ผ่านไปสดๆร้อนๆสำหรับการประชุมว่าด้วยความร่วมมือทางเศรษฐกิจบนเส้นทางสายไหมยุคใหม่ (Belt and Road Forum for International Cooperation) ซึ่งรัฐบาลจีนภายใต้การนำของประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ได้จัดขึ้นอย่างยิ่งใหญ่ โดยเป้าหมายหลักคือการเปิดตัวโครงการ "One Belt One Road" ซึ่งอาจแปลตรงตัวได้ว่า "หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง" หรือที่นิยมเรียกขานกันอีกชื่อหนึ่งว่า เส้นทางสายไหมยุคใหม่
รัฐบาลจีนภูมิใจนำเสนอเส้นทางสายไหมใหม่นี้อย่างสุดตัว และคาดหวังการตอบรับเป็นอย่างดีจากประเทศต่างๆ ... ซึ่งแน่นอนว่า ผู้นำจาก 29 ชาติ รวมทั้งเจ้าหน้าที่และบุคคลสำคัญกว่า 1,500 คนจากกว่า 100 ประเทศที่เดินทางเข้าร่วมประชุมในครั้งนี้ ไม่ได้ทำให้จีนผิดหวัง เมื่อสังเกตจากการกระพือข่าวของสื่อประเทศต่างๆที่แสดงความภาคภูมิภาคที่ผู้นำของตนได้มีส่วนร่วมในการประชุมครั้งประวัติศาสตร์นี้ โดยเฉพาะ 'นกรู้' อย่างนายโรดริโก ดูเตอร์เต ประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ และนายนาจิบ ราซัค นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ที่ออกอาการ 'อวย' โครงการ One Belt One Road ของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง อย่างไม่ขาดปาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งนายนาจิบที่แสดงความชื่นชมจีนอย่างออกนอกหน้า ด้วยการลงทุนเขียนบทความยกย่องโครงการ One Belt One Road ลงในหนังสือพิมพ์เซาท์ไชน่ามอร์นิ่ง โพสต์ ด้วยตนเอง ... ซึ่งนั่นอาจเป็นเพราะ ทั้งฟิลิปปินส์และมาเลเซียต่างก็อกหักจากสหรัฐที่ชิงถอนตัวจากข้อตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (TPP) จึงพากันหันไปซบจีนที่อ้าแขนรับด้วยความเต็มใจ และไม่ลืมที่จะตามเหน็บแนมสหรัฐว่า แคมเปญ "America First" เป็นแนวคิดที่คับแคบ และแอบสอดไส้ค่านิยมกีดกันทางการค้า ซึ่งต่างกับวิสัยทัศน์ของจีนโดยสิ้นเชิง
- ผ่าโครงการ "One Belt One Road" อภิมหาโปรเจ็คที่จีนพุ่งเป้าเชื่อมโลกให้เป็นหนึ่งเดียว
อันที่จริง เส้นทางสายไหมมีมาตั้งแต่สมัยยุคจีนโบราณ เมื่อย้อนดูข้อมูลทางประวัติศาสตร์พบว่า เส้นทางสายไหมทางทะเลถือกำเนิดขึ้นในยุคราชวงศ์หมิง เพื่อลำเลียงสินค้าจากจีนอ้อมฝั่งเอเชียใต้ผ่านมหาสมุทรอินเดียและทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ไปยังอาณาจักรกรีกและโรมัน ส่วนเส้นทางสายไหมทางบก มีมาตั้งแต่ยุคราชวงศ์ฮั่น เพื่อขนส่งสินค้าจากจีนผ่านอินเดีย เปอร์เซีย แอฟริกา ไปยังอาณาจักรยุโรปโบราณ ... ดังนั้น การโหมนโยบายเศรษฐกิจแบบเปิดกว้างของจีนในยุคประธานาธิบดีสี จิ้นผิง จึงสะท้อนให้เห็นว่า จีนกำลังรื้อฟื้นเส้นทางสายไหมให้คืนชีพกลับมาเป็นเส้นทางการค้าที่ยิ่งใหญ่และกว้างไกลที่สุดในยุคโลกไร้พรมแดน เพราะมีประเทศที่เกี่ยวข้องในเส้นทางสายไหมยุคใหม่นี้ถึง 65 ประเทศ หากประเมินจีดีพีประเทศเหล่านี้รวมกันก็พบว่า มีมูลค่าสูงกว่า 2 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐเลยทีเดียว
ในวันเปิดการประชุม Belt and Road Forum ประธานาธิบดีจีนได้สร้างความฮือฮาด้วยการประกาศทุ่มเงินเพิ่มอีก 1 แสนล้านหยวน (ประมาณ 1.45 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ) ให้กับกองทุนเส้นทางสายไหม (Silk Road Fund) หลังจากที่ได้อัดฉีดเงินทุนไปแล้ว 4 พันล้านดอลลาร์ ในปี 2557 เพื่อสนับสนุนโครงสร้างพื้นฐาน เช่นถนน และ ท่อส่งก๊าซ
กองทุนแห่งนี้จัดตั้งขึ้นในเดือนธ.ค.2557 มีเป้าหมายเพื่อให้การสนับสนุนเงินทุนแก่โครงการ Belt and Road Initiative และได้รับการสนับสนุนโดยทุนสำรองเงินตราต่างประเทศของจีน บรรษัทการลงทุนจีน (CIC) ธนาคารส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศจีน และธนาคารเพื่อการพัฒนาจีน (CDB)
แม้หลายฝ่ายพยายามจะตีความว่าจีนพยายามเคลื่อนไหวอย่างแยบยล มีวาระแอบแฝงที่หวังจะขยายอิทธิพลและแผ่อาณานิคมทางการค้า คล้ายกับยุคการล่าอาณานิคมยึดพรมแดนเป็นเมืองขึ้นในอดีต แต่หลังจากที่จีนประกาศเชิญชวนประเทศต่างๆ กลับได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี นั่นอาจเป็นเพราะผู้นำของประเทศเหล่านี้เข้าใจในเจตนารมณ์ และเชื่อมั่นว่าจีนจะโอบอุ้มการค้าบนเส้นทางสายไหมยุคใหม่ให้ตลอดรอดฝั่งโดยไม่ทิ้งใครไว้กลางทาง ... และที่สำคัญ ทุกประเทศไม่อยากพลาดขบวนรถไฟการค้าบนเส้นทางสายไหมยุคใหม่ ที่ดูแล้วมีแต่ได้กับได้
นอกจากนี้ การประชุม Belt and Road Forum ยังสะท้อนให้เห็นว่า ประชาชน หน่วยงาน และรัฐบาลท้องถิ่นของจีนต่างก็ให้ความร่วมมือกับผู้นำของตนเองอย่างเต็มที่ เพื่อนำประเทศไปสู่เป้าหมายสูงสุด ซึ่งต่างจากฝั่งสหรัฐที่ไม่ว่าประธานาธิบดีทรัมป์จะผุดโครงการใดออกมา ก็มักจะถูกคัดค้านจากทั้งสังคมและจากคนภายในพรรครัฐบาลเอง