คะแนนนิยมที่ลดลงอย่างฮวบฮาบของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐ ภายหลังเข้ารับตำแหน่งได้แค่เพียง 6 เดือน แสดงให้เห็นว่า ชาวอเมริกันไม่พอใจกับผลงานของประธานาธิบดี ที่ยังไม่ปรากฎอะไรให้เห็นเป็นชิ้นเป็นอัน จะมีก็เพียงแต่ความสับสนอลหม่านที่เขาได้มอบให้กับอเมริกาและทั่วโลกอย่างไม่หยุดหย่อน นี่ยังไม่รวมถึงเรื่องอื้อฉาวในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับข้อกล่าวหาที่ว่า รัสเซียเข้ามาแทรกแซงการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐเมื่อปีที่แล้ว และการเปลี่ยนแปลงทีมงานเป็นว่าเล่น จนหลายฝ่ายเริ่มตั้งคำถามว่า รัฐบาลของทรัมป์ในขณะนี้ยังคงมีเสถียรภาพและเอกภาพอยู่อีกหรือไม่
ปลดฟ้าผ่า ผอ.เอฟบีไอ เซ่นคดีฉาวรัสเซียเอี่ยวเลือกตั้ง
นอกจากคนในทำเนียบขาวแล้ว เจ้าหน้าที่ของหน่วยงานที่อยู่ภายใต้การดูแลของทรัมป์ก็ถูกหางเลขด้วยเช่นกัน ภายหลังจากที่เข้ารับตำแหน่งได้เพียงไม่นาน ทรัมป์ต้องเผชิญกับเรื่องอื้อฉาวที่ว่า ทั้งเขาและคนสนิทรอบตัวมีส่วนเกี่ยวข้องกับข้อกล่าวหาที่ว่า รัสเซียได้เข้ามาแทรกแซงการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐเมื่อปีที่แล้ว ซึ่งส่งผลกระทบเรื้อรังต่อทั้งรัฐบาลและตัวทรัมป์เอง จนถึงขั้นอาจเป็นการสั่นคลอนตำแหน่งประธานาธิบดี ขณะที่ทรัมป์เองได้แสดงให้เห็นว่า ตนเองกำลังหาทางจัดการกับข้อกังขาดังกล่าวโดยเร็ว และนี่ก็นำมาสู่การเปลี่ยนแปลงมากมายในรัฐบาลของผู้นำสหรัฐ รวมถึงการปลดนายเจมส์ โคมีย์ ผู้อำนวยการสำนักงานสืบสวนกลางหรือเอฟบีไอ หลังจากโคมีย์ออกมาประกาศว่า เอฟบีไอกำลังสอบสวนเรื่องที่รัสเซียแทรกแซงการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ ท่ามกลางกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักว่าประธานาธิบดีไม่ควรเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการทำงานขององค์กรอิสระอย่างเอฟบีไอ จนถึงขั้นนำไปเปรียบเทียบกับสมัยอดีตประธานาธิบดีริชาร์ด นิกสัน ที่เคยสั่งปลดอัยการพิเศษที่ตั้งขึ้นมาเพื่อสืบสวนคดีวอเตอร์เกต จนสุดท้ายแล้วนิกสันต้องลาออกจากตำแหน่งในที่สุด
ทรัมป์ได้ให้เหตุผลเรื่องการปลดผอ.เอฟบีไอจากตำแหน่งว่า เป็นเพราะโคมีย์ไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอสำหรับการทำงานในตำแหน่งนี้ ซึ่งโคมีย์ก็ได้ออกมาโต้แย้งว่าสาเหตุที่แท้จริงนั้น เนื่องมาจากปธน.เคยพูดให้หลายครั้งให้เขาจงรักภักดีต่อผู้นำสหรัฐ ขณะที่โคมีย์ยืนยันว่าจะซื่อสัตย์ต่อหน้าที่ของตนเอง และนั่นอาจทำให้ประธานาธิบดีคิดว่า โคมีย์ไม่ยอมสวามิภักดิ์ต่อตัวเอง ด้านสื่ออเมริกันมองว่า เหตุผลสำคัญของการสั่งปลดโคมีย์เป็นเพราะว่า ผอ.เอฟบีไอ คนนี้คิดริเริ่มการสอบสวนกรณีรัสเซีย ในขณะที่ทรัมป์ต้องการให้หยุดเรื่องดังกล่าวไว้ เพื่อให้เขาและครอบครัวหลุดพ้นจากข้อกล่าวหา
หลังจากปลด เจมส์ โคมีย์ ออกจากตำแหน่งผอ.เอฟบีไอแล้ว ทรัมป์ได้แต่งตั้งให้นายคริสโตเฟอร์ เรย์ เข้ามาดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการเอฟบีไอคนใหม่ สำหรับเรย์ผู้นี้เคยมีตำแหน่งอยู่ในกระทรวงยุติธรรม ในสมัยรัฐบาลประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บุช และยังเคยมีส่วนในการสืบสวนคดีที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคง และเหตุการณ์ก่อการร้าย 9/11 อีกด้วย เรย์ได้ให้คำมั่นไว้ตั้งแต่วันที่เข้ามารับตำแหน่งว่า หากประธานาธิบดีบังคับให้เขาต้องทำในสิ่งที่ผิดกฎหมาย เขาก็พร้อมจะลาออกจากตำแหน่งทันที
ความวุ่นวายปรากฎชัด เมื่อ “ทรัมป์" สั่งเด้ง 2 ตำแหน่งสำคัญประจำทำเนียบขาว
ความวุ่นวายปั่นป่วนในทำเนียบขาวเริ่มปรากฎให้เห็นชัดเจนเป็นระยะๆ เมื่อนายฌอน สไปเซอร์ โฆษกทำเนียบขาวที่อยู่กับรัฐบาลทรัมป์มาตั้งแต่แรกเริ่ม ประกาศลาออกเพื่อประท้วงที่ทรัมป์แต่งตั้งให้นายแอนโธนี สคารามุคซี นักการเงินจากวอลล์สตรีท ขึ้นมาเป็นผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสารประจำทำเนียบขาว ก่อนที่นายสคารามุคซี จะถูกปลดออกจากตำแหน่งหลังทำงานได้แค่ 10 วันเท่านั้น
สำหรับเส้นทางการเข้าสู่ทำเนียบขาวของสคารามุคซีนั้น เริ่มจากการทำงานในด้านการเงินและลงทุน เขาเคยช่วยระดมทุนให้กับพรรคเดโมแครตในช่วงเลือกตั้งชิงสมัยอดีตปธน.บารัค โอบามา ต่อมาก็ได้หันมาทำงานให้กับพรรครีพับลิกันในฐานะประธานร่วมฝ่ายการเงินในช่วงที่นายมิตต์ รอมนีย์ ลงเลือกตั้งชิงตำแหน่งประธานาธิบดีเมื่อปี 2555 หลังจากนั้นได้ให้การสนับสนุนนายสก็อต วอร์คเกอร์ และนายเจฟ บุช ในการเข้าชิงเป็นตัวแทนพรรคเพื่อลงเลือกตั้งประธานาธิบดี และเมื่อทั้ง 2 คนประกาศถอนตัว เขาถึงได้หันมาทำงานให้กับโดนัลด์ ทรัมป์ จนได้รับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีสหรัฐ
ในที่สุดทรัมป์ก็ได้แต่งตั้งให้สคารามุคซีดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสารประจำทำเนียบขาว แต่เขากลับอยู่ในตำแหน่งดังกล่าวได้เพียงแค่ 10 วัน ก่อนที่จะถูกปลดเพราะความปากกล้าวิพากษ์วิจารณ์คนในหลายแผนก จนเกิดแรงสั่นสะเทือนเป็นอย่างมากภายในทำเนียบขาว ส่งผลให้ทรัมป์มองว่า เขาไม่มีวุฒิภาวะพอสำหรับตำแหน่งนี้
นอกจากนี้ ก่อนหน้าที่จะมีการปลด ผอ. สื่อสารคนใหม่ออกจากตำแหน่งนั้น ทรัมป์ยังได้สั่งปลดนายเรนซ์ พรีบัส ออกจากตำแหน่งหัวหน้าคณะทำงานประจำทำเนียบขาว โดยพรีบัส นับเป็นคนใกล้ชิดของปธน.ทรัมป์ ที่มีส่วนช่วยสนับสนุนให้เขาสามารถคว้าชัยในการเลือกตั้งมาได้ และยังเป็นสะพานเชื่อมระหว่างทรัมป์และกลุ่มอำนาจในพรรครีพับลิกัน
การปลดพรีบัสออกจากตำแหน่งครั้งนี้ เกิดจากการที่ประธานาธิบดีเริ่มมีคำถามเรื่องความสามารถในการทำงานของเขา เมื่อร่างกฎหมายหลายฉบับไม่ผ่านสภาคองเกรส เป็นเหตุผลที่ทำให้ทรัมป์หมดความมั่นใจในตัวพรีบัส ขณะที่หลายฝ่ายมองว่า พรีบัสนี่แหละจะเป็นพยานปากสำคัญของคดีรัสเซียแทรกแซงการเลือกตั้ง เนื่องจากเขาเคยเป็นคนใกล้ชิดของปธน.ทรัมป์มาก่อน สถานการณ์ทั้งหลายทั้งปวงที่เกิดขึ้นนี้ทำให้เกิดความวิตกกังวลในวงกว้างว่า ต่อไปการบริหารงานของทรัมป์อาจต้องเผชิญกับความยากลำบากมากขึ้นไปอีก
ยุทธศาสตร์ดึงทหารนั่งคุมเจ้าหน้าที่ทำเนียบขาว
การแต่งตั้ง พล.อ.จอห์น เคลลี ให้เป็นหัวหน้าคณะทำงานประจำทำเนียบขาว เมื่อวันที่ 31 ก.ค.ผ่านมา ท่ามกลางกระแสการเปลี่ยนแปลงทีมงานทำเนียบขาวนั้น ทำให้หลายฝ่ายจับตาว่า เพราะเหตุใดทรัมป์จึงดึงสายทหารเข้ามาดูแลงานด้านบริหารจัดการ
เคลลีเป็นนายพลกองทัพเรือที่เกษียณแล้ว วัย 67 ปี ซึ่งเคยทำหน้าที่เป็นรัฐมนตรีกระทรวงความมั่นคงแห่งมาตุภูมิของสหรัฐนับตั้งแต่ช่วงปลายเดือนม.ค.ที่ผ่านมา และมีจุดยืนที่ชัดเจนเกี่ยวกับการต่อต้านผู้อพยพลี้ภัยเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย การบังคับใช้คำสั่งห้ามผู้เดินทางจากประเทศกลุ่มมุสลิมเข้าสหรัฐของเขาในช่วงที่รั้งตำแหน่งรัฐมนตรีนั้น ได้รับการชื่นชมจากทรัมป์อยู่หลายครั้ง
นอกจากการแสดงความยินดีกับผลงานของนายเคลลีที่กระทรวงความมั่นคงแห่งมาตุภูมิแล้ว ทรัมป์ได้แสดงความคาดหวังว่า เคลลีจะสามารถสร้างผลงานที่ดียิ่งขึ้นที่ทำเนียบขาว
สื่ออเมริกันมองว่า การแต่งตั้งเคลลีเป็นประเด็นที่ต้องจับตากันอย่างใกล้ชิด เพราะทรัมป์เองหมายมั่นให้เคลลี เข้ามาช่วยดูแลการผลักดันร่างกฎหมายประกันสุขภาพฉบับใหม่ รวมทั้งนโยบายการปฏิรูปภาษีที่ยังไม่มีวี่แววว่า จะเกิดความคืบหน้าแต่อย่างใด สวนทางกับแผนการณ์ของนางอิวานก้า ทรัมป์ และนายจาเร็ด คุชเนอร์ ลูกเขยของทรัมป์ที่ตั้งใจจะเสนอชื่อบิดาให้แต่งตั้งไดน่า พาวเวลล์ รองที่ปรึกษาด้านความมั่นคงทำหน้าที่หัวหน้าคณะทำงานทำเนียบขาว
นอกจากนี้ การที่เคลลี ประกาศชัดเจนหลังเข้ารับตำแหน่งว่า การชงข้อเสนอด้านนโยบาย การเสนอชื่อคณะทำงาน และการเสนอแนกจากบุคคลภายนอกเข้ามายังทำเนียบขาวนั้น จะต้องทำผ่านตัวเขาเท่านั้น ทำให้สถานการณ์ภายในทำเนียบขาวตกเป็นประเด็นที่ห้ามกระพริบตา
การแต่งตั้ง โยกย้าย ปลดเจ้าหน้าที่ออกจากตำแหน่งเป็นว่าเล่นนี้ อาจเป็นการสะท้อนถึงความหวาดระแวงในใจของประธานาธิบดีในการมอบหมายหน้าที่ให้กับลูกน้องของตนเอง ที่แม้ว่าจะเป็นคนใกล้ชิด สนิทไว้ใจแค่ไหนก็ตาม หากแต่เมื่อไหร่ที่แสดงพฤติกรรมขัดใจประธานาธิบดีขึ้นมา ขาเก้าอี้ในตำแหน่งเหล่านั้นก็ดูเหมือนจะไม่มั่นคงอีกต่อไป ยิ่งตอนนี้ข่าวแว่วๆออกมาว่า คนสำคัญในรัฐบาลบางคนเริ่มบ่นว่ารู้สึกอึดอัดที่ได้ทำงานกับปธน.ทรัมป์ เพราะยิ่งอยู่ๆไปยิ่งรู้สึกว่าความคิดไม่ได้เป็นไปในแนวทางเดียวกัน โดยสิ่งพวกเขาต้องการคือการทำงานเพื่อประเทศ ไม่ใช่เพื่อประธานาธิบดี สุดท้ายแล้วมนุษย์ผู้ที่เคยประกาศออกมาว่า จะสร้างอเมริกาให้ยิ่งใหญ่อีกครั้ง จะทำอย่างไรเมื่อคนใกล้ตัวของเขา หากไม่ถูกปลดออก ก็ทยอยกันถอนตัวออกไปเรื่อยๆ ทั้งที่การสร้างเอกภาพในหมู่คณะทำงานย่อมเป็นเรื่องสำคัญที่จะนำไปสู่ความสำเร็จตามเป้าหมายอันยิ่งใหญ่ตามที่เขาได้วางไว้