หลังจากที่เข้ารับตำแหน่งประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ในวันที่ 3 ก.พ. 2014 และถือเป็นผู้หญิงคนแรกที่ทำหน้าที่ประธานเฟด นางเจเน็ต เยลเลน ก็จะครบวาระการดำรงตำแหน่งในวันที่ 4 ก.พ.2018 ทำให้ทั่วโลกกำลังจับตาดูว่าใครจะขึ้นมากุมบังเหียนของตำแหน่งที่ถือว่าทรงอิทธิพลทางการเงินมากที่สุดบนโลกใบนี้
ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์กล่าวเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมาว่า เขาจะทำการตัดสินใจเกี่ยวกับผู้ที่จะมานั่งเก้าอี้ประธานเฟดคนใหม่ในช่วง 2-3 สัปดาห์ข้างหน้า โดยคาดว่าจะมีการประกาศในราวกลางเดือนต.ค. ซึ่งในทางทฤษฎีแล้ว ปธน.ทรัมป์อาจเสนอชื่อนางเยลเลนกลับมาดำรงตำแหน่งประธานเฟดอีกครั้งหนึ่ง แต่การที่ปธน.ทรัมป์เคยวิพากษ์วิจารณ์นางเยลเลนในช่วงที่เขารณรงค์หาเสียงเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ ก็ได้ทำให้ความเป็นไปได้ที่นางเยลเลนจะได้รับการแต่งตั้งอีกครั้งหนึ่งลดน้อยลง
In Focus ในสัปดาห์นี้ ขอเจาะลึกตัวเก็งที่จะขึ้นมาดำรงตำแหน่งประธานเฟด ซึ่งเป็นตำแหน่งที่จะสามารถชี้เป็นชี้ตายเศรษฐกิจของชาติที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก คือสหรัฐ รวมทั้งเศรษฐกิจของประเทศอื่นๆทั่วโลก ซึ่งไม่สามารถหลีกเลี่ยงผลกระทบจากสหรัฐ เหมือนคำกล่าวที่ว่า เมื่อสหรัฐจาม ทั่วโลกก็เป็นหวัด
*"ทรัมป์"ทิ้งปริศนา อีก 2-3 สัปดาห์เฉลยชื่อประธานเฟดคนใหม่
ปธน.ทรัมป์กล่าวว่า เขาได้มีการพูดคุยกับบุคคล 4 คนเกี่ยวกับการนั่งเก้าอี้ประธานเฟด และเขาจะประกาศชื่อว่าที่ประธานเฟดคนใหม่ในช่วง 2-3 สัปดาห์ข้างหน้า แต่ปธน.ทรัมป์ไม่ได้เปิดเผยชื่อของบุคคลที่เขาได้สนทนาด้วย ขณะที่สื่อรายงานว่าผู้ที่ปธน.ทรัมป์ได้พูดคุยด้วยนั้น ได้แก่ นางเยลเลน, นายเควิน วอร์ช ซึ่งเป็นอดีตผู้ว่าการเฟด, นายเจโรม โพเวลล์ ผู้ว่าการเฟด และนายแกรี่ โคห์น ซึ่งเป็นที่ปรึกษาของปธน.ทรัมป์ รวมทั้งเป็นผู้อำนวยการสภาเศรษฐกิจแห่งชาติสหรัฐ
*ตลาดหุ้นสะดุ้ง ตลาดบอนด์สะเทือน ตลาดทองสะดุด หลังมีข่าว"เควิน วอร์ช"มาแรง
เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว มีข่าวแพร่สะพัดในตลาดการเงินว่า ปธน.ทรัมป์ และนายสตีเวน มนูชิน รมว.คลังสหรัฐ ได้ทาบทามนายวอร์ช ซึ่งเป็นตัวเก็งคนสำคัญ ให้เข้ารับตำแหน่งประธานเฟดคนใหม่ ส่งผลให้ตลาดหุ้นวอลล์สตรีทชะลอตัวลงชั่วคราวในการซื้อขายเมื่อวันศุกร์ เนื่องจากเป็นที่ทราบกันว่านายวอร์ชเป็นอดีตเจ้าหน้าที่เฟดสายเหยี่ยว ซึ่งสนับสนุนการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย โดยนักลงทุนกังวลว่าหากนายวอร์ชขึ้นมาเป็นประธานเฟด ก็จะทำให้มีการเร่งการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยมากกว่าในสมัยของนางเยลเลน แต่ต่อมาตลาดหุ้นก็สามารถดีดตัวกลับขึ้นได้จากอานิสงส์ของความหวังเกี่ยวกับการปฏิรูปภาษีของปธน.ทรัมป์
ทางด้านตลาดพันธบัตรเผชิญแรงเทขายจากนักลงทุนในวันศุกร์จากข่าวดังกล่าวเช่นกัน และทำให้อัตราผลตอบแทนดีดตัวขึ้นจากการคาดการณ์เกี่ยวกับทิศทางการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยภายใต้การนำของนายวอร์ช ขณะที่ตลาดทองร่วงลงจากความกังวลเกี่ยวกับนโยบายคุมเข้มทางการเงินของนายวอร์ช
*โอกาส"เยลเลน"นั่งเก้าอี้ประธานเฟดสมัย 2 ริบหรี่ เหตุ"ทรัมป์"มองไม่สนองนโยบาย
เป็นที่คาดกันว่า ปธน.ทรัมป์จะตัดสินใจไม่เลือกนางเยลเลนเป็นประธานเฟดสมัยที่ 2 เนื่องจากที่ผ่านมา นางเยลเลนชูนโยบายในการคุมเข้มกฎระเบียบในระบบการเงินเพื่อรักษาเสถียรภาพของตลาด ขณะที่ปธน.ทรัมป์มุ่งการผ่อนคลายนโยบาย และลดกฎระเบียบที่ควบคุมตลาดที่มีการบังคับใช้นับตั้งแต่เกิดวิกฤตการเงิน
นอกจากนี้ การที่ปธน.ทรัมป์เคยวิพากษ์วิจารณ์นางเยลเลนอย่างเผ็ดร้อนในช่วงการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง ก็ได้ทำให้นางเยลเลน ซึ่งได้รับการแต่งตั้งจากอดีตประธานาธิบดีบารัค โอบามา แทบหมดโอกาสที่จะขึ้นนั่งเก้าอี้ประธานเฟดเป็นสมัยที่ 2 โดยปธน.ทรัมป์ ซึ่งเป็นผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐจากพรรครีพับลิกันในขณะนั้น กล่าวหานางเยลเลนว่า ทำการตรึงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับต่ำเกินไปเพื่อเหตุผลทางการเมือง และนางเยลเลนกำลังพยายามผลักดันเศรษฐกิจสหรัฐให้เดินหน้าต่อไปเพื่อเอื้อประโยชน์ต่อปธน.โอบามา
"ผมคิดว่านางเยลเลนมีวาระซ่อนเร้นทางการเมือง และเธอควรมีความละอายแก่ใจ" เขากล่าว
ก่อนหน้านี้ ประธานาธิบดีสหรัฐที่เพิ่งเข้ารับตำแหน่ง มักมีธรรมเนียมปฏิบัติในการแต่งตั้งประธานเฟดในขณะนั้น ให้ดำรงตำแหน่งอีกหนึ่งสมัย เช่น ปธน.โอบามาแต่งตั้งนายเบน เบอร์นันเก้ เป็นประธานเฟดอีกสมัยหนึ่ง แม้ว่านายเบอร์นันแก้ได้รับการแต่งตั้งมาจากปธน.จอร์จ ดับเบิลยู บุช ซึ่งมาจากพรรครีพับลิกัน ส่วนปธน.บิล คลินตัน ก็ได้แต่งตั้งนายอลัน กรีนสแปนเป็นประธานเฟดอีกหนึ่งสมัย แม้เขาจะได้รับการแต่งตั้งมาจากปธน.โรนัลด์ เรแกน ขณะที่ปธน.เรแกน ก็ได้แต่งตั้งนายพอล โวล์คเกอร์ เป็นประธานเฟดอีกวาระหนึ่ง
หากนางเยลเลนไม่ได้รับการแต่งตั้งจากปธน.ทรัมป์ให้เป็นประธานเฟดสมัยที่ 2 นางเยลเลนก็จะกลายเป็นประธานเฟดคนแรกที่ไม่ได้รับการต่อวาระการดำรงตำแหน่งจากประธานาธิบดีคนใหม่
นักวิเคราะห์ระบุว่า นางเยลเลนก็คงคาดการณ์อยู่ว่าจะไม่ได้รับการต่อวาระการดำรงตำแหน่งประธานเฟด จึงทำให้มีการเร่งผลักดันการปรับลดงบดุลของเฟดจากระดับ 4.5 ล้านล้านดอลลาร์ โดยให้เกิดขึ้นในการประชุมเดือนนี้ ก่อนที่จะพ้นตำแหน่งในเดือนก.พ.ปีหน้า
*"แกรี่ โคห์น" อีกหนึ่งตัวเก็งที่หลุดโผ เหตุวิพากษ์"ทรัมป์"ช่วงเกิดจลาจล"ชาร์ล็อตส์วิลล์"
นายแกรี่ โคห์น ซึ่งเป็นที่ปรึกษาของปธน.ทรัมป์ รวมทั้งเป็นผู้อำนวยการสภาเศรษฐกิจแห่งชาติสหรัฐ เคยเป็นตัวเก็งที่จะได้รับการเสนอชื่อจากปธน.ทรัมป์ให้ดำรงตำแหน่งประธานเฟด
อย่างไรก็ดี การที่นายโคห์นได้ออกมาวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับท่าทีของปธน.ทรัมป์หลังเกิดการปะทะกันระหว่างผู้ชุมนุมจากกลุ่มชาตินิยมผิวขาว และกลุ่มผู้ต่อต้านในเมืองชาร์ล็อตส์วิลล์ รัฐเวอร์จิเนีย ก็ได้ทำให้โอกาสที่นายโคห์นจะขึ้นมาดำรงตำแหน่งประธานเฟดต้องหลุดลอยไป
*"เควิน วอร์ช" ดาวรุ่งพุ่งแรง รูปหล่อ พ่อ(ตา)รวย โปรไฟล์หรู ตัวเก็งเต็งหนึ่งว่าที่ประธานเฟดคนใหม่
นายเควิน วอร์ช ถือเป็นชื่อที่มาแรงที่สุดในขณะนี้ ในฐานะผู้ที่มีโอกาสคว้าตำแหน่งประธานเฟดคนใหม่ไปครอง จากการที่มีสายสัมพันธ์เชื่อมโยงกับปธน.ทรัมป์ โดยนายวอร์ชเป็นอดีตผู้ว่าการเฟดที่มีแนวคิดสายเหยี่ยว ซึ่งแตกต่างจากนางเยลเลน ประธานเฟดคนปัจจุบัน ที่สนับสนุนนโยบายผ่อนคลายทางการเงิน
นายวอร์ชได้เป็นผู้ว่าการเฟดในช่วงปี 2006-2011 และถือเป็นคีย์แมนคนสำคัญของนายเบน เบอร์นันเก้ อดีตประธานเฟด ในช่วงที่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจในปี 2008
ภรรยาของนายวอร์ชคือนางเจน ลอเดอร์ ซึ่งเป็นหลานสาวของนางเอสเต้ ลอเดอร์ เจ้าของอาณาจักรเครื่องสำอางชั้นนำของโลก ขณะที่บิดาของนางเจนคือนายโรนัลด์ ลอเดอร์ ซึ่งก็คือหุ้นส่วนทางธุรกิจเก่าแก่ของปธน.ทรัมป์ โดยทั้งสองเป็นเพื่อนสนิทกันตั้งแต่เรียนในมหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย และรู้จักกันมามากกว่า 50 ปี นายลอเดอร์ยังเป็นมหาเศรษฐีพันล้าน และเป็นประธานสภาคองเกรสแห่งชาวยิวทั่วโลก
นอกจากนี้ ยังมีข่าวว่า นายลอเดอร์ได้ต่อสายตรงพูดคุยกับปธน.ทรัมป์เพื่อให้การสนับสนุนนายวอร์ชขึ้นเป็นประธานเฟด
นายวอร์ชได้รับการเสนอชื่อจากปธน.จอร์จ ดับเบิลยู บุชให้เข้ารับตำแหน่งผู้ว่าการเฟดในปี 2006 ซึ่งขณะนั้นเขามีอายุเพียง 35 ปี ซึ่งถือเป็นผู้ว่าการเฟดที่มีอายุน้อยที่สุด และหากเขาได้รับการแต่งตั้งเป็นประธานเฟดในปีหน้า นายวอร์ชก็จะถือเป็นประธานเฟดที่มีอายุน้อยที่สุดด้วยวัยเพียง 47 ปี
ปัจจุบัน นายวอร์ชได้รับเชิญเป็นอาจารย์พิเศษในสถาบันฮูเวอร์ของมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด รวมทั้งเป็นอาจารย์ที่สถาบันบัณฑิตศึกษาด้านธุรกิจของมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด
นอกจากนี้ นายวอร์ชยังเคยเป็นสมาชิกในคณะกรรมการนโยบายและยุทธศาสตร์ของปธน.ทรัมป์ และเคยเป็นที่ปรึกษาของอดีตปธน.จอร์จ ดับเบิลยู บุช
สำหรับทางด้านการศึกษานั้น นายวอร์ชเรียนจบหลายสาขาจากหลายสถาบัน แต่เขาไม่ได้จบปริญญาเอกทางด้านเศรษฐศาสตร์ ซึ่งแตกต่างจากประธานเฟดหลายคนก่อนหน้านี้ แต่หลายฝ่ายเชื่อว่า สิ่งนี้ทำให้นายวอร์ชไม่ยึดติดกับรูปแบบทฤษฏีใดๆ และเนื่องจากเขาเป็นคนที่มีความคิดสร้างสรรค์ ทำให้เขาสามารถถามคำถาม หรือเสนอในสิ่งที่แตกต่างออกไป และเป็นประโยชน์มากกว่ารูปแบบเดิมๆ
ขณะเดียวกัน การที่นายวอร์ชเคยเป็นรองประธานของบริษัทมอร์แกน สแตนลีย์เป็นเวลาถึง 7 ปี ก็ทำให้เขามีประสบการณ์มากมายในตลาดการเงิน
*แวดวงพนันเก็ง"เควิน วอร์ช"มีลุ้นคว้าเก้าอี้ประธานเฟดมากกว่า"เยลเลน"
PredictIt ซึ่งเป็นเว็บไซต์พนันชื่อดังที่รับแทงความเป็นไปได้ของเหตุการณ์สำคัญต่างๆทั่วโลก ทั้งในทางการเมืองและเศรษฐกิจ ที่ผ่านมาให้นางเยลเลนเป็นเต็งหนึ่งมาโดยตลอดสำหรับการดำรงตำแหน่งประธานเฟดสมัยที่ 2 แต่เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา นายวอร์ชกลับสามารถแซงนางเยลเลนขึ้นมาเป็นอันดับ 1 ของผู้ที่มีแนวโน้มเป็นประธานเฟดคนใหม่ โดย PredictIt ให้โอกาสที่นายวอร์ชจะได้รับการแต่งตั้งเป็นประธานเฟดสูงถึง 45% ส่วนโอกาสของนางเยลเลนลดลงเหลือเพียง 24%
*นักวิเคราะห์พร้อมใจชู"เควิน วอร์ช"เหมาะสมกุมบังเหียนเฟด
--นายเกร็ก แวลลิเอร์ หัวหน้านักวิเคราะห์จากฮอไรซอน อินเวสเมนท์ กล่าวว่า “คุณวอร์ชมีข้อได้เปรียบ เนื่องจากเขามีเส้นสายโยงใยกับปธน.ทรัมป์ ขณะที่โอกาสของคุณเยลเลนเริ่มริบหรี่ลง หลังจากที่ไปกล่าวในเวทีแจ็คสัน โฮลเกี่ยวกับการสนับสนุนการคุมเข้มระบบการเงิน โดยคุณทรัมป์ต้องการคนที่เห็นด้วยกับการผ่อนคลายกฎระเบียบ ทำให้คุณเยลเลนหมดโอกาสลง"
--นางไดแอน สวอง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของดีเอส อีโคโนมิคส์ กล่าวว่า “ดิฉันคิดว่าคุณวอร์ชมีโอกาสค่อนข้างมาก โดยเขาเป็นอดีตผู้ว่าการเฟด เขาเคยช่วยแก้ไขวิกฤตการเงิน และเขาไม่เห็นด้วยกับการใช้นโยบายพิเศษอย่างต่อเนื่องในช่วงหลังเกิดวิกฤตการณ์ ซึ่งถ้าจะมีใครสักคนที่จะสามารถเข้ามาในฐานะผู้ที่ไม่ใช่นักเศรษฐศาสตร์ และสามารถท้าทายเจ้าหน้าที่เฟดได้ เขาคนนั้นก็คือคุณวอร์ช"
--นายมาร์ค คาบานา หัวหน้านักวิเคราะห์ของแบงก์ ออฟ อเมริกา เมอร์ริล ลินช์ กล่าวว่า “คุณวอร์ชสนับสนุนทั้งการปรับลดภาษี และการผ่อนคลายกฎระเบียบ ผมคิดว่าคุณทรัมป์ต้องการ 2 สิ่งนี้จากตัวประธานเฟด"
--นายคริสโตเฟอร์ เวลเลน ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของเวลเลน โกลบอล แอดไวเซอร์ กล่าวว่า “คุณวอร์ชถือเป็นตัวเลือกที่ดี เพราะเขาไม่ใช่นักเศรษฐศาสตร์ และเป็นตัวเลือกที่จะไม่เกิดข้อโต้แย้ง เขาพร้อมที่จะคิดใหม่ทำใหม่ คุณวอร์ชจะใช้นโยบายที่มีความสมดุล และวอลล์สตรีทจะไม่มีปัญหากับเขา"
--นายปีเตอร์ ฮูเปอร์ และนายแมททิว ลัสเซ็ทตี ซึ่งเป็นนักเศรษฐศาสตร์ของดอยซ์แบงก์ออกรายงานระบุว่า นายวอร์ชถือเป็นผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานเฟดที่น่าสนใจที่สุด แม้ว่าการตัดสินใจให้นางเยลเลนดำรงตำแหน่งประธานเฟดสมัยที่ 2 จะเป็นสถานการณ์ที่ดีที่สุดต่อตลาดการเงินก็ตาม โดยจะทำให้ตลาดสามารถปรับตัวต่อไปได้โดยไม่สะดุดจากอานิสงส์ของความต่อเนื่องของการใช้นโยบายการเงินของเฟด
--นายทิม โอ ไบรอัน ซึ่งเป็นผู้เขียนหนังสืออัตชีวะประวัติของปธน.ทรัมป์ กล่าวว่า “ถ้าคุณวอร์ชได้รับการแต่งตั้งเป็นประธานเฟด ผมก็คาดว่าคงเป็นเพราะคุณทรัมป์ได้มีการพูดคุยกับคุณลอเดอร์ (พ่อตาของนายวอร์ช)"
--นายพอล บรอดสกี นักวิเคราะห์จากบริษัทแมคโคร อัลโลเคชั่น กล่าวว่า “คุณวอร์ชถือเป็นผู้ที่มีประสบการณ์ด้านการลงทุน และเป็นนายธนาคารกลางที่จะก้าวขึ้นมาเป็นประธานเฟดโดยไม่มีปริญญาเอกด้านเศรษฐศาสตร์ ขณะที่เขามีความเชี่ยวชาญด้านการเมือง และการที่เขายังมีอายุน้อย (47 ปี) ทำให้เขาเป็นตัวเลือกที่เหมาะสม"
“เราคิดว่างานสำคัญของผู้ที่เป็นประธานเฟดคนต่อไปคือการเชื่อมระหว่างอดีต และอนาคต" นายบรอดสกีกล่าว และเสริมว่า นายวอร์ชจะต้องสร้างความมั่นใจต่อปธน.ทรัมป์ว่า เขามีความตั้งใจที่จะผลักดันการขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐ แม้ว่าที่ผ่านมา เขาถูกมองว่าเป็นสายเหยี่ยวที่เน้นการคุมเข้มนโยบายการเงิน
“เรามองว่ากุญแจสำคัญในการประสบความสำเร็จในการได้รับเลือกให้เป็นประธานเฟดก็คือการแสดงให้คุณทรัมป์ตระหนักว่าการคุมเข้มนโยบายจะไม่ส่งผลดีต่อเศรษฐกิจ โดยคุณวอร์ชมีปัญญา มีความมุ่งมั่น และตระหนักถึงข้อจำกัดในการใช้แนวทางเดิมๆ และการหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะมีการเปลี่ยนแปลง"
*ทั่วโลกจับตาเฟดยุคใหม่ หลังผลัดใบภายใต้"เควิน วอร์ช"
นายวอร์ชและปธน.ทรัมป์มีความเห็นที่สอดคล้องกันในการปฏิรูปองค์กรของเฟด ซึ่งที่ผ่านมา เฟดมักเป็นองค์กรที่เน้นการเป็นอิสระจากฝ่ายการเมือง โดยไม่ต้องการให้นักการเมืองเข้ามาตรวจสอบการทำงาน แต่นายวอร์ชได้เคยวิพากษ์วิจารณ์นโยบายเฟด โดยให้มีการปฏิรูปองค์กรและนโยบาย และเพิ่มความโปร่งใส รวมทั้งให้มีทิศทางที่ชัดเจน นอกจากนี้ นายวอร์ช และปธน.ทรัมป์ยังมีจุดยืนร่วมกันในการสนับสนุนการปรับลดกฏระเบียบในภาคอุตสาหกรรม และภาคการเงิน
นายวอร์ชเป็นเจ้าหน้าที่เฟดสายเหยี่ยว ซึ่งเน้นการคุมเข้มนโยบายทางการเงิน โดยเขาได้คัดค้านโครงการซื้อพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณรอบ 2 (QE2) ภายใต้การนำของนายเบน เบอร์นันเก้ โดยเขาเตือนว่าการใช้นโยบาย QE จะเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดภาวะฟองสบู่ในตลาดการเงิน และส่งผลกระทบต่อการลงทุนในภาคธุรกิจ โดยเฟดควรปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยให้รวดเร็วยิ่งขึ้น ต่อมาเขาได้ตัดสินใจลาออกจากตำแหน่งผู้ว่าการเฟดในปี 2011 เพื่อแสดงการไม่เห็นด้วยกับการใช้มาตรการ QE
นายวอร์ชยังได้ออกรายงานเมื่อเดือนที่แล้วว่า การดำเนินนโยบายของเฟดในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ถือว่ามีข้อบกพร่องอย่างมาก และเขาแนะนำให้เฟดทำการทบทวนนโยบาย, เปลี่ยนแปลงการใช้เครื่องมือทางการเงิน รวมทั้งปรับเปลี่ยนกลยุทธ์, การสื่อสาร และการกำกับภายในองค์กร
การที่นายวอร์ชมีจุดยืนในการคุมเข้มนโยบายการเงิน โดยการผลักดันให้เฟดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยให้รวดเร็วขึ้น อาจขัดแย้งกับปธน.ทรัมป์ที่ต้องการให้ดอลลาร์ และอัตราดอกเบี้ยยังคงอยู่ในระดับต่ำ อย่างไรก็ดี นักวิเคราะห์เชื่อว่าทั้งนายวอร์ชและปธน.ทรัมป์จะสามารถพูดคุยกันเพื่อปรับนโยบายให้สอดคล้องกันได้อย่างลงตัวเพื่อรักษาเสถียรภาพของเศรษฐกิจสหรัฐ โดยคาดว่านายวอร์ชจะสามารถสร้างความเชื่อมั่นต่อปธน.ทรัมป์ว่าเขาไม่มีแผนที่จะรื้อนโยบายของเฟดที่ใช้กันในปัจจุบันในการปรับสู่ภาวะปกติอย่างค่อยเป็นค่อยไป
ขณะนี้ คณะกรรมการผู้ว่าการเฟดมีเก้าอี้ว่างอยู่ 3 ตำแหน่ง และจะมีเก้าอี้ว่างเพิ่มอีก 1 ตำแหน่ง จากการที่นายสแตนลีย์ ฟิสเชอร์ รองประธานเฟด วัย 74 ปี จะลาออกจากตำแหน่งในวันที่ 13 ต.ค. หากปธน.ทรัมป์สามารถส่งผู้ที่สามารถสนองนโยบายของเขาเข้ามาในคณะกรรมการเฟดทั้ง 4 ตำแหน่ง ปธน.ทรัมป์ก็จะมีคนของเขาอยู่ในคณะกรรมการเฟดเกินกว่าครึ่ง จากทั้งหมด 7 ตำแหน่ง
นักลงทุนทั่วโลกต่างหวังว่า การที่ปธน.ทรัมป์แต่งตั้งนายวอร์ชเป็นประธานเฟด รวมทั้งแต่งตั้งคณะกรรมการผู้ว่าการเฟดอีก 4 ตำแหน่ง จะสามารถสนองนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของเขา ตามที่เขาได้สัญญาไว้ในระหว่างการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง ซึ่งหากเศรษฐกิจสหรัฐมีความแข็งแกร่ง ก็จะส่งอานิสงส์ให้เศรษฐกิจและตลาดหุ้นทั่วโลกสดใสเช่นกัน