ปีนี้ถือเป็นปีที่หลายประเทศต้องเผชิญกับภัยธรรมชาติหลากรูปแบบซึ่งล้วนแต่สร้างความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินมากน้อยแตกต่างกันไป In Focus จึงรวบรวมปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่ส่งผลกระทบอย่างแสนสาหัสในพื้นที่ต่างๆ ในรอบปีมาฉายภาพย้อนหลังกันอีกครั้ง โดยขอเริ่มจากปัจจุบันย้อนหลังไปจนถึงช่วงต้นปี...
พายุหิมะแช่แข็งสหรัฐ
ประเดิมกันด้วยพายุหิมะ และคลื่นความหนาวเย็นครั้งรุนแรงที่สุดในรอบกว่าทศวรรษ ซึ่งพัดถล่มในหลายประเทศกันตั้งแต่ต้นปี ทั้งจีน เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น และสหรัฐ ต่างได้รับผลกระทบอย่างหนักจากปรากฏการณ์ดังกล่าว โดยเฉพาะสหรัฐที่ได้รับความเสียหายรุนแรงเป็นประวัติการณ์ เนื่องจากพายุหิมะได้พัดถล่มกลุ่มรัฐในแถบมิดแอตแลนติกทางตะวันออกของประเทศ แม้จะมีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางรถ ภาวะหัวใจวาย และการได้รับพิษจากก๊าซคาร์บอนมอนนอกไซด์ อันเป็นสาเหตุหลักที่คร่าชีวิตผู้คนในภาวะเช่นนี้ไม่มาก ทว่าก็มีประชาชนถึง 85 ล้านคนที่อยู่ในเส้นทางพาดผ่านของพายุหิมะจน 10 รัฐต้องออกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน สภาพอากาศที่รุนแรงนี้ได้สร้างความเสียหายต่อบ้านเรือน, รถยนต์ รวมทั้งมูลค่าธุรกิจมากถึงหลายพันล้านดอลลาร์ โดยระหว่างวันที่ 22 - 24 ม.ค. นั้น สหรัฐได้สั่งยกเลิกเที่ยวบินทั่วประเทศกว่า 7,600 เที่ยว
แอลเบอร์ตาลุกเป็นไฟ
ต้อนรับเดือนพ.ค. ด้วยไฟป่าทางตอนเหนือของรัฐแอลเบอร์ตา ประเทศแคนาดา ที่ลุกลามไปยังเขตต่าง ๆ นานนับเดือนจนเผาไหม้พื้นที่ป่าเกือบห้าพันตารางกิโลเมตร โดยหลังจากเกิดเหตุไฟป่าครั้งนี้การผลิตน้ำมันในประเทศถูกระงับถึง 1 ใน 4 ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจแคนาดาซึ่งเป็นประเทศที่ผลิตน้ำมันได้จากน้ำมันจากชั้นหินดินดาน และมีปริมาณน้ำมันสำรองมากที่สุดเป็นอันดับ 3 ของโลก รองจากเวเนซุเอลาและซาอุดิอาระเบีย นักวิเคราะห์ระบุวงเงินประกันความเสียหายไว้เกิน 9,000 ล้านดอลลาร์แคนาดา หรือกว่า 245,000 ล้านบาท
ซูเปอร์ไต้ฝุ่น ‘เนพาร์ตัก’
เบิกฟ้าเดือนก.ค. ด้วยพายุไต้ฝุ่นลูกแรกของปีซึ่งเคลื่อนที่ด้วยความเร็วสูงถึง 198 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และมีความเร็วลมถึง 245 กิโลเมตรต่อชั่วโมง จนรัฐบาลไต้หวันต้องสั่งปิดโรงเรียนและสถานที่ราชการตามแนวชายฝั่งตะวันออก ขณะที่สายการบินและการสัญจรทางรถไฟ ต่างระงับการให้บริการ รวมถึงตลาดหุ้นได้ปิดทำการเนื่องจากอิทธิพลของพายุดังกล่าว ทั้งนี้ ลูกเห็บและฝนที่ตกลงมาอย่างหนักได้คร่าชีวิตของประชาชนไปกว่า 160 ราย และยังมีผู้สูญหายอีก 28 ราย โดยส่วนใหญ่อยู่บริเวณแม่น้ำแยงซีและแม่น้ำสาขา
เหตุการณ์น้ำท่วมและดินถล่มได้ทำลายพื้นที่เพาะปลูกไป 560,500 เฮกเตอร์ รวมถึงบ้านเรือนของประชาชนอีก 56,000 หลัง ทำให้ชาวไต้หวันกว่า 1.84 ล้านคนต้องอพยพออกจากพื้นที่ ซึ่งทางการได้ประเมินความเสียหายทางเศรษฐกิจไว้ราว ๆ 57.8 พันล้านหยวน (8.6 พันล้านดอลลาร์) สำหรับมณฑลที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดคือมณฑลหูเป่ย ซึ่งมีผู้เสียชีวิต 69 ราย และสูญหาย 16 ราย
ด้านประเทศจีนเองก็ได้รับความเสียหายจากการที่พายุไต้ฝุ่นเนพาร์ตักพัดกรรโชกมณฑลฝูเจี้ยนและเจียงซีทางตะวันออกของประเทศจนเกิดเหตุดินถล่ม ทำลายบ้านเรือนเกือบ 1,900 หลัง พื้นที่เพาะปลูกราว 15,800 เฮคเตอร์ได้รับความเสียหาย โดยพื้นที่ 1,600 เฮคเตอร์นั้นราบเป็นหน้ากลอง มีผู้เสียชีวิต 6 ราย และอีกสูญหาย 8 ราย ประชาชนราว 203,000 คนใน 10 เขตเมืองต้องอพยพเป็นการชั่วคราว รวมแล้วมีประชาชนจีนเกือบครึ่งล้านที่ได้รับผลกระทบจากวาตภัยดังกล่าว โดยประมาณการความสูญเสียโดยตรงเป็นมูลค่า 860 ล้านหยวน (ประมาณ 128.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ)
‘แมทธิว’ วิปโยค
ต้นเดือนต.ค. พายุเฮอร์ริเคนซึ่งมีกำลังทำลายล้างรุนแรงที่สุดเป็นประวัติการณ์คร่าชีวิตผู้คนนับพันในคาบสมุทรแคริบเบียน ไม่ว่าจะเป็นคิวบา หมู่เกาะบาฮามาส โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศเฮติ ก่อนที่จะมาถึงชายฝั่งสหรัฐ...
‘แมทธิว’ ขนาดความเร็วลมสูงสุด 233 กิโลเมตรต่อชั่วโมงมาพร้อมกับเหตุน้ำท่วมฉับพลัน กระแสลมแรง และดินถล่ม ส่งผลให้ผู้คนนับพันในเฮติเสียชีวิต ซึ่งส่วนใหญ่มีสาเหตุจากต้นไม้ล้ม, เศษวัสดุปลิวกระจาย และภาวะน้ำท่วมล้นตลิ่ง โดยพื้นที่ชายฝั่งตะวันตกและตอนใต้ได้รับความเสียหายมากที่สุด นอกจากนี้องค์การทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ (ยูนิเซฟ) เปิดเผยว่า เด็ก ๆ กว่า 4 ล้านคนในเฮติอยู่ในภาวะเสี่ยงอันตรายจากพายุเฮอร์ริเคนซึ่งมีพลังทำลายล้างรุนแรงที่สุดในแอตแลนติกลูกนี้
ส่วนในสหรัฐนั้นแม้ยอดผู้เสียชีวิตจะไม่มาก แต่ผู้คนราว 1 ล้าน 6 แสนคนในรัฐฟลอริด้า จอร์เจีย นอร์ทแคโรไลน่า เซาท์แคโรไลน่า และเวอร์จิเนีย ไม่มีกระแสไฟฟ้าใช้ ทั้งนี้ ผู้เชี่ยวชาญประมาณการความเสียหายที่เกิดขึ้นว่าอาจมีมูลค่าสูงถึง 1.5 หมื่นล้านดอลลาร์ และอาจส่งผลให้บริษัทประกันภัยประสบภาวะขาดทุนถึง 2.5-3.0 หมื่นล้านดอลลาร์
มหาธรณีวิบัติ
สำหรับสุดยอดมหันตภัยธรรมชาติที่เขย่าโลกมาตั้งแต่ต้นปีจนถึงปลายปีและสร้างความเสียหายอย่างทั่วถึงในหลาย ๆ ประเทศนั้นต้องยกให้ปรากฏการณ์แผ่นดินไหวที่มีอินเดียเป็นเหยื่อรายแรก หลังจากสวัสดีปีใหม่กันไปได้เพียงสามวัน…
ทั้งนี้ สถานีโทรทัศน์ Times Now รายงานว่า ศูนย์กลางของแผ่นดินไหวระดับ 6.7 อยู่ที่บริเวณชายแดนอินเดียและเมียนมาร์ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 8 รายในอินเดีย และ 3 รายในบังคลาเทศ หลังจากนั้นเพียง 2 วันมีรายงานแผ่นดินไหว 6.4 ริกเตอร์ทางตอนใต้ของไต้หวัน สร้างความเสียหายแก่อาคารจำนวนมาก
ต่อมาในช่วงสงกรานต์ที่บ้านเรากำลังสาดน้ำกันอย่างสนุกสนาน ประเทศเอกวาดอร์ซึ่งตั้งอยู่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของทวีปอเมริกาใต้ประสบกับเหตุแผ่นดินไหวที่รุนแรงที่สุดในรอบเกือบ 4 ทศวรรษ… 7.8 แมกนิจูด คือ ขนาดของความรุนแรง ส่วนศูนย์กลางของแรงสั่นสะเทือนนั้นอยู่ในเมืองมูส์เน ห่างจากกรุงกิโตเมืองหลวงขึ้นไปทางตะวันตกเฉียงเหนือหลายร้อยกิโลเมตร ด้วยความที่แรงสั่นสะเทือนของเปลือกโลกลึกจากผิวดินลงไปเพียง 19 กิโลเมตร จึงส่งผลให้อาคารบ้านเรือนเสียหายย่อยยับ โดยยอดผู้เสียชีวิตเมื่อวันที่ 16 เม.ย.อยู่ที่ 646 ราย บาดเจ็บ 12,499 ราย สูญหาย 130 ราย และอีก 26,091 รายไร้ที่อยู่อาศัย
หลังเหตุแผ่นดินไหวดังกล่าวผ่านไปครบ 1 สัปดาห์ ประธานาธิบดีราฟาเอล คอร์เรีย ของเอกวาดอร์ประกาศแผนรับมือค่าใช้จ่ายมูลค่ามหาศาล ซึ่งอาจต้องใช้งบประมาณในการฟื้นฟูประเทศสูงถึง 3,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 105,000 ล้านบาท จากการการเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) 12% เป็น 14% เป็นเวลาหนึ่งปี นอกจากนี้ยังมีแผนที่จะเก็บเงินจากประชาชนผู้มีรายได้ และเตรียมที่จะขายทรัพย์สินของชาติบางส่วนเพื่อนำเงินมาเจือจุนประชาชนในภาวะที่เศรษฐกิจของประเทศได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากการแข็งค่าของสกุลเงินดอลลาร์และราคาน้ำมันที่ปรับตัวลดลงด้วย
ในช่วงเดียวกันนี้ฟากหนึ่งของโลกก็เกิดแผ่นดินไหวรุนแรงขนาด 7.3 บริเวณเกาะคิวชูของประเทศญี่ปุ่นหลังจากที่เกิดแผ่นดินไหวก่อนหน้านั้นไปเพียงไม่กี่วัน ส่งผลให้ประชาชนหลายรายเสียชีวิต และได้รับบาดเจ็บอีกนับพันทั้งจากแผ่นดินไหวและอาฟเตอร์ช็อค รวมถึงมีผู้ประสบภัยติดอยู่ใต้ซากปรักหักพังของอาคารบ้านเรือนด้วย
ต่อมาช่วงปลายเดือนส.ค. ทางฝั่งอิตาลีก็เผชิญกับแผ่นดินไหวรุนแรง 6.2 แมกนิจูดซึ่งส่งผลให้เกิดอาฟเตอร์ช็อกกว่า 2,000 ครั้ง รวมผู้เสียชีวิตประมาณ 300 ราย สูญหาย 10 ราย และอีกกว่า 2,100 รายไม่มีที่พักอาศัย
ปิดท้ายด้วยเหตุแผ่นดินไหว 6.5 แมกนิจูดในจังหวัดอาเจะห์ ประเทศอินโดนีเซียที่มียอดผู้เสียชีวิต 98 ราย และได้รับบาดเจ็บมากกว่า 600 ราย จำนวนผู้ไร้ที่อยู่อาศัยสูงกว่า 65,000 ราย และยังสร้างความเสียหายให้กับบ้านเรือนและอาคารต่าง ๆ ประมาณ 18,000 แห่ง…
แม้อำนาจของธรรมชาติจะมีพลังเกินกว่าที่มนุษย์จะสามารถต้านทานได้ แต่ในทุก ๆ ครั้งเราจะได้เห็นน้ำใจที่คนต่างเผ่าพันธุ์หยิบยื่นให้แก่กันเพื่อฝ่าฟันทุกวิกฤตการณ์ในโลกใบนี้ไปได้เสมอ