In Focusจับตามรสุมการเมืองอังกฤษ บนทางสองแพร่ง Soft Brexit vs Hard Brexit

ข่าวต่างประเทศ Wednesday July 25, 2018 13:44 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

กระแสความวิตกกังวลเกี่ยวกับอนาคตของอังกฤษหลังแยกตัวออกจากสหภาพยุโรป (Brexit) เริ่มกลับมาเป็นคลื่นใต้น้ำที่ก่อกวนบรรยากาศการซื้อขายในตลาดหุ้นและตลาดปริวรรตเงินตราในช่วงไม่กี่สัปดาห์นี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความไม่มั่นใจว่า อังกฤษเลือกที่จะออกจาก EU แบบ "Hard Brexit" หรือการถอนตัวจากการเป็นสมาชิก EU แบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาดและไม่ประนีประนอม หรือจะออกไปแบบ "Soft Brexit" ซึ่งเป็นการถอนตัวออกจากการเป็นสมาชิก EU แบบผ่อนปรนและยังคงรักษาความสัมพันธ์ด้านการค้าและด้านอื่นๆบางด้านกับ EU ไว้ต่อไป

เมื่อวันที่ 23 มิ.ย. ปี 2559 สหราชอาณาจักรซึ่งประกอบด้วยอังกฤษ เวลส์ สกอตแลนด์ และไอร์แลนด์เหนือ ได้จัดให้มีการลงประชามติ โดยหัวข้อในการทำประชามติคือ "สหราชอาณาจักรควรจะยังคงเป็นสมาชิกของสหภาพยุโรป หรือควรออกจากสหภาพยุโรป" โดยผู้ลงประชามติสามารถเลือกคำตอบได้ 1 คำตอบ ระหว่าง "ยังคงเป็นสมาชิกของสหภาพยุโรป" (Remain) หรือ "ออกจากสหภาพยุโรป" (Leave) ซึ่งผลปรากฏว่า ฝ่าย Leave ชนะฝ่าย Remain ด้วยสัดส่วน 52% ต่อ 48% จากจำนวนผู้ใช้สิทธิกว่า 30 ล้านคน (71.8% ของประชากรทั้งหมด)

จากนั้นในวันที่ 29 มี.ค. 2560 นางเทเรซา เมย์ นายกรัฐมนตรีอังกฤษ ได้ประกาศใช้มาตรา 50 เห่งสนธิสัญญาลิสบอน ซึ่งถือเป็นการเปิดฉากเดินหน้าเข้าสู่กระบวนการ Brexit อย่างเป็นทางการ โดยอังกฤษจะใช้เวลา 2 ปีในการเจรจากับสมาชิก 27 ชาติของ EU

** ไทม์ไลน์ ระยะเวลา 2 ปีแห่งการเจรจาระหว่างอังกฤษ และ EU

นับตั้งแต่นายกฯเมย์ประกาศใช้มาตรา 50 เห่งสนธิสัญญาลิสบอน เมื่อวันที่ 29 มี.ค. 2560 กระบวนการ Brexit ก็เริ่มเดินหน้าทันที โดยไทม์ไลน์การเจรจาดังกล่าว มีดังนี้

  • 11 เม.ย. 2560 : ที่ปรึกษารัฐบาลของ EU ได้พบปะกันที่กรุงบรัสเซลส์เพื่อทบทวนแนวทางการเจรจากับอังกฤษ และจัดประชุมอีกครั้งในวันที่ 24 เม.ย. 2560
  • 27 เม.ย. 2560 : รัฐมนตรีฝ่ายกิจการ EU ทั้ง 27 ชาติ ยกเว้นอังกฤษ (GAC) ได้จัดการประชุมที่ลักเซมเบิร์กเพื่อสรุปร่างแนวทางการเจรจา
  • 29 เม.ย. 2560 : ผู้นำ EU ทั้ง 27 ชาติ ยกเว้นอังกฤษ ได้พบปะกันที่กรุงบรัสเซลส์เพื่อให้การอนุมัติต่อแนวทางการเจรจากับอังกฤษ
  • 3 พ.ค. 2560 : นายมิเชล บาร์นิเยร์ อดีตประธานกรรมาธิการยุโรป (EC) เข้าประชุมคณะมนตรียุโรปเพื่อให้คำแนะนำเกี่ยวกับแนวทางการเจรจากับรัฐบาลอังกฤษ
  • 22 พ.ค. 2560 : GAC จัดการประชุมเพื่อบรรลุข้อตกลงต่อแนวทางการเจรจากับอังกฤษ โดยจะมอบอำนาจให้นายบาร์นิเยร์เป็นตัวแทนการเจรจาฝ่าย EU ที่กรุงบรัสเซลส์
  • ต้นเดือนมิ.ย. 2560 : นายเดวิด เดวิส รัฐมนตรีฝ่ายกิจการ Brexit ของอังกฤษ จะนำคณะเข้าเจรจากับเจ้าหน้าที่ EU ที่นำโดยนายบาร์นิเยร์
  • ช่วงฤดูใบไม้ร่วงของปี 2560 : GAC จัดการประชุมเพื่อพิจารณาความคืบหน้าในร่างสนธิสัญญาการถอนตัวของอังกฤษออกจาก EU เพื่อให้คณะผู้เจรจาสามารถเข้าสู่ช่วงที่ 2 ของกระบวนการเจรจาเพื่อหารือการทำข้อตกลงการค้าเสรีหลัง Brexit โดย EU ต้องการได้ข้อสรุปเกี่ยวกับประเด็นที่มีความสำคัญ เช่น แนวทางปฏิบัติต่อชาวอังกฤษที่อยู่ใน EU และชาวยุโรปที่อาศัยในอังกฤษ, การจัดการเกี่ยวกับกฎหมายของ EU และประเด็นเกี่ยวกับชายแดน

ในช่วงเวลานี้ ร่างกฎหมาย Great Repeal Bill จะเข้าสู่กระบวนการพิจารณาของรัฐสภาอังกฤษ โดยร่างกฎหมายดังกล่าวจะยกเลิกกฎหมายที่ว่าด้วยการรวมกลุ่มสหภาพยุโรปปี 1972 (European Communities Act) และจะกำหนดแนวทางในกระบวนการแยกตัวจากสหภาพยุโรป และคาดว่า สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 จะทรงลงพระปรมาภิไธยต่อร่างกฎหมาย Great Repeal Bill ในช่วงต้นปี 2561

  • ปลายปี 2561 - ต้นปี 2562 : รัฐสภายุโรปให้สัตยาบันต่อสนธิสัญญาการถอนตัวของอังกฤษออกจาก EU ขณะที่คณะมนตรียุโรปพิจารณาให้ความเห็นชอบ ส่วนรัฐสภาอังกฤษก็จะทำการพิจารณาเพื่อลงมติต่อสนธิสัญญาดังกล่าวเช่นกัน
  • 29 มี.ค. 2562 : หากการเจรจาระหว่างอังกฤษและ EU สามารถบรรลุข้อตกลงภายในช่วงเวลาข้างต้นนี้ อังกฤษก็จะแยกตัวออกจาก EU โดยสมบูรณ์ในเวลาเที่ยงคืนของวันที่ 29 มี.ค. 2562 ซึ่งจะเป็นวันทำการทางธุรกิจวันสุดท้ายของไตรมาสแรกของปีดังกล่าว

** จับตาอนาคตอังกฤษ... จะอยู่ต่อก็ไม่ได้ จะแยกไปก็อาจไม่รอด

การเจรจากระบวนการ Brexit ระหว่างอังกฤษและ EU ไม่ง่ายอย่างที่คิด เพราะมีรายละเอียดปลีกย่อยมากมาย โดยขณะที่อังกฤษมีจุดยืนที่จะรักษาผลประโยชน์ของประเทศให้ได้มากที่สุด และหวังว่าการแยกตัวออกจาก EU จะไม่ส่งผลกระทบมากนักนั้น ทางฝั่ง EU ก็มีจุดยืนที่จะกำหนดเงื่อนไขที่เข้มงวดและแข็งกร้าวต่ออังกฤษ เพื่อป้องกันไม่ให้สมาชิกอื่นใน EU คิดแยกตัวตามอังกฤษ

สำหรับประเด็นหลักในการเจรจาข้อตกลง Brexit กับอังกฤษนั้น EU ได้ตั้งไว้ 4 ประเด็น คือ การกำหนดวงเงินที่อังกฤษจะต้องจ่ายให้แก่ EU สำหรับการแยกตัวออกไป, การกำหนดสถานะในอนาคตของพลเมืองของ EU ที่อาศัยอยู่ในอังกฤษ, การกำหนดให้มีการเปิดชายแดนของไอร์แลนด์เหนือ และการกำหนดกฎหมายที่จะบังคับใช้กับบริษัทต่างๆ ภายหลังจากที่อังกฤษแยกตัวออกจาก EU

นอกจากนี้ ยังมีอีกประเด็นที่สร้างความขัดแย้งให้กับทั้ง 2 ฝ่าย คือ การที่อังกฤษต้องการได้รับสิทธิในการทำการค้าเสรีกับ EU แต่อังกฤษเองไม่เห็นด้วยกับหลักการของการให้แรงงาน EU สามารถเดินทางเข้า-ออกอังกฤษได้อย่างเสรี โดยอังกฤษระบุว่า จะจำกัดจำนวนพลเมืองของ EU ที่จะเดินทางเข้าอังกฤษ

เมื่อมาดูภาคเอกชนและประชาชนของอังกฤษที่อยู่ในภาวะ "แขวนลอย" มาตั้งแต่รู้ผลการลงประชามตินั้น ต่างก็อกสั่นขวัญแขวนว่า การเจรจาระหว่างอังกฤษและ EU อาจจะจบไม่สวย เมื่อมีกระแสคาดการณ์ว่า อังกฤษอาจถอดใจถอนตัวจากโต๊ะเจรจา แทนที่จะยอมตามเงื่อนไขสุดหินของ EU หลังจากนายกฯเมย์ใช้วาทะกรรมทางการเมืองว่า "no deal is better than a bad deal" หรือ "การไม่มีข้อตกลง ก็ยังดีกว่าการมีข้อตกลงที่แย่"

การส่งสัญญาณของนายกฯเมย์ทำเอาหลายฝ่ายกังวลว่า หากอังกฤษตัดสินใจยกเลิกการเจรจากับ EU ก็จะทำให้อังกฤษแยกตัวออกจาก EU โดยอัตโนมัติในวันที่ 29 มี.ค. 2562 โดยไม่มีการทำข้อตกลงใดๆ ซึ่งจะทำให้อังกฤษสูญเสียสิทธิพิเศษที่เคยได้รับจาก EU ขณะที่ภาคธุรกิจของอังกฤษได้ออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลทำข้อตกลงกับ EU เพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบต่างๆนานาที่อาจจะเกิดขึ้น และการแยกตัวออกมาจาก EU โดยไม่มีการทำข้อตกลงนั้น ถือเป็นการกระทำที่ไม่มีความรับผิดชอบ

** อังกฤษกับทางเลือกใหม่ จะจากไปอย่าง Hard Brexit หรือ Soft Brexit

อังกฤษเดินทางมาถึงจุดหลังชนฝาอย่างแท้จริง เมื่อรัฐบาลภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรีเทเรซา เมย์ ได้พยายามอย่างยิ่งยวดที่จะทำให้การเจรจากับ EU เป็นไปในลักษณะที่จะทำให้อังกฤษบอบช้ำน้อยที่สุด โดยนายกฯเมย์ได้ยื่นข้อเสนอ "Soft Brexit" ต่อคณะรัฐมนตรีอังกฤษเมื่อวันที่ 6 ก.ค. 2561 ซึ่งข้อเสนอดังกล่าวต้องการให้อังกฤษออกจาก EU อย่างราบรื่น และไม่ส่งผลกระทบร้ายแรงต่อทั้งภาคธุรกิจและภาคประชาชน โดยข้อเสนอที่ว่านั้น ครอบคลุมถึงการสร้างเขตการค้าเสรีระหว่างอังกฤษ และ EU

ข้อเสนอของนายกฯเมย์ผ่านฉลุยจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี แต่กลับไม่เป็นที่พอใจของรัฐมนตรีที่สนับสนุนแนวทาง "Hard Brexit" ซึ่งรวมถึงนายเดวิด เดวิส อดีตรัฐมนตรีฝ่ายกิจการ Brexit , นายสตีฟ เบเกอร์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากพรรคอนุรักษ์นิยมซึ่งเป็นอีกหนึ่งในรัฐมนตรีที่รับผิดชอบด้านกิจการ Brexit และนายบอริส จอห์นสัน รัฐมนตรีต่างประเทศ

นายเดวิด เดวิส กล่าวว่า เขาไม่สามารถสนับสนุนแผนการของนางเมย์ในการคงความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับ EU ต่อไป หลังจากที่อังกฤษแยกตัวออกมา พร้อมระบุว่า นางเมย์ยอมอ่อนข้อต่อ EU มากเกินไป และง่ายเกินไป

ไม่เพียงแต่คนวงในรัฐบาลอังกฤษเท่านั้น แม้แต่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐยังออกมาเตือนในระหว่างการเดินทางเยือนอังกฤษครั้งล่าสุดว่า แผน Soft Brexit ของนายกฯเมย์อาจทำลายข้อตกลงการค้าระหว่างอังกฤษและสหรัฐ อีกทั้งยังเตือนว่า หากอังกฤษยังดึงดันที่จะใช้แผนดังกล่าวต่อไป สหรัฐจะหันไปทำข้อตกลงกับสหภาพยุโรปแทน

ท่ามกลางปัจจัยแวดล้อมและสถานการณ์การเมืองที่ดำเนินมาจนถึงปัจจุบัน ทำให้ Soft Brexit กลายเป็นอีกทางเลือกจำยอมที่ปรากฎขึ้น ภายใต้ขอบเขตของแนวคิดการถอนตัวจากการเป็นสมาชิก EU แบบยอมผ่อนปรน โดยจะมีการคงไว้ซึ่งการเป็นสมาชิกตลาดร่วม EU เพื่อแลกกับการเปิดให้มีการเคลื่อนไหวอย่างเสรีในบางเรื่อง ทั้งนี้ นายกฯเมย์คาดหวังว่า แผน Soft Brexit ซึ่งครอบคลุมถึงการใช้นโยบายภาษีศุลกากรที่เอื้ออำนวยต่อภาคธุรกิจ จะทำให้การทำข้อตกลงการค้าใหม่ระหว่างอังกฤษกับประเทศทั่วโลกเป็นไปอย่างราบรื่น และเพื่ออนาคตที่ดีของอังกฤษภายหลังการแยกตัวจาก EU

ขณะที่ Hard Brexit ซึ่งเป็นทางเลือกดั้งเดิม หรือการไม่ประนีประนอมในประเด็นที่สำคัญ เช่น การอนุญาตให้ประชาชนของ EU เดินทางเข้าออกในสหราชอาณาจักรได้อย่างเสรี รวมทั้งการออกจากตลาดร่วม EU และกลับไปค้าขายกับ EU ในลักษณะเดียวกับประเทศอื่นๆนอกยุโรป โดยใช้กฎเกณฑ์ขององค์การการค้าโลกนั้น ก็อาจจะยังไม่ใช่ทางเลือกที่ถูกทิ้งไป

เราคงต้องรอดูว่า รัฐบาลอังกฤษ และ EU จะเลือกแนวทางใด และทั้ง 2 ฝ่ายจะสามารถบรรลุข้อตกลงได้ทันเที่ยงคืนของวันที่ 29 มี.ค. 2562 นี้หรือไม่ นอกจากนี้สิ่งที่น่าจับตาไม่แพ้กันก็คือ อังกฤษจะกำหนดสถานะและบทบาทของตนเองในการเมืองโลกเช่นใดหลังจากนั้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ