ในช่วงคืนวันเสาร์ที่ 4 สิงหาคม 2561 ในขณะที่เวเนซุเอลากำลังเฉลิมฉลองวันครบรอบ 81 ปีของกองกำลังแห่งชาติ ณ กรุงคารากัส นายนิโคลัส มาดูโร ผู้เป็นประธานาธิบดีของประเทศได้ขึ้นกล่าวสุนทรพจน์เนื่องในโอกาสพิเศษนี้ ในขณะที่กำลังกล่าวสุนทรพจน์อยู่ก็ได้มีเสียงระเบิดดังขึ้น สร้างความตกใจให้กับทั้งตัวประธานาธิบดี เจ้าหน้าที่ และผู้ที่อยู่ในพื้นที่เป็นอย่างมาก เหตุการณ์ครั้งนี้ส่งผลให้มีเจ้าหน้าที่ได้รับบาดเจ็บ 7 นาย ส่วนประธานาธิบดีมาดูโรนั้นปลอดภัยดี ขณะที่ต้นเสียงของระเบิดครั้งนี้ คือ โดรน DJI M600 สองตัวที่ติดระเบิด ซึ่งได้เกิดระเบิดขึ้นก่อนที่จะเข้าถึงตัวประธานาธิบดีเวเนซูเอลา
หลังจากเหตุการณ์ระทึกนี้ได้เกิดขึ้น สื่อหลายสำนักรวมถึงรัฐบาลเวเนซุเอลามองว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมีเป้าหมายเรื่องการลอบทำร้ายนายมาดูโร ทำให้มีการตั้งคำถามขึ้นมากมายว่า "ใครเป็นคนก่อเหตุ?" ซึ่งรวมถึงสมมติฐานที่ว่า เหตุระเบิดเป็นฝีมือของคู่แข่งทางการเมือง หรือเป็นฝีมือของนายฮวน มานูเอล ซานโตส ประธานาธิบดีโคลอมเบีย หรือแม้กระทั่งมีการพาดพิงว่า รัฐบาลสหรัฐเป็นผู้อยู่เบื้องหลังเหตุการณ์ครั้งนี้ อย่างไรก็ดี ทั้งโคลอมเบียและสหรัฐได้ออกมาปฏิเสธข้อกล่าวหาดังกล่าวแล้ว อีกทั้งยังไม่มีการยืนยันอย่างชัดเจนว่า สรุปแล้วใครคือผู้ก่อเหตุ เรื่องนี้ต้องปล่อยให้ทางเวเนซุเอลาดำเนินการกับกิจการภายในประเทศตัวเองต่อไป ดังนั้น บทความของวันนี้ จึงไม่ใช่บทความที่จะชี้ว่าใครเป็นคนผิด ใครเป็นคนก่อ หรือใครน่าจะเป็นคนก่อเหตุ แต่จะมาพูดถึงประเด็นใหม่ที่เรามองเห็นได้จากเหตุการณ์ครั้งนี้ ซึ่งก็คือ ภัยคุกคามรูปแบบใหม่ที่มาพร้อมกับกระแสความรุดหน้าด้านเทคโนโลยีของโลก
"โดรน" เรื่องเก่าหรือเรื่องใหม่ เรื่องไกลตัวหรือใกล้ตัว?
โดรนเป็นอากาศยานแบบไร้คนขับขนาดเล็กน้ำหนักเบา ซึ่งใช้รีโมทในการควบคุม หรือ Unmanned Aerial Vehicle (UAV) แน่นอนว่า การนำโดรนมาใช้กับการโจมตีทางทหารไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่ก็นับว่าเป็นเรื่องที่เราได้ยินกันบ่อยขึ้นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เพราะมีการใช้โดรนกันอย่างแพร่หลายและนำมาใช้หลายรูปแบบมากขึ้น ซึ่งไม่เพียงแต่จะนำมาใช้เพื่อการโจมตีทางทหารเท่านั้น แต่สามารถนำมาใช้ได้ในเชิงพาณิชย์ การขนส่ง การถ่ายภาพจากมุมสูง ยกตัวอย่างเช่น กรณีที่ DHL และ AMAZON มีไอเดียที่จะนำโดรนมาใช้ในธุรกิจการขนส่ง หรือกรณีที่บรรดาคนดังในอินเทอร์เน็ตที่เริ่มใช้โดรนในการถ่ายภาพ ซึ่งทำให้ภาพที่ออกมามีมุมสวยไม่ซ้ำใคร
อย่างไรก็ดี เหตุโจมตีในครั้งนี้ไม่ถือว่าเป็นเหตุโจมตีเพื่อการปะทะกันทางทหาร ไม่ใช่การนำไปใช้ในเชิงพาณิชย์ ไม่ได้นำมาใช้ถ่ายภาพ แต่ถูกนำมาใช้เพื่อลอบโจมตีในเมืองหลวงกลางงานสำคัญระดับชาติที่มีการรักษาความปลอดภัยอย่างแน่นหนา ซึ่งนับเป็นเรื่องที่น่าตกใจ และนับเป็นเหตุการณ์ที่จะช่วยย้ำเตือนให้ทั่วโลกได้ตระหนักรู้ถึงภัยคุกคามรูปแบบใหม่ที่เกิดขึ้นจริง อีกทั้งยังสะท้อนให้เห็นว่า แม้โดรนจะเป็นเทคโนโลยีที่สามารถอำนวยความสะดวกให้มากมาย แต่ก็สามารถนำมาซึ่งภัยรูปแบบใหม่ได้เช่นกัน
ภัยรูปแบบใหม่นี้มีลักษณะอย่างไร เหตุใดจึงน่ากังวล?
หลังจากที่โลกได้เปลี่ยนแปลงไปพร้อมกับการพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ภัยรูปแบบใหม่ที่จะส่งกระทบต่อความมั่นคงทั้งต่อประเทศและประชาชนแล้ว ภัยรูปแบบใหม่ที่ว่า มีลักษณะอย่างไร? ขออธิบายสั้น ๆ ว่า ภัยรูปแบบใหม่ที่กำลังจะกล่าวถึงนี้ เป็นภัยคุกคามที่นอกเหนือไปจากการสู้รบกันในรูปแบบเดิมๆ ที่มีการใช้กองทัพและอาวุธมากมายในการโจมตี เป็นภัยคุกคามที่อาจไม่ได้เกิดจากบทบาทของภาครัฐ เป็นภัยคุกคามที่กระทำขึ้นได้ง่ายโดยอาศัยกำลังคนเพียงไม่กี่คน โดยผู้ก่อเหตุอาจจะเป็นใครก็ได้ เป็นภัยคุกคามที่เข้าถึงตัวเราได้ง่าย และเป็นภัยคุกคามที่ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในการร่วมกันแก้ปัญหาเพราะเป็นปัญหาที่ควบคุมได้ยากและเป็นเรื่องยากสำหรับภาครัฐที่จะดูแลควบคุมปัญหานี้ได้อย่างทั่วถึง ดูจากงานเฉลิมฉลองวันครบรอบ 81 ปีของกองกำลังแห่งชาติที่เวเนซุเอลาครั้งนี้ ซึ่งเป็นวาระสำคัญระดับชาติ มีหน่วยรักษาความปลอดภัยที่แน่นหนา แต่โดรนติดระเบิดนี้ ยังหลุดเข้าไปสู่พื้นที่ได้จนสามารถทำให้เจ้าหน้าที่ทหารบาดเจ็บได้ถึง 7 ราย นับเป็นการลอบโจมตีรูปแบบใหม่ที่ไม่ใช่การใช้หน่วยซุ่มยิงระยะไกล แต่เป็นการใช้เทคโนโลยีอากาศยานไร้คนขับที่ผู้ลงมือไม่จำเป็นจะต้องนำตัวเองเข้าไปสู่ในพื้นที่แต่อย่างใด เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในงานเฉลิมฉลองครั้งใหญ่ระดับชาตินี้ จะเป็นเครื่องเตือนใจให้คนทั่วไปได้ตระหนักรู้ว่า เรื่องภัยคุกคามรูปแบบใหม่เป็นเรื่องใกล้ตัว โดยเป็นภัยที่มาพร้อมกับเทคโนโลยี และสามารถเข้าถึงตัวเราได้มากกว่าที่คิด
เหตุการณ์สอนให้ทบทวนถึงวิธีป้องกันและวิธีแก้ไข
หลังจากที่สถานการณ์ครั้งนี้ได้สะท้อนให้เห็นแล้วว่า เทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้นอย่างรวดเร็วทำให้ภัยคุกคามเหล่านี้เป็นเรื่องใกล้ตัวที่สามารถเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา อีกทั้งยังสามารถส่งผลกระทบต่อทั้งชีวิตและทรัพย์สินของผู้คนได้เป็นจำนวนมาก และถ้าหากเราได้มองถึงภัยคุกคามและเทคโนโลยีในมุมที่กว้างขึ้น เราจะพบว่า ทุกวันนี้เรามีภัยคุกคามรูปแบบใหม่ในลักษณะอื่น ๆ ด้วยเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นการจารกรรมข้อมูล การโจมตีทางไซเบอร์ อาชญากรข้ามชาติที่อาจใช้เทคโนโลยีเป็นเครื่องมือ อย่างไรก็ดี บทความวันนี้ไม่ได้กำลังจะบอกว่าภัยคุกคามรูปแบบเดิม ๆ กำลังจะหายไป เพียงแค่ต้องการชี้ให้เห็นว่า "ท่ามกลางการพัฒนาด้านเทคโนโลยีที่ก้าวไกล ภัยคุกคามใหม่ ๆ ก็ยิ่งใกล้ตัวเรายิ่งขึ้น" โจทย์สำคัญสำหรับทั่วโลก ณ ตอนนี้ก็คือ แต่ละประเทศจะหาทางป้องกันและรับมือกับเรื่องเช่นนี้ได้อย่างไรบ้าง นอกจากนี้ยังต้องมองไปถึงวิธีการแก้ไขเพื่อให้สถานการณ์กลับคืนสู่ปกติโดยเร็วที่สุด เบื้องต้น บางประเทศได้มีการออกกฎหมายควบคุมการใช้โดรนเพื่อรักษาความปลอดภัยของประชาชนและความมั่นคงของรัฐ เช่น ประเทศญี่ปุ่นที่มีกฎหมายห้ามใช้โดรนบินเหนือเขตที่มีผู้อยู่อาศัยอย่างหนาแน่น กัมพูชาที่สั่งห้ามใช้โดรนในน่านฟ้าของประเทศ ส่วนประเทศที่มีอำนาจอย่างจีนและสหรัฐก็มีกฎหมายควบคุมโดรนด้วยเช่นกัน ไทยก็ได้มีการประกาศให้ผู้ใช้โดรนขึ้นทะเบียนก่อนใช้งาน
ในเวเนซูเอลาเองก็มีกฎหมายควบคุมการใช้โดรนเช่นกันซึ่งก็คือการขอใบอนุญาตใช้โดรน แต่ก็พบว่า เวเนซุเอลาเองก็ยังไม่มีกฎหมายเฉพาะเกี่ยวกับการควบคุมการใช้โดรนอย่างชัดเจน หรือนี่จะเป็นจุดอ่อนของเวเนซุเอลาที่ยังไม่สามารถควบคุมการใช้โดรนได้ดีพอ? ซึ่งถ้าหากประเด็นนี้เป็นข้อบกพร่องที่นำไปสู่เหตุการณ์ดังกล่าว ประเทศต่างๆ ก็คงต้องหันกลับมาดูตัวเองแล้วว่า มาตรการที่มีอยู่นั้นดีพอแล้วหรือยัง และต้องไม่ลืมว่า จุดประสงค์ของการใช้มาตรการป้องกันนั้น ไม่ได้มีเพื่อการป้องกันปัญหาให้ได้อย่างสิ้นเชิงเท่านั้น แต่รวมไปถึงการลดอันตรายจากภัยเหล่านี้ให้ได้มากที่สุดด้วย ส่วนการแก้ไขก็คงต้องร่วมมือกันทั้งจากภาครัฐ ภาคเอกชน และบุคคลทั่วไป รวมไปถึงความร่วมมือกับประเทศอื่น ๆ ด้วย เพราะการใช้เทคโนโลยีในการก่อเหตุมักจะมีลักษณะที่รวดเร็วและสามารถลงมือข้ามประเทศผ่านเครือข่ายได้ ซึ่งหลาย ๆ ครั้งก็เป็นเรื่องยากสำหรับหน่วยงานรัฐเพียงหน่วยเดียวที่จะตามแก้และป้องกันปัญหาเหล่านี้ได้ทัน นอกจากนี้จะต้องมีการเตรียมแผนรับมือกับสถานการณ์เช่นนี้ไว้เสมอ ไม่เช่นนั้นแล้วการแก้ปัญหาจะเป็นเรื่องที่ยากและซับซ้อนเข้าไปอีก
นอกเหนือจากการตามตัวหาคนผิด ความซับซ้อนทางการเมืองในเวเนซุเอลาแล้ว เหตุการณ์ครั้งนี้ ยังเป็นอีกหนึ่งเหตุการณ์ทำให้ทั่วโลกสามารถมองย้อนกลับมาที่ประเทศตัวเองได้ด้วยเช่นกันว่า จะเป็นอย่างไรหากการโจมตีบรรลุผลได้มากกว่านี้ และประเทศของเราจะมีความพร้อมต่อการรับมือและแก้ไขสถานการณ์ภัยคุกคามรูปแบบใหม่เช่นนี้แค่ไหน