In Focus"ฮันจิน"ยักษ์ใหญ่ชิปปิ้งเกาหลีล้ม โดมิโนตัวแรกในวงการเดินเรือ?

ข่าวต่างประเทศ Wednesday September 7, 2016 11:31 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ข่าวใหญ่ที่สะเทือนวงการธุรกิจชิปปิ้งทั่วโลกเมื่อสัปดาห์ที่แล้วคือการล้มละลายของบริษัทฮันจิน ชิปปิ้ง ซึ่งเป็นบริษัทชิปปิ้งขนาดใหญ่ที่สุดของเกาหลีใต้ และรายใหญ่อันดับ 7 ของโลก หลังจากประสบภาวะขาดทุนอย่างหนัก และขณะนี้กำลังส่งผลกระทบต่อการขนส่งสินค้า และการค้าทั่วโลก ก่อนถึงเทศกาลช็อปปิ้งในช่วงปลายปี

การล้มละลายของฮันจินนับเป็นการล้มละลายครั้งใหญ่ที่สุดในอุตสาหกรรมชิปปิ้งของโลก โดยมีมูลค่าสูงกว่าการล้มละลายของบริษัทยูไนเต็ดสเตทส์ ไลน์สในปี 1986

คอลัมน์ In Focus ของ InfoQuest จะวิเคราะห์เจาะลึกสาเหตุของการล้มละลายของฮันจิน และดูว่าจะส่งผลกระทบแบบโดมิโนทำให้บริษัทอื่นในวงการชิปปิ้งล้มตามหรือไม่ รวมทั้งพิจารณาผลกระทบต่อการขนส่งสินค้า, เศรษฐกิจเกาหลีใต้ และการส่งออกของไทย

*ย้อนรอยอาณาจักร"ฮันจิน" ทายาทไร้กึ๋น ดรามาถอดแบบซีรีส์ละครดังเกาหลี

ฮันจิน ชิปปิ้งเป็นธุรกิจในเครือของฮันจิน กรุ๊ป ซึ่งก็ยังรวมถึงสายการบินโคเรียน แอร์ ซึ่งเป็นสายการบินใหญ่ที่สุดของเกาหลีใต้ โดยฮันจิน กรุ๊ปมีการบริหารงานที่คล้ายคลึงกับธุรกิจขนาดใหญ่อื่นๆในเกาหลีใต้ ที่มีครอบครัวเป็นผู้ดูแลธุรกิจ หรือที่เรียกว่า แชโบล

นายโช ชุง ฮุน ซึ่งเป็นผู้ก่อตั้งฮันจิน กรุ๊ป ได้เริ่มธุรกิจรถบรรทุกขึ้นในปี 1945 และกิจการได้เติบโตขึ้นเป็นลำดับ โดยได้อานิสงส์จากการขนส่งสินค้าและยุทธภัณฑ์ให้แก่กองทัพสหรัฐในช่วงสงครามเวียดนาม

แชโบลของนายโชได้ช่วยผลักดันเศรษฐกิจของเกาหลีใต้ให้มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 4 ของเอเชีย

อย่างไรก็ดี ฮันจินก็ไม่สามารถรอดพ้นชะตากรรมที่แชโบลอื่นๆต้องประสบ นั่นก็คือ ทายาทของธุรกิจรุ่นต่อมาไม่มีความสามารถพอที่จะรักษาอาณาจักรธุรกิจที่บรรพบุรุษของพวกเขาสร้างมากับมือ

นับตั้งแต่ที่นายโช ยัง โฮ ซึ่งเป็นบุตรของนายโช ซุง ฮุน ขึ้นมาครอบครองกิจการฮันจิน กรุ๊ป ในปี 2014 ทางบริษัทก็ได้ใช้เงินจำนวน 1.2 ล้านล้านวอน (1.07 พันล้านดอลลาร์) เพื่อพยายามกอบกู้กิจการฮันจิน ชิปปิ้ง ซึ่งกำลังประสบภาวะย่ำแย่จากอัตราค่าระวางเรือที่ตกต่ำลง อันเนื่องจากอุปสงค์ที่อ่อนแอ และจำนวนเรือสินค้าในตลาดมีมากเกินความต้องการ

นายโช ยัง โฮ ได้เข้าบริหารงานในฮันจิน ชิปปิ้งต่อจากนางชอย อึน ยัง ซึ่งเป็นภรรยาของน้องชายของเขา แต่ก็ไม่อาจฟื้นฟูผลการดำเนินงานของบริษัท ซึ่งได้ประสบภาวะขาดทุนตั้งแต่ปี 2011

นอกจากนี้ ภาพพจน์ของฮันจิน กรุ๊ปยังถูกกระทบในปี 2014 เมื่อนางโช ฮุน อาห์ รองประธานสายการบินโคเรียน แอร์ และเป็นบุตรสาวของนายโช ยัง โฮ ประธานบริษัทฮันจิน กรุ๊ป ได้แสดงความเกรี้ยวกราดบนเครื่องบิน เนื่องจากไม่พอใจต่อวิธีการเสิร์ฟถั่วแมคคาดาเมียของแอร์โฮสเตส และได้สั่งให้เครื่องบินโคเรียน แอร์ที่เธอโดยสารอยู่ให้กลับไปยังท่าอากาศยานจอห์น เอฟ เคนเนดีที่นครนิวยอร์ก

ต่อมา นางโช ฮุน อาห์ถูกศาลพิพากษาจำคุก 1 ปี แต่โทษให้รอลงอาญา จากความผิดในข้อหาทำร้ายพนักงานบนเครื่องบิน และไม่นาน เธอก็ได้ลาออกจากตำแหน่งรองประธานสายการบินโคเรียน แอร์

*"ฮันจิน"เผชิญวิบากกรรม ถูกแบงก์ตัดหาง เมินปล่อยกู้ ขณะขาดทุนอ่วม

ธนาคารโคเรีย ดีเวลอปเมนท์ แบงก์ ปฏิเสธแผนของฮันจิน กรุ๊ปที่จะอัดฉีดเงิน 5 แสนล้านวอน (447.2 ล้านดอลลาร์) เพื่อช่วยเหลือฮันจิน ชิปปิ้ง ซึ่งมีหนี้ท่วมมากกว่า 6 ล้านล้านวอน (5.37 พันล้านดอลลาร์) โดยธนาคารให้เหตุผลว่าแผนการของบริษัทไม่ครอบคลุมพอในการแก้ไขปัญหาหนี้ ทำให้ฮันจิน ชิปปิ้งต้องยื่นเรื่องต่อศาลเพื่อขอการพิทักษ์ทรัพย์ ซึ่งศาลสั่งให้เริ่มต้นกระบวนการฟื้นฟูกิจการ และกำหนดให้ส่งแผนฟื้นฟูภายในวันที่ 25 พ.ย.

ฮันจิน ชิปปิ้งเปิดเผยว่าได้ประสบภาวะขาดทุนสุทธิ 2.611 แสนล้านวอน (233.6 ล้านดอลลาร์) ในไตรมาสแรก หรือ 4.73 แสนล้านวอน (423 ล้านดอลลาร์) ในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ จากสาเหตุที่ค่าระวางเรือได้ดิ่งลงต่ำเป็นประวัติการณ์

ฮันจินเปิดเผยว่า เรือขนส่งสินค้าของทางบริษัทจำนวน 79 ลำจากทั้งหมด 141 ลำไม่สามารถเข้าเทียบท่าในเมืองใหญ่ๆ ทั่วโลก ซึ่งรวมถึงนครเซี่ยงไฮ้ของจีน นครซิดนีย์ของออสเตรเลีย เมืองฮัมบูร์กของเยอรมนี และเมืองลองบีช รัฐแคลิฟอร์เนียของสหรัฐ ขณะที่เรือลำหนึ่งถูกยึดในสิงคโปร์

ขณะนี้ เรือของฮันจินบรรทุกสินค้ามูลค่า 16 ล้านล้านวอน (1.45 หมื่นล้านดอลลาร์) จากบริษัทเจ้าของคาร์โกราว 8,300 ราย

บริษัทสหรัฐอย่างน้อย 3 แห่งได้ดำเนินการฟ้องร้องฮันจินเพื่อยึดเรือ และทรัพย์สินอื่นๆหลังจากที่ได้ติดค้างหนี้จำนวนมาก

*"ฮันจิน"เตรียมยื่นขอพิทักษ์ทรัพย์จากศาลทั่วโลก

คณะกรรมการบริการการเงินเกาหลีใต้ (FSC) เปิดเผยว่า ฮันจินจะยื่นขอพิทักษ์ทรัพย์จากการล้มละลายต่อศาลในประเทศต่างๆ 43 ประเทศในสัปดาห์นี้ ซึ่งรวมถึงศาลแคนาดา เยอรมนี และอังกฤษ เพื่อลดผลกระทบที่เป็นผลมาจากกระบวนการล้มละลาย

ทางด้านรัฐบาลเกาหลีใต้ได้ออกแถลงการณ์ร่วมกับ FSC ว่า การยื่นขอพิทักษ์ทรัพย์ครั้งนี้ มีเป้าหมายที่จะลดผลกระทบที่เกิดขึ้น หากเรือของฮันจินถูกยึดโดยรัฐบาลของประเทศต่างๆ นอกจากนี้ รัฐบาลเกาหลีใต้ยังได้เตรียมการให้บริษัทฮุนได เมอร์แชนท์ มารีน เข้าซื้อเรือของฮันจิน

*นักวิเคราะห์ชี้"ฮันจิน"ล้ม สะท้อนปัญหาเรื้อรังในอุตสาหกรรมชิปปิ้ง

นักวิเคราะห์ระบุว่า ฮันจินไม่ใช่เป็นเพียงบริษัทเดียวที่กำลังประสบปัญหาในธุรกิจเดินเรือ

“สิ่งนี้สะท้อนถึงภาวะปั่นป่วนในปัจจุบันของธุรกิจชิปปิ้ง ซึ่งการมีเรือขนส่งสินค้าจำนวนมากกำลังเป็นตัวทำลายตลาด" นายประทีป ราชัน เจ้าหน้าที่ระดับสูงฝ่ายธุรกิจชิปปิ้ง และค่าระวางเรือประจำเอเชีย-แปซิฟิกของบริษัทเอสแอนด์พี โกลบอล แพลทส์ กล่าว

"ตลาดมีเรือมากเกินไป ขณะที่ค่าระวางอยู่ที่ระดับต่ำเป็นประวัติการณ์" เขากล่าว

นายเกรก โนวเลอร์ ผู้จัดการฝ่ายเอเชียด้านการขนส่งทางทะเลและการค้าของบริษัทไอเอชเอส มาร์กิต กล่าวว่า "เป็นเรื่องแปลกที่การล้มละลายของฮันจินจะไม่ช่วยแก้ปัญหาเรือสินค้าล้นตลาด เนื่องจากเรือของฮันจินจะถูกขาย หรือถูกยึดไปอยู่ในมือของบริษัทอื่นๆในตลาดแทน"

"การที่ฮันจินออกจากตลาดจะไม่ช่วยลดจำนวนเรือทั้งหมดลง และไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาพื้นฐานของการมีเรือมากเกินไป และมีคาร์โกสินค้าน้อยเกินไป" เขากล่าว

ทางด้านบริษัทโนมูระระบุว่า บริษัทชิปปิ้งของเกาหลีใต้ได้รับผลกระทบมากเป็นพิเศษ เนื่องจากมีการตั้งค่าเช่าเรือในระดับสูงในปี 2010 ก่อนที่ค่าระวางเรือจะดิ่งลงในเวลาต่อมา

นอกจากนี้ การแข่งขันอย่างรุนแรงในตลาด ซึ่งทำให้มีการตัดราคาเพื่อแย่งชิงลูกค้า ก็เป็นอีกปัจจัยที่กระทบอุตสาหกรรมเดินเรือ

นักวิเคราะห์เตือนว่า หากสถานการณ์ดังกล่าวยังไม่ดีขึ้น ก็จะเกิดหายนะตามมาไม่ช้าก็เร็ว

ภาวะซบเซาในอุตสาหกรรมชิปปิ้งได้ส่งผลกระทบไปทั่ววงการเดินเรือ เพราะแม้แต่ A.P. Moller-Maersk ซึ่งเป็นยักษ์ใหญ่อันดับหนึ่งในธุรกิจชิปปิ้ง ก็ได้เปิดเผยถึงกำไรที่ลดต่ำลง ขณะที่บริษัทต้องดำเนินมาตรการปรับลดต้นทุนการดำเนินงาน

นายโรแบร์โต จิแอนเนตตา เลขาธิการสมาคมเดินเรือฮ่องกง กล่าวว่า "บริษัทชิปปิ้งแทบทุกบริษัททั่วโลกต่างก็ประสบภาวะขาดทุน ซึ่งขณะนี้การขนส่งสินค้าแต่ละคาร์โก กลายเป็นรายได้ติดลบสำหรับบริษัท อันเนื่องจากค่าระวางที่ตกต่ำลง จึงทำให้เป็นเรื่องที่จะประหยัดกว่าถ้าบริษัทเลือกที่จะจอดเรืออยู่เฉยๆ แทนที่จะทำการขนส่งสินค้า"

ทางด้านนายเอช. เจ. ตัน ที่ปรึกษาจากบริษัทอัลฟาไลเนอร์ กล่าวว่า "การล้มละลายของฮันจิน ส่งผลกระทบต่อการขนถ่ายสินค้าออกจากเรือ ซึ่งการแก้ไขปัญหาอาจจะต้องใช้เวลาหลายสัปดาห์ หรือหลายเดือน"

"ผู้ส่งสินค้าจะต้องหาหนทางอื่นในการส่งออกสินค้า" เขากล่าว

"มันเป็นเรื่องยากที่จะคาดการณ์ว่าจะมีบริษัทแห่งหนึ่งแห่งใดล้มละลาย ดังนั้น บทเรียนหนึ่งสำหรับผู้ส่งออกสินค้าก็คือพยายามใช้บริการของบริษัทขนส่งที่หลากหลาย และกระจายการขนส่งให้ครอบคลุมหลายช่องทางเพื่อหลีกเลี่ยงการเผชิญกับสถานการณ์เช่นนี้" นายตันกล่าว

*บริษัทค้าปลีกสหรัฐปวดหัว หวั่นสินค้าขาดตลาดช่วงคริสต์มาส

ในฐานะที่ฮันจินเป็นบริษัทชิปปิ้งใหญ่อันดับ 7 ของโลก โดยมีสัดส่วนตลาดทั่วโลกเกือบ 3% และมีสัดส่วนการขนส่งสินค้าข้ามมหาสมุทรแปซิฟิกสำหรับตลาดสหรัฐเกือบ 8% การล้มละลายของฮันจินจึงกระทบต่อการขนส่งสินค้าไปยังบริษัทค้าปลีกในสหรัฐที่เตรียมวางตลาดในช่วงเทศกาลคริสต์มาส

"สินค้าส่วนใหญ่ในเรือของฮันจินมีกำหนดส่งของในช่วงก่อนถึงคริสต์มาส" นายโนวเลอร์ กล่าว

ขณะนี้เป็นช่วงเวลาซึ่งบริษัทชิปปิ้งมีการขนส่งสินค้าทางเรือมากที่สุดไปยังสหรัฐและยุโรป ซึ่งมักอยู่ในช่วงเดือนก.ค.-ก.ย.

บรรดาบริษัทค้าปลีกสหรัฐต่างก็กำลังจับตาสถานการณ์ของฮันจินอย่างใกล้ชิด

"เรากำลังรอฟังผลตัดสินขั้นสุดท้ายของการดำเนินกระบวนการล้มละลาย และผลกระทบที่จะมีต่อสินทรัพย์ของฮันจิน ชิปปิ้ง ก่อนที่จะสามารถประเมินผลกระทบได้" วอล-มาร์ทระบุในแถลงการณ์

ส่วนทาร์เก็ต ซึ่งเป็นบริษัทค้าปลีกยักษ์ใหญ่อีกแห่งหนึ่ง ระบุเช่นเดียวกันว่าจะจับตาสถานการณ์อย่างใกล้ชิดต่อไป

นางแซนดี เคนเนดี ประธานสมาคมผู้นำอุตสาหกรรมค้าปลีกสหรัฐ ระบุว่า "สิ่งนี้มีแนวโน้มส่งผลกระทบที่รุนแรง และชัดเจน โดยมีความเป็นไปได้ที่จะสะเทือนห่วงโซ่อุปทานทั่วโลก"

ผลกระทบอย่างหนึ่งที่จะเกิดขึ้นก็คือราคาสินค้าที่จะแพงขึ้นสำหรับบรรดานักช็อปปิ้ง เนื่องจากค่าระวางสินค้าสำหรับเส้นทางขนส่งออกจากเกาหลีใต้ได้พุ่งขึ้นถึง 50% นับตั้งแต่มีข่าวการล้มละลายของบริษัทฮันจิน และสิ่งนี้ก็จะกระทบต่อการขนส่งสินค้าของบริษัทส่งออกรายใหญ่ของเกาหลีใต้

นายแดเนียล หยู นักวิเคราะห์ของบริษัทหลักทรัพย์คิวูม กล่าวว่า ฮันจินเป็นผู้ขนส่งสินค้ามากกว่า 50% ของบริษัทซัมซุง อิเลกทรอนิกส์จากเกาหลีใต้ไปยังอเมริกา และสินค้าจำนวน 23% ของบริษัทแอลจี อิเลกทรอนิกส์

วิกฤตการณ์ของฮันจิน ทำให้บริษัทแอลจี ซึ่งเป็นผู้ผลิตโทรทัศน์รายใหญ่ของโลก กำลังเตรียมแผนฉุกเฉินสำหรับการขนส่งสินค้าอิเลกทรอนิกส์ของทางบริษัท

*รัฐบาลเกาหลี,"ฮันจิน กรุ๊ป" อัดฉีดเงินอุ้ม"ฮันจิน ชิปปิ้ง"

รัฐบาลเกาหลีใต้เตรียมจัดงบ 1 แสนล้านวอน หรือ 91 ล้านดอลลาร์ ในการจัดหาเงินกู้ระยะยาวดอกเบี้ยต่ำ เพื่อช่วยเหลือฮันจิน ชิปปิ้ง ขณะที่ฮันจิน กรุ๊ป เตรียมอัดฉีดเงิน 90 ล้านดอลลาร์ในการเสริมสภาพคล่องบริษัทเช่นกัน หลังจากที่บรรดาธนาคารต่างพากันปฏิเสธที่จะปล่อยกู้ให้แก่ทางบริษัท

ล่าสุด รัฐบาลเกาหลีใต้ตัดสินใจช่วยสนับสนุนทางการเงินจำนวน 6 ล้านล้านวอน (6 พันล้านดอลลาร์) เพื่อกู้วิกฤตในครั้งนี้ โดยมีเงื่อนไขว่าฮันจิน ชิปปิ้ง ต้องมีหลักค้ำประกัน ซึ่งขณะนี้ฮันจิน กรุ๊ป ตัดสินใจยื่นมือให้ความช่วยเหลือ โดยให้เงินจำนวน 4 ล้านล้านวอน (4 พันล้านดอลลาร์) เพื่อใช้เป็นหลักประกันให้รัฐบาลเกาหลีใต้ยินยอมให้ความช่วยเหลือแล้ว ซึ่งรัฐบาลจะแก้ไขปัญหาเบื้องต้นโดยให้เรือของฮันจิน ชิปปิ้ง สามารถเทียบท่าในประเทศต่างๆ และเพื่อป้องกันการยึดทรัพย์สินของฮันจิน ชิปปิ้ง รัฐบาลเกาหลีใต้ได้ยื่นเรื่องไปยังญี่ปุ่น สหรัฐ แคนาดา สิงคโปร์ เยอรมนี สหราชอาณาจักร และประเทศอื่นๆ ที่ทำธุรกิจกับบริษัทอีก 10 กว่าประเทศ เพื่อแจ้งว่าฮันจิน ชิปปิ้ง อยู่ภายใต้อำนาจคุ้มครองของศาล และขอไม่ให้ประเทศที่เรือจะไปเทียบท่ายึดทรัพย์สินของฮันจิน ชิปปิ้ง ซึ่งรัฐบาลญี่ปุ่นได้อนุญาตให้เรือของฮันจินเทียบท่าได้แล้ว เมื่อวันที่ 5 ก.ย.

*นักวิเคราะห์มองแง่ดี เชื่อ"ฮันจิน"ล้ม กระทบวงการชิปปิ้ง,ศก.เกาหลีไม่มาก

นายโนวเลอร์ไม่คาดว่าวิกฤตการณ์จากการล้มละลายของฮันจินจะทำให้บริษัทอื่นๆในธุรกิจชิปปิ้งล้มตามไปด้วย แต่เขาคาดว่าจะส่งผลให้มีการเพิ่มความพยายามในการปรับโครงสร้างในอุตสาหกรรมเพื่อให้มีจำนวนบริษัทเดินเรือน้อยลง

ขณะที่นายหยูมองว่า การล้มละลายของฮันจินเป็นการส่งสัญญาณว่าอัตราค่าระวางเรือได้แตะระดับต่ำสุดแล้ว

เขาคาดการณ์อีกว่า อุปสงค์ในสหรัฐจะดีดตัวขึ้น ขณะที่อุปสงค์ในจีนจะมีเสถียรภาพ และเศรษฐกิจของยุโรปจะฟื้นตัวขึ้น ซึ่งล้วนแล้วแต่ช่วยให้ภาวะการค้าโลกคึกคักขึ้น

นายยัง ซุน วอน นักวิเคราะห์จากบริษัทโนมูระ ระบุว่า ฮันจินส่งผลกระทบโดยตรงต่อเศรษฐกิจเกาหลีใต้ไม่มากนัก ถึงแม้ว่าอาจกดดันต่อความเชื่อมั่นในตลาดสินเชื่อภายในประเทศ

เขากล่าวว่า สิ่งที่เกิดขึ้นกับฮันจินจะสร้างความเสี่ยงในช่วงขาลงชั่วคราว จากความล่าช้าของการขนส่งสินค้าสำหรับผู้ส่งออก แต่เขาตั้งข้อสังเกตว่ารัฐบาลเกาหลีใต้ได้ดำเนินมาตรการปรับโครงสร้างภาคเอกชนในอุตสาหกรรมชิปปิ้งในช่วงก่อนหน้านี้แล้ว

ในส่วนของธนาคารเกาหลีใต้นั้น นายหยูมองว่าภาคธนาคารจะได้รับผลกระทบเพียงจำกัด เนื่องจากได้รับรู้ปัญหาทางการเงินของฮันจินมาตั้งแต่ปี 2015 แล้ว ซึ่งทำให้ทางธนาคารมีการกันสำรองความเสียหายจากการล้มละลายของฮันจินไว้ล่วงหน้า

นายหยูคาดว่า ธนาคารโคเรีย ดีเวลอปเมนท์ แบงก์ และธนาคารของรัฐแห่งอื่นๆ อาจขาดทุนราว 1 พันล้านดอลลาร์ ขณะที่สายการบินโคเรียน แอร์ ซึ่งเป็นธุรกิจในเครือฮันจิน กรุ๊ป เช่นกัน อาจประสบภาวะขาดทุน 700 ล้านดอลลาร์

แต่การปล่อยให้ฮันจิน ชิปปิ้งล้มละลาย จะส่งผลดีในระยะยาวสำหรับโคเรียน แอร์ เนื่องจากจะทำให้ทางสายการบินไม่มีภาระในการให้ความช่วยเหลือทางการเงินต่อฮันจิน ชิปปิ้งอีกต่อไป ซึ่งนักวิเคราะห์จากซิตี้ กรุ๊ปประเมินว่า อาจจะต้องใช้เงินอัดฉีดสูงถึง 7 แสนล้านวอน

*บริษัทคู่แข่งชี้ไม่สะเทือน หลัง"ฮันจิน"ล้ม

Maersk Line ซึ่งเป็นบริษัทคู่แข่งของฮันจิน ชิปปิ้ง คาดว่าจะได้รับผลกระทบน้อยมากจากการปิดกิจการของฮันจิน โดยขณะนี้ Maersk Line มีส่วนแบ่งตลาด 15.4% ในอุตสาหกรรมชิปปิ้งโลก

"ธุรกิจของเรามีความสัมพันธ์ค่อนข้างจำกัดกับฮันจิน ชิปปิ้ง เรามีข้อตกลงแบ่งปันเรือสำหรับการค้าระหว่างเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือ และชายฝั่งตะวันออกของอินเดียเท่านั้น" แถลงการณ์ของ Maersk Line ระบุ

"เราไม่คาดว่าการเดินเรือในบริเวณดังกล่าวจะได้รับผลกระทบแต่อย่างใด"

*ผู้เชี่ยวชาญคาดส่งออกไทยไม่กระทบ จากวิกฤตการณ์"ฮันจิน"

สำหรับการส่งออกของไทยนั้น ผู้เชี่ยวชาญและผู้ที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจเดินเรือของไทยต่างกล่าวเป็นเสียงเดียวกันว่า การล้มละลายของฮันจิน ชิปปิ้งจะส่งผลกระทบไม่มากนักต่อการส่งออกของประเทศ

นายวัลลภ วิตนากร รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า การขนส่งทางเรือมีการแข่งขันสูง ดังนั้นการล้มละลายไป 1 ราย จะไม่ส่งผลกระทบ แต่ถ้าล้มลงไปอีก 5 รายจึงจะกระทบการขนส่ง และขณะนี้มีสายการเดินเรืออีกหลายสายที่มีปัญหาด้านการเงิน จึงต้องจับตาดูอย่างใกล้ชิด

ด้านนายนพพร เทพสิทธา ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) กล่าวว่า การปิดกิจการของบริษัทฮันจินจะไม่ส่งผลโดยตรงต่อการส่งออกของไทย แต่เป็นสัญญาณสะท้อนถึงปัญหาเศรษฐกิจโลก ซึ่งสรท.คาดการณ์ไว้แล้วว่าจะเกิดเหตุการณ์ลักษณะนี้ขึ้น ขณะที่สถานการณ์ผู้ประกอบการเดินเรือและขนส่งสินค้าทางเรือทั่วโลก รวมถึงไทยขณะนี้ค่อนข้างหนัก โดยส่วนใหญ่ขาดทุนต่อเนื่องมา 3-4 ปี จากการส่งออกของโลกที่หดตัวลง

ส่วนร.อ.สุทธินันท์ หัตถวงษ์ ผู้อำนวยการการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) กล่าวว่า จากการประเมินเบื้องต้นเชื่อว่าเรื่องนี้จะไม่ส่งผลกระทบกับผู้ส่งออกและนำเข้าสินค้าจากเกาหลีใต้ โดยผู้ประกอบการไทยยังคงมีทางเลือกในการใช้บริการของบริษัทชิปปิ้งรายอื่น และขณะนี้ไม่มีเรือสินค้าของฮันจินมาเทียบท่าที่ท่าเรือกรุงเทพโดยตรง มีแต่การฝากตู้คอนเทนเนอร์ของฮันจิน เพื่อส่งออกไปกับเรือบริษัทอื่นเท่านั้น

ล่าสุด ในวันนี้ นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รมว.พาณิชย์ เปิดเผยว่า ได้ประสานงานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งในประเทศและต่างประเทศ อาทิ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ของไทย และทูตพาณิชย์ของประเทศต่างๆ เพื่อให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการไทยที่ว่าจ้างขนส่งสินค้าด้วยเรือบรรทุกของบริษัท ฮันจิน ชิปปิ้ง ซึ่งขณะนี้ยังลอยเรืออยู่กลางทะเล หรือกำลังเข้าเทียบท่าเรือ ให้มีการขนถ่ายสินค้า รวมถึงการช่วยเหลือด้านอื่นๆ แล้ว หลังได้รับรายงานจากสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงโซล ว่าบริษัทดังกล่าวล้มละลาย

"ได้สั่งการให้กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศประสานกับสถานทูตเกาหลีใต้ประจำประเทศไทยเพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหา พร้อมทั้งให้ทูตพาณิชย์ไทยในประเทศอื่นๆ ดูแลและให้ความช่วยเหลือผู้ส่งออกไทยที่ได้รับผลกระทบจากการล้มละลายของบริษัท ฮันจิน ชิปปิ้ง" นางอภิรดี กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ