การเลือกตั้งทั่วไปของมาเลเซียเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ได้กลายเป็นประเด็นที่กำลังเป็นที่สนใจของทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อผลการเลือกตั้งปรากฎออกมาว่า นายมหาธีร์ โมฮัมหมัด อดีตนายกรัฐมนตรีมาเลเซียวัย 92 ปี ได้นำพรรคฝ่ายค้านกวาดที่นั่งในสภาได้ถึง 121 ที่นั่ง ครองเสียงข้างมากจัดตั้งรัฐบาลได้แบบหักปากกาเซียน วันนี้ InFocus วันนี้จะพาไปเจาะลึกถึงสาเหตุที่ทำให้พรรคฝ่ายค้านล้มอำนาจพรรคอัมโน และกลุ่มแนวร่วมแห่งชาติ (BN) ที่ครองตำแหน่งรัฐบาลมายาวนานกว่า 6 ทศวรรษ จนได้รับการขนานนามว่าเป็น "มารดาแห่งการเลือกตั้งทั้งปวง" (The mother of all elections)
ก่อนจะเข้าเรื่องขอเกริ่นถึงประวัติศาสตร์กันซักนิด มาเลเซียประกอบด้วยดินแดนที่แบ่งออกเป็น 2 ส่วนก็คือส่วนที่ตั้งอยู่บนแหลมมลายูและบนเกาะบอร์เนียวซึ่งในอดีตเป็นที่ลงหลักปักฐานของชาวมลายู ต่อมาในช่วงของการล่าอาณานิคม ดินแดนแห่งนี้ได้ถูกรุมทึ้งจากบรรดาชาติตะวันตกอย่างโปรตุเกส เนเธอร์แลนด์ และอังกฤษ เช่นเดียวกับประเทศอื่นๆในเอเชียอาคเนย์ จนอังกฤษสามารถขยายอำนาจเข้ามายึดครองพื้นที่ในแหลมมลายูได้เป็นผลสำเร็จ ส่งผลให้ดินแดนแห่งนี้กลายเป็นประเทศราชของอังกฤษโดยสมบูรณ์ แต่เนื่องด้วยอังกฤษ ซึ่งแม้จะมีเป้าประสงค์ในการแสวงหาประโยชน์จากดินแดนประเทศราชเช่นเดียวกันเจ้าอาณานิคมอื่นๆ มีนโยบายในการสร้างความยั่งยืนให้กับประเทศราชของตน จึงได้เข้ามาวางรากฐานระบบการปกครอง โครงสร้างพื้นฐาน การศึกษา และเศรษฐกิจให้กับชาวมลายู โดยให้ความสำคัญกับเหมืองแร่ดีบุกที่มาเลเซียมีอยู่มากเป็นพิเศษ ในขณะที่แรงงานชาวมลายูไม่เพียงพอสำหรับการทำงานในเหมือง ทำให้มีการนำคนงานเข้ามาจากจีนและอินเดีย เมื่อคนจีนและอินเดียเหล่านั้นเข้ามาก็ได้แต่งงานกับคนพื้นเมืองจะออกลูกออกหลานกันเป็นจำนวนมาก
สืบเนื่องจากเหตุการณ์ที่กล่าวมาข้างต้น ทำให้มาเลเซียทุกวันนี้ประกอบไปด้วยกลุ่มชน 3 ชาติพันธุ์ ได้แก่ ชาวมาเลเซียเชื้อสายมลายูหรือที่เรียกกันว่า "ภูมิบุตร" ซึ่งเป็นประชากรส่วนมากของประเทศ โดยคนกลุ่มนี้จะถือว่าตนเองเป็นเจ้าของแผ่นดิน เนื่องจากอยู่ในดินแดนแห่งนี้มาตั้งแต่ยุคบรรพกาล กับมาเลเซียเชื้อสายจีน และชาวมาเลเซียเชื้อสายอินเดีย ที่เพิ่งอพยพเข้ามาเป็นแรงงานในยุคอาณานิคม และกลุ่มคนทั้ง 3 กลุ่มนี้มีอิทธิพลต่อการเมืองการปกครองของมาเลเซียมาจนถึงปัจจุบัน
- จุดเริ่มต้นของความแตกแยกทางชาติพันธุ์ สู่ความคุกรุ่นที่ยังส่งผลมาจนปัจจุบัน
ในช่วงที่อังกฤษเข้ามาปกครองมาเลเซียนั้น อังกฤษได้ดำเนินนโยบายที่ทำให้กลุ่มคนทั้ง 3 กลุ่มถูกแบ่งแยกออกจากกันอย่างชัดเจน โดยได้มอบสิทธิพิเศษต่างๆกับคนมลายูทั้งการถือครองที่ดิน การศึกษา การเข้ารับราชการ ส่งผลให้คนมลายูมีความรู้สึกว่าตัวเองเป็นเจ้าของประเทศ ส่วนคนจีนและอินเดียกลับแทบไม่มีสิทธิทางการเมืองใดๆ นอกจากนี้ยังมีการตั้งโรงเรียนสอนภาษาอังกฤษขึ้นมาให้กับลูกหลานของชาวมลายู ในขณะที่ชาวจีนและชาวอินเดียต้องจัดตั้งโรงเรียนเพื่อให้การศึกษาแก่ลูกหลานของพวกตนขึ้นมากันเอง มีการเรียนการสอนที่เป็นไปตามวัฒนธรรมของชาติต่างๆ ซึ่งส่งผลให้แต่ละกลุ่มมีการรักษาแบบแผนประเพณีและวัฒนธรรมของพวกตนกันไว้อย่างเหนียวแน่นและยากที่จะผสมผสานกลมกลืนกันได้ จนก่อให้เกิดความขัดแย้งจนเกิดการปะทะกันอยู่ร่ำไป แม้ต่อมาทั้ง 3 ฝ่ายจะหันมาจับมือกันเรียกร้องเอกราชจากอังกฤษได้เป็นผลสำเร็จ
ภายหลังได้รับเอกราชจากอังกฤษ ความสัมพันธ์ระหว่างคนทั้ง 3 กลุ่มก็เริ่มดีขึ้น โดยที่แต่ละฝ่ายต่างยอมรับในฐานะของกันและกัน มีการระบุให้ชาวมลายูเป็นชนชาติที่สำคัญที่สุด ประมุขของประเทศเลือกมาจากรัฐต่างๆ นายกรัฐมนตรีและรัฐบาลส่วนใหญ่เป็นคนมลายู มีภาษามลายูเป็นภาษาราชการ และศาสนาอิสลามเป็นศาสนาประจำชาติ ขณะที่คนมลายูเองก็ยังคงมีสิทธิพิเศษเหนือคนจีนและอินเดียในการประกอบอาชีพบางอาชีพ การถือครองที่ดิน และการศึกษา ส่วนคนจีนและอินเดียที่แม้จะไม่ได้มีสิทธิทางการเมืองเทียบเท่าคนมลายู แต่ก็ได้รับอิสระในการประกอบอาชีพ โดยที่โครงสร้างทางสังคมเช่นนี้ได้ก่อให้เกิดความเหลื่อมล้ำขึ้นในสังคมมาเลเซีย เมื่อชาวจีนและอินเดียซึ่งไม่มีสิทธิในการรับราชการหรือทำงานกับหน่วยงานของรัฐได้หันมายึดถืออาชีพค้าขาย และกลายเป็นกลุ่มคนที่มีความมั่งคั่งมากกว่าคนมลายูที่เป็นคนกลุ่มใหญ่ในประเทศ ซึ่งความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจเหล่านี้ได้กลายมาเป็นบาดแผลที่อยู่ในใจคนมลายูมาโดยตลอด
- ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจถึงการพัฒนาอย่างก้าวกระโดด
ในช่วงที่กระแสการเรียกร้องเอกราชเริ่มแผ่กระจายทั่วเอเชียอาคเนย์ กลุ่มคนทั้ง 3 เชื้อชาติของมาเลเซียตระหนักได้ว่า จะต้องหันมาจับมือกันเพื่อเรียกร้องเอกราชให้กับประเทศ โดยพรรคอัมโน (United Malays National Organisation: UMNO) ซึ่งเป็นพรรคการเมืองชาวมลายูที่ใหญ่ที่สุดของประเทศได้ร่วมมือกับพรรคชาวจีนและอินเดียในการต่อสู้เพื่อเรียกร้องเอกราชจากอังกฤษ จนได้รับเอกราชโดยสมบูรณ์เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2500 ต่อมาแนวร่วมพันธมิตรซึ่งนำโดยพรรคอัมโนก็ชนะการเลือกตั้งอย่างถล่มทลายและเป็นฝ่ายครองอำนาจในรัฐบาลนับตั้งแต่บัดนั้นต่อเนื่องจวบจนปัจจุบัน
หลังจากได้ขึ้นมาบริหารประเทศอย่างเต็มตัวแล้ว รัฐบาลภายใต้การนำของพรรคอัมโนและกลุ่มแนวร่วมพันธมิตรซึ่งเป็นฝ่ายชาตินิยมมลายูได้พยายามแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจระหว่างคนมลายูกับคนเชื้อสายจีนและอินเดียมาโดยตลอด ทั้งการจำกัดเสรีภาพในการแสดงออก ห้ามอภิปราย วิจารณ์ ถกเถียงเรื่องละเอียดอ่อนทางชนชาติ ตรวจสอบการเผยแพร่รายงานของสื่อทุกประเภท รวมถึงมาตรการทางเศรษฐกิจที่รัฐบาลทุ่มงบประมาณในการพัฒนาเขตชนบทด้วยการเข้าซื้อกิจการต่างชาติและจัดรัฐวิสาหกิจขึ้นมาก่อนที่จะกระจายหุ้นให้คนมลายูถือครอง รวมถึงการให้สิทธิพิเศษทางการศึกษาแก่ชาวมลายู ตลอดจนจำกัดการลงทุนให้ธุรกิจที่เข้ามาประกอบกิจการในประเทศต้องมีชาวมลายูถืออยู่ไม่น้อยกว่า 30% และมีการจ้างงานชาวมลายูไม่ต่ำกว่า 50% ซึ่งมาตรการเหล่านี้มีวัตถุประสงค์ให้คนมลายูได้มีโอกาสลืมตาอ้าปากและมีฐานะเทียบเคียงกับอีกสองชาติพันธุ์ โดยมีการใช้มาตรการดังกล่าวมาอย่างยาวนาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสมัยของนายมหาธีร์ โมฮัมหมัด ผู้ที่ได้รับการขนานนามว่าเป็นบิดาแห่งการสร้างความทันสมัย ผู้นำพามาเลเซียรอดพ้นจากวิกฤติเศรษฐกิจและสร้างความเจริญรุ่งเรืองอย่างก้าวกระโดดให้กับประเทศ
- จากจุดสูงสุดสู่ความพ่ายแพ้ครั้งยิ่งใหญ่ของพรรคอัมโน
ด้วยความที่อัมโนมีผลงานโดดเด่นครองใจชาวมลายูซึ่งเป็นประชากรส่วนมากของประเทศมาโดยตลอด ส่งผลให้พรรคสามารถครอบครองเสียงข้างมากในรัฐสภามาได้อย่างยาวนาน จวบจนถึงสมัยของนายนาจิบ ราซัค นายกรัฐมนตรีคนที่ 6 ซึ่งก้าวเข้าสู่ตำแหน่งเมื่อปี 2552 นายนาจิบนับเป็นนักการเมืองรุ่นใหม่ไฟแรงที่ถูกปลุกปั้นขึ้นมาเป็นทายาททางการเมืองพรรคอัมโนตั้งแต่วัยละอ่อน และเคยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีในกระทรวงสำคัญๆ ของมาเลเซียตลอดมา จนได้รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีจากการปลุกปั้นของนายมหาธีร์ โมฮัมหมัด
แม้นายนาจิบจะมีสายเลือดนักการอย่างเต็มตัว โดยเป็นถึงบุตรชายของนายอับดุล ราซัค ฮุซเซน อดีตนายกรัฐมนตรีคนที่ 2 ของมาเลเซีย แต่เขากลับต้องเผชิญกับความท้าทายและเคลือบแคลงสงสัยหลายต่อหลายครั้งในระหว่างการบริหารประเทศ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการทุจริตคอรัปชั่น ปัญหาทางเศรษฐกิจ ค่าครองชีพพุ่งสูงขึ้น และอัตราการก่ออาชญากรรมที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง รัฐบาลของนายนาจิบมาสู่จุดวิกฤติเมื่อมีการเปิดโปงว่า นายนาจิบมีส่วนเกี่ยวข้องกับการทุจริตกองทุน 1 MDB จนทำให้ชาวมาเลเซียเกิดความไม่พอใจอย่างหนักจนถึงขั้นออกมาเดินขบวนประท้วงเป็นจำนวนมาก ซึ่งนักวิเคราะห์ต่างมองว่านี่เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้พรรคแนวร่วมรัฐบาลต้องเผชิญกับความพ่ายแพ้ในสนามเลือกตั้งเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา
- กองทุน 1 MDB: จุดเปลี่ยนของรัฐบาลมาเลเซีย
หนึ่งในเหตุผลสำคัญที่ทำให้ผลการเลือกตั้งของมาเลเซียออกมาพลิกโผชนิดหักปากกาเซียนเช่นนี้ หลายฝ่ายมองว่า เกิดจากกองทุนเจ้าปัญหาอย่าง 1Malaysia Development Berhad หรือ 1 MDB ซึ่งเป็นความคิดริเริ่มของนายนาจิบ ราซัค สมัยที่เขาดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีเมื่อปี 2551 โดยมีจุดมุ่งหมายที่จะนำเงินทุนสำรองเงินตราต่างประเทศไปลงทุนในโครงการขนาดใหญ่เพื่อนำผลกำไรที่ได้มาต่อยอดความมั่งคั่งให้กับประเทศ แม้ว่ากองทุน1 MDB จะเริ่มต้นขึ้นได้อย่างสวยหรู แต่ในเวลาต่อมากลับถูกเปิดโปงว่าประสบกับปัญหาขาดทุนเป็นมูลค่านับหมื่นล้านดอลลาร์ จนกระทั่งเกิดการสืบสาวราวเรื่องพบว่าเงินในกองทุนได้ถูกโอนไปยังบริษัทแห่งหนึ่งในหมู่เกาะบริติช เวอร์จิน และมีการโอนเงินออกจากบริษัทดังกล่าวไปยังบริษัทอื่นๆ จนปลายสายมาสุดอยู่ที่บัญชีของนายนาจิบ ราซัค เป็นมูลค่าถึง 700 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และอีกจำนวนมากถูกโอนถ่ายไปยังผู้ใกล้ชิดของเขาเพื่อนำไปซื้ออพาร์ทเมนท์หรู, เรือยอร์ช, เครื่องบินเจ็ตส่วนตัว และลงทุนทำธุรกิจต่างๆ ซึ่งรวมถึงการสร้างหนังเรื่อง The Wolf of Wall Street ที่ลูกเลี้ยงของเขาเป็นนายทุน
เรื่องฉาวดังกล่าวได้สั่นคลอนเก้าอี้นายกรัฐมนตรีของนายนาจิบเป็นอย่างมาก โดยฝ่ายค้านได้ออกมาเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่องให้เขาลงจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเป็นการชั่วคราวเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการแทรกแซงการสืบสวน ขณะที่พรรคร่วมรัฐบาลของนายนาจิบเองซึ่งนำโดยนายมหาธีร์ มูฮัมหมัด อดีตนายกรัฐมนตรีผู้เคยปลุกปั้นเขาขึ้นมาและเป็นเสมือนครูทางการเมืองของเขา ก็ได้ออกมาเรียกร้องให้นายนาจิบลาออก ขณะที่นายนาจิบไม่ได้ยี่หระต่อสิ่งที่เขากำลังเผชิญอยู่และปฏิเสธที่จะลาออกจากตำแหน่ง นอกจากนี้ยังสั่งปลดรัฐมนตรีที่ออกมาวิพากษ์วิจารณ์คดีดังกล่าวและเปลี่ยนตัวคณะสืบสวนคดีดังกล่าวอีกด้วย
- เมื่อชื่อของ อัมโน ไม่มีความหมายเท่า "มหาธีร์ โมฮัมหมัด"
การกระทำดังกล่าวของนายนาจิบ ได้สร้างไม่พอใจให้กับนายมหาธีร์ โมฮัมหมัด ผู้ที่เคยนำพาพรรคอัมโนสู่ความรุ่งเรืองถึงขีดสุด จนเขาต้องออกมาประกาศลาออกจากกลุ่มแนวร่วมพรรคบาริซาน เนชันนัล (BN) แล้วหันไปจับมือกับนายอันวาร์ อิบราฮิม คู่ปรับเก่าที่เขาเคยส่งเข้าคุกด้วยข้อหาล่วงละเมิดทางเพศ พร้อมลงเลือกตั้งในสังกัดพรรคปากาตัน ฮาราปัน (Pakatan Harapan) เพื่อลงสนามเลือกตั้งแข่งกับศิษย์ทางการเมืองอย่างนายนาจิบด้วยตนเอง ขณะที่ฝั่งของนายนาจิบก็ได้ใช้อำนาจในการปรับเปลี่ยนเขตเลือกตั้งใหม่ รวมถึงออกกฎหมายต่อต้านข่าวปลอม ซึ่งหลายฝ่ายมองว่าเป็นการควบคุมความเห็นต่างและจำกัดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของประชาชนในช่วงก่อนการเลือกตั้ง ก่อนจะประกาศยุบสภาด้วยความมั่นใจว่าจะกลับมาเป็นรัฐบาลอีกครั้ง เนื่องจากยังมีฐานเสียงอันเหนียวแน่นของชาวมลายูเป็นผู้สนับสนุนอยู่
อย่างไรก็ดี ความคาดหวังของนายนาจิบไม่ใช่เรื่องที่เหนือความคาดหมายมากนัก เพราะก่อนที่ผลการเลือกตั้งของมาเลเซียจะออกมาพลิกโผชนิดหักปากกาเซียนเช่นนี้ นักวิเคราะห์ต่างมองว่า การเลือกตั้งของมาเลเซียในครั้งนี้จะออกมาสูสี และมีแนวโน้มที่พรรคอัมโนจะครองเสียงข้างมากเอาไว้ได้เช่นในอดีต แต่นี้กลับเป็นการคาดคะแนนที่ผิดพลาดอย่างใหญ่หลวงของพรรคอัมโน เมื่อพวกเขาลืมไปว่าคู่แข่งทางการเมืองในครั้งนี้เป็นถึงอดีตนายกรัฐมนตรีที่เคยสร้างความเจริญรุ่งเรืองแก่ประเทศจนเป็นที่ประจักษ์มาแล้วตลอดระยะเวลาที่อยู่ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีมาเลเซียถึง 22 ปี
ท้ายที่สุด นายมหาธีร์ได้กลับเข้ามาทวงบัลลังก์นายกรัฐมนตรีมาเลเซียอีกครั้งด้วยคะแนนเสียงที่ท่วมท้นถึง 121 ที่นั่ง จากทั้งหมด 222 ที่นั่ง ครองเสียงข้างมากคว้าชัยเหนือพรรคแนวร่วมรัฐบาลแห่งชาติได้เป็นครั้งแรก ก้าวขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีมีที่อายุมากที่สุดในโลกได้ในที่สุด มหาธีร์ได้เปิดเผยหลังจากประกาศผลการเลือกตั้งว่า ตนไม่ได้มาเพื่อล้างแค้นแต่จะมากอบกู้หลักนิติธรรมให้กับมาเลเซีย อีกทั้งยังเดินหน้าขออภัยโทษให้กับนายอันวาร์ อิบราฮิม เพื่อหลีกทางให้นายอันวาร์ขึ้นมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนต่อไป ตามความตั้งใจของเขาที่จะดำรงตำแหน่งนายกรัฐตรีเพียง 1-2 ปีเท่านั้น มาเลเซียภายใต้การนำของนายมหาธีร์ มูฮัมหมัด จะกลับมายิ่งใหญ่ได้อีกครั้งดังเช่นอดีตหรือไม่ เป็นเรื่องที่เราคงจะต้องติดตามกันต่อไป