นับจนถึงวันนี้ก็ผ่านมาได้หนึ่งอาทิตย์พอดิบพอดี หลังจากที่สหรัฐได้เปิดคูหาเลือกตั้งผู้นำประเทศ ท้ายที่สุดก็สามารถเลือกว่าที่ประธานาธิบดีคนใหม่ได้เป็นผลสำเร็จ ซึ่งก็คือนายโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐจากพรรครีพับลิกัน เจ้าพ่ออสังหาริมทรัพย์ใจกล้าที่ได้ตัดสินใจเดินในเส้นทางการเมือง ทั้งๆที่ตนเองคร่ำหวอดอยู่ในสายธุรกิจมาตลอด
ตลอดเวลาที่ผ่านมานั้น นายทรัมป์ได้แสดงจุดยืนอย่างชัดเจนว่า ประชาชนชาวอเมริกันต้องมาก่อนเสมอ พร้อมประกาศนโยบายควบคุมแรงงานต่างชาติอย่างเข้มงวด ซึ่งนายทรัมป์มองว่าเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ชาวอเมริกันต้องตกงาน และทำให้ประเทศชาติต้องเสียเปรียบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับประเทศมหาอำนาจแถบเอเชีย จนทำให้ตัวเขานั้นสามารถคว้าเสียงสนับสนุนจากประชาชนพลังเงียบได้เป็นจำนวนมาก และทำให้คว้าชัยชนะได้ในท้ายที่สุด
อย่างไรก็ดี สำหรับ In Focus สัปดาห์นี้ขอไม่ยุ่งเรื่องนโยบายควบคุมแรงงานต่างด้าว แต่จะขอเน้นที่นโยบายเศรษฐกิจแบบที่เรียกกันว่า “Trumponomics" ซึ่งเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ตลาดหุ้นสหรัฐและทั่วโลกปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเมื่อไม่นานมานี้ เนื่องจากนักลงทุนคาดหวังว่า นโยบายดังกล่าวจะเอื้ออำนวยต่อเศรษฐกิจสหรัฐ และส่งผลดีต่อเศรษฐกิจโลกต่อไป สวนทางกับที่บรรดานักวิเคราะห์เคยคาดการณ์ไว้ว่าชัยชนะของนายทรัมป์จะทำให้ตลาดหุ้นทั่วโลกดิ่งเหวแบบกู่ไม่กลับ
- "ลดภาษี" กลไกขับเคลื่อนสำคัญ ที่เชื่อว่าจะช่วยกระตุ้นการจ้างงานในประเทศ
อีกไม่กี่อึดใจ ว่าที่ประธานาธิบดีรายนี้ก็จะจับมือกับสภาผู้แทนฯ และวุฒิสภา ซึ่งพรรคของตนครองเสียงข้างมาก เพื่อดำเนินการปรับโครงสร้างภาษี รวมถึงแก้ไขกฎหมายเรื่องการจัดสรรงบประมาณ โดยมีเป้าหมายเพื่อกระตุ้นการเติบโตของเศรษฐกิจสหรัฐ ยกระดับมาตรฐานความเป็นอยู่ และรักษาผลประโยชน์ให้กับประชาชน
เริ่มด้วยเรื่องภาษี แม้ว่าปัจจุบันเศรษฐกิจสหรัฐมีการจ้างงานเต็มอัตราอยู่แล้ว แต่ก็ยังมีประชาชนว่างงานอีกมาก เพราะธุรกิจสหรัฐบางส่วนได้หันไปจ้างงานในต่างประเทศ เพราะเสียภาษีต่ำกว่า โดยนโยบายปรับลดภาษีของนายทรัมป์นั้น เป็นที่เชื่อกันว่าจะส่งผลให้ธุรกิจสหรัฐกลับมาตั้งหลักปักฐานในบ้านเกิดเหมือนเดิม และนำเงินที่เหลือจากการปรับลดภาษีไปลงทุนในเรื่องของการจ้างงานในประเทศ ทั้งในแง่ของอุปกรณ์ การวิจัย และการฝึกอบรมทักษะ
นายทรัมป์มีแผนหั่นภาษีภาคธุรกิจให้เหลือเพียง 15% ซึ่งลดลงกว่าครึ่งหนึ่งของอัตราเดิม เพื่อดึงดูดให้บริษัทเหล่านี้หันมาทำธุรกิจในสหรัฐมากขึ้น จากเดิมที่หันไปลงทุนในจีนและเม็กซิโก แม้ว่าสองประเทศนี้ก็ไม่ได้เรียกเก็บภาษีต่ำ
ในส่วนของรายได้ในต่างประเทศ นักลงทุนคาดการณ์ว่า ธุรกิจสหรัฐนั้นสามารถทำรายได้ในต่างประเทศได้มากถึง 2 ล้านล้านดอลลาร์ และอาจนำเงินจำนวนนี้กลับเข้าสหรัฐเพื่อช่วยพัฒนาประเทศต่อไป หากในอนาคตรัฐบาลสหรัฐมีการนำแนวคิดการเรียกเก็บภาษีแบบ Territorial System มาใช้
ระบบภาษีที่ว่านี้เรียกเก็บภาษีจากรายได้ที่บริษัทหนึ่งได้รับ “ในประเทศ" เพียงเท่านั้น สิ่งนี้หมายความว่า หากบริษัทหนึ่งของสหรัฐมีการส่งออกสินค้าไปขายในต่างประเทศ จนก่อให้เกิดรายได้ในต่างประเทศแล้ว รายได้เหล่านี้จะไม่ถูกคิดภาษีเมื่อนำกลับเข้าประเทศ หรือถ้าเก็บก็น้อยมาก ซึ่งนับว่าเป็นกลไกจูงใจธุรกิจสหรัฐอย่างยิ่ง โดยระบบภาษีดังกล่าวไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่มีเพียงไม่กี่ประเทศที่ใช้ระบบภาษีนี้ เช่น ฮ่องกง ฝรั่งเศส เบลเยี่ยม และเนเธอร์แลนด์
สำหรับภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาก็จะมีการปรับโครงสร้างเช่นกัน ซึ่งกลุ่มผู้ที่มีรายได้สูงจะได้รับผลประโยชน์มากที่สุด ปัจจุบันสหรัฐมีการเรียกเก็บภาษีเงินได้อยู่ในกรอบ 10%-39.6% แต่เมื่อปรับตามข้อเสนอของนายทรัมป์แล้ว ในอนาคตน่าจะมีการเรียกเก็บภาษีในกรอบ 12%-33% ซึ่งหมายความว่าครัวเรือนที่มีฐานภาษีต่ำจะเสียภาษีเพิ่มขึ้น 2% ส่วนครัวเรือนที่มีฐานภาษีสูงจะเสียภาษีลดลง 6.6% ทั้งยังมีแผนยกเลิกการเรียกเก็บภาษีกองมรดกด้วย
- ภาคธนาคารยิ้มแฉ่ง "ทรัมป์" เสนอยกเลิกการใช้กฎหมายด็อดด์-แฟรงค์
หลังคว้าชัยชนะจากการเลือกตั้งได้ไม่นาน นายโดนัลด์ ทรัมป์ ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐคนที่ 45 ของสหรัฐ เตรียมออกกฏข้อบังคับในระบบการเงินใหม่ พร้อมให้คำมั่นว่า เขาจะยกกฏหมายดอดด์-แฟรงค์ (Dodd-Frank Wall Street Reform and Consumer Protection Act) ซึ่งเป็นกฏหมายที่รัฐบาลของประธานาธิบดีบารัค โอบามา เคยใช้กู้วิกฤตการณ์ทางการเงินในอดีต
กฎหมายฉบับนี้มีใจความหลักอยู่ที่การเพิ่มความเข้มงวดในการทำธุรกรรมทางการเงินในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะในเรื่องของการปล่อยสินเชื่อ การเปิดเผยข้อมูลกองทุนเฮดจ์ฟันด์ การลงทุนของกลุ่มสถาบันการเงิน ไปจนถึงการทำธุรกรรมอนุพันธ์
แถลงการณ์ของทีมงานทรัมป์ระบุว่า แม้รัฐบาลของโอบามาจะพยายามกู้วิกฤตเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นเมื่อปี 2551 แต่ปัญหาดังกล่าวก็ดูเหมือนว่าจะยิ่งลุกลามขึ้นเรื่อยๆ เมื่อสถาบันทางการเงินต่างทยอยปิดตัวลง ส่วนชาวสหรัฐก็ต้องจ่ายภาษีเพื่อให้รัฐบาลใช้อุ้มวาณิชธนกิจเลห์แมน บราเธอร์ ซึ่งเป็นสถาบันการเงินที่เคยถูกมองว่า "ใหญ่เกินกว่าที่จะล้ม"
ทีมกลยุทธ์นโยบายการเงินของทรัมป์ จึงเตรียมที่จะถอดถอนกฏหมายฉบับดังกล่าว และจะวางนโยบายทางการเงินใหม่ที่จะช่วยหนุนให้เศรษฐกิจของชาติและอัตราการจ้างงานขยายตัวมากยิ่งขึ้น ความเคลื่อนไหวดังกล่าวส่งผลให้หุ้นกลุ่มธนาคารทะยานขึ้นอย่างแข็งแกร่ง เพราะนอกจากแนวโน้มในการยกเลิกกฎหมายดังกล่าวแล้ว นักลงทุนคาดว่า มาตรการผ่อนคลายกฎข้อบังคับภาคธนาคารของนายทรัมป์นั้น จะครอบคลุมถึงการปฏิรูปหรือยกเลิกกฎโวล์คเกอร์ (Volker Rule) รวมทั้งจะมีการปรับกฎระเบียบอื่นๆที่ได้บังคับใช้ตลอดช่วง 8 ปีที่ผ่านมาด้วยเช่นกัน
- อัดงบอัพเกรดโครงสร้างพื้นฐาน ลั่นสหรัฐต้องไม่เป็นสองรองใคร
นายทรัมป์เคยประกาศไว้ว่า หากเขาได้เป็นประธานาธิบดีแล้วจะจัดสรรงบประมาณในการยกระดับโครงสร้างพื้นฐานสูงสุดถึง 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ชี้สหรัฐต้องไม่เป็นสองรองใคร ซึ่งหมายความว่า งบประมาณส่วนนี้ท้ายที่สุดแล้วจะช่วยส่งเสริมการจ้างงานในประเทศ เสริมสร้างรายได้ และหนุนผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ต่อไป
นโยบายดังกล่าวเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้ตลาดหุ้นทั่วโลกหันมามองเศรษฐกิจสหรัฐในแง่ดี แต่ความเคลื่อนไหวที่ปรากฎให้เห็นในขณะนี้เป็นเพียงผลลัพธ์ในระยะสั้นๆ เพราะเพิ่งผ่านช่วงเลือกตั้งประธานาธิบดีไปไม่นาน นโยบายส่งเสริมเศรษฐกิจระดับประเทศที่เคยประกาศไว้จึงถูกจับตาเป็นพิเศษ อย่างไรก็ดี นักวิเคราะห์ทั่วโลกต่างได้แสดงความวิตกต่อแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐในระยะยาว ขณะที่สื่อทุกสำนักเองก็ได้ตั้งคำถามไว้มากมายถึงความเป็นไปได้ในการดำเนินนโยบายเหล่านี้
คำถามหนึ่งที่ชวนให้ฉุกคิดคือ “แล้วจะเอาเงินมาจากไหน"
ทุกสิ่งล้วนมีสองด้าน “Trumponomics" เองก็เรียกได้เป็นดาบสองคม โดยเฉพาะผลกระทบในเรื่องของหนี้สิน เพราะการลดภาษี หรือการอัดงบประมาณเพื่อก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นถนนหนทางหรือสาธารณูปโภคนั้น ล้วนเป็นสิ่งที่ก่อให้เกิดหนี้สิน
นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ว่า นโยบายปรับลดภาษีของนายทรัมป์จะทำให้รัฐบาลสูญเสียรายได้มากถึง 9.5 ล้านล้านดอลลาร์ในช่วง 10 ปีข้างหน้า ซึ่งจะส่งผลให้ประเทศต้องตกอยู่ในปัญหาหนี้สินที่เดิมทีนั้นก็ย่ำแย่อยู่แล้ว แม้แต่การปรับลดการใช้จ่ายในเรื่องอื่น เช่น โอบามาแคร์ ก็ไม่มากพอที่จะชดเชยรายได้ที่สูญหายไปนี้ได้ เพราะนอกจากโอบามาแคร์จะเป็นเพียงส่วนเล็กๆของงบประมาณประเทศแล้ว สหรัฐก็มีประชากรสูงอายุเป็นจำนวนมากขึ้นด้วยเช่นกัน
นอกจากนี้ นักวิเคราะห์ยังเตือนไว้ด้วยว่า การเพิ่มงบประมาณเพื่อยกระดับโครงสร้างพื้นฐานนั้นช่วยหนุน GDP ก็จริง แต่อย่าลืมว่า GDP ที่สูงขึ้นนั้นไม่ได้หมายความว่าเศรษฐกิจได้เติบโตขึ้นอย่างมีประสิทธิภาพแต่อย่างใด เพราะแม้หากโครงการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานนั้นต้องสูญงบประมาณไปอย่างไร้ประโยชน์ ตัวเลข GDP ก็จะสูงขึ้นอยู่วันยังค่ำ สิ่งที่ควรต้องพิจารณาจริงๆคือปริมาณหนี้สิน เพราะทุกอย่างต้องใช้เงิน และถ้าไม่มีเงินก็ต้องกู้ยืม ผลเสียหายที่เกิดขึ้นอาจไม่ปรากฎให้เห็นในวันนี้ แต่ประชาชนรุ่นลูกหลานอาจเป็นผู้ที่ต้องแบกรับภาระต่อไป
สุดท้ายแล้วสิ่งที่ต้องการจะสื่อคือ เศรษฐกิจสหรัฐจะเป็นอย่างไรต่อไปภายใต้การนำของนายทรัมป์ เป็นเรื่องที่ต้องดูกันยาวๆ . . .