ปัญหาความขัดแย้งในซีเรียที่เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2554 จุดปะทุจากการที่ประชาชนในประเทศได้รวมตัวประท้วงต่อต้านรัฐบาลภายใต้การนำของประธานาธิบดีบาชาร์ อัล อัสซาด โดยประชาชนต้องการให้มีการจัดการเลือกตั้งขึ้นมาใหม่ จนกลายเป็นกระแสร้อนแรงของการลุกฮือในตะวันออกกลางที่รู้จักกันในชื่อ “อาหรับสปริง" อย่างไรก็ตาม รัฐบาลซีเรียได้ตอบโต้กลุ่มผู้ชุมนุมด้วยกระสุนปืน ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก และนำไปสู่ความวุ่นวายที่มีตัวละครมากมายเข้ามาเกี่ยวข้อง
หลังเหตุการณ์ในครั้งนั้น กลุ่มผู้ชุมนุมบางส่วนที่ถูกกดดันจากรัฐบาลได้รวมตัวกันจัดตั้งกองกำลังต่อต้านรัฐบาล ขณะที่ผู้นำอิหร่านซึ่งเป็นพันธมิตรของรัฐบาลซีเรียและนับถือศาสนาอิสลามนิกายชีอะห์เช่นกัน ได้ส่งกองกำลังเข้าร่วมจัดการกลุ่มต่อต้านรัฐบาลซีเรียเหล่านี้ แต่ซาอุดิอาระเบียซึ่งมีเรื่องขัดแย้งกับอิหร่านอยู่เป็นช่วงๆ ก็ได้ส่งอาวุธและเงินสนับสนุนให้แก่กลุ่มต่อต้านรัฐบาลซีเรียผ่านตุรกีและจอร์แดนที่ต่อต้านนายอัสซาด เพื่อคานอิทธิพลของอิหร่านในซีเรีย
เหตุการณ์ได้ทวีความรุนแรงมากขึ้นเมื่อมีการใช้อาวุธเคมีโจมตีกลุ่มต่อต้านในปี 2556 ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 1,700 คน โดยรัฐบาลซีเรียนำโดยอัสซาดตกเป็นจำเลยในเหตุการณ์ดังกล่าว ทำให้สหรัฐในยุคของประธานาธิบดีบารัค โอบามา อาศัยเหตุผลนี้ในการอ้างสิทธิ์โจมตีฐานทัพรัฐบาลซีเรีย เพื่อตอบโต้การกระทำอันไร้มนุษยธรรม อย่างไรก็ตาม รัสเซียซึ่งเป็นอีกหนึ่งพันธมิตรมหาอำนาจของซีเรีย และคู่ปรับตัวฉกาจของสหรัฐ ได้เข้ามายับยั้งปฏิบัติการทางทหารของสหรัฐด้วยการแสดงตัวเป็นผู้สนับสนุนรัฐบาลซีเรีย และเสนอให้รัฐบาลซีเรียปลดอาวุธเคมีที่มีอยู่ ทำให้ซีเรียที่นอกจากจะตกเป็นสนามรบของระหว่างรัฐบาลและกลุ่มต่อต้านแล้ว ยังเป็นพื้นที่ของการขยายอิทธิพลและคานอำนาจของชาติต่างๆผ่านการสนับสนุนหรือต่อต้านรัฐบาลซีเรีย
เหตุการณ์ได้ดำเนินต่อไปเมื่อสหรัฐได้ส่งกองกำลังเข้าไปยังซีเรียเพื่อฝึกฝนกลุ่มต่อต้านรัฐบาล ซึ่งเป็นช่วงเดียวกับที่กลุ่มรัฐอิสลาม (ISIS) ได้แตกตัวออกมาจากกลุ่มอัลกออิดะห์และมีกำลังมีบทบาทมากขึ้นเรื่อยๆ ด้วยเหตุนี้ สหรัฐและรัสเซียจึงสามารถใช้เหตุผลข้อนี้ในการส่งกองกำลังเพิ่มเติมเข้าไปในซีเรียในฐานะ “ผู้ปราบกลุ่มก่อการร้าย ISIS" แทน และได้ลงนามในข้อตกลงร่วมกันในเดือน ต.ค. 2558 ว่าสหรัฐและรัสเซียมีเป้าหมายร่วมกันในการโจมตี ISIS แต่ในความเป็นจริงแล้ว การสู้รบที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่ในซีเรียยังคงเป็นการต่อสู้กันระหว่างกลุ่มที่ให้การสนับสนุนรัฐบาลและกลุ่มต่อต้าน อีกทั้งยังมีรายงานข่าวเกี่ยวกับ “การโจมตีที่ผิดพลาด" เช่นการที่กองทัพอากาศของสหรัฐบุกโจมตีกองทัพรัฐบาลซีเรียโดยอ้างว่าเข้าใจผิดคิดว่าเป็นกลุ่ม ISIS ในเดือนก.ย. ปีที่แล้ว สร้างความเคลือบแคลงใจให้แก่รัฐบาลซีเรียและรัสเซียเป็นอย่างมาก ขณะที่มีรายงานเมื่อเดือนมี.ค.ที่ผ่านมาว่า กองทัพอากาศรัสเซียได้โจมตีกองกำลังที่ผ่านการฝึกฝนจากกองทัพสหรัฐโดยอ้างว่าเข้าใจผิดคิดว่าเป็นกลุ่ม ISIS เช่นกัน
ทั้งนี้ คำพูดจากตัวแทนของทั้ง 2 ประเทศในขณะนั้น สามารถใช้เป็นเครื่องยืนยันได้อย่างดีว่า ความร่วมมือทางการทหารระหว่างสหรัฐและรัสเซียเพื่อให้ "บรรลุเป้าหมายในการต่อสู้กับกลุ่ม ISIS" ที่ทั้งสองฝ่ายใช้เป็นข้ออ้างในการส่งทหารเข้าไปประจำการในซีเรียนั้น เป็นสิ่งที่ไม่สามารถเกิดขึ้นได้แม้จะมีการลงนามในข้อตกลงร่วมกันก็ตาม ยกตัวอย่างเช่น คำพูดของนายปีเตอร์ คุก โฆษกกระทรวงกลาโหมของสหรัฐ เมื่อเดือนต.ค. 2558 ที่ระบุว่า “สหรัฐไม่ได้ต้องการสร้างความร่วมมือหรือสนับสนุนนโยบายหรือปฏิบัติการใดๆของรัสเซียในซีเรีย (จากการลงนามในความตกลงฉบับนี้)...และยังคงเชื่อว่า ยุทธศาสตร์ของรัสเซียในซีเรียเป็นสิ่งที่ไม่สร้างสรรค์" ขณะที่นายอเล็กเซย์ พุชคอฟ ประธานกรรมาธิการฝ่ายต่างประเทศประจำสภารัสเซียได้กล่าวไว้ก่อนหน้าเพียงไม่กี่วันว่า สหรัฐ “แสร้งทำ" เป็นโจมตีกลุ่ม ISIS ซึ่งความจริงแล้วต้องการล้มล้างรัฐบาลของนายอัสซาดมากกว่า และยืนยันว่า ปฏิบัติการของรัสเซียสามารถจัดการกับกลุ่ม ISIS ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ล่าสุด เหตุการณ์ในซีเรียได้ทวีความรุนแรงขึ้นอีกครั้ง หลังจากมีการโจมกลุ่มต่อต้านด้วยอาวุธเคมีเมื่อวันที่ 4 เม.ย. 2560 ในเมืองอิดลิบ ส่งผลให้มีพลเรือนเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก โดยรัฐบาลซีเรียได้ออกมาปัดความรับผิดชอบในทันทีว่าไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับอาวุธเคมีดังกล่าว ขณะที่รัสเซียเองก็ได้ออกมาปกป้องรัฐบาลซีเรียเช่นกันโดยกล่าวว่า เหตุการณ์นั้นเกิดขึ้นจากการที่รัฐบาลซีเรียได้โจมตีคลังเก็บอาวุธของกลุ่มก่อการร้าย และไม่ได้เป็นเจ้าของอาวุธเคมีดังกล่าว อย่างไรก็ตาม สหรัฐ ภายใต้การนำของนายโดนัลด์ ทรัมป์ พร้อมด้วยชาติพันธมิตร กลับแสดงความมั่นใจอย่างเต็มที่ ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นฝีมือของรัฐบาลนายอัสซาด และได้กระทำในสิ่งที่หลายฝ่ายไม่คาดคิด นั่นคือการสั่งโจมตีฐานทัพอากาศของรัฐบาลซีเรียด้วยขีปนาวุธโทมาฮอว์คเกือบ 60 ลูก ส่งผลให้รัสเซียไม่พอใจเป็นอย่างมาก และมีการออกแถลงการณ์ประณามการโจมตีของสหรัฐว่า “ละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศ" รวมถึงประกาศกร้าวว่าจะถอนตัวออกจากข้อตกลง (ที่ดูจะไม่ค่อยมีประสิทธิภาพมากนัก) ที่ได้ลงนามร่วมกับสหรัฐไว้ในเดือนต.ค. 2558 พร้อมทั้งเตรียมยกระดับทางการทหารของกองทัพอากาศรัสเซียและซีเรียเพื่อรองรับ “โอกาสในเผชิญหน้าโดยตรงกับสหรัฐที่เพิ่มมากขึ้น" ตามที่นายดิมิทรี เปสคอฟ โฆษกรัฐบาลรัสเซียได้กล่าวไว้
รัสเซีย-ซีเรีย-สหรัฐ
รัสเซียและซีเรียนั้นมีความสัมพันธ์ที่ค่อนข้างแน่นแฟ้นกันมาเป็นระยะเวลายาวนานแล้วตั้งแต่ในสมัยของนายฮาเฟซ อัสซาด บิดาของนายบาชาร์ อัล อัสซาด ขึ้นดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีซีเรีย หลังประสบความสำเร็จกับการก่อรัฐประหารในปี 2513 ตลอดเรื่อยมาจนถึงในปัจจุบันในสมัยของนายบาชาร์ อัล อัสซาด ความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศนี้ส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับประเด็นด้านการทหาร โดยรัสเซียนั้นเป็นผู้ขายอาวุธรายใหญ่ที่สุดให้แก้รัฐบาลซีเรีย ขณะเดียวกัน รัฐบาลซีเรียได้อนุญาตให้รัสเซียเข้ามาตั้งฐานทัพเรือในประเทศบริเวณเมืองทาร์ทัส โดยฐานทัพเรือแห่งนี้เป็นเป็นฐานทัพเรือในภูมิภาคตะวันออกกลางเพียงแห่งเดียวของรัสเซีย และเป็นจุดในการขนถ่ายอาวุธยุทโธปกรณ์ให้แก่รัฐบาลซีเรีย รวมถึงเป็นพื้นที่ที่รัสเซียใช้โต้ตอบการโจมตีซีเรียของสหรัฐเมื่อไม่นานมานี้ ด้วยการส่งเรือรบเข้าไปประจำการ เพื่อแสดงให้เห็นเชิงสัญลักษณ์ว่า รัสเซียพร้อมที่จะเผชิญหน้ากับสหรัฐ
การเข้ามาของสหรัฐซึ่งเป็นประเทศที่มีความขัดแย้งกับรัสเซียแทบจะทุกเรื่องมาตั้งแต่สมัยสงครามเย็น จึงเป็นการท้าทายอิทธิพลของรัสเซียครั้งสำคัญ เนื่องจากการรักษาไว้ซึ่งตำแหน่งผู้นำของอัสซาดคือการรักษาไว้ซึ่งผลประโยชน์และอิทธิพลของรัสเซียในภูมิภาคตะวันออกกลาง นอกจากนี้ หากสหรัฐสามารถโค่นอัสซาดลงได้ ก็จะเป็นความพ่ายแพ้ครั้งใหญ่ของรัสเซียในให้แก่ประเทศที่ไม่สามารถยอมก้มหัวให้กับสงครามตัวแทนครั้งนี้
และด้วยเหตุผลที่ยกขึ้นมาประกอบนี้ จึงมีความเป็นไปได้ที่สหรัฐ อาจร่วมมือกับซาอุดิอาระเบียโค้นล่มรัฐบาลอัสซาดของซีเรียก็เป็นได้
จีน-ซีเรีย-สหรัฐ
จีนและซีเรียอาจเป็นประเทศที่ดูห่างไกลและไม่มีความสัมพันธ์ร่วมกันมากนัก แต่จีนนั้นเคยใช้สิทธิ์วีโต้การคว่ำบาตรซีเรียที่ร่างโดยสหรัฐและพันธมิตรมาแล้วเมื่อต้นเดือนมี.ค. ยิ่งไปกว่านั้น หากมองในมุมของความสัมพันธ์ระหว่างจีนและสหรัฐจะพบว่า ทั้งสองประเทศค่อนข้างที่จะไม่ลงรอยกันมากเท่าไหร่ โดยเฉพาะจีนในสายตาของผู้นำสหรัฐคนปัจจุบัน
การสั่งโจมตีฐานทัพซีเรียของทรัมป์ครั้งล่าสุดยังเป็นการฉีกหน้าจีนครั้งสำคัญ เพราะนอกจากจะเป็นการแหกการวีโต้ของจีนแล้ว ช่วงเวลาในการออกคำสั่งยังเกิดขึ้นระหว่างวันที่มีการพูดคุยระดับสูงระหว่างผู้นำของทั้งสองประเทศ ซึ่งบางฝ่ายอาจมองว่าเป็นการไม่ให้เกียรติจีนอย่างแรง ส่งผลให้จีนออกมาประนามการโจมตีดังกล่าวหลังการพูดคุยเสร็จสิ้นลง แม้ว่านายเร็กซ์ ทิลเลอร์สัน รัฐมนตรีต่างประเทศของสหรัฐจะออกมาพยายามแก้ต่างว่าจีนเข้าใจในการกระทำของสหรัฐก็ตาม
อย่างไรก็ตาม การโจมตีซีเรียของสหรัฐครั้งนี้ ถือว่ามีนัยสำคัญสำหรับจีนเป็นอย่างมาก เนื่องจากจีนซึ่งเป็นพันธมิตรของเกาหลีเหนือ ประเทศที่ไม่ลงรอยกับสหรัฐอย่างมากในประเด็นเรื่องการทดสอบขีปนาวุธ อาจจำเป็นต้องทบทวนคำร้องขอของสหรัฐที่เรียกร้องให้มีการใช้อิทธิพลหยุดยั้งพฤติกรรมยั่วยุของเกาหลีเหนือให้จริงจังมากขึ้น เนื่องจากสหรัฐได้แสดงให้เห็นแล้วว่า ตนนั้นกล้าพอที่จะโจมตีซีเรีย พันธมิตรของรัสเซีย ประกอบกับได้มีการปล่อยเรือรบลาดตระเวนบริเวณคาบสมุทรเกาหลี เพื่อแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ว่า สหรัฐนั้นพร้อมที่จะเผชิญหน้าแล้ว
สหรัฐ
การโจมตีซีเรียของสหรัฐ นอกจากจะเป็นประเด็นที่มีหลายประเทศเข้ามาเกี่ยวข้องแล้ว ยังมีนัยสำคัญทางอ้อมกับการบริหารของรัฐบาลทรัมป์ด้วย โดยในช่วงแรกนั้น ทรัมป์เคยกล่าวไว้ว่าจะไม่ยุ่งกับปัญหาในซีเรีย แต่จะให้ซีเรียนั้นแก้ปัญหาของตนเองไป อย่างไรก็ตาม หลังจากที่มีเหตุการณ์โจมตีด้วยอาวุธเคมีครั้งล่าสุด ทรัมป์ได้ออกมากล่าวว่า มุมมองของตนที่มีต่อซีเรียนั้น “เปลี่ยนไป" และสหรัฐจำเป็นจะต้องเข้าไปจัดการ ซึ่งไม่ต่างกับวิธีที่ทรัมป์เคยวิจารณ์ไว้ในที่นายบารัค โอบามา เป็นประธานาธิบดี จึงเป็นที่น่าจับตาว่า ทรัมป์ได้อาศัยโอกาสนี้ในการหาช่องทางบุกเข้าซีเรียโดยใช้เหตุผลด้านมนุษยธรรมหรือไม่ ตลอดจนสร้างภาพให้กับตนเองด้วยหรือไม่ว่า ไม่มีเอี่ยวกับรัสเซียเหมือนดังที่พรรคเดโมแครตเคยกล่าวหาไว้ในช่วงการหาเสียงและภายหลังการเลือกตั้งสหรัฐ
นอกจากนี้ การสั่งโจมตีซีเรีย ยังทำให้สื่อและประชาชน รวมถึงนักลงทุนหันเหความสนใจจากเรื่อนโยบายด้านการเงิน และการลดภาษี ซึ่งเป็นสิ่งที่หลายฝ่ายให้ความสนใจและจับตามองเป็นอย่างมาก หลังทรัมป์ได้ชูนโยบายเหล่านี้ในระหว่างการหาเสียง แต่ไม่ได้มีการเปิดเผยรายละเอียดเชิงลึกใดๆเกี่ยวกับนโยบายดังกล่าวหลังได้รับตำแหน่งประธานาธิบดี