In FocusBOJ มาเหนือเมฆ ชูบอนด์ยีลด์ 0% เป็นนโยบายใหม่ หวังกระตุ้นศก.-ดันเงินเฟ้อสู่เป้าหมาย

ข่าวต่างประเทศ Wednesday September 21, 2016 15:25 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ตลาดหุ้นเอเชียปรับตัวคึกคักทันที นำโดยดัชนีนิกเกอิตลาดหุ้นโตเกียว เช่นเดียวกับอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลญี่ปุ่นอายุ 10 ปีที่ปรับขึ้นสู่แดนบวกเป็นครั้งแรกในรอบ 6 เดือน ด้านเงินเยนอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐและสกุลเงินหลักอื่นๆ หลังจากที่ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ได้ประกาศมติการประชุมนโยบายการเงิน

แบงก์ชาติญี่ปุ่นกลายเป็นพระเอกในตลาดการเงินโลกวันนี้ เมื่อที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินตัดสินใจดำเนินนโยบายใหม่ ด้วยการกำหนดให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปีเป็นเป้าหมายใหม่ด้านนโยบาย แทนการซื้อสินทรัพย์ขนานใหญ่ที่ดำเนินการตลอด 3 ปีที่ผ่านมา เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและผลักดันเงินเฟ้อสู่ระดับ 2% โดยเร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

ทั้งนี้ ธนาคารกลางญี่ปุ่นมีมติปรับแผนการซื้อพันธบัตร เพื่อทำให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปี อยู่ที่ราว 0% นอกจากนี้ เพื่อทำให้อัตราดอกเบี้ยระยะสั้นลดลง BOJ ยังได้ตัดสินใจคงอัตราดอกเบี้นนโยบายไว้เท่าเดิมที่ระดับ -0.1% ขณะที่ให้คำมั่นว่าจะยังคงขยายฐานเงินไปจนกว่าราคาผู้บริโภคจะอยู่ที่เหนือระดับ 2% อย่างยั่งยืน

นักวิเคราะห์กล่าวว่า ความพยายามของ BOJ ในการที่จะสกัดการร่วงลงของอัตราดอกเบี้ยระยะยาวนั้น เห็นได้ชัดว่ามีเป้าหมายเพื่อลบเสียงวิจารณ์ที่ว่า การดำเนินมาตรการที่ผ่านมาของ BOJ ส่งผลกระทบต่อภาคบริการทางการเงินในประเทศ

คาดการณ์ก่อนประชุม

  • BOJ หมดทางเลือก

ก่อนหน้าการประชุม แหล่งข่าววงในของ BOJ เผยว่า เพื่อบรรลุเป้าหมายเงินเฟ้อที่ 2% แบงก์ชาติญี่ปุ่นอาจขยายนโยบายอัตราดอกเบี้ยติดลบ และปรับเปลี่ยนโครงการซื้อสินทรัพย์ เพื่อกระตุ้นอุปสงค์ภายในประเทศ

ขณะที่นักวิเคราะห์ส่วนหนึ่งมองว่า BOJ มาถึงทางตันแล้วในการเลือกใช้นโยบายใหม่ๆ และเชื่อว่า BOJ อาจจำเป็นต้องใช้มาตรการผ่อนคลายต่อไปในการประชุมนโยบายการเงินเดือนนี้ แม้นักเศรษฐศาสตร์เตือนว่า มาตรการเหล่านี้อาจส่งผลกระทบต่อกลไกการทำงานตามปกติของระบบเศรษฐกิจและระบบการเงิน เนื่องจาก BOJ ได้ผ่อนคลายการเงินมากอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน นับตั้งแต่ที่นายฮารุฮิโกะ คุโรดะ ผู้ว่าการธนาคารกลางฯ คนปัจจุบันเข้ารับตำแหน่งเมื่อเดือนมี.ค. 2556

ในการกล่าวสุนทรพจน์เมื่อวันที่ 5 ก.ย. ที่ผ่านมา นายคุโรดะระบุว่า “ยังคงมีโอกาสมากมายที่ธนาคารกลางญี่ปุ่นจะเดินหน้าปรับลดอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับติดลบอยู่แล้วลงไปอีก และเพิ่มมิติในเชิงปริมาณ

ด้านนายฮิโรชิ นากาโสะ รองผู้ว่าการ BOJ แสดงความเห็นในทำนองเดียวกันเมื่อวันที่ 8 ก.ย. ว่า นโยบายอัตราดอกเบี้ยติดลบได้รับการยืนยันว่าเป็นเครื่องมือนโยบายที่มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล

อย่างไรก็ตาม ทั้งคู่ต่างก็ยอมรับถึงผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นจากนโยบายดอกเบี้ยติดลบ ซึ่งถือเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ธนาคารมีมติใช้นโยบายนี้ในการประชุมเมื่อเดือนม.ค. ท่ามกลางเสียงโอดครวญจากบรรดาผู้บริหารของบริษัทญี่ปุ่นที่ว่า นโยบายของ BOJ นั้นทำให้อัตราดอกเบี้ยระยะยาวลดลงอย่างมาก ซึ่งเป็นการบั่นทอนผลกำไรของภาคธนาคาร และส่งผลกระทบต่อผลตอบแทนของบริษัทประกันและเงินบำนาญ

  • “เอาชนะเงินฝืด" เป้าหมายแบงก์ชาติและรัฐบาลญี่ปุ่น ทุกยุค ทุกสมัย

เงินฝืดเป็นปัญหายืดเยื้อเรื้อรังที่ฉุดรั้งเศรษฐกิจของประเทศมานานหลายทศวรรษ โดยภาวะเงินฝืดส่งผลกระทบต่อผลกำไรของบริษัทต่างๆในประเทศ เนื่องจากผู้บริโภคลังเลที่จะใช้จ่ายเพราะต้องการรอให้ราคาลดต่ำลงกว่านี้

ราคาผู้บริโภคของญี่ปุ่นในเดือนก.ค.ที่ผ่านมา ปรับตัวลดลงในอัตราที่รวดเร็วที่สุดในรอบกว่า 3 ปี คือลดลง 0.5% จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว และทำสถิติลดลงเป็นเดือนที่ 5 ติดต่อกัน บ่งชี้ว่าธนาคารกลางไม่สามารถดำเนินมาตรการที่เหมาะสมในการบรรลุเป้าหมายเงินเฟ้อได้

แบงก์ชาติญี่ปุ่นให้เหตุผลถึงความล้มเหลวในการบรรลุเป้าหมายเงินเฟ้อว่า เป็นเพราะราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ลดลง และอุปสงค์ภายในประเทศที่ชะลอตัว

  • แบงก์-ประกันโอด ทุนหาย ทำไรหด ผู้บริโภครับเคราะห์

ก่อนรับทราบผลการประชุมครั้งล่าสุดนี้ อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปีของญี่ปุ่นอยู่ที่ราว -0.050% หลังจากที่ดิ่งลงแตะระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ที่ -0.300% ในช่วงปลายเดือนก.ค.

เพื่อชดเชยเม็ดเงินที่สูญหายไป ทำให้มีการหวั่นเกรงกันว่า บรรดาบริษัทประกันชีวิตอาจขึ้นราคาผลิตภัณฑ์ออมทรัพย์ และธนาคารพาณิชย์อาจขึ้นค่าธรรมเนียมกับผู้ฝากเงิน ซึ่งผู้ที่รับผลกระทบไปเต็มๆ ก็คือผู้บริโภคนั่นเอง

นายทาเคชิ คุนิเบะ ประธานสมาคมนายธนาคารญี่ปุ่น กล่าวในการแถลงข่าวสัปดาห์ที่แล้วว่า หากอัตราดอกเบี้ยยังลดลงไปอีก ก็จะทำให้เกิดผลเสียมากกว่าผลดี

“นี่ไม่ใช่ความคิดที่ดี" ดีลเลอร์ตราสารหนี้จากบริษัทหลักทรัพย์แห่งหนึ่งกล่าว “แนวคิดนี้อาจช่วยสถาบันการเงินทำผลตอบแทน แต่จะผลักดันให้อัตราดอกเบี้ยระยะยาวสูงขึ้น และสร้างความเสี่ยงต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจ อาทิ การลงทุน และ การบริโภค"

หลังการประชุม

ธนาคารกลางญี่ปุ่นระบุในแถลงการณ์ภายหลังการประชุมว่า นโยบายต่างๆที่ทางธนาคารกลางนำมาใช้ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมานั้น ช่วยฟื้นฟูภาวะทางการเงินให้ดีขึ้น พร้อมระบุว่า "เศรษฐกิจญี่ปุ่นได้หลุดพ้นจากภาวะเงินฝืดแล้ว"

นอกจากนี้ ธนาคารกลางญี่ปุ่นยังระบุด้วยว่า ธนาคารกลางจะยังคงขยายฐานเงินไปจนกว่าราคาผู้บริโภคจะปรับตัวขึ้นสูงกว่าระดับ 2% ซึ่งถือเป็นระดับที่มีเสถียรภาพ

โดยถึงแม้ว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ของญี่ปุ่น ปรับตัวลดลงมากที่สุดในรอบ 3 ปีในเกือนก.ค. โดยลดลง 0.5% จากปีก่อนหน้า แต่ BOJ ให้เหตุผลว่า นั่นเป็นเพราะราคาน้ำมันที่ลดลง อุปสงค์ในประเทศซบเซาหลังรัฐบาลขึ้นภาษีการบริโภคในปี 2557 การชะลอตัวของประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ และตลาดการเงินโลกที่ผันผวน

ทั้งนี้ มติที่ประชุมธนาคารกลางญี่ปุ่นในวันนี้มีขึ้นหลังจากที่ BOJ ได้สรุป “การประเมินอย่างครอบคลุม" เกี่ยวกับผลของมาตรการผ่อนคลายการเงินที่ธนาคารกลางได้ดำเนินการมานับตั้งแต่ที่นายฮารุฮิโกะ คุโรดะ เข้ารับตำแหน่งผู้ว่าการธนาคารกลางเมื่อเดือนมี.ค. 2556

สรุปผลการประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางญี่ปุ่นวันนี้ ดังนี้

ธนาคารกลางญี่ปุ่น:

  • จะซื้อพันธบัตรรัฐบาล เพื่อให้ผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปี จะยังคงอยู่ที่ระดับประมาณ 0%
  • จะใช้วิธีการควบคุมอัตราผลตอบแทน เพื่อให้อัตราดอกเบี้ยระยะสั้นและระยะยาวอยู่ในระดับที่สามารถควบคุมได้
  • จะขยายฐานการเงินไปจนกว่าดัชนีราคาผู้บริโภคจะเปลี่ยนแปลงจนอยู่เหนือระดับ 2% เทีบรายปี ด้วยวิธีการที่มีเสถียรภาพ
  • จะยังคงใช้อัตราดอกเบี้ยติดลบ 0.1% สำหรับสถาบันการเงินที่นำเงินมาฝากไว้กับธนาคารกลาง
  • ระบุว่า เศรษฐกิจญี่ปุ่นไม่ได้อยู่ในภาวะเงินฝืดอีกต่อไป
  • ระบุว่า นโยบายอัตราดอกเบี้ยติดลบเป็นวิธีการที่มีประสิทธิภาพที่จะทำให้อัตราดอกเบี้ยปรับตัวลดลง

ลำดับเหตุการณ์สำคัญด้านนโยบายของธนาคารกลางญี่ปุ่น นับตั้งแต่ปี 2556

22 ม.ค. 2556 -- BOJ กำหนดเป้าหมายเงินเฟ้อที่ 2% พร้อมเห็นพ้องกับรัฐบาลของนายกรัฐมนตรีชินโซ อาเบะ ว่าจะเอาชนะเงินฝืดให้ได้เร็วที่สุด

20 มี.ค. 2556 – ฮารุฮิโกะ คุโรดะ ขึ้นดำรงตำแหน่งผู้ว่าการธนาคารกลางญี่ปุ่น

4 เม.ย. 2556 -- BOJ เริ่มใช้นโยบายผ่อนคลายการเงินเชิงรุก โดยมีเป้าหมายเพื่อบรรลุเป้าหมายเงินเฟ้อที่ 2% ภายในระยะเวลาประมาณ 2 ปี

31 ต.ค. 2557 -- BOJ มีมติใช้มาตรการผ่อนคลายเพิ่มเติม อาทิ การขยายโครงการซื้อสินทรัพย์

30 เม.ย. 2558 -- BOJ ล้มเลิกการกำหนดระยะเวลาในการบรรลุเป้าหมายเงินเฟ้อที่ 2%

18 ธ.ค. 2558 -- BOJ มีมติขยายขอบเขตของโครงการซื้อสินทรัพย์ โดยไม่เพิ่มฐานเงิน

29 ม.ค. 2559 -- BOJ มีมติใช้นโยบายอัตราดอกเบี้ยติดลบ

29 ก.ค. 2559 -- BOJ มีมติผ่อนคลาย monetary grip โดยเพิ่มการซื้อกองทุน ETF

21 ก.ย. 2559 -- BOJ มีมติปรับแผนการซื้อพันธบัตร พร้อมกำหนดให้อัตราดอกเบี้ยระยะยาวเป็นนโยบายเป้าหมาย

ในที่สุดก็ผ่านพ้นไปแล้วกับการประชุมธนาคารกลางญี่ปุ่น สถานีต่อไป "ธนาคารกลางสหรัฐ" โปรดติดตามตอนต่อไป!


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ