In Focusจับตา "ทรัมป์" เดินทางเยือน 5 ชาติเอเชีย ผนึกกำลังกดดันเกาหลีเหนือ

ข่าวต่างประเทศ Wednesday November 1, 2017 14:28 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ในสัปดาห์นี้ ข่าวที่คนทั้งโลกต่างกำลังจับตาดูอยู่ก็คงหนีไม่พ้นกำหนดการเดินทางเยือนเอเชียเป็นระยะเวลา 11 วันของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐ ซึ่งจะเดินทางเยือนญี่ปุ่น เกาหลีใต้ จีน เวียดนาม และฟิลิปปินส์ รวมทั้งเข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียนและเอเปคในวันที่ 3-14 พ.ย.นี้ นับเป็นทริปเยือนต่างประเทศที่ยาวนานที่สุด นับตั้งแต่ทรัมป์ก้าวขึ้นรับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐอย่างเป็นทางการเมื่อต้นปี

อย่างไรก็ตาม ทริปการเดินทางเยือนเอเชียของทรัมป์ครั้งนี้ อาจจะเต็มไปด้วยการเจรจาที่มีความตึงเครียดสูงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เนื่องจากวิกฤตเหนือคาบสมุทรเกาหลียังไม่มีวี่แววว่าจะคลี่คลายลง หลังจากที่เกาหลีเหนือได้ทดสอบขีปนาวุธครั้งที่ 6 และอาวุธนิวเคลียร์ลูกดังกล่าวถูกมองว่ามีอานุภาพร้ายแรงที่สุดเท่าที่เคยมีมาของโสมแดง ส่งผลให้สหรัฐต้องเร่งผนึกกำลังกับชาติพันธมิตรในเอเชียเพื่อคลี่คลายวิกฤตดังกล่าวไม่ให้ลุกลามไปมากกว่านี้ ฉะนั้น ในวันนี้คอลัมน์ In Focus จะขอพาทุกท่านมาร่วมวิเคราะห์เจาะลึกว่า การเดินทางเยือนเอเชียของทรัมป์ครั้งนี้บอกอะไรเราได้บ้าง

  • ประเดิมเยือนญี่ปุ่นและเกาหลีใต้เป็น 2 ประเทศแรก

นักวิเคราะห์หลายคนสังเกตว่า การที่ทรัมป์เลือกเดินทางเยือนญี่ปุ่นและเกาหลีใต้เป็น 2 ประเทศแรกนั้น เป็นการส่งสัญญาณให้เห็นว่า สหรัฐให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาเรื่องคาบสมุทรเกาหลีมาเป็นอันดับหนึ่ง หลังจากที่ก่อนหน้านี้ เกาหลีเหนือได้ทดสอบขีปนาวุธลูกที่ 6 ไปเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมาโดยไม่สนเสียงคัดค้านจากประชาคมโลก อีกทั้งยังขู่นานาชาติอีกด้วยว่า จะทำการทดสอบระเบิดไฮโดรเจนในมหาสมุทรแปซิฟิก

เหตุการณ์ดังกล่าวดูเหมือนว่า จะยั่วโมโหทรัมป์อย่างหนัก ส่งผลให้ทรัมป์ถึงกับออกมาประกาศกลางวงที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ (UN) ว่า “จะทำลายเกาหลีเหนือให้สิ้นซาก" เลยทีเดียว

ด้วยเหตุนี้ ทรัมป์จึงจำเป็นต้องหาแนวร่วมในเอเชียไม่ว่าจะเป็นญี่ปุ่น เกาหลีใต้ รวมถึงจีน ซึ่งเป็นพันธมิตรเพียงไม่กี่รายของเกาหลีเหนือ เพื่อร่วมกันคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจต่อโสมแดง

เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา ทรัมป์ได้ต่อสายตรงไปหานายกรัฐมนตรีชินโซ อาเบะของญี่ปุ่น โดยทั้งสองต่างเห็นพ้องเรื่องการกดดันเกาหลีเหนือให้ยุติการทดสอบขีปนาวุธและอาวุธนิวเคลียร์ โดยนายยาซุโทชิ นิชิมารุ รักษาการเลขาธิการคณะรัฐมนตรีญี่ปุ่นได้ให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวว่า ทรัมป์ตั้งตารอที่จะเดินทางมาเยือนญี่ปุ่น พร้อมยืนยันว่าสหรัฐและญี่ปุ่นเป็นพันธมิตรที่เหนียวแน่นอย่างไม่ต้องสงสัย ซึ่งทั้ง 2 ประเทศ จะร่วมมือกันแก้ปัญหาเรื่องเกาหลีเหนือแบบ 100% เต็ม

ทั้งนี้ ทรัมป์มีกำหนดเดินทางถึงญี่ปุ่นในวันอาทิตย์นี้พร้อมกับนางเมลาเนีย ทรัมป์ สุภาพสตรีหมายเลขหนึ่ง ขณะที่ญี่ปุ่นก็ได้ทุ่มส่งเจ้าหน้าที่กว่า 10,000 นายมารักษาความปลอดภัยให้กับทริปครั้งสำคัญนี้

ต่อจากญี่ปุ่น ทรัมป์ก็จะบินตรงไปยังเกาหลีใต้ ซึ่งประเด็นหลักในการเจรจาก็คงหนีไม่พ้นการกำหนดแนวทางกดดันเกาหลีเหนือเหมือนเช่นเคย โดยทรัมป์จะเดินทางไปยังค่ายฮัมฟรีส์ (Camp Humphreys) อันเป็นฐานทัพทางทหารแห่งใหม่ของสหรัฐ ซึ่งตั้งอยู่ห่างจากกรุงโซลไปทางใต้ราว 70 กิโลเมตร ตามคำเชิญของประธานาธิบดีมุน แจ อิน เพื่อชู "บทบาทของเกาหลีใต้ในการรองรับภาระของประเทศพันธมิตร"

อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่ระดับสูงจากทำเนียบขาวได้ออกมายืนยันเมื่อวานนี้ว่า ทรัมป์จะไม่เดินทางเยือนเขตปลอดทหารหรือ DMZ ซึ่งเป็นเขตชายแดนที่คั่นกลางระหว่างเกาหลีเหนือและเกาหลีใต้ อันเป็นการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ถึงการส่งเสริมให้เกิดสันติภาพบนคาบสมุทรเกาหลีอย่างที่อดีตประธานาธิบดีหลายคนได้ปฏิบัติกันมาหลายสมัย โดยให้เหตุผลในเรื่องของตารางเวลาที่แน่นขนัด

การเดินทางเยือนเกาหลีใต้ของทรัมป์ครั้งนี้ถือว่า น่าจับตาอย่างมาก เนื่องจากทั้ง 2 ประเทศมีแนวปฏิบัติต่อเกาหลีเหนือแตกต่างกัน ในขณะที่สหรัฐเป็นสายบู๊ ประกาศตัวว่าจะใช้ “ไม้แข็ง" ในการกดดันเกาหลีเหนือ แต่เกาหลีใต้กลับยืนยันว่า จะขอใช้ “ไม้อ่อน" โน้มน้าวให้เกาหลีเหนือเปลี่ยนใจ ขณะเดียวกัน เกาหลีใต้เองก็วิตกกังวลว่า การยั่วยุจากเกาหลีเหนืออาจทำให้สหรัฐทนไม่ไหวจนต้องงัดปฏิบัติการทางทหารออกมาใช้ในท้ายที่สุด เพราะทรัมป์เคยลั่นวาจาไว้ว่าจะจัดการกับเกาหลีเหนือด้วย “ไฟและความเดือดดาล" ร้อนถึงนายมูน แจ อิน ประธานาธิบดีเกาหลีใต้ที่ต้องออกโรงเตือนว่า “ไม่มีใครมีสิทธิ์ตัดสินใจใช้ปฏิบัติการทางทหารบนคาบสมุทรเกาหลี หากปราศจากความเห็นชอบจากเกาหลีใต้" และด้วยความคิดเห็นที่ไม่ตรงกันนี้ ทำให้นักวิเคราะห์หลายคนมองว่า ทรัมป์อาจไม่ให้ความสำคัญกับเกาหลีใต้มากเท่าแต่ก่อน แต่หันไปกระชับความร่วมมือกับญี่ปุ่นซึ่งอยากจะใช้ไม้แข็งเหมือนกันแทน เห็นได้จากจำนวนวันที่ทรัมป์ใช้เวลาในญี่ปุ่นถึง 2 วัน แต่กลับเลือกเยือนเกาหลีใต้เพียงแค่วันเดียว

ด้วยเหตุนี้ เราจึงต้องมาดูกันว่าทรัมป์จะเลือกใช้วิธีใดในการสานสัมพันธ์กับเกาหลีใต้ให้แน่นแฟ้นดังเดิม

  • เมื่อพญาอินทรีย์เยือนแดนมังกร

หลังเสร็จสิ้นภารกิจจากเกาหลีใต้แล้ว ทรัมป์ได้เลือกเดินทางเยือนจีนเป็นประเทศต่อไป เพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนหลังจากที่ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีน ได้เดินทางมาเยือนสหรัฐเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา ทรัมป์ตั้งใจที่จะโน้มน้าวให้จีนยกระดับการกดดันเกาหลีเหนือมากกว่านี้ เนื่องจากจีนเป็นประเทศที่ทำการค้ากับเกาหลีเหนือมากที่สุด หรือคิดเป็นสัดส่วนกว่า 90% ของมูลค่าการค้าทั้งหมด ก่อนหน้านี้ จีนก็ให้ความร่วมมือด้วยการปฏิบัติตามมติของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (UNSC) ในการคว่ำบาตรเกาหลีเหนือเป็นอย่างดี โดยเมื่อช่วงกลางเดือนสิงหาคม กระทรวงพาณิชย์ของจีนได้ประกาศห้ามนำเข้าถ่านหิน เหล็ก แร่เหล็ก ตะกั่ว และอาหารทะเลจากเกาหลีเหนือ อีกทั้งยังลดปริมาณการส่งน้ำมันไปยังเกาหลีเหนืออีกด้วย อย่างไรก็ดี สหรัฐยังคงมองว่า จีนควรกดดันเกาหลีเหนือมากกว่านี้ เพราะจีนคือท่อน้ำเลี้ยงที่สำคัญที่สุดของเกาหลีเหนือ ด้านจีนเองก็ยืนยันว่า “เราได้ทำทุกวิถีทางแล้ว"

อย่างไรก็ดี แม้จีนจะให้ความร่วมมือในการยกระดับการคว่ำบาตรเกาหลีเหนือ แต่จีนเองก็ไม่ขอทำตามข้อเรียกร้องของสหรัฐที่ต้องการให้จีนยกเลิกการซื้อขายเชื้อเพลิง ขณะที่ทางการจีนเรียกร้องให้สหรัฐเปิดโต๊ะเจรจากับเกาหลีเหนือโดยตรง

นอกจากประเด็นเกาหลีเหนือแล้ว ทรัมป์น่าจะพูดคุยกับผู้นำจีนในประเด็นเศรษฐกิจ เพื่อลดการขาดดุลทางการค้าของสหรัฐกับจีนอีกด้วย ก่อนหน้านี้ ทีมที่ปรึกษาด้านความมั่นคงของนายทรัมป์ได้ทบทวนยุทธศาสตร์ทางการค้าที่สหรัฐมีต่อจีน เพื่อรับมือกับรูปแบบการค้าจีน และเปิดช่องทางให้สหรัฐสามารถเข้าไปทำธุรกิจในตลาดจีนได้มากยิ่งขึ้น

  • ลัดเลาะสู่เวียดนาม

ในวันที่ 10 พฤศจิกายน ทรัมป์จะเดินทางต่อไปยังประเทศเวียดนาม เพื่อเข้าร่วมการประชุมกลุ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเซีย-แปซิฟิค (เอเปค) ณ เมืองดานัง พร้อมขึ้นกล่าวสุนทรพจน์ ณ การประชุมสุดยอดผู้นำภาคเอกชนเอเปค (APEC CEO Summit) เพื่อเน้นย้ำถึงความสำคัญของภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกที่มีบทบาทสำคัญต่อเศรษฐกิจสหรัฐ ก่อนที่จะเดินทางไปยังกรุงฮานอย เพื่อพบปะกับนายเจิ่น ดั่ย กวาง ประธานาธิบดีเวียดนาม และเจ้าหน้าที่ระดับสูงอีกหลายท่านในวันที่ 11 พฤศจิกายน

นอกจากนี้ ยังเป็นที่น่าสนใจว่า นายทรัมป์ จะหยิบยกประเด็นที่สหรัฐประกาศถอนตัวออกจากข้อตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (TPP) ซึ่งสร้างความผิดหวังอย่างหนักให้กับชาติสมาชิกที่เหลือขึ้นมาพูดคุยด้วยหรือไม่ ซึ่งในประเด็นนี้เราคงต้องติดตามกันต่อไป

  • เมื่อ “ทรัมป์" พบ “ดูเตอร์เต"

จุดหมายปลายทางสุดท้ายสำหรับทริปการเดินทางเยือนเอเชียครั้งนี้ของทรัมป์อยู่ที่ฟิลิปปินส์ โดยทรัมป์จะเข้าร่วมพิธีเฉลิมฉลองครบรอบ 50 ปีการก่อตั้งอาเซียนในวันที่ 12 พฤศจิกายน ก่อนที่จะเข้าพบกับนายโรดริโก ดูเตอร์เต ประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ในวันถัดไป ซึ่งหลายฝ่ายต่างจับจ้องกันว่า การพบกันระหว่าง 2 ประธานาธิบดีสายแข็งจะเป็นอย่างไร

นายดูเตอร์เตได้ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนว่า ตนเองจะเจรจาเรื่องข้อตกลงต่างๆกับสหรัฐ “อย่างยุติธรรมที่สุด" โดยจะมีการพูดคุยเกี่ยวกับประเด็นความมั่นคงในภูมิภาค ความร่วมมือระหว่างประเทศ และสงครามปราบปรามยาเสพติด โดยนายดูเตอร์เต กล่าวว่า เขาจะตกลงกับทรัมป์ด้วยความยุติธรรม และจะขอต้อนรับทรัมป์ในฐานะผู้นำคนสำคัญ

อย่างไรก็ตาม คำกล่าวข้างต้นนั้น ดูจะขัดกับสิ่งที่นายดูเตอร์เตเคยกล่าวเอาไว้ก่อนหน้านี้อย่างลิบลับ เนื่องจากในสมัยของประธานาธิบดีโอบามา นายดูเตอร์เตเคยจวกว่า สหรัฐปฏิบัติต่อฟิลิปปินส์ราวกับสุนัขเชื่อง ๆ ที่คอยทำตามคำสั่งจากเจ้านาย อีกทั้งยังได้ประณามสหรัฐที่เข้ามาวิพากษ์วิจารณ์นโยบายการปราบปรามยาเสพติดสุดโหดของเขา พร้อมประกาศตัดสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศที่มีมายาวนานกว่า 70 ปี

แต่ทุกอย่างก็เปลี่ยนไป หลังจากที่เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา นายทรัมป์ได้ต่อสายตรงไปหานายดูเตอร์เต และกล่าวชมว่า เขาแก้ปัญหายาเสพติดได้อย่างยอดเยี่ยม แม้จะถูกกลุ่มสิทธิมนุษยชนประณามการกระทำนี้อย่างหนักก็ตาม

ทั้งนี้ นายดูเตอร์เตได้กล่าวเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมาว่า สถานการณ์เรื่องคาบสมุทรเกาหลียังคงเป็นประเด็นหลักในการเจรจาครั้งนี้ เนื่องจาก “สงครามนิวเคลียร์ถือเป็นสิ่งที่ไม่อาจยอมรับได้"

นายดูเตอร์เต กล่าวว่า "คงจะเป็นเรื่องดีหากสหรัฐ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และนายคิม จอง อึน ยอมเปิดการเจรจากัน เพื่อบอกกับนายคิมว่าไม่มีใครคิดจะทำลายเกาหลีเหนือและจะไม่มีสงครามเกิดขึ้น หากเขายอมยุติการทดสอบขีปนาวุธและเลิกข่มขู่นานาประเทศ" พร้อมแนะนำว่า สหรัฐ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และประเทศอื่นๆ ซึ่งรวมถึงฟิลิปปินส์ ควรยืนยันกับเกาหลีเหนือว่า จะไม่มีการข่มขู่ หรือโจมตีใดๆทั้งสิ้น และทุกประเทศไม่มีแผนที่จะกำจัดเขา

อย่างไรก็ตาม ทางการฟิลิปปินส์ได้ยืนยันว่า ทรัมป์จะไม่เข้าร่วมการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก ซึ่งจะจัดขึ้นในวันที่ 14 พฤศจิกายน โดยทีแรกนั้น สหรัฐได้ขอให้ฟิลิปปินส์เลื่อนการจัดประชุมให้เร็วขึ้นเพื่อที่ทรัมป์จะได้เข้าร่วมได้สะดวก แต่นั่นอาจกระทบกับกำหนดการของผู้นำชาติอื่นๆ ด้วยเหตุนี้ สหรัฐจึงตัดสินใจส่งนายเร็กซ์ ทิลเลอร์สัน รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐให้เดินทางมาร่วมประชุมแทน

นักวิเคราะห์หลายคนมองว่า การที่ทรัมป์ไม่ยอมเข้าร่วมประชุมในครั้งนี้เป็นการส่งสัญญาณให้เห็นว่า ทรัมป์ “ไม่แคร์" ซึ่งอาจส่งผลให้สหรัฐเสียเครดิตและอิทธิพลในเอเชียแปซิฟิกไปได้มากพอสมควร ขณะที่จีนได้รุกสยายปีกเข้ามามีอิทธิพลในภูมิภาคมากขึ้นทุกขณะ

ทั้งหมดนี้ก็เป็นประเด็นที่น่าสนใจที่ได้มาจากการตามติดสถานการณ์โค้งสุดท้ายก่อนที่ปธน.ทรัมป์จะเดินทางเยือนเอเชียในวันศุกร์นี้ ทีเหลือก็คงต้องดูกันต่อไปว่า พญาอินทรีย์ผู้นี้จะสร้างเซอร์ไพร์สใหม่ๆให้ชาวโลกต้องตกตะลึงกันอีกครั้งหรือไม่


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ