ท่ามกลางแรงปะทะระหว่างกระแสการกีดกันทางการค้าของรัฐบาลสหรัฐภายใต้การนำของโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐ และนานาประเทศที่ต่างสนับสนุนการค้าเสรีและลัทธิพหุภาคี "ข้อตกลงสหรัฐอเมริกา-เม็กซิโก-แคนาดา" (United States-Mexico-Canada Agreement) หรือ USMCA ถือเป็นข้อตกลงระดับไตรภาคีที่สามารถฟันฝ่าอุปสรรคจนประสบความสำเร็จได้ในที่สุด นับตั้งแต่ที่เริ่มการเจรจากันเมื่อปี 2560 และตกลงกันได้เมื่อวันที่ 30 ก.ย. 2561
ก่อนที่ USMCA จะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 ม.ค. 2563 นั้น ข้อตกลงฉบับใหม่นี้ จะต้องผ่านการอนุมัติจากสภาคองเกรสของสหรัฐ แต่ก็ไม่น่าจะมีอุปสรรคเท่าไรนัก เพราะพรรครีพับลิกันเองก็พอใจกับการที่สหรัฐสามารถดึงแคนาดามาร่วมวงได้ก่อนที่ศึกเลือกตั้งกลางเทอมจะเปิดฉากขึ้นในเดือนพ.ย.ที่จะถึงนี้ ส่วนเดโมแครตเองก็พอใจไม่น้อยกับเงื่อนไขด้านแรงงานที่ฝั่งสหรัฐจะได้ประโยชน์จาก USMCA
In Focus สัปดาห์นี้ ขอนำเสนอไฮไลท์ของข้อตกลงโฉมใหม่ที่เข้ามาแทนที่ข้อตกลงการค้าเสรีอเมริกาเหนือ (NAFTA) รวมทั้งผู้ที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จ มุมมองจากเหล่านักวิเคราะห์ และประชาชน
USMCA ซึ่งจะเข้ามาแทนที่ข้อตกลงการค้าเสรีอเมริกาเหนือนั้น จะมีผลบังคับใช้ยาวนานถึง 16 ปี และจะมีการทบทวนข้อตกลงทุกๆ 6 ปี ในแง่ของภาคธุรกิจผลิตภัณฑ์นมนั้น เกษตรกรสหรัฐจะสามารถเข้าถึงตลาดผลิตภัณฑ์นมของแคนาดาที่มีมูลค่าถึง 1.6 หมื่นล้านดอลลาร์ต่อปีได้ในสัดส่วน 3.5%
ขณะที่อุตสาหกรรมยานยนต์นั้น แคนาดาได้รับโควต้ายกเว้นภาษีนำเข้ารถไปยังสหรัฐจำนวน 2.6 ล้านคัน ซึ่งถือเป็นการคุ้มครองอุตสาหกรรมยานยนต์ นอกจากนี้ ชิ้นส่วนรถที่มีการผลิตในพื้นที่ของ USMCA จะต้องผลิตในพื้นที่ของอเมริกาเหนือในสัดส่วน 40%
ส่วนอุตสาหกรรมป่าไม้นั้น แคนาดาประสบความสำเร็จกับการได้มาซึ่งกลไกในการไกล่เกลี่ยกรณีที่เกิดความขัดแย้ง รวมทั้งการให้คำมั่นว่า จะจัดการกับการค้าสัตว์ป่าและการตัดไม้ที่ผิดกฎหมาย
นอกจากนี้ USMCA ยังเอื้อประโยชน์ต่อบริษัทด้านเทคโนโลยีและนักช็อปออนไลน์ เนื่องจากได้มีการปรับเพิ่มเพดานการช็อปปลอดภาษีออนไลน์เป็น 100 ดอลลาร์สำหรับเม็กซิโก และ 150 ดอลลาร์สำหรับแคนาดา
อุตสาหกรรมยานยนต์ของสหรัฐและแคนาดาต่างพากันโล่งอกกับข้อตกลงโฉมใหม่ เนื่องจากได้มีการกำหนดให้มีการเพิ่มการผลิตชิ้นส่วนรถภายในอเมริกาเหนือเป็น 75% จากระดับเดิมที่ 62.5%
อย่างไรก็ดี กลุ่มผู้ซื้อรถในสหรัฐคงจะต้องควักกระเป๋าเพื่อซื้อรถในราคาที่สูงขึ้น เพราะ USMCA และจำนวนรุ่นของรถก็มีแนวโน้มว่า จะลดน้อยลงโดยเฉพาะรถขนาดเล็กที่เคยผลิตในเม็กซิโก ถึงแม้ว่า จะยังไม่สามารถประเมินได้ในขณะนี้ว่า ราคารถจะสูงขึ้นอีกเท่าไร โดยสาเหตุที่ทำให้ราคารถมีแนวโน้มสูงขึ้นนั้น มาจากเงื่อนไขในข้อตกลงฉบับใหม่ที่ระบุถึงเรื่องการจ่ายค่าจ้างแรงงานในการผลิตส่วนประกอบรถในอัตราใหม่ที่ 16 ดอลลาร์ต่อชั่วโมง
ในขณะที่กลุ่มเกษตรกรในภาคผลิตภัณฑ์นมของสหรัฐดูเหมือนว่า จะเป็นกลุ่มที่ "ได้" ทั้งในเรื่องการเข้าถึงตลาดผลิตภัณฑ์นมของแคนาดามากยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นนมผงหรือโปรตีนนม นอกจากนี้ ข้อตกลง USMCA ยังทำให้สหรัฐสามารถกำหนดกฎเกณฑ์ในเรื่องปริมาณของผลิตภัณฑ์นมที่ทางแคนาดาสามารถส่งออกมายังสหรัฐได้ ซึ่งถือเป็นข้อได้เปรียบสำหรับเกษตรกรสหรัฐ
กลุ่มผู้เสียประโยชน์จากข้อตกลงโฉมใหม่ยังรวมถึงคู่สัญญาอย่างเม็กซิโกเองที่ต้อง "ยอม" ให้รัฐบาลสหรัฐในหลายประเด็น นักวิเคราะห์คาดว่า การผลิตของเม็กซิโกอาจจะขยายตัวในอัตราที่ชะลอตัวลง และค่าแรงในประเทศก็ยังไม่แน่นอนว่า จะเพิ่มสูงขึ้นหรือไม่จากข้อตกลงที่ได้มีการระบุถึงอัตราค่าแรงใหม่
อย่างไรก็ดี นายออสการ์ อัลบิน ประธานสมาคมอุตสาหกรรมชิ้นส่วนรถยนต์ของเม็กซิโก (INA) มองว่า การส่งออกชิ้นส่วนรถยนต์ของเม็กซิโกอาจพุ่งขึ้นอีก 10% ในช่วง 3 ปีข้างหน้า อันเนื่องมาจากข้อตกลงโฉมใหม่ พร้อมระบุว่า ผู้ผลิตรถยนต์ควรรีบปรับตัวให้สอดคล้องกับข้อตกลงใหม่นี้เช่นกัน
สำหรับฝั่งสหรัฐแล้ว นายโรเบิร์ต ไลไทเซอร์ ผู้แทนการค้าสหรัฐถือเป็นตัวจริงเสียงจริงที่ผลักดันให้เกิดข้อตกลง USMCA อีกหนึ่งผลงานชิ้นโบว์แดงของนายไลไทเซอร์ก็คือ ข้อตกลงการค้าสหรัฐและเกาหลีใต้ (KORUS) เรียกได้ว่า เจ้ากระทรวงอย่างนายวิลเบอร์ รอส รัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์สหรัฐ และนายสตีเวน มนูชิน รัฐมนตรีกระทรวงคลังสหรัฐ ตกกระป๋องไปเลยทีเดียว งานนี้ ถือเป็นบทพิสูจน์ว่า ใครคือทีมงานผู้เชี่ยวชาญด้านการค้าตัวจริงที่ "ทรัมป์" เงี่ยหูรับฟัง
ขณะที่ฝั่งแคนาดานั้น เรียกได้ว่า ถ้าไม่สตรองคงจะอยู่ไม่ได้ เพราะไหนจะต้องเจรจาต่อรองเพื่อรักษาผลประโยชน์ให้กับประเทศ ไม่วายต้องมาเผชิญดรามาจากการกดดันผ่านทางทวิตเตอร์ของทรัมป์ทั้งก่อนและหลังการเจรจาในแต่ละรอบ เล่นเอานางคริสเตียน ฟรีแลนด์ รัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศแคนาดา ซึ่งทำหน้าที่เป็นผู้แทนการเจรจาถึงกับยิ้มไม่ออก
นายจัสติน ทรูโด นายรัฐมนตรีของแคนาดา ถึงกับต้องขอบคุณครอบครัวของนางฟรีแลนด์สำหรับความอดทนที่มีให้กับการใช้เวลาส่วนใหญ่ในปีที่แล้วของนางฟรีแลนด์ไปกับข้อตกลงโฉมใหม่ โดยนางฟรีแลนด์เองกล่าวถึงความมั่นใจของตนเองในการได้มาซึ่งข้อตกลงครั้งนี้ว่า มาจากหลักการของเหตุผลทางด้านเศรษฐกิจที่ทำให้ความสัมพันธ์แบบไตรภาคีนี้เกิดขึ้นได้ แม้ว่า การเจรจาอาจจะถูกครอบงำจากช่วงเวลาแห่งดรามา แต่ด้วยความเชื่อมั่นที่มีมาโดยตลอดจึงทำให้เราสามารถเดินทางมาถึงจุดนี้ได้
แน่นอนว่า ข้อตกลงโฉมใหม่จะต้องได้รับเสียงวิจารณ์ตามมา ในฝั่งของกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมนั้นมองว่า USMCA เป็นข้อตกลงที่ให้การสนับสนุนระบบเศรษฐกจที่อิงเชื้อเพลิงจากฟอสซิล ทั้งที่โลกต้องการเปลี่ยนแปลงเพื่อแก้ปัญหาโลกร้อนหรือการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ
คีธ สจ๊วต โฆษกกรีนพีซ แคนาดา มองว่า ก่อนหน้านี้ นายกฯแคนาดาประกาศว่า จะระบุข้อกำหนดเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม สิทธิของชนพื้นเมือง หรือเรื่องเพศ แต่ประเด็นทั้งหมดนี้ก็หายไปจากข้อตกลงที่กลับพุ่งเป้าไปที่การปกป้องและรักษาไว้ซึ่งสถานภาพทางเศรษฐกิจ
ขณะที่แอนดรูว์ เชียร์ หัวหน้าพรรคอนุรักษ์นิยมของแคนาดา มองว่า ข้อตกลงโฉมใหม่เป็นเหมือนกับการวางท่าทางการเมืองที่มีแต่จะบั่นทอนจุดยืนการเจรจาต่อรองของแคนาดา แต่นางฟรีแลนด์ หัวหอกการเจรจาของรัฐบาลแคนาดา มองว่า ยุทธศาสตร์ที่ได้มีการนำมาใช้นั้น ทำให้เกิดข้อตกลงด้านการค้าที่มีความก้าวหน้าเป็นอย่างยิ่ง และยังมีเป้าหมายที่จะรับประกันเรื่องผลประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นกับการขยายตัวของเศรษฐกิจที่มุ่งเน้นการค้าอย่างเท่าเทียมกันมากขึ้นใน 3 ประเทศ
นอกเหนือไปจากเนื้อหาของข้อตกลงจะถูกวิจารณ์แล้ว ชื่อของข้อตกลง USMCA ก็ยังไม่วายกลายเป็นประเด็นที่ถูกนำมาวิจารณ์กันอย่างขำๆ สื่อแคนาดารายงานโดยอ้างนักวิเคราะห์ว่า การเปลี่ยนชื่อข้อตกลง NAFTA เป็น USMCA ถือเป็นการชี้นำความคิดของประชาชนไปที่การค้าเสรีในสหรัฐ และยังสะท้อนให้เห็นถึงการครอบงำด้วยแนวคิดของทรัมป์ที่ไม่ต้องการใช้ชื่อ NAFTA เพราะมองว่าข้อตกลง NAFTA ถือเป็นข้อตกลงที่เลวร้ายสำหรับประเทศ
ขณะที่คอมเมนต์ในโซเชียล มีเดีย บางส่วนมองว่า การเปลี่ยนชื่อข้อตกลงนี้สอดคล้องกับจุดยืนที่ว่า "America First" ของทรัมป์ บางรายก็ไปไกลถึงขั้นบอกว่า ไม่รู้จะออกเสียงข้อตกลงนี้ว่าอย่างไร น่าจะสลับตัวอักษรจาก USMCA เป็น MUSCA หรือ CUSMA มากกว่า จะได้เรียกชื่อข้อตกลงได้ง่ายขึ้น
แม้ว่า จะมีเสียงวิจารณ์ต่างๆนานาตามมา ซึ่งถือเป็นเรื่องปกติสำหรับข้อตกลงระหว่างประเทศที่มีสถานะและจุดยืนแตกต่างกัน แต่ท้ายที่สุดแล้ว การได้มาซึ่งข้อตกลงที่มีการเปลี่ยนแปลงเนื้อหาให้เหมาะสมกับสภาพเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมในปัจจุบันและในอนาคต ถือเป็นเรื่องที่บ่งชี้ถึงความก้าวหน้าและตอบรับกับอนาคต