มรสุมการเมืองภายในทำเนียบขาว วิกฤตศรัธาในกลุ่มผู้บริหารบริษัทชั้นนำและประชาชน นโยบายหาเสียงที่ยังไม่ออกมาเป็นรูปธรรม สงครามน้ำลายผ่านทางทวิตเตอร์ ล้วนเป็นปัจจัยที่ “โดนัลด์ ทรัมป์" ประธานาธิบดีผู้ลั่นวาจาว่าจะทำให้อเมริกากลับมายิ่งใหญ่อีกครั้ง ต้องสะดุดและหวนคิดทบทวนถึงปัญหา หลังจากที่เข้ามาสร้างความปั่นป่วนไปทั่วหัวระแหงทั้งด้านการเมืองและเศรษฐกิจได้เกินครึ่งปีเข้าไปแล้ว
ข้อตกลงการค้าเสรีอเมริกาเหนือ (NAFTA) เป็นหนึ่งในนโยบายเศรษฐกิจที่ยังไม่มีความคืบหน้าจากรัฐบาลทรัมป์ ทั้งที่ข้อตกลงดังกล่าวเป็นหนึ่งในประเด็นที่ทรัมป์ดึงมาหาเสียงช่วงศึกเลือกตั้งประธานาธิบดีเมื่อปีที่แล้ว และเรื่องนี้ก็มีส่วนช่วยผลักดันให้ทรัมป์ลอยลำสู่เส้นชัย แต่จนแล้วจนรอด NAFTA กลับกลายเป็นอีกเดิมพันที่จะวัดฝีมือของผู้นำสหรัฐว่า จะสามารถเดินหน้านโยบายเศรษฐกิจให้สำเร็จได้สักเรื่องหรือไม่
เมื่อกว่า 30 ปีที่แล้ว สหรัฐได้เริ่มเจรจาต่อรองด้านการค้าระดับทวิภาคีกับแคนาดาก่อน และนำมาซึ่งข้อตกลงการค้าเสรีแคนาดา ซึ่งมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 1 ม.ค. 2532 หลังจากนั้นสหรัฐจึงได้เริ่มเจรจากับเม็กซิโกเมื่อปี 2534 โดยมีแคนาดาเข้าร่วมการประชุมด้วย จากการประชุมดังกล่าวทำให้เกิดข้อตกลงการค้าเสรีอเมริกาเหนือ (NAFTA) ตามมา และมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 1 ม.ค. 2537 หลังจากนั้นจึงมีการยกเลิกการจัดเก็บภาษี รวมทั้งข้อกำหนดควบคุมในเชิงปริมาณต่างๆ
ข้อตกลง NAFTA ยังครอบคลุมบทบัญญัติต่างๆ ที่เกี่ยวกับกฎเกณฑ์ของต้นกำเนิดสินค้า กระบวนการด้านศุลกากร การเกษตร สุขอนามัย การจัดซื้อของภาครัฐ การลงทุน การค้า การคุ้มครองสิทธิด้านทรัพย์สินทางปัญญา ตลอดจนกระบวนการยุติข้อพิพาท เป็นต้น
เมื่อวันที่ 18 พ.ค. 2560 ภายหลังจากที่ได้มีการปรึกษาหารือกับคณะกรรมการของสภาคองเกรส นายโรเบิร์ต ไลท์ไฮเซอร์ ผู้แทนการค้าสหรัฐ ได้แจ้งกับสภาคองเกรสว่า ทรัมป์ต้องการเริ่มการเจรจาต่อรองกับแคนาดาและเม็กซิโกเกี่ยวกับ NAFTA อีกครั้ง โดยสหรัฐต้องการหาทางที่จะสนับสนุนการจ้างงานที่มีค่าแรงสูงขึ้นในประเทศ และทำให้เศรษฐกิจสหรัฐขยายตัวด้วยการเพิ่มโอกาสทางการค้าของสหรัฐกับแคนาดาและเม็กซิโก
ไฮไลท์ของการเจรจารอบแรกเรื่อง NAFTA ที่มีอายุอานามได้ 23 ปี ระหว่างนายโรเบิร์ต ไลท์ไฮเซอร์ ผู้แทนการค้าสหรัฐ นายอิลเดฟอนโซ กัวจาร์โด รัฐมนตรีกระทรวงเศรษฐกิจเม็กซิโก สหรัฐ และคริสเทีย ฟรีแลนด์ รัฐมนตรีกิจการต่างประเทศของแคนาดา เมื่อวันที่ 16-20 ส.ค.ที่ผ่านมานั้น สะท้อนให้เห็นถึงความท้าทายของทั้ง 3 ฝ่าย
สหรัฐเองต้องการให้มีการยกเลิกบทบัญญัติที่ 19 ของ NAFTA ซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับการยุติข้อพิพาท แต่ทางเม็กซิโกและแคนาดาไม่เห็นด้วย เนื่องจากต้องการคงบทบัญญัตินี้ไว้เพื่อทบทวนการออกกฎเกณฑ์ที่เกี่ยวกับการให้เงินอุดหนุนที่ผิดกฎหมายและการทุ่มตลาด
สหรัฐและแคนาดาผลักดันให้เม็กซิโกขึ้นเงินเดือน พร้อมกับระบุว่า เงินเดือนที่อยู่ในระดับต่ำทำให้บริษัทต่างๆอยากมาตั้งโรงงานในเม็กซิโก
นอกจากนี้ สหรัฐยังต้องการให้ปรับปรุงกฎเกณฑ์เรื่องแหล่งกำเนิดสินค้า ด้วยการเพิ่มเงื่อนไขระดับท้องถิ่นสำหรับยานพาหนะ ชิ้นส่วนยานยนต์ รวมทั้งเกณฑ์ของแต่ละประเทศ ซึ่งทางเม็กซิโกมองว่า ข้อเรียกร้องเหล่านี้เป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้
ทางด้านกลุ่มบริษัทผู้ผลิตรถทั้งของสหรัฐ แคนาดา และเม็กซิโก ต่างออกมาคัดค้านกฎเหล็กที่ทางคณะผู้แทนเจรจาของสหรัฐได้นำเสนอ ขณะที่สมาชิกสภาคองเกรสที่มีจุดยืนในการสนับสนุนภาคธุรกิจก็ไม่อยากให้ข้อตกลงออกมาในรูปแบบที่จะทำให้การค้าเป็นไปอย่างเข้มงวด
กฎเกณฑ์เรื่องแหล่งกำเนิดสินค้าก็เป็นอีกประเด็นที่ส่อแววความยากลำบากแล้วว่า จะเป็นประเด็นที่ทั้ง 3 ประเทศต้องมาตั้งหน้าตั้งตาหาทางสรุปกันให้ได้ในการเจรจาต่อรอง ท่ามกลางเป้าหมายที่ต้องการจะสรุปข้อตกลงให้ได้ภายในช่วงต้นปีหน้า
แคนาดาเองนั้น ไม่เห็นด้วยกับแผนการของสหรัฐที่ต้องการให้ยกเลิกบทบัญญัติที่ 19 เกี่ยวกับกลไกในการยุติข้อพิพาท พร้อมกับเปิดเผยด้วยว่า อาจจะถอนตัวจากข้อตกลง หากมีการดึงดันให้มีการยกเลิกบทบัญญัติที่ 19 ซึ่งกำหนดให้คณะกรรมการของประเทศที่เกี่ยวข้องตัดสินใจร่วมกันสำหรับกรณีที่มีการร้องเรียนเกี่ยวกับการให้เงินอุดหนุนที่ผิดกฎหมายและการทุ่มตลาด ซึ่งเป็นกรณีที่สหรัฐมักจะพ่ายแพ้อยู่บ่อยครั้ง
รมว.ต่างประเทศแคนาดายืนหยัดในจุดยืนของการคงไว้ซึ่งองค์ประกอบที่จำเป็นต่อผลประโยชน์ของแคนาดาใน NAFTA เพื่อสร้างความเชื่อมั่นว่า การใช้มาตรการต่อต้านการทุ่มตลาดและภาษีที่จะใช้สำหรับการชดเชยจะถูกนำมาใช้อย่างเป็นธรรม เมื่อได้มีการรับรองแล้ว
มูดี้ส์ อินเวสเตอร์ เซอร์วิส มองว่า การเจรจาต่อรองเรื่อง NAFTA คงจะไม่สามารถขจัดอุปสรรคที่ขัดขวางการขยายตัวของเศรษฐกิจเม็กซิโกได้ แม้ว่า NAFTA จะยังคงช่วยในเรื่องการยกระดับความสามารถในการแข่งขันด้านการส่งออกของเม็กซิโก ขณะที่การผลิตจะมีความซับซ้อนมากยิ่งขึ้น รวมทั้งการผนวกรวมเข้ากับระบบเศรษฐกิจสหรัฐมากยิ่งขึ้น แต่เม็กซิโกก็คงยังไม่สามารถบรรลุเป้าหมายแห่งการขยายตัวอย่างสดใสได้
มาดายี โบคิล รองประธานของมูดี้ส์ ระบุในรายงานว่า NAFTA ไม่ได้ช่วยเยียวยาการขยายตัวที่อยู่ในระดับต่ำของเม็กซิโก รวมถึงการแก้ปัญหาการผลิต และค่าแรงที่อยู่ในระดับต่ำด้วยเช่นกัน การเจรจาที่ประสบผลสำเร็จเรื่อง NAFTA จึงไม่สามารถแก้ปัญหาเรื่องอุปสรรคเชิงโครงสร้างที่มีต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจเม็กซิโกได้ หากความสามารถในการผลิตของเม็กซิโกยังคงชะงักงัน ช่องว่างของรายได้กับสหรัฐก็จะขยายวงมากยิ่งขึ้น โดยในช่วงกว่า 30 ปีที่ผ่านมา ความสามารถในการผลิต ค่าแรง และการขยายตัวที่อยู่ในระดับต่ำของเม็กซิโก ไม่ได้รับการเยียวยาจากรูปแบบการเติบโตที่มุ่งเน้นการส่งออกและพึ่งพาการเข้าถึงตลาดสหรัฐผ่านทางข้อตกลง NAFTA แต่อย่างใด ดังนั้น แทนที่จะมีการเชื่อมโยงกันผ่านทางการค้า กลับกลายเป็นว่า ช่องว่างของค่าแรงและการผลิตที่มีกับสหรัฐจะยิ่งเพิ่มขึ้นมากเท่านั้น
ทั้งนี้ การปฏิรูปโครงสร้างอย่างต่อเนื่องน่าจะช่วยให้เม็กซิโกจัดการกับความเสี่ยงด้านการค้าได้ ในขณะที่การผลิตและการขยายตัวของค่าแรงที่อยู่ในระดับต่ำนั้น มีสาเหตุมาจากโอกาสในการขยายตัวที่ไม่เท่าเทียมกันในภูมิภาค ตลอดจนความหละหลวมที่อยู่ในระดับสูงของระบบเศรษฐกิจประเทศ การลดความหละหลวมและความไม่เท่าเทียมกันในด้านของการผลิต การพัฒนา และการขยายตัว จึงถูกกำหนดไว้ในเป้าหมายหลักของการปฏิรูปโครงสร้าง
จับตาการเจรจารอบต่อไป
การเจรจารอบที่ 2 จะเปิดฉากขึ้นที่เม็กซิโกในวันที่ 1-5 ก.ย. นี้ ส่วนการเจรจารอบที่ 3 มีการวางแผนไว้ว่า จะจัดขึ้นที่แคนาดาช่วงปลายเดือนก.ย. ขณะที่การเจรจารอบที่ 4 จะมีขึ้นในสหรัฐช่วงเดือนต.ค.
พอล วอชเทล ศาสตราจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์ของมหาวิทยาลัยนิวยอร์ก ได้ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวซินหัวช่วงต้นสัปดาห์นี้ว่า ในระหว่างที่มีการเจรจาต่อรองเรื่อง NAFTA อยู่นั้น ตลาดต่างๆคงจะไม่ได้รับผลกระทบใดๆ เว้นเสียแต่ว่า จะมีการกระทำอันโง่เขลาที่เกิดขึ้นด้วยการข่มขู่ข้อตกลงด้วยกันเองเกิดขึ้นจากรัฐบาลทรัมป์
ล่าสุด ผู้นำสหรัฐ ก็ได้ออกมาพูดระหว่างเยือนรัฐแอริโซนาในวันนี้ ซึ่งตรงกับช่วงเช้าบ้านเราว่า ตนเองอาจจะระงับข้อตกลง NAFTA ช่างเป็นความเคลื่อนไหวที่ทำให้อดนึกถึงการวิเคราะห์ข้างต้นนี้ไม่ได้เสียจริงๆ