In Focusสหรัฐ-ตุรกี มวยเอกคู่ใหม่ ท่ามกลางปมสัมพันธ์ขัดแย้งที่รอวันสะสาง

ข่าวต่างประเทศ Wednesday August 15, 2018 14:39 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

หลังจากประกาศศึกไปรอบด้าน ตั้งแต่มหาอำนาจต่างขั้วอย่าง จีน และ รัสเซีย คู่รักคู่แค้นอย่าง อิหร่าน ไปจนถึงมหามิตร แคนาดา แต่ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ก็ยังไม่หยุดท่าทีแข็งกร้าวต่อนานาประเทศ เมื่อล่าสุดเขาได้ประกาศศึกครั้งใหม่กับ ตุรกี ชาติพันธมิตรที่สำคัญของสหรัฐในนาโต ด้วยการสั่งการให้เพิ่มอัตราภาษีนำเข้าเหล็กและอลูมิเนียมจากตุรกีขึ้นอีกสองเท่า

ชนวนเหตุขัดแย้งล่าสุดบนเส้นทางความสัมพันธ์สหรัฐ-ตุรกี

ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐและตุรกีตกต่ำถึงขีดสุดนับตั้งแต่ช่วงต้นทศวรรษที่ 1950 หลังจากเมื่อวันที่ 1 สิงหาคมที่ผ่านมา สหรัฐได้ประกาศคว่ำบาตรรัฐมนตรีมหาดไทยและยุติธรรมของตุรกี โดยสั่งอายัดทรัพย์สินในสหรัฐของบุคคลทั้งสอง และห้ามชาวสหรัฐทำธุรกรรมใด ๆ กับรัฐมนตรีตุรกีทั้งสองคนนี้ ซึ่งถือเป็นมาตรการคว่ำบาตรที่สหรัฐไม่เคยทำกับตุรกีมาก่อน ขณะที่รัฐบาลตุรกีก็ได้ออกมาตอบโต้ทันควัน ด้วยการใช้มาตรการคว่ำบาตรแบบเดียวกันต่อรัฐมนตรีมหาดไทยและยุติธรรมของสหรัฐ โดยสั่งอายัดทรัพย์สินทั้งหมดของบุคคลทั้งสองในตุรกี

การประกาศคว่ำบาตรเจ้าหน้าที่ของต่างฝ่ายมีขึ้น หลังจากที่ตุรกีไม่ยอมปล่อยตัวบาทหลวง แอนดรูว์ บรุนสัน ชาวสหรัฐที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นอาชญากรก่อการร้ายและสายลับ ด้วยการให้การช่วยเหลืออิหม่ามเฟตุลเลาะห์ กูเลน ซึ่งถูกทางการตุรกีกล่าวหาว่า เป็นผู้อยู่เบื้องหลังเหตุการก่อรัฐประหารเมื่อปี 2559 จนต้องลี้ภัยไปยังประเทศสหรัฐ

ทั้งนี้ บาทหลวง แอนดรูว์ บรุนสัน ทำงานในประเทศตุรกีมากว่า 20 ปี ก่อนที่จะถูกจับกุมตัวเมื่อเดือนตุลาคม 2559 โดยภายหลังถูกคุมขังนานเกือบ 2 ปี ทางการตุรกีก็ได้ตัดสินใจกักบริเวณบาทหลวงบรุนสันที่บ้านของเขา และดำเนินคดีในข้อหาว่าเป็นอาชญากรก่อการร้ายและสายลับ โดยบาทหลวงบรุนสันอาจต้องโทษจำคุกสูงสุด 35 ปี หากถูกตัดสินว่ามีความผิด

มาตรการคว่ำบาตรเจ้าหน้าที่ตุรกีของสหรัฐอาจเรียกได้ว่าเป็นการชิมลาง หยั่งเชิงดูท่าทีของตุรกีว่าจะทำตามข้อเรียกร้องของสหรัฐในการปล่อยตัวบาทหลวงบรุนสันหรือไม่ หลังจากที่การเจรจาหลายครั้งที่ผ่านมาเพื่อลดความมึนตึงระหว่างกันไม่ประสบผล โดยก่อนหน้าการประกาศมาตรการคว่ำบาตรเจ้าหน้าที่ของรัฐบาลตุรกีนั้น ปธน.ทรัมป์ได้ขู่ว่าจะใช้มาตรการคว่ำบาตรขนานใหญ่ ถ้าหากตุรกียังไม่ยอมปล่อยตัวบาทหลวงบรุนสัน แต่ทางการตุรกีได้ปฏิเสธข้อเรียกร้องดังกล่าวของผู้นำสหรัฐ โดยประธานาธิบดี เรเซป ตอยยิบ เออร์โดกัน ได้ประกาศว่า การข่มขู่ของสหรัฐไม่เกิดประโยชน์ เพราะตุรกีจะไม่ประนีประนอมในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับสิทธิอำนาจศาล แถมยังขู่กลับอีกด้วยว่า ถ้าหากสหรัฐไม่เปลี่ยนแปลงท่าที ก็จะต้องสูญเสียพันธมิตรที่แท้จริงอย่างตุรกี

และแล้วมาตรการคว่ำบาตรระลอกต่อมาก็เกิดขึ้นตามที่ปธน.ทรัมป์ได้ลั่นวาจาไว้ โดยผู้นำสหรัฐได้ประกาศผ่านทางทวิตเตอร์ เมื่อวันศุกร์ที่ 10 ส.ค.ที่ผ่านมา ว่า "ผมได้สั่งการให้เพิ่มอัตราภาษีนำเข้าเหล็กและอลูมิเนียมจากตุรกีขึ้นอีกสองเท่า สืบเนื่องจากที่ค่าเงินลีราของตุรกีอ่อนค่าลงอย่างรวดเร็วเมื่อเทียบกับดอลลาร์ที่แข็งมากของเรา โดยขณะนี้ อัตราภาษีเหล็กนำเข้าจะอยู่ที่ 50% และอลูมิเนียมจะอยู่ที่ 20%" พร้อมทั้งยังระบุด้วยว่า "ความสัมพันธ์ของเรากับตุรกีไม่ดีนักในเวลานี้"

นักวิเคราะห์เชื่อว่า ความสัมพันธ์ที่ย่ำแย่ลงของสหรัฐและตุรกี เป็นผลพวงสืบเนื่องมาจากความขัดแย้งที่ดำเนินมาอย่างต่อเนื่องระหว่างรัฐบาลสองประเทศในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นนโยบายที่แตกต่างกันเกี่ยวกับซีเรีย การที่สหรัฐปฏิเสธส่งตัวนายเฟตุลเลาะห์ กูเลน นักการศาสนาอิสลาม ซึ่งลี้ภัยอยู่ในสหรัฐ กลับไปดำเนินคดีในตุรกี รวมทั้งประเด็นที่ตุรกีซื้อระบบขีปนาวุธ S-400 จากรัสเซีย

สงครามเศรษฐกิจ

เดวิด พอลล็อก นักวิชาการอาวุโสจากสถาบัน Washington Institute for Near East Policy กล่าวว่า การคว่ำบาตรไม่ได้เกิดจากสาเหตุทางเศรษฐกิจ แต่เป็นนโยบายต่างประเทศ โดยการที่ประธานาธิบดีสหรัฐมีปฏิบัติการที่แข็งกร้าวต่อการจับกุมตัวบาทหลวงบรุนสันนั้น ไม่ใช่เพียงเพราะบาทหลวงเป็นพลเมืองสหรัฐ หากแต่ยังเป็นการทำเพื่อเอาใจกลุ่มชาวคริสเตียน ซึ่งถือเป็นฐานเสียงที่สำคัญของทรัมป์ด้วย

ตุรกีเป็นผู้ผลิตเหล็กรายใหญ่อันดับ 8 ของโลก และเป็นตลาดนำเข้าเหล็กรายใหญ่อันดับ 7 ของสหรัฐจากการเปิดเผยของกระทรวงพาณิชย์สหรัฐในรายงานเดือนมิ.ย. ในทางกลับกัน สหรัฐอเมริกาเป็นตลาดส่งออกเหล็กที่ใหญ่ที่สุดของตุรกี ด้วยยอดส่งออก 11% ของทั้งหมด

การขึ้นภาษีดังกล่าว "จะมีผลกระทบอย่างมากต่อตุรกี และมากเกินกว่าที่ใครจะคาดคิด" นายพอลล็อกกล่าว

การเจรจาทางการเมืองที่ล้มเหลว ก่อนถูกซ้ำเติมด้วยการประกาศขึ้นภาษีเหล็กและอลูมิเนียมเพิ่มสองเท่าดังที่กล่าวมาแล้วในข้างต้น ส่งผลให้ค่าเงินลีราของตุรกีดิ่งลงอย่างหนักในวันศุกร์

ทั้งนี้ ค่าเงินลีราได้ทรุดตัวลงตั้งแต่ปีที่ผ่านมา และร่วงลงไปแล้วมากกว่า 45% ในปีนี้ ซึ่งไม่ได้มีสาเหตุมาจากรอยร้าวล่าสุดในความสัมพันธ์ทางการทูตและเศรษฐกิจกับประเทศมหาอำนาจอย่างสหรัฐเท่านั้น แต่ยังเป็นเพราะเศรษฐกิจตุรกีเอง ซึ่งหลังจากเติบโตต่อเนื่องมาหลายปี ก็ได้เริ่มส่งสัญญาณต่าง ๆ ที่แสดงให้เห็นถึงความเปราะบาง ไม่ว่าจะเป็นอัตราเงินเฟ้อที่พุ่งขึ้น การขาดดุลบัญชีเดินสะพัด และการที่รัฐบาลตุรกีใช้งบประมาณจำนวนมากในการกระตุ้นเศรษฐกิจ รวมทั้งการที่นายเออร์โดกันได้เข้าแทรกแซงนโยบายการเงินของธนาคารกลาง

การดิ่งลงของค่าเงินลีราจะส่งผลกระทบต่อบริษัทของตุรกีที่ต้องชำระหนี้ในสกุลเงินต่างประเทศ ซึ่งประมาณการว่าน่าจะมีมูลค่ามากกว่า 2 แสนล้านดอลลาร์ และด้วยเหตุที่ตุรกีพึ่งพาการนำเข้าพลังงานอย่างมาก จึงส่อเค้าว่าผู้บริโภคในประเทศจะต้องเผชิญกับการขึ้นราคาสินค้าและบริการในอีกไม่นานนี้

เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา ประธานาธิบดีตุรกีได้ออกมาเรียกร้องให้ชาวตุรกีแปลงสกุลเงินดอลลาร์และทองคำให้อยู่ในรูปสกุลเงินลีรา เพื่อพยุงค่าเงินของประเทศที่กำลังร่วงลงอย่างหนัก โดยนายเออร์โดกันกล่าวว่า ตุรกีกำลังเผชิญสงครามเศรษฐกิจ และตุรกีจะตอบโต้ประเทศที่เป็นฝ่ายเริ่มก่อสงครามดังกล่าว ทั้งยังระบุว่า ดอลลาร์จะไม่สามารถสกัดการขยายตัวของตุรกี พร้อมกับเรียกร้องให้ตุรกีเพิ่มการผลิตและการส่งออก

ล่าสุดในวันอังคารที่ 14 ส.ค. นายเออร์โดกันกล่าวว่า ตุรกีจะคว่ำบาตรสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ของสหรัฐ ซึ่งรวมถึง iPhone ของบริษัทแอปเปิล อิงค์ เพื่อตอบโต้มาตรการของสหรัฐในการเพิ่มอัตราภาษีเหล็กและอลูมิเนียมที่นำเข้าจากตุรกี

"ถ้าพวกเขามี iPhone พวกเราก็มีโทรศัพท์ในแบรนด์ของเรา และในตลาดก็ยังมีซัมซุง โดยเราต้องผลิตสินค้าให้เพียงพอกับที่เราต้องการ และให้มีคุณภาพดีกว่าสินค้านำเข้า" นายเออร์โดกันกล่าว พร้อมกับย้ำข้อเรียกร้องให้ชาวตุรกีแปลงสกุลเงินดอลลาร์เป็นลีราเพื่อรักษาเกียรติภูมิสกุลเงินของประเทศ

ขณะเดียวกัน นายเออร์โดกันยังได้กระตุ้นให้ชาวตุรกียืนหยัดต่อต้านการแข็งค่าของดอลลาร์และเงินเฟ้อ ในแบบเดียวกับที่ชาวตุรกีสามารถเอาชนะการทำรัฐประหารในปี 2559

นอกจากนี้ เขายังยืนยันว่ารัฐบาลได้ดำเนินมาตรการที่จำเป็นเพื่อแก้ไขการทรุดตัวของค่าเงินลีราแล้ว ซึ่งการประกาศล่าสุดของนายเออร์โดกันมีขึ้น หลังจากที่ธนาคารกลางตุรกีประกาศว่า ทางธนาคารกลางจะจับตาตลาดการเงินอย่างใกล้ชิด และจะดำเนินมาตรการที่จำเป็นเพื่อรักษาเสถียรภาพของตลาด รวมทั้งอัดฉีดสภาพคล่องเข้าสู่ระบบการเงินของประเทศ โดยธนาคารกลางยังได้ประกาศปรับลดสัดส่วนการกันสำรองสกุลลีราของธนาคารพาณิชย์ 2.50%

ล่าสุดในวันนี้ รัฐบาลตุรกีประกาศขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าบางรายการจากสหรัฐ ซึ่งรวมถึงรถยนต์นั่งโดยสาร เครื่องดื่มแอลกอฮอล์และบุหรี่ เพื่อเป็นการตอบโต้ที่ประธานาธิบดีทรัมป์สั่งการให้เพิ่มอัตราภาษีเหล็กและอลูมิเนียมที่นำเข้าจากตุรกี โดยรายงานระบุว่า ประธานาธิบดีเออร์โดกันได้ลงนามในคำสั่งให้ปรับขึ้นภาษีรถยนต์จากสหรัฐเป็น 120% ขึ้นภาษีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็น 140% และขึ้นภาษีบุหรี่เป็น 60% เพื่อตอบโต้ปธน.สหรัฐที่ประกาศขึ้นภาษีนำเข้าเหล็กและอลูมิเนียมจากตุรกี

ก่อนหน้านี้ เออร์โดกันได้ปฏิเสธกระแสข่าวที่ว่า ตุรกีอาจขอกู้เงินจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) โดยตลอดระยะเวลาหลายสิบปีที่ผ่านมา ตุรกีสามารถต้านทานวิกฤตเศรษฐกิจรุนแรงมาได้หลายต่อหลายครั้ง ตัวนายเออร์โดกันเองก็ได้รับเลือกตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีในปี 2546 อันเนื่องมาจากวิกฤตเศรษฐกิจครั้งใหญ่ที่เกิดขึ้นสองปีก่อนหน้า ขณะเดียวกัน ก็ต้องไม่ลืมว่า การรอดพ้นวิกฤตทุกครั้งที่ผ่านมาก็เพราะได้รับการสนับสนุนเป็นอย่างดีเสมอจากรัฐบาลสหรัฐ แต่ภายใต้การนำของปธน.ทรัมป์ สหรัฐยังจะช่วยเหลือตุรกีอย่างที่เคยเป็นมาหรือไม่ ตุรกีจะยังพึ่งสหรัฐได้หรือไม่ หรือตุรกีจะหันหน้าไปหาที่พึ่งใหม่

รัสเซีย มิตรใหม่ในยามยาก

ท่าทีที่ไม่เป็นมิตรของรัฐบาลสหรัฐต่อตุรกีได้จุดปะทุกระแสคาดการณ์ที่ว่า ความขัดแย้งรอบใหม่นี้จะยิ่งเป็นการผลักตุรกีให้มุ่งไปหารัสเซีย ซึ่งปัจจุบันทั้งสองประเทศมีความร่วมมือกันอยู่แล้วในประเด็นที่เกี่ยวกับซีเรีย และมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกันในด้านพลังงานและการค้า

โดยเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา หลังจากที่ทรัมป์ประกาศขึ้นภาษีนำเข้าเหล็กและอลูมิเนียมจากตุรกี ปธน.เออร์โดกันก็ได้ยกหูสนทนาทางโทรศัพท์กับนายวลาดิเมียร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซีย เพื่อหารือกันเกี่ยวกับความสัมพันธ์ทวิภาคี

จากการเปิดเผยของเจ้าหน้าที่ตุรกีนั้น ผู้นำทั้งสองได้แสดงความยินดีเกี่ยวกับความคืบหน้าด้านความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและการเงินระหว่างสองประเทศ รวมทั้งความร่วมมือด้านกลาโหมและด้านพลังงาน หลังจากที่ตุรกีตัดสินใจซื้อระบบขีปนาวุธ S-400 จากรัสเซีย และรัสเซียก็กำลังสร้างโรงงานพลังงานนิวเคลียร์ในตุรกี

ขณะที่เมื่อวันจันทร์ที่ 13 ส.ค. นายเซอร์เก ลาฟรอฟ รัฐมนตรีต่างประเทศของรัสเซีย ก็ได้พบปะหารือกับ นายเมฟลุต คาวูโซกลู รมว.ต่างประเทศของตุรกี ในนครอังการา โดยเน้นไปที่ความสัมพันธ์ทวิภาคีและวิกฤตซีเรีย

ด้านยิจิต บูลุต ที่ปรึกษาอาวุโสของประธานาธิบดีตุรกี กล่าวว่า ความบาดหมางล่าสุดกับรัฐบาลสหรัฐ จะทำให้ตุรกีหันไปกระชับความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดอยู่แล้วกับรัสเซียให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้นไปอีก

"พูดกันอย่างไม่อ้อมค้อม ต้องขอบคุณพระเจ้าสำหรับมาตรการคว่ำบาตรเหล่านั้น ผมหวังว่าพวกเขาจะไม่ส่งมอบเครื่องบินขับไล่ F-35s ให้กับเรา เพราะแทนที่จะซื้อเครื่องบินเหล่านี้ เราจะเปลี่ยนไปซื้อเครื่องบินทิ้งระเบิด SU (Sukhoi) และอาวุทยุทโธปกรณ์อื่น ๆ จากรัสเซียแทน เพราะมีความเข้ากันได้กับระบบขีปนาวุธ S-400 มากกว่า" ที่ปรึกษาอาวุโสของนายเออร์โดกันกล่าวในการให้สัมภาษณ์ทางโทรทัศน์

คำกล่าวของนายบูลุตหมายความถึงการที่สภาคองเกรสของสหรัฐได้ผ่านร่างกฎหมายห้ามจำหน่ายเครื่องบิน F-35 แก่ตุรกี จนกว่าจะทราบผลการประเมินความเสี่ยงที่เป็นไปได้เกี่ยวกับการที่รัฐบาลตุรกีซื้อระบบป้องกันทางอากาศจากรัสเซีย

ประธานาธิบดีเออร์โดกันเองก็ได้กล่าวอย่างท้าทายในระหว่างการปราศรัยเมื่อวันอาทิตย์ ที่จังหวัดแทร็บซอน ทางตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศ ว่า ตุรกีกำลังพิจารณาตลาดอื่น ๆ และพันธมิตรทางการเมืองรายใหม่แทน "ความร่วมมือเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์" กับสหรัฐ

นอกจากนี้ เออร์โดกันยังได้กดดันให้สหรัฐเริ่มมองหาพันธมิตรใหม่ได้แล้ว หากความขัดแย้งยังไม่ได้รับการแก้ไขโดยเร็ว "คุณ (สหรัฐ) กำลังจะยอมสละความสัมพันธ์ทางยุทธศาสตร์ของเรา เพื่อแลกกับการปล่อยตัวบาทหลวงเพียงคนเดียว" เออร์โดกันกล่าว พร้อมกับขู่เตือนว่า ในที่สุดแล้ว ตุรกีจะ "บอกลา" พันธมิตรอเมริกัน

ทางฟากฝั่งสหรัฐเองก็รู้สึกได้ถึงการที่รัสเซียยื่นมือเข้ามายุ่มย่ามกับตุรกี โดยนางเคย์ ไบลีย์ ฮัตชิสัน เอกอัครราชทูตสหรัฐประจำนาโต กล่าวเมื่อต้นเดือนก.ค.ที่ผ่านมาว่า ตุรกีเป็นสมาชิกรายสำคัญของนาโต และเป็นรัฐสมาชิกที่มีกองทัพขนาดใหญ่ที่สุดเป็นอันดับ 2 รองจากสหรัฐ แต่ดูเหมือนรัสเซียกำลังพยายามที่จะทำให้ตุรกีเปลี่ยนข้าง เพื่อบ่อนทำลายเสถียรภาพของนาโต

"พวกเขาต้องการทำลายเสถียรภาพของพันธมิตรด้านการป้องกันประเทศที่แข็งแกร่งที่สุดในประวัติศาสตร์ของโลก ซึ่งก็คือ นาโต นั่นเอง" เธอกล่าว

ปมสัมพันธ์ยุ่งเหยิงที่รอวันคลี่คลาย

แม้ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐและตุรกีจะตกอยู่ในสถานการณ์ตึงเครียดถึงขั้นรุนแรง แต่ผู้เชี่ยวชาญส่วนหนึ่งยังคงมีมุมมองที่เป็นบวกว่า สองพันธมิตรนาโตจะสามารถประนีประนอมกันได้ในที่สุด

"ผมไม่คิดว่า ตุรกีจะแตกแยกเด็ดขาดกับสหรัฐ" ฮูเซยิน บ๊ากชี ศาสตราจารย์ด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัย Middle East Technical University กล่าว

เขาเชื่อว่า ทั้งสองฝ่ายจะสามารถกอบกู้ความสัมพันธ์ที่เสียหายให้กลับคืนมาได้ พร้อมเปรียบเทียบว่า การตอบโต้กันไปมาที่เพิ่มระดับความรุนแรงนี้เป็นเหมือนไฟไหม้ป่า แต่เขามองเห็นว่ากำลังจะมีน้ำมาดับไฟในเร็ว ๆ นี้

ขณะที่ เคริม ฮาส ผู้เชี่ยวชาญด้านนโยบายยูเรเซีย จากมหาวิทยาลัย Moscow State University แสดงความเห็นเกี่ยวกับความสัมพันธ์ตุรกี-รัสเซีย ไว้น่าสนใจว่า "ความสัมพันธ์ระหว่างตุรกีและรัสเซียไม่ใช่ผลลัพธ์ของการวางแผนทางยุทธศาสตร์ แต่เป็นเรื่องของความจำเป็นบังคับ อันเนื่องมาจากวิกฤตซีเรีย เพราะตุรกีจำเป็นต้องพึ่งพารัสเซียมากขึ้นในการดำเนินนโยบายซีเรีย

โดยในประวัติศาสตร์แต่ครั้งโบราณกาลนั้น ตุรกีและรัสเซียถือเป็นศัตรูกัน และทำสงครามกันมาหลายครั้งในยุคจักรวรรดิออตโตมัน และในสมัยของพระเจ้าซาร์แห่งรัสเซีย แต่ด้วยยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไป ส่งผลให้ในปัจจุบัน ทั้งสองประเทศจำเป็นต้องหันหน้ามาจับมือกันในเรื่องการค้า พลังงาน และการป้องกันประเทศ

ทั้งนี้ ทางการตุรกีได้ประกาศว่า นครอิสตันบูลจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมซัมมิตเรื่องซีเรียและอิรัก ในวันที่ 7 ก.ย.นี้ โดยไม่มีสหรัฐเข้าร่วม ขณะที่คาดว่าผู้แทนจากตุรกี รัสเซีย ฝรั่งเศส และเยอรมนี จะร่วมกันจัดทำแผนงานฉบับใหม่เกี่ยวกับประเด็นความมั่นคง เศรษฐกิจ และการป้องกันประเทศ

เป็นที่น่าจับตาว่า การขาดสหรัฐเข้าร่วมการเจรจาหารือในประเด็นสำคัญของภูมิภาคนั้นจะเป็นอย่างไร โดยเฉพาะในยามนี้ ที่ไม่ได้มีเพียงตุรกีประเทศเดียวที่กำลังถูกนโยบายเศรษฐกิจแข็งกร้าวของสหรัฐปั่นป่วน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ