นักลงทุนทั่วโลกต่างยินดีกันถ้วนหน้าเมื่อเห็นตลาดหุ้นในประเทศพุ่งขึ้นตามตลาดหุ้นวอลล์สตรีทในช่วงที่ผ่านมา ขานรับการที่นายโดนัลด์ ทรัมป์ ชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ โดยหวังว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของเขาจะช่วยหนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐ และเศรษฐกิจโลกก็จะพลอยได้อานิสงส์ไปด้วย
ในช่วงเวลาเพียง 6 สัปดาห์ นับตั้งแต่ที่นายทรัมป์ชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐในวันที่ 8 พ.ย.ปีที่แล้ว ดัชนีดาวโจนส์ก็ได้ปรับตัวขึ้นอย่างร้อนแรง โดยพุ่งขึ้นถึง 1,600 จุด และทำนิวไฮหลายครั้ง ขณะที่ดีดตัวขึ้นเฉียดระดับ 20,000 จุด
อย่างไรก็ดี นักวิเคราะห์เตือนว่า มีปัจจัย 7 ประการที่จะเป็นอุปสรรคขวางดัชนีดาวโจนส์ และลบล้างช่วงขาขึ้นของตลาดหุ้นวอลล์สตรีท หลังจากพุ่งขึ้นอย่างต่อเนื่อง
“เป็นที่ชัดเจนว่าตลาดได้ยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้แก่นายทรัมป์ในตอนนี้" นายควินซี ครอสบี นักวิเคราะห์จากพรูเดนเชียล ไฟแนนเชียล กล่าว
“ที่ผ่านมา ตลาดได้ฝ่าฟันปัจจัยลบในช่วงการรณรงค์หาเสียงของเขา และขณะนี้ เรากำลังจับตาการขยายตัวทางเศรษฐกิจ" เขากล่าว “แต่บทเรียนจากประวัติศาสตร์ก็บอกเราว่า งานเลี้ยงย่อมมีวันเลิกรา"
และนี่เป็นปัจจัย 7 ประการที่จะฉุดตลาดหุ้นลงในปีนี้
1.ความผิดหวังในตัว"ทรัมป์"
บททดสอบแรกจะมาถึงในเดือนนี้ เมื่อนายทรัมป์เข้าสาบานตนรับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐในวันศุกร์นี้ ซึ่งหลังจากนั้นนักลงทุนจะจับตาดูว่าเขาจะออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ด้วยการปรับลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคล, ทุ่มงบประมาณใช้จ่ายในโครงการสาธารณูปโภค รวมทั้งผ่อนคลายกฎระเบียบในภาคอุตสาหกรรมตามที่เคยพูดไว้หรือไม่ ซึ่งหากเขาไม่สามารถทำตามสิ่งที่เขาเคยหาเสียงไว้ ตลาดหุ้นก็จะถูกเทขายจากความผิดหวังของนักลงทุน
ก่อนหน้านี้ ตลาดหุ้นวอลล์สตรีทพุ่งขึ้นแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ขณะที่ดัชนีดาวโจนส์จ่อทะลุระดับ 20,000 จุดจากความหวังที่ว่านายทรัมป์จะดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจตามที่เขาได้สัญญาไว้ เนื่องจากพรรครีพับลิกันของเขาสามารถยึดเสียงข้างมากในสภาคองเกรสอย่างเบ็ดเสร็จทั้งในวุฒิสภา และสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งจะทำให้เขาไม่น่าจะเผชิญกระแสคัดค้านในสภานิติบัญญัติ
2.ความเชื่อมั่นที่เปราะบาง
แม้ว่าตลาดหุ้นได้ทะยานขึ้นนับตั้งแต่การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ แต่หากมีเหตุการณ์ใดทำให้สถานการณ์พลิกผันไป ความเชื่อมั่นของนักลงทุนก็จะพังครืนลง
“ความเชื่อมั่นเป็นสิ่งที่มาไวไปไว หากมีบางสิ่งเกิดขึ้นในช่วง 2-3 เดือนข้างหน้า เราก็จะเห็นว่าความเชื่อมั่นเลือนหายไป" นายลานซ์ โรเบิร์ตส์ หัวหน้านักวิเคราะห์จากบริษัทแคลริตี้ ไฟแนนเชียล กล่าว
ผลสำรวจของมหาวิทยาลัยมิชิแกนระบุว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคสหรัฐทรงตัวในเดือนม.ค. โดยอยู่ที่ระดับ 98.1 เท่ากับในเดือนธ.ค. ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนม.ค.2004 โดยได้รับปัจจัยบวกจากชัยชนะของนายทรัมป์ในการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐในวันที่ 8 พ.ย.
ดัชนีดังกล่าวเป็นการสำรวจความเชื่อมั่นของผู้บริโภคต่อภาวะเศรษฐกิจ ซึ่งได้แก่ฐานะการเงินส่วนบุคคล, ภาวะเงินเฟ้อ การว่างงาน อัตราดอกเบี้ย และนโยบายรัฐบาล
3.ผลประกอบการที่ซบเซา
เมื่อบริษัทจดทะเบียนของสหรัฐรายงานผลประกอบการในไตรมาส 4 ในระยะนี้ ก็จะเป็นปรอทชี้วัดสภาวะความแข็งแกร่งของเศรษฐกิจสหรัฐ
“บริษัทบางส่วนอาจสร้างความผิดหวังเกี่ยวกับผลประกอบการในไตรมาส 4 เมื่อเทียบกับที่นักวิเคราะห์คาดไว้" นายเบรท ไรเนอร์ ผู้จัดการพอร์ทฟอลิโอของกองทุนนูเบอร์เกอร์ เบอร์แมน เจเนซิส กล่าว และเสริมว่า สิ่งนี้จะทำให้ฝ่ายบริหารของบริษัทปรับลดคาดการณ์แนวโน้มธุรกิจลงมากกว่าที่มีการคาดการณ์ไว้
นักวิเคราะห์คาดว่า เศรษฐกิจสหรัฐจะมีการขยายตัวต่ำกว่า 3% ต่อปีในช่วง 2 ปีข้างหน้า
“เรายังไม่สามารถหาหลักฐานที่ชัดเจนที่จะทำให้เราเชื่อได้ว่าเศรษฐกิจสหรัฐจะขยายตัวแข็งแกร่งอย่างมากในปีนี้" นายจอห์น ลอนสกี หัวหน้านักวิเคราะห์ของมูดี้ส์ อินเวสเตอร์ เซอร์วิส กล่าว
4.บอนด์ยิลด์พุ่งขึ้น
หากเศรษฐกิจมีการขยายตัวมากเกินคาด ก็จะส่งผลให้เงินเฟ้อดีดตัวขึ้น และทำให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรพุ่งขึ้นตามไปด้วย ซึ่งจะเป็นปัจจัยลบต่อตลาดหุ้น
ที่ผ่านมา ปัจจัยสำคัญประการหนึ่งที่ทำให้ตลาดหุ้นทะยานขึ้นคือการที่หุ้นมีความน่าดึงดูดมากกว่าพันธบัตรซึ่งให้ผลตอบแทนต่ำ อย่างไรก็ดี หากอัตราผลตอบแทนของพันธบัตรพุ่งขึ้นจากการคาดการณ์เกี่ยวกับการขยายตัวทางเศรษฐกิจ และคาดการณ์อัตราดอกเบี้ยที่จะดีดตัวสูงขึ้นจากการปรับเพิ่มขึ้นของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) หุ้นก็จะมีความน่าดึงดูดลดน้อยลง
5.ดอลลาร์แข็งค่าขึ้น
หลังการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ ดัชนีดอลลาร์ ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน พุ่งขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบ 14 ปี และสร้างความวิตกต่อบริษัทสหรัฐที่ต้องพึ่งพาการส่งออก
บริษัทต่างๆมักระบุว่าการแข็งค่าของดอลลาร์เป็นสาเหตุที่ทำให้ผลประกอบการตกต่ำลงในช่วงหลายไตรมาสที่ผ่านมา
นอกจากนี้ ดอลลาร์ที่แข็งค่าขึ้น ยังทำให้ประเทศในตลาดเกิดใหม่หลายแห่งต้องมีภาระมากขึ้นในการชำระหนี้สกุลดอลลาร์
ขณะเดียวกัน การดีดตัวของดอลลาร์จะเป็นปัจจัยฉุดราคาน้ำมัน และโลหะต่างๆ เช่น ทอง และทองแดง ให้ปรับตัวลงด้วย ซึ่งจะเริ่มเกิดขึ้นอย่างเร็วที่สุดในช่วงต้นปีนี้
6.ราคาน้ำมันร่วง
นายอาร์ท โฮแกน หัวหน้านักวิเคราะห์ตลาดของบริษัทหลักทรัพย์ วันเดอร์ลิช กล่าวว่า ค่าความสัมพันธ์ระหว่างราคาน้ำมันและราคาหุ้นจะเพิ่มขึ้น เมื่อราคาของทั้งสองสิ่งนี้อยู่ในช่วงขาลง
“เมื่อราคาน้ำมันอยู่ต่ำกว่า 45 ดอลลาร์ และกำลังร่วงลง ตลาดหุ้นก็มีความวิตก และเสี่ยงต่อการปรับตัวลงมากขึ้น" เขากล่าว
ราคาน้ำมันดิบสหรัฐพุ่งขึ้นอย่างมาก นับตั้งแต่ที่กลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) และประเทศนอกกลุ่มโอเปกสามารถบรรลุข้อตกลงลดกำลังการผลิตเพื่อแก้ปัญหาน้ำมันล้นตลาดเมื่อปลายปีที่แล้ว
“อย่างไรก็ดี นโยบายใหม่ของโอเปกยังคงไม่มีความยั่งยืนในระยะยาว ซึ่งจะส่งผลให้ราคาปรับตัวลงในช่วงครึ่งหลังของปีนี้" นายไมเคิล โคเฮน หัวหน้าสถาบันวิจัยของบาร์เคลย์สกล่าว
นายคาหลิด อัล-ฟาลีห์ รมว.พลังงานของซาอุดิอาระเบีย กล่าวว่า กลุ่มโอเปก และกลุ่มนอกโอเปก ไม่มีแนวโน้มที่จะขยายเวลาของข้อตกลงลดกำลังการผลิตน้ำมันเกินกว่าเดือนมิ.ย.ปีนี้ ซึ่งเป็นระยะเวลา 6 เดือนในข้อตกลง โดยเฉพาะขณะที่ปริมาณน้ำมันในตลาดโลกลดลงอยู่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในรอบ 5 ปี
"เราไม่คิดว่าการขยายเวลาของข้อตกลงจะมีความจำเป็น เมื่อพิจารณาจากระดับความร่วมมือของประเทศสมาชิกในการปฏิบัติตามข้อตกลงลดกำลังการผลิตในขณะนี้" นายฟาลีห์กล่าว
7.ความตึงเครียดระหว่างประเทศ
นอกจากความไม่แน่นอนต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐ และนโยบายรัฐบาลแล้ว ความกังวลต่อเศรษฐกิจโลก, การแยกตัวของอังกฤษจากสหภาพยุโรป (Brexit) และปัจจัยทางการเมืองระหว่างประเทศก็จะส่งผลกระทบต่อตลาดหุ้นในปีนี้เช่นกัน
กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) เปิดเผยรายงานแนวโน้มเศรษฐกิจโลกเมื่อวันจันทร์ โดยระบุว่า เศรษฐกิจโลกจะขยายตัว 3.4% ในปีนี้ ไม่เปลี่ยนแปลงจากตัวเลขคาดการณ์ในเดือนต.ค.ปีที่แล้ว โดยได้รับผลกระทบจากความไม่แน่นอนเกี่ยวกับนโยบายของนายทรัมป์ และผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลก
ขณะเดียวกัน ความขัดแย้งระหว่างสหรัฐและจีนอาจจุดปะทุสงครามการค้า และข้อพิพาทในทะเลจีนใต้ ส่วนการเลือกตั้งในฝรั่งเศสและเยอรมนีจะทำให้นโยบายประชานิยมของฝ่ายขวาจัดแพร่ขยายออกไปในช่วงหลายเดือนข้างหน้า
“เราพร้อมที่จะรับรู้ปัจจัยบวกจากการดำเนินนโยบายใหม่ของรัฐบาลสหรัฐชุดใหม่ แต่ผมคิดว่าไม่บ่อยครั้งนักที่เราจะกล่าวเกี่ยวกับด้านลบของนโยบายของนายทรัมป์ ซึ่งจะส่งผลให้เกิดสงครามทางการค้า และการปรับขึ้นภาษีนำเข้า โดยสิ่งนี้อาจเกิดขึ้นในไตรมาสแรกของปีนี้" นายอาร์ท โฮแกน หัวหน้านักวิเคราะห์ตลาดของบริษัทหลักทรัพย์ วันเดอร์ลิช กล่าว
*เล่นหุ้นอย่างมีสติ เพื่อไม่ให้ระทมในปีระกา
เมื่อนักลงทุนทราบถึงสิ่งที่จะมีผลกระทบต่อตลาดหุ้นในปีนี้แล้ว ก็ขอให้เล่นหุ้นด้วยความไม่ประมาท โดยท่องจำคาถาไว้ว่า “การลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูลก่อนการตัดสินใจลงทุน" เพื่อให้ปีระกานี้จะไม่เป็นปีระทมของนักลงทุน และขอให้ทุกคนโชคดีในปีใหม่นี้