เมื่อต้นสัปดาห์นี้ สหรัฐสามารถบรรลุข้อตกลงการค้าฉบับใหม่กับเม็กซิโกและแคนาดา แต่สหรัฐก็ยังคงเผชิญความยากลำบากในการเจรจาแก้ไขความขัดแย้งทางการค้ากับจีน และมีแนวโน้มว่าการทำสงครามการค้าระหว่างทั้งสองประเทศดังกล่าวจะยังคงยืดเยื้อต่อไป หลังจากที่ได้ดำเนินมานานหลายเดือน แม้ทั้งสองฝ่ายเคยดูเหมือนจะสามารถกลับมาตั้งโต๊ะเจรจาเพื่อแก้ไขความขัดแย้งทางการค้า แต่จีนก็ได้ประกาศยกเลิกการเจรจาในนาทีสุดท้าย โดยอ้างความไม่พอใจต่อการที่สหรัฐประกาศคว่ำบาตรหน่วยงานด้านกลาโหมของจีน รวมทั้งผู้บริหารของหน่วยงานดังกล่าว
นักวิเคราะห์ระบุว่า หลังจากที่สหรัฐบรรลุข้อตกลงการค้าฉบับใหม่กับเม็กซิโกและแคนาดาแล้ว ขณะนี้ก็จะเป็นเวลาที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์หันมากดดันจีนอย่างเต็มที่เพื่อให้ได้ข้อตกลงการค้าที่เขาเห็นว่าเป็นธรรมกับสหรัฐ ก่อนที่จะจัดการกับยุโรปเป็นเป้าหมายต่อไป แต่ประธานาธิบดีสี จิ้นผิงของจีน ก็คงไม่ปล่อยให้สหรัฐกดดันแต่เพียงฝ่ายเดียว โดยจีนก็มีมาตรการตอบโต้มากมายเตรียมไว้รอสหรัฐ
In Focus ในสัปดาห์นี้จะเจาะลึกถึงความขัดแย้งทางการค้าระหว่างมหาอำนาจทั้งสองดังกล่าว และอาวุธที่จีนจะใช้ตอบโต้สหรัฐ
*สหรัฐเจรจาการค้าชื่นมื่นกับเม็กซิโก-แคนาดา แต่ยังขมขื่นเมื่อเจอจีน
นายแลร์รี คุดโลว์ ที่ปรึกษาฝ่ายเศรษฐกิจประจำทำเนียบขาว กล่าวว่า การเจรจาเพื่อแก้ไขความขัดแย้งทางการค้ากับจีนยังคงไม่มีความคืบหน้า แม้ว่าสหรัฐจะสามารถบรรลุข้อตกลงทางการค้าฉบับใหม่กับเม็กซิโกและแคนาดา
ทั้งนี้ สหรัฐ เม็กซิโก และแคนาดาสามารถบรรลุข้อตกลงการค้าฉบับใหม่ ซึ่งเรียกว่า "ข้อตกลงสหรัฐอเมริกา-เม็กซิโก-แคนาดา" (United States-Mexico-Canada Agreement) หรือ USMCA ซึ่งจะเข้ามาแทนที่ข้อตกลงการค้าเสรีอเมริกาเหนือ (NAFTA) ซึ่งถูกใช้มานานกว่า 24 ปี
ต่อข้อถามที่ว่า ข้อตกลง USMCA จะบ่งชี้ถึงการทำข้อตกลงการค้าฉบับใหม่กับจีนหรือไม่ นายคุดโลว์กล่าวว่า "ข้อตกลงนี้ถือเป็นการส่งสาส์นที่สำคัญไปยังจีน ขณะที่เรากำลังเจรจาการค้ากับจีน แต่ก็ยังคงไม่มีความคืบหน้า และประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ก็มีความไม่พอใจต่อสถานการณ์การเจรจาในขณะนี้กับจีน"
*"ทรัมป์-สี จิ้นผิง"อาจเจอกันบนเวที G20 ขณะทั่วโลกหวัง 2 ฝ่ายจับเข่าคุยกัน
นายคุดโลว์เปิดเผยว่า ปธน.ทรัมป์อาจพบกับปธน.สี จิ้นผิงในการประชุม G20 ที่กรุงบัวโนสไอเรส ประเทศอาร์เจนตินา ซึ่งจะจัดการประชุมในวันที่ 30 พ.ย.-1 ธ.ค.
นักลงทุนทั่วโลกต่างคาดหวังว่าการพบปะกันระหว่างผู้นำสหรัฐและจีนในการประชุม G20 จะช่วยคลี่คลายความตึงเครียดทางการค้า และยุติสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีนในที่สุด
*สหรัฐ-จีนทำศึกภาษีมาแล้ว 3 ยก จับตาสหรัฐจัดหนักยกที่ 4
เมื่อช่วงกลางเดือนเม.ย.ที่ผ่านมา สำนักงานตัวแทนการค้าสหรัฐ (USTR) ได้ประกาศรายการสินค้าจำนวน 1,100 รายการของจีนที่ต้องถูกเรียกเก็บภาษีนำเข้าในอัตรา 25% คิดเป็นวงเงินรวม 5 หมื่นล้านดอลลาร์ โดยสินค้าล็อตแรกจำนวน 818 รายการ วงเงิน 3.4 หมื่นล้านดอลลาร์ มีผลบังคับใช้ในวันที่ 6 ก.ค.ที่ผ่านมา ส่วนการเรียกเก็บภาษีสินค้าล็อตที่ 2 วงเงิน 1.6 หมื่นล้านดอลลาร์มีผลบังคับใช้ในวันที่ 23 ส.ค. ซึ่งจีนก็ได้ตอบโต้ด้วยการเรียกเก็บภาษี 25% ต่อสินค้านำเข้าจากสหรัฐวงเงินรวม 5 หมื่นล้านดอลลาร์เช่นกัน
ต่อมาในวันที่ 17 ก.ย. ปธน.ทรัมป์ก็ได้ประกาศเรียกเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากจีนครั้งใหม่ในวงเงิน 2 แสนล้านดอลลาร์ โดยเรียกเก็บในอัตรา 10% ซึ่งได้มีผลบังคับใช้ในวันที่ 24 ก.ย. และจากนั้นจะเพิ่มเป็น 25% ตั้งแต่ช่วงต้นปีหน้า ขณะที่รัฐบาลจีนก็ได้ตอบโต้ด้วยการเรียกเก็บภาษีสินค้าจากสหรัฐในอัตรา 5-10% คิดเป็นวงเงิน 6 หมื่นล้านดอลลาร์ โดยมีผลบังคับใช้ในวันที่ 24 ก.ย.เช่นกัน
นายวิลเบอร์ รอสส์ รมว.พาณิชย์สหรัฐ กล่าวว่า ขณะนี้ จีนไม่มี"กระสุน"ที่จะตอบโต้สหรัฐแล้ว เนื่องจากจีนนำเข้าสินค้าจากสหรัฐน้อยกว่าเกือบ 4 เท่าเมื่อเทียบกับที่สหรัฐนำเข้าสินค้าจากจีน
"ถ้าจีนตอบโต้ด้วยการเรียกเก็บภาษีที่จะส่งผลกระทบต่อเกษตรกรและอุตสาหกรรมอื่นของเรา เราก็จะเรียกเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากจีนวงเงิน 2.67 แสนล้านดอลลาร์" เขากล่าว
ทั้งนี้ หากสหรัฐเรียกเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากจีนวงเงิน 2.67 แสนล้านดอลลาร์ นอกเหนือจากที่เรียกเก็บภาษีสินค้าวงเงิน 5 หมื่นล้านดอลลาร์ และ 2 แสนล้านดอลลาร์ก่อนหน้านี้ ก็เท่ากับว่าสหรัฐได้เรียกเก็บภาษีต่อสินค้าทั้งหมดที่จีนส่งเข้าไปยังสหรัฐ โดยข้อมูลจากกระทรวงพาณิชย์สหรัฐระบุว่า สหรัฐได้นำเข้าสินค้าจากจีนวงเงิน 5.05 แสนล้านดอลลาร์ในปีที่แล้ว
*จีนเตรียมอาวุธ 6 อย่างตอบโต้สหรัฐ
ถึงแม้ว่าวงเงินสินค้าสหรัฐที่ถูกจีนเรียกเก็บภาษีจะไม่สูงมากนัก เนื่องจากจีนนำเข้าสินค้าจากสหรัฐน้อยกว่าที่สหรัฐนำเข้าจากจีนถึง 4 เท่า แต่จีนก็ยังคงมีไพ่ในมือหลายใบที่จะใช้จัดการกับสหรัฐ ซึ่งได้แก่
1) เล็งเป้าบริษัทสหรัฐในจีน
นายจูเลียน อีแวนส์-พริตชาร์ดจากแคปิตัล อิโคโนมิคส์ กล่าวว่า บริษัทสหรัฐสร้างยอดขายได้ราว 3 แสนล้านดอลลาร์ในจีน ดังนั้น จีนอาจกำหนดกฎระเบียบที่เป็นอุปสรรคต่อการดำเนินงานของบริษัทสหรัฐเหล่านี้ เช่น การทำให้การรับสินค้าผ่านกรมศุลกากรใช้เวลานานขึ้น, การชะลอหรือปฏิเสธการออกวีซ่าให้แก่ผู้บริหารบริษัทสหรัฐ หรืออาจอ้างเหตุผลด้านสุขภาพ หรือความปลอดภัยเพื่อปิดการดำเนินงานของบริษัทสหรัฐ
นอกจากนี้ จีนอาจลดสิทธิประโยชน์ของบริษัทสหรัฐเมื่อเทียบกับบริษัทของยุโรปและญี่ปุน ขณะที่จีนเปิดกว้างภาคการเงินและธุรกิจดูแลสุขภาพ
2) จำกัดจำนวนนักท่องเที่ยวไปยังสหรัฐ
ถึงแม้สหรัฐประสบภาวะขาดดุลการค้าเป็นจำนวนมากกับจีน แต่สหรัฐยังคงเกินดุลในภาคบริการต่อจีน โดยสามารถเกินดุลถึง 3.8 หมื่นล้านดอลลาร์ในปี 2559 จากการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวที่มาจากจีน โดยข้อมูลระบุว่านักท่องเที่ยวจีนจำนวนมากถึง 130 ล้านคนได้เดินทางไปยังต่างประเทศในปีดังกล่าว และใช้จ่ายเงินถึง 2.60 แสนล้านดอลลาร์
จีนอาจประกาศจำกัดจำนวนนักท่องเที่ยวไปยังสหรัฐ เพื่อลดตัวเลขการขาดดุลบริการกับสหรัฐ โดยจีนได้เคยดำเนินมาตรการเช่นนี้กับนักท่องเที่ยวที่จะเดินทางไปยังเกาหลีใต้ในปีที่แล้ว โดยสั่งให้บริษัททัวร์ยกเลิกการจำหน่ายแพคเกจทัวร์ไปเกาหลีใต้ เพื่อประท้วงต่อการที่เกาหลีใต้อนุญาตให้สหรัฐเข้าติดตั้งระบบป้องกันขีปนาวุธ
3) ลดค่าเงินหยวน
นายแอนดี ฉี อดีตนักเศรษฐศาสตร์จากมอร์แกน สแตนลีย์ กล่าวว่า มีความเป็นไปได้ที่จีนจะลดค่าเงินหยวนลง 10% เมื่อเทียบดอลลาร์ ถ้าหากสหรัฐทำตามคำขู่ในการปรับเพิ่มอัตราภาษีสินค้านำเข้าจากจีนวงเงิน 2 แสนล้านดอลลาร์ สู่ระดับ 25% ในปีหน้า จากเดิมที่เรียกเก็บในอัตรา 10% ในวันที่ 24 ก.ย.
การลดค่าเงินหยวนจะช่วยหนุนการส่งออกของจีน โดยทำให้สินค้าจีนมีราคาถูกลง และจะช่วยหักล้างกับราคาสินค้าที่เพิ่มขึ้นจากการที่สหรัฐเรียกเก็บภาษีต่อสินค้าที่นำเข้าจากจีน และทำให้จีนเกินดุลการค้ากับสหรัฐมากยิ่งขึ้น
ปธน.ทรัมป์เคยกล่าวหาจีนว่าจงใจลดค่าเงิน โดยระบุว่า "รัสเซียและจีนกำลังเล่นเกมลดค่าเงิน ขณะที่สหรัฐกำลังปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย นี่เป็นเรื่องที่ยอมรับไม่ได้"
นายสตีเวน มนูชิน รมว.คลังสหรัฐ กล่าวว่า กระทรวงการคลังสหรัฐเตรียมออกรายงานรอบครึ่งปีว่าด้วยประเทศที่บิดเบือนค่าเงินในวันที่ 15 ต.ค.
นายมนูชินกล่าวว่า รายงานดังกล่าวจะพิจารณาจากข้อมูลการดำเนินการของรัฐบาลต่างๆต่อสกุลเงินของตนในช่วงเดือนม.ค.-มิ.ย. ซึ่งสำหรับในกรณีของจีน สหรัฐจะพิจารณาการอ่อนค่าของหยวนในการพิจารณาทบทวนสถานะของจีนในรายงานดังกล่าว
4) เทขายพันธบัตรสหรัฐ
จีนถือครองพันธบัตรสหรัฐมูลค่ามากกว่า 1 ล้านล้านดอลลาร์ โดยจีนนับเป็นประเทศที่ถือครองพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐมากที่สุดในโลก หรือพูดอีกแง่หนึ่งก็คือ จีนเป็นประเทศเจ้าหนี้รายใหญ่ที่สุดของสหรัฐ
ก่อนหน้านี้ จีนเคยขายพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐในปี 2559 และ 2560 หลังจากหยวนแข็งค่าขึ้น
นายเจฟฟ์ มิลส์ หัวหน้านักวิเคราะห์ด้านการลงทุนจากพีเอ็นซี ไฟแนนเชียล เซอร์วิสเซส กรุ๊ป กล่าวว่า จีนจะเทขายพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอย่างแน่นอน ซึ่งจะส่งผลกระทบครั้งใหญ่ต่อตลาดการเงินทั่วโลก โดยผลกระทบที่เห็นชัดเจนที่สุดก็คือราคาพันธบัตรจะดิ่งลง ขณะที่อัตราดอกเบี้ยในตลาดการเงินจะพุ่งขึ้นตามอัตราผลตอบแทนพันธบัตร ซึ่งจะทำให้ภาคเอกชนและผู้บริโภคของสหรัฐมีต้นทุนแพงขึ้นในการกู้ยืม และจะฉุดให้เศรษฐกิจสหรัฐชะลอตัวในที่สุด
นอกจากนี้ การพุ่งขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลยังจะทำให้รัฐบาลสหรัฐมีค่าใช้จ่ายมากขึ้นในการออกพันธบัตรใหม่ เนื่องจากต้องจ่ายผลตอบแทนมากขึ้น ขณะที่พันธบัตรรัฐบาลสหรัฐจำนวน 15 ล้านล้านดอลลาร์ที่รัฐบาลสหรัฐและประเทศอื่นๆถือครองอยู่จะมีมูลค่าลดลง
ขณะเดียวกัน การพุ่งขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลจะส่งผลให้ตลาดหุ้นวอลล์สตรีททรุดตัวลง และจะมีผลลุกลามไปยังตลาดหุ้นทั่วโลก
ผลกระทบดังกล่าวข้างต้นจะเพิ่มมากเป็นทวีคูณ หากรัฐบาลประเทศอื่นๆเกิดความตื่นตระหนก และพากันเทขายพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐตามจีน
อย่างไรก็ดี นายวินเซนต์ ไรน์ฮาร์ท หัวหน้านักวิเคราะห์ของบีเอ็นวาย เมลลอน กล่าวว่า หากจีนตัดสินใจเทขายพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ ก็จะส่งผลกระทบต่อระบบการเงินของจีนเองเช่นเดียวกัน
หากจีนต้องการเทขายพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ อย่างน้อยจีนก็ต้องขายพันธบัตรบางส่วนในราคาขาดทุน และถ้ารัฐบาลประเทศอื่นเกิดความตื่นตระหนก และผสมโรงขายพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐออกมาจนทำให้ราคายิ่งตกต่ำลง ก็จะทำให้จีนขาดทุนเป็นจำนวนหลายพันล้านดอลลาร์
ขณะเดียวกัน ดอลลาร์ที่ดิ่งลงอันเป็นผลจากการที่จีนเทขายพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ จะกลับกลายเป็นผลดีต่อการส่งออกของสหรัฐ เนื่องจากจะทำให้ราคาสินค้าของสหรัฐถูกลง และจะทำให้จีนเป็นฝ่ายเสียเปรียบด้านการส่งออก
นอกจากนี้ ยังไม่มีการรับประกันว่า การเทขายพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐของจีนจะสร้างความเสียหายต่อสหรัฐตามที่จีนต้องการ เนื่องจากหากประเทศอื่นๆพากันเข้าซื้อพันธบัตรสหรัฐที่จีนขายออกมา ก็จะช่วยให้อัตราดอกเบี้ยยังคงมีเสถียรภาพ
ทั้งนี้ พันธบัตรรัฐบาลสหรัฐยังคงถือเป็นสินทรัพย์ปลอดภัย ซึ่งนักลงทุนและรัฐบาลประเทศต่างๆจะพากันเข้าซื้อ หากเศรษฐกิจโลกเผชิญกับความผันผวน
5) แทรกแซงการเจรจากับเกาหลีเหนือ
ปธน.ทรัมป์เคยกล่าวหาจีนว่ากำลังแทรกแซงความพยายามของสหรัฐในการปลดอาวุธในคาบสมุทรเกาหลี เนื่องจากจีนมีความขัดแย้งทางการค้ากับสหรัฐ และเขาแสดงความเชื่อมั่นว่า นายคิม จอง อึน ผู้นำเกาหลีเหนือ จะเคารพต่อข้อตกลงที่ทำไว้กับสหรัฐ
สถาบัน Peterson Institute for International Economics (PIIE) ซึ่งเป็นสถาบันวิจัยของสหรัฐที่ไม่แสวงหากำไร ระบุว่า จีนมีอาวุธที่มีอานุภาพร้ายแรงในการทำสงครามการค้า และจีนอาจใช้ความได้เปรียบในขอบเขตที่นอกเหนือจากเศรษฐกิจ
"นี่เป็นไพ่ที่จีนสามารถใช้โดยง่าย ด้วยการส่งสัญญาณไปยังเกาหลีเหนือเพื่อให้การเจรจาชะงักงัน แต่ปัญหาก็คือ การดำเนินการดังกล่าวจะขยายความขัดแย้งทางการค้าไปสู่ความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ และจะส่งผลกระทบที่ไม่อาจประเมินได้" PIIE ระบุ
6) เน้นขยายการค้า,การลงทุนนอกเหนือสหรัฐ
จีนอาจเลือกที่จะให้ความสนใจต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจภายในประเทศ โดยหาเครื่องมือที่จะทำให้เศรษฐกิจยังคงมีการขยายตัวในช่วงที่ทำสงครามการค้ากับสหรัฐ ด้วยการขยายการค้าและการลงทุนกับประเทศอื่นๆนอกเหนือจากสหรัฐ
นายจูเลียน อีแวนส์-พริตชาร์ดจากแคปิตัล อิโคโนมิคส์ กล่าวว่า ทางเลือกที่ดีที่สุดของจีนในการรับมือมาตรการเรียกเก็บภาษีของสหรัฐก็คือการเตรียมพร้อมที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ โดยเขาตั้งข้อสังเกตว่า มีสัญญาณบ่งชี้ว่า จีนได้เปลี่ยนแปลงท่าทีจากการชะลอการปล่อยสินเชื่อ และการควบคุมระดับหนี้ในประเทศ
ทางด้านนางจูเลีย หวัง นักวิเคราะห์จากเอชเอสบีซี กล่าวว่า จีนจะพยายามขยายการค้ากับประเทศอื่นๆ ที่ไม่ใช่สหรัฐ โดยจะเห็นได้จากการที่จีนได้เป็นเจ้าภาพจัดการเจรจาการค้าเสรีกับสหภาพยุโรป (EU) เมื่อไม่นานมานี้ และจีนยังได้เพิ่มการลงทุนในแอฟริกา
"ดิฉันมองว่าจีนกำลังกระจายการลงทุนและการค้าออกจากสหรัฐตั้งแต่เมื่อหลายปีก่อน และขณะกำลังเร่งการดำเนินการดังกล่าว" นางหวังกล่าว
*ปีนี้เผาหลอก ปีหน้าเผาจริง
นักวิเคราะห์ระบุว่า เศรษฐกิจโลกจะได้รับผลกระทบมากขึ้นในปีหน้า หากสหรัฐเพิ่มอัตราภาษีต่อสินค้านำเข้าจากจีนวงเงิน 2 แสนล้านดอลลาร์ สู่ระดับ 25% ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.2562 ตามที่ขู่ไว้ จากเดิมที่เรียกเก็บในอัตรา 10% ในวันที่ 24 ก.ย. รวมทั้งทำการเรียกเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากจีนอีกในวงเงิน 2.67 แสนล้านดอลลาร์
ทางด้านมอร์แกน สแตนลีย์ประเมินว่า การทำสงครามการค้าอย่างเต็มรูปแบบระหว่างสหรัฐและประเทศคู่ค้าจะมีผลกระทบต่อตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ทั่วโลกราว 0.81% หากสหรัฐเรียกเก็บภาษี 25% ต่อสินค้าทั้งหมดที่นำเข้ามาจากจีน และ EU ขณะที่จีนและ EU ก็ตอบโต้สหรัฐเช่นเดียวกัน
มอร์แกน สแตนลีย์เตือนว่า ผลกระทบส่วนใหญ่จากการเรียกเก็บภาษีจะเริ่มปรากฏชัดเจนในปีหน้า โดยเกิดจากภาวะชะงักงันต่อห่วงโซ่อุปทานภายในและระหว่างประเทศ
กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ระบุว่า การทำสงครามการค้าจะส่งผลกระทบ 0.5% ต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกภายในปี 2563
นายแจ็ค หม่า ประธานบริหารบริษัทอาลีบาบา กล่าวว่า ข้อพิพาททางการค้าระหว่างสหรัฐและจีนจะยืดเยื้อต่อไปเป็นเวลา 20 ปี และจะสร้างความเสียหายต่อทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง
นายหม่ากล่าวว่า ความตึงเครียดทางการค้าจะส่งผลกระทบต่อบริษัทจีนและบริษัทต่างประเทศ และจะทำให้ภาคธุรกิจของจีนย้ายฐานการผลิตออกจากจีนไปยังประเทศอื่นในระยะกลางเพื่อหลีกเลี่ยงการถูกเก็บภาษี
นายหม่าระบุว่าจำเป็นต้องมีการกำหนดกฎระเบียบทางการค้าใหม่ในระยะยาว เนื่องจากแม้ปธน.ทรัมป์พ้นวาระการดำรงตำแหน่งไปแล้ว และมีคนใหม่มาแทน แต่สหรัฐและจีนก็จะยังคงมีความขัดแย้งทางการค้าต่อไป ทำให้มีความจำเป็นต้องปฏิรูปองค์การการค้าโลก (WTO)
นอกจากนี้ นายหม่ายังกล่าวว่า อาลีบาบาตัดสินใจยกเลิกแผนการสร้างงาน 1 ล้านตำแหน่งในสหรัฐ ท่ามกลางความขัดแย้งทางการค้าระหว่างจีนและสหรัฐ
ทั้งนี้ นายหม่าได้ให้สัญญาว่าจะสร้างงานจำนวน 1 ล้านตำแหน่งในสหรัฐขณะที่ได้เข้าพบนายทรัมป์ในเดือนม.ค.ปีที่แล้ว ก่อนที่นายทรัมป์จะเข้าพิธีสาบานตนรับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐ
"คำสัญญานี้ได้ทำขึ้นบนพื้นฐานของการเป็นหุ้นส่วนที่มีมิตรภาพระหว่างจีนและสหรัฐ และบนความสัมพันธ์ทางการค้าที่มีเหตุผล ในเมื่อพื้นฐานดังกล่าวไม่ปรากฎอีกต่อไปในวันนี้ ดังนั้น เราจึงไม่อาจทำตามคำสัญญาได้" นายหม่ากล่าว
ส่วนนายโรเบอร์โต อาเซเวโด ผู้อำนวยการ WTO เตือนว่า การทำสงครามการค้าจะสร้างความเสี่ยงมากขึ้นต่อเสถียรภาพของเศรษฐกิจโลก
นายอาเซเวโดกล่าวว่า สงครามการค้าจะส่งผลกระทบต่อความร่วมมือทางการค้าระหว่างประเทศ และจะลดการเติบโตของการค้าราว 70% และลดการขยายตัวของเศรษฐกิจโลก 1.9%
"ความตึงเครียดที่เพิ่มขึ้นจะเพิ่มความเสี่ยงต่อเสถียรภาพ, การจ้างงาน และการเติบโตทางเศรษฐกิจ โดยไม่มีผู้ชนะในสถานการณ์ดังกล่าว และทุกภูมิภาคจะได้รับผลกระทบ" ผู้อำนวยการ WTO กล่าว