In Focusนับถอยหลังซัมมิต "ทรัมป์-คิม" การประชุมสุดยอดที่ทั่วโลกรอคอย

ข่าวต่างประเทศ Wednesday June 6, 2018 14:11 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

เหลือเวลาอีกเพียงไม่ถึงหนึ่งสัปดาห์ สำหรับแมตช์กระชับมิตรคู่หยุดโลก... เปล่า ไม่ใช่การแข่งขันฟุตบอลโลกที่กำลังจะคิกออฟ ณ แดนหมีขาวรัสเซีย แต่เรากำลังหมายถึงการประชุมสุดยอดระหว่างนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐ กับนายคิม จอง อึน ผู้นำของเกาหลีเหนือ ซึ่งจะเกิดขึ้นที่สิงคโปร์ ในวันอังคารที่ 12 มิถุนายนนี้

เพื่อเป็นการอุ่นเครื่องก่อนที่การประชุมครั้งประวัติศาสตร์ระหว่างสองผู้นำต่างขั้วจะเปิดฉากขึ้น คอลัมน์ In Focus สัปดาห์นี้ขอนำเสนอหลากประเด็นน่าติดตามเกี่ยวกับ "สุดยอดซัมมิต" ที่ทั่วโลกต่างจับจ้อง

เวลาและสถานที่

ทำเนียบขาวได้ประกาศอย่างเป็นทางการเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมาว่า การประชุมสุดยอดระหว่างประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐ และนายคิม จอง อึน ผู้นำเกาหลีเหนือ จะเริ่มขึ้นในเวลา 9.00 น. ตามเวลาท้องถิ่นของสิงคโปร์ (ตรงกับเวลาไทย 8.00 น.) ในวันที่ 12 มิ.ย. นี้

หลังจากนั้นหนึ่งวันนางซาราห์ ฮัคคาบี แซนเดอร์ส โฆษกทำเนียบขาว ได้ประกาศว่า การประชุมสุดยอดจะจัดขึ้นที่โรงแรมคาเปลลา บนเกาะเซนโตซาของสิงคโปร์

"เราขอขอบคุณสิงคโปร์ในความเอื้อเฟื้อที่รับหน้าที่เป็นเจ้าภาพการประชุมสุดยอดครั้งนี้" นางแซนเดอร์สระบุในทวิตเตอร์

การแถลงยืนยันดังกล่าวของทำเนียบขาวมีขึ้นหลังจากที่วันก่อนหน้า รัฐบาลสิงคโปร์เพิ่งประกาศในราชกิจจานุเบกษาให้พื้นที่ส่วนหนึ่งของเกาะเซนโตซาเป็น "เขตความมั่นคงพิเศษ" (special security zone) ในช่วงวันที่ 10-14 มิ.ย. ซึ่งการประกาศของทำเนียบขาวและรัฐบาลสิงคโปร์นั้น ไม่พลิกโผไปจากที่แหล่งข่าวเผยก่อนหน้านี้ว่า รัฐบาลสหรัฐได้เลือกเกาะเซนโตซาเป็นสถานที่จัดการประชุมสุดยอดระหว่างปธน.ทรัมป์และนายคิม

โดยในช่วง 5 วันดังกล่าว เจ้าหน้าที่ตำรวจมีอำนาจในการขอตรวจค้นร่างกายของผู้ที่เข้าไปในพื้นที่หวงห้าม และจะมีการเผยแพร่รายการสิ่งของต้องห้ามขณะเข้าสู่เขตควบคุมพิเศษ ซึ่งได้แก่ อาวุธ โดรน ลำโพง ธงขนาดใหญ่ และแผ่นป้ายต่าง ๆ

สำหรับสถานที่พักของผู้นำทั้งสองยังไม่เป็นที่ยืนยันแน่ชัด แต่มีการคาดการณ์กันอย่างกว้างขวางว่า ปธน.ทรัมป์และคณะจะเข้าพักที่โรงแรมแชงกรีล่า ส่วนนายคิมจะเข้าพักที่โรงแรมฟูลเลอร์ตัน ซึ่งเป็นโรงแรมระดับ 5 ดาว โดยมีเจ้าของเป็นชาวสิงคโปร์ ซึ่งมีสายสัมพันธ์ทางธุรกิจที่ใกล้ชิดกับจีน

ความปลอดภัย

แน่นอนว่าความมั่นคงปลอดภัยถือเป็นภารกิจสำคัญสูงสุดสำหรับทีมงานที่วางแผนการประชุมครั้งนี้ โดยเฉพาะผู้นำเกาหลีเหนือที่ขึ้นชื่อว่าระมัดระวังตัวเป็นอย่างมากเกี่ยวกับภยันตรายที่อาจมุ่งหมายชีวิตของเขา รายงานของสื่อต่างประเทศหลายสำนักระบุว่า นักข่าวบนเที่ยวบินไปสิงคโปร์เห็นผู้ช่วยระดับสูงของผู้นำคิมอ่านกระดาษโน้ตสั้น ๆ ที่มีข้อความปรากฏว่า "เพื่อผลลัพธ์ที่ดีของการประชุมสุดยอดระหว่างผู้นำสหรัฐและเกาหลีเหนือ การรับประกันความปลอดภัยของท่านประธานคิม จอง อึน นั้นสำคัญเหนือสิ่งอื่นใด"

ความกังวลของนายคิมเกี่ยวกับความปลอดภัยนั้นเป็นที่ปรากฏอย่างชัดเจนในระหว่างที่เขาพบปะหารือกับประธานาธิบดี มุน แจ อิน ของเกาหลีใต้ เมื่อวันที่ 27 เม.ย.ที่ผ่านมา เมื่อสื่อทั่วโลกได้เผยแพร่ภาพบอดี้การ์ดถึง 12 นายวิ่งเหยาะ ๆ ล้อมรถลิมูซีนเมอร์เซเดส เบนซ์ สีดำเป็นมันปลาบ เพื่อคุ้มกันอารักขานายคิมที่นั่งอยู่ในรถคันดังกล่าว ซึ่งเคลื่อนไปอย่างช้า ๆ ในหมู่บ้านปันมุนจอม สถานที่นัดพบของผู้นำสองเกาหลี

ดังนั้น จึงเป็นที่จับตากันว่า ในซัมมิตที่กำลังจะเกิดขึ้นสัปดาห์หน้านี้ องค์รักษ์พิทักษ์คิมจะแน่นหนารัดกุมสักเพียงใด

ทางฟากฝั่งทำเนียบขาว ถึงแม้ไม่ได้เผยข้อมูลเกี่ยวกับแผนการคุ้มครองความปลอดภัยของผู้นำ แต่นักวิเคราะห์เชื่อว่า ทั้งหน่วยสืบราชการลับของสหรัฐ คณะเจ้าหน้าที่ฝ่ายเกาหลีเหนือ และทีมปฏิบัติการของสิงคโปร์น่าจะถกเรื่องนี้กันอย่างละเอียดยิบ

นอกเหนือจากการรับรองความปลอดภัยของสองผู้นำแล้ว ทีมงานยังจะต้องป้องกันการสอดแนมและเฝ้าระวังความพยายามจากภายนอกที่จะแทรกซึมการเจรจาครั้งนี้ โดยฝ่ายอื่นที่มีผลประโยชน์ในการเจรจาครั้งนี้นั้นรวมถึงจีนและรัสเซีย ซึ่งทั้งสองประเทศต่างมีความสัมพันธ์ที่ตึงเครียดกับสหรัฐ

ปฏิกิริยาแรก

การพบกันครั้งประวัติศาสตร์ของสองผู้นำเกาหลีเมื่อเดือนเม.ย. ได้สร้างความฮือฮาไปทั่วโลกมาแล้ว แต่เชื่อแน่ว่า วินาทีที่ทรัมป์และคิมพบกันในวันที่ 12 มิ.ย.นี้ จะสะกดทุกสายตามากยิ่งไปกว่า

เป็นที่ทราบกันดีว่า ทรัมป์นั้นชอบโชว์เหนือบรรดานักการเมืองและผู้นำต่างชาติ ด้วยการจับมือไม้จับมือที่ค่อนข้างจะแข็งกร้าวดุดัน หรือที่ฝรั่งเรียกว่า "clasp and yank" โดยทรัมป์จะดึงคู่สนทนาเข้าหาตัว ทำให้บุคคลนั้นเสียการทรงตัว

"ผมเดาว่า คณะที่ปรึกษาของคิม จอง อึน น่าจะช่วยเตรียมความพร้อมให้กับผู้นำของพวกเขาในเรื่องนี้" ปีเตอร์ เซลฟริดจ์ ซึ่งดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมพิธีการทูตของสหรัฐ ในระหว่างปี 2014-2016 กล่าว

อย่างไรก็ดี ถึงแม้จะไม่ค่อยปรากฏภาพท่านผู้นำคิมสัมผัสไม้สัมผัสมือ หรือแตะเนื้อต้องตัวกับใครเขา แต่นักวิเคราะห์มองว่า การเช็คแฮนด์แบบปธน.ทรัมป์ไม่น่าจะทำอะไรคิมได้ และผู้นำโสมแดงไม่น่าจะรู้สึกหวั่นใด ๆ กับการสัมผัสร่างกาย ดังเห็นได้จากเมื่อครั้งที่ประชุมซัมมิตกับปธน.มุนของเกาหลีใต้ ทั้งคู่ได้กอดกัน และถึงกับจับมือกันเดินก้าวข้ามเส้นแบ่งพรมแดนสองประเทศ

ท่ามกลางสายตาจับจ้องจากทั่วโลกนั้น ภาษากาย ซึ่งอาจเป็นการขยับท่าขยับทางเพียงนิดเดียว ก็จะถูกนำไปศึกษาวิเคราะห์และตีความถึงสัญลักษณ์ที่แฝงอยู่ในแต่ละอากัปกิริยาหรืออิริยาบถของสองผู้นำ

กิน ดื่ม ต้องระวัง

ทุกรายละเอียดไม่ว่าจะเล็กน้อยแค่ไหน ล้วนแล้วแต่เป็นเรื่องสำคัญทั้งสิ้น ตั้งแต่ขนาดของโต๊ะ ตำแหน่งที่นั่งของแต่ละฝ่าย ประเภทของน้ำดื่มว่าจะเป็นน้ำเปล่าทั่วไปหรือผสมโซดา ขนาดธงชาติที่ตั้งประดับบนโต๊ะนั้นมีขนาดเท่ากันหรือไม่ ไปจนกระทั่งการจัดดอกไม้ ซึ่งจะต้องผ่านการตรวจสอบ เพราะอาจมีผู้แพ้เกสรดอกไม้บางชนิด เป็นต้น

หากการประชุมครั้งนี้มีการรับประทานอาหารร่วมด้วย คณะผู้แทนจะต้องทำงานกันอย่างหนักในการคิดรายอาหารล่วงหน้า และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ก็คือเรื่องหนึ่งที่มองข้ามไม่ได้ เนื่องจากทรัมป์นั้นไม่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (ด้วยเหตุที่พี่ชายคนหนึ่งของเขาเสียชีวิตจากการติดเหล้า) ในขณะที่คิมถือเป็นคอไวน์คนหนึ่ง

ท่ามกลางความระแวดระวังว่าใครจะได้เปรียบเสียเปรียบ ดังนั้น แม้แต่รายการอาหารก็อาจกลายเป็นเรื่องลำเอียงได้ อาหารสิงคโปร์อาจเป็นตัวเลือกที่เป็นกลางสำหรับชาวอเมริกันหรือเกาหลี แต่จากมุมมองของเซลฟริดจ์นั้น ความเป็นไปได้อีกทางเลือกหนึ่งก็คือ อาหารที่มีวัตถุดิบที่ทั้งสองฝ่ายต่างคุ้นเคย อาทิ เนื้อวัว หรือ ข้าว ยกตัวอย่างเช่นในการพบกันระหว่างนายไมค์ ปอมเปโอ กับเจ้าหน้าที่ระดับสูงของเกาหลีเหนือที่นิวยอร์กในสัปดาห์ก่อนนั้น รมว.สหรัฐเผยในภายหลังว่า "เนื้อวัวสหรัฐ" เป็นพระเอกของงาน

สองผู้นำเขาจะคุยอะไรกัน

ช้าก่อน อย่าเพิ่งคาดหวังไปไกลถึงการบรรลุข้อตกลงนิวเคลียร์

"จะไม่มีการเซ็นสัญญาอะไร" ทรัมป์กล่าว ซึ่งเป็นการสกัดกระแสคาดการณ์ต่าง ๆ นานาเกี่ยวกับการประชุมซัมมิตครั้งนี้ พร้อมระบุว่า กระบวนการทำข้อตกลงจะเริ่มต้นขึ้น ก็ต่อเมื่อคิมล้มเลิกโครงการอาวุธนิวเคลียร์

มาตรการคว่ำบาตรจะเป็น "hot topic" ของการประชุม

ทรัมป์ไม่ได้ให้คำมั่นว่า จะยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจต่อเกาหลีเหนือ ซึ่งเป็นสิ่งที่รัฐบาลเปียงยางต้องการจากสหรัฐและชาติพันธมิตร

"ผมรอคอยให้ถึงวันที่ผมจะสามารถยกเลิกการคว่ำบาตรเกาหลีเหนือ" ทรัมป์กล่าวเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา หลังการพบปะหารือกับนายคิม ยอง ชอล อดีตสายลับเกาหลีเหนือ ซึ่งปัจจุบันเป็นผู้ช่วยมือขวาของผู้นำคิม ที่ห้องทำงานรูปไข่ ณ ทำเนียบขาว

สนธิสัญญาสันติภาพระหว่างเกาหลีเหนือและเกาหลีใต้จะถูกกางบนโต๊ะเจรจา

หนึ่งในประเด็นที่ทรัมป์ได้หารือกับเจ้าหน้าที่ของทางเกาหลีเหนือเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมาคือ การทำสนธิสัญญาสันติภาพระหว่างสองเกาหลี โดยในทางเทคนิคนั้น สงครามเกาหลียังไม่ยุติ โดยข้อตกลงที่ได้มีการลงนามร่วมกันเมื่อปี 1953 นั้น เป็นเพียงข้อตกลงสงบศึกชั่วคราว ยังไม่ใช่การยุติสงครามอย่างเป็นทางการแต่อย่างใด

โดยในการประชุมซัมมิตระหว่างสองผู้นำเกาหลีเมื่อเดือนเม.ย.นั้น ได้มีการออกปฏิญญาปันมุนจอมภายหลังการประชุม ซึ่งหนึ่งในประเด็นสำคัญคือ การทำสัญญาสันติภาพยุติสงครามเกาหลีที่ยืดเยื้อมากว่า 65 ปี เพื่อปิดฉากสงครามเกาหลีเป็นการถาวรให้ได้ภายในปีนี้

ออกแถลงการณ์ร่วมหรือไม่

โดยปกติแล้ว การประชุมสุดยอดระหว่างผู้นำจะถือเป็นขั้นตอนสุดท้ายของกระบวนการเจรจาหารือกันมาอย่างยาวนานหลายเดือน หรืออาจจะนานเป็นแรมปี ระหว่างคณะทำงานในระดับต่าง ๆ ซึ่งทรัมป์กับคิมได้ทำให้กระบวนการดังกล่าวพลิกไปพลิกมาอยู่ตลอด ดังนั้น จึงไม่อาจคาดเดาได้ว่าอะไรจะเกิดขึ้นต่อไปจากนี้

นักวิเคราะห์ไม่คาดหวังว่า การเผชิญหน้าระหว่างทรัมป์-คิมจะกินระยะเวลานาน โดยอาจสิ้นสุดลงภายในไม่กี่ชั่วโมง

แม้รายละเอียดยังไม่เป็นที่สรุป แต่มีแนวโน้มว่าการประชุมจะประกอบไปด้วยผู้นำสองฝ่าย ตลอดจนผู้ช่วยมือขวา และแน่นอนที่ขาดไม่ได้ก็คือล่าม และหากมีการประชุมย่อยแบบตัวต่อตัวระหว่างทรัมป์-คิม (รวมถึงล่าม) ก็เป็นไปได้ว่าจะเป็นการพูดคุยเพียงสั้น ๆ ที่ใช้เวลาไม่นาน

เรื่องหนึ่งที่หลายคนรอดูคือ จะมีการออกแถลงการณ์ร่วมภายหลังการประชุมหรือไม่ และแถลงการณ์จะระบุว่าอย่างไร แม้โดยทั่วไปแล้ว แถลงการณ์ในลักษณะดังกล่าวส่วนใหญ่จะเป็นการเจรจามาก่อนแล้วล่วงหน้า แต่ก็อาจมีประเด็นสำคัญที่เพิ่มเติมเข้ามาเมื่อเสร็จสิ้นการประชุม

หากไม่มีการออกแถลงการณ์ร่วม ก็อาจเป็นการส่งสัญญาณได้ว่าสองฝ่ายไม่สามารถตกลงกันได้แม้แต่เงื่อนไขกว้าง ๆ ซึงเป็นสัญญาณที่ไม่สู้ดีนักสำหรับการทำข้อตกลงนิวเคลียร์ที่หลายฝ่ายหวังว่าจะเกิดขึ้น และหากรูปการณ์ออกมาเป็นเช่นนี้

แต่หากสองฝ่ายประกาศว่าจ พบปะหารือร่วมกันอีก แม้จะเป็นระดับเจ้าหน้าที่หรือคณะทำงานก็ตาม นั่นถือเป็นสัญญาณที่ดี โดยทรัมป์ได้กล่าวก่อนหน้านี้แล้วว่า การประชุมสุดยอดที่กำลังจะมาถึงอาจเป็นครั้งแรกในหลาย ๆ ครั้งระหว่างตนกับคิม

ของขวัญแทนใจ

การแลกเปลี่ยนของที่ระลึกถือเป็นธรรมเนียมปฏิบัติในการประชุมซัมมิต แม้บ่อยครั้งการมอบของกำนัลจะเกิดขึ้นหลังฉาก ก่อนที่จะมีการเปิดเผยรายละเอียดตามสื่อในภายหลัง

เมื่อครั้งที่นางเมเดอลีน อัลไบรท์ อดีตรมว.ต่างประเทศสหรัฐเยือนเกาหลีเหนือเมื่อปี 2000 เธอได้มอบลูกบาสเกตบอลที่มีลายเซ็นของไมเคิล จอร์แดน แก่นายคิม จอง อิล ผู้นำเกาหลีเหนือในตอนนั้น

เกาหลีเหนือนั้นภาคภูมิใจในของขวัญที่ผู้นำประเทศได้รับ โดยของที่ระลึกมากกว่า 100,000 ชิ้นถูกจัดแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑ์ International Friendship Exhibition Hall

"การหาของขวัญที่ถูกใจคิม จอง อีน ถือเป็นงานที่ละเอียดอ่อน" สกอตต์ สไนเดอร์ แห่งสภาวิเทศสัมพันธ์กล่าว "ของชิ้นนั้นไม่ควรดูหมิ่น หรือแสดงถึงการไม่ให้เกียรติท่านผู้นำ"

โดยในการเดินทางเยือนกรุงเปียงยางเมื่อเดือนมิ.ย.ปีที่แล้ว เดนนิส ร็อดแมน อดีตซูเปอร์สตาร์นักบาสเกตบอลเอ็นบีเอ ที่มีสัมพันธ์อันดีกับเกาหลีเหนือ ได้มอบหนังสือ "The Art of the Deal" ซึ่งเป็นงานเขียนของทรัมป์ เมื่อครั้งที่ยังไม่ได้ขึ้นดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี ให้แก่รัฐมนตรีกีฬาของเกาหลีเหนือ ด้วยเจตนาที่จะให้หนังสือเล่มนั้นส่งต่อไปถึงมือนายคิม จอง อึน

ปัจจัยหนึ่งที่คณะผู้แทนของสหรัฐจะต้องพิจารณาคือของขวัญที่ทรัมป์จะมอบให้แก่คิมนั้น จะละเมิดมาตรการคว่ำบาตรที่สหรัฐดำเนินการต่อเกาหลีเหนือหรือไม่

ในทางกลับกัน ของขวัญที่คิมจะมอบให้กับทรัมป์ก็จะถูกจับตาอย่างใกล้ชิดเช่นกัน โดยในอดีตนั้น ผู้นำเกาหลีเหนือได้มอบของขวัญหลากหลายประเภทแด่ผู้นำต่างชาติ มีตั้งแต่ลูกสุนัข ไปจนถึงเห็ดมัตสึทาเกะ ที่ขึ้นชื่อว่าเป็นของหายากและมีราคาแพงลิบลิ่ว

จนถึงขณะนี้ ยังมีอีกหลายสิ่งหลายอย่างเกี่ยวกับการประชุมซัมมิต "ทรัมป์-คิม" ที่ยังคงไม่ชัดเจน ซึ่งเราจะต้องคาดเดาไปต่าง ๆ นานา จนกว่าโลกจะได้รู้พร้อมกันในวันที่ 12 มิ.ย. นี้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ