"โลกจะได้เห็นการเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่" เป็นถ้อยแถลงของนายคิม จอง อึน ผู้นำเกาหลีเหนือระหว่างการลงนามในเอกสารสำคัญร่วมกับนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐ หลังเสร็จสิ้นการประชุมสุดยอดครั้งประวัติศาสตร์นัดหยุดโลกที่ทั่วโลกเฝ้าติดตามความเคลื่อนไหวอย่างใกล้ชิด แม้ว่าในท้ายที่สุดแล้วการประชุมที่เกิดขึ้นจะทำให้หลายฝ่ายกังขาถึงผลการหารือที่ตามมา เนื่องจากยังคงมีหลายประเด็นที่ยังคงคลุมเครือและขาดความชัดเจน อย่าง การปลดอาวุธนิวเคลียร์เกาหลีเหนือ
In Focus ในสัปดาห์นี้จึงได้หยิบยกผลการประชุมครั้งประวัติศาสตร์และแง่มุมที่น่าสนใจของการหารือระหว่างผู้นำสหรัฐและเกาหลีเหนือมานำเสนอ เนื่องจากไม่เพียงแต่เป็นการพบหารือครั้งแรกของประธานาธิบดีสหรัฐที่ยังอยู่ในตำแหน่งกับผู้นำเกาหลีเหนือที่โลกต้องจารึกแล้ว แต่ยังเป็นการประชุมที่ก่อให้เกิดการตั้งคำถามว่าการพบหารือครั้งนี้จะนำไปสู่การสร้างเสถียรภาพความมั่นคงให้กับโลกในอนาคตได้หรือไม่
ย้อนเส้นทางการประชุมครั้งประวัติศาสตร์ระหว่างสหรัฐ-เกาหลีเหนือ
ก่อนหน้าที่การประชุมสุดยอดระหว่างประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ของสหรัฐ และนายคิม จอง อึน ผู้นำสูงสุดของเกาหลีเหนือจะเปิดฉากขึ้น เส้นทางที่มุ่งหน้าสู่การพบหารือครั้งประวัติศาสตร์ต้องสะดุดหยุดลงบ่อยครั้งด้วยอุปสรรคนานัปการ ก่อให้เกิดความกังวลแก่ประชาคมโลกว่าการเจรจานัดหยุดโลกนี้จะสามารถเกิดขึ้นได้จริงหรือไม่ หลังจากทั้งสองฝ่ายส่งสัญญาณระหองระแหงในช่วงโค้งสุดท้าย จากกรณีที่ประธานาธิบดีทรัมป์ประกาศยกเลิกการประชุมสุดยอดระหว่างกัน โดยให้เหตุผลว่าเกาหลีเหนือแสดงท่าทีเป็นปรปักษ์อย่างเปิดเผยและชัดเจน ขณะที่เกาหลีเหนือแสดงความพร้อมต้องการที่จะหารือกับสหรัฐไม่ว่าเมื่อใดและในรูปแบบใดก็ตาม
ความเคลื่อนไหวที่ไม่ได้เกิดขึ้นบ่อยครั้งนักจากทางการเกาหลีเหนือ ทำให้ในอีกไม่กี่วันต่อมาผู้นำสหรัฐทวีตข้อความว่า กำลังพูดคุยกับเกาหลีเหนือเพื่อฟื้นการประชุม นำมาสู่การพบหารือเป็นครั้งที่ 2 ระหว่างสองผู้นำเกาหลีในหมู่บ้านปันมุนจอมเพื่อผลักดันให้การประชุมสุดยอดเกิดขึ้นได้ตามกำหนดเดิม ก่อนที่ในวันที่ 1 มิถุนายน นายคิม ยอง ชอล รองประธานคณะกรรมการกลางพรรคแรงงานเกาหลีเหนือเดินทางเยือนสหรัฐ เพื่อหารือเกี่ยวกับการเตรียมความพร้อม และนำจดหมายของนายคิมส่งมอบให้กับประธานาธิบดีทรัมป์ จนทำให้ในท้ายที่สุดผู้นำสหรัฐก็ยืนยันจะพบหารือกับนายคิมตามกำหนดการที่วางไว้ก่อนหน้านี้ อย่างไรก็ดี ก่อนหน้าที่การประชุมครั้งนี้จะเปิดฉากขึ้นเพียงไม่กี่วัน นายชินโซ อาเบะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น เข้าพบหารือปธน.ทรัมป์ที่ทำเนียบขาว เพื่อเรียกร้องให้ผู้นำสหรัฐหยิบยกประเด็นการลักพาตัวพลเรือนญี่ปุ่นในอดีตขึ้นมาหารือกับนายคิมด้วย
หลังเป็นที่แน่ชัดว่าการหารือจะดำเนินต่อไปตามปกติ ผู้นำเกาหลีเหนือสร้างเซอร์ไพร์สด้วยการออกเดินทางจากกรุงเปียงยางมุ่งหน้าสู่สิงคโปร์ ตั้งแต่ช่วงบ่ายของวันอาทิตย์ และเข้าพบหารือกับนายลี เซียนลุง นายกรัฐมนตรีสิงโปร์ ทั้งคู่ได้พูดคุยกันในประเด็นความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ การพัฒนาในเกาหลีเหนือและในภูมิภาค ตลอดจนการพัฒนาในเชิงบวกบนคาบสมุทรเกาหลี ด้านผู้นำสิงคโปร์ได้กล่าวอวยพรให้การประชุมสุดยอดประสบความสำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดี
ขณะที่ในคืนเดียวกันนั้น ประธานาธิบดีทรัมป์ เดินทางด้วยเครื่องบินแอร์ฟอร์ซวันมุ่งหน้าออกจากที่ประชุมสุดยอด G7 ในแคนาดาก่อนกำหนด ก่อนที่จะพบหารือกับนายกรัฐมนตรีลีของสิงคโปร์ในวันถัดมา โดยผู้นำสหรัฐแสดงความเชื่อมั่นว่าการประชุมสุดยอดกับเกาหลีเหนือจะดำเนินไปอย่างราบรื่น
วินาทีประวัติศาสตร์ที่ทั่วโลกรอคอย
วินาทีประวัติศาสตร์ที่ทั่วโลกเฝ้ารอเกิดขึ้นเมื่อเวลาประมาณ 09.05 น. ตามเวลาท้องถิ่นของสิงคโปร์ เมื่อประธานาธิบดีทรัมป์และนายคิมได้ตรงเข้าจับมือกันอย่างแนบแน่น ลบภาพการใช้วิวาทะเผ็ดร้อนข่มขู่ตอบโต้กันไปมาอย่างรุนแรงเมื่อปีก่อนลงเสียสิ้น โดยการจับมือทักทายครั้งนี้มีขึ้นก่อนหน้าการประชุมแบบตัวต่อตัวจะเปิดฉากขึ้นที่โรงแรมคาเปลลา ท่ามกลางสื่อมวลชนนับพันจากทั่วทุกสารทิศที่เฝ้าเก็บภาพของสองผู้นำในทุกอิริยาบถ
จากนั้นผู้นำทั้งสองจึงเข้าหารือแบบตัวต่อตัว โดยมีล่ามเพียงฝ่ายละหนึ่งคน ก่อนที่ในเวลาต่อมาจะเป็นการหารือแบบทวิภาคีร่วมกับคณะผู้แทนจากแต่ละประเทศ หลังจากนั้นจึงย้ายไปพูดคุยกันระหว่างรับประทานอาหารกลางวัน ขณะที่ประเด็นสำคัญที่หลายฝ่ายคาดว่าจะถูกหยิบยกขึ้นมาพูดคุยกันคงหนีไม่พ้น การปลดอาวุธนิวเคลียร์เกาหลีเหนือ และการผ่อนคลายมาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจต่อเกาหลีเหนือ
ทันทีที่การประชุมสองฝ่ายบนโต๊ะอาหารสิ้นสุดลง ประธานาธิบดีทรัมป์และนายคิมต่างเดินเคียงคู่ออกมาบริเวณทางเดินของโรงแรม โดยผู้นำสหรัฐกล่าวว่า เป็นการประชุมที่ดีกว่าเคยคาดไว้และจะมีการลงนามในเอกสารสำคัญที่ครอบคลุมในประเด็นต่างๆ ซึ่งภายหลังได้มีการเปิดเผยสาระสำคัญ 4 ข้อหลักๆ ของแถลงการณ์ร่วมดังกล่าว ประกอบด้วย
-- ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องที่จะสถาปนาความสัมพันธ์ทวิภาคีระหว่างกันครั้งใหม่ ตามความปราถนาของประชาชนทั้งสองประเทศ เพื่อสันติภาพและความรุ่งเรือง
-- สหรัฐและเกาหลีเหนือจะใช้ความพยายามร่วมกันในการสร้างสันติภาพที่มั่นคงและยั่งยืนให้เกิดขึ้นบนคาบสมุทรเกาหลี
-- ตอกย้ำเจตจำนงที่มีต่อปฏิญญาปันมุนจอมที่สองเกาหลีร่วมลงนามเมื่อวันที่ 27 เมษายน โดยเกาหลีเหนือให้คำมั่นจะเดินหน้าปลดอาวุธนิวเคลียร์อย่างสมบูรณ์บนคาบสมุทรเกาหลี
-- สหรัฐและเกาหลีเหนือให้คำมั่นจะร่วมกันค้นหาเชลยศึกและผู้ที่สูญหายในการปฎิบัติหน้าที่ รวมทั้งส่งคืนร่างของผู้ที่ได้รับการระบุตัวตนแล้วกลับประเทศโดยทันที
ประธานาธิบดีทรัมป์กล่าวว่า วันนี้เป็นวันที่ยอดเยี่ยมและเราได้เรียนรู้ซึ่งกันและกันเกี่ยวกับประเทศของเรา ส่วนนายคิม จอง อึน เปิดเผยสั้นๆ ผ่านล่ามหลังลงนามในเอกสารดังกล่าวว่า "โลกจะได้เห็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่" และ "เราตัดสินใจที่จะทิ้งอดีตไว้ข้างหลัง" พร้อมแสดงความขอบคุณไปยังผู้นำสหรัฐที่ทำให้การประชุมครั้งนี้เกิดขึ้นด้วย
"ทรัมป์" แถลงสื่อหลังการประชุมสุดยอด
ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ของสหรัฐปรากฎตัวอีกครั้งเพื่อแถลงผลการประชุมและตอบคำถามของสื่อมวลชนหลังเสร็จสิ้นการหารือครั้งประวัติศาสตร์ โดยเริ่มต้นด้วยการกล่าวขอบคุณผู้นำสิงคโปร์ซึ่งทำหน้าที่เจ้าภาพในการจัดการประชุมครั้งนี้จนสำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดี รวมถึงขอบคุณนายมูน แจอิน ประธานาธิบดีของเกาหลีใต้ที่ทำงานอย่างหนัก นายชินโซ อาเบะ นายกรัฐมนตรีของญี่ปุ่น และที่ขาดไม่ได้คือนายสี จิ้นผิง ประธานาธิบดีของจีนที่ให้การช่วยเหลือมาโดยตลอด
ในการนี้ผู้นำสหรัฐเปิดเผยว่า จะยุติปฎิบัติการซ้อมรบร่วมกับเกาหลีใต้ซึ่งเกาหลีเหนือมองว่าเป็นการเตรียมความพร้อมสำหรับการทำสงคราม พร้อมอธิบายด้วยว่าเกมสงครามดังกล่าวมีราคาที่แพงมาก ซึ่งในประเด็นนี้หลายฝ่ายมองว่าเป็นข้อได้เปรียบของเกาหลีเหนือและสร้างความประหลาดใจเป็นอย่างยิ่งให้กับบรรดาชาติพันธมิตรของสหรัฐในภูมิภาคเอเชีย
ส่วนประเด็นเรื่องยุติมาตรการคว่ำบาตรที่หลายฝ่ายให้ความสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเกาหลีเหนือ ประธานาธิบดีทรัมป์กล่าวว่าจะยังไม่ยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจ จนกว่าเกาหลีเหนือจะมีความคืบหน้าที่ชัดเจนเกี่ยวกับการปลดอาวุธนิวเคลียร์ นอกจากนี้ยังกล่าวอ้างถ้อยแถลงของนายคิมที่ระบุกับตนว่า เกาหลีเหนือจะทำลายสถานที่ทดสอบขีปนาวุธทุกแห่ง และผู้นำของเกาหลีเหนือให้คำมั่นว่า จะเดินหน้ากระบวนการปลดอาวุธนิวเคลียร์อย่างสมบูรณ์บนคาบสมุทรเกาหลี
นอกจากนี้ประเด็นเรื่องสิทธิมนุษยชนยังได้รับการหยิบยกขึ้นมาหารือในการประชุมครั้งนี้ด้วย โดยผู้นำสหรัฐตอบคำถามสื่อมวลชนว่า จะมีการพูดคุยกับเกาหลีเหนือเกี่ยวกับประเด็นนี้อีกในอนาคต ซึ่งระหว่างการหารือ ผู้นำเกาหลีเหนือยังได้เห็นพ้องที่จะส่งร่างทหารอเมริกันในเกาหลีเหนือกลับประเทศ
ขณะเดียวกันประธานาธิบดีทรัมป์ยังกล่าวกับผู้สื่อข่าวว่าจะเดินทางเยือนกรุงเปียงยางเมื่อถึงเวลาที่เหมาะสม และในขณะเดียวกัน ตนก็ได้เชิญนายคิมให้เดินทางไปเยือนทำเนียบขาวเช่นกัน ซึ่งผู้นำเกาหลีเหนือได้ตอบรับคำเชิญดังกล่าวแล้ว
ท่าทีนานาประเทศ
การประชุมสุดยอดสหรัฐ-เกาหลีเหนือในครั้งนี้ได้รับการยกย่องจากรัฐบาลจีนว่าเป็นการประชุมครั้งประวัติศาสตร์ โดยนายหวัง อี้ รัฐมนตรีต่างประเทศจีนร่วมแสดงความยินดีต่อการพบหารือและระบุว่า ผู้นำทั้งสองสร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ให้เกิดขึ้นแล้วที่สิงคโปร์ นอกจากนี้ยังระบุด้วยว่า "สหรัฐและจีนอยู่ในสถานะประเทศปรปักษ์กันมาเป็นเวลานานกว่าครึ่งทศวรรษในวันนี้ ผู้นำทั้งสองสามารถร่วมโต๊ะเจรจากันอย่างเท่าเทียม มีความหมายในเชิงบวกและมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งทางการจีนให้การสนับสนุนอย่างแน่นอน"
รัฐมนตรีต่างประเทศจีนตั้งความหวังว่า ผู้นำทั้งสองประเทศจะสามารถมีชัยเหนือความยากลำบาก และสามารถบรรลุมติเบื้องต้นร่วมกันในการปลดอาวุธนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนืออย่างเต็มรูปแบบ เพื่อแก้ไขปัญหาความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ในภูมิภาค ขณะเดียวกันยังเน้นย้ำถึงการมีส่วนร่วมของจีนในการสร้างความมั่นคงในอนาคตของคาบสมุทรเกาหลี ในฐานะที่เป็นชาติพันธมิตรและคู่ค้ารายใหญ่สุดของเกาหลีเหนือ โดยที่ผ่านมาจีนมีบทบาทสำคัญในกิจการของเกาหลีเหนือ ซึ่งเห็นได้จากการที่ผู้นำสูงสุดของเกาหลีเหนือเดินทางไปเยือนกรุงปักกิ่งถึง 2 ครั้งก่อนหน้าที่จะเข้าร่วมการประชุมสุดยอดกับสหรัฐ นอกจากนี้จีนยังส่งเครืองบิน 3 ลำคุ้มกันผู้นำเกาหลีเหนือขณะเดินทางไปยังสิงคโปร์ด้วย
ด้านนายมูน แจ-อิน ประธานาธิบดีของเกาหลีใต้ ซึ่งเพิ่งจะพบหารือสุดยอดกับนายคิม 2 ครั้งก่อนหน้านี้ เปิดเผยว่า สองเกาหลีและสหรัฐจะร่วมกันเขียนประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของสันติภาพและความร่วมมือระหว่างกัน นอกจากนี้ยังกล่าวยกย่องประธานาธิบดีทรัมป์และนายคิม สำหรับความกล้าหาญและความตั้งใจในการจัดการประชุม และผลของข้อตกลงดังกล่าวจะช่วยยุติมรดกของสงครามเย็นที่หลงเหลืออยู่บนโลกใบนี้ลงได้ แต่เตือนว่ายังเป็นเพียงการเริ่มต้นและอาจต้องเผชิญกับความยากลำบากที่ตามมา
ในขณะเดียวกัน ผู้นำเกาหลีใต้แสดงความวิตกกังวลต่อถ้อยแถลงของประธานาธิบดีทรัมป์ ที่ระบุว่าจะยกเลิกปฎิบัติการซ้อมรบร่วมกันระหว่างสหรัฐและเกาหลีใต้ที่เกาหลีเหนือมองว่าเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงของตน โดยระบุว่าในชั้นนี้ จำเป็นต้องทราบถึงความหมายหรือความตั้งใจที่แท้จริงของผู้นำสหรัฐ อย่างไรก็ตาม เกาหลีใต้มองว่าเป็นสิ่งสำคัญที่จะหาทางแก้ไขปัญหาต่างๆ เพื่อการเจรจาที่ดีขึ้น
ส่วนนายชินโซ อาเบะ นายกรัฐมนตรีของญี่ปุ่น แสดงความยินดีต่อการลงนามในเอกสารสำคัญของการประชุมสุดยอดสหรัฐ-เกาหลีเหนือ นอกจากนี้ยังได้ยกย่องความพยายามและความเป็นผู้นำของประธานาธิบดีทรัมป์ ที่หยิบยกประเด็นเรื่องการลักพาตัวพลเรือนญี่ปุ่นโดยเกาหลีเหนือขึ้นอภิปราย พร้อมระบุว่าตนสนับสนุนความมุ่งมั่นของเกาหลีเหนือในการเดินหน้าปลดอาวุธนิวเคลียร์ ในฐานะก้าวสำคัญสู่การแก้ปัญหาความขัดแย้งที่ครอบคลุมทั่วเกาหลีเหนือ
ขณะที่ทางการรัสเซียร่วมยินดีต่อก้าวสำคัญที่เกิดขึ้นในการเจรจา แต่เตือนว่าในขณะเดียวกันก็ควรพิจารณาท่าทีความเคลื่อนไหวอย่างละเอียดถี่ถ้วนในทุกมิติ ส่วนอิหร่านกล่าวว่าเกาหลีเหนือไม่ควรไว้วางใจสหรัฐ หลังจากที่เมื่อไม่นานมานี้ ประธานาธิบดีทรัมป์เพิ่งประกาศถอนตัวออกจากข้อตกลงนิวเคลียร์อิหร่าน
ข้อตกลงที่ไร้น้ำหนัก?
อย่างไรก็ดี การลงนามในข้อตกลงของการประชุมสุดยอดครั้งประวัติศาสตร์ระหว่างประธานาธิบดีสหรัฐและผู้นำเกาหลีเหนือวานนี้ สร้างความผิดหวังให้กับหลายฝ่ายที่มองว่า บางประเด็นยังคงคลุมเครือ ซ้ำยังไม่มีการลงรายละเอียดที่แน่ชัด
อดัม เมานท์ นักวิชาการอาวุโสของสหพันธ์นักวิทยาศาสตร์อเมริกัน เปิดเผยกับสำนักข่าวซีเอ็นเอ็นว่า ภาษาของข้อความที่ระบุเกี่ยวกับการปลดอาวุธนิวเคลียร์ในข้อตกลง ซึ่งผู้นำทั้งสองประเทศร่วมลงนามนั้นไร้น้ำหนัก เนื่องจากขาดความชัดเจน และเห็นได้ชัดว่าไม่หนักแน่นเท่ากับความมุ่งมั่นต่อประเด็นนิวเคลียร์เกาหลีเหนือก่อนหน้านี้และตนคาดหวังจะได้เห็นถึงข้อตกลงที่หนักแน่นกว่านี้ แต่มองว่าการประชุมครั้งนี้ยังไม่อาจเรียกได้ว่าประสบกับความล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง เนื่องจากหากการประชุมสุดยอดส่งผลให้เกิดการปฏิสัมพันธ์อย่างต่อเนื่อง และส่งผลให้สถานการณ์ความตึงเครียดผ่อนคลายลง ก็อาจเรียกได้ว่าเป็นการประชุมที่ประสบความสำเร็จ
สอดคล้องกับลอรา บิกเกอร์ จากบีบีซีซึ่งระบุว่า ข้อตกลงที่ทั้งสองฝ่ายลงนามนั้นมีความคลุมเครือและขาดรายละเอียดอันสมบูรณ์ เป็นเพียงการแสดงความมุ่งมั่นต้องการให้คาบสมุทรเกาหลีปราศจากอาวุธนิวเคลียร์ ขณะเดียวกันยังไม่มีการลงรายละเอียดว่ากระบวนการดังกล่าวควรจะเสร็จสิ้นลงอย่างสมบูรณ์และตรวจสอบได้ ซึ่งเป็นปัจจัยหลักที่สหรัฐได้ผลักดันมาโดยตลอดก่อนหน้านี้ ทั้งยังไม่มีการกำหนดกรอบเวลาที่ชัดเจนของการปลดอาวุธนิวเคลียร์ หรือแม้แต่การส่งคำเชิญให้ผู้เชี่ยวชาญเข้าไปร่วมดำเนินการตรวจสอบ
ขณะที่ก่อนหน้านี้ สหรัฐระบุว่าจะประกันความมั่นคงของเกาหลีเหนือ แต่ขณะเดียวกันก็ไม่ได้กำหนดนิยามของคำมั่นดังกล่าวแต่อย่างใด ท่ามกลางการคาดการณ์ว่าอาจเกี่ยวข้องกับการจัดสรรสรรพกำลังของทหารอเมริกันที่ประจำการอยู่ในเกาหลีใต้ จึงทำให้หลายฝ่ายตั้งข้อสังเกตว่า การที่สหรัฐและเกาหลีเหนือประกาศจะจัดการเจรจาติดตามผลของการประชุมร่วมกันต่อไป รวมถึงความพยายามในการเดินหน้าสร้างระบอบการปกครองในเกาหลีเหนือให้เกิดสันติภาพอย่างยั่งยืน อาจหมายถึงการเดินหน้าสู่การทำสนธิสัญญาสันติภาพเพื่อยุติ 70 ปีของสงครามเกาหลีในท้ายที่สุด และอย่างน้อยก็ถือเป็นการเริ่มต้นที่ดีในการสร้างเสถียรภาพทางการเมืองให้เกิดขึ้นได้ในอนาคต