In Focusส่องสนามเลือกตั้ง ปธน. ฝรั่งเศส หลังตัวแทนเริ่มประกาศศึกหาเสียงอย่างเป็นทางการ

ข่าวต่างประเทศ Wednesday February 8, 2017 15:21 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นับตั้งแต่ช่วงต้นปี 2560 เป็นต้นมา In Focus ได้ติดตามผลงานของประธานาธิบดีสหรัฐคนใหม่มาอย่างต่อเนื่อง หนึ่งในสาเหตุหลักนั้นเป็นเพราะในวันนี้ สหรัฐยังคงเป็นมหาอำนาจที่ทรงอิทธิพลอันดับ 1 ของโลก ดังนั้น ความเคลื่อนไหวของผู้นำสหรัฐจึงมีอิทธิพลอย่างมากต่อสถานการณ์โลกแทบจะทุกมิติ ไม่ว่าจะเป็นสถานการณ์ด้านการเมือง เศรษฐกิจ หรือแม้กระทั่งด้านสังคมและวัฒนธรรม อย่างไรก็ดี ประชาชนหลายคนคงตระหนักดีว่า แม้สหรัฐจะเป็นประเทศที่มีอิทธิพลอย่างมากบนเวทีโลก แต่ก็มิได้หมายความว่า ประเทศหรือภูมิภาคอื่นๆ จะไม่มีอิทธิพลใดๆ ต่อสถานการณ์โลกเลย สถานการณ์ในทวีปหรือภูมิภาคต่างๆ ล้วนเป็นปัจจัยที่มีความสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงของทิศทางเศรษฐกิจและการเมืองโลกด้วยเช่นกัน ตัวอย่างหนึ่งที่เห็นได้ชัดก็คือ ความเปลี่ยนแปลงที่ได้เกิดขึ้นและจะเกิดขึ้นในทวีปยุโรป เช่น การที่อังกฤษถอนตัวออกจากสหภาพยุโรป (Brexit) และการเลือกตั้งครั้งสำคัญในหลายประเทศที่จะเปิดฉากขึ้นในปีนี้ อาทิ เนเธอร์แลนด์ ฝรั่งเศส และเยอรมนี ซึ่งล้วนเป็นสถานการณ์ที่อาจนำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ จนทำให้ประเทศต่างๆ ต้องปรับตัวให้เข้ากับสภาวะแวดล้อมที่แปรเปลี่ยนไปก็เป็นได้

ตั้งแต่ช่วงต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา นอกจากบรรดาสื่อต่าง ๆ จะหัวหมุนไปกับประเด็นความวุ่นวายซึ่งเป็นผลพวงมาจากนโยบายคำสั่งห้ามประชาชนจาก 7 ประเทศมุสลิมและผู้ลี้ภัยเข้าสหรัฐของประธานาธิบดีสหรัฐคนใหม่ “โดนัลด์ ทรัมป์" แล้ว ยังมีอีกกระแสที่กลายเป็นประเด็นเด็ดซึ่งได้รับความสนใจจากสื่อทั่วโลก ซึ่งก็คือ ข่าวเกี่ยวกับ “การเลือกตั้งประธานาธิบดีฝรั่งเศส" ที่ยังพอจะดึงพื้นที่สื่อมาจากทรัมป์ได้บ้าง In Focus วันนี้ จึงของนำท่านผู้อ่านข้ามทวีปมาติดตามสถานการณ์ที่เข้มข้นในยุโรปกันบ้าง เพื่อเป็นการอุ่นเครื่องก่อนที่จะได้ร่วมลุ้นไปพร้อม ๆ กับประชาชนเมืองน้ำหอมก่อนที่จะถึงวันเลือกตั้งจริง โดยการเลือกตั้งรอบแรกของฝรั่งเศสจะมีขึ้นในวันที่ 23 เมษายน นี้ว่า ใครจะขึ้นมานั่งแท่นเป็นผู้นำดินแดนแห่งน้ำหอมนี้ ฝรั่งเศสจะเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางใด และจะส่งผลต่อสหภาพยุโรปมากน้อยแค่ไหน

* ข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับระบอบการปกครองของฝรั่งเศส

ระบอบการปกครองของฝรั่งเศสนั้นค่อนข้างจะมีความเฉพาะตัว กล่าวคือ เป็นการปกครองในระบอบประชาธิปไตยแบบกึ่งรัฐสภากึ่งประธานาธิบดี ซึ่งเป็นระบอบที่คิดค้นขึ้นโดยประเทศฝรั่งเศสเอง โดยมีจุดประสงค์เพื่อแก้ไขความวุ่นวายทางการเมืองที่เคยเกิดขึ้นในอดีต และว่ากันว่า การปกครองระบอบนี้ มีความเหมาะสมกับภาวะทางการเมืองของฝรั่งเศสมากที่สุด การปกครองในระบอบดังกล่าวจะมี ประธานาธิบดีซึ่งมาจากการเลือกตั้งเป็นประมุข ดำรงตำแหน่งวาระละ 5 ปี และอยู่ในตำแหน่งได้ไม่เกิน 2 วาระ นอกจากนี้ยังมีนายกรัฐมนตรีที่มาจากการแต่งตั้งโดยประธานาธิบดี การเลือกตั้งของฝรั่งเศสแบ่งออกเป็น 2 รอบ โดยในรอบแรก แต่ละพรรคจะทำการส่งตัวแทนพรรคลงแข่งขัน ส่วนนักการเมืองอิสระก็สามารถลงสมัครแบบอิสระได้เช่นกัน แต่ต้องได้รับการรับรองจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา และผู้แทนท้องถิ่นอย่างน้อย 500 คน หลังจากนั้นจะเริ่มให้ประชาชนลงคะแนนเสียง โดยผู้ที่มีคะแนนสูงสุด 2 อันดับจะต้องเข้าสู่การเลือกตั้งรอบที่ 2 โดยประชาชนจะต้องมาลงคะแนนเสียงกันอีกครั้ง ก่อนที่จะมีผู้ชนะคะแนนเสียงเพียงคนเดียวที่จะขึ้นไปนั่งเก้าอี้ประธานาธิบดีฝรั่งเศสได้ ว่าแต่....ใครคือผู้สมัครที่มาแรง

*4 สุภาพบุรุษกับอีก 1 สุภาพสตรี: 5 ตัวเก็งจาก 5 พรรคผู้ครองพื้นที่สื่อได้สูงสุด

หลังจากที่ศึกหาเสียงได้เริ่มต้นขึ้นอย่างเป็นทางการเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา ปรากฎว่า มีผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีฝรั่งเศสจำนวน 5 คนด้วยกันที่ติดอยู่ในกระแสของสื่อมวลชนและเป็นที่พูดถึงอย่างกว้างขวางในโลกอินเทอร์เน็ต และว่ากันว่า ผู้สมัคร 5 คนนี้เอง ที่เป็นตัวเก็งในสนามการเลือกตั้งรอบแรกนี้

“เอมมานูเอล มาครอง" บุรุษอิสระผู้แสดงจุดยืนทางสายกลาง มุ่งเน้นความสมานฉันท์

นายเอมมานูเอล มาครอง เป็นอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจ ภายใต้รัฐบาลของนายฟรองซัวส์ ออลลองด์ ซึ่งสำหรับศึกการเลือกตั้งครั้งนี้ นายมาครองมิได้สังกัดอยู่กับพรรคเดิม ซึ่งก็คือพรรค Parti Socialiste (PS) หรือเป็นที่รู้จักกันดีในนาม “พรรคสังคมนิยม" แต่กลับมาลงศึกเลือกตั้งในฐานะผู้สมัครอิสระ โดยนางมาครอง เป็นผู้ก่อตั้งความเคลื่อนไหวทางการเมืองภายใต้แคมเปญ "En Marche!" ที่มีจุดยืนนิยมสายกลาง (Center wing) โดยหวังที่จะสร้างความสมานฉันท์ขึ้นในฝรั่งเศส หลังจากที่เขามองว่า สังคมฝรั่งเศสตกอยู่ภายใต้ภาวะที่มีการแบ่งแยกทางการเมืองมาอย่างยาวนาน อีกทั้งยังมีนโยบายที่จะสานต่อความร่วมมือในระดับนานาชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการคงสภาพสมาชิกสหภาพยุโรป และเน้นขยายความร่วมมือกับเยอรมนีในการพิทักษ์สหภาพยุโรปให้มีความแข็งแกร่งยิ่งขึ้น ทั้งนี้ มีโพลล์หลายสำนักชี้ว่า ผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีวัย 39 ปี รายนี้ คือหนึ่งในผู้สมัครตัวเก็งที่มีโอกาสเข้าไปสู่การเลือกตั้งรอบสุดท้ายได้ แม้หลายฝ่ายอาจจะมองว่า นโยบายของนายมาครองยังไม่โดดเด่นมากนัก แต่ก็ถือว่า นายมาครองยังคงมีเวลาที่จะพิสูจน์และแสดงจุดเด่นให้ชัดเจนมากขึ้นก่อนการเลือกตั้งรอบแรก

“มารีน เลอเปน" ตัวแทนพรรคขวาจัด ผู้สกัดกระแสโลกาภิวัตน์

นางมารีน เลอเปน ผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีจากพรรค National Front (FN) ซึ่งเป็นพรรคการเมืองชูนโยบายประชานิยมขวาจัด และกำลังเป็นที่นิยมในฝรั่งเศส เป็นผู้สมัครที่ “ไม่พูดถึงคงไม่ได้" เนื่องจากเธอและพรรคมาพร้อมกับนโยบายที่ว่า “ฝรั่งเศสต้องมาก่อน" ตามรอยอังกฤษที่จะแยกตัวออกจากสหภาพยุโรป (Brexit) และสหรัฐที่เลือกจะปกป้องผลประโยชน์แห่งชาติ โดยผู้สมัครรายนี้ได้ประกาศว่า เธอจะนำฝรั่งเศสถอนตัวออกจากสหภาพยุโรปผ่านการลงประชามติหากเธอได้รับชัยชนะภายในระยะเวลา 6 เดือนภายหลังรับตำแหน่ง อีกทั้งยังแสดงจุดยืนต่อต้านระบบโลกาภิวัตน์ กลุ่มผู้อพยพ และกลุ่มมุสลิมหัวรุนแรงเช่นเดียวกับนายโดนัลด์ ทรัมป์ นอกจากนี้ ผู้สมัครวัย 48 รายนี้ยังได้เสนอนโยบายที่น่าสนใจสำหรับชาวฝรั่งเศสอีกมากมาย อาทิ การขึ้นภาษีสินค้านำเข้า การปฏิรูปกฎระเบียบการจ้างแรงงาน ต่างชาติ และการเพิ่มสวัสดิการบำนาญ เป็นต้น นางมารีน เลอเปน ถือเป็นอีกผู้สมัครตัวเก็งที่มีแนวโน้มว่าจะเข้าไปถึงการเลือกตั้งรอบสุดท้าย

“ฟรองซัว ฟิยง" ผู้สมัครดีกรีอดีตนายกฯ รุ่นเก๋า อีกตัวเก็งจากพรรคฝ่ายขวา

นอกจากนางมารีน เลอเปน จากพรรค National Front แล้ว ยังมีผู้สมัครตัวเก็งอีกรายที่มาพร้อมกับจุดยืนฝ่ายขวา ซึ่งก็คือนายฟรองซัว ฟิยง จากพรรค Les Republicains หรือที่เรียกกันว่า พรรครีพับลิกัน ซึ่งเป็นพรรคสายอนุรักษ์นิยมอีกพรรคหนึ่งของฝรั่งเศส ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมานั้น นายฟิยงได้เสนอให้มีการปรับลดการใช้จ่ายมูลค่ามหาศาลของรัฐบาลด้วยการลดตำแหน่งงานของรัฐ นอกจากนี้ นายฟิยงยังได้เข้าร่วมประท้วงครั้งใหญ่ในปี 2546 เพื่อเรียกร้องให้มีการปฏิรูประบบการเกษียณ เพื่อให้ประชาชนได้รับเงินบำนาญมากขึ้น อย่างไรก็ดี อดีตนายกรัฐมนตรีวัย 62 ปีรายนี้ กำลังเผชิญกับข่าวอื้อฉาวที่อาจส่งผลกระทบต่อการลงสมัครรับเลือกตั้งของเขา โดยเฉพาะเรื่องการว่าจ้างสมาชิกในครอบครัวมาเป็นผู้ช่วยของตนเองด้วยการใช้เงินของรัฐจ่ายอัตราค่าตอบแทนที่สูง โดยทางนายฟิยงได้ออกมายอมรับและขอโทษเรื่องดังกล่าว พร้อมชี้แจงว่า การกระทำของเขาไม่ใช่สิ่งที่ผิดกฎหมาย และเขาจะยังคงเดินหน้าสู้ศึกเลือกตั้งครั้งนี้ต่อไป

"เบอนัวต์ อาร์มง" ตัวแทนจากพรรคแชมป์เก่า มุ่งเข้ากอบกู้ชัยชนะให้แก่พรรคอีกสมัย

"เบอนัวต์ อาร์มง" อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาฝรั่งเศสเป็นผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีในฐานะตัวแทนของพรรค Parti Socialiste (PS) หรือพรรคสังคมนิยม ที่นายฟรองซัวส์ ออลลองด์ ประธานาธิบดีฝรั่งเศสคนปัจจุบันสังกัดอยู่ นายอาร์มง วัย 49 ปี มาพร้อมกับนโยบายที่จะสนับสนุนให้มีการลดชั่วโมงทำงานให้เหลือ 32 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ การเก็บภาษีหุ่นยนต์ การปรับเพิ่มอัตราเงินเดือนพื้นฐาน และการอนุญาตให้กัญชาเป็นสิ่งถูกกฎหมาย อย่างไรก็ดี นายอาร์มงต้องเผชิญกับความท้าทายและกระแสวิตกที่ว่า การบริหารตลอดระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมาโดยรัฐบาลของนายออลลองด์ ซึ่งมาจากพรรคเดียวกันได้ฝากผลงานไว้ไม่ค่อยดีนัก ส่งผลให้คะแนนนิยมของนายออลลองด์ลดลงอย่างมากและ(อาจ)ส่งผลกระทบต่อคะแนนนิยมของพรรคโดยรวมไม่มากก็น้อย ซึ่งประเด็นนี้เองทำให้นายแบร์นาร์ด คาเซเนิฟ นายกรัฐมนตรีฝรั่งเศส กล่าวกับนายอาร์มงว่า นายอาร์มง จำเป็นต้องเรียนรู้จากประสบการณ์ของนาย ออลลองด์ ได้ทำมาตลอด 5 ปีที่ผ่านมา จึงจะทำให้เขาสามารถคว้าชัยชนะไว้ได้ อีกทั้งนายอาร์มง ยังเคยถูกปลดออกจากตำแหน่งในรัฐบาลเมื่อปี 2557 เนื่องจากการที่เขาไม่เห็นด้วยกับนโยบายของนายออลลองด์ ซึ่งจุดนี้เองที่อาจเป็นปัจจัยที่ชี้ให้เห็นว่า ผู้สมัครรายนี้ “แตกต่าง" จากตัวแทนพรรคคนเก่าอย่างแน่นอน

“ฌอง ลุค เมลองชอง" สุภาพบุรุษจากฝ่ายซ้ายสุดโต่งที่มาพร้อมกับเทคโนโลยี “โฮโลแกรม"

นับว่าเรียกเสียงฮือฮาได้ไม่น้อยสำหรับ ผู้สมัครอิสระอีกรายอย่างนายฌอง ลุค เมลองชอง วัย 65 ปี ซึ่งเป็นผู้นำขบวนการ La France insoumise (FI) ที่ได้ขึ้นเวทีหาเสียงเมื่อคืนวันอาทิตย์ที่ผ่านมาในรูปแบบที่แหวกแนวไปจากการหาเสียงแบบเดิม ๆ โดยอาศัยการใช้ภาพเสมือนจริง 3 มิติ หรือที่เรียกว่า “โฮโลแกรม" โดยนายเมลองชองได้ขึ้นเวทีปราศรัยจริงที่เมืองลีญง แต่ก็มีภาพเสมือนตัวจริงของผู้สมัครรายนี้ไปปรากฎบนเวทีปราศรัยที่โอแบร์วิลิเยรส์ ในแถบชานกรุงปารีสซึ่งอยู่ห่างจากเวทีในเมืองลีญงออกไปประมาณ 500 กิโลเมตร อย่างไรก็ดี นายเมลองชองไม่ได้มีดีเพียงแค่ภาพโฮโลแกรมเท่านั้น เพราะนายเมลองชองได้มาพร้อมกับจุดยืนที่ว่า เขาคือผู้ที่ส่งเสริมเสรีภาพอย่างแท้จริง และเขาเองนี่แหละที่จะเป็นผู้พิทักษ์ประชาชนจากลัทธิอนุรักษ์นิยมแบบสุดโต่ง นับว่าอดีตรัฐมนตรีพรรค Parti Socialiste (PS) อย่างนายฌอง ลุค เมลองชอง เป็นผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีฝรั่งเศสอีกรายที่ได้รับความสนใจจากสื่อมวลชนและโลกออนไลน์ไปไม่น้อย แม้ดูเหมือนว่า นายมาครอง กับนางเลอเปน จะมีคะแนนนิยมนำอยู่ก็ตาม

*เครื่องยังไม่ทันอุ่น แต่ตลาดหุ้นเริ่มหวั่นไหว

มาดูที่ผลกระทบของกระแสเลือกตั้งประธานาธิบดีฝรั่งเศสต่อสถานการณ์เศรษฐกิจโลกกันบ้าง หลังจากที่ความเคลื่อนไหวเริ่มจะคึกคักและถูกจับตามากขึ้นตลอดช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมา ได้ส่งผลกระทบระยะสั้นหลายประการ แต่ผลกระทบที่เห็นได้ชัดที่สุดเห็นจะเป็นผลกระทบด้านเศรษฐกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาคการเงินและตลาดหุ้น เริ่มต้นจากราคาทองฟิวเจอร์ที่ดีดตัวขึ้นในวันที่ 6 ก.พ. ทันที โดยได้รับแรงหนุนจากปัจจัยการเมืองในสหรัฐและยุโรป เนื่องจากนักลงทุนถือว่าทองคำ เป็นสินทรัพย์ที่ปลอดภัย สกุลเงินยูโรเริ่มส่งสัญญาณของการอ่อนตัวลงตั้งแต่ช่วงต้นสัปดาห์เช่นกัน อีกทั้งตลาดหุ้นยุโรปที่ปิดลบเมื่อวันอังคาร โดยมีสาเหตุหนึ่งมาจากคำปราศรัยของนางมารีน เลอเปน ซึ่งได้สร้างความกังวลให้แก่กลุ่มนักลงทุนจนต้องชะลอการลงทุน ในขณะที่ดัชนี CAC-40 ตลาดหุ้นฝรั่งเศสของเมื่อวันที่ 6 ก.พ.ที่ผ่านมา ปรับตัวลง 47.34 จุด หรือ 0.98% ปิดที่ 4,778.08 จุด และยังคงปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่องเมื่อวันที่ 7 ก.พ.ที่ผ่านมา โดยปิดที่ 4,754.47 จุด ลดลง 23.61 จุด หรือ -0.49% ซึ่งล้วนสะท้อนให้เห็นถึงท่าที่ของบรรดานักลงทุนที่มีแนวโน้มจะลดน้ำหนักการลงทุนในตลาดหุ้นยุโรปไปตาม ๆ กัน

*ฝรั่งเศสกับความท้าทายใหม่และอนาคตอันคลุมเครือ

ปัจจัยที่ทำให้หลาย ๆ คนเฝ้ารอและจับตาดูการเลือกตั้งประธานาธิบดีในประเทศฝรั่งเศสครั้งนี้คงเป็นเพราะสหภาพยุโรป (EU) กำลังอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ อันเนื่องมาจากการเลือกตั้งผู้นำประเทศคนใหม่ใน 3 ประเทศ โดยฝรั่งเศสก็เป็นหนึ่งในนั้น และยังเป็นประเทศที่มีบทบาทสำคัญและค่อนข้างมีอิทธิพลต่อท่าทีและความเคลื่อนไหวด้านนโยบายของสหภาพยุโรปอีกด้วย โดยในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เมืองน้ำหอมแห่งนี้ได้เผชิญกับความวุ่นวายทั้งในประเทศและต่างประเทศมากมาย ซึ่งรวมถึงภัยก่อการร้ายที่เหมือนจะเกิดบ่อยขึ้นเป็นพิเศษ ประกอบกับสภาวะเศรษฐกิจทั้งในระดับประเทศ ระดับภูมิภาค และระดับโลกที่ไม่สู้ดีนัก ทำให้การเลือกตั้งประธานาธิบดีครั้งนี้ จะเป็นสิ่งที่ช่วยสะท้อนให้เห็นว่า ประชาชนชาวฝรั่งเศสกำลังต้องการสิ่งใด และต้องการผู้นำแบบไหนที่จะมาช่วยพิทักษ์อธิปไตยและผลประโยชน์ของประเทศ

ส่วนคำตอบสำหรับคำถามที่ว่า ฝรั่งเศสจะเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางใด และสหภาพยุโรปจะเป็นอย่างไรต่อไปนั้น คงไม่มีใครสามารถฟันธงได้ แม้เราอาจจะมองเห็นทิศทางแบบลางๆ ได้บ้าง โดยอาศัยการวิเคราะห์ทัศนคติ และอุดมการณ์ของผู้สมัครแต่ละคน รวมไปถึงอุดมการณ์ของพรรคด้วย อย่างไรก็ดี ปัจจัยเหล่านี้สามารถผันแปรได้หากได้รับผลกระทบมาจากปัจจัยอื่น ๆ เช่น มติมหาชน การเล่นข่าวของเหล่าสื่อมวลชน หรือแม้กระทั่งภัยพิบัติและภัยคุกคามอื่นๆ ที่อาจเข้ามาขัดจังหวะการดำเนินงานของรัฐบาลในลักษณะที่ยากเกินกว่าจะคาดเดา


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ