หลังจากที่นางฮิลลารี คลินตัน ผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐจากพรรคเดโมแครต และนายโดนัลด์ ทรัมป์ จากพรรครีพับลิกัน ห้ำหั่นกันอย่างดุเดือดตลอดช่วงหาเสียง ในวันนี้เราก็จะได้ทราบกันแล้วว่าใครในสองคนนี้จะเป็นประธานาธิบดีลำดับที่ 45 แห่งสหรัฐอเมริกา ... In Focus จึงขอนำเสนอเรื่องราวน่ารู้เกี่ยวกับการเลือกตั้งเพื่อเพิ่มอรรถรสการลุ้นผลให้สนุกยิ่งขึ้น
*ประชาชนไม่ได้เลือกประธานาธิบดีโดยตรง ตัวแทนรัฐเลือกให้
การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐเป็นการเลือกตั้งทางอ้อม โดยอาศัยกระบวนการ Electoral College (คณะผู้เลือกตั้ง) ที่เป็นตัวแทนประชาชนใน 50 รัฐและเมืองหลวงวอชิงตันดี.ซี. จำนวนทั้งสิ้น 538 คน แต่ละรัฐคณะผู้เลือกตั้งจะไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับจำนวนประชากร อาทิ รัฐแคลิฟอร์เนียมี 55 คน รัฐไวโอมิงมี 3 คน และกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. มี 3 คน
ผู้ชนะเลือกตั้งประธานาธิบดีจะต้องได้รับคะแนนเสียงข้างมาก ดังนั้นผู้ที่ได้คะแนน 270 คะแนน ถือเป็นผู้ชนะทันที
สำหรับกติกาในการเลือกผู้สมัครประธานาธิบดีนั้น รัฐเกือบทั้งหมดจะใช้กฎที่เรียกว่า winnter-take-all หมายความว่า เสียงส่วนใหญ่ของประชาชนในรัฐไหนเลือกใครเป็นประธานาธิบดี ผู้เลือกตั้งของรัฐนั้นก็จะต้องเลือกผู้สมัครประธานาธิบดีคนนั้นยกคณะ
อย่างไรก็ตาม รัฐเมนและรัฐเนบราสกามีกฎเกณฑ์ที่แตกต่างออกไป เรียกว่า Congressional District method (CD) แบ่งคะแนนผู้เลือกตั้งออกเป็น 2 ส่วน ส่วนแรกแบ่งให้กับผู้สมัครปธน.ที่ได้รับเสียงข้างมากในแต่ละเขตเลือกตั้ง (Congressional district) และอีกส่วนหนึ่งแบ่งให้ผู้สมัครปธน.ที่ได้เสียงข้างมากของทั้งรัฐ ทำให้ 2 รัฐนี้สามารถมีคณะผู้แทนที่เลือกผู้สมัครปธน.ทั้ง 2 พรรคได้ ดังเช่นการเลือกตั้งปี 2008 ที่นายจอห์น แมคเคน จากพรรครีพับลิกันได้ 4 คะแนนจากรัฐเมน (ชนะ 3 เขต จาก 4 เขต) และนายบารัค โอบามา พรรคเดโมแครต ได้ไป 1 คะแนน (ชนะ 1 เขต)
*Battleground State สมรภูมิชี้ขาดผู้ชนะ
โดยทั่วไปแล้ว รัฐส่วนใหญ่จะเป็นฐานเสียงสำคัญของพรรคต่างๆ เช่น แคลิฟอร์เนีย ซึ่งมีผู้เลือกตั้ง 55 คน เป็นฐานเสียงของเดโมแครต เรียกว่า Blue State (รัฐสีน้ำเงิน) ในขณะที่รัฐเท็กซัส (ผู้เลือกตั้ง 38 คน) เป็นรัฐที่คนส่วนใหญ่สนับสนุนรีพับลิกัน เรียกว่า Red State (รัฐสีแดง) อย่างไรก็ตาม ใช่ว่าทุกรัฐจะมีพรรคครอบครอง รัฐใหญ่ๆอย่างฟลอริดา (29 คน), เพนซิลวาเนีย (20 คน), นอร์ธแคโรไลน่า (15 คน), และโอไฮโอ (18 คน) เป็นรัฐที่คะแนนแกว่ง (Swing State) ทั้งสองพรรคจึงต้องทำการบ้านอย่างหนักเพื่อให้ได้คะแนนจากรัฐกลุ่มนี้ซึ่งอาจชี้ขาดผู้ชนะได้ด้วย รัฐสมรภูมิเหล่านี้จึงน่าจับตาเป็นอย่างยิ่ง
*จะเกิดอะไรขึ้นถ้าไม่มีพรรคไหนได้ 270 เสียง
อย่างที่กล่าวไปแล้วว่าผู้สมัครคนใดขึ้นแท่น 270 เสียงก่อนถือเป็นผู้ชนะทันที แต่ก็มีความเป็นไปได้ที่ 2 พรรคจะแบ่งคะแนนเท่ากันฝั่งละ 269 เสียง ถ้าเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้น การตัดสินใจจะตกเป็นหน้าที่ของสภาผู้แทนราษฎรไปโดยปริยาย โดยจะมีการเลือกตั้ง Contingent Election (การเลือกตั้งฉุกเฉิน) ที่ให้ตัวแทนส.ส.รัฐละ 1 คน รวม 50 คน มีสิทธิมีเสียงในการเลือกปธน. สำหรับกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. จะไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งระดับนี้
สหรัฐมีส.ส.รวม 435 คนจากทั้งหมด 50 รัฐ กรณีรัฐไหนมีส.ส.เกิน 1 คนจะต้องจัดการเลือกตั้งเลือกย่อยเพื่อคัดตัวแทนให้เหลือ 1 คนเพื่อร่วมการเลือกตั้ง Contingent Election
การเลือกตั้ง Contingent Election (ถ้ามี) จะจัดขึ้นในการประชุมสภาคองเกรสสมัยหน้า ครั้งที่ 115 ตามกำหนดการจะเปิดประชุมนัดแรกในวันที่ 3 มกราคม 2560 ซึ่งถ้าคะแนนในรอบนี้ยังเจ๊ากัน ก็จะถึงคิวรัฐสภาเลือกผู้สมัครชิงตำแหน่งรองประธานาธิบดี มาเป็นรักษาการประธานาธิบดี
*กระบวนการเลือกรักษาการประธานาธิบดี
หากสภาผู้แทนราษฎรไม่สามารถเลือกประธานาธิบดีได้ทันในวันที่ 20 มกราคม ซึ่งเป็นวันที่ประธานาธิบดีคนใหม่จะเข้าพิธีสาบานตนเข้ารับตำแหน่ง สมาชิกวุฒิสภาทั้ง 100 คนจะเลือกผู้สมัครชิงตำแหน่งรองประธานาธิบดีมาเป็นรักษาการประธานาธิบดี ใครได้มากกว่า 51 เสียงจะได้ตำแหน่งรักษาการประธานาธิบดีไปครอง
สำหรับพรรครีพับลิกันมีผู้สมัครชิงตำแหน่งรองประธานาธิบดีคือนายไมค์ เพนซ์ ขณะที่พรรคเดโมแครตมีนายทิม เคน
*หรือจะต้องถึงขั้นประธานสภาผู้แทนฯ
ถ้าส.ว.ยังมีคะแนนเสมอกัน ตำแหน่งรักษาการประธานาธิบดีจะตกเป็นของประธานสภาผู้แทนราษฎรแทน ซึ่งปัจจุบันคือนายพอล ไรอัน แต่หากนายไรอันไม่ได้รับเลือกเป็นประธานสภาผู้แทนฯต่อในสภาคองเกรสสมัยหน้า ก็จะอดลุ้นไป
ในกรณีที่ประธานสภาผู้แทนราษฎรไม่สามารถรับตำแหน่งได้ สหรัฐได้กำหนดลำดับผู้ที่จะมาเป็นประธานาธิบดีไว้ในกฎหมาย Presidential Succession Act of 1947
*จะทราบผลเลือกตั้งเมื่อใด
คูหาเลือกตั้งสหรัฐจะทยอยปิดหีบตั้งแต่เวลา 7.00 น.เป็นต้นไป โดยจะไล่จากฝั่งตะวันออกไปตะวันตก และจะสิ้นสุดที่รัฐอลาสกาในเวลา 13.00 น. อย่างไรก็ดี เมื่อประเมินจากการเลือกตั้งหลายครั้งที่ผ่านมา คาดว่าเมื่อถึงเวลา 11.00 น.ของวันนี้น่าจะได้ทราบผลที่ชี้ขาดการเลือกตั้ง ซึ่งทางอินโฟเควสท์จะเกาะติดสถานการณ์เลือกตั้งสหรัฐ 2016 อย่างใกล้ชิด
ใครจะได้เป็นประธานาธิบดีสหรัฐคนถัดไปนั้น เราจะได้ทราบผลเร็วๆนี้แน่นอน...