แม้สถานการณ์ตึงเครียดบนคาบสมุทรเกาหลีจะคลี่คลายไปในทางที่ดีขึ้น หลังจากที่เกาหลีเหนือตอบรับที่จะส่งทัพนักกีฬาเข้าร่วมการแข่งขันมหกรรมกีฬาโอลิมปิกฤดูหนาวที่เมืองพย็องซังของเกาหลีใต้ในเดือนหน้า รวมทั้งยอมเปิดใช้โทรศัพท์สายด่วนที่เกาหลีเหนือและเกาหลีใต้ใช้ติดต่อระหว่างกัน แต่ความเคลื่อนไหวดังกล่าวยังไม่อาจสร้างหลักประกันได้ว่า “สันติภาพ" กำลังจะเกิดขึ้นบนคาบสมุทรเกาหลี เนื่องจากคิม จอง อึน ผู้นำเกาหลีเหนือ ยังคงมีความทะเยอทะยานที่จะทำให้เกาหลีเหนือกลายเป็นประเทศมหาอำนาจนิวเคลียร์ เพราะเขาเชื่อว่าการบรรลุเป้าหมายดังกล่าวได้จะเป็นเกราะป้องกันการถูกสหรัฐคุกคาม และเมื่อนั้นสันติภาพจึงจะเกิดขึ้นบนคาบสมุทรเกาหลีอย่างแท้จริง
ดังนั้นท่าทีที่ผ่อนปรนลงของเกาหลีเหนือจึงถูกตีความว่าเป็นเพียงกลยุทธ์ทางการทูต เพื่อลดแรงเสียดทานกับมหาอำนาจเท่านั้น เพราะในอดีตที่ผ่านมา ผู้นำเกาหลีเหนือมักใช้นโยบาย “หันหน้าเข้าเจรจา" หากสถานการณ์ความตึงเครียดดำเนินไปจนถึงจุดวิกฤต และการเปิดฉากเจรจาครั้งแรกระหว่างเจ้าหน้าที่เกาหลีเหนือและเกาหลีใต้ในรอบกว่า 2 ปีในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมานั้น ก็ตอกย้ำถึง “วัฏจักร" การทูตของเกาหลีเหนือ
- ความเคลื่อนไหวเชิงสัญลักษณ์?
สัญญาณบวกที่เกิดขึ้นจากฝั่งเกาหลีเหนือครั้งนี้อาจเป็นเพียงความเคลื่อนไหวเชิงสัญลักษณ์ที่แสดงให้เห็นว่า เกาหลีเหนือยังคงเปิดกว้างสำหรับการเจรจาเสมอ แต่ก็ต้องขึ้นอยู่กับเงื่อนไขที่สร้างความพอใจแก่เกาหลีเหนือด้วย ซึ่งรวมไปถึงการที่ประชาคมโลกต้องยอมระงับมาตรการคว่ำบาตรเกาหลีเหนือ
อย่างไรก็ตาม การปลดล็อกมาตรการคว่ำบาตรจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อเกาหลีเหนือและนานาชาติยอมเจรจารอมชอมเพื่อลดความขัดแย้งในประเด็นต่างๆ ทว่า เมื่อพิจารณาจากปัจจัยทางภูมิรัฐศาสตร์อื่นๆที่เข้ามาเกี่ยวข้องมากมายแล้ว เราอาจจะบอกได้ว่า สันติภาพที่ยั่งยืนบนคาบสมุทรเกาหลีจะไม่เกิดขึ้นในเร็วๆนี้อย่างแน่นอน
- การแข่งขันสะสมอาวุธในเอเชียแปซิฟิก
การที่เกาหลีเหนือไม่ลดละความพยายามในการพัฒนาและทดสอบขีปนาวุธพิสัยไกลด้วยศักยภาพในการบรรจุหัวรบนิวเคลียร์ที่สามารถโจมตีได้ไกลถึงสหรัฐนั้น ทำให้หลายประเทศโดยเฉพาะในเอเชียแปซิฟิกต่างก็วิตกกังวล และเป็นปัจจัยสำคัญที่ผลักดันให้ประเทศเหล่านี้พยายามเสริมสร้างแสนยานุภาพทางทหารเพื่อป้องกันภัยคุกคามจากเกาหลีเหนือ ซึ่งรวมไปถึงการพัฒนาระบบโล่ป้องกันขีปนาวุธและอาวุธเชิงรุกต่างๆ และภายใต้สถานการณ์ที่ต่างฝ่ายต่างก็แข่งขันกันสะสมอาวุธอย่างเข้มข้นเช่นนี้ ก็ทำให้เกาหลีเหนือไม่อาจนิ่งเฉยได้เช่นกัน
เมื่อปลายเดือนที่แล้ว สำนักข่าวยอนฮัปของเกาหลีใต้รายงานว่า กองทัพเรือของเกาหลีใต้กำลังพิจารณาจัดหาเครื่องบินรบสเตลธ์แบบ F-35B จากสหรัฐเพื่อนำไปประจำการบนกองเรือโจมตีสะเทินน้ำสะเทินบกชั้นด็อกโด (Dokdo-class amphibious assault ship) ซึ่งหากดีลนี้ประสบความสำเร็จย่อมเสริมเขี้ยวเล็บในการโจมตีทางอากาศให้กับกองทัพเกาหลีใต้ได้เป็นอย่างดี
นอกจากเกาหลีใต้แล้ว ญี่ปุ่นก็ต้องการสั่งซื้อเครื่องบินขับไล่แบบ F-35B สำหรับประจำการบนเรือพิฆาตบรรทุกเฮลิคอปเตอร์ชั้นอิซุโมะ (Izumo-class helicopter destroyer) ของกองกำลังป้องกันตนเองทางทะเลของญี่ปุ่นเช่นกัน และแน่นอนว่าเกาหลีเหนือก็กำลังจับตาข้อตกลงนี้อย่างใกล้ชิด
สำหรับ F-35B นั้น เป็นเครื่องบินขับไล่ยุค 5 ที่มีเทคโนโลยีหลบเลี่ยงการตรวจจับของระบบเรดาร์ และสามารถบินขึ้นและลงในแนวดิ่ง ด้วยระยะทางในการบิน 2,220 กม.ต่อการเติมเชื้อเพลิงเต็ม 1 ครั้ง นอกจากนี้เครื่องบินรบดังกล่าวยังสามารถแบกอาวุธนิวเคลียร์เพื่อไปโจมตีเป้าหมายได้อีกด้วย
นอกเหนือจากเครื่องบินรบ F-35B แล้ว ทั้งเกาหลีใต้และญี่ปุ่นต่างก็เดินหน้าติดตั้งระบบป้องกันขีปนาวุธโดยไม่แยแสต่อคำทัดทานของจีนและรัสเซีย ทั้งระบบ Terminal High Altitude Area Defense (THAAD) ในเกาหลีใต้ และระบบสกัดกั้นขีปนาวุธแบบ Standard Missile-3 (SM-3) Block IIA สำหรับติดตั้งกับระบบอำนวยการรบ Aegis บนเรือพิฆาตของญี่ปุ่น ซึ่งเกาหลีเหนือมองว่าเป็นการท้าทายเกาหลีเหนือโดยตรง และหากญี่ปุ่นกับเกาหลีใต้ไม่ยอมล้มเลิกแผนติดตั้งระบบป้องกันขีปนาวุธเหล่านี้ย่อมขัดขวางกระบวนการเจรจาสันติภาพบนคาบสมุทรเกาหลีไม่ให้เดินหน้าต่อไปได้ ขณะที่จีนและรัสเซียต่างก็หวาดระแวงว่า การติดตั้งระบบ THAAD และ SM-3 จะทำลายดุลยภาพทางทหารในภูมิภาคนี้
- จุดยืนของจีนต่อปัญหาเกาหลีเหนือ
เกาหลีเหนือถูกมองเป็นรัฐกันชนของจีนเสมอมา ดังนั้นเสถียรภาพในเกาหลีเหนือจึงเป็นตัวแปรสำคัญต่อความมั่นคงของจีน นักวิเคราะห์จำนวนมากมองว่า ลึกๆแล้วจีนอาจไม่ต้องการให้เกาหลีเหนือและเกาหลีใต้สามารถเจรจารวมชาติกันได้สำเร็จในเร็วๆนี้ เพราะหากเกาหลีสามารถรวมชาติได้สำเร็จก็จะทำให้ชายแดนจีนประชิดติดกับประเทศที่เป็นมิตรหรืออยู่ภายใต้อิทธิพลของสหรัฐทันที และจะส่งผลให้จีนถูกปิดล้อมรอบด้าน
การที่จีนไม่ออกมาตรการคว่ำบาตรที่เข้มงวดเพื่อลงโทษเกาหลีเหนือจากกรณีที่ทดสอบขีปนาวุธในช่วงหลังๆนั้น ย่อมตอกย้ำถึงความสำคัญของเกาหลีเหนือที่มีต่อแผนยุทธศาสตร์ความมั่นคงของจีน แต่ความสำคัญนี้ก็ทำให้เกาหลีเหนือ “ได้ใจ" และยังคงเดินหน้าทดสอบอาวุธเทอร์โมนิวเคลียร์อย่างต่อเนื่อง โดยไม่สนว่าจีนจะ “เสียหน้า" หรือไม่
ความอิหลักอิเหลื่อบวกกับการดำเนินนโยบายในลักษณะที่คลุมเครือของจีนในช่วงที่ผ่านมา ได้กลายเป็นหนึ่งในอุปสรรคสำคัญต่อกระบวนการเจรจาสันติภาพบนคาบสมุทรเกาหลี เพราะการที่เกาหลีเหนือยังรู้สึกว่ามีจีนคอยหนุนหลังพวกเขาอยู่นั้น ทำให้พวกเขาสามารถเดินหน้าทดสอบอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูงเพื่อใช้เป็นหมากในการต่อรองกับประเทศมหาอำนาจได้ต่อไป
- ความเสี่ยงที่เกิดขึ้นจากนโยบายต่างประเทศของ “ทรัมป์"
นับตั้งแต่โดนัลด์ ทรัมป์ ก้าวขึ้นดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีแห่งสหรัฐในเดือนม.ค.ปีที่แล้ว ทรัมป์และคิม จอง อึน ผู้นำเกาหลีเหนือได้ทำสงครามน้ำลายต่อกันอย่างไม่ลดราวาศอก และทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆจนถึงขั้นต่างฝ่ายต่างก็อวดว่ามีปุ่มจุดระเบิดนิวเคลียร์ที่พร้อมทำงาน ซึ่งทำให้ทั่วโลกตกอยู่ในความเสี่ยงที่จะเกิดสงครามนิวเคลียร์ขึ้นทุกเมื่อ
นอกจากนี้ การที่โดนัลด์ ทรัมป์ เตรียมปรับยุทธศาสตร์โดยหันมาให้ความสำคัญกับเอเชียแปซิฟิกมากขึ้นในปี 2561 นั้น ก็ยิ่งสร้างความหวาดระแวงให้กับเกาหลีเหนือ และเพิ่มความเสี่ยงที่จะทำให้สองฝ่ายเกิดการกระทบกระทั่งกันมากขึ้น
อีกหนึ่งอุปสรรคสำคัญในการสร้างสันติภาพบนคาบสมุทรเกาหลีก็คือ จุดยืนอันแข็งกร้าวของสหรัฐที่ต้องการให้ภูมิภาคแห่งนี้ปลอดจากอาวุธนิวเคลียร์โดยสมบูรณ์ ซึ่งเป็นเงื่อนไขที่เป็นไปได้ยากหากสหรัฐยังคงสนับสนุนเกาหลีใต้และญี่ปุ่นในด้านอาวุธยุทโธปกรณ์ที่ล้ำสมัย เนื่องจากเกาหลีเหนือมองว่าการกระทำเช่นนี้เป็นการท้าทายเกาหลีเหนือโดยตรง
ถึงแม้วิกฤตการณ์ตึงเครียดบนคาบสมุทรเกาหลีจะเริ่มคลี่คลายลงบ้าง แต่ก็ยังไม่อาจด่วนสรุปได้ว่า เกาหลีเหนือจะยอมรับเงื่อนไขทั้งหมดจากนานาชาติเพื่อสร้างสันติภาพอย่างยั่งยืนต่อไป เพราะเรายังคงต้องจับตาดูกันต่อไปว่า เกาหลีเหนือจะมีท่าทีอย่างไร หลังจากที่สหรัฐและเกาหลีใต้เปิดฉากซ้อมรบตามกำหนดการใหม่ภายหลังมหกรรมกีฬาโอลิมปิกฤดูหนาวที่พย็องซังปิดฉากลง ซึ่งหากในเวลานั้น เกาหลีเหนือมีมาตรการตอบโต้ที่รุนแรงน้อยลงกว่าที่ผ่านๆมา ก็อาจเป็นสัญญาณบวกว่า “สันติภาพ" ยังสามารถเกิดขึ้นได้บนทางแพร่งเส้นขนานที่ 38