แม้ผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีฝรั่งเศสรอบแรกที่เสร็จสิ้นไปเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมาจะเป็นไปตามคาด โดยผู้ที่ได้รับคะแนนมากที่สุด 2 อันดับแรก ซึ่งจะเข้าไปชิงชัยกันในการเลือกตั้งรอบสองซึ่งจะมีขึ้นในวันที่ 7 พ.ค.ที่จะถึงนี้ ก็คือ นายเอมมานูเอล มาครอง ผู้สมัครสายกลางพรรคอิสระ และนางมารีน เลอเปน ผู้สมัครจากพรรค National Front (FN) แต่สิ่งที่น่าจับตามองต่อจากนี้ก็คือนโยบายที่แตกต่างกันอย่างสุดขั้วของผู้สมัครทั้ง 2 ราย ซึ่งจะเป็นตัวกำหนดอนาคตของฝรั่งเศสต่อไป วันนี้ In Focus จะพาไปเจาะลึกกับเรื่องนี้
เอมมานูเอล มาครอง ตัวแทนชาวฝรั่งเศสรุ่นใหม่ ผู้สนับสนุนโลกาภิวัฒน์
ผู้สมัครหน้าใหม่วัย 39 ปี ซึ่งลงสนามเลือกตั้งในครั้งนี้เป็นครั้งแรก เป็นอดีตนายธนาคารไฟแรงที่พ่วงดีกรีการศึกษาจากสถาบันการปกครองชั้นสูงแห่งชาติฝรั่งเศส (ENA) ซึ่งเป็นสถาบันชั้นนำที่ปั้นประธานาธิบดีให้กับประเทศแห่งนี้มาแล้วถึง 3 คน มาครอง เริ่มต้นอาชีพของเขาในสายการเงินและการธนาคาร ก่อนจะมาเป็นที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจให้กับประธานาธิบดี ฟรองซัวส์ ออลลองด์ ในปี 2555 และสองปีหลังจากนั้นเขาก็ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นรัฐมนตรีกระทรวงกิจการดิจิทัล, อุตสาหกรรม และเศรษฐกิจ
แม้จะเป็นผู้สมัครหน้าใหม่ที่ไม่เคยลงสมัครเลือกตั้งมาก่อน แต่เส้นทางในสายการเมืองของมาครองก็น่าสนใจไม่น้อย เขาเริ่มเข้ามามีบทบาทในการเคลื่อนไหวทางการเมืองในช่วงปีเศษๆนี่เอง มาครองลงสมัครเลือกตั้งในฐานะผู้สมัครอิสระโดยไม่ได้สังกัดพรรคเดิม ซึ่งก็คือพรรคสังคมนิยม (Parti Socialiste-PS) ของประธานาธิบดีออลลองด์ แต่เขาได้ตั้งพรรคอองมาร์ช (En Marche!) ของตัวเองขึ้นมา โดยชูนโยบายสายกลางแบบเสรีนิยม ที่เน้นความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจ ส่งเสริมโลกาภิวัฒน์ และสนับสนุนการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป
มารีน เลอเปน ผู้เกาะกระแสชาตินิยมที่กำลังพลุ่งพล่านในโลกตะวันตก
ผู้สมัครจากพรรคแนวร่วมแห่งชาติ (FN) ซึ่งเป็นพรรคขวาจัด ที่ลงสมัครเลือกตั้งโดยชูแนวคิดประชานิยมเช่นเดียวกับอังกฤษ และสหรัฐอเมริกา ด้วยนโยบายกีดกันผู้อพยพ ต่อต้านสหภาพยุโรป และไม่ยอมรับหลักการอิสลาม แบบเดียวกับที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ของสหรัฐเคยทำก่อนขึ้นกุมอำนาจในทำเนียบขาวได้สำเร็จ
เลอเปนประกาศนโยบายชัดเจนว่า เธอจะให้ความสำคัญกับฝรั่งเศสเป็นอันดับแรก และเคยกล่าวชื่นชมอังกฤษที่เลือกลาออกจากการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป เธอใช้วิธีหาเสียงแบบประชานิยมเช่นเดียวกับประธานาธิบดีทรัมป์ โดยระบุว่าจะจัดให้มีการลงประชามติถอนตัวออกจากสหภาพยุโรป เลิกใช้เงินสกุลยูโร และยังประกาศจุดยืนอย่างแข็งกร้าวในเรื่องการปิดรับผู้อพยพ ผลักดันผู้ลักลอบเข้าเมืองโดยผิดกฎหมายออกนอกประเทศ รวมทั้งเรื่องการปิดมัสยิดที่มีแนวคิดสุดโต่งซึ่งเชื่อว่าเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงของประเทศ พร้อมปลุกกระแสชาตินิยมในหมู่ชาวฝรั่งเศส โดยเรียกร้องให้ผู้ที่รักชาติทั้งหลายออกมาลงคะแนนให้กับเธอในการเลือกตั้งรอบสองนี้
โลกาภิวัฒน์ กับ ชาตินิยม เส้นทางที่ชาวฝรั่งเศสต้องเลือก
เมื่อผู้เข้าชิงทั้ง 2 รายมีนโยบายแตกต่างกันอย่างสุดขั้ว ขณะที่ฝ่ายหนึ่งประกาศตัวว่า จะสนับสนุนโลกาภิวัฒน์พร้อมสร้างความก้าวหน้าให้กับประเทศ อีกฝ่ายหนึ่งกลับแสดงออกชัดเจนว่าไม่เอาโลกาภิวัฒน์ และต้องการปกป้องผลประโยชน์ของประเทศในทุกด้าน ทำให้การเลือกตั้งครั้งนี้มีความสำคัญอย่างหนักหน่วงต่ออนาคตของฝรั่งเศส
ภัยคุกคามจากการก่อการร้ายและสงครามกลางเมืองในตะวันออกกลาง ซึ่งทำให้ผู้คนจำนวนมากต้องลี้ภัยออกไปยังประเทศในซีกโลกฝั่งตะวันตก ได้ปลุกกระแสชาตินิยมขึ้นมาบนดินแดนเหล่านั้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยเฉพาะในฝรั่งเศสที่ต้องเผชิญกับเหตุการณ์ร้ายแรงหลายต่อหลายครั้ง จนแม้กระทั่งไม่กี่วันก่อนที่การเลือกตั้งรอบแรกจะเปิดฉากขึ้น ก็ยังเกิดเหตุกราดยิงขึ้นที่ใจกลางกรุงปารีส เหตุการณ์เหล่านี้แม้จะซับซ้อนเกินกว่าจะชี้ชัดได้ว่าเป็นความรับผิดชอบของใคร แต่ลึกๆในใจของชาวฝรั่งเศส พวกเขาย่อมต้องการมองหาความปลอดภัยในชีวิตท่ามกลางสถานการณ์ที่ดูเหมือนจะเลวร้ายลงไปทุกวันเช่นนี้ สิ่งเหล่านี้ปรากฎชัดเจนมากขึ้นเมื่อนางมารี เลอเปน ทางยาทของนายฌอง มารี เลอเปน นักการเมืองขวาจัดสุดโต่งที่เคยลงสมัครเลือกตั้งประธานาธิบดีมาแล้วหลายต่อหลายสมัย ได้คะแนนสูงเป็นอันดับสองในการเลือกตั้งประธานาธิบดีรอบแรก จนก้าวเข้าสู่สนามเลือกตั้งรอบสุดท้ายได้ในปีนี้ ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าความคิดของชาวฝรั่งเศสเริ่มเบนออกไปทางขวามากขึ้นเช่นเดียวกับชาวอเมริกันและชาวอังกฤษเสียแล้ว ขณะที่นักการเมืองหนุ่มอย่างมาครอง ที่ถูกมองว่าไม่มีนโยบายที่โดดเด่นอะไรเลย กลับได้รับคะแนนเสียงมากที่สุดในการเลือกตั้งรอบแรก ก็เป็นเครื่องชี้ชัดว่ายังมีชาวฝรั่งเศสอีกจำนวนหนึ่งที่เป็นผู้ฝักใฝ่สายกลาง
การเลือกตั้งในครั้งนี้จึงไม่ใช่เพียงการชิงชัยกันระหว่างผู้สมัครทั้งสองราย หากแต่เป็นการขับเคี่ยวกันของกระแสเสรีนิยมโลกาภิวัฒน์และชาตินิยมในหมู่พลเมืองฝรั่งเศสหลายสิบล้านคน หรือหากจะกล่าวว่าเป็นการกำหนดทิศทางในอนาคตที่ชาวฝรั่งเศสต้องเลือกกันเองว่าต้องการเดินไปทางไหน ก็คงไม่ใช่เรื่องผิด และนั่นก็คือโจทย์ใหญ่ที่ผู้สมัครทั้งสองรายต้องตีให้แตก การประกาศจุดยืนในการยืนหยัดเพื่อผลประโยชน์แห่งชาติของเลอเปน อาจจะได้รับผลพวงสนับสนุนจากสถานการณ์ความไม่สงบในขณะนี้อยู่ไม่น้อย แต่สิ่งที่ยากกลับอยู่ที่การสร้างความมั่นใจว่าประวัติศาสตร์จะไม่ซ้ำรอย เมื่อประชาชนได้เห็นบทเรียนที่เกิดขึ้นกับสหรัฐและอังกฤษมาแล้ว และสำหรับมาครอง ที่แม้จะคว้าคะแนนมากเป็นอันดับหนึ่งมาได้ แต่ความที่เป็นนักการเมืองหน้าใหม่ซึ่งอาจจะยังไม่มีผลงานทางการเมืองให้เป็นที่ประจักษ์แก่สายตาประชาชนมากนัก ย่อมมีผลต่อการตัดสินใจของชาวฝรั่งเศสโดยเฉพาะฐานเสียงของพรรคใหญ่และผู้ที่ไม่ได้สนับสนุนมาครองในการเลือกตั้งรอบแรก สิ่งที่มาครองจะทำได้ในขณะนี้ก็คือ เขาต้องพยายามทำให้ผู้คนเชื่อว่าเขาจะเป็นผู้นำสันติสุขมาสู่ฝรั่งเศสด้วยแนวทางสันติวิธีตามแบบของเขาให้ได้
ผลเลือกตั้งฝรั่งเศส ชี้อนาคตอียู
ผู้ที่จะขึ้นมาเป็นประธานาธิบดีฝรั่งเศส นอกจากจะมีส่วนสำคัญในการกำหนดทิศทางของฝรั่งเศสต่อจากนี้ไป แต่ในฐานะผู้นำประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 2 ในยูโรโซน และเป็น 1 ใน 6 ประเทศที่ร่วมก่อตั้งสหภาพยุโรปขึ้นมา ร่วมกับ เบลเยี่ยม เยอรมนีตะวันตก ลักเซมเบิร์ก อิตาลี และเนอเธอร์แลนด์ เขาย่อมมีความสำคัญต่อสหภาพยุโรปอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
โดยเฉพาะเมื่อนางมารีน เลอเปน ผู้สมัครฝ่ายขวาที่มีแนวคิดประชานิยมสุดโต่ง แสดงจุดยืนอย่างชัดเจนว่าจะจัดให้มีการลงประชามติเพื่อถอนตัวจากอียูเช่นเดียวกับอังกฤษ และหันกลับมาใช้เงินฟรังก์แทนเงินยูโรทันทีที่ได้เป็นประธานาธิบดี ทำให้บรรดานักวิเคราะห์ต่างพากันวิตกกังวลว่า หากเธอได้ขึ้นมาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีฝรั่งเศสจริงๆ จะก่อให้เกิดผลร้ายอันใหญ่หลวงต่ออียูที่อ่อนแออยู่แล้วจากการถอนตัวของอังกฤษ และหากต้องสูญเสียฝรั่งเศสซึ่งเป็นประเทศสำคัญไปอีกประเทศ จะส่งผลกระทบทั้งในด้านความมั่นคง เศรษฐกิจ การเมือง ตลอดจนเสถียรภาพภายในภูมิภาคอย่างแน่นอน
ขณะที่หนทางก้าวสู่การเป็นประธานาธิบดีของนายเอมมานูแอล มาครอง ซึ่งโพลล์หลายสำนักได้ออกมาฟันธงว่า เขาจะเป็นผู้ชนะในศึกเลือกตั้งรอบชี้ขาดนี้ ก็อาจจะไม่ใช่เรื่องง่ายอย่างที่คิด โดยเฉพาะนโยบายของเขาที่บางฝ่ายมองว่ายังคงไม่เด่นชัดและยังถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นนโยบายเอาใจกลุ่มนายทุน นักธุรกิจ คนรุ่นใหม่ที่อยู่ในเมือง อาจจะทำให้เขายังไม่สามารถสร้างความรู้สึกในการเป็นตัวแทนของประชาชนได้อย่างแท้จริง ขณะเดียวกันเลอเปน มักจะพูดอยู่เสมอมาว่า ชาวฝรั่งเศสต้องมาก่อนและเธอจะยืนหยัดเพื่อผลประโยชน์ของชาติและชาวฝรั่งเศสนั้น กลับเป็นการปลุกกระแสฝ่ายขวาที่แพร่กระจายอยู่ทั่วโลกตะวันตกให้พลุ่งพล่านขึ้นมาในฝรั่งเศส ผลการเลือกตั้งรอบสองจะออกมาเป็นอย่างไร อยู่ที่ว่า มาครอง จะสามารถโน้มน้าวให้คนกลุ่มใหญ่ที่ไม่ต้องการลงคะแนนเสียงมาสนับสนุนเขาได้เป็นผลสำเร็จหรือไม่ ในที่สุดชาวฝรั่งเศสจะเป็นผู้ชี้อนาคตของประเทศพวกเขาด้วยตัวเอง