เนื่องจากหาก ICJ รายงานไปยังคณะมนตรีความมั่นคงเพื่อเสนอให้มีการคว่ำบาตรจีนเพื่อเป็นการลงโทษ จีนก็จะใช้สิทธิวีโต้มติดังกล่าวของคณะมนตรีความมั่นคงได้อยู่ดี ในฐานะที่จีนเป็นหนึ่งในสมาชิกถาวรของคณะมนตรีความมั่นคง
*ศาลโลกออกแถลงการณ์ไม่เกี่ยวข้องคำตัดสินกรณีพิพาททะเลจีนใต้
หลังจากที่ PCA มีคำวินิจฉัยกรณีพิพาทในทะเลจีนใต้ออกมา ศาลโลก หรือ ICJ ก็ได้ออกแถลงการณ์ในเว็บไซต์ ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไม่บ่อยนัก โดยระบุว่า ICJ ขอให้สื่อ และประชาชนโดยทั่วไป เข้าใจความจริงที่ว่า คณะตุลาการของ PCA เป็นผู้ออกคำตัดสินเกี่ยวกับข้อพิพาทในทะเลจีนใต้ ซึ่งฟิลิปปินส์ได้มีการยื่นฟ้องในปี 2556 โดย ICJ ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องในคดีดังกล่าว
นายอับดุล จี. โคโรมา อดีตตุลาการของ ICJ กล่าวว่า สิ่งเดียวที่เหมือนกันระหว่าง PCA และ ICJ คือ ทั้งสององค์กรต่างก็ตั้งอยู่ในอาคารเดียวกันคือ Peace Palace ที่กรุงเฮกของเนเธอร์แลนด์
"การที่ทั้ง PCA และ ICJ ต่างก็ตั้งอยู่ใน Peace Palace ที่กรุงเฮกเหมือนกัน ทำให้เป็นเรื่องยากสำหรับผู้ที่ไม่ได้เป็นนักกฎหมายที่จะรู้ถึงความแตกต่างระหว่างองค์กรทั้งสอง" เขากล่าว
*ทำความรู้จักศาลอนุญาโตตุลาการถาวร (PCA)
ศาลอนุญาโตตุลาการถาวร (Permanent Court of Arbitration หรือ PCA) เป็นสถาบันตุลาการที่เก่าแก่ที่สุดในโลกที่ตั้งขึ้นเพื่อแก้ไขข้อพิพาทระหว่างประเทศ ในกรณีที่ช่องทางทางการทูตอื่นๆได้ล้มเหลวลง โดยมีการจัดตั้งขึ้นในปี 2442 ที่กรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ ในการประชุมสันติภาพเฮกครั้งแรก ซึ่งพระเจ้าซาร์ นิโคลัสที่ 2 แห่งรัสเซีย เป็นผู้ริเริ่มให้จัดการประชุมดังกล่าว โดยระบุว่า การประชุมมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมสันติภาพที่ยืนยาว และจำกัดการพัฒนาอาวุธ
PCA รับพิจารณาข้อพิพาทซึ่งเกี่ยวข้องกับรัฐ หน่วยการปกครองรัฐ องค์การระหว่างประเทศ และภาคีเอกชน อย่างไรก็ตาม PCA ไม่ได้เป็นองค์กรภายใต้องค์การสหประชาชาติแต่อย่างใด
PCA พิจารณาคดีที่เกี่ยวข้องกับดินแดน เขตแดนทางทะเล อำนาจอธิปไตย สิทธิมนุษยชน รวมทั้งการลงทุน และการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งบางครั้ง PCA อาจพิจารณาคดีอย่างลับๆ และไม่มีการเปิดเผยคำพิพากษาเพื่อให้เป็นไปตามคำขอของคู่กรณี
ข้อเท็จจริงประการหนึ่งของ PCA นั้น คือ PCA ไม่มีสถานะเป็นศาล แต่เป็นคณะลูกขุนที่ได้รับการรับรองในระดับนานาชาติ ซึ่งพร้อมที่จะทำหน้าที่เป็นอนุญาโตตุลาการในการพิจารณาคดีที่ได้รับการยื่นฟ้อง โดยคู่กรณีแต่ละฝ่ายจะทำการเลือกลูกขุนฝ่ายละ 2 คน จากนั้นลูกขุนทั้ง 4 คนจะทำการคัดเลือกลูกขุนคนที่ 5 ให้มาทำหน้าที่เป็นประธานชี้ขาด
ถึงแม้คำตัดสินของ PCA ถือเป็นที่สิ้นสุด และมีผลผูกพันทางกฎหมาย แต่ PCA ก็ไม่มีอำนาจ และไม่มีกลไกที่จะบังคับให้คู่กรณีดำเนินการตามคำตัดสินแต่อย่างใด
จากการที่ PCA ไม่ได้เป็นองค์กรภายใต้สหประชาชาติ ทำให้ PCA พึ่งพารายได้จากการให้บริการด้านพิจารณาคดีเท่านั้น ซึ่งแตกต่างจาก ICJ ซึ่งได้รับเงินสนับสนุนจากองค์การสหประชาชาติ
สำหรับในคดีความขัดแย้งในทะเลจีนใต้นั้น รัฐบาลฟิลิปปินส์เป็นผู้จ่ายเงินค่าธรรมเนียมในการพิจารณาคดีทั้งของฟิลิปปินส์และจีนให้แก่ PCA เนื่องจากจีนปฏิเสธที่จะยอมรับ และไม่เข้ามีส่วนร่วมในการพิจารณาคดีของ PCA ตั้งแต่ต้น
จีนและฟิลิปปินส์อยู่ในกลุ่ม 121 ประเทศที่เป็นภาคีของ PCA ในขณะที่บางประเทศในเอเชีย เช่น อินโดนีเซีย มองโกเลีย และเมียนมา ไม่ได้เข้าร่วมเป็นสมาชิก
*ศาลโลก หรือศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (ICJ)
ศาลโลก หรือศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (International Court of Justice หรือ ICJ) ก่อตั้งขึ้นโดยกฎบัตรสหประชาชาติเมื่อปี 2489 ส่งผลให้เป็นองค์กรหนึ่งขององค์การสหประชาชาติ โดยทำหน้าที่สืบต่อจากศาลสถิตยุติธรรมระหว่างประเทศ (International Permanent Court of Justice) หรือ IPCJ ที่ก่อตั้งเมื่อปี 2463 และยุติบทบาทไปพร้อมกับองค์การสันนิบาตชาติ
ICJ มีสำนักงานตั้งอยู่ที่ Peace Palace ซึ่งเป็นอาคารเดียวกับที่ตั้งของ PCA ที่กรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์
ICJ มีอำนาจพิจารณาคดีที่เป็นข้อพิพาทระหว่าง 2 ประเทศขึ้นไป เช่น ข้อพิพาทเรื่องดินแดนอาณาเขต การละเมิดอำนาจอธิปไตย ปัญหาสิ่งแวดล้อมระหว่างประเทศ หรือกรณีที่เกี่ยวข้องกับเอกชนที่รัฐเป็นผู้ยื่นฟ้อง
อย่างไรก็ดี ประเทศที่เกี่ยวข้องจะต้องยินยอมรับอำนาจของ ICJ ก่อนเท่านั้น ศาลจึงจะมีอำนาจพิจารณาตัดสินคดีนั้นได้
นอกจากนี้ ICJ ยังมีอำนาจวินิจฉัยเพื่อให้ความเห็นเกี่ยวกับประเด็นทางกฎหมายระหว่างประเทศ ตามที่สมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ หรือคณะมนตรีความมั่นคงร้องขอ หรือตามที่องค์กรอื่นภายใต้สหประชาชาติหรือองค์การชำนัญพิเศษแห่งสหประชาชาติร้องขอโดยได้รับการอนุมัติจากสมัชชาใหญ่ หรือตามที่ได้มีการให้อำนาจวินิจฉัยตามสนธิสัญญา
คณะผู้พิพากษาของ ICJ มีอยู่ 15 คน โดยได้รับการคัดเลือกจากสมัชชาใหญ่แห่งองค์การสหประชาชาติและคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ อยู่ในตำแหน่งคราวละ 9 ปี คนละ 1 วาระ โดยการพิจารณาคดีจะต้องมีผู้พิพากษาอย่างน้อย 9 คนนั่งบัลลังก์จึงจะครบองค์คณะ
เมื่อ ICJ ตัดสินคดีความใดแล้วต้องถือว่าเป็นอันยุติ ไม่มีการอุทธรณ์หรือฎีกาแต่อย่างใด และหากคู่กรณีไม่ปฏิบัติตามคำตัดสิน ก็จะมีการยื่นเรื่องร้องเรียนไปยังคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติเพื่อให้พิจารณาดำเนินการต่อไปได้ ซึ่งอาจมีมติเรียกร้องให้ประเทศสมาชิกองค์การสหประชาชาติทำการคว่ำบาตรประเทศที่ไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษาของ ICJ
*ย้อนรอย 2 คดีเขาพระวิหาร ศาลโลกตัดสินไทยแพ้ 1 เสมอ 1
ที่ผ่านมา ไทยเคยขึ้นศาลโลก หรือ ICJ มาแล้ว 2 ครั้ง ซึ่งทั้ง 2 ครั้ง เป็นกรณีพิพาทกับกัมพูชาในประเด็นเขาพระวิหาร
สำหรับในครั้งแรกนั้น ไทยและกัมพูชายื่นฟ้อง ICJ ในปี 2502 จากข้อพิพาทเรื่องปราสาทพระวิหาร เนื่องจากไทยและกัมพูชาถือแผนที่ปักปันเขตแดนตามแนวสันปันน้ำของเทือกเขาพนมดงรักคนละฉบับ ทำให้เกิดปัญหาพื้นที่ทับซ้อนของทั้งสองฝ่ายในบริเวณที่เป็นที่ตั้งของตัวปราสาท จึงต้องนำเรื่องนี้ไปชี้ขาดที่ ICJ ซึ่งในที่สุดแล้ว ICJ ก็ได้มีคำตัดสินเมื่อวันที่ 15 มิ.ย.2505 ให้ตัวปราสาทพระวิหารตกเป็นของกัมพูชา ด้วยคะแนนเสียง 9 ต่อ 3
จากนั้น ในปี 2556 ไทยและกัมพูชาได้ขึ้นศาลโลกอีกครั้ง หลังจากที่กัมพูชาขอให้ศาลตีความคำพิพากษาเดิมเมื่อปี 2505 อีกครั้ง เพื่อให้ชี้ขาดปัญหาเรื่องเขตแดนบริเวณโดยรอบปราสาทพระวิหาร และพื้นที่ทับซ้อนซึ่งเป็นปัญหายาวนานกว่า 50 ปี ซึ่งในวันที่ 11 พ.ย.2556 ICJ ก็ได้ยืนตามคำพิพากษาเดิมในปี 2505 ให้กัมพูชามีอำนาจอธิปไตยเหนือปราสาทพระวิหาร และได้ตัดสินให้ไทยและกัมพูชาไปเจรจาตกลงเรื่องเขตแดนกันเอง เพื่อร่วมกันรักษามรดกโลกไว้ ภายใต้การดูแลขององค์การการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก)
*จับตาทะเลจีนใต้ชนวนน้ำผึ้งหยดเดียว ขณะจีนกร้าวเดินหน้า"เสี่ยสั่งลุย"
หลังจากที่จีนประกาศกร้าวก่อนหน้านี้ว่าจะไม่ยอมรับคำตัดสินของ PCA แต่หลังจากนั้น ก็ดูเหมือนจะมีสัญญาณที่ดีขึ้นจากทางการจีน หลังจากที่นายหลู่ กัง โฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีน ระบุว่า จีนขานรับการที่ประธานาธิบดีโรดริโก ดูเตอร์เตแห่งฟิลิปปินส์ เตรียมส่งนายฟิเดล รามอส อดีตประธานาธิบดี เพื่อเข้าเจรจากับทางการจีนในการคลี่คลายความขัดแย้งในทะเลจีนใต้ แต่ล่าสุดวานนี้ฟิลิปปินส์ก็ได้ยกเลิกข้อเสนอที่จะเจรจากับจีนแล้ว เนื่องจากจีนตั้งเงื่อนไขที่ฟิลิปปินส์ยอมรับไม่ได้ โดยจีนห้ามฟิลิปปินส์ระบุถึงคำพิพากษาของ PCA ที่ได้ปฏิเสธการอ้างสิทธิของจีนในน่านน้ำทะเลจีนใต้ หากสถานการณ์เป็นเช่นนี้ต่อไป ก็เชื่อแน่ว่า ประเด็นทะเลจีนใต้จะยังคงเป็นเหมือนก้อนกรวดในรองเท้าที่จะรบกวนความสัมพันธ์ระหว่างจีนและสมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) ต่อไป เนื่องจากนอกจากฟิลิปปินส์แล้ว ยังคงมีอีกหลายประเทศในภูมิภาคที่ขัดแย้งกับจีนในเรื่องนี้ ซึ่งได้แก่ เวียดนาม มาเลเซีย บรูไน รวมทั้งไต้หวัน ซึ่งต่างก็อ้างสิทธิเหนือน่านน้ำในทะเลจีนใต้เหมือนกัน ถ้าจีนยังคงเล่นบทกร่าง ไม่สนใจคำตัดสินของศาลระหว่างประเทศ ขณะที่เดินหน้าถมทะเล, สร้างเกาะเทียม และส่งเรือยามฝั่งออกลาดตระเวนในทะเลจีนใต้ ขณะที่สหรัฐก็ได้ส่งเรือรบเข้ามาในน่านน้ำดังกล่าวเช่นกัน หากทั้งสองฝ่ายเกิดการปะทะกันขึ้น ไม่ว่าจะเกิดจากอุบัติเหตุ หรือความตั้งใจก็ตาม เหตุการณ์ดังกล่าวก็อาจปะทุขึ้นจนถึงขั้นแตกหัก และกลายเป็นน้ำผึ้งหยดเดียวที่จะส่งผลกระทบรุนแรงต่อภูมิภาค และเป็นภัยต่อเสถียรภาพของโลก