ในช่วงสิ้นปี In Focus จะพาท่านย้อนรอยรำลึกถึงเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นตลอดปีที่ผ่านมา โดยเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว เราได้ประมวลโศกนาฏกรรมช็อคโลก... มาถึงสัปดาห์นี้เราจะสรุปเหตุการณ์ภัยพิบัติทางธรรมชาติครั้งรุนแรงที่เกิดขึ้นทั่วโลกในปี 2560 ซึ่งนับเป็นอีกปีที่มีความเสียหายและความสูญเสียเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่าแทบทุกเดือน แต่ถึงกระนั้น เราก็ยังได้เห็นน้ำใจและมือที่ยื่นเข้ามาช่วยเหลือจากหลายฝ่าย
เพียงครึ่งปีแรก เสียชีวิตอย่างน้อย 507 ราย บาดเจ็บและสูญหายนับไม่ถ้วน
*19 ม.ค. 60 - หิมะถล่ม อิตาลี
เกิดเหตุหิมะถล่มทับโรงแรมริโกปิอาโน ในแคว้นอาบรุซโซ ประเทศอิตาลี หลังจากเกิดแผ่นดินไหวขนาดสูงกว่า 5 แมกนิจูด ถึง 4 ครั้ง ใน 4 ชั่วโมงใกล้กับเมืองอามาตริเช ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของกรุงโรม
รายงานระบุว่าพบผู้เสียชีวิตราว 30 ราย ขณะที่สำนักข่าวท้องถิ่นรายงานว่า โรงแรมดังกล่าวได้พังถล่มลงมาส่วนหนึ่งและถูกปกคลุมไปด้วยหิมะ
*10 ก.พ. 60 - แผ่นดินไหว ฟิลิปปินส์
มีผู้เสียชีวิต 6 ราย และบาดเจ็บมากกว่า 125 ราย รวมทั้งมีโครงสร้างพื้นฐานต่างๆได้รับความเสียหายเป็นจำนวนมาก หลังเกิดเหตุแผ่นดินไหวรุนแรง 6.5 แมกนิจูดทางตอนกลางของฟิลิปปินส์ในคืนวันที่ 10 ก.พ. เหตุการแผ่นดินไหวครั้งนี้มีจุดศูนย์กลางที่ใต้มหาสมุทรนอกชายฝั่งทางตะวันออกเฉียงเหนือของเกาะมินดาเนา และอยู่ต่ำจากพื้นดิน 15 กิโลเมตร
*2 เม.ย. 60 - ดินถล่ม โคลอมเบีย
โคลอมเบียประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในเมืองโมโกอา หลังเกิดเหตุดินถล่มครั้งรุนแรงในเมืองดังกล่าว ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตแล้วอย่างน้อย 207 ราย มีผู้สูญหายอย่างน้อย 220 คน และบาดเจ็บอีก 202 คน
ฝนที่ตกลงมาอย่างหนักได้ส่งผลให้ระดับน้ำในแม่น้ำหลายสายเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจนกระทั่งเอ่อล้นตลิ่ง และได้ไหลทะลักพร้อมพัดพาดินโคลนเข้าซัดบ้านเรือนและสะพานพังเสียหายจำนวนมาก นอกจากนี้กระแสน้ำหลากยังส่งผลให้เกิดดินถล่มในหลายพื้นที่ของเมืองดังกล่าว
*29 พ.ค. 60 - น้ำท่วม ดินถล่ม ศรีลังกา
เกิดน้ำท่วมไหลหลากและดินถล่มในศรีลังกา ส่งผลให้จำนวนผู้เสียชีวิตอยู่ที่ 164 ราย สูญหาย 104 ราย หลังจากเกิดฝนตกหนักเป็นเวลา 2 วัน ซึ่งส่งผลกระทบต่อพื้นที่ทางใต้และตะวันตกของประเทศ และสร้างความเสียหายมูลค่าสูงสุดจากเหตุอุทกภัยนับตั้งแต่ปี 2003
ทางด้านอินเดียได้จัดส่งความช่วยเหลือไปยังศรีลังกา ขณะที่สหประชาชาติ จีน และปากีสถานก็ได้เสนอที่จะให้ความช่วยเหลือเช่นกัน
*มิ.ย. 60 - สภาพอากาศเลวร้าย เมียนมา
กระทรวงกลาโหมเมียนมาออกแถลงการณ์ในวันที่ 19 ก.ค. ว่า เครื่องบินของกองทัพอากาศเมียนมาตกในเดือนมิ.ย. เนื่องด้วยสภาพอากาศที่เลวร้าย รวมทั้งการเกิดลมกรรโชกแรง ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 100 คน
เครื่องบินขนส่งของกองทัพอากาศเมียนมาลำที่เกิดอุบัติเหตุนี้ได้บรรทุกคนจำนวน 122 คน โดยเป็นผู้โดยสาร 108 คน และลูกเรือ 14 คน ผู้โดยสารส่วนใหญ่เป็นเจ้าหน้าที่กองทัพ และครอบครัว รวมถึงเด็ก 15 คน
ครึ่งปีหลังยังไม่ปราณี คร่าอย่างน้อย 1,705 ราย
*9 ก.ค. 60 - อุทกภัย ญี่ปุ่น
เกิดฝนตกหนักติดต่อกันหลายวันบนเกาะคิวชู เป็นเหตุให้เกิดอุทกภัยและดินถล่ม พบผู้เสียชีวิต 18 ราย และมีผู้สูญหายอีกราว 30 คน
สำนักข่าวเกียวโดรายงานว่า มีประชาชนราว 250 คนที่ยังคงติดอยู่ในจังหวัดฟุกุโอกะและจังหวัดโออิตะบนเกาะคิวชู
*21 ก.ค. 60 - คลื่นสึนามิ ตุรกี
ศูนย์วิจัยแผ่นดินไหวของตุรกีรายงานการเกิดคลื่นสึนามิความสูง 40 เซนติเมตรในวันดังกล่าว หลังเกิดแผ่นดินไหวขนาด 6.7 แมกนิจูดในทะเลอีเจียน นอกชายฝั่งตะวันตกเฉียงใต้ของตุรกี และใกล้กับหมู่เกาะของกรีซ ในช่วงเช้า
เหตุแผ่นดินไหวดังกล่าวส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 2 คน และมีผู้บาดเจ็บมากกว่า 100 คน
*8 ส.ค. 60 - แผ่นดินไหว จีน
มีผู้เสียชีวิต 13 ราย และบาดเจ็บ 175 ราย รวมถึงผู้บาดเจ็บสาหัสจำนวน 21 ราย จากเหตุการณ์แผ่นดินไหวขนาด 7.0 แมกนิจูด โดยมีจุดศูนย์กลางอยู่ในระดับความลึก 20 กิโลเมตร
เหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งนี้เกิดขึ้นในมณฑลเสฉวน ทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีน โดยจุดที่เกิดแผ่นดินไหวครั้งนี้เป็นรอยต่อของมณฑลเสฉวนและกานซูของจีน
*13 ส.ค. 60 - น้ำท่วม ดินถล่ม เนปาล
กระทรวงมหาดไทยของเนปาลเปิดเผยว่า มีผู้เสียชีวิต 40 คน และสูญหายอย่างน้อย 36 ราย จากเหตุการณ์น้ำท่วมและดินถล่มอันเนื่องมาจากฝนตกหนักอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ ยังมีผู้ได้รับบาดเจ็บมากกว่า 20 คน และหลายพันครอบครัวต้องอพยพออกจากที่อยู่อาศัย
*15 ส.ค. 60 - โคลนถล่ม เซียร์ราลีโอน
สื่อท้องถิ่นรายงานว่า ได้เกิดเหตุโคลนถล่มและน้ำท่วมที่กรุงฟรีทาวน์ เมืองหลวงของประเทศเซียร์ราลีโอน ทางตะวันตกของแอฟริกา ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตพุ่งแตะ 499 ราย อีกทั้งยังทำให้ประชากรกว่า 2,000 รายไร้ที่อยู่อาศัย
*16 ส.ค. 60 - น้ำท่วม อินเดีย
ฝนที่ตกอย่างหนักตลอด 3 วัน ก่อให้เกิดภาวะน้ำท่วมเฉียบพลันในรัฐพิหาร ทางตะวันออกของอินเดีย ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 91 ราย และส่งผลกระทบต่อประชาชนประมาณ 9.6 ล้านคน
*ส.ค. และ ก.ย. 60 - พายุเฮอร์ริเคนฮาร์วีย์และพายุเฮอร์ริเคนเออร์มา สหรัฐ
ในปีนี้ สหรัฐต้องรับมืออย่างหนักกับภัยพิบัติทางธรรมชาติ เนื่องจากมีพายุเฮอร์ริเคนความรุนแรงระดับสูงพัดถล่มถึง 2 ลูกด้วยกัน
ลูกแรกคือพายุเฮอร์ริเคนฮาร์วีย์ที่พัดถล่มรัฐเท็กซัส โดยถูกจัดความรุนแรงอยู่ในระดับ 4 ซึ่งถือเป็นพายุที่รุนแรงที่สุดที่พัดถล่มรัฐเท็กซัสในรอบมากกว่า 50 ปี ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 6 ราย สร้างความเสียหายให้กับทรัพย์สินเป็นมูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์ และส่งผลกระทบต่อการผลิตน้ำมันในรัฐเท็กซัส อีกทั้งยังทำให้ราคาน้ำมันพุ่งสูงขึ้น
หลังจากนั้น ในเดือนก.ย. พายุเฮอร์ริเคนเออร์มาได้เข้าถล่มสหรัฐ และคร่าชีวิตประชาชนไปกว่า 80 รายในขณะเคลื่อนตัวผ่านทะเลแคริเบียนและตอนใต้ของรัฐฟลอริดา
ทางการสหรัฐระบุว่า มีผู้เสียชีวิต 29 คนในรัฐฟลอริดา 4 คนในรัฐจอร์เจีย และ 3 คนในรัฐเซาท์แคโรไลนา จากเหตุการณ์พายุพัดถล่มในครั้งนี้
*20 ก.ย. 60 - แผ่นดินไหว เม็กซิโก
เกิดแผ่นดินไหวรุนแรง 7.1 แมกนิจูดในเมืองเม็กซิโกซิตี้ ประเทศเม็กซิโก ส่งผลให้มียอดผู้เสียชีวิตแตะ 143 คน แรงสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหวส่งผลให้อาคารหลายแห่งสั่นสะเทือน และมีอาคารหลายแห่งพังถล่มลงมา
*15 ต.ค. 60 - น้ำท่วม เวียดนาม
คณะกรรมการอำนวยการกลางประจำศูนย์ควบคุมและป้องกันภัยธรรมชาติเวียดนามเปิดเผยรายงานระบุว่า มีผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์น้ำท่วมและแผ่นดินถล่มในภาคเหนือและภาคกลางของเวียดนาม 60 ราย สูญหาย 37 ราย และบาดเจ็บ 31 ราย
*13 พ.ย. 60 - แผ่นดินไหว ชายแดนอิรักและอิหร่าน
สำนักงานสำรวจธรณีวิทยาสหรัฐ (USGS) รายงานว่า เกิดแผ่นดินไหวรุนแรง 7.3 แมกนิจูดที่บริเวณชายแดนระหว่างอิหร่านและอิรัก ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตราว 500 ราย และบาดเจ็บเกือบ 8,000 ราย
*24 ธ.ค. 60 - พายุเทมบิน ฟิลิปปินส์
ส่งท้ายปี 2560 ด้วยภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้นในประเทศฟิลิปปินส์ สร้างความเสียหายและความสูญเสียมากมาย พายุโซนร้อนเทมบินพัดถล่มเกาะมินดาเนาในฟิลิปปินส์ ส่งผลให้เกิดเหตุน้ำท่วมหนักและดินถล่ม และมีผู้เสียชีวิตราว 230 คน และสูญหายอีกหลายสิบคน
ทั้งนี้ทั้งนั้น เหตุการณ์เหล่านี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของภัยพิบัติทั้งหมดที่เกิดขึ้นในปีนี้ ซึ่งเราคัดเลือกมาเพียงเหตุการณ์รุนแรงที่เกิดความเสียหาย มีผู้ได้รับผลกระทบ มีผู้บาดเจ็บ และผู้เสียชีวิตเป็นจำนวนมาก ภัยพิบัติทางธรรมชาติยังเกิดขึ้นอยู่แทบทุกวันในทั่วทุกมุมโลก เป็นสัญญาณบอกเราว่า การเปลี่ยนแปลงทางธรรมชาติไม่ใช่เรื่องไกลตัวและมิอาจต้านทาน แต่ถึงอย่างไร การตั้งรับและระมัดระวังก็อาจช่วยผ่อนหนักให้เป็นเบาได้ ซึ่ง In Focus ขอแสดงความเสียใจกับผู้ประสบภัยพิบัติและครอบครัวผู้สูญเสียมา ณ ที่นี้