In Focusจับตาทิศทางจีนยุค “สี จิ้นผิง Episode 2"

ข่าวต่างประเทศ Wednesday October 25, 2017 15:58 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

จีนภายใต้การบริหารประเทศของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจขยายตัวอย่างมั่นคง โดยผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) เพิ่มขึ้นจากมูลค่า 54 ล้านล้านหยวนเมื่อ 5 ปีที่แล้ว สู่ระดับ 80 ล้านล้านหยวน (12.1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ) ในปัจจุบัน นอกจากนี้ รัฐบาลจีนยังช่วยให้ประชาชนหลายล้านคนหลุดพ้นจากความยากจนได้สำเร็จ อย่างไรก็ตาม สี จิ้นผิง ไม่ต้องการหยุดอยู่ที่การแก้ปัญหาปากท้องและขจัดความยากจนในประเทศให้สำเร็จเท่านั้น เพราะเขามีความฝันที่ยิ่งใหญ่กว่านั้น คือ การนำจีนผงาดเป็นประเทศมหาอำนาจที่มีความเจริญรุ่งเรืองในทุกมิติ ซึ่งเขากล่าวเสมอมาว่า นี่คือ “ความฝัน" ของประชาชนทั้ง 56 ชาติพันธุ์ในจีน

ในการประชุมสมัชชาใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์จีนครั้งที่ 19 หรือ “สือจิ่วต้า" ซึ่งเพิ่งปิดฉากไปเมื่อวานนี้นั้น (24 ต.ค.) สี จิ้นผิง ได้ประกาศปณิธานอันแน่วแน่ในการนำพาจีนก้าวเดินอย่างมั่นคงบนถนนสายปฏิรูปภายใต้อุดมการณ์มาร์กซิสต์ โดยไม่แยแสต่อกระแสเรียกร้องของชาติตะวันตกให้มีการปฏิรูประบบการเมืองเป็นประชาธิปไตยแบบเสรีนิยม เพราะเขามองว่า การที่จีนเติบใหญ่และมีเสถียรภาพดังเช่นที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ เป็นเครื่องพิสูจน์แล้วว่า “ระบอบสังคมนิยม" คือสิ่งที่ใช่สำหรับจีน พร้อมกันนี้ สี จิ้นผิง ยังได้ชูโมเดลการพัฒนา “ระบบสังคมนิยมแบบจีนสำหรับศักราชใหม่" อีกด้วย

สมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์ รวมถึงคณะผู้แทนจากทั่วประเทศกว่า 2,300 ชีวิตที่เดินทางมาร่วมประชุมสมัชชาใหญ่ที่มหาศาลาประชาชนในกรุงปักกิ่ง ต่างก็ขานรับ “หลักการของสี จิ้นผิง" กันอย่างถ้วนหน้า และเป็นไปตามความคาดหมาย เมื่อคณะผู้แทนพรรคมีฉันทามติในระหว่างพิธีปิดการประชุมให้นำแนวคิดของสี จิ้นผิงนี้ บัญญัติลงในธรรมนูญของพรรค ซึ่งส่งผลให้ชื่อของสี จิ้นผิง ได้รับการเทิดทูนในฐานะผู้นำสูงสุดของพรรคคอมมิวนิสต์จีน ทัดเทียมกับมหาบุรุษอย่างเหมา เจ๋อตุง และเติ้ง เสี่ยวผิง

แนวคิดของสี จิ้นผิง ว่าด้วยการปฏิรูประบบสังคมนิยมตามแบบฉบับของจีนนั้น ยังถูกนำไปใช้เป็นหลักปฏิบัติของคนในพรรคต่อไป ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้น หรือ “ปฐมบท" ของจีนยุคใหม่

*จีนในยุค สี จิ้นผิง Episode 2

การที่คณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีนมีมติเลือกสี จิ้นผิง ให้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์ต่ออีกสมัยแบบไม่พลิกโผนั้น นับเป็นการปูทางสู่การดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสมัยที่สองของสี จิ้นผิง ในปีหน้าอย่างไม่ต้องสงสัย และจีนยุค “สี จิ้นผิง Episode 2" ซึ่งเป็นวลีที่สื่อทางการจีนอย่าง “ไชน่า เดลี" ใช้นั้น ก็ฟังดูเข้าทีไม่น้อยกับบริบทการเมืองจีนปัจจุบันที่มีเรื่องราวให้ชวนติดตามกันต่อไป

จีนกับการก้าวขึ้นมาเป็นผู้จัดระเบียบโลก?

ประโยคคำถามนี้ หากถามใครเมื่อสักหลายสิบปีก่อน อาจมีคนหัวเราะใส่ เพราะหลายคนคงไม่เชื่อว่าจะเป็นไปได้ แต่ภายใต้บริบทการเมืองระหว่างประเทศในปัจจุบันนั้น หากนำประโยคนี้มาถามใหม่อีกครั้ง อาจมีคนที่คิดต่างออกไป เพราะแนวโน้มดังกล่าวอาจเกิดขึ้นในอนาคต เนื่องจากโลกตะวันตกกำลังถดถอย ในขณะที่จีนผงาดสวนทางขึ้นมาอย่างโดดเด่นบนเวทีโลกและกำลังมีบทบาทในประชาคมระหว่างประเทศมากขึ้นเรื่อยๆ

สหรัฐฯในยุคการบริหารประเทศโดยประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ยึดถือนโยบาย “อเมริกาต้องมาก่อน" และทำให้การดำเนินนโยบายต่างประเทศหลายๆนโยบายของสหรัฐฯ มีลักษณะของการ “โดดเดี่ยวตัวเอง" มากขึ้น สหรัฐฯตัดสินใจถอนตัวจากความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (TPP) ตามมาด้วยการหันหลังให้กับข้อตกลงตามกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ “ความตกลงปารีส" นอกจากนี้สหรัฐยังเตรียมล้มโต๊ะเจรจาข้อตกลงการค้าเสรีอเมริกาเหนือ (นาฟตา) และล่าสุดยังประกาศที่จะถอนตัวออกจากการเป็นประเทศสมาชิกองค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) ด้วยเหตุผลทางการเมือง

ความเคลื่อนไหวข้างต้น บวกกับจุดยืนด้านนโยบายเศรษฐกิจของทรัมป์ที่มีลักษณะ “กีดกันทางการค้า" ทำให้จีนมีความโดดเด่นมากขึ้นด้วยขนาดเศรษฐกิจที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลกและชูนโยบายสนับสนุนการค้าเสรีที่พร้อมจะอ้าแขนรับประเทศต่างๆที่ถูกสหรัฐฯ “ลอยแพ"

โครงการเส้นทางสายไหมใหม่ทางบกและทางทะลแห่งศตวรรษที่ 21 หรือ “Belt and Road" ซึ่งเป็นโครงการในดำริของสี จิ้นผิง จึงกลายเป็นโครงการที่ได้รับการกล่าวถึงและถูกจับตามากเป็นพิเศษในช่วงหลัง พร้อมถูกยกให้เป็นทางเลือกใหม่แทนข้อตกลง TPP ซึ่งเวลานี้ขาดหัวเรือใหญ่และส่อเค้าล่ม

ผู้นำจีนเน้นย้ำเสมอว่า โครงการ “Belt and Road" มอบประโยชน์แก่ทุกฝ่ายในลักษณะ “win-win" และไม่มีวาระซ่อนเร้นทางภูมิรัฐศาสตร์ โดยในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา โครงการดังกล่าวมีความคืบหน้าและเป็นรูปเป็นร่างมากขึ้น จากที่เคยถูกนานาชาติปรามาสว่าเป็นนโยบายขายฝันมาก่อน แต่ในปัจจุบัน ผู้คนทุกภาคส่วนต่างพูดถึงโครงการดังกล่าวมากขึ้น ซึ่งหากจีนสามารถผลักดันให้เกิดความร่วมมือที่ลึกซึ้งกับประเทศต่างๆในโครงการ Belt and Road ได้สำเร็จ จะทำให้จีนเป็นที่ยอมรับมากขึ้นบนเวทีโลกในฐานะของประเทศผู้นำ

ด้านปัญหาสิ่งแวดล้อม จีนซึ่งเป็นประเทศที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกรายใหญ่ของโลก ได้แสดงบทบาทที่รับผิดชอบต่อปัญหานี้อย่างจริงจัง ที่ผ่านมา จีนได้ออกมาตรการและกฎเกณฑ์เพื่อควบคุมปัญหามลพิษอย่างเข้มงวด รวมทั้งส่งเสริมการใช้พลังงานสะอาด และสนับสนุนการคิดค้นนวัตกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม สวนทางกับสหรัฐฯ ที่หันหลังให้กับข้อตกลงปารีสว่าด้วยปัญหาโลกร้อน

คนจีนรุ่นใหม่มองพรรคคอมมิวนิสต์จีนและสี จิ้นผิง อย่างไร

หนุ่มสาวจีนยุคสมัยใหม่มีความเชื่อมั่นในรัฐบาลจีนมากขึ้นเรื่อยๆ นายกัว จ้าวต๋า อาจารย์ภาควิชาสังคมศาสตร์แห่งวิทยาลัย Guiyang Preschool Education ในเมืองกุ้ยหยาง มณฑลกุ้ยโจวของจีน ได้ให้ทัศนะกับสำนักข่าวอินโฟเควสท์ว่า ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา คนจีนรุ่นใหม่ที่เดินทางไปศึกษาต่อในต่างประเทศ มีแนวโน้มกลับไปทำงานที่จีนมากกว่าในอดีต และตัวอาจารย์กัวเองก็เป็นหนึ่งในนั้น อาจารย์กัวสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโทสาขาสื่อ วัฒนธรรม และสังคมศาสตร์ จากมหาวิทยาอีสต์แองเกลีย เมืองนอริช สหราชอาณาจักร ในปี 2559 และเขาก็เลือกที่จะเดินทางกลับมาตุภูมิ โดยให้เหตุผลว่า จีนกำลังเติบโตอย่างก้าวกระโดด และตนก็มีความเชื่อมั่นในรัฐบาลและผู้นำจีนมากขึ้น ดังนั้นจึงมองว่าเป็นโอกาสดีในการกลับไปทำงานในประเทศบ้านเกิด

เขากล่าวต่อไปว่า นักเรียนนักศึกษาจีนจำนวนมากมองนโยบาย Belt and Road ของสี จิ้นผิง เป็นโอกาสที่ดีที่จีนจะได้แสดงบทบาทเป็นผู้นำบนเวทีโลก และคนรุ่นใหม่ก็จะได้รับประโยชน์มากมายจากความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับประเทศคู่ค้าบนเส้นทางสายไหมใหม่ ซึ่งรวมถึงโอกาสต่างๆที่จะได้จากโครงการแลกเปลี่ยนทางสังคมและวัฒนธรรมบนเส้นทางสายไหมด้วยเช่นกัน

เป้าหมายด้านเศรษฐกิจ และปัญหาท้าทายของสี จิ้นผิง

ในการประชุมสมัชชาใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์เพื่อกำหนดทิศทางประเทศในอีก 5 ปีข้างหน้านั้น สี จิ้นผิง ได้ประกาศเป้าหมายในการยกระดับคุณภาพชีวิตของคนจีน พร้อมกับพัฒนาเศรษฐกิจจีนให้มีความทันสมัย โดยการเดินหน้าปฏิรูปโครงสร้าง สนับสนุนนวัตกรรม และเปิดกว้างมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจจีนยังคงเผชิญกับปัญหาท้าทายที่สำคัญ โดยเฉพาะการพัฒนาเศรษฐกิจให้เกิดความสมดุล ในขณะที่ประชาชนอีกหลายสิบล้านคนยังคงมีชีวิตความเป็นอยู่ที่แร้นแค้น ดังนั้น สี จิ้นผิง จึงมีภารกิจสำคัญที่รออยู่ข้างหน้า คือการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ และกระจายความมั่งคั่งอย่างทั่วถึง ในขณะเดียวกันก็ต้องรักษาอัตราการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจจีนให้ขยายตัวอย่างมั่นคงอีกด้วย

อุปสรรคของสี จิ้นผิง ในการบริหารประเทศ

แน่นอนว่า หนทางข้างหน้าของสี จิ้นผิง ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ ถึงแม้ว่าเมื่อดูจากภายนอกนั้น พรรคคอมมิวนิสต์จีนจะมีความเป็นเอกภาพมาก แต่เบื้องหลังอาจแฝงด้วยรอยร้าวหรือคลื่นใต้น้ำก็เป็นได้ ดังจะเห็นได้จากการที่สี จิ้นผิง มีความพยายามที่จะรวบอำนาจบริหารสู่ศูนย์กลางมากขึ้น ขณะที่หลายฝ่ายมองว่า ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา สี จิ้นผิง พยายามสกัดดาวรุ่งโดยขจัดคู่แข่งทางการเมืองไปหลายคน ซึ่งเป็นสัญญาณบ่งชี้ว่า ภายในพรรคคอมมิวนิสต์เอง ก็อาจมีกลุ่มคนที่มีแนวคิดไม่สอดคล้องกับสี จิ้นผิง และอาจเกิดความบาดหมางขึ้นภายในพรรค

จีนเป็นประเทศที่มีอาณาเขตกว้างขวาง มีประชากรมากถึง 1,300 ล้านคน และมีระบบโครงสร้างทางสังคมที่ซับซ้อน ดังนั้นการรวบอำนาจบริหารประเทศแบบเบ็ดเสร็จ จึงอาจเป็นดาบสองคมที่ทิ่มแทงสี จิ้นผิงในภายหลังได้เช่นกัน

สี จิ้นผิง ได้ให้คำมั่นในที่ประชุมใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์ว่า จะเปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารประเทศมากขึ้น แต่จากโผรายชื่อคณะกรรมการกรมการเมือง (Politburo) ชุดที่ 19 ที่มีการประกาศในวันนี้ จะพบว่า สมาชิกที่ได้รับเลือกจากคณะกรรมการกลางให้มาอยู่ในคณะกรรมการฯชุดนี้นั้น ล้วนแล้วแต่เป็นผู้อาวุโสภายในพรรคทั้งสิ้น โดยเฉพาะโผรายชื่อสมาชิกทั้ง 7 ของคณะกรรมการประจำกรมการเมือง (Politburo Standing Committee) ซึ่งเป็นกลไกกำหนดนโยบายที่ทรงอิทธิพลและมีอำนาจสูงสุดของประเทศนั้น ยังคงประกอบด้วยสมาชิกที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป

การขยายบทบาทกองทัพพญามังกร ก้าวใหญ่ที่ถูกหวาดระแวง

สี จิ้นผิง ได้ประกาศย้ำวิสัยทัศน์ด้านการทหารในที่ประชุมสมัชชาใหญ่ฯว่า เขาจะพัฒนากองทัพปลดปล่อยประชาชนจีน (PLA) ให้เป็นกองทัพ “ระดับโลก" ด้วยศักยภาพที่พร้อมทำสงคราม และต้องเป็นการทำสงครามที่สามารถเผด็จศึกศัตรูได้ด้วย อย่างไรก็ตาม สี จิ้นผิง ได้แสดงจุดยืนว่า จีนจะขยายบทบาทของกองทัพในทางที่สร้างสรรค์ โดยมุ่งรักษาสันติภาพของโลกเป็นสำคัญ

แต่กระนั้น หลายประเทศยังคงมองว่า การขยายบทบาทของกองทัพจีนในปัจจุบันเป็นความพยายามขยายอิทธิพลเพื่อครอบงำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกของจีน อีกทั้งยังมีวาระซ่อนเร้นในการรักษาผลประโยชน์นอกแผ่นดินจีน โดยเฉพาะการปกป้องอธิปไตยบนดินแดนที่จีนได้อ้างกรรมสิทธิ์ทั้งในทะเลจีนใต้และทะเลจีนตะวันออก นอกจากนี้ หลายประเทศยังเกิดความหวาดระแวงจากกรณีที่จีนตั้งฐานทัพในต่างประเทศแห่งแรกที่จิบูตี และมีแผนที่จะตั้งฐานทัพแห่งใหม่ในปากีสถาน ซึ่งเป็นประเทศพันธมิตรที่ใกล้ชิดของจีนอีกด้วย

ปัญหาขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ โจทย์ใหญ่ของสี จิ้นผิง

อำนาจอธิปไตยและบูรณภาพแห่งดินแดนเป็นประเด็นละเอียดอ่อนที่จีนไม่ยอมอ่อนข้อให้กับประเทศใดๆ ดังนั้นหลายฝ่ายจึงจับตาดูอย่างใกล้ชิดว่า สี จิ้นผิง จะใช้นโยบายที่แข็งกร้าวกับไต้หวันหรือไม่ หากไต้หวันต้องการประกาศแยกตัวเป็นเอกราช เช่นเดียวกับที่สี จิ้นผิง เคยประกาศกร้าวในพิธีฉลองครบรอบ 20 ปีแห่งการส่งมอบเกาะฮ่องกงกลับคืนสู่การปกครองของจีนในเดือนก.ค.ที่ผ่านมาว่า เขาจะไม่ยอมให้ผู้ใดพยายามบ่อนทำลายอำนาจอธิปไตยของชาติ หรือท้าทายอำนาจของรัฐบาลกลางอย่างเด็ดขาด

นอกจากประเด็นไต้หวัน และหมู่เกาะที่เป็นข้อพิพาทในทะเลจีนใต้และทะเลจีนตะวันออกแล้ว สี จิ้นผิง ยังเผชิญกับบททดสอบที่สำคัญในการแก้ไขปัญหาขัดแย้งในคาบสมุทรเกาหลี ขณะที่หลายฝ่ายมองว่า การที่เกาหลีเหนือยังคงเดินหน้าทดสอบขีปนาวุธและอาวุธนิวเคลียร์โดยไม่สนคำทัดทานจากนานาชาติและจีนนั้น บ่งชี้ว่า จีนสามารถกดดันหรือมีอิทธิพลต่อเกาหลีเหนือน้อยลง ซึ่งถือเป็นโจทย์ใหญ่ที่สี จิ้นผิง จะต้องเร่งแก้ไข หากต้องการให้นานาชาติยอมรับบทบาทของจีนมากขึ้น

จีน ภายใต้การบริหารของคณะผู้นำชุดใหม่นำโดยสี จิ้นผิง จะพลิกโฉมหน้าไปจากเดิม จากในอดีตที่ผู้นำรุ่นก่อนๆยึดถือนโยบาย “มังกรซุ่ม" เป็นหลัก สู่นโยบายใหม่ที่จะนำพาจีนสยายปีกอย่างภาคภูมิ อย่างไรก็ตาม จีนยังคงเผชิญกับปัญหาท้าทายและบททดสอบมากมายในการยกระดับตนเองให้กลายเป็นประเทศมหาอำนาจยุคใหม่อย่างเต็มตัว ซึ่งอาจต้องใช้เวลานานหลายทศวรรษ แต่นั่นก็ไม่ใช่ “สิ่งที่ไกลเกินเอื้อม" แต่อย่างใด


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ