In Focusจับตาอังกฤษ VS ยุโรป ตั้งโต๊ะถก Brexit ช่วง 2 ปีแห่งการเจรจาสุดหิน

ข่าวต่างประเทศ Wednesday April 5, 2017 11:03 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นับตั้งแต่ที่นางเทเรซา เมย์ นายกรัฐมนตรีอังกฤษ ประกาศใช้มาตรา 50 เห่งสนธิสัญญาลิสบอน เมื่อวันที่ 29 มี.ค. ถือเป็นการเปิดฉากเดินหน้าเข้าสู่กระบวนการแยกตัวจากสหภาพยุโรป (Brexit) อย่างเป็นทางการ โดยอังกฤษจะใช้เวลา 2 ปีในการเจรจากับสมาชิกสหภาพยุโรป (EU) จำนวน 27 ชาติเพื่อทำข้อตกลงแยกตัวจาก EU

นักวิเคราะห์ระบุว่า การเจรจาดังกล่าวจะไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะจะมีรายละเอียดปลีกย่อยมากมาย ขณะที่อังกฤษมีจุดยืนที่จะรักษาผลประโยชน์ของประเทศให้มากที่สุด และหวังว่าการแยกตัวออกจาก EU จะไม่ส่งผลกระทบมากนัก ขณะที่ EU มีจุดยืนที่จะกำหนดเงื่อนไขที่เข้มงวด และแข็งกร้าวต่ออังกฤษ มิฉะนั้นอาจจะทำให้สมาชิกอื่นใน EU ต้องการแยกตัวตามอังกฤษ หากเห็นว่าทำได้อย่างง่ายดาย และไม่มีต้นทุนใดๆ

ฝรั่งเศสเป็นประเทศหนึ่งที่มีแนวโน้มแยกตัวออกจาก EU หากผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีปรากฎว่า นางมารีน เลอเปน ผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีจากพรรค National Front (FN) ซึ่งเป็นพรรคการเมืองชูนโยบายประชานิยมขวาจัด และหนุนให้ฝรั่งเศสแยกตัวจาก EU ประสบชัยชนะในการเลือกตั้ง ซึ่งผลการสำรวจที่ผ่านมาพบว่านางเลอเปนจะคว้าชัยชนะในการเลือกตั้งรอบแรกในวันที่ 23 เม.ย. แต่จะพ่ายแพ้ในการเลือกตั้งรอบ 2 วันที่ 7 พ.ค.

In Focus สัปดาห์นี้ จะเจาะลึกถึงรายละเอียดเกี่ยวกับการแยกตัวของอังกฤษออกจาก EU ทั้งเรื่องมาตรา 50, ประเด็นการเจรจาระหว่างอังกฤษและ EU, โอกาสที่การเจรจาจะประสบความล้มเหลว และตารางเวลาการเจรจาในช่วง 2 ปีที่กำหนดไว้

*มาตรา 50 คืออะไร

มาตรา 50 ของสนธิสัญญาลิสบอนบัญญัติเกี่ยวกับการแยกตัวของประเทศสมาชิก EU โดยสนธิสัญญาดังกล่าวได้รับการลงนามจากสมาชิก EU ทุกประเทศ และถือเป็นกฎหมายในปี 2009

มาตรา 50 มีเพียง 5 ย่อหน้า โดยระบุว่า ประเทศสมาชิกใน EU มีสิทธิที่จะตัดสินใจขอถอนตัวออกจาก EU โดยจะต้องแจ้งเรื่องดังกล่าวต่อคณะมนตรียุโรป และทำการเจรจากับ EU โดยใช้เวลา 2 ปีในการบรรลุข้อตกลง ยกเว้นในกรณีที่สมาชิก EU และประเทศคู่กรณีเห็นพ้องที่จะขยายเวลาในการเจรจาออกไป นอกจากนี้ ประเทศที่ต้องการถอนตัวออกจาก EU จะไม่สามารถเข้าร่วมในการหารือเป็นการภายในของ EU เกี่ยวกับการแยกตัวของประเทศสมาชิก

ทั้งนี้ ข้อตกลงขั้นสุดท้ายเกี่ยวกับการถอนตัวของประเทศสมาชิกจะต้องได้รับการอนุมัติจากเสียงส่วนใหญ่ของ EU โดยคิดเป็นสัดส่วน 65% ของจำนวนประชากรใน 27 ประเทศที่เหลือของ EU

นอกจากนี้ ย่อหน้าที่ 5 ของมาตรา 50 ยังระบุถึงความเป็นไปได้ที่ประเทศสมาชิก EU ที่ถอนตัวไปแล้วจะสามารถกลับมาเป็นสมาชิก EU ได้อีกครั้ง โดยจะมีการพิจารณาภายใต้มาตรา 49

*ประเด็นการเจรจาระหว่างอังกฤษ VS สหภาพยุโรป

EU ตั้ง 4 ประเด็นหลักในการเจรจาข้อตกลง Brexit กับอังกฤษ ซึ่งได้แก่ การกำหนดวงเงินที่อังกฤษจะต้องจ่ายให้แก่ EU สำหรับการแยกตัวออกไป, การกำหนดสถานะในอนาคตของพลเมืองของ EU ที่อาศัยในอังกฤษ, การกำหนดให้มีการเปิดชายแดนของไอร์แลนด์เหนือ และการกำหนดกฎหมายที่จะบังคับใช้ต่อบริษัทต่างๆ ภายหลังจากที่อังกฤษแยกตัวออกจาก EU

ผู้นำของ EU มีมุมมองที่แตกต่างกันไปเกี่ยวกับท่าทีในการเจรจากับอังกฤษ ขณะที่ผู้นำของเยอรมนี และฝรั่งเศสต่างก็แสดงท่าทีที่แข็งกร้าว โดยต้องการแสดงให้เห็นว่าการเจรจาจะเต็มไปด้วยความยากลำบาก และอังกฤษจะต้องได้รับผลกระทบจากการตัดสินใจแยกตัวออกจาก EU เพื่อเป็นการป้องปรามประเทศสมาชิกอื่นๆ ที่มีความคิดที่จะแยกตัวออกจาก EU

อย่างไรก็ดี นายโดนัลด์ ทัสค์ ประธานคณะมนตรียุโรป มองว่า การดำเนินกระบวนการแยกตัวออกจาก EU ที่มีความยุ่งยาก ก็ถือว่าเป็นการลงโทษอังกฤษที่เพียงพอแล้ว โดยไม่มีความจำเป็นที่ EU จะต้องออกมาตรการลงโทษอังกฤษเพิ่มเติมอีก

*จับตา EU เรียก"ค่าหย่า"สุดโหดจากอังกฤษ 60,000 ล้านยูโร

เรื่องใหญ่ที่สุดที่คาดว่าจะสร้างปัญหาในการเจรจาระหว่างอังกฤษและ EU คือ ประเด็นเกี่ยวกับเงินที่อังกฤษจะต้องจ่ายเป็นค่าหย่าร้าง หรือแยกทางกับ EU โดย EU ระบุว่า อังกฤษจะต้องจ่ายค่าแยกตัวออกจาก EU คิดเป็นเงินจำนวน 6 หมื่นล้านยูโร (6.4 หมื่นล้านดอลลาร์) เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายที่ครอบคลุมถึงสัดส่วนภาระความรับผิดชอบของอังกฤษต่องบประมาณของ EU และค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่อังกฤษได้ให้สัญญาว่าจะจ่าย เนื่องจาก EU ได้จัดทำแผนการใช้จ่ายในอนาคตที่อังกฤษมีภาระที่จะต้องให้การสนับสนุนทางการเงินจนถึงปี 2021 ซึ่งจะรวมถึงพันธกรณีในการจ่ายเงินบำนาญให้กับเจ้าหน้าที่ของ EU ต่อไปเป็นเวลาหลายสิบปี

อีกประเด็นหนึ่งที่คาดว่าจะสร้างความขัดแย้งต่อทั้ง 2 ฝ่าย คือการที่อังกฤษต้องการได้รับสิทธิในการทำการค้าเสรีกับ EU แต่ไม่ต้องการยอมรับหลักการของการให้แรงงานของ EU สามารถเดินทางเข้าออกอังกฤษโดยเสรี โดยอังกฤษระบุว่าจะจำกัดจำนวนพลเมืองของ EU ที่จะเดินทางเข้าอังกฤษ

ตัวแทนการเจรจาของ EU ระบุว่า ทั้ง 2 ฝ่ายอาจจะต้องใช้เวลา 2 ปีในการได้ข้อสรุปเกี่ยวกับเงื่อนไขของการที่อังกฤษแยกตัวออกจาก EU แต่การที่จะบรรลุข้อตกลงเกี่ยวกับความสัมพันธ์ใหม่ระหว่างอังกฤษและ EU อาจจะต้องใช้เวลามากกว่านั้นอีกหลายปี ซึ่งหากสมาชิก EU เห็นพ้องกัน ก็อาจมีการขยายช่วงเวลาการเจรจาออกไป โดยถือเสมือนว่าอังกฤษยังคงอยู่ใน EU ตราบใดที่การเจรจายังคงดำเนินไป

*สุดท้าย อังกฤษอาจล้มโต๊ะเจรจา แต่ก็ต้องเจ็บตัวด้วย

อย่างไรก็ดี มีความเป็นไปได้ว่า ในที่สุด อังกฤษอาจตัดสินใจถอนตัวจากโต๊ะเจรจา แทนที่จะยอมตามเงื่อนไขสุดโหดของ EU โดยนางเทเรซา เมย์ นายกรัฐมนตรีอังกฤษ ได้เคยขู่ก่อนหน้านี้ว่า “การไม่มีข้อตกลง ถือเป็นการดีกว่าการมีข้อตกลงที่แย่" (no deal is better than a bad deal)

หากอังกฤษประกาศยกเลิกการเจรจากับ EU ก็จะทำให้อังกฤษแยกตัวออกจาก EU โดยอัตโนมัติในวันที่ 29 มี.ค.2019 โดยไม่มีการทำข้อตกลงใดๆ และอังกฤษจะสูญเสียสมาชิกภาพใน EU และสิทธิพิเศษที่เคยได้รับในฐานะที่เป็นสมาชิก EU

สภาขุนนางของอังกฤษระบุว่า อังกฤษไม่มีภาระผูกพันทางกฎหมายที่จะต้องจ่ายเงินค่าแยกตัวให้แก่ EU ในกรณีที่ทั้ง 2 ฝ่ายไม่สามารถบรรลุข้อตกลงกัน ซึ่ง EU ก็คงจะทำการฟ้องศาลต่อไป แต่ก็ยังคงไม่ชัดเจนในขณะนี้ว่า EU จะยื่นฟ้องต่อศาลใด เนื่องจากสหราชอาณาจักรจะไม่อยู่ภายใต้ขอบเขตอำนาจของศาลยุติธรรมแห่งยุโรป (ECJ) ขณะที่ความขัดแย้งเรื่องการจ่ายเงินดังกล่าว ก็จะยิ่งสร้างความบาดหมางต่อความสัมพันธ์ของอังกฤษ และ EU

หากอังกฤษและ EU ไม่สามารถบรรลุข้อตกลงในการเจรจาทางการค้า ก็จะส่งผลให้ทั้ง 2 ฝ่ายกลับไปใช้กฎระเบียบขององค์การการค้าโลก (WTO) และทำให้อังกฤษไม่ได้รับสิทธิพิเศษในการเข้าสู่ตลาดเดียวของยุโรป (single market) โดยจะต้องเสียภาษีนำเข้า และสินค้าจะต้องถูกตรวจค้นตามด่านศุลกากร ซึ่งจะเป็นการสร้างภาระทางการเงินต่อบริษัทของอังกฤษ

นอกจากนี้ ภาคการเงินของอังกฤษก็จะได้รับผลกระทบเช่นกัน เนื่องจากจะไม่ได้รับสิทธิการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ทางการเงินข้ามประเทศใน EU อย่างอัตโนมัติ แต่จะต้องขอใบอนุญาตเป็นรายประเทศ

ขณะเดียวกัน สิทธิของชาวอังกฤษที่อยู่ใน EU และประชาชนจาก EU ที่อยู่ในอังกฤษก็จะถูกกระทบ หากทั้ง 2 ฝ่ายไม่สามารถบรรลุข้อตกลง โดยชาวอังกฤษที่อยู่ใน EU และพลเมืองของ EU ที่อาศัยในอังกฤษจะอยู่ในสถานะบุคคลจากประเทศที่ 3 ที่จะต้องอยู่ภายใต้กฎข้อบังคับของกองตรวจคนเข้าเมือง โดยไม่มีสิทธิพิเศษใดๆ

*ส่องกล้องโอกาสเกิด no deal

รัฐสภาอังกฤษจะทำการลงมติต่อข้อตกลง Brexit ขั้นสุดท้าย หากรัฐบาลเสร็จสิ้นการเจรจากับ EU ซึ่งรัฐสภามีทางเลือก 2 ทางเท่านั้น คือลงมติรับหรือไม่รับข้อตกลงดังกล่าว โดยไม่มีสิทธิแปรญัตติหรือแก้ไขได้ ซึ่งหมายความว่า โอกาสที่จะเกิดกรณีไม่มีการบรรลุข้อตกลงระหว่างอังกฤษและ EU หรือ no deal ก็คือ รัฐสภาอังกฤษลงมติไม่รับข้อตกลงดังกล่าว หรือรัฐบาลอังกฤษตัดสินใจล้มเลิกการเจรจากับ EU

อย่างไรก็ดี ดูเหมือนว่าทุกฝ่ายต่างก็ไม่ต้องการไปสู่จุดที่ไม่สามารถบรรลุข้อตกลงกันได้ โดยรัฐบาลอังกฤษแสดงความเชื่อมั่นว่าจะประสบความสำเร็จในการเจรจาเพื่อให้ได้ข้อตกลงที่เป็นประโยชน์มากที่สุด

ส่วนผู้นำใน EU ก็ต้องการหลีกเลี่ยงผลกระทบจากการที่ไม่สามารถบรรลุข้อตกลงกับอังกฤษเช่นกัน โดยนายโดนัลด์ ทัสค์ ประธานคณะมนตรียุโรป กล่าวว่า การตกอยู่ในสถานการณ์ที่ไม่มีการบรรลุข้อตกลง จะเป็นสิ่งที่เลวร้ายสำหรับทุกฝ่าย โดยเฉพาะต่ออังกฤษ เนื่องจากจะทำให้มีหลากหลายประเด็นที่ยังคงค้างคาอยู่

ทางด้านภาคธุรกิจของอังกฤษก็ออกมาเรียกร้องต่อรัฐบาลให้บรรลุข้อตกลงกับ EU เพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น และการแยกตัวออกมาจาก EU โดยไม่มีการทำข้อตกลง ถือเป็นการกระทำที่ไม่มีความรับผิดชอบ

*ตารางเวลา 2 ปีสำหรับการเจรจาระหว่างอังกฤษ VS สหภาพยุโรป

11 เม.ย.2017

ที่ปรึกษารัฐบาลของ EU จะพบปะกันที่กรุงบรัสเซลส์เพื่อทบทวนแนวทางการเจรจากับอังกฤษ และอาจจัดประชุมอีกครั้งในวันที่ 24 เม.ย.

27 เม.ย.2017

รัฐมนตรีฝ่ายกิจการ EU ทั้ง 27 ชาติ ยกเว้นอังกฤษ (GAC) จัดการประชุมที่ลักเซมเบิร์กเพื่อสรุปร่างแนวทางการเจรจา

29 เม.ย.2017

ผู้นำ EU ทั้ง 27 ชาติ ไม่รวมอังกฤษ พบปะกันที่กรุงบรัสเซลส์เพื่อให้การอนุมัติต่อแนวทางการเจรจากับอังกฤษ

3 พ.ค.2017

นายมิเชล บาร์นิเยร์ อดีตประธานกรรมาธิการยุโรป (EC) จะเข้าประชุมคณะมนตรียุโรปเพื่อให้คำแนะนำเกี่ยวกับแนวทางการเจรจากับรัฐบาลอังกฤษ

22 พ.ค.2017

GAC จัดการประชุมเพื่อบรรลุข้อตกลงต่อแนวทางการเจรจากับอังกฤษ โดยจะมอบอำนาจให้นายบาร์นิเยร์เป็นตัวแทนการเจรจาฝ่าย EU ที่กรุงบรัสเซลส์

ต้นเดือนมิ.ย.2017

นายเดวิด เดวิส รัฐมนตรีฝ่ายกิจการ Brexit ของอังกฤษ จะนำคณะเข้าเจรจากับเจ้าหน้าที่ EU ที่นำโดยนายบาร์นิเยร์

ก่อนหน้านี้ เจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการของทั้ง 2 ฝ่ายอาจมีการพบปะกันเพื่อเตรียมการเกี่ยวกับรายละเอียดปลีกย่อยของการเจรจา เช่น รายชื่อของเจ้าหน้าที่ระดับสูงที่จะทำการเจรจา รวมทั้งกำหนดเวลา และภาษาที่ใช้ในการเจรจา

ช่วงฤดูใบไม้ร่วงของปี 2017

GAC จัดการประชุมเพื่อพิจารณาความคืบหน้าในร่างสนธิสัญญาการถอนตัวของอังกฤษออกจาก EU เพื่อให้คณะผู้เจรจาสามารถเข้าสู่ช่วงที่ 2 ของกระบวนการเจรจาเพื่อหารือการทำข้อตกลงการค้าเสรีหลัง Brexit โดย EU ต้องการได้ข้อสรุปเกี่ยวกับประเด็นที่มีความสำคัญ เช่น แนวทางปฏิบัติต่อชาวอังกฤษที่อยู่ใน EU และชาวยุโรปที่อาศัยในอังกฤษ, การจัดการเกี่ยวกับกฎหมายของ EU และประเด็นเกี่ยวกับชายแดน

นอกจากนี้ ร่างกฎหมาย Great Repeal Bill จะเข้าสู่กระบวนการพิจารณาของรัฐสภาอังกฤษ โดยร่างกฎหมายดังกล่าวจะยกเลิกกฎหมายที่ว่าด้วยการรวมกลุ่มสหภาพยุโรปปี 1972 (European Communities Act) และจะกำหนดแนวทางในกระบวนการแยกตัวจากสหภาพยุโรป

คาดว่าสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 จะทรงลงพระปรมาภิไธยต่อร่างกฎหมาย Great Repeal Bill ในช่วงต้นปี 2018

ปลายปี 2018-ต้นปี 2019

รัฐสภายุโรปให้สัตยาบันต่อสนธิสัญญาการถอนตัวของอังกฤษออกจาก EU ขณะที่คณะมนตรียุโรปพิจารณาให้ความเห็นชอบ ส่วนรัฐสภาอังกฤษก็จะทำการพิจารณาเพื่อลงมติต่อสนธิสัญญาดังกล่าวเช่นกัน

29 มี.ค.2019

หลังจากที่นางเทเรซา เมย์ นายกรัฐมนตรีอังกฤษ ได้ประกาศใช้มาตรา 50 ของสนธิสัญญาลิสบอน ในวันที่ 29 มี.ค.2017 เพื่อเริ่มต้นกระบวนการเจรจาเป็นเวลา 2 ปีในการแยกตัวจาก EU หากการเจรจาระหว่างอังกฤษและ EU สามารถบรรลุข้อตกลงภายในช่วงเวลาดังกล่าว อังกฤษก็จะแยกตัวออกจาก EU โดยสมบูรณ์ในเวลาเที่ยงคืนของวันที่ 29 มี.ค.2019 ซึ่งจะเป็นวันทำการทางธุรกิจวันสุดท้ายของไตรมาสแรกของปีดังกล่าว

อย่างไรก็ดี หลายฝ่ายคาดการณ์ว่า ทั้ง 2 ฝ่ายอาจไม่สามารถบรรลุข้อตกลงภายในช่วงเวลา 2 ปีที่กำหนด เนื่องจากความยุ่งยาก และซับซ้อนของประเด็นต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น วงเงินที่อังกฤษต้องจ่ายแก่ EU รวมทั้งประเด็นข้อกฎหมาย, การค้า และสิทธิพลเมืองของแต่ละฝ่าย ทำให้อาจต้องมีการยืดระยะเวลาของการเจรจาออกไป แต่ต้องได้รับความเห็นชอบจากคู่กรณี คือ อังกฤษ และ 27 ชาติสมาชิกของ EU

*อังกฤษหลังแยกตัวจาก EU ดีขึ้นหรือเลวลง เวลาจะเป็นเครื่องพิสูจน์

การเจรจาทำข้อตกลง Brexit ระหว่างอังกฤษและ EU ซึ่งจะกินระยะเวลา 2 ปี หรืออาจมากกว่านั้น ถือเป็นการเจรจาครั้งใหญ่ที่สุด และมีความสำคัญมากที่สุดในยุคนี้ ขณะที่ผลการเจรจายังคงมีความไม่แน่นอน ซึ่งเราคงจะต้องจับตาดูกันยาวๆ ต่อจากนี้ไป ว่าทั้ง 2 ฝ่ายจะสามารถหาทางทำข้อตกลงในการเจรจาที่ซับซ้อน และยากลำบากนี้ได้หรือไม่ หรือ EU จะตั้งเงื่อนไขโหดกับอังกฤษจนทำให้มีการล้มโต๊ะเจรจาหรือไม่ นอกจากนี้ อนาคตของอังกฤษ หลังแยกทางกับ EU จะดีขึ้นหรือเลวลง เวลาเท่านั้นจะเป็นเครื่องพิสูจน์


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ