In Focusจีนเดินหน้าควบคุมความเสี่ยงระบบการเงิน หวั่นเศรษฐกิจเผชิญหายนะในยุค "ฟินเทค"

ข่าวต่างประเทศ Wednesday November 29, 2017 16:00 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ตลอดทั้งสัปดาห์ที่ผ่านมา จนกระทั่งถึงสัปดาห์นี้ หนึ่งในประเด็นที่ตลาดการเงินให้ความสนใจและติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด คือ การที่จีนออกมาตรการควบคุมความเสี่ยงในระบบการเงิน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคที่นวัตกรรมการเงินโลกเปลี่ยนโฉมไปเป็น "ฟินเทค (Financial Technology)" ที่มุ่งนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อทำให้ธุรกรรมทางการเงินเป็นไปอย่างสะดวกง่ายดาย

การก้าวกระโดดของเทคโนโลยีในระบบการเงินโลก ส่งผลให้จีนเฝ้าระวังมากเป็นพิเศษ โดยที่ผ่านมานั้น จีนเองก็พยายามควบคุมการใช้อินเทอร์เน็ตมาโดยตลอด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การออกกฎหมายควบคุม Virtual Private Networks (VPN) หรือ "เครือข่ายส่วนตัวเสมือน" ซึ่งเป็นบริการที่ช่วยให้ชาวจีนสามารถเชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ตได้โดยไม่ต้องผ่านระบบเซ็นเซอร์ของรัฐบาล หรือ "Great Firewall" ซึ่งการดำเนินการในลักษณะปิดกั้นเช่นนั้น ส่งผลให้จีนถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก แต่จีนเองกลับมองว่า ธุรกรรมบนโลกออนไลน์ถือเป็นดาบสองคม ที่อาจแทงทะลุถึงรากฐานเศรษฐกิจของบ้านเมือง จึงประกาศตัดไฟแต่ต้นลม ด้วยการออกมาตรการควบคุมธุรกิจการปล่อยสินเชื่อทางระบบออนไลน์ โดยมาตรการที่เฉียบขาดของจีน ส่งผลให้ราคาหุ้นของกลุ่มบริษัทปล่อยกู้ทางออนไลน์และกลุ่มบริษัทฟินเทคของจีน ร่วงลงอย่างหนัก และสร้างแรงกระเพื่อมไปยังตลาดหุ้นอื่นๆทัวโลก

  • หุ้นลาร์จแคปดิ่งหนัก ดัชนีหลักอ่อนแรง จากมาตรการแทรกแซงระบบการเงิน

ในขณะที่ตลาดหุ้นสหรัฐปิดทำการซื้อขายในวันพฤหัสบดีที่ 23 พ.ย.เนื่องในวันขอบคุณพระเจ้า และชาวอเมริกันกำลังวางแผนออกไปจับจ่ายซื้อของในวัน "Black Friday" นั้น ไม่มีใครคาดคิดว่าตลาดหุ้นจีนจะเกิดปรากฎการณ์ "Thursday’s sell-off" เมื่อดัชนี CSI 300 ซึ่งเป็นดัชนีหุ้นที่มีทุนจดทะเบียนสูง หรือหุ้นลาร์จแคป ร่วงลงไปกว่า 50 จุดในช่วงท้ายของการซื้อขาย ขณะที่ดัชนีเซี่ยงไฮ้คอมโพสิตปิดตลาดร่วงลงราว 2.3% ... และนับจากนั้น ดัชนีตลาดหุ้นจีนก็แผ่วลงจนถึงสัปดาห์นี้

สาเหตุที่ทำให้ตลาดหุ้นจีนตกอยู่ในภาวะตื่นตระหนกในเวลานั้น มาจากรายงานข่าวที่ว่า ธนาคารกลางจีนและหน่วยงานกำกับดูแลตลาดการเงินของจีน ได้ออกมาตรการการควบคุมธุรกิจบริหารจัดการสินทรัพย์ของบรรดาสถาบันการเงินในประเทศ โดยมาตรการดังกล่าวนำมาบังคับใช้กับผลิตภัณฑ์บริหารความเสี่ยงซึ่งออกโดยธนาคารพาณิชย์ บริษัททรัสต์ บริษัทบริหารจัดการสินทรัพย์ด้านการประกัน บริษัทหลักทรัพย์ กองทุน และบริษัทซื้อขายหลักทรัพย์ล่วงหน้า

ผลิตภัณฑ์บริหารความเสี่ยงซึ่งออกโดยสถาบันการเงินเหล่านี้ ถูกมองว่าเป็นหนึ่งในสาเหตุสำคัญที่ทำให้ภาคธนาคารเงาของจีนขยายตัวอย่างรวดเร็ว และอาจบั่นทอนเสถียรภาพในระบบการเงินของประเทศ

หลังจากนั้นไม่นาน ตลาดก็ตื่นตระหนกอีกครั้ง เมื่อรัฐบาลจีนได้ออกมาตรการควบคุมธุรกิจขนาดเล็กที่ให้บริการเงินกู้ออนไลน์ ซึ่งพุ่งเป้าควบคุมไม่ให้ธุรกิจประเภทนี้โตเร็วเกินไปจนสร้างความเสี่ยงในระบบการเงิน โดยหน่วยงานของรัฐบาลตามมณฑลต่างๆของจีนได้รับคำสั่งจากรัฐบาลกลาง ให้ระงับการอนุมัติคำขอในการจัดตั้งธุรกิจขนาดเล็กที่ให้บริการเงินกู้บนอินเทอร์เน็ต และกำหนดเกณฑ์ในการอนุมัติให้มีความเข้มงวดยิ่งขึ้นด้วย

ถัดมาในวันศุกร์ที่ 24 พ.ย. หน่วยงานกำกับดูแลด้านการธนาคารของจีนได้ออกข้อกำหนดเพื่อควบคุมความเสี่ยงของภาคธนาคาร โดยสั่งให้ธนาคารพาณิชย์ภายในประเทศทำการทดสอบภาวะวิกฤต (stress tests) ของอัตราดอกเบี้ย พร้อมทั้งประเมินความเสี่ยงอย่างสม่ำเสมอ เพื่อป้องกันความเสี่ยงในช่วงเวลาที่จีนกำลังเดินหน้าปฏิรูปการเปิดเสรีอัตราดอกเบี้ย

ความเคลื่อนไหวดังกล่าวไม่เพียงส่งผลกระทบในตลาดหุ้นจีนเพียงเท่านั้น แต่ยังส่งผลให้ราคาหุ้นของสถาบันการเงินจีนที่จดทะเบียนในตลาดหุ้นสหรัฐผันผวนอย่างหนักเช่นกัน

-- วิกฤตหนี้สิน ระบบการเงินเปราะบาง และอันดับเครดิตถูกหั่น บั่นทอนความเชื่อมั่นนักลงทุน

นักวิเคราะห์จากมิซูโฮ แบงก์มองว่า ปฏิบัติการแทรกแซงระบบการเงินของจีน มีต้นตอมาจากปัญหาหนี้สินในภาคเอกชนของจีน ซึ่งวิกฤตดังกล่าวเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้มูดี้ส์ อินเวสเตอร์ส เซอร์วิส ประกาศลดอันดับความน่าเชื่อถือสกุลเงินหยวนและสกุลเงินต่างประเทศระยะยาวของจีน ลง 1 ขั้น สู่ระดับ A1 จากระดับ Aa3 เมื่อวันที่ 4 พ.ค.ที่ผ่านมา โดยคาดว่า ความแข็งแกร่งด้านการเงินของจีนอาจจะถดถอยลงในอีกไม่กี่ปีข้างหน้านี้

มูดี้ส์คาดการณ์ว่า แม้อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของจีนยังคงอยู่ในระดับค่อนข้างสูง แต่ก็มีแนวโน้มที่จะชะลอตัวลงในอีกไม่กี่ปีข้างหน้านี้ พร้อมกับคาดว่า หนี้สินของรัฐบาลจะพุ่งขึ้นแตะระดับ 40% ของจีดีพีภายในปี 2561 และคาดว่าจะทะยานขึ้นไปอยู่ที่ระดับ 45% ของจีดีพีภายในช่วงปลายทศวรรษนี้ นอกจากนี้ มูดี้ส์ยังเตือนว่า ภาคการเงินของจีนยังคงอยู่ในภาวะอ่อนแอ แม้ทางการจีนได้ดำเนินการปฏิรูปในช่วงที่ผ่านมาก็ตาม

ต่อมาในเดือนก.ย. S&P ได้ประกาศ ปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือระยะยาวของจีนลง 1 ขั้น จาก "AA-" สู่ "A+" โดยระบุว่า ระบบเศรษฐกิจและการเงินของจีนกำลังเผชิญกับความเสี่ยงของปัญหาหนี้สินเช่นกัน

ไม่เพียงเท่านั้น กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ยังได้ออกรายงานเตือนในเวลาต่อมาว่า การขยายตัวของเศรษฐกิจจีนเกิดขึ้นในช่วงเวลาเดียวกับปัญหาหนี้สินที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งอาจจะสร้างความเสี่ยงต่อระบบเศรษฐกิจจีน

  • ปรากฎการณ์ "โจว เสี่ยวฉวน" และปฐมบทแห่งการยอมรับความจริง

หลังจากที่มูดี้ส์ และ S&P ได้ปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือของจีน พร้อมออกรายงานวิเคราะห์ปัญหาหนี้สินภายในประเทศของจีนอย่างไม่เกรงใจ ทางรัฐบาลจีนก็ได้ออกมาตอบโต้สถาบันจัดอันดับทั้ง 2 แห่งอย่างเผ็ดร้อน โดยกระทรวงการคลังของจีนระบุว่า การปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือดังกล่าวเป็นการจัดอันดับโดยพิจารณาจากภาวะเศรษฐกิจที่ผันผวนไปตามวัฎจักร (Pro-cyclical) ซึ่งเป็นวิธีการที่ "ไม่เหมาะสม" และเป็นการประเมินศักยภาพของจีนต่ำเกินไป

แต่การปรากฎตัวต่อสาธารณะชนบ่อยครั้งของนายโจว เสี่ยวฉวน ผู้ว่าการธนาคารกลางจีน ในช่วงครึ่งปีหลังนี้ ถือเป็นปรากฏการณ์ที่นักลงทุนมองว่า "มีนัยสำคัญอย่างยิ่ง" เพราะเป็นที่ทราบกันว่า นายโจว มักดำรงตนเป็น "มังกรเฝ้าถ้ำ" ที่จะไม่ออกมาแสดงความเห็นทางเศรษฐกิจมากนัก หากสถานการณ์ยังคงควบคุมได้ ซึ่งแตกต่างจากบรรดาหัวเรือใหญ่ของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ที่ต่างก็ออกมาโชว์วิสัยทัศน์กันอย่างเสรี ซึ่งในบางครั้งก็แสดงความคิดเห็นแบบขัดแย้งกันเอง และสร้างความสับสนให้กับตลาด

นายโจวแสดงความกล้าหาญด้วยการกล่าวถึงปัญหาในประเทศตนเองอย่างตรงไปตรงมา กลางที่ประชุมสัมนาด้านการธนาคารระหว่างประเทศของกลุ่ม G30 ที่กรุงวอชิงตันเมื่อช่วงกลางเดือนต.ค.ที่ผ่านมาว่า "ปัญหาใหญ่ของจีนในเวลานี้คือ หนี้สินของภาคเอกชนอยู่ในระดับที่สูงเกินไป ซึ่งรวมถึงหนี้เงินกู้จากโครงการจัดสรรเงินกู้ของรัฐบาลท้องถิ่น สถานการณ์เช่นนี้ ทำให้เราต้องเพิ่มความพยายามในการกำหนดนโยบายที่แข็งแกร่ง เพื่อสร้างเสถียรภาพด้านการเงิน"

ขณะเดียวกันนายโจวยังได้แสดงทรรศนะอย่างตรงไปตรงมาผ่านทางเว็บไซต์ของธนาคารกลางจีนว่า "ระบบการเงินของจีนกำลังอยู่ในภาวะเปราะบาง และมีความเสี่ยงมากขึ้น ซึ่งความเสี่ยงที่เกิดขึ้นในเวลานี้ มีลักษณะ 'ซับซ้อน สร้างผลกระทบรุนแรง และเป็นอันตราย' พร้อมกับเตือนว่า ภาคเอกชนของจีนมีหนี้สินที่สูงเกินไป และอาจเป็นปฐมเหตุที่นำไปสู่ภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจ"

นอกจากนี้ นายโจวยังให้คำมั่นสัญญาว่า ธนาคารกลางจีนมีความตั้งใจที่จะร่วมมือกับ IMF หลังจากที่นายเดวิด ลิปตัน รองผู้อำนวยการ IMF ได้ออกมาเตือนให้จีนเร่งจัดการกับหนี้ภาคเอกชนที่เพิ่มขึ้น เพราะหากไม่เร่งจัดการในเรื่องดังกล่าว จีนอาจจะเผชิญกับความเสี่ยงสูงในระหว่างที่จีนกำลังอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านทางศรษฐกิจ

การแสดงออกของนายใหญ่แห่งแบงก์ชาติจีนไม่เพียงแต่สร้างความประหลาดใจให้กับผู้สังเกตุการณ์ในตลาดการเงิน แต่ยังแสดงออกถึงการน้อมรับคำเตือนจากหน่วยงานระดับโลกอย่าง IMF และสองสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือระดับโลกอย่างมูดี้ส์ และ S&P ... นอกจากนี้ ยังถือเป็นการเปิดใจยอมรับเสียงสะท้อนจากคนนอก เพื่อนำมาปรับปรุงแก้ไขปัญหาภายในประเทศของตนต่อไป


แท็ก In Focus:   นวัตกรรม  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ