สิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานด้านการศึกษา สาธารณสุข การบริโภค ความเท่าเทียมทางกฎหมาย การได้รับความคุ้มครองโดยรัฐ ฯลฯ ล้วนเป็นสิ่งที่มนุษย์ทุกคนพึงได้รับอย่างเสมอภาคโดยไม่คำนึงถึงความแตกต่างของชาติพันธุ์ สีผิว เพศ อายุ ศาสนา ภาษา หากแต่ไม่ใช่สำหรับ “ชาวโรฮิงญา" ชนกลุ่มน้อยชาวมุสลิมในเมียนมาที่ไม่มีแม้แต่สิทธิในการเรียนหนังสือหรือที่อยู่อาศัย
ความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลเมียนมาและชาวโรฮิงญาฝังรากลึกมาอย่างต่อเนื่อง ยาวนาน และเกิดความรุนแรงขึ้นหลายต่อหลายครั้ง จนกระทั่งเหตุการณ์ไม่สงบในช่วงเดือนส.ค. ที่ผ่านมา ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตหลายสิบราย รวมถึงเจ้าหน้าที่กองกำลังความมั่นคง และชาวโรฮิงญาต้องอพยพไปยังประเทศข้างเคียงมากกว่า 300,000 ราย
วันนี้ In Focus จะนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับชาวโรฮิงญา และเจาะสาเหตุของความขัดแย้งและความรุนแรง รวมถึงมุมมองของประชาคมโลกที่มีต่อแนวทางปฏิบัติและวิธีแก้ปัญหาสำหรับทั้ง 2 ฝ่าย
ภูมิหลังความขัดแย้งในเมียนมา
โรฮิงญา คือ ชาวมุสลิมที่อาศัยอยู่ในรัฐยะไข่ แรกเริ่มเดิมทีเป็นผู้อพยพจากเบงกอล ขณะที่เมียนมาตกเป็นอาณานิคมในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 15 นั้น ชาวโรฮิงญาถูกอังกฤษนำมาเป็นแรงงานในเมียนมา หลังจากนั้นจำนวนประชากรก็เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว กระทั่งในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้เกิดความรุนแรงขึ้นระหว่างชาวพื้นเมืองและชาวมุสลิม สร้างความเสียหายต่อสถานที่สำคัญทางศาสนาและมีผู้คนล้มตายจำนวนมาก จุดชนวนความขัดแย้งนับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา นอกจากความไม่ลงรอยกันในด้านชาติพันธุ์แล้ว ประเด็นโรฮิงญายังถูกเติมแต่งด้วยความขัดแย้งทางประวัติศาสตร์ การจำกัดสิทธิ และรายละเอียดปลีกย่อยอื่นๆ ส่งผลให้เป็นปัญหาที่ซับซ้อนสืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน
ดิ้นรน..เพื่ออยู่รอด
องค์การนิรโทษกรรมสากลเปิดเผยว่า ปัญหาเรื่องการยึดที่ดินทำกิน การรีดไถเก็บเงินภาษีโดยพลการ และการที่เมียนมาไม่ยอมรับกลุ่มคนเหล่านี้เป็นพลเมืองในประเทศ จึงทำให้ชาวโรฮิงญาอพยพออกจากเมียนมาหลายพันคนไปยังประเทศเพื่อนบ้านในแต่ละปี จนท้ายที่สุดได้มีการจัดตั้งกลุ่มติดอาวุธเพื่อปกป้องพวกพ้องขึ้นมา และใช้ชื่อว่า กองทัพปลดปล่อยโรฮิงญาแห่งอาระกัน (ARSA)
สื่อหลายสำนักได้รายงานเหตุการณ์ความรุนแรงระหว่างกองกำลัง ARSA และ กองทัพเมียนมาที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องและทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ทุกครั้งที่เกิดเหตุรุนแรงก็จะมีชาวโรฮิงญาหลายพันไปจนถึงหลักหมื่นคนพยายามหนีออกจากสถานการณ์ บ้างก็สามารถเข้าไปพักพิงในประเทศเพื่อนบ้านได้ แต่ก็มีจำนวนไม่น้อยที่เสียชีวิตจากเหตุการณ์รุนแรง รวมทั้งเหตุเรือล่มขณะที่เดินทางอพยพ หรือถูกส่งตัวกลับมาตามข้อตกลงการส่งผู้ลี้ภัยกลับประเทศ เป็นต้น
สถานการณ์ปัจจุบัน
สถานการณ์ในรัฐยะไข่ได้ทวีความรุนแรงขึ้นนับตั้งแต่ช่วงต้นเดือนส.ค. ที่ผ่านมา หลังจากที่กองกำลังความมั่นคงของเมียนมาได้เริ่มปฏิบัติการกวาดล้างครั้งใหม่ และในวันที่ 25 ส.ค. มีรายงานว่า ทั้ง 2 ฝ่ายเข้าปะทะกัน ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 70 รายจากเหตุโจมตีสถานีตำรวจกว่า 20 แห่ง และฐานทัพทหาร 1 แห่ง ซึ่ง ARSA ได้ออกมายอมรับว่าเป็นผู้อยู่เบื้องหลังเหตุการณ์ดังกล่าว ขณะเดียวกัน สำนักข่าวบีบีซีรายงานว่า องค์การสหประชาชาติ (UN) ได้รับรายงานหลายฉบับและภาพถ่ายจากดาวเทียมที่บ่งชี้ว่า กองกำลังรักษาความมั่นคงท้องถิ่นเป็นผู้เผาทำลายหมู่บ้านของชาวโรฮิงญาเพื่อขับไล่ออกจากพื้นที่
องค์การเพื่อการย้ายถิ่นฐานระหว่างประเทศ (IOM) เปิดเผยว่า เหตุการณ์ความไม่สงบที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องหลังวันที่ 25 ส.ค. ส่งผลให้ผู้อพยพชาวโรฮิงญาหลบหนีออกจากรัฐยะไข่และเข้าสู่บังคลาเทศเป็นจำนวน 313,000 คน ภายในระยะเวลา 2 สัปดาห์ และยังไม่มีทีท่าว่าจะลดลงแต่อย่างใด
ขณะที่บังคลาเทศเองก็ต้องแบกรับผู้อพยพชาวโรฮิงญาเป็นจำนวนมาก หลังจากที่เกิดเหตุรุนแรงในรัฐยะไข่ ทั้งที่ค่ายผู้ลี้ภัยที่มีอยู่เดิมในบังคลาเทศเองก็รับผู้อพยพมาเต็มอัตราอยู่แล้ว ผู้อพยพที่เดินทางหนีภัยเข้ามาใหม่แทบจะต้องหาที่หลับที่นอนเท่าที่จะหากันได้เอง
มุมมองประชาคมโลก
สำนักข่าวบีบีซีรายงานโดยอ้างคำพูดของ นายซาอิด ราอัด อัล ฮุสเซน ประธานคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (UNCH) ที่มองว่าเหตุการณ์ดังกล่าวเป็นปฏิบัติการทางทหารที่โหดเหี้ยมและนิยามว่าเป็นปฏิบัติการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ พร้อมกล่าวว่า ทางหน่วยงานไม่สามารถประเมินสถานการณ์ได้อย่างเต็มที่ เนื่องจากเมียนมาปฏิเสธการตรวจสอบด้านสิทธิมนุษยชนในประเทศ
ขณะเดียวกัน ผู้นำหลายประเทศก็ได้ออกมาเรียกร้องให้เมียนมายุติการใช้ความรุนแรงกับชนกลุ่มน้อยโรฮิงญา และมีการจุดประเด็นเกี่ยวกับการถอดถอนรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพของนางออง ซาน ซูจี ที่ปรึกษาแห่งรัฐเมียนมา แต่กลับเพิกเฉยต่อชะตากรรมของชาวโรฮิงญาในเมียนมา ซึ่งปัจจุบันมีผู้ร่วมลงชื่อในแคมเปญดังกล่าวบนเว็บไซต์ change.org แล้วกว่า 400,000 รายชื่อ
องค์ดาไลลามะ ผู้นำทางจิตวิญญาณของทิเบต ก็ได้ออกมาผลักดันให้ ซูจี เข้าถึงทุกภาคส่วนในสังคม เพื่อฟื้นฟูสถานการณ์อย่างฉันท์มิตร
ณ วันที่ 13 ก.ย. สำนักข่าวอิระวดีรายงานว่า นางอองซาน ซู จี ได้ตัดสินใจที่จะไม่เข้าร่วมประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติที่จะจัดขึ้นในช่วงปลายเดือนนี้ ท่ามกลางการเผชิญกับกระแสวิพากษ์วิจารณ์มากมายเกี่ยวกับการตอบโต้กลุ่มโรฮิงญา
...ทั่วโลกต่างจับตารัฐบาลเมียนมาว่า จะหาวิธีแก้ไขความขัดแย้งที่ฝังรากลึกมานานนี้อย่างไร และยิ่งไปกว่านั้นคือแนวทางการจัดการและพัฒนาจากผู้ที่เกี่ยวข้องในการยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของชาวโรฮิงญา เพื่อให้พวกเขาหลุดพ้นจากสถานภาพคนไร้โอกาสและสามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน