นักลงทุนทั่วโลกต่างคิดว่าสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีนคงจะไม่มีทางเกิดขึ้น หลังจากที่ประธานาธิบดีสี จิ้นผิงกล่าวสุนทรพจน์ในพิธีเปิดการประชุมโป๋อ่าว ฟอรั่ม ฟอร์ เอเชีย (BFA) โดยให้คำมั่นว่าจีนจะปรับลดภาษีนำเข้ารถยนต์และสินค้าอื่นๆ และเปิดกว้างตลาดให้แก่ต่างชาติ รวมทั้งเพิ่มการคุ้มครองสิทธิทรัพย์สินทางปัญญา หลังจากที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์แสดงความไม่พอใจต่อจีนก่อนหน้านี้
อย่างไรก็ดี ผู้ที่มีความคิดมองโลกสวยเช่นนี้ คงต้องกลับมาคิดใหม่ เนื่องจากเจ้าหน้าที่จีนออกมายืนยันว่า การที่ปธน.สี จิ้นผิงแสดงท่าทีดังกล่าว ไม่ได้หมายความว่าจีนยอมอ่อนข้อให้แก่สหรัฐ และทั้งสองฝ่ายยังไม่มีการเจรจาเพื่อลดความขัดแย้งทางการค้าแต่อย่างใด
ขณะเดียวกัน นักวิเคราะห์เตือนว่า หากทั้งสองฝ่ายยังคงตั้งป้อมไม่มีใครยอมใคร จนเกิดสงครามการค้าเต็มรูปแบบ จีนก็อาจจะงัดไม้ตายซึ่งเป็นอาวุธหนักออกมาถล่มสหรัฐ ด้วยการเทขายพันธบัตรสหรัฐที่จีนถือครองอยู่ และลดค่าเงินหยวน
In Focus สัปดาห์นี้จะเจาะลึกการทำสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีน รวมทั้งอาวุธเด็ดที่จีนมีอยู่ในมือที่อาจจะส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อเศรษฐกิจสหรัฐ และเศรษฐกิจโลก
*สหรัฐ VS จีนแลกหมัด ประกาศขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าแต่ละฝ่าย
หลังจากที่ฮึ่มๆมาพักใหญ่ ปธน.ทรัมป์ก็ได้เริ่มออกหมัดแรกด้วยการประกาศเรียกเก็บภาษีเหล็ก 25% อะลูมิเนียม 10% ต่อจีน แต่ยกเว้นสำหรับแคนาดา และเม็กซิโก รวมทั้งมีการผ่อนผันให้แก่สหภาพยุโรป ซึ่งจีนก็ได้สวนกลับด้วยการเรียกเก็บภาษีนำเข้า 25% ต่อสินค้าสหรัฐ จำนวน 128 รายการ ซึ่งรวมถึงหมูแช่แข็ง ไวน์ ไปจนถึงผลไม้ต่างๆ และลูกนัท ส่งผลให้ปธน.ทรัมป์กดดันจีนเพิ่มขึ้นด้วยการเก็บภาษีนำเข้าต่อสินค้าด้านเทคโนโลยี อุตสาหกรรมขนส่ง และเวชภัณฑ์วงเงิน 6 หมื่นล้านดอลลาร์ โดยอ้างว่าเพื่อลงโทษจีนกรณีละเมิดสิทธิทรัพย์สินทางปัญญาของบริษัทสหรัฐ ซึ่งจีนก็ได้โต้กลับทันควัน โดยประกาศเก็บภาษีนำเข้า 25% ต่อสินค้าสหรัฐจำนวน 106 รายการ รวมทั้งถั่วเหลือง รถยนต์ เคมีภัณฑ์ ชิ้นส่วนเครื่องบิน ผลิตภัณฑ์ข้าวโพดและสินค้าเกษตรอื่นๆ
*"สี จิ้นผิง"ทำเซอร์ไพรส์ กล่าวสุนทรพจน์ทำทั่วโลกคาดสงครามการค้าคลี่คลาย
สถานการณ์ความขัดแย้งทางการค้าระหว่างสหรัฐและจีนทำท่าจะลุกลามบานปลาย ส่งผลให้ตลาดหุ้นทรุดตัวลงทั่วโลก เนื่องจากกังวลว่าการทำสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีนจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลก อย่างไรก็ดี ปธน.สี จิ้นผิง ก็ได้สร้างความประหลาดใจด้วยการกล่าวสุนทรพจน์ในการประชุมโป๋อ่าว ฟอรั่ม ฟอร์ เอเชีย (BFA) ว่าจีนจะเปิดกว้างตลาดการค้าแก่ต่างชาติ และจะลดภาษีนำเข้ารถยนต์ รวมทั้งสินค้าอื่นๆ ส่งผลให้ตลาดหุ้นพุ่งขึ้นทั่วโลก เนื่องจากคาดว่าทั้งสองฝ่ายจะสามารถคลี่คลายความขัดแย้งทางการค้าได้
*เจ้าหน้าที่จีนดับฝัน แจง"สี จิ้นผิง"ไม่ได้อ่อนข้อให้กับสหรัฐ
อย่างไรก็ดี นักลงทุนต้องกลับมาจับตาสถานการณ์การค้าระหว่างสหรัฐและจีนอีกครั้งหนึ่ง หลังจากที่กระทรวงพาณิชย์จีนแถลงชี้แจงว่า การที่ปธน.สี จิ้นผิงประกาศว่าจะลดภาษีนำเข้ารถยนต์ และเปิดตลาดสำหรับต่างชาติ ไม่ได้เป็นการแสดงว่าจีนยอมอ่อนข้อให้แก่สหรัฐ และจีนจะไม่ลังเลที่จะตอบโต้ ถ้าสหรัฐยังคงตั้งกำแพงภาษีต่อสินค้าจีนต่อไป
นายเกา เฟิง โฆษกกระทรวงพาณิชย์จีน กล่าวว่า จะเป็นการสร้างความเข้าใจผิด ถ้ามีการกล่าวว่า การที่ปธน.สี จิ้นผิงให้คำมั่นว่าจะเปิดตลาดจีนแก่ต่างชาติ เป็นเพราะจีนยอมอ่อนข้อต่อสหรัฐ โดยผู้นำจีนเพียงแต่เปิดเผยยุทธศาสตร์ของจีนในการเปิดกว้างตลาด โดยไม่เกี่ยวข้องกับความขัดแย้งทางการค้ากับสหรัฐ
นายเกากล่าวว่า จีนและสหรัฐยังไม่มีการเจรจาแก้ไขข้อพิพาททางการค้าแต่อย่างใด ขณะที่สหรัฐเองก็ยังไม่ได้แสดงความจริงใจที่จะเจรจาด้วยเช่นกัน
ทางด้านกระทรวงการต่างประเทศจีนออกแถลงการณ์ระบุว่า สหรัฐเป็นฝ่ายต้องถูกตำหนิจากความขัดแย้งทางการค้าที่เกิดขึ้น และเป็นไปไม่ได้ที่การเจรจาแก้ไขข้อพิพาททางการค้าจะเกิดขึ้น ท่ามกลางสถานการณ์ที่เป็นอยู่ในขณะนี้
นายเกิง ชวง โฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีน กล่าวในการแถลงข่าวว่า "ภายใต้สถานการณ์ในปัจจุบัน ทั้งสองฝ่ายไม่สามารถเจรจากันเกี่ยวกับประเด็นเหล่านี้ ขณะที่มาตรการของสหรัฐได้สร้างความกังวลต่อประชาคมโลก"
"ด้านหนึ่งนั้น สหรัฐขู่ที่จะใช้มาตรการคว่ำบาตร ขณะที่ในเวลาเดียวกัน พวกเขาก็บอกว่าพร้อมที่จะเจรจา ผมไม่แน่ใจว่าสหรัฐกำลังแสดงละครฉากนี้ให้ใครดู" นายเกิงกล่าว
*นักวิเคราะห์เตือนศึกนี้ยังไม่จบง่ายๆ
นายสก็อต เคนเนดี ผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับจีนของศูนย์ยุทธศาสตร์และการศึกษาระหว่างประเทศ กล่าวว่า "ไม่มีอะไรใหม่ในสุนทรพจน์ของปธน.สี จิ้นผิง โดยเขาแค่พูดถึงขั้นตอนในการขยายการเปิดกว้างตลาด โดยจีนกำลังเข้าสู่ช่วงใหม่ของการเปิดตลาด"
ส่วนนายอีแวน เมเดรอส กรรมการผู้จัดการของยูเรเซีย กรุ๊ป และนายไมเคิล เฮอร์สัน ผู้อำนวยการของบริษัท ออกรายงานระบุว่า "ปธน.สี จิ้นผิงเสนอมาตรการที่ก่อนหน้านี้จีนเคยสัญญาไว้อยู่แล้ว และไม่มีส่วนใดในแถลงการณ์ที่ระบุถึงการแก้ไขความขัดแย้งทางการค้ากับสหรัฐ เราประเมินว่าไม่มีสิ่งใดในสุนทรพจน์ที่จะทำให้สหรัฐยกเลิกการใช้มาตรการทางภาษีต่อจีน"
*จับตาจีนใช้ไพ่ตายเทขายบอนด์สหรัฐ
นักวิเคราะห์เตือนว่าหากทั้งสองฝ่ายยังคงออกมาตรการตอบโต้กันแบบตาต่อตาฟันต่อฟัน ในท้ายที่สุดจีนอาจเลือดเข้าตางัดไม้ตายมาโจมตีสหรัฐ ด้วยการเทขายพันธบัตรสหรัฐที่จีนถือครองในมือซึ่งมีมูลค่ารวม 1.18 ล้านล้านดอลลาร์ โดยจีนนับเป็นประเทศที่ถือครองพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐมากที่สุดในโลก หรือพูดอีกแง่หนึ่งก็คือ จีนเป็นประเทศเจ้าหนี้รายใหญ่ที่สุดของสหรัฐ
ก่อนหน้านี้ จีนเคยขายพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐในปี 2559 และ 2560 หลังจากหยวนแข็งค่าขึ้น แต่หลังจากนั้น จีนก็ยังคงเดินหน้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐต่อไป
*คาดเศรษฐกิจโลกป่วนแน่ หากจีนเทขายบอนด์สหรัฐ
นายเจฟฟ์ มิลส์ หัวหน้านักวิเคราะห์ด้านการลงทุนจากพีเอ็นซี ไฟแนนเชียล เซอร์วิสเซส กรุ๊ป กล่าวว่า จีนจะเทขายพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอย่างแน่นอน ซึ่งจะส่งผลกระทบครั้งใหญ่ต่อตลาดการเงินทั่วโลก โดยผลกระทบที่เห็นชัดเจนที่สุดก็คือราคาพันธบัตรจะดิ่งลง ขณะที่อัตราดอกเบี้ยในตลาดการเงินจะพุ่งขึ้นตามอัตราผลตอบแทนพันธบัตร ซึ่งจะทำให้ภาคเอกชนและผู้บริโภคของสหรัฐมีต้นทุนแพงขึ้นในการกู้ยืม และจะฉุดให้เศรษฐกิจสหรัฐชะลอตัวในที่สุด
นอกจากนี้ การพุ่งขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลยังจะทำให้รัฐบาลสหรัฐมีค่าใช้จ่ายมากขึ้นในการออกพันธบัตรใหม่ เนื่องจากต้องจ่ายผลตอบแทนมากขึ้น ขณะที่พันธบัตรรัฐบาลสหรัฐจำนวน 15 ล้านล้านดอลลาร์ที่รัฐบาลสหรัฐและประเทศอื่นๆถือครองอยู่จะมีมูลค่าลดลง
ขณะเดียวกัน การพุ่งขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลจะส่งผลให้ตลาดหุ้นวอลล์สตรีททรุดตัวลง และจะมีผลลุกลามไปยังตลาดหุ้นทั่วโลก
ผลกระทบดังกล่าวข้างต้นจะเพิ่มมากเป็นทวีคูณ หากรัฐบาลประเทศอื่นๆเกิดความตื่นตระหนก และพากันเทขายพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐตามจีน
ขณะนี้ จีนถือครองพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐราว 20% ของพันธบัตรที่ถือครองโดยรัฐบาลอื่นๆที่ไม่ใช่สหรัฐ และคิดเป็นสัดส่วน 5% ของพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐทั้งหมดในตลาดทั้งในสหรัฐและประเทศอื่นๆ
*นักวิเคราะห์เตือนจีนเจ็บตัว หากคิดสั้นเทขายบอนด์สหรัฐ
นายวินเซนต์ ไรน์ฮาร์ท หัวหน้านักวิเคราะห์ของบีเอ็นวาย เมลลอน กล่าวว่า ปธน.สี จิ้นผิงคงจะต้องอยู่ในอารมณ์ชั่ววูบที่เดือดดาลสหรัฐอย่างมาก จนต้องเลือกใช้วิธีการเทขายพันธบัตรเพื่อตอบโต้สหรัฐ โดยไม่สนใจผลลัพธ์ที่จะตามมา เนื่องจากจริงๆแล้ว หากจีนตัดสินใจเทขายพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ ก็จะส่งผลกระทบต่อระบบการเงินของจีนเองเช่นเดียวกัน
"เหมือนกับคุณจับตัวคุณเองเป็นตัวประกัน และเอาปืนจ่อหัวของคุณ แล้วบอกว่า ‘อย่าเข้ามานะ ไม่งั้นผมยิงหัวไอ้หมอนี่แน่’" นายไรน์ฮาร์ทกล่าว
หากจีนต้องการเทขายพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ อย่างน้อยจีนก็ต้องขายพันธบัตรบางส่วนในราคาขาดทุน และถ้ารัฐบาลประเทศอื่นเกิดความตื่นตระหนก และผสมโรงขายพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐออกมาจนทำให้ราคายิ่งตกต่ำลง ก็จะทำให้จีนขาดทุนเป็นจำนวนหลายพันล้านดอลลาร์
ขณะเดียวกัน ดอลลาร์ที่ดิ่งลงอันเป็นผลจากการที่จีนเทขายพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ จะกลับกลายเป็นผลดีต่อการส่งออกของสหรัฐ เนื่องจากจะทำให้ราคาสินค้าของสหรัฐถูกลง และจะทำให้จีนเป็นฝ่ายเสียเปรียบด้านการส่งออก
นอกจากนี้ ยังไม่มีการรับประกันว่า การเทขายพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐของจีนจะสร้างความเสียหายต่อสหรัฐตามที่จีนต้องการ เนื่องจากหากประเทศอื่นๆพากันเข้าซื้อพันธบัตรที่จีนขายออกมา ก็จะช่วยให้อัตราดอกเบี้ยยังคงมีเสถียรภาพ
ทั้งนี้ พันธบัตรรัฐบาลสหรัฐยังคงถือเป็นสินทรัพย์ปลอดภัย ซึ่งนักลงทุนและรัฐบาลประเทศต่างๆจะพากันเข้าซื้อ หากเศรษฐกิจโลกเผชิญกับความผันผวน
*อาวุธลับที่ 2 ของจีน:หั่นค่าเงินหยวน
นักวิเคราะห์ระบุว่า นอกจากการเทขายพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐแล้ว จีนยังมีหมัดเด็ดที่จะจัดการกับสหรัฐ ซึ่งก็คือการประกาศลดค่าเงินหยวน ซึ่งจะทำให้สินค้าจีนได้เปรียบในการส่งออก และทำให้จีนเกินดุลการค้ากับสหรัฐมากยิ่งขึ้น ซึ่งก็จะยิ่งทำให้ปธน.ทรัมป์ไม่พอใจจีนมากขึ้น
ล่าสุด ปธน.ทรัมป์ทวีตข้อความเมื่อวันจันทร์ กล่าวหาจีนว่าจงใจลดค่าเงิน
"รัสเซียและจีนกำลังเล่นเกมลดค่าเงิน ขณะที่สหรัฐกำลังปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย นี่เป็นเรื่องที่ยอมรับไม่ได้" ข้อความในทวิตเตอร์ระบุ
ทางด้านกระทรวงการคลังสหรัฐออกรายงานในวันศุกร์ระบุว่า จีนยังคงถูกขึ้นบัญชีในฐานะประเทศที่"ถูกจับตามอง"พฤติกรรมการดำเนินการเกี่ยวกับค่าเงิน และนโยบายเศรษฐกิจมหภาค
*จีนอาจใช้มาตรการปลีกย่อยตอบโต้สหรัฐ
นอกจากนี้ จีนอาจตอบโต้สหรัฐด้วยวิธีที่ไม่ใช่การกำหนดอัตราภาษี และอัตราแลกเปลี่ยน โดยจะกำหนดกฎระเบียบมากขึ้นสำหรับการออกวีซ่าให้กับชาวสหรัฐที่ต้องการไปทำงานในจีน รวมทั้งตั้งข้อจำกัดต่อภาคธุรกิจของสหรัฐที่จะไปลงทุนในจีน
*แต่สุดท้าย สงครามการค้าอาจเป็นแค่สงครามน้ำลาย
อย่างไรก็ดี มีการมองกันว่า ในที่สุดแล้ว การทำสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีนอาจไม่มีทางเกิดขึ้นจริง โดยคำขู่ของปธน.ทรัมป์เป็นเพียงกลยุทธ์การทำสงครามน้ำลายที่เขาถนัดในการบีบบังคับคู่ต่อสู้ให้หันกลับมาสู่โต๊ะเจรจา เพราะตามขั้นตอนของสหรัฐ มาตรการเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากจีน จะยังไม่มีผลบังคับใช้ในทันที โดยบริษัทสหรัฐจะมีเวลาจนถึงวันที่ 22 พ.ค. ในการแสดงความคิดเห็น และทางสำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐ (USTR) จะเริ่มเปิดการรับฟังความเห็นจากประชาชนทั่วไปในวันที่ 15 พ.ค. โดยปธน.ทรัมป์อาจต้องการกดดันให้จีนกลับมาเจรจา เหมือนที่เขาทำสำเร็จมาแล้วกับนายคิม จอง อึน ผู้นำเกาหลีเหนือ ซึ่งปธน.ทรัมป์เคยขู่ว่าจะถล่มเกาหลีเหนือให้สิ้นซาก หากไม่ยุติโครงการทดลองขีปนาวุธ และอาวุธนิวเคลียร์ แถมยังตั้งชื่อล้อเลียนนายคิมว่าเป็น "มนุษย์จรวด" ขณะที่นายคิมตอกหน้าปธน.ทรัมป์ว่าเป็น "ตาเฒ่าสติเลอะเลือน" จนคนทั่วไปมองกันว่าผู้นำของทั้งสองประเทศนี้คงเป็นประเภท"ผีไม่เผา เงาไม่เหยียบ" แต่สุดท้ายนายคิมก็ทำเอาทั้งโลกช็อกด้วยการประกาศว่าพร้อมพบปะปธน.ทรัมป์เพื่อเจรจายุติโครงการนิวเคลียร์
นอกจากนี้ ก่อนที่จะมีการบังคับใช้มาตรการเรียกเก็บภาษีจริง ก็คาดว่าบรรดาที่ปรึกษาของผู้นำสหรัฐและจีนคงจะเตือนสติผู้นำของตนว่าไม่มีฝ่ายใดเป็นผู้ชนะในการทำสงครามการค้า โดยจะสะบักสะบอมกันทั้งคู่ โดยเฉพาะภาคธุรกิจและผู้บริโภคของสหรัฐที่จะต้องมีค่าใช้จ่ายมากขึ้นจากการใช้สินค้านำเข้าจากจีนที่มีราคาแพงขึ้น
นายแลร์รี่ คุดโลว์ ผู้อำนวยการสภาเศรษฐกิจแห่งชาติประจำทำเนียบขาว กล่าวว่า การประกาศเรียกเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนอาจไม่มีการบังคับใช้จริงในที่สุด
"ใช่ มีความเป็นไปได้" นายคุดโลว์กล่าวตอบผู้สื่อข่าว หลังถูกถามว่า มีโอกาสหรือไม่ที่มาตรการเรียกเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนอาจไม่มีการนำมาบังคับใช้จริง
นายคุดโลว์กล่าวว่า มาตรการดังกล่าวถือเป็นกลยุทธ์ในการบังคับให้จีนกลับมาเจรจาเกี่ยวกับพฤติกรรมทางการค้า
"เรื่องนี้เหมือนกับการใช้ไม้นวมและไม้แข็ง ซึ่งจริงๆแล้วท่านประธานาธิบดีเป็นผู้ที่เชื่อในการค้าเสรี และท่านต้องการแก้ไขปัญหานี้โดยให้เจ็บปวดน้อยที่สุด" เขากล่าว
ทางด้านนายวิลเบอร์ รอส รมว.พาณิชย์สหรัฐ กล่าวว่า การประกาศเรียกเก็บภาษีเป็นปัจจัยต่อรองเพื่อทำให้ประเทศคู่ค้ากลับสู่โต๊ะเจรจา
สำหรับประเทศไทยคงต้องจับตาแนวโน้มการทำสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีนต่อไปว่าจะเกิดขึ้นอย่างที่ทั่วโลกวิตกกันหรือไม่ ขณะที่รัฐบาลไทยก็จะต้องเตรียมมาตรการรองรับผลกระทบที่อาจลุกลามมาถึงไทย โดยเฉพาะภาคการส่งออกของประเทศ