เมื่อช่วงฟ้าสางวันนี้ตามเวลาประเทศไทย ทั่วโลกต่างก็ได้รับคำตอบที่รอคอยแล้วว่า ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ได้ตัดสินใจนำสหรัฐถอนตัวออกจากข้อตกลงนิวเคลียร์อิหร่าน พร้อมประกาศใช้มาตรการคว่ำบาตรอิหร่านรอบใหม่ ด้วยเหตุผลที่ว่า ข้อตกลงนิวเคลียร์ซึ่งอิหร่านได้ลงนามร่วมกับกลุ่มประเทศ P5+1 ได้แก่ จีน รัสเซีย อังกฤษ ฝรั่งเศส สหรัฐ และเยอรมนี เมื่อปี 2558 นั้น คว้าน้ำเหลวในการลดความทะเยอทะยานของอิหร่านในการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ แถมยังเหน็บแนมว่าเป็นข้อตกลงที่ผุพังและน่าอับอายเป็นอย่างยิ่งสำหรับทรัมป์เองในฐานะประชาชนคนหนึ่ง
ทรัมป์เลือกที่จะประกาศการตัดสินใจดังกล่าวก่อนกำหนดเดิมที่ตั้งใจว่าจะประกาศในวันเสาร์ที่ 12 พ.ค. อาจจะด้วยนิสัยใจร้อนที่อยากให้ภาพอันคลุมเครือของภูมิศาสตร์การเมืองมีความชัดเจนขึ้นโดยเร็ว หรือจะด้วยเหตุผลอันใดก็ตาม แต่แถลงการณ์ฟ้าผ่าในช่วงรุ่งสางของวันนี้ก็ได้รับปฏิกริยาอย่างรวดเร็วทันใจไม่แพ้กัน ทั้งจากบรรดาชาติพันธมิตรในกลุ่มยุโรปและขาใหญ่แห่งตะวันออกกลางอย่างซาอุดิอาระเบีย ไปจนถึงชาติที่ไม่อยากจะเป็นมิตร อย่างอิหร่านและรัสเซีย
ส่วนประเทศอื่นๆทั่วโลกที่ไม่ได้มีส่วนในการทำข้อตกลงนิวเคลียร์ในครั้งนี้ ก็พลอยอกสั่นขวัญหายไปด้วย นั่นเป็นเพราะใครๆก็ไม่อยากให้เหตุการณ์เลวร้ายที่เกี่ยวข้องกับอาวุธนิวเคลียร์เกิดขึ้นซ้ำอีก เหมือนเมื่อครั้งที่เครื่องบินรบของสหรัฐได้ทิ้งระเบิดปรมาณูถล่มเมืองฮิโรชิม่าและนางาซากิของญี่ปุ่น เมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ.2488 การสังหารหมู่ในคราวนั้นทำให้มีผู้เสียชีวิตรวมกันกว่า 200,000 คน ซึ่งเกือบทั้งหมดเป็นพลเรือนผู้บริสุทธิ์
- ย้อนรอยข้อตกลงนิวเคลียร์อิหร่าน มหากาพย์แห่งความขัดแย้งที่ยืดเยื้อยาวนาน
อันที่จริง อิหร่านเริ่มดำเนินโครงการนิวเคลียร์ครั้งแรกเมื่อกว่า 56 ปีที่แล้ว แต่โครงการนิวเคลียร์ของอิหร่านถูกเพ่งเล็งเป็นพิเศษหลังจากเกิดเหตุก่อการร้ายในสหรัฐเมื่อวันที่ 11 กันยายน 2544 โดยรัฐบาลสหรัฐภายใต้การนำของจอร์จ ดับเบิลยู บุช ประธานาธิบดีในยุคนั้น เชื่อว่า อิหร่านลักลอบพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์และสนับสนุนผู้ก่อการร้าย จึงได้ขอให้สำนักงานพลังงานปรมาณูสากล (IAEA) เข้าไปตรวจสอบโครงการนิวเคลียร์ของอิหร่าน ซึ่งผลการตรวจสอบพบว่า โครงการนิวเคลียร์ของอิหร่านอยู่ในระดับที่สามารถต่อยอดไปสู่การผลิตอาวุธนิวเคลียร์ได้ แม้อิหร่านจะอ้างมาโดยตลอดว่า เป็นโครงการเพื่อสันติและหวังผลในแง่ของการใช้ประโยชน์ด้านพลังงาน
อิหร่านยังคงเดินหน้าเสริมสมรรถนะแร่ยูเรเนียมซึ่งสามารถใช้สร้างระเบิดนิวเคลียร์ได้ แม้รัฐบาลสหรัฐภายใต้การนำของอดีตประธานาธิบดีบารัค โอบามาในครั้งนั้น ทั้งเจรจา ทั้งขู่ ให้อิหร่านล้มเลิกโครงการต้องสงสัยนี้ แต่อิหร่านก็ไม่เคยแสดงท่าทีเกรงกลัว กลับมีท่าทีแข็งกร้าว ทั้งยังประกาศความพร้อมที่จะตอบโต้อย่างรุนแรงหากถูกรุกราน จนในที่สุดคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติมีมติเป็นเอกฉันท์ให้คว่ำบาตรทางเศรษฐกิจต่ออิหร่านในปี 2558 เหตุการณ์ในครั้งนั้นส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจอิหร่านอย่างหนัก จนทำให้อิหร่านยอมถอยออกมาหนึ่งก้าว ด้วยการร่วมโต๊ะเจรจากับกลุ่มชาติมหาอำนาจ ซึ่งประกอบด้วยสหรัฐอเมริกา ฝรั่งเศส อังกฤษ รัสเซีย จีน และเยอรมนี ในเดือนกรกฎาคม 2558 โดยการเจรจาในครั้งนั้นกินเวลานานถึง 8 วัน และในที่สุด...เพื่อแลกกับการผ่อนคลายมาตรการคว่ำบาตร อิหร่านก็ยอมลงนามในข้อตกลงแผนปฏิบัติการร่วมที่สมบูรณ์แบบในระยะยาว (JCPOA) วันที่ 14 กรกฎาคม 2558
ภายใต้ข้อตกลงดังกล่าว อิหร่านให้สัญญาว่าจะลดจำนวนเครื่องหมุนเหวี่ยงยูเรเนียมจาก 19,000 เครื่อง ให้เหลือเพียง 6,104 เครื่อง โดยมีเพียง 5,060 เครื่องที่ได้รับอนุญาตให้เสริมสมรรถนะแร่ยูเรเนียมในช่วง 10 ปีข้างหน้า อีกทั้งจะเสริมสมรรถนะแร่ยูเรเนียมที่มีความเข้มข้นสูงสุดไม่เกิน 3.67% เป็นเวลา 15 ปี ซึ่งความเข้มข้นระดับดังกล่าวเพียงพอสำหรับใช้ผลิตไฟฟ้าในหลายพื้นที่ของประเทศ แต่ไม่เพียงพอที่จะผลิตระเบิดนิวเคลียร์ นอกจากนี้ อิหร่านสัญญาว่าจะไม่สร้างโรงงานเสริมสมรรถนะแร่ยูเรเนียมแห่งใหม่เป็นเวลา 15 ปี และจะลดปริมาณยูเรเนียมเสริมสมรรถนะในคลังจาก 10,000 กิโลกรัม ให้เหลือ 300 กิโลกรัมในช่วงระยะเวลา 15 ปี แถมยังอนุญาต IAEA เข้าตรวจสอบโรงงานนิวเคลียร์ของอิหร่านทั้งหมดอีกด้วย
ข้อตกลงนิวเคลียร์อิหร่านปี 2558 ถือเป็นความสำเร็จครั้งสำคัญของรัฐบาลสหรัฐในยุคโอบามา และเปิดทางให้สหรัฐตัดสินใจยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรบางส่วนต่ออิหร่าน ซึ่งรวมถึงการคว่ำบาตรอุตสาหกรรมน้ำมัน การส่งออกเครื่องบิน การซื้อขายโลหะมีค่า และสนับสนุนเป้าหมายของรัฐบาลอิหร่านในการซื้อธนบัตรสกุลเงินดอลลาร์
ส่วนประเทศอื่นๆก็ออกมาแสดงท่าทีในด้านบวก โดยสหภาพยุโรป (EU) ก็ได้ยอมยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรทางการเงินและเศรษฐกิจต่ออิหร่าน ขณะที่นายสี จิ้นผิง ประธานาธิบดีจีน ได้แสดงออกในเรื่องนี้ด้วยการแวะเยี่ยมเยียนอิหร่านในระหว่างทริปเยือนตะวันออกกลางในช่วงต้นปี 2559 เพื่อพบปะกับนายฮัสซัน รูฮานี ประธานาธิบดีอิหร่าน พร้อมประกาศยกระดับความสัมพันธ์ทวิภาคีทั้งในการด้านเศรษฐกิจ การเมือง การค้า และด้านพลังงาน เพื่อตอบแทนความดีที่อิหร่านยอมถอยก้าวใหญ่ในครั้งนั้น ... จะมีก็แต่อิสราเอลเท่านั้น ที่แสดงจุดยืนชัดเจนว่า ...ไม่เคยเชื่อใจอิหร่าน และคัดค้านข้อตกลงนิวเคลียร์ฉบับนี้อย่างสุดลิ่มทิ่มประตู
แต่หลังจากนั้นไม่นาน อาการ "ดีแตก" ของอิหร่านก็ปรากฏให้เห็นเป็นระยะ เริ่มด้วยการลุกขึ้นมาทดสอบขีปนาวุธ 2 ครั้งนับตั้งแต่มีการทำข้อตกลงนิวเคลียร์ อีกทั้งยังเขียนข้อความลงบนขีปนาวุธว่า "อิสราเอลจะต้องถูกลบออกจากแผนที่โลก" โดยอิหร่านตะแบงให้เหตุผลว่า การทดสอบขีปนาวุธเป็นหนึ่งในการซ้อมรบของกองกำลังพิทักษ์การปฏิวัติอิสลาม (IRGC) ของอิหร่าน
ปฏิกริยาของสหรัฐและชาติพันธมิตรในเวลานั้น เริ่มออกอาการกระสับกระส่าย โดยโจ ไบเดน อดีตรองประธานาธิบดีสหรัฐในสมัยนั้น ออกโรงขู่ว่า สหรัฐจะตอบโต้อย่างรุนแรงหากอิหร่านละเมิดข้อตกลงนิวเคลียร์ และมีหรือที่อิหร่านจะหดหัว เพราะอยาตุลเลาะห์ อาลี คาไมนี ผู้นำสูงสุดของอิหร่าน ออกแถลงการณ์สวนกลับทันควันว่า อิหร่านจะตอบโต้อย่างหนักหน่วงไม่แพ้กัน หากสหรัฐฉีกข้อตกลงนิวเคลียร์
โอบามาได้พยายามอย่างยิ่งยวดที่จะประคับประคองข้อตกลงนิวเคลียร์เอาไว้อย่างเหนียวแน่น ด้วยเหตุว่าเป็นผลงานชิ้นโบว์แดงที่สร้างไว้ในยุคสมัยของตน กระทั่งวันที่ 8 พฤศจิกายน 2559 เมื่อนางฮิลลารี คลินตัน ในฐานะตัวแทนพรรคเดโมแครต ได้พ่ายแพ้การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ ส่งผลให้คู่แข่งอย่างนายโดนัลด์ ทรัมป์ ซึ่งแสดงออกชัดเจนมาโดยตลอดว่าไม่เอาข้อตกลงนิวเคลียร์อิหร่านนั้น ผงาดขึ้นเป็นประธานาธิบดีคนใหม่ของสหรัฐอย่างพลิกความคาดหมาย ชัยชนะของทรัมป์ได้สร้างความหวั่นวิตกให้กับอิหร่านเป็นอย่างมาก เพราะทรัมป์ประกาศจุดยืนตั้งแต่ช่วงหาเสียงเลือกตั้งว่า ตนอยู่ฝั่งตรงข้ามกับข้อตกลงนิวเคลียร์ฉบับนี้
ไม่เพียงแต่อิหร่านเท่านั้น ฝั่งเจ้าหน้าที่ระดับสูงของสหรัฐเอง ซึ่งรวมถึงจอห์น เบรนแนน ผู้อำนวยการหน่วยข่าวกรองกลางสหรัฐ (CIA) ในครั้งนั้น ก็แสดงความกังวลไม่น้อยว่า หากรัฐบาลชุดใหม่ของสหรัฐแตะต้องข้อตกลงนิวเคลียร์ฉบับนี้ ก็อาจก่อให้เกิดหายนะตามมามากมาย และอาจบีบให้อิหร่านแอบตั้งโครงการพัฒนานิวเคลียร์อย่างลับๆ
แล้วสิ่งที่หลายฝ่ายกังวลก็เริ่มขึ้น เมื่อรัฐบาลชุดใหม่ภายใต้การนำของทรัมป์ เปิดฉากเรียกน้ำย่อยด้วยการคว่ำบาตรชาวอิหร่าน 13 คน และองค์กร 12 แห่ง เมื่อวันที่ 3 ก.พ. 2560 เพื่อเป็นการลงโทษที่อิหร่านทำการทดสอบขีปนาวุธ พร้อมกับส่งสัญญาณว่า จะทบทวนข้อตกลงนิวเคลียร์ที่อิหร่านทำไว้กับ 6 ชาติมหาอำนาจ โดยทรัมป์ได้ออกโรงวิจารณ์แบบไม่เห็นแก่หน้าอินทร์หน้าพรหมว่า ข้อตกลงนิวเคลียร์ฉบับนี้เป็นข้อตกลงที่แย่ที่สุดเท่าที่เคยมีการเจรจามา แถมด้วยคำเหน็บแนมผ่านสื่อมวลชนระหว่างการเดินสายเยือนตะวันออกกลางเมื่อเดือนพ.ค. 2560 ว่า ชาวอิหร่านควรสำนึกในผลประโยชน์ที่สหรัฐมอบให้จากการทำข้อตกลงนิวเคลียร์
- ทั่วโลกจับตาท่าทีอิหร่าน หลัง "ทรัมป์" เมินเสียงต้าน สะบั้นข้อตกลงนิวเคลียร์
ทันทีที่ทรัมป์เสร็จสิ้นการประกาศนำสหรัฐถอนตัวจากข้อตกลงนิวเคลียร์อิหร่านเมื่อช่วงเช้าตรู่วันนี้ เชื่อว่าสายตาคนทั่วโลกคงพุ่งเป้าไปที่คู่กรณีโดยตรงอย่างอิหร่าน เพราะหากประเมินผลกระทบเบื้องต้นแล้ว อิหร่านน่าจะกระอักไม่น้อย เนื่องจากการถูกคว่ำบาตรรอบใหม่ครั้งนี้ ย่อมหมายถึงความเสียหายที่จะเกิดขึ้นกับอุตสาหกรรมน้ำมัน อุตสาหกรรมการบิน และการซื้อขายโลหะมีค่า แม้กระทรวงการคลังสหรัฐระบุว่า มาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจรอบนี้ ยังไม่มีผลบังคับใช้ทันที แต่จะมีเวลาในการทบทวนประมาณ 90-180 วัน เพื่อเปิดโอกาสให้มีการเจรจาต่อรองกันอีกครั้งก็ตาม นั่นเป็นเพราะ อิหร่านเป็นหนึ่งในประเทศสมาชิกรายใหญ่ของกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) และมีอุตสาหกรรมน้ำมันที่เป็นเสมือนเส้นเลือดใหญ่ที่หล่อเลี้ยงชาวอิหร่านมาทุกยุคสมัย ดังนั้น ทุกๆความเคลื่อนไหวที่มีผลกระทบต่ออิหร่าน ย่อมกระทบชิ่งไปถึงตลาดน้ำมันโลกด้วย โดยเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา สัญญาน้ำมันดิบ WTI พุ่งขึ้นไปยืนเหนือระดับ 70 ดอลลาร์/บาร์เรล ซึ่งถือเป็นระดับสูงสุดในรอบ 3 ปี ท่ามกลางความหวั่นวิตกว่า หากทรัมป์ตัดสินใจฉีกข้อตกลงนิวเคลียร์อิหร่าน ย่อมส่งผลให้การผลิตน้ำมันในอิหร่านทรุดฮวบลงแน่นอน ความผันผวนในตลาดน้ำมันส่งผลกระทบโดยตรงต่อราคาหุ้นพลังงาน โดยในช่วงก่อนที่ทรัมป์จะประกาศการตัดสินใจดังกล่าว ตลาดหุ้นทั่วโลกแกว่งตัวรุนแรงมาก โดยเฉพาะหุ้นกลุ่มพลังงาน ซึ่งสร้างความหวั่นวิตกให้กับนักลงทุนไม่น้อย
นับจากนี้ คงไม่มีใครละสายตาไปจากอิหร่าน เพื่อดูว่าอิหร่านจะมีปฏิกริยาอย่างไร แต่สิ่งที่เห็นในขณะนี้ก็คือ ผู้นำอิหร่านไม่ได้แสดงอาการหวั่นวิตกเลยแม้แต่น้อย โดยหลังจากการแถลงของทรัมป์เสร็จสิ้นได้ไม่นาน นายฮัสซัน รูฮานี ประธานาธิบดีอิหร่านได้ออกมายืนยันว่า อิหร่านจะยังคงเดินหน้าตามข้อตกลงนิวเคลียร์ฉบับนี้ แม้สหรัฐประกาศถอนตัวก็ตาม
"นับจากนี้เป็นต้นไป ข้อตกลงนิวเคลียร์จะเป็นข้อตกลงระหว่างอิหร่านและอีก 5 ประเทศมหาอำนาจที่ร่วมลงนามเท่านั้น เรารู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่สหรัฐอเมริกาถอนตัวออกจากข้อตกลงนิวเคลียร์" นายรูฮานีกล่าว