ผู้ว่าการธนาคารกลาง รัฐมนตรีคลัง นักวิชาการ รวมถึงผู้เชี่ยวชาญด้านการเงินจากประเทศต่างๆทั่วโลก เตรียมเข้าร่วมการประชุมเศรษฐกิจประจำปีของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ซึ่งจะจัดขึ้นโดยเฟดสาขาแคนซัสซิตี้ ณ เมืองแจ็กสันโฮล รัฐไวโอมิง ระหว่างวันที่ 23-25 ส.ค.นี้ โดยหัวข้อการประชุมในปีนี้คือ "การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างตลาด และปัจจัยบ่งชี้สำหรับทิศทางนโยบายการเงิน"
การประชุมแจ็กสันโฮลครั้งนี้เกิดขึ้นพร้อมกับวาระครบรอบ 10 ปีของวิกฤตการเงินปี 2551 และถือเป็นการประชุมครั้งแรกของนายเจอโรม พาวเวล ในฐานะประธานเฟด หลังจากที่เขาสาบานตนเข้ารับตำแหน่งเมื่อเดือนก.พ.ที่ผ่านมา โดยพาวเวลจะกล่าวสุนทรพจน์เปิดการประชุมในเช้าวันศุกร์
การประชุมครั้งนี้คาดว่า จะมีการหารือกันในหลากหลายประเด็น อาทิ อิทธิพลของบริษัทยักษ์ใหญ่ไม่กี่แห่งที่มีต่อตลาดโดยรวม ซึ่งอาจทำให้เกิดการผูกขาดและส่งผลเสียต่อผู้บริโภค แรงงาน และเศรษฐกิจ รวมถึงผลกระทบของกิจกรรมออนไลน์ที่เพิ่มมากขึ้น ค่าแรงและเงินเฟ้อที่มีผลต่อการกำหนดอัตราดอกเบี้ย อัตราภาษีศุลกากร มาตรการกระตุ้นทางการคลัง ปฏิกิริยาของตลาดเกิดใหม่ที่มีต่อนโยบายการค้าของสหรัฐ ไปจนถึงหนี้สินของภาครัฐและเอกชน
นอกจากนี้ ตลาดต่างจับตาความเคลื่อนไหวของธนาคารกลางหลายแห่งทั่วโลกที่ผู้บริหารขององค์กรต่างตบเท้าเข้าร่วมการประชุมครั้งนี้
ธนาคารกลางสหรัฐ
การประชุมเศรษฐกิจประจำปีของเฟดครั้งนี้ ถือเป็นครั้งแรกของนายเจอโรม พาวเวล ในฐานะประธานเฟด ตลาดต่างจับตาว่าวิกฤตค่าเงินที่เกิดขึ้นในตลาดเกิดใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งตุรกี จะสร้างความวิตกกังวลให้กับคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของเฟดหรือไม่ ในขณะที่เฟดต้องการเดินหน้าปรับอัตราดอกเบี้ยให้เข้าใกล้ระดับปกติ
เมื่อต้นเดือนส.ค. คณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของเฟด มีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นที่ระดับ 1.75-2.00% อย่างไรก็ดี เฟดได้ส่งสัญญาณถึงการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมเดือนก.ย. ซึ่งจะเป็นการขึ้นดอกเบี้ยครั้งที่ 3 ในปีนี้ และไม่น่าจะพลิกความคาดหมายของตลาด ส่วนการขึ้นดอกเบี้ยในเดือนธ.ค.นั้น ตลาดยังไม่ฟันธงว่าจะเกิดขึ้นหรือไม่
เมื่อพิจารณาจากอัตราว่างงานเดือนก.ค.ที่ปรับตัวลงสู่ระดับ 3.9% และใกล้ระดับต่ำสุดในรอบเกือบ 50 ปี มีแนวโน้มว่า นายพาวเวลจะยังคงแสดงจุดยืนปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างค่อยเป็นค่อยไป แม้ว่าประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ จะออกตัวว่าไม่ยินดีกับการที่นายพาวเวลปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย และจะวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของเฟดต่อไป หากเฟดยังคงเดินหน้าปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย
ธนาคารกลางยุโรป
ตลาดกำลังมองหาสัญญาณบ่งชี้ว่า ธนาคารกลางยุโรป (ECB) ภายใต้การนำของนายมาริโอ ดรากี จะหยิบยกประเด็นอะไรมาหารือในการประชุมครั้งต่อไปในวันที่ 13 ก.ย. ในขณะที่ทาง ECB กำลังเดินหน้าผ่อนคลายโครงการซื้อพันธบัตร
สำนักงานสถิติแห่งสหภาพยุโรป (ยูโรสแตท) เปิดเผยว่า อัตราเงินเฟ้อของยูโรโซนพุ่งขึ้นสู่ระดับ 2.1% ในเดือนก.ค. ซึ่งสูงกว่าที่ ECB ตั้งเป้าหมายเงินเฟ้อให้ "อยู่ใกล้ แต่ไม่เกินระดับ 2%" จึงถือเป็นการส่งสัญญาณสนับสนุนให้ ECB ยุติโครงการซื้อพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) ในช่วงสิ้นปีนี้ และทำการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในช่วงกลางปีหน้า
ธนาคารกลางอังกฤษ
ประเด็นที่นายมาร์ค คาร์นีย์ ผู้ว่าการธนาคารกลางอังกฤษ (BoE) กำลังให้ความสำคัญมากที่สุดในขณะนี้ก็คือ Brexit ขณะที่แผนการแยกตัวออกจากสหภาพยุโรปกำลังเข้าสู่ช่วงเวลาที่มีความสำคัญอย่างยิ่งยวด โดยทำเนียบนายกรัฐมนตรีอังกฤษยืนยันว่า รัฐบาลอังกฤษจะเปิดเผยแนวทางการเตรียมตัวออกจากสหภาพยุโรปแบบที่ปราศจากข้อตกลง (Brexit with no deal) ในวันพฤหัสบดีนี้
ทั้งนี้ BoE ได้ประกาศปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% สู่ระดับ 0.75% ในการประชุมกำหนดนโยบายการเงินเมื่อวันที่ 2 ส.ค. ซึ่งเป็นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% เป็นครั้งที่ 2 นับตั้งแต่เดือนพ.ย.ปีที่แล้ว หลังการเปิดเผยตัวเลขเศรษฐกิจที่สดใส โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติอังกฤษ เปิดเผยว่า GDP ขยายตัว 0.4% ในไตรมาส 2 หลังจากเติบโต 0.2% ในไตรมาส 1
ธนาคารกลางแคนาดา
นายสตีเฟน โปลอซ ผู้ว่าการธนาคารกลางแคนาดา (BOC) จะกล่าวสุนทรพจน์ในวันเสาร์ ซึ่งตลาดต่างจับตาการรับมือกับปัญหาหลายอย่างที่เกิดขึ้นในขณะนี้ เช่น การขึ้นดอกเบี้ยอย่างรวดเร็วจะส่งผลกระทบอย่างไรต่อผู้บริโภค ชาวแคนาดาจะปรับตัวอย่างไรต่อมาตรการลดความร้อนแรงของตลาดที่อยู่อาศัยและหนี้สินผู้บริโภค การเจรจาข้อตกลงการค้าเสรีอเมริกาเหนือ (นาฟตา) รวมถึงเรื่องอัตราเงินเฟ้อซึ่งทะยานแตะ 3% ในเดือนก.ค. นับว่าเพิ่มขึ้นมากที่สุดในรอบ 7 ปี และสูงกว่าเป้าหมายซึ่งตั้งไว้ที่ 2% ส่งผลให้นักวิเคราะห์บางส่วนมองว่า BOC อาจตัดสินใจขึ้นดอกเบี้ยเร็วขึ้น จากเดิมที่คาดการณ์ว่าจะมีการขึ้นดอกเบี้ยครั้งต่อไปในเดือนต.ค.
ธนาคารกลางญี่ปุ่น
ตลาดจับตาความเคลื่อนไหวของธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) หลังจากที่ทาง BOJ มีมติเปลี่ยนแปลงนโยบายการเงินเป็นครั้งแรกในรอบเกือบ 2 ปีเมื่อเดือนก.ค.ที่ผ่านมา เพื่อเปิดทางให้อัตราดอกเบี้ยระยะยาวเคลื่อนไหวในวงกว้างมากขึ้น ซึ่งนายฮารุฮิโกะ คุโรดะ ผู้ว่าการ BOJ กล่าวว่า การปรับเปลี่ยนนโยบายการเงินมีเป้าหมายเพื่อตอกย้ำถึงการผ่อนคลายอย่างยั่งยืน
นอกจากนี้ นายคุโรดะกล่าวว่า เงินเฟ้อของญี่ปุ่นจะค่อยๆปรับตัวขึ้นสู่ระดับเป้าหมายของ BOJ ที่ 2% ขณะเดียวกัน BOJ จะเปิดทางให้อัตราดอกเบี้ยระยะยาวเคลื่อนตัวในช่วงติดลบ 0.2% ถึง 0.2%
ทั้งนี้ การประชุมประจำปีที่แจ็กสันโฮลจึงดึงดูดความสนใจจากตลาดทุกปี เนื่องจากผู้บริหารธนาคารกลางหลายประเทศต่างใช้เป็นเวทีหารือเกี่ยวกับนโยบายการเงินในระยะใกล้ ซึ่งอาจส่งผลต่อตลาดการเงินทั่วโลก