In Focusส่องนโยบาย "โดนัลด์ ทรัมป์" 100 วันหลังกุมบังเหียนสหรัฐ

ข่าวต่างประเทศ Wednesday May 3, 2017 11:05 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายโดนัลด์ ทรัมป์ ขึ้นดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีคนที่ 45 ของสหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 20 มกราคม 2560 และดำรงตำแหน่งครบ 100 วัน ในวันที่ 29 เมษายนที่ผ่านมา ก่อนหน้านี้ ในระหว่างการหาเสียงเลือกตั้ง ทรัมป์ได้ให้คำมั่นสัญญาเอาไว้มากมาย เรามาดูกันว่านโยบายที่เขาได้ประกาศไว้นั้นมีความคืบหน้าไปถึงไหนบ้างแล้ว

นโยบายเศรษฐกิจ

ในฐานะนักธุรกิจที่ผันตัวมาเป็นนักการเมือง ทรัมป์ได้ส่งสัญญาณชัดเจนว่ารัฐบาลชุดนี้เชื่อมั่นในธุรกิจ โดยในช่วง 100 วันแรก ทรัมป์ได้แต่งตั้งเจ้าหน้าที่หลายคนที่มาจากโกลด์แมน แซคส์ วาณิชธนกิจยักษ์ใหญ่ของโลก ซึ่งนักวิเคราะห์มองว่ามีผลทางจิตวิทยา เพราะทำให้ประชาชนรู้สึกว่าเศรษฐกิจประเทศจะดีขึ้น นอกจากนี้ ทรัมป์ยังได้เดินหน้าพบปะหารือกับผู้นำทางธุรกิจในหลายภาคส่วน ตั้งแต่ยานยนต์ไปจนถึงเทคโนโลยี

ทรัมป์ยังได้แสดงความกระตือรือร้นในการแก้ไขปัญหาการค้า โดยได้นำสหรัฐถอนตัวออกจากข้อตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (TPP) และมีแผนผลักดันการเจรจาข้อตกลงเขตการค้าเสรีอเมริกาเหนือ หรือ "นาฟต้า" ใหม่อีกครั้ง เพื่อไม่ให้สหรัฐเสียเปรียบในการทำการค้า นอกจากนี้ ทรัมป์ยังสั่งการให้รัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์และตัวแทนการค้าของสหรัฐจัดทำรายงานเพื่อหาสาเหตุเบื้องหลังการขาดดุลการค้าของสหรัฐที่สูงถึง 5 แสนล้านดอลลาร์ในปี 2559 วิเคราะห์แยกตามประเทศของคู่ค้าและประเภทของสินค้า โดยพุ่งเป้าไปที่คู่ค้ารายสำคัญอย่างจีนและญี่ปุ่น ขณะเดียวกันยังพิจารณาว่าอาจยกเลิกข้อตกลงเขตการค้าเสรี (FTA) กับเกาหลีใต้ หลังสหรัฐขาดดุลการค้ากับเกาหลีใต้เป็นจำนวนมหาศาล

นักเศรษฐศาสตร์และผู้นำธุรกิจส่วนหนึ่งพอใจกับนโยบายที่เป็นมิตรต่อภาคธุรกิจ แต่บางส่วนมองว่านโยบายของทรัมป์ยังขาดรายละเอียด อย่างมาตรการปฏิรูปภาษีที่เปิดเผยไปเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ก็ไม่ได้ลงรายละเอียดชัดเจนและไม่ได้ให้ความกระจ่างว่าจะส่งผลให้สหรัฐขาดดุลงบประมาณมากขึ้นหรือไม่

นโยบายต่างประเทศ

การเข้ามาบริหารประเทศของทรัมป์ถือเป็นการเปิดศักราชใหม่ของนโยบายต่างประเทศก็ว่าได้ ก่อนหน้านี้ในสมัยรัฐบาลโอบามา นโยบายต่างประเทศของสหรัฐเน้นไปที่การเจรจา จนหลายฝ่ายมองว่าหละหลวมและไม่เป็นรูปธรรม ผิดกับทรัมป์ที่แสดงจุดยืนชัดเจนว่าพร้อมใช้กำลังทางทหาร และลงมือทำอย่างรวดเร็ว ไม่ว่าจะเป็นการสั่งการให้กองทัพสหรัฐยิงขีปนาวุธโทมาฮอว์คกว่า 50 ลูกถล่มกองกำลังของรัฐบาลซีเรีย รวมถึงการสั่งให้กองทัพสหรัฐทิ้งระเบิด MOAB ในอัฟกานิสถานเพื่อโจมตีกลุ่ม IS

ในช่วง 100 วันแรก นโยบายต่างประเทศที่ทรัมป์โฟกัสมากที่สุดหนีไม่พ้นเรื่องของเกาหลีเหนือ ซึ่งทรัมป์เลือกดำเนินนโยบายคล้ายคลึงกับรัฐบาลชุดก่อน นั่นคือการสร้างความเชื่อมั่นให้กับประเทศพันธมิตรและรักษาอิทธิพลในภูมิภาค แต่เพิ่มเติมคือมีการกดดันและคุกคามมากขึ้น เห็นได้จากการส่งเรือบรรทุกเครื่องบิน ยูเอสเอส คาร์ล วินสัน ไปยังคาบสมุทรเกาหลี ซึ่งเป็นการกดดันเกาหลีเหนือให้หยุดการพัฒนาขีปนาวุธและอาวุธนิวเคลียร์ พร้อมกับสร้างความเชื่อมั่นให้กับเกาหลีใต้ไปในตัว

ผู้เชี่ยวชาญบางส่วนมองว่านโยบายต่างประเทศของทรัมป์มุ่งจัดการกับปัญหาอย่างใดอย่างหนึ่ง แต่ขาดการมองภาพรวมในระยะยาว ทำให้นโยบายแต่ละอย่างขาดการเชื่อมโยงกัน แต่บางส่วนก็มองว่าทรัมป์เพิ่งทำงานได้ไม่นาน และยังมีเวลาอีกมากที่จะเชื่อมโยงนโยบายต่างๆ เข้าด้วยกัน

นโยบายผู้ลี้ภัย

หนึ่งในนโยบายที่โดดเด่นที่สุดในช่วง 100 วันแรกของทรัมป์คือ การสร้างกำแพงกั้นระหว่างสหรัฐและเม็กซิโก ความยาวประมาณ 2,000 ไมล์ (ราว 3,000 กิโลเมตร) เพื่อป้องกันผู้อพยพผิดกฎหมายจากเม็กซิโกลักลอบเข้ามายังสหรัฐ ซึ่งทรัมป์เคยอ้างว่าจะใช้งบประมาณราว 1.0-1.2 หมื่นล้านดอลลาร์ แต่จากการประมาณการของหลายฝ่ายบ่งชี้ว่าต้องใช้งบประมาณสูงกว่านั้นมาก และอาจสูงถึง 2.5 หมื่นล้านดอลลาร์เลยทีเดียว

อย่างไรก็ดี ฝันอันยิ่งใหญ่ของทรัมป์ก็สะดุดตั้งแต่ก้าวแรก โดยเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา สภาคองเกรสได้อนุมัติร่างกฎหมายงบประมาณชั่วคราวเพื่อหลีกเลี่ยงการชัตดาวน์ ซึ่งมีการจัดสรรงบประมาณด้านการรักษาความมั่นคงบริเวณชายแดน 1.5 พันล้านดอลลาร์ แต่ไม่มีงบประมาณสำหรับสร้างกำแพงรวมอยู่ในนั้น ถึงกระนั้น ทรัมป์ก็ยังไม่ละความพยายามที่จะสร้างกำแพง โดยนายมิค มัลวานีย์ ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารจัดการและงบประมาณประจำทำเนียบขาว เปิดเผยว่า ในช่วงปลายเดือนพ.ค.นี้ ทรัมป์จะเสนอร่างงบประมาณประจำปี 2561 ที่จะเริ่มตั้งแต่เดือนต.ค. และจะมีการของบประมาณสำหรับการสร้างกำแพงด้วย

นโยบายสุขภาพ

อีกหนึ่งความพยายามของทรัมป์ในช่วง 100 วันแรกของการกุมบังเหียนประเทศก็คือ การผลักดันร่างกฎหมายประกันสุขภาพ "อเมริกันเฮลธ์แคร์" เพื่อนำมาใช้แทนกฎหมาย "โอบามาแคร์" ของรัฐบาลชุดก่อน แต่ก็ยังไปไม่ถึงฝั่งฝัน โดยทรัมป์ต้องยอมถอนร่างกฎหมายดังกล่าวออกจากการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร เนื่องจากไม่ได้รับเสียงสนับสนุนที่เพียงพอจากสมาชิกพรรค

การที่ทรัมป์ไม่สามารถรวบรวมเสียงสนับสนุนจากสมาชิกพรรครีพับลิกันได้ ทั้งที่พรรคครองเสียงข้างมากในทั้งสองสภาของคองเกรส ถือเป็นความล้มเหลวครั้งใหญ่ครั้งแรกในสภานิติบัญญัติของทรัมป์ และยังส่งผลให้เกิดการตั้งคำถามถึงความสามารถของทรัมป์ในการเดินหน้าผลักดันนโยบายอื่นๆ ตามที่เคยให้คำมั่นสัญญาไว้ในระหว่างการหาเสียง

ผลงานในช่วง 100 วันแรกของทรัมป์อาจยังไม่เข้าตาใครหลายคน แต่อย่าลืมว่าทรัมป์ยังมีเวลาทำงานอีกถึง 1,400 วัน เพราะฉะนั้น การตัดสินทรัมป์ตั้งแต่ตอนนี้คงจะไม่ยุติธรรมเท่าใดนัก ควรจะดูกันต่อไปยาวๆ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ