In Focusจับตาระเบิดเวลาลูกใหม่อาทิตย์นี้ อิตาลีลงประชามติสะเทือนตลาดการเงินโลก

ข่าวต่างประเทศ Wednesday November 30, 2016 11:10 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ในวันอาทิตย์ที่จะถึงนี้ (4 ธ.ค.) ชาวอิตาลีจะออกมาใช้สิทธิลงประชามติว่าจะเห็นชอบต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือไม่ ขณะที่นายมัตเตโอ เรนซี นายกรัฐมนตรีอิตาลี ประกาศเดิมพันอนาคตทางการเมืองของเขา โดยยืนยันว่าเขาจะลาออกจากตำแหน่ง และล้างมือทางการเมือง หากประชาชนส่วนใหญ่ลงประชามติคัดค้านการปฏิรูปรัฐธรรมนูญ

ถึงแม้ข่าวการลงประชามติของอิตาลีดูเหมือนจะได้รับความสนใจจากสื่อทั่วโลกน้อยกว่าการลงประชามติของอังกฤษในการแยกตัวออกจากสหภาพยุโรป (Brexit) หรือการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐที่นายโดนัลด์ ทรัมป์ พลิกล็อกโค่นตัวเก็งอย่างนางฮิลลารี คลินตัน แต่นักวิเคราะห์ก็ได้คาดการณ์ว่าการลงประชามติต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญอิตาลีในครั้งนี้ จะเป็นอีกเหตุการณ์หนึ่งที่จะสร้างแรงสั่นสะเทือนต่อตลาดการเงินทั่วโลกไม่น้อยไปกว่า Brexit และการเลือกตั้งในสหรัฐ

คอลัมน์ In Focus ของ InfoQuest จึงขอเจาะลึกการลงประชามติของอิตาลีในครั้งนี้ รวมทั้งผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อระบบการเมือง และการเงินในอิตาลี และยุโรปในวงกว้าง

*เหตุใดจึงต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญ?

รัฐบาลอิตาลีหวังผลักดันการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยระบุว่าจะช่วยทำให้มาตรการปฏิรูปเศรษฐกิจของรัฐบาลสามารถผ่านความเห็นชอบของรัฐสภาได้อย่างรวดเร็วขึ้น จากการลดอำนาจและบทบาทของวุฒิสภา รวมทั้งลดความซับซ้อนของกระบวนการทางนิติบัญญัติในรัฐสภา และจำกัดบทบาทของเจ้าหน้าที่ของรัฐในภูมิภาค

ปัจจุบัน การแก้ไขกฎหมายของอิตาลีจำเป็นต้องผ่านความเห็นชอบของสภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภา ทำให้เกิดความล่าช้าต่อการปฏิรูป และการออกกฎหมายใหม่

นอกจากนี้ นายเรนซียังได้ระบุในจดหมายเปิดผนึกต่อชาวอิตาลีว่า การลงประชามติเห็นชอบต่อการปฏิรูปรัฐธรรมนูญจะทำให้ระบบการเมืองของอิตาลีมีความแข็งแกร่งขึ้น โดยจะสร้างความเข้มแข็งต่อรัฐบาลชุดใหม่ที่จะเข้ามาบริหารประเทศ

*โพลล์ฟันธงประชาชนโหวต “NO" ในการลงประชามติ

ผลการสำรวจของสำนักโพลล์ทุกแห่งต่างก็รายงานเป็นเสียงเดียวกันว่า ชาวอิตาลีจะออกมาลงประชามติไม่เห็นด้วยกับการปฏิรูปรัฐธรรมนูญในครั้งนี้ ซึ่งจะส่งผลให้นายเรนซีต้องลาออกจากตำแหน่งตามที่เขาเคยลั่นวาจาไว้ และจะทำให้เกิดการพลิกขั้วอำนาจทางการเมืองไปสู่พรรคฝ่ายค้านที่สนับสนุนการแยกตัวออกจากยูโรโซน

*ฤๅผลประชามติจะหักปากกาเซียน เหมือน Brexit,เลือกตั้งสหรัฐ?

อย่างไรก็ดี นายเรนซียังไม่ถือว่าหมดความหวังเสียทีเดียว เนื่องจากบรรดาสำนักโพลล์ทั้งหลายก็เคยหน้าแตกมาแล้วจากการคาดการณ์ที่ว่าอังกฤษจะลงประชามติไม่แยกตัวออกจากสหภาพยุโรป และนายโดนัลด์ ทรัมป์ จะพ่ายแพ้การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ ซึ่งล้วนแต่สวนทางกับผลที่เกิดขึ้นจริง ซึ่งนายเรนซีคงภาวนาให้ผลการลงประชามติในอิตาลีจะหักปากกาเซียนเช่นกัน

*พรรคฝ่ายค้านผงาด เดินหน้าแยกตัวจากยูโรโซน หากประชาชนโหวต “NO"

พรรคไฟว์ สตาร์ มูฟเมนท์ (5SM) ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายค้านของอิตาลี มีจุดยืนคัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และชูนโยบายนำอิตาลีแยกตัวออกจากยูโรโซน ซึ่งหากผลสำรวจกลายเป็นความจริง ชาวอิตาลีส่วนใหญ่ก็จะลงประชามติไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งก็จะเข้าทางพรรค 5SM ในการหาทางโกยคะแนนนิยมจากประชาชน และหวังว่าจะส่งผลให้ทางพรรคได้รับชัยชนะเหนือพรรคประชาธิปไตยของนายเรนซี ในการเลือกตั้งที่อาจมีขึ้นก่อนกำหนด

พรรค 5SM อ้างว่า ระบบการเลือกตั้งแบบใหม่ที่จะเกิดขึ้นหากมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ จะทำให้ประชาชนไม่สามารถเลือกผู้แทนของพวกเขาเข้าสู่สภา โดยรัฐสภาจะมีแต่พวกเทคโนแครตที่พรรคการเมืองแต่งตั้งเข้ามา ซึ่งคนเหล่านี้จะตอบสนองความต้องการของผู้นำพรรค มากกว่าคำนึงถึงความต้องการของประชาชน

ทั้งนี้ อิตาลีมีกำหนดจัดการเลือกตั้งทั่วไปในปี 2018 แต่การเลือกตั้งอาจมีขึ้นก่อนกำหนด หากนายเรนซีประกาศลาออกจากตำแหน่งตามที่สัญญาไว้ ถ้าชาวอิตาลีลงประชามติคัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญในวันอาทิตย์นี้

*ตลาดหุ้น,แบงก์อิตาลี,บอนด์ยิลด์ป่วน ผวาผลการลงประชามติ

ขณะนี้ ความไม่แน่นอนทางการเมืองได้สะท้อนให้เห็นในตลาดการเงินของอิตาลีแล้ว ส่งผลให้หุ้นกลุ่มธนาคารร่วงลงอย่างหนัก จากความกังวลเกี่ยวกับผลการลงประชามติในวันอาทิตย์ที่จะถึงนี้ รวมทั้งหนี้เสียที่พุ่งขึ้น โดยมีการมองกันว่า หากชาวอิตาลีส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยกับการปฏิรูปรัฐธรรมนูญ ก็จะส่งผลให้นายเรนซีลาออกจากตำแหน่ง ซึ่งจะทำให้การแก้ไขปัญหาในภาคธนาคารของอิตาลีต้องล่าช้าออกไป ขณะที่จะกระทบต่อการเพิ่มทุน และการกันสำรอง รวมทั้งจะบั่นทอนเสถียรภาพทางการเงินของยุโรปในที่สุด

อิตาลีเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดเป็นอันดับ 3 ในยูโรโซน และเป็นประเทศที่มีหนี้สินสูงที่สุดเป็นอันดับ 2 ในยูโรโซน

กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ระบุว่า ธนาคารของอิตาลีมีหนี้เสียรวมกันสูงถึง 4 แสนล้านดอลลาร์

ราคาหุ้นของธนาคาร UniCredit, Unione di Banche Italiane, Banca Poplare di Milano และ Banca Monte dei Paschi di Siena ต่างก็ดิ่งลงแล้วมากกว่า 65% ในปีนี้

ธนาคารดอยซ์แบงก์คาดการณ์ว่า หุ้นกลุ่มธนาคารของอิตาลีจะทรุดตัวลง 6% ในต้นปีหน้า หากชาวอิตาลีส่วนใหญ่โหวต “NO" ในการลงประชามติครั้งนี้

ขณะนี้ หุ้นที่ปรับตัวย่ำแย่มากที่สุด 6 ตัวในกลุ่มธนาคารยุโรปล้วนแต่เป็นหุ้นของธนาคารอิตาลีทั้งหมด

ตลาดหุ้นอิตาลีนับเป็นตลาดหุ้นที่ปรับตัวลงมากที่สุดในปีนี้ในท่ามกลางตลาดหุ้นขนาดใหญ่ทั่วโลก โดยได้ดิ่งลงมากกว่า 23% นับตั้งแต่ต้นปี

พันธบัตรรัฐบาลอิตาลีประเภทอายุ 10 ปี ทำสถิติปรับตัวย่ำแย่ที่สุดในเดือนนี้ในรอบเกือบ 4 ปี ขณะที่อัตราผลตอบแทนพุ่งแตะระดับสูงสุดในรอบกว่า 1 ปี จากความกังวลต่อผลการลงประชามติในอิตาลี รวมทั้งวิตกว่า นโยบายของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ในการกระตุ้นเศรษฐกิจสหรัฐ จะผลักดันให้อัตราเงินเฟ้อพุ่งขึ้น ซึ่งจะเป็นปัจจัยลบต่อตลาดพันธบัตร

*นักวิเคราะห์เตือนผลกระทบจากลงประชามติอิตาลีรุนแรงกว่า Brexit

นักวิเคราะห์เตือนว่า ผลกระทบจากการโหวต “NO" จะสร้างแรงกระเพื่อมที่รุนแรงต่อยุโรปในวงกว้าง โดยอาจทำให้ยูโรโซนต้องล่มสลายในที่สุด

นายโฮลเกอร์ ชไมดิง หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์จากธนาคารเบเรนเบิร์ก กล่าวว่า ความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับการลงประชามติในอิตาลี ทำให้เหตุการณ์ดังกล่าวถือเป็นเหตุการณ์ทางการเมืองที่มีผลกระทบมากกว่า Brexit

“สำหรับผมแล้ว นี่ถือเป็นความเสี่ยงทางการเมืองครั้งใหญ่สำหรับยูโรโซนในปีนี้" นายชไมดิงกล่าว

“หากการโหวต “NO" ส่งผลให้อิตาลีมีการเลือกตั้งใหม่ และหากรัฐบาลชุดใหม่เสนอให้มีการทำประชามติว่าจะแยกตัวออกจากยูโรโซนหรือไม่ สิ่งนี้ก็จะสร้างปัญหา และจะทำให้มีผลกระทบลุกลามทั่วทั้งยูโรโซน" เขากล่าว

ทางด้านนางมาเรีย เปาโล ทอสชิ นักวิเคราะห์จากเจพี มอร์แกน แอสเซ็ท แมเนจเมนท์ กล่าวว่า “การลงประชามติในอิตาลีในเดือนธ.ค.จะสร้างความผันผวนไปทั่วตลาด ขณะเข้าใกล้ช่วงสิ้นปี"

“หากฝ่าย “YES" ชนะการลงประชามติ ก็จะช่วยสร้างความแข็งแกร่งแก่รัฐบาลชุดปัจจุบัน และโครงการปฏิรูปเศรษฐกิจ แต่หากฝ่าย “NO" ชนะ ก็จะทำให้เกิดความไร้เสถียรภาพทางการเมืองต่อพรรคร่วมรัฐบาลซึ่งมีความมุ่งมั่นในการปฏิรูป" นางทอสชิกล่าว

“นักลงทุนให้ความสนใจต่อการลงประชามติครั้งนี้ และผลกระทบที่จะมีต่อเสถียรภาพทางการเมืองในอนาคตของยุโรป โดยคาดว่าจะเกิดความผันผวนในระยะสั้น"

นักวิเคราะห์ยังระบุเตือนว่า การลงประชามติในอิตาลีจะสร้างความเสี่ยงต่อตลาดทั่วโลก ซึ่งหากรัฐบาลอิตาลีพ่ายแพ้การลงประชามติ ก็จะทำให้เกิดความวุ่นวายทางสังคมในประเทศอื่นๆ ขณะที่กำลังจะมีการเลือกตั้งเกิดขึ้นทั่วยุโรป

ทางด้านนางอานา เทเกอร์ นักวิเคราะห์จากฟิลิป แคปิตอล กล่าวว่า “การลงประชามติในอิตาลีถือเป็นเหตุการณ์ที่มีความสำคัญเทียบเท่ากับ Brexit โดยการตัดสินใจของอังกฤษที่จะออกจากสหภาพยุโรป ถือเป็นสัญญาณแรกที่บ่งชี้ถึงปัญหาในยุโรป และหากอิตาลีตัดสินใจออกจากสหภาพยุโรปเช่นกัน ก็จะเป็นสิ่งที่ยืนยันว่าทางสหภาพกำลังมีปัญหาอย่างแท้จริง และจะส่งผลกระทบในระยะยาว ขณะที่ตลาดหุ้นยุโรปจะได้รับผลกระทบมากที่สุด"

นักวิเคราะห์ระบุว่า กระแสชัยชนะของฝ่ายประชานิยมทั่วโลก จากการที่นายทรัมป์ ว่าที่ผู้นำสหรัฐ ผลักดันนโยบายอเมริกาต้องมาก่อน รวมทั้งปัจจัย Brexit และการลงประชามติในอิตาลี ล้วนแล้วแต่บ่งชี้ไปสู่การใช้มาตรการแยกตัวเป็นอิสระของประเทศต่างๆ

นายมาร์โค วากเนอร์ นักเศรษฐศาสตร์ของคอมเมิร์ซ แบงก์ กล่าวว่า “การลงประชามติจะมีผลกระทบที่รุนแรงต่อยูโรโซนในระยะกลาง โดยจะทำให้พรรค 5SM ก้าวขึ้นมามีอำนาจทางการเมือง ซึ่งนโยบายการใช้จ่ายงบประมาณของทางพรรคจะทำให้อิตาลีเผชิญปัญหาหนี้สินมากขึ้น ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรอิตาลีจะพุ่งขึ้นอย่างมาก และส่งผลให้ยูโรโซนเผชิญวิกฤตหนี้เป็นครั้งที่ 2"

นักวิเคราะห์ทางการเมืองคาดว่า หากนายเรนซีลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ก็จะมีการจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่โดยมาจากเทคโนแครต หรือบรรดานักวิชาการ ซึ่งไม่มีความสัมพันธ์กับพรรคการเมือง โดยรัฐบาลดังกล่าวจะเข้ามาบริหารประเทศชั่วคราว ก่อนการเลือกตั้งครั้งใหม่

นอกจากอิตาลีซึ่งกำลังสร้างความกังวลเกี่ยวกับความไม่แน่นอนทางการเมืองแล้ว หลายประเทศในยุโรปก็กำลังจะเกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองเช่นกัน โดยในอีกไม่นานจะมีการเลือกตั้งผู้นำขึ้นในหลายประเทศ เช่น ออสเตรียจะมีการเลือกตั้งในวันอาทิตย์นี้ ขณะที่เนเธอร์แลนด์ ฝรั่งเศส และเยอรมนีจะมีการเลือกตั้งในปีหน้า ซึ่งอาจพลิกโฉมระบบการเมืองเป็นฝ่ายขวาจัด เหมือนอย่างที่นายโดนัลด์ ทรัมป์ได้คว้าชัยชนะแบบช็อกชาวสหรัฐ และชาวโลกมาแล้วเมื่อวันที่ 8 พ.ย.

*นักวิเคราะห์เตือนการลงประชามติในอิตาลี ส่งผลเกิดวิกฤตธนาคารยุโรปรอบใหม่

นายมีแกน กรีน หัวหน้านักวิเคราะห์ของแมนูไลฟ์ แอสเซท แมเนจเมนท์ กล่าวว่า การลงประชามติแก้ไขรัฐธรรมนูญในอิตาลี จะส่งผลให้เกิดวิกฤตธนาคารอีกครั้งหนึ่งในยุโรป

"ในความเห็นของผม ความเสี่ยงที่ใหญ่ที่สุดอยู่ที่ภาคธนาคาร มากกว่าในภาคการเมือง แม้ว่าจะเกิดภาวะไร้เสถียรภาพทางการเมืองขึ้นบ้าง" เขากล่าว

ทั้งนี้ ชาวอิตาลีจะออกมาใช้สิทธิลงประชามติว่าจะเห็นชอบต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือไม่ในวันอาทิตย์นี้ แต่คนส่วนใหญ่มองว่าการลงประชามตินี้ จะเป็นการลงคะแนนวัดกระแสความไว้วางใจของประชาชนต่อนายเรนซี และหากเขาต้องลาออกหลังการลงประชามติ นโยบายในการแก้ไขภาคธนาคารก็จะสะดุด และถ้าภาคธนาคารของอิตาลีเกิดวิกฤตการณ์ขึ้น ก็จะส่งผลกระทบลุกลามไปทั่วยุโรป และบั่นทอนแนวทางการปฏิรูปภาคธนาคารซึ่งนายเรนซีได้วางไว้ก่อนหน้านี้

วิกฤตการณ์ในภาคธนาคารของอิตาลีจะเกิดขึ้น ถ้าหากนักลงทุนตัดสินใจยุติการสนับสนุนด้านเงินทุนที่จะช่วยเหลือธนาคารที่อ่อนแอของอิตาลี

ในช่วงต้นปีนี้ ผู้จัดการสินทรัพย์ บริษัทประกัน และธนาคารหลายแห่ง ได้ตกลงกันที่จะจัดตั้งกองทุนวงเงิน 5 พันล้านยูโรเพื่อให้ความช่วยเหลือด้านการเงินแก่ธนาคารอิตาลีที่มีผลประกอบการย่ำแย่ เพื่อคลายความกังวลต่อภาวะไร้เสถียรภาพของธนาคารอิตาลี ซึ่งกำลังเผชิญปัญหาหนี้เสียจำนวนมาก

เจ้าหน้าที่คาดกันว่า ธนาคารอิตาลี 8 แห่งอาจประสบปัญหา หากชาวอิตาลีส่วนใหญ่ตัดสินใจลงประชามติคัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญในครั้งนี้

*ECB ประกาศรับมือภาวะช็อกจากการลงประชามติในอิตาลี

ธนาคารกลางยุโรป (ECB) ประกาศว่า ทางธนาคารกลางมีความพร้อมในการรับมือต่อภาวะช็อกทางเศรษฐกิจที่จะเกิดขึ้นจากการลงประชามติครั้งนี้

ทั้งนี้ ECB เตรียมพร้อมที่จะเพิ่มการเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลอิตาลี หากผลการลงประชามติทำให้อัตราผลตอบแทนพุ่งขึ้นอย่างมาก โดย ECB จะใช้เงินจากกองทุนซื้อพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) วงเงิน 8 หมื่นล้านยูโร/เดือน ในการเข้าซื้อพันธบัตรอิตาลี เพื่อคลายความผันผวนในตลาด โดยเจ้าหน้าที่ ECB ยืนยันว่า โครงการซื้อพันธบัตรของ ECB มีความยืดหยุ่นเพียงพอที่จะช่วยให้ ECB สามารถเข้าซื้อพันธบัตรของอิตาลีได้มากขึ้น โดยไม่ต้องขอการอนุมัติจากคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของ ECB

*ไทยควรเตรียมตั้งรับ หากผลการลงประชามติจุดปะทุวิกฤตการเงิน

ในท่ามกลางความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจและการเมืองที่อาจเกิดขึ้นจากการลงประชามติแก้ไขรัฐธรรมนูญในอิตาลีที่จะเกิดขึ้นในอีกเพียงไม่กี่วัน รัฐบาลไทย และธนาคารแห่งประเทศไทยควรจับตาการลงประชามติในครั้งนี้ ซึ่งอาจกลายเป็นระเบิดเวลาลูกที่ 3 ต่อจาก Brexit และการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ เพื่อรับมือกับผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นทั้งในระยะสั้นและระยะยาว เพื่อให้เศรษฐกิจไทยยังคงมีเสถียรภาพและความยั่งยืนต่อไป


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ