In Focusญี่ปุ่นผนึก EU ประเดิมเซ็นข้อตกลงการค้าเสรี ตอกย้ำจุดยืนต้านกระแสการกีดกันการค้า

ข่าวต่างประเทศ Wednesday July 18, 2018 10:43 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ท่ามกลางกระแสกีดกันการค้าที่ร้อนแรงจากฝีมือรัฐบาลสหรัฐภายใต้การนำของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐ ผู้ประกาศและยึดมั่นในนโยบาย America First มาโดยตลอดนั้น การเซ็นข้อตกลง "Economic Partnership Agreement" (EPA) ระหว่างญี่ปุ่นและสหภาพยุโรป (EU) เมื่อวันที่ 17 ก.ค. ที่ผ่านมา ถือเป็นการตอกย้ำให้เห็นถึงจุดยืนที่มั่นคงในการสนับสนุนการค้าแบบเสรีที่ทั้ง 2 ฝ่ายมีให้กัน หลังจากที่ริเริ่มการเจรจาเรื่องข้อตกลงการค้าเสรีมาตั้งแต่ปี 2556

ระยะเวลา 5 ปีที่ญี่ปุ่นและ EU ได้ใช้ไปกับการเจรจาต่อรองเงื่อนไขและข้อกำหนดต่างๆมาสุกงอมในช่วงที่ทั้ง 2 ฝ่ายต่างถูกสหรัฐเก็บภาษีนำเข้าสินค้าพอดี แต่ก่อนที่ข้อตกลง EPA จะมีผลบังคับใช้ในเดือนมีนาคม 2562 นั้น In Focus สัปดาห์นี้ จะสรุปสาระสำคัญของข้อตกลงที่นายชินโซ อาเบะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ชี้ว่า "เป็นความสำเร็จครั้งประวัติศาสตร์" และยังเป็น "การแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนถึงการยืนเคียงกันเพื่อต้านการกีดกันการค้า" ในมุมมองของนายโดนัลด์ ทัสค์ ประธานคณะมนตรียุโรป

สาระสำคัญของข้อตกลงการค้าเสรีญี่ปุ่นและ EU มีดังนี้

ญี่ปุ่น

  • ญี่ปุ่นจะยกเลิกจัดเก็บภาษีนำเข้าผลิตภัณฑ์จาก EU ในสัดส่วน 94% ของสินค้านำเข้าทั้งหมด โดย 82% เป็นผลิตภัณฑ์ด้านการเกษตรและประมง
  • ญี่ปุ่นจะกำหนดโควต้าการจัดเก็บภาษีในระดับต่ำกับผลิตภัณฑ์ซอฟท์ชีสของยุโรป แต่ไม่นับรวมข้าวจาก EU
  • การลดภาษีเคมีภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์ภาคอุตสาหกรรมและสิ่งทอในทันทีหลังจากที่ข้อตกลงมีผลบังคับใช้

EU

  • EU จะปรับลดภาษีนำเข้าสินค้าจากญี่ปุ่น 99% ของการนำเข้าสินค้าทั้งหมด
  • EU จะยกเลิกการจัดเก็บภาษี 10% ยานยนต์ญี่ปุ่นในปีที่ 8 หลังจากที่ข้อตกลงการค้าเสรีมีผลบังคับใช้
  • EU จะยกเลิกการจัดเก็บภาษีชิ้นส่วนยานยนต์กว่า 90% หลังจากที่ข้อตกลงการค้าเสรีมีผลบังคับใช้ทันที
  • EU จะยกเลิกข้อจำกัดการนำเข้าไวน์ของญี่ปุ่น

การเซ็นข้อตกลงการค้าเสรีระหว่างญี่ปุ่นและ EU จะก่อให้เกิดเขตการค้าเสรีที่คิดเป็นสัดส่วนเกือบ 1 ใน 3 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมโลก และยังครอบคลุมประชากรถึง 600 ล้านคน

ในฝั่งของญี่ปุ่นเองนั้นได้ชื่นชมข้อตกลงครั้งล่าสุดนี้ว่าเกิดขึ้นได้เพราะนโยบาย "อาเบะโนมิคส์" ที่มีเป้าหมายที่จะดึงญี่ปุ่นให้หลุดพ้นจากภาวะเงินฝืด แม้ว่า ญี่ปุ่นจะเผชิญกับปัญหาจำนวนประชากรลดลงและการใช้จ่ายอย่างระมัดระวังในหมู่ประชาชนก็ตาม

แถลงการณ์ของกระทรวงต่างประเทศญี่ปุ่นระบุว่า การเสริมสร้างความแข็งแกร่งด้านความสัมพันธ์กับ EU จะช่วยกระตุ้นการลงทุนโดยตรงของทั้ง 2 ฝ่าย ต้านกระแสการกีดกันการค้า และยกระดับแบรนด์สินค้าญี่ปุ่น

ด้านนายโยอิชิ ซูซูกิ เอกอัครราชทูตญี่ปุ่นที่ดูแลกิจการเศรษฐกิจสากล กล่าวว่า การทำให้ข้อตกลงดังกล่าวมีผลบังคับใช้ได้ก่อนที่จะถึงช่วงสิ้นเดือนมีนาคม 2562 นั้น ถือเป็นเรื่องที่มีความสำคัญมาก เนื่องจากอังกฤษมีกำหนดถอนตัวจาก EU ในช่วงเวลาดังกล่าว ในขณะที่คณะกรรมาธิการยุโรปเองก็ตั้งความหวังไว้เช่นกันว่า ข้อตกลงนี้จะมีผลบังคับใช้ก่อนที่อังกฤษจะถอนตัวจากการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรปอย่างเป็นทางการ เนื่องจากข้อตกลง EPA จะมีผลบังคับใช้กับอังกฤษโดยอัตโนมัติในช่วงระยะเวลาเปลี่ยนผ่าน 2 ปี หลังจากที่อังกฤษหลุดจากการเป็นสมาชิก EU

เอกอัครราชทูตกล่าวด้วยว่า หากข้อตกลงมีผลบังคับใช้ได้ในช่วงระยะเวลาเปลี่ยนผ่านของอังกฤษ ญี่ปุ่นเองจะยังคงพอมีเวลาในการทำข้อตกลงด้านการค้ากับอังกฤษโดยเฉพาะ นับเป็นการขีดเส้นตายที่มีความท้าทายมากแต่ก็สำเร็จได้ในที่สุด

ก่อนหน้านี้ ทั้งญี่ปุ่นและ EU วางแผนที่จะลงนามข้อตกลงในการประชุมสุดยอด EU และญี่ปุ่นที่กรุงบรัสเซลส์วันที่ 11 กรกฎาคม แต่ต้องเลื่อนออกมาเป็นสัปดาห์นี้ เนื่องจากนายอาเบะต้องอยู่บัญชาการเพื่อคลี่คลายภัยพิบัติครั้งใหญ่ของประเทศอันเนื่องมาจากเหตุน้ำท่วมและดินถล่มที่สร้างความเสียหายอย่างหนักหน่วง แต่ก็ถือว่าญี่ปุ่นยังโชคดีที่ได้รัฐบาลที่ดีที่สามารถผลักดันข้อตกลงที่มีความสำคัญยิ่งสำหรับภาคธุรกิจและประชาชนในประเทศที่นอกจากจะกระจายผลประโยชน์อย่างทั่วถึงแล้ว ในอนาคตเราอาจจะได้ชิมเมนูอาหารฟิวชั่นอร่อยๆที่ปรุงด้วยชีสจากยุโรปและวัตถุดิบท้องถิ่นในญี่ปุ่นเป็นแน่

จะว่าไปแล้ว การที่ญี่ปุ่นและ EU ประสบความสำเร็จในการผลักดันข้อตกลง EPA ได้นั้น ส่วนหนึ่งเป็นเพราะทั้ง 2 ฝ่ายตัดสินใจที่จะไม่ดึงประเด็นที่ก่อให้เกิดความขัดแย้งเข้ามารวมไว้ในข้อตกลง แต่ญี่ปุ่นและ EU จะยังคงหารือและเจรจาต่อรองในประเด็นที่ยังไม่สามารถตกลงกันได้นี้ต่อไปในอนาคต

นอกจากข้อตกลงการค้าเสรีแล้ว ทั้ง 2 ฝ่ายยังได้เซ็นข้อตกลงในการเป็นพันธมิตรเชิงยุทธศาสตร์ ซึ่งมีเป้าหมายที่จะยกระดับความร่วมมือทวิภาคีในหลายภาคส่วน ตั้งแต่ ด้านความมั่นคง, อาชญากรรมทางไซเบอร์ และการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ

บริษัทเยอรมนีเล็งรุกตลาดแดนปลาดิบ

มาร์คัส ชูมานน์ ผู้อำนวยการหอการค้าเยอรมนีในญี่ปุ่น กล่าวว่า ข้อตกลงการค้าเสรีจะก่อให้เกิดความเคลื่อนไหวโฉมใหม่ในด้านความสัมพันธ์ทางธุรกิจของทั้งญี่ปุ่นและ EU นับตั้งแต่ปีที่แล้วที่ทางหอการค้าเห็นว่า บริษัทของเยอรมนีมีความสนใจที่จะเข้ามาทำตลาดในญี่ปุ่นมากขึ้น ทั้งการเข้ามาทำตลาดผ่านทางพันธมิตรหรือบริษัทในเครือที่ตั้งอยู่ในประเทศญี่ปุ่น

ภาคธุรกิจที่ก่อนหน้านี้ถูกปิดตายและบริษัทของเยอรมนีสนใจที่จะเข้ามาลงทุนมีทั้งวิศวกรรม ยานยนต์ เภสัชภัณฑ์ และการผลิตด้านเคมี

หอการค้าเยอรมนีในญี่ปุ่นคาดการณ์ว่า จากปัจจุบันที่บริษัทเยอรมนีเกือบ 12,000 แห่งได้เข้ามาทำธุรกิจอยู่ในญี่ปุ่น จำนวนของบริษัทเหล่านี้จะเพิ่มขึ้นในระดับตัวเลขเปอร์เซนต์สองหลักในช่วงไม่กี่ปีนับจากนี้

ด้านสถาบันวิชาการด้านการเกษตรของเยอรมนีอย่าง The Thunen Institute คาดการณ์ว่า จะมีการส่งออกเนื้อหมูและสัตว์ปีกจาก EU มายังญี่ปุ่นเพิ่มขึ้น และยังกรุยทางให้บริษัทของ EU สามารถเข้าถึงโครงการสาธารณูปโภคภาคสาธารณะของญี่ปุ่น เช่น โครงการสร้างทางรถไฟ โดย EU ประเมินว่า จะมีตำแหน่งงานถึง 6 แสนตำแหน่งในยุโรปที่เกี่ยวพันกับการทำการค้ากับญี่ปุ่น

ทางสถาบันยังคาดการณ์ด้วยว่า จะมีการส่งออกเคมีภัณฑ์ EU ไปยังญี่ปุ่นเพิ่มขึ้น 22% รวมทั้งการส่งออกด้านวิศวกรรมจักรกลเพิ่มขึ้น 16% ในขณะที่บริษัทคอมพิวเตอร์ เครื่องใช้ไฟฟ้าและยานยนต์ของญี่ปุ่น จะได้รับประโยชน์จากข้อตกลงดังกล่าว เนื่องจากท้ายที่สุดแล้วการจัดเก็บภาษีนำเข้ารถยนต์ญี่ปุ่นที่ 10% จะถูกปรับลดลงจนเหลือศูนย์ในที่สุด

In Focus ขอสรุปส่งท้ายด้วยการแสดงความยินดีกับญี่ปุ่นและ EU รวมทั้งสนับสนุนการค้าแบบเสรีตามกลไกของตลาด ด้วยคำกล่าวของโดนัลด์ ทัสค์ ประธานคณะมนตรียุโรป ซึ่งกล่าวไว้ในระหว่างการเยือนจีนเพื่อเข้าร่วมการประชุมสุดยอด EU และจีนช่วงต้นสัปดาห์ที่ว่า " หน้าที่ของยุโรปและจีน รวมทั้งสหรัฐอเมริกาและรัสเซียนั้น ไม่ใช่การทำลายความเป็นระเบียบของการค้าโลก แต่คือการปรับปรุงให้ดีขึ้น รวมทั้งไม่จุดชนวนสงครามการค้า ซึ่งท้ายที่สุดแล้วจะกลายเป็นความขัดแย้งที่ร้อนแรงเหมือนกับที่เคยเกิดขึ้นบ่อยครั้งในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา ยังมีเวลาสำหรับการป้องกันไม่ให้เกิดความขัดแย้งและความวุ่นวาย" สิ่งที่นายทัสค์พูด ดูเหมือนจะเป็นบทสะท้อนที่เหมาะสมที่สุดสำหรับอนาคตที่ควรจะเป็น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ