In Focusวิเคราะห์เจาะลึกหุ้นเด่น-หุ้นดับ รับ"คลินตัน"-"ทรัมป์"นั่งเก้าอี้ผู้นำสหรัฐ

ข่าวต่างประเทศ Wednesday August 17, 2016 11:22 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศึกชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐกำลังเข้มข้นขึ้น ในขณะที่เหลือเวลาอีกเพียงไม่ถึง 3 เดือนก็จะถึงกำหนดวันเลือกตั้งในวันที่ 8 พ.ย. ซึ่งผลสำรวจล่าสุดของแทบทุกสำนักต่างระบุเป็นเสียงเดียวกันว่า ฮิลลารี คลินตัน ผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐจากพรรคเดโมแครต ยังคงมีคะแนนนำโดนัลด์ ทรัมป์ คู่แข่งจากพรรครีพับลิกัน

ทางด้านนักวิเคราะห์ระบุว่า ตลาดหุ้นสหรัฐ และบริษัทในย่านวอลล์สตรีทมีแนวโน้มขานรับประธานาธิบดีสหรัฐคนใหม่ที่ชื่อ ฮิลลารี คลินตัน มากกว่าที่จะเป็นชื่อโดนัลด์ ทรัมป์ แม้ว่าตลาดวอลล์สตรีทไม่ได้มีความคลั่งไคล้ต่อพรรคเดโมแครต แต่นักลงทุนส่วนใหญ่มองว่าประธานาธิบดีที่ชื่อคลินตันถือเป็นตัวเลือกที่มีความปลอดภัยมากกว่าทรัมป์ เนื่องจากคลินตันอยู่ในแวดวงการเมืองมานาน และเป็นที่รู้จักทั้งในด้านนโยบาย และบุคลิกลักษณะส่วนตัว ในขณะที่ทรัมป์ถือเป็นคนหน้าใหม่ที่เพิ่งเข้ามาเล่นการเมือง และมีบุคลิกพูดจาโผงผาง คาดเดาลำบาก ซึ่งถ้าหากทรัมป์มีคะแนนนำเป็นอย่างมากในการสำรวจก่อนการเลือกตั้ง ตลาดก็อาจปรับตัวอย่างวิตกกังวล ขณะที่นักลงทุนจะพากันเทขายสินทรัพย์เสี่ยง

อย่างไรก็ดี นโยบายของคลินตัน และของพรรคเดโมแครตอาจจะไม่เอื้อประโยชน์ต่อบริษัททุกกลุ่มในตลาดวอลล์สตรีท คอลัมน์ In Focus ของ InfoQuest จึงขอวิเคราะห์หุ้นกลุ่มธุรกิจที่จะได้ประโยชน์ และเสียประโยชน์ หากคลินตันหรือทรัมป์เป็นผู้ชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐในปลายปีนี้

*แบงก์สหรัฐมีหนาว หวั่นถูกบอนไซหลังเลือกตั้ง

ถึงแม้พรรคเดโมแครตและรีพับลิกันจะเป็นคู่แข่งทางการเมือง แต่ทั้ง 2 พรรคก็มีจุดยืนเหมือนกันเกี่ยวกับการนำกฎข้อบังคับกล๊าส-สตีกอลกลับมาปัดฝุ่นใช้ใหม่ หลังจากที่มีการใช้ในยุคเศรษฐกิจตกต่ำ โดยข้อบังคับดังกล่าวมีเนื้อหาสำคัญในการแยกกิจการธนาคารพาณิชย์ออกจากกิจการวาณิชธนกิจ ซึ่งหากมีการนำกฎกล๊าส-สตีกอลกลับมาใช้จริง ก็จะส่งผลให้มีการแยกกิจการธนาคารขนาดใหญ่ เช่น เจพีมอร์แกน เชส และซิตี้กรุ๊ป

นอกจากนี้ คลินตันยังแสดงความต้องการให้มีการคงกฎระเบียบดอดด์-แฟรงก์ต่อไป หลังมีการบังคับใช้ในช่วงหลังเกิดวิกฤตการเงินเพื่อควบคุมการดำเนินงานของภาคธนาคาร ในขณะที่ทรัมป์ประกาศที่จะยกเลิกกฎระเบียบดังกล่าว

*ธุรกิจบริการกระอัก หลังว่าที่ปธน.เสนอขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ

สำหรับแนวคิดในด้านค่าแรงขั้นต่ำนั้น คลินตันเสนอให้มีการปรับขึ้นสู่ระดับ 15 ดอลลาร์/ชั่วโมง ในขณะที่ทรัมป์เสนอให้เพิ่มขึ้นสู่ระดับ 10 ดอลลาร์/ชั่วโมง ซึ่งการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อธุรกิจโรงแรม ร้านอาหาร และบริษัทค้าปลีก

อย่างไรก็ดี สำหรับห้างค้าปลีกบางแห่ง เช่น วอลมาร์ท อาจได้รับอานิสงส์จากยอดขายที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากลูกค้าส่วนใหญ่ของวอลมาร์ทเป็นลูกจ้างที่มีฐานรายได้ต่ำ ซึ่งจะได้ประโยชน์จากการเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ

*กลุ่มอุตสาหกรรมวิตกคลินตัน,ทรัมป์ฉีกข้อตกลง TPP

เป็นที่รู้กันดีว่า ทั้งคลินตันและทรัมป์ต่างก็คัดค้านการทำข้อตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (TPP) ที่มีสหรัฐเป็นผู้นำภายใต้การผลักดันของประธานาธิบดีบารัค โอบามา แต่ทรัมป์ดูท่าทางจะขึงขังกว่า โดยขู่ที่จะฉีกข้อตกลงทางการค้าที่มีอยู่ในปัจจุบันที่เขามองว่าไม่เป็นธรรมต่อสหรัฐ ซึ่งท่าทีของคลินตันและทรัมป์จะส่งผลกระทบต่อกลุ่มบริษัทในภาคอุตสาหกรรมของสหรัฐ เช่น แคเทอร์พิลลาร์ และเจเนอรัล อิเลคทริค ซึ่งต้องพึ่งพายอดขายจากต่างประเทศ

*ภาคเกษตร,บริการผวาถูกกระทบจากนโยบายปิดพรมแดนของทรัมป์

นโยบายที่เข้มงวดของทรัมป์เกี่ยวกับการควบคุมคนเข้าประเทศ และการเสนอสร้างกำแพงกั้นชายแดนทางใต้ของสหรัฐที่ติดกับเม็กซิโก จะเป็นการปิดกั้นแรงงานที่มีคุณภาพเข้าสู่สหรัฐ ซึ่งจะกระทบต่อธุรกิจการเกษตร, โรงแรม และร้านอาหาร เนื่องจากจะส่งผลให้มีแรงงานอพยพเข้าสหรัฐน้อยลง

*หุ้นกลุ่มพลังงานเดือดร้อนแน่จากนโยบายคลินตัน

คลินตันมีจุดยืนในการคัดค้านการสร้างท่อส่งน้ำมันใหม่ ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของประธานาธิบดีบารัค โอบามา โดยเห็นได้ชัดจากการคว่ำโครงการก่อสร้างท่อส่งน้ำมันทรานแคนาดาคีย์สโตน เอ็กซ์แอล

คลินตันยังผลักดันให้มีการออกกฎที่เข้มงวดขึ้นสำหรับบริษัทพลังงานที่ทำการผลิตน้ำมัน Shale Oil โดยใช้วิธีฉีดสกัดน้ำมันจากชั้นหินดินดาน

ขณะเดียวกัน คลินตันยังเสนอให้มีการยกเลิกการผ่อนปรนภาษีสำหรับกลุ่มบริษัทผลิตน้ำมันและก๊าซ รวมทั้งสนับสนุนให้มีการลดการใช้น้ำมันที่ผลิตจากฟอสซิล เพื่อหันไปใช้พลังงานทางเลือกอื่นๆ เช่น พลังงานแสงอาทิตย์

นอกจากนี้ คลินตันยังต้องการให้สหรัฐลดการบริโภคน้ำมันลงถึง 1 ใน 3 และทดแทนด้วยการใช้พลังงานจากแผงรับพลังงานแสงอาทิตย์จำนวน 500 ล้านแผง แต่เรื่องนี้จะเป็นปัจจัยบวกสำหรับบริษัทผลิตพลังงานแสงอาทิตย์ เช่น เฟิร์สท์โซลาร์, ซันเพาเวอร์ และโซลาร์ซิตี้

*บริษัทโบรกเกอร์ก็ไม่พ้นโดนหางเลขถูกคลินตันรีดภาษี

คลินตันเสนอให้มีการจัดเก็บภาษีการส่งคำสั่งซื้อขายหุ้นที่มีความถี่สูง (High Frequency Trading) หรือการส่งคำสั่งซื้อขายหุ้นโดยใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ ซึ่งใช้ความเร็วจากระบบคอมพิวเตอร์ในการวิเคราะห์ข้อมูล โดยแนวคิดของคลินตันจะส่งผลกระทบต่อบริษัทโบรกเกอร์ในย่านวอลล์สตรีท

*บริษัทกลุ่มเวชภัณฑ์-ไบโอเทคไม่ปลื้มถูกคลินตันคุมราคา

นโยบายของคลินตันในการควบคุมราคาสินค้าในกลุ่มเทคโนโลยีชีวภาพ (ไบโอเทค) และกลุ่มเวชภัณฑ์ จะส่งผลกระทบต่อธุรกิจเหล่านี้ โดยบริษัทในกลุ่มไบโอเทคดิ่งลงอย่างหนักในเดือนก.ย.ปีที่แล้ว หลังคลินตันส่งสัญญาณว่าจะเดินหน้าตรวจสอบการกำหนดราคาสินค้าในกลุ่มดังกล่าว

*ธุรกิจรักษาสุขภาพสดใสรับนโยบายคลินตัน

คลินตันมีแนวโน้มสนับสนุนกฎหมาย Affordable Care Act หรือที่เรียกว่า Obama Care ซึ่งจะส่งผลบวกต่อบริษัทในกลุ่มธุรกิจรักษาสุขภาพ และโรงพยาบาล เช่น เทเน็ท เฮลท์แคร์ ในขณะที่พรรครีพับลิกันโจมตีกฎหมายดังกล่าว

*บริษัทบรอดแบนด์, อินเทอร์เน็ตไร้สายเฮรับแผนเดโมแครต

พรรคเดโมแครตมีนโยบายขยายระบบบรอดแบนด์ เพื่อให้ชาวสหรัฐได้รับบริการอินเทอร์เน็ตไร้สายทั่วประเทศ ซึ่งจะส่งผลบวกต่อบริษัทเน็ตฟลิกซ์ และเฟซบุ๊ก

นอกจากนี้ พรรคเดโมแครตยังมีแผนให้ทุกครัวเรือนในสหรัฐสามารถเชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง รวมทั้งผลักดันการให้บริการ Wi-Fi ฟรีในสถานที่สาธารณะ และให้ชาวอเมริกันสามารถใช้เทคโนโลยี 5G อย่างกว้างขวาง .

*บริษัทกลุ่มสาธารณูปโภคต่างรับอานิสงส์จากนโยบายเดโมแครต-รีพับลิกัน

คู่แข่งทั้ง 2 จากพรรคเดโมแครตและรีพับลิกันต่างชูประเด็นการใช้จ่ายด้านสาธารณูปโภค เช่น การก่อสร้างถนนและสะพาน นอกจากนี้ เดโมแครตยังให้ความสำคัญต่อการสร้างทางรถไฟ สนามบินและระบบขนส่งมวลชนขนาดใหญ่

ขณะเดียวกัน พรรคเดโมแครตยังมีแนวคิดก่อตั้งธนาคารเพื่อการลงทุนด้านสาธารณูปโภคเพื่อจัดหาแหล่งเงินทุนสำหรับโครงการด้านโครงสร้างพื้นฐาน และโครงการบรอดแบนด์ หรืออินเทอร์เน็ตความเร็วสูง

*บริษัทผลิตอาวุธยิ้ม ไม่ว่าใครขึ้นเป็นประธานาธิบดีสหรัฐ

ทั้งคลินตันและทรัมป์ต่างชูประเด็นการสร้างความแข็งแกร่งแก่กองทัพสหรัฐ ซึ่งจะเอื้อประโยชน์แก่บริษัทผลิตอาวุธ เช่น ล็อคฮีท และเรย์ธีออน

นอกจากนี้ นโยบายการรักษาความมั่นคงในโลกไซเบอร์ของคลินตัน จะช่วยหนุนการดำเนินงานของบริษัทแอล-3 คอมมิวนิเคชั่น รวมถึงบริษัทที่ผลิตโดรน

*กลุ่มเทคโนโลยี, เวชภัณฑ์ขานรับนโยบายลดภาษีของทรัมป์

เมื่อพิจารณานโยบายภาษี พบว่าทรัมป์มีแนวคิดเอื้อต่อภาคธุรกิจมากกว่าคลินตัน โดยเขาต้องการปรับลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคล ในขณะที่คลินตันเสนอให้มีการปรับเพิ่มขึ้น

นอกจากนี้ แนวคิดการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างภาษีนิติบุคคลของทรัมป์จะช่วยหนุนให้บริษัทขนาดใหญ่ในกลุ่มเทคโนโลยี และเวชภัณฑ์โอนรายได้กลับเข้าสหรัฐ จากเดิมที่นิยมเก็บเป็นเงินสดจำนวนมากไว้ในต่างประเทศ

*มูดี้ส์ชูแผนเศรษฐกิจคลินตันช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจมากกว่าทรัมป์

บริษัทมูดี้ส์ อนาลิติกส์ ออกรายงานระบุว่า แผนเศรษฐกิจของคลินตันจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจสหรัฐได้มากกว่าแผนเศรษฐกิจของทรัมป์

ทั้งนี้ มาร์ค แซนดี หัวหน้านักวิเคราะห์ของมูดี้ส์ กล่าวว่า "ข้อเสนอทางเศรษฐกิจของคลินตันจะส่งผลให้เศรษฐกิจสหรัฐแข็งแกร่งขึ้น โดยการขยายตัวในระยะใกล้จะได้แรงหนุนจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่เกิดจากแผนการใช้จ่าย 2.2 ล้านล้านดอลลาร์ในช่วงเวลา 10 ปี โดยจะมีการใช้จ่ายด้านสาธารณูปโภคและการศึกษา รวมทั้งการเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ และการลงทุนในด้านการพัฒนาและวิจัยทางเศรษฐกิจ"

คลินตันเสนอให้มีการจัดเก็บภาษีในวงเงินที่เท่ากับแผนการใช้จ่ายดังกล่าว โดยภาระส่วนใหญ่จะตกลงบนภาคเอกชน และผู้ที่มีรายได้มากกว่า 3 แสนดอลลาร์ต่อปี

แผนเศรษฐกิจของคลินตันจะเน้นหนักในด้านอุปสงค์ตามทฤษฏีของเคนส์ ส่วนของทรัมป์จะเน้นทางด้านอุปทานด้วยการปรับลดภาษี

มูดี้ส์ระบุก่อนหน้านี้ว่า ข้อเสนอทางเศรษฐกิจของนายทรัมป์จะทำให้เศรษฐกิจสหรัฐเกิดภาวะถดถอยที่ยาวนาน และส่งผลให้มีการก่อหนี้ในภาครัฐเพิ่มขึ้นอีก 11 ล้านล้านดอลลาร์ และทำให้ลดการจ้างงานมากถึง 3.5 ล้านตำแหน่ง

*เอาเข้าจริง แผนเศรษฐกิจอาจเป็นเพียงกลเม็ดหาเสียง หากคองเกรส-ศาลตั้งป้อมค้าน

อย่างไรก็ดี นักวิเคราะห์ตั้งข้อสังเกตุว่า นโยบายของพรรคเดโมแครต และรีพับลิกัน ไม่ใช่สิ่งที่จะสามารถดำเนินการได้จริงทันทีที่ประธานาธิบดีคนใหม่เข้ารับตำแหน่ง โดยเฉพาะนโยบายที่ต้องใช้งบประมาณจำนวนมาก ซึ่งความสำเร็จของการผลักดันนโยบายเศรษฐกิจของว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐไม่ใช่เรื่องง่าย เนื่องจากจะขึ้นอยู่กับจำนวนสัดส่วนสมาชิกพรรคเดโมแครตและรีพับลิกันในสภาคองเกรส และความสามารถของประธานาธิบดีในการทำงานร่วมกันสมาชิกรัฐสภา ขณะที่สหรัฐมีระบบถ่วงดุลอำนาจระหว่างฝ่ายบริหาร ซึ่งเป็นรัฐบาลสหรัฐ และฝ่ายนิติบัญญัติ ซึ่งก็คือสภาคองเกรส รวมทั้งฝ่ายตุลาการ ซึ่งเป็นศาลของสหรัฐ สิ่งที่ประธานาธิบดีทรัมป์ หรือประธานาธิบดีคลินตันต้องการจะทำ หากสภาคองเกรสไม่อนุมัติ หรือศาลตัดสินว่าขัดต่อกฎหมาย ก็จะไม่สามารถดำเนินการได้ นอกจากนี้ เสียงของพลังประชาชนจากกลุ่มเคลื่อนไหวทางสังคมก็จะมีบทบาทสำคัญในการขัดขวางนโยบายที่ไม่เข้าท่าของรัฐบาล

คาดว่าทั้งทรัมป์และคลินตันเองก็คงเข้าใจในข้อจำกัดเหล่านี้ในการนำนโยบายมาบังคับใช้จริง แต่ด้วยนิสัยของนักการเมืองซึ่งต้องการหาจุดขายในระหว่างหาเสียงเลือกตั้งขณะนี้ จึงทำให้ทั้งสองพูดในสิ่งที่คิดว่าอยากจะพูดได้เต็มที่ ซึ่งหากไม่สามารถทำได้ ก็จะโบ้ยความผิดไปที่คองเกรสหรือศาลสหรัฐว่าเป็นต้นเหตุของอุปสรรคในการดำเนินการ

*ภาคธุรกิจไทยควรเร่งรับมือนโยบายเศรษฐกิจใหม่จากสหรัฐ

จากการวิเคราะห์ในครั้งนี้จะเห็นว่าภาคธุรกิจบางส่วนของสหรัฐจะได้รับประโยชน์จากนโยบายของประธานาธิบดีคนใหม่ ขณะที่บางส่วนจะถูกกระทบเข้าเต็มๆ และเป็นที่คาดกันว่าผู้บริหารของธุรกิจเหล่านี้คงกำลังจัดทำแผนรับมือผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในไม่ช้า

ส่วนภาคธุรกิจของไทย ซึ่งแม้ดูเหมือนอยู่ห่างไกลจากสหรัฐ ก็ไม่ใช่ว่าจะปลอดพ้นจากผลกระทบจากสิ่งที่เกิดขึ้นในสหรัฐ เนื่องจากไทยต้องพึ่งพาการส่งออกไปยังสหรัฐ ดังนั้นภาคอุตสาหกรรมและบริการของไทย จะต้องคอยจับตาผลกระทบทั้งในแง่บวกและแง่ลบจากนโยบายเศรษฐกิจของประธานาธิบดีสหรัฐคนใหม่ เพื่อปรับตัวในช่วงเวลาที่เหลืออีกเพียงไม่กี่เดือน ก่อนที่ประธานาธิบดีสหรัฐคนใหม่จะขึ้นรับตำแหน่งในช่วงต้นปีหน้า


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ