In Focusจับตาสัมพันธ์สหรัฐ-รัสเซียส่อเค้าระอุ จากชนวนเหตุโจมตีด้วยอาวุธเคมีในซีเรีย

ข่าวต่างประเทศ Wednesday April 11, 2018 15:56 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ประเด็นร้อนระอุเรื่องข้อกล่าวหาการโจมตีด้วยอาวุธเคมีในเมืองมาดูของซีเรีย เมื่อช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ได้ก่อให้เกิดความวิตกกังวลว่าเหตุการณ์ดังกล่าวจะลุกลามบานปลายกลายเป็นชนวนความขัดแย้งครั้งใหม่ในความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐและรัสเซียที่หลายฝ่ายมองว่าวิกฤตย่ำแย่อยู่แล้วหรือไม่

สถานการณ์ความตึงเครียดระหว่างสหรัฐและรัสเซียกลับมาระอุอีกครั้ง หลังจากที่ประธานาธิบดีทรัมป์ทวีตข้อความประณามเหตุการณ์โจมตีฐานที่มั่นของกลุ่มกบฎด้วยอาวุธเคมีในซีเรียว่าเป็นการกระทำที่ "น่ารังเกียจ" ผู้นำสหรัฐระบุว่า "มีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก ทั้งผู้หญิงและเด็กในเหตุโจมตีด้วยอาวุธเคมีที่ไร้เหตุผลในซีเรีย พื้นที่ดังกล่าวถูกปิดและโอบล้อมไปด้วยกองทัพรัสเซีย จึงทำให้คนจากภายนอกไม่สามารถเข้าไปได้ ขณะเดียวกันประธานาธิบดีปูติน รัสเซียและอิหร่าน มีส่วนรับผิดชอบต่อการหนุนหลังรัฐบาลซีเรีย และจะต้องชดใช้อย่างสาสม"

ข้อกล่าวหาการใช้อาวุธเคมีโจมตีกบฎซีเรีย

สำหรับถ้อยแถลงอันดุเดือดของผู้นำสหรัฐมีขึ้นนับตั้งแต่สมาคมการแพทย์ซีเรีย-อเมริกัน เปิดเผยว่า มีประชาชนกว่า 500 คนถูกส่งตัวเข้ารับการรักษาตามศูนย์การแพทย์แห่งต่างๆของเมืองดูมา ในเขตกูตาตะวันออก ใกล้กับกรุงดามัสกัส ด้วยอาการที่บ่งบอกว่ามีการสัมผัสกับสารเคมี เช่น หายใจลำบาก ผิวหนังเปลี่ยนเป็นสีน้ำเงิน น้ำลายฟูมปาก กระจกตาไหม้ รวมถึงมีกลิ่นเหมือนคลอรีน เบื้องต้นได้มีการประเมินตัวเลขผู้เสียชีวิตว่าอยู่ที่ราว 42-60 คน แต่คาดว่า จำนวนของผู้เสียชีวิตอาจเพิ่มสูงขึ้นอีก หลังจากที่หน่วยกู้ภัยสามารถเข้าถึงห้องใต้ดินที่ชาวซีเรียหลายร้อยครอบครัวใช้อาศัยเป็นที่หลบภัยจากการโจมตี

ข้อกล่าวหาเรื่องการใช้อาวุธเคมีก่อเหตุโจมตีในเมืองดูมาทำให้นานาประเทศต่างพากันออกมาประณามเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างรุนแรง นำโดยสหรัฐอเมริกา ฝรั่งเศสและสหราชอาณาจักร ซึ่งนายเอ็มมานูเอล มาครง ประธานาธิบดีฝรั่งเศสหารือทางโทรศัพท์กับประธานาธิบดีทรัมป์และเห็นพ้องที่จะแลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับเหตุโจมตี รวมถึงการประสานความร่วมมือกัน โดยประธานาธิบดีฝรั่งเศสประกาศจุดยืนจะกำหนดเป้าโจมตีคลังแสงอาวุธเคมีของซีเรีย ส่วนนายกรัฐมนตรี เทเรซา เมย์ ของอังกฤษ ที่แม้จะไม่ได้ตอบข้อซักถามเกี่ยวกับความเป็นไปได้ถึงความร่วมมือกับสหรัฐ หากมีการตัดสินใจใช้ปฎิบัติการทางทหาร แต่ระบุว่า ผู้ที่อยู่เบื้องหลังเหตุโจมตีครั้งนี้จะต้องรับผิดชอบ

ขณะที่ฝั่งของรัฐบาลซีเรียและรัสเซีย ซึ่งให้การสนับสนุนประธานาธิบดีบาชาร์ อัล อัสซาดแห่งซีเรีย ได้ออกมาปฎิเสธข้อกล่าวหาดังกล่าว พร้อมเปิดเผยว่า การโจมตีด้วยอาวุธเคมีในครั้งนี้เป็นการกุเรื่องขึ้น จึงทำให้ในเวลาต่อมาประธานาธิบดีทรัมป์ ประกาศจะดำเนินการตอบโต้อย่างรุนแรงต่อข้อกล่าวหาการใช้อาวุธเคมีโจมตีในซีเรีย ขณะเดียวกันสหรัฐมีทางเลือกในการตอบโต้ด้วยยุทธวิธีทางการทหารจำนวนมาก และจะตัดสินใจครั้งสำคัญเกี่ยวกับซีเรียในระยะเวลาอันใกล้นี้ โดยล่าสุดผู้นำสหรัฐได้ประกาศยกเลิกการเดินสายเยือนประเทศในทวีปอเมริกาใต้อย่างเป็นทางการครั้งแรกแล้ว เพื่อติดตามสถานการณ์และควบคุมการออกมาตรการตอบโต้ซีเรียอย่างใกล้ชิด

จัดประชุมวาระเร่งด่วนสอบข้อเท็จจริง

เสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรงจากบรรดาผู้นำชาติตะวันตกนำมาซึ่งการจัดประชุมวาระเร่งด่วนของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติหรือ UNSC เพื่อสอบสวนข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการใช้อาวุธเคมีในเมืองดูมา ท่ามกลางการตอบโต้กันอย่างเผ็ดร้อนระหว่างสหรัฐและรัสเซีย โดยนางนิกกี เฮลีย์ เอกอัครราชทูตสหรัฐประจำสหประชาชาติกล่าวโจมตีว่า มือของรัสเซียกำลังเปื้อนเลือดของเด็กๆชาวซีเรียและเรียกร้องให้จัดการลงคะแนนเสียงว่าด้วยร่างข้อมติเพื่อเปิดการไต่สวนกรณีการใช้อาวุธนิวเคลียร์ในซีเรียขึ้นใหม่อีกครั้ง แต่รัสเซียระบุว่า ไม่อาจเห็นชอบด้วยกันข้อเสนอดังกล่าวเนื่องจากมีองค์ประกอบบางประการที่ไม่สามารถยอมรับได้ ด้านนายวาสซิลี เนเบ็นเซีย เอกอัครราชทูตรัสเซียประจำสหประชาชาติกล่าวหาว่า เหตุโจมตีเป็นการจัดฉากของกลุ่มกบฎ พร้อมกับเชิญให้องค์การห้ามอาวุธเคมี (OPCW) เดินทางไปยังซีเรียได้ทันที เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงด้วยตัวเอง

นอกจากนี้รัสเซียยังใช้สิทธิ์วีโต้ร่างมติ UNSC ซึ่งเสนอโดยสหรัฐที่ต้องการตรวจสอบข้อเท็จจริงเรื่องการใช้อาวุธเคมีในซีเรีย อย่างไรก็ตามร่างมติดังกล่าวได้รับเสียงสนับสนุน 12 เสียงจากสมาชิกทั้งหมด 15 ชาติของ UNSC ที่ลงมติเห็นชอบข้อเสนอสหรัฐ โดยรัสเซียและโบลีเวียลงคะแนนเสียงคัดค้าน ส่วนจีนงดออกเสียง จึงทำให้ร่างฉบับนี้ไม่ได้รับการรับรอง เนื่องจากรัสเซียเป็นหนึ่งในสมาชิกถาวร 5 ชาติที่มีอำนาจในการใช้สิทธิ์ยับยั้งเพื่อสกัดกั้นได้

รัฐบาลซีเรียเคยใช้อาวุธเคมีมาก่อนหรือไม่?

ที่ผ่านมา ทางการซีเรียถูกกล่าวหาว่า ใช้อาวุธเคมีในการโจมตีตอบโต้กลุ่มกบฎต่อต้านรัฐบาลมาแล้วด้วยกันหลายต่อหลายครั้ง ย้อนกลับไปในเดือนสิงหาคม 2556 มีรายงานการใช้จรวดที่บรรจุก๊าซซารินยิงเข้าใส่บริเวณฐานที่มั่นของกลุ่มกบฎในเขตกูตาตะวันออก คร่าชีวิตประชาชนหลายร้อยคน ซึ่งรายงานผลการตรวจสอบของสหประชาชาติยืนยันว่ามีการใช้ก๊าซซารินจริง แต่ไม่ได้ระบุว่า ผู้ใดอยู่เบื้องหลังการโจมตี ขณะที่ประเทศมหาอำนาจตะวันตกวิพากษ์วิจารณ์ว่ามีเพียงกองกำลังของรัฐบาลซีเรียเท่านั้นที่สามารถกระทำการได้

เมื่อเดือนเมษายน 2560 มีรายงานผู้เสียชีวิตกว่า 80 คน จากการโจมตีด้วยก๊าซซาริน ในเมืองคาน เชอิคุน ซึ่งจากการสอบสวนร่วมระหว่างสหประชาชาติและ OPCW พบหลักฐานว่ามีการใช้อาวุธเคมีโจมตีเมืองดังกล่าว จึงได้เรียกร้องให้รัฐบาลซีเรียออกมาแสดงความรับผิดชอบ

นอกจากนี้นักเคลื่อนไหว แพทย์ และรัฐบาลสหรัฐยังระบุด้วยว่า กองกำลังของรัฐบาลซีเรียเข้าโจมตีด้วยการทิ้งระเบิดบรรจุก๊าซพิษคลอรีนเข้าใส่เมืองที่กลุ่มกบฎยึดครอง เมื่อช่วงต้นปีพ.ศ. 2561 ที่ผ่านมา โดยภารกิจร่วมของสหประชาชาติและ OPCW กำลังอยู่ระหว่างการสืบสวน ซึ่งก่อนหน้านี้พบกองกำลังรัฐบาลซีเรียใช้ก๊าซคลอรีนเป็นอาวุธเคมีโจมตีอย่างน้อย 3 ครั้งในช่วงสงครามกลางเมืองระยะเวลา 7 ปี แต่รัฐบาลของประธานาธิบดีอัสซาดได้ปฎิเสธเรื่องการใช้อาวุธเคมีมาโดยตลอดและยืนยันว่าคลังอาวุธเคมีถูกทำลายไปหมดแล้ว

สถานการณ์ในซีเรียดำเนินมาถึงจุดนี้ได้อย่างไร?

ก่อนหน้าที่ความขัดแย้งในประเทศจะปะทุขึ้น ชาวซีเรียต้องเผชิญกับปัญหาการว่างงาน การทุจริตคอร์รัปชั่น รวมถึงการขาดสิทธิเสรีภาพทางการเมืองภายใต้การบริหารประเทศของประธานาธิบดีบาซาร์ อัล อัสซาด ซึ่งสืบทอดอำนาจจากฮาฟิซ อัล อัสซาด ผู้เป็นบิดา ตั้งแต่ปี 2543 เป็นต้นมา

แต่การลุกฮือของประชาชนเพื่อต่อต้านการปกครองของรัฐบาลในตะวันออกกลางหรือ "อาหรับสปริง" ที่เกิดขึ้นในหลายประเทศเพื่อนบ้าน ช่วงเดือนมีนาคม 2554 ได้จุดชนวนให้เกิดขบวนการเรียกร้องประชาธิปไตยขึ้นในเมืองเดอรา ทางตอนใต้ของซีเรีย ก่อนหน้าที่การประท้วงจะลุกลามไปทั่วประเทศ หลังจากที่รัฐบาลส่งกองกำลังเข้าปราบปรามประชาชน ซึ่งออกมาเรียกร้องให้ประธานาธิบดีอัสซาดลาออกจากตำแหน่ง

สถานการณ์ความไม่สงบและการปราบปรามรุนแรงขึ้น ผู้สนับสนุนฝ่ายต่อต้านลุกขึ้นมาหยิบอาวุธเพื่อปกป้องตัวเองและขับไล่กองกำลังรัฐบาลที่เข้ามาในพื้นที่ จนทำให้ผู้นำซีเรียประกาศจะเดินหน้าบดขยี้ "กลุ่มก่อการร้ายที่ได้รับการสนับสนุนจากต่างชาติ" ให้หมดสิ้น

หลังจากนั้นความรุนแรงเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วและประเทศซีเรียก็ตกอยู่ในสงครามกลางเมืองอย่างเต็มรูปแบบ นับตั้งแต่สงครามกลางเมืองซีเรียเปิดฉากขึ้น มีรายงานผู้เสียชีวิตจากเหตุรุนแรงแล้ว 353,900 คน อ้างอิงจากข้อมูลล่าสุดในเดือนมีนาคม 2561 ขององค์กรสังเกตการณ์เพื่อสิทธิมนุษยชนซีเรีย ในจำนวนนี้เป็นพลเรือน 106,000 คน แต่ตัวเลขความสูญเสียดังกล่าวยังไม่ได้รวมอีก 56,900 คน ที่สูญหายหรือเสียชีวิตแล้ว ขณะที่ยังมีผู้เสียชีวิตอีก 100,000 คนที่คาดว่าไม่ได้รับการบันทึกไว้

ความขัดแย้งขยายวงกว้าง

ปัจจุบันขอบเขตความขัดแย้งของสงครามซีเรียขยายวงกว้างไปมากกว่าการต่อสู้ระหว่างกองกำลังของรัฐบาลซีเรียและกลุ่มกบฎ สู่นานาประเทศ ตลอดจนกลุ่มเคลื่อนไหวซึ่งต่างก็มีเป้าหมายของตัวเอง ทำให้สถานการณ์ซับซ้อนและยืดเยื้อมากยิ่งขึ้น ขณะเดียวกันกลุ่มเหล่านี้ถูกกล่าวหาว่าสร้างความเกลียดชังระหว่างกลุ่มผู้นับถือศาสนาอิสลาม นิกายซุนนี ซึ่งชาวซีเรียส่วนใหญ่นับถือ กับนิกายชีอะห์ อะลาวิต

การแบ่งแยกดังกล่าวทำให้ทั้งสองฝ่ายต่อสู้กันอย่างรุนแรง ชุมชนแตกแยก และดับความหวังที่ประเทศจะหวนคืนสู่สันติภาพ ขณะเดียวกันยังทำให้นักรบติดอาวุธจากกลุ่มรัฐอิสลามหรือ IS และกลุ่มอัลกออิดะห์ สามารถขยายอิทธิพลเข้ามาในพื้นที่ ตลอดจนกองกำลังเคิร์ดในซีเรียที่ต้องการปกครองตนเองแต่ยังไม่ได้เปิดฉากสู้รบกับกองกำลังของรัฐบาลซีเรีย ยิ่งเป็นการเพิ่มความซับซ้อนให้กับสถานการณ์ความขัดแย้งรุนแรงขึ้นไปอีก

ผู้เกี่ยวข้องในสงครามตัวแทน

ประเทศหลักๆที่ให้การสนับสนุนรัฐบาลซีเรีย ได้แก่ รัสเซียและอิหร่าน ส่วนกลุ่มกบฎได้รับการหนุนหลังจากสหรัฐ ตุรกีและซาอุดิอาระเบีย

สำหรับรัสเซีย ซึ่งมีฐานทัพตั้งอยู่ในซีเรียด้วยนั้น ให้ความช่วยเหลือรัฐบาลประธานาธิบดีอัสซาดในปี 2548 ด้วยปฎิบัติการโจมตีทางอากาศที่มีส่วนสำคัญในการทำให้กองกำลังซีเรียพลิกกลับขึ้นมาได้เปรียบอีกครั้ง โดยกองทัพรัสเซียระบุว่าพุ่งเป้าโจมตีผู้ก่อการร้ายเท่านั้น แต่นักเคลื่อนไหวเปิดเผยว่า มีการสังหารกลุ่มกบฎและพลเรือนอยู่เป็นระยะ

หลายฝ่ายเชื่อว่า อิหร่านส่งกองกำลังและมอบเงินหลายพันล้านดอลลาร์ในการช่วยเหลือผู้นำซีเรีย ขณะเดียวกันกลุ่มติดอาวุธที่นับถือศาสนาอิสลามนิกายชีอะห์ ซึ่งได้รับการฝึกฝนและสนับสนุนด้านการเงินจากอิหร่าน ทั้งจากกลุ่มฮิซบอลเลาะห์ในเลบานอน รวมถึงอิรัก อัฟกานิสถาน และเยเมน ได้ร่วมต่อสู้เคียงข้างกองทัพซีเรียด้วย

ขณะที่สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส และประเทศตะวันตกอื่นๆ ให้การสนับสนุนในระดับที่แตกต่างกันออกไปสำหรับกลุ่มกบฎสายกลาง โดยที่ผ่านมาชาติพันธมิตรร่วมปฎิบัติภารกิจโจมตีทางอากาศถล่มกลุ่ม IS ในซีเรียตั้งแต่ปี 2557 นอกจากนี้ยังได้ให้การช่วยเหลือกลุ่มติดอาวุธเคิร์ดและอาหรับที่มีชื่อว่า Syrian Democratic Forces (SDF) ยึดดินแดนคืนจากนักรบจีฮัด

ด้านตุรกีให้การสนับสนุนกลุ่มกบฎมาเป็นเวลานานแล้ว แต่พุ่งเป้าให้กองกำลังเหล่านี้ควบคุมกลุ่มกบฎเคิร์ด ซึ่งเป็นสมาชิกส่วนใหญ่ของ SDF ที่ตุรกีต่อต้าน ส่วนซาอุดิอาระเบียนั้น ต้องการคานอำนาจกับอิหร่าน จึงให้การสนับสนุนกลุ่มกบฎซีเรียทั้งด้านอาวุธและการเงิน ขณะที่อิสราเอลซึ่งวิตกกังวลเกี่ยวกับการเคลื่อนย้ายยุทโธปกรณ์ของอิหร่านไปให้กลุ่มฮิซบอลเลาะห์ในซีเรีย ได้ปฎิบัติการโจมตีทางอากาศ เพื่อสกัดกั้นการขนส่งดังกล่าว

วิกฤตความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐ-รัสเซีย

อย่างไรก็ตาม หลายฝ่ายมองว่าความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐ และรัสเซียดำเนินมาถึงจุดที่วิกฤตที่สุดแล้ว เมื่อไม่นานมานี้รัฐบาลสหรัฐเพิ่มแรงกดดันด้วยการสั่งขับนักการทูตรัสเซีย 60 คนกลับประเทศ เพื่อแสดงจุดยืนร่วมกับสหราชอาณาจักรในการตอบโต้กรณีที่รัสเซียถูกกล่าวหาว่าลอบสังหารอดีตสายลับและบุตรสาวด้วยสารพิษร้ายแรง พร้อมประกาศมาตรการคว่ำบาตรต่อนักธุรกิจและเจ้าหน้าที่ระดับสูงรัสเซียช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา จากการที่รัสเซียแทรกแซงการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ เมื่อปี 2559 ความเคลื่อนไหวของสหรัฐทำให้รัสเซียตอบโต้ที่กลับรุนแรงไม่แพ้กัน ด้วยการขับนักการทูตอเมริกันกลับประเทศ และให้คำมั่นจะดำเนินมาตรการคว่ำบาตรสหรัฐอย่างเข้มงวด

ขณะที่ท่าทีข่มขู่ของประธานาธิบดีทรัมป์เกี่ยวกับความเป็นไปได้ของการใช้ทางเลือกทางการทหารในการตอบโต้เหตุโจมตีด้วยอาวุธเคมีในซีเรีย จะยิ่งทำให้ความสัมพันธ์ของสหรัฐและรัสเซียตึงเครียดขึ้น ทั้งยังเป็นภัยคุกคามต่อการจัดตั้งพื้นที่สำหรับลดความรุนแรงและสายด่วนทางทหาร ที่ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องร่วมกันจัดตั้งขึ้นโดยมีเป้าหมายหลักที่จะหลีกเลี่ยงความขัดแย้งและกระทบกระทั่งกันในซีเรียด้วย

ด้านผู้เชี่ยวชาญระบุว่าการข่มขู่ว่าจะใช้กำลังทางทหารของประธานาธิบดีทรัมป์ถือเป็นความผิดผลาดอันใหญ่หลวง เมื่อเทียบกับแถลงการณ์ของผู้นำสหรัฐเมื่อสัปดาห์ก่อน ซึ่งประกาศจะถอนกำลังทหารออกจากซีเรียในเร็ววัน ที่ผ่านมารัสเซียและซีเรียได้เรียกร้องให้สหรัฐถอนกำลังทหารออกจากพื้นที่สู้รบ เนื่องจากละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศและอเมริกาส่งทหารเข้าไปสมรภูมิโดยไม่ได้รับอนุญาต

อัฟชิน โมลาวี นักวิจัยอาวุโสจากมหาวิทยาลัยจอห์น ฮอปกินส์ของสหรัฐได้ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวซินหัวว่า คำขู่จะใช้กำลังทหารตอบโต้กับข้อกล่าวหาเรื่องการโจมตีด้วยอาวุธเคมีในซีเรียจะไม่สามารถเปลี่ยนแปลงสมดุลของอำนาจในพื้นที่ได้ แต่จะเป็นการสร้างความสับสนให้กับสหรัฐเอง เนื่องจาก "เป็นนโยบายที่สับสนวุ่นวายมาก เพราะในแง่หนึ่งสหรัฐแสดงความประสงค์ที่จะถอนกำลังทหารออกจากสนามรบ แต่ในขณะเดียวกันก็ข่มขู่ว่าจะใช้กำลังทหารเข้าโจมตี"

อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาสหรัฐเคยใช้ขีปนาวุธโทมาฮอว์ค 59 ลูกเข้าใส่ฐานทัพอากาศในซีเรีย เมื่อเดือนเมษายนปีที่แล้ว เพื่อตอบโต้ต่อกรณีที่กองทัพซีเรียที่ใช้อาวุธเคมีโจมตีประชาชน นับเป็นปฎิบัติการทางทหารครั้งแรกของสหรัฐตอบโต้ปฎิบัติการของกองทัพซีเรีย จึงทำให้หลายฝ่ายจับตาถึงความเป็นไปได้ในการใช้ขีปนาวุธโจมตีฐานทัพของซีเรียอีกครั้ง เนื่องจากตอนนี้เรือพิฆาตติดตั้งระบบขีปนาวุธนำวิถี "ยูเอสเอส โดนัลด์ คุก" ของสหรัฐ กำลังลอยลำอยู่ในทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ขณะเดียวกัน Eurocontrol หน่วยงานควบคุมการจราจรทางอากาศของยุโรปก็ได้ประกาศเตือนสายการบินให้พิจารณาเส้นทางการบินแถบตะวันออกของทะเลเมดิเตอร์เรเนียนในอีกไม่กี่วันข้างหน้า เนื่องจากอาจจะมีการยิงขีปนาวุธเข้าใส่ซีเรีย ซึ่งรัสเซียออกโรงเตือนว่า สหรัฐจะต้องรับผิดชอบต่อปฎิบัติการทางทหารของตนที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบอย่างร้ายแรงตามมาด้วย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ