In Focusหนทางจากข้อตกลงสงบศึกสู่สนธิสัญญาแห่งสันติภาพของเกาหลีใต้และเกาหลีเหนือ

ข่าวต่างประเทศ Wednesday May 2, 2018 16:29 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

"A new history begins now" คือ สิ่งที่ "คิม จอง อึน" ผู้นำเกาหลีเหนือ ได้เขียนลงในสมุดบันทึกของแขกผู้มาเยือนอาคารสันติภาพที่หมู่บ้านปันมุนจอม ซึ่งเป็นสถานที่ต้อนรับผู้นำเกาหลีเหนือที่สร้างประวัติศาสตร์ด้วยการเดินทางเยือนเกาหลีใต้ เพื่อเข้าร่วมการประชุมสุดยอดกับประธานาธิบดีเกาหลีใต้ แต่ประวัติศาสตร์หน้าใหม่จะเกิดขึ้นได้อย่างเป็นรูปธรรมหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับหลายฝ่าย การดำเนินการ จุดยืนและท่าทีของประเทศและองค์กรที่เกี่ยวข้อง

เป้าหมายในการยุติภาวะสงครามด้วยการจัดทำสนธิสัญญาแห่งสันติภาพ ถือเป็นอีกฉากของการเดินไปสู่การสร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ นอกเหนือไปจากปฏิญญาปันมุนจอมที่ได้มีการประกาศภายหลังการประชุมสุดยอดแล้ว สนธิสัญญาสันติภาพและการยุติโครงการนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือเป็นอีกประเด็นที่ In Focus สัปดาห์นี้ จะนำเสนอ

หนทางจากข้อตกลงสงบศึกสู่สนธิสัญญาแห่งสันติภาพ

ในเชิงเทคนิคแล้ว เกาหลีเหนือและเกาหลีใต้ยังอยู่ในภาวะของการพักรบหรือการสงบศึก ซึ่งถือเป็นสถานภาพที่เรื้อรังอันเนื่องมาจากผลพวงของสงครามเกาหลี แม้ว่าจะไม่ได้มีการสู้รบเกิดขึ้นจริงก็ตาม แต่ด้วยจุดยืนที่เปลี่ยนแปลงไปจากการที่ผู้นำสองเกาหลีได้พบปะกันนั้น เกาหลีเหนือและเกาหลีใต้ต้องการที่จะยุติสถานะดังกล่าว ด้วยการวางแผนที่จะจัดทำสนธิสัญญาแห่งสันติภาพ (Peace Treaty)

การที่จะจัดทำสนธิสัญญาสันติภาพไม่สามารถเดินหน้าได้ด้วยเกาหลีเหนือและเกาหลีใต้แค่เพียง 2 ฝ่ายเท่านั้น เนื่องจากข้อตกลงในการสงบศึกนั้นได้ลงนามโดยองค์การสหประชาชาติ ภายใต้การนำของสหรัฐ จีน และเกาหลีเหนือ ในขณะที่เกาหลีใต้ไม่ได้เป็นประเทศที่มีส่วนร่วมในข้อตกลงดังกล่าว นอกจากนี้ การแปรเปลี่ยนข้อตกลงสงบศึกไปสู่สนธิสัญญาสันติภาพยังมีนัยในเรื่องความมั่นคงในภูมิภาคด้วยเช่นกัน

ด้วยเหตุนี้ เราจึงได้เห็นความเคลื่อนไหวของจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องโดยตรงและทางอ้อมกับข้อตกลงสงบศึก ล่าสุด ก็ได้มีการเอ่ยถึงกองทัพของสหรัฐที่จะประจำการอยู่ในเกาหลีใต้ขึ้นในวันนี้ในทำนองข้อสงสัยที่ว่า การยุติสถานะของการสงบศึกจะนำไปสู่การถอนทหารสหรัฐออกจากเกาหลีใต้หรือไม่ ซึ่งที่ปรึกษาพิเศษของประธานาธิบดีมูน แจ อิน แห่งเกาหลีใต้ก็ได้แสดงความคิดเห็นไว้ในบทความว่า เป็นเรื่องที่ลำบากที่จะอธิบายถึงกองทัพสหรัฐที่จะประจำการอยู่ในเกาหลีใต้ ภายหลังจากที่สนธิสัญญามีผลบังคับใช้ ขณะที่มูน แจ อิน มองว่า กองทัพสหรัฐในเกาหลีใต้เป็นเรื่องของความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐและเกาหลีใต้ และไม่มีส่วนเกี่ยวพันกับการลงนามในสนธิสัญญาสันติภาพแต่อย่างใด

ด้วยจุดยืนดังกล่าว ทำให้หนทางเดินหน้าสู่การจัดทำสนธิสัญญามีแนวโน้มว่าจะต้องใช้เวลา เพราะการที่กองทัพสหรัฐประจำการอยู่ในเกาหลีใต้นั้น เป็นสิ่งที่เกาหลีเหนือคงจะไม่ต้องการเท่าไรนัก เพราะเกาหลีเหนือมองว่า สนธิสัญญาสันติภาพเป็นเสมือนหลักประกันของการอยู่รอดของเกาหลีเหนือ ซึ่งควรจะมีเนื้อหาที่ครอบคลุมถึงเรื่องการถอนทหารสหรัฐออกจากเกาหลีใต้ด้วย

สหรัฐเป็นอีกประเทศที่มีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรงกับสนธิสัญญา ขณะที่นายวิคเตอร์ ชา อดีตเจ้าหน้าที่สภาความมั่นคงแห่งชาติของทำเนียบขาวได้กล่าวกับสำนักข่าวยอนฮัพไว้ว่า "การประชุมสุดยอดครั้งนี้สะท้อนให้เห็นถึงความกระตือรือร้นของผู้นำสองเกาหลีและประชาชนชาวเกาหลีในประเด็นที่ว่า คาบสมุทรเกาหลีไม่สมควรที่จะต้องเผชิญกับสงครามอีก และเรื่องนี้เป็นสิ่งที่สำคัญและประเทศต่างๆทั่วโลกเองก็พึงพอใจกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น"

"แต่สิ่งที่ชัดเจนของการประชุมสุดยอด ก็คือ ความสำคัญของสหรัฐที่จะเติมเต็มซึ่งเป้าหมายต่างๆที่สองผู้นำเกาหลีได้วางไว้" สิ่งที่วิคเตอร์กล่าวไว้เบื้องต้นนี้ สะท้อนให้เห็นถึงบทบาทที่สำคัญของสหรัฐ

การยุติโครงการนิวเคลียร์

ผู้นำเกาหลีเหนือได้กล่าวไว้ในการประชุมสุดยอดที่หมู่บ้านปันมุนจอมว่า จะปิดฐานทดสอบนิวเคลียร์ในเดือนพ.ค.นี้ โดยจะเปิดโอกาสให้สื่อมวลชนได้เข้ามาติดตามความเคลื่อนไหวดังกล่าว แต่การยุติโครงการนิวเคลียร์จะปรากฏเป็นรูปธรรมหรือไม่นั้น มีหลายปัจจัยที่ท้าทายให้ติดตาม เพราะโครงการนิวเคลียร์ถือเป็นไม้ตายในการต่อรองของเกาหลีเหนือมาโดยตลอด แต่การที่จะยุติโครงการนิวเคลียร์ เกาหลีเหนือย่อมต้องการสิ่งแลกเปลี่ยน

บรูซ คัมมิงส์ นักประวัติศาสตร์ชาวอเมริกันเจ้าของผลงาน "Origins of the Korean War" มองว่า ประเด็นการยุติโครงการนิวเคลียร์ที่ได้มีการระบุในแถลงการณ์อย่างเป็นทางการของการประชุมสุดยอดนั้น เป็นประเด็นที่ยังไม่สามารถฟันธงได้ในขณะนี้ว่า เกาหลีเหนือจริงใจมากน้อยเพียงใดในการทำตามเป้าหมายที่ระบุไว้ในแถลงการณ์ภายหลังการประชุม นอกจากนี้ คัมมิงส์ ยังไม่แน่ใจด้วยว่า การเจรจาต่อรองกับสหรัฐนั้น เกาหลีเหนือต้องการให้ออกมาในรูปแบบของตาต่อตาฟันต่อฟันเพื่อให้ได้มาซึ่งสิ่งที่ต้องการหรือไม่ ด้วยเหตุนี้ การเจรจาที่จะเกิดขึ้นคงจะต้องใช้เวลาอีกยาวนาน

ขณะที่ผู้นำสหรัฐได้ตอบคำถามผู้สื่อข่าวเมื่อต้นสัปดาห์ถึงคำนิยามของการยกเลิกโครงการนิวเคลียร์อย่างสิ้นเชิงว่า "เป็นเรื่องที่เรียบง่ายมาก" การยกเลิกโครงนิวเคลียร์ในความหมายของทรัมป์ คือ การกำจัดนิวเคลียร์ที่มีอยู่ทั้งหมด หากสามารถกำจัดนิวเคลียร์ที่มีอยู่ทั้งหมดได้แล้ว การทำข้อตกลงก็จะเกิดขึ้นตามมา

ทางด้านโรเบิร์ต แมนนิ่ง นักวิชาการจากแอตแลนติค เคาน์ซิล ซึ่งทางสำนักข่าวยอนฮัพได้สัมภาษณ์นั้น มองแผนการยกเลิกโครงการนิวเคลียร์ว่า คิม จอง อึน น่าจะทำข้อตกลงกับทรัมป์ เพื่อที่สหรัฐจะได้ผ่อนปรนมาตรการคว่ำบาตร และรับผลประโยชน์ด้านความมั่นคงและเศรษฐกิจ ด้วยการแลกเปลี่ยนกับการปิดเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ ฐานการผลิตขีปนาวุธและเสริมสมรรถนะยูเรเนียม รวมทั้งให้ความเห็นชอบในเรื่องแผนการยกเลิกนิวเคลียร์อย่างสิ้นเชิงและสามารถตรวจสอบได้

การจัดการประชุมระหว่างทรัมป์และคิม จอง อึน จึงถูกจับตาว่า จะเกิดขึ้นได้หรือไม่ และประเด็นเรื่องโครงการนิวเคลียร์จะถูกหยิบยกมาเจรจาหรือไม่อย่างไร ทางด้านจีนซึ่งเป็นพันธมิตรและแหล่งรายได้ที่สำคัญของเกาหลีเหนือนั้น ยังคงมีบทบาทมาโดยตลอด ก่อนหน้านี้ ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ก็ได้ตอบรับคำเชิญของนายคิมให้เดินทางเยือนกรุงเปียงยาง ล่าสุด นายหวัง อี้ รัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศจีนได้เดินทางเยือนเกาหลีเหนือในวันนี้ เพื่อรับฟังเรื่องราวการประชุมสุดยอดระหว่างมูน แจ อิน และคิม จอง อึน รวมทั้งการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับการประชุมสุดยอดระหว่างผู้นำเกาหลีเหนือและประธานาธิบดีสหรัฐ

ด้วยความเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องและเป็นขั้นเป็นตอนทั้งก่อนและหลังซัมมิตครั้งประวัติศาสตร์จากทุกฝ่ายข้างต้น การประชุมทั้งในระดับคณะทำงานและผู้นำประเทศคงจะเกิดขึ้นตามมาอีกหลายครั้งกว่าที่ ประวัติศาสตร์หน้าใหม่จะปรากฏเป็นรูปธรรม


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ