In Focusถอดรหัสวาทกรรมผู้นำโลกในการประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติครั้งที่ 73

ข่าวต่างประเทศ Wednesday September 26, 2018 16:35 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

การประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติครั้งที่ 73 ณ มหานครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา กำลังเป็นที่สนใจของสื่อมวลชนและประชาชนทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเวทีอภิปรายทั่วไปที่ผู้นำประเทศสมาชิกต่างๆจะขึ้นมากล่าวสุนทรพจน์ต่อประชาคมโลก ซึ่งเพิ่งจะเปิดฉากขึ้นเมื่อวานนี้ In Focus สัปดาห์นี้จึงขอพาไปเกาะติดเวทีอภิปรายทั่วไปวันแรกของการประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ มาดูกันว่า ผู้นำประเทศต่างๆ ขึ้นมาพูดเรื่องอะไรกันบ้าง

เลขาฯ ยูเอ็นเตือนโลกกำลังปั่นป่วนจากความแตกแยกทางความคิด

เวทีอภิปรายทั่วไปเมื่อวานนี้เปิดฉากขึ้นด้วยการกล่าวสุนทรพจน์ของ นายอันโตนิโอ กูเตอร์เรส เลขาธิการองค์การสหประชาชาติ (UN) ที่ได้แสดงความวิตกกังวลถึงสถานการณ์ในปัจจุบัน ซึ่งโลกกำลังเผชิญกับความปั่นป่วน วุ่นวาย และไร้ระเบียบ อันเป็นผลมาจากภัยคุกคามรอบด้าน ทั้งความเชื่อมั่นต่อองค์กรสากลที่กำลังถดถอย, ผู้คนเริ่มมีความไว้วางใจกันน้อยลง, เกิดการแบ่งขั้วทางความคิด รวมถึงปัญหาการก่อการร้าย และการละเมิดสิทธิมนุษยชนในประเทศต่างๆ ทำให้ความร่วมมือระหว่างประเทศต้องกลายเป็นเรื่องที่ยากลำบาก และเกิดความเสี่ยงต่อการเผชิญหน้าระหว่างกัน พร้อมกันนี้ เลขาฯ ยูเอ็นยังได้เรียกร้องให้ผู้นำชาติต่างๆหันมาให้ความสำคัญกับปัญหาที่เกิดขึ้นและจับมือกันเพื่อรักษาความเป็นระเบียบเรียบร้อยในโลกให้คงอยู่ต่อไป

"ทรัมป์" ขึ้นป้องนโยบายการค้า อัดโอเปกขูดรีดชาวโลก

หลังจากเสร็จสิ้นถ้อยแถลงของนายกูเตอร์เรส เพียงไม่นาน นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐ ก็ขึ้นกล่าวปกป้องนโยบายการค้าของสหรัฐบนเวทีอภิปรายทั่วไปของการประชุม ด้วยการประกาศกับเหล่าผู้นำประเทศต่างๆที่เข้าร่วมการประชุมว่า สหรัฐจะดำเนินการบนผลประโยชน์ของประเทศ พร้อมชื่นชมความสำเร็จของรัฐบาลในการสร้างความแข็งแกร่ง มั่งคั่ง และความปลอดภัยให้กับชาวสหรัฐ รวมถึงความร่วมมือกับนายคิม จอง อึน ผู้นำเกาหลีเหนือ ในการปลดอาวุธนิวเคลียร์บนคาบสมุทรเกาหลี และการถอนตัวจากข้อตกลงนิวเคลียร์อิหร่าน ตลอดจนการทำการเจรจาการค้าครั้งใหม่กับประเทศคู่ค้าเพื่อปรับปรุงข้อตกลงเดิมที่สหรัฐถูกเอารัดเอาเปรียบก่อนหน้านี้

ปธน.ทรัมป์ยังกล่าวโจมตีกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) ว่า กำลังขูดรีดชาวโลก แม้ว่าสหรัฐได้ให้การคุ้มครองประเทศในกลุ่มโอเปกแล้วก็ตาม โดยพาดพิงถึงการประชุมระหว่างโอเปกและประเทศผู้ผลิตนอกกลุ่มโอเปก รวมถึงรัสเซียเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ซึ่งที่ประชุมได้เห็นพ้องถึงเรื่องการคงกำลังการผลิตไว้ที่ระดับปัจจุบัน แม้ว่า สหรัฐพยายามเรียกร้องให้โอเปกเพิ่มปริมาณการผลิตเพื่อสกัดการพุ่งขึ้นของราคาน้ำมัน

"กลุ่มโอเปกยังคงขูดรีดชาติต่างๆบนโลกนี้เหมือนเดิม ซึ่งผมไม่ชอบเลย และไม่ควรจะมีผู้ใดชอบด้วย" ปธน.ทรัมป์กล่าว พร้อมระบุต่อไปว่า "เราได้ให้การคุ้มครองหลายประเทศในกลุ่มนี้ แต่กลับไม่มีอะไรดีขึ้น พวกเขาได้เอาเปรียบพวกเรา โดยทำให้ราคาน้ำมันแพง ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ดีเลย"

นอกจากนี้ ประธานาธิบดีสหรัฐยังใช้เวทีดังกล่าวในการโจมตีอิหร่านว่ากำลังหว่านเมล็ดพันธุ์แห่งความวุ่นวาย, ความโกลาหล, ความตาย และหายนะในภูมิภาคตะวันออกกลาง พร้อมขอความร่วมมือให้ประเทศต่างๆ เข้าร่วมกับสหรัฐในการคว่ำบาตรอิหร่าน อีกทั้งยังเตือนไปถึงซีเรียให้ยุติการใช้อาวุธเคมีเพราะสหรัฐจะไม่เพิกเฉยต่อการกระทำดังกล่าวอย่างแน่นอน

ประธานาธิบดีอิหร่านประณามสหรัฐใช้มาตรการคว่ำบาตรเป็นเครื่องมือก่อการร้ายทางเศรษฐกิจ

ขณะที่คู่ปรับของปธน.ทรัมป์อย่างประธานาธิบดีฮัสซัน โรฮานี ของอิหร่าน ได้ใช้เวทีเดียวกันนี้ในการวิพากษ์วิจารณ์มาตรการคว่ำบาตรของสหรัฐที่มีต่ออิหร่านว่าเป็น "การก่อการร้ายทางเศรษฐกิจ" เพื่อโค่นอำนาจรัฐบาลอิหร่าน พร้อมยืนยันว่า จะไม่ร่วมการเจรจาใดๆกับรัฐบาลสหรัฐซึ่งกำลังปลุกเร้าให้ประชาคมโลกร่วมกันโดดเดี่ยวอิหร่าน

"มาตรการคว่ำบาตรที่เกิดขึ้นเพียงฝ่ายเดียวและไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้น เป็นรูปแบบหนึ่งของการก่อการร้ายทางเศรษฐกิจ และเป็นการละเมิดสิทธิในการพัฒนา" นายรูฮานีกล่าวต่อที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติพร้อมระบุต่อไปว่า "สงครามเศรษฐกิจที่สหรัฐดำเนินการภายใต้มาตรการคว่ำบาตรนั้น ไม่เพียงแต่พุ่งเป้าไปที่ชาวอิหร่านเท่านั้น แต่ยังส่งผลกระทบที่เป็นอันตรายต่อประชาชนของประเทศอื่นๆ และสงครามครั้งนี้ยังส่งผลให้การค้าโลกหยุดชะงักด้วย"

นอกจากนี้ นายรูฮานี ยังได้กล่าวหาปธน.ทรัมป์ แม้ว่าจะไม่มีการระบุชื่อโดยตรงอีกว่า "ผู้ที่มีแนวคิดเป็นปฎิปักษ์ต่อแนวคิดพหุภาคีนิยมแสดงให้ถึงการขาดสติปัญญา การเผชิญหน้ากับแนวคิดพหุภาคีนิยมไม่ได้แสดงถึงความแข็งแกร่ง แต่เป็นอาการของความอ่อนแอด้านสติปัญญามากกว่า รวมถึงยังเป็นการทรยศต่อความสามารถในการทำความเข้าใจโลกที่ซับซ้อนและเชื่อมต่อกันได้"

กษัตริย์จอร์แดน - ผู้นำฝรั่งเศสเรียกร้องประชาคมโลกร่วมมือสร้างสันติภาพในตะวันออกกลาง

ในส่วนของประเด็นเรื่องความมั่นคงในภูมิภาคตะวันออกกลางนั้น สมเด็จพระราชาธิบดีอับดุลเลาะห์ที่ 2 อิบน์ อัล-ฮุสเซน สมเด็จพระราชาธิบดีแห่งราชอาณาจักรฮัชไมต์จอร์แดน ได้ขึ้นตรัสต่อที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ เรียกร้องนานาชาติหันมาร่วมมือกันเพื่อสร้างสันติภาพในตะวันออกกลาง และสนับสนุนความช่วยเหลือให้กับผู้ลี้ภัยชาวปาเลสไตน์ ที่กำลังประสบความยากลำบาก หลังจากที่สหรัฐประกาศตัดงบประมาณช่วยเหลือองค์กรบรรเทาทุกข์และจัดหางานแห่งสหประชาชาติ (UNRWA) สำหรับผู้ลี้ภัยชาวปาเลสไตน์ในตะวันออกใกล้ ซึ่งส่งผลให้หลายฝ่ายออกมาแสดงความวิตกกังวลว่าอาจทำให้สถานการณ์ในตะวันออกกลางเลวร้ายลง

นอกจากนี้ กษัตริย์จอร์แดนยังแสดงความเห็นถึงประเด็นความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลและปาเลสไตน์อีกว่า ปัญหาสำคัญในตะวันออกกลางก็คือการไม่ยอมรับสถานะการเป็นรัฐของปาเลสไตน์มาอย่างยาวนาน ทางเดียวที่จะทำให้เกิดสันติภาพในตะวันออกกลางคือแนวทางแก้ปัญหาแบบ 2 รัฐ ความพยายามในการรวมให้เป็นประเทศเดียวจะยิ่งบ่อนทำลายสันติภาพให้หมดลง

เช่นเดียวกับ สมเด็จพระราชาธิบดีอับดุลเลาะห์ที่ 2 แห่งจอร์แดน นายเอมมานูเอล มาครอง ประธานาธิบดีฝรั่งเศส ก็ได้ใช้เวทีดังกล่าวเรียกร้องให้ประเทศต่างๆ ร่วมกันแก้ไขปัญหาความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลและปาเลสไตน์ด้วยทางออกแบบ 2 รัฐ โดยชี้ว่าไม่มีทางเลือกอื่นที่ดีไปกว่าวิธีดังกล่าว พร้อมระบุว่า สันติภาพในตะวันออกกลางกำลังถูกบ่อนทำลายจากการที่สหรัฐประกาศให้เยรูซาเลมเป็นเมืองหลวงของอิสราเอล

เหล่าผู้นำประเทศเตรียมหารือนอกรอบการประชุมสมัชชาใหญ่ยูเอ็น

นอกเหนือไปจากเวทีประชุมใหญ่ที่ถูกจัดขึ้นตามกำหนดการแล้ว อีกหนึ่งไฮไลท์สำคัญของการประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติก็คือ การพบปะกันระหว่างผู้นำประเทศต่างๆนอกรอบการประชุม รวมถึงการจับกลุ่มหารือกันในประเด็นสำคัญๆ ที่ไม่มีการกำหนดมาก่อนหน้านี้ อาทิ

การประชุมสามฝ่ายระหว่าง นายฮิโรชิเกะ เซโกะ รัฐมนตรีกระทรวงเศรษฐกิจ การค้าและอุตสาหกรรมของญี่ปุ่น นายโรเบิร์ต ไลท์ไฮเซอร์ ผู้แทนการค้าสหรัฐ (USTR) และนางเซซิเลีย มัลม์สตรอม หัวหน้าคณะกรรมาธิการการค้าของ EU เกี่ยวกับข้อเสนอให้มีการปฏิรูปองค์การการค้าโลก (WTO) ที่มีขึ้นเมื่อวานนี้ โดยผู้เข้าร่วมการประชุมให้เหตุผลว่า สมาชิก WTO บางประเทศ เช่น จีน ไม่ปฏิบัติตามระบบการแจ้งเตือนซึ่งระบุว่า สมาชิกของ WTO จะต้องแจ้งต่อสมาชิกทั้ง 164 ประเทศเมื่อมีการให้ความช่วยเหลือด้านการเงินแก่อุตสาหกรรมในประเทศ และได้เห็นพ้องกันให้มีการเปลี่ยนแปลงระบบการแจ้งเตือน (notification system) ในกรณีที่รัฐบาลให้เงินอุดหนุดอุตสาหกรรมในประเทศ และเพิ่มอำนาจให้กับคณะกรรมการของ WTO

ขณะที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐ และนายกรัฐมนตรีชินโซ อาเบะ ของญี่ปุ่นก็มีกำหนดจัดการประชุมสุดยอดในประเด็นเรื่องการค้าทวิภาคีในวันนี้ หลังจากเมื่อวานนี้ นายโทชิมิตสึ โมเตกิ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงฟื้นฟูเศรษฐกิจญี่ปุ่น และ นายโรเบิร์ต ไลท์ไฮเซอร์ ผู้แทนการค้าสหรัฐ (USTR) ได้หารือร่วมกันเมื่อวานนี้ โดยวาระสำคัญของการประชุมระหว่างผู้นำทั้งสองประเทศคาดว่า นอกจากเรื่องการค้าแล้ว ยังมีประเด็นในเรื่องการปลดอาวุธนิวเคลียร์เกาหลีเหนือด้วย

นี่เป็นเพียงไฮไลท์บางส่วนของการประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติที่เพิ่งจะเริ่มต้นขึ้น สำหรับความคืบหน้าอื่นๆ เราจะคอยเกาะติดและรายงานให้ทราบกันต่อไป


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ