In Focusสรุปควันหลงคดี "คาช็อกกี" เมื่อทั่วโลกยังคงไล่บี้ซาอุฯ ยาวถึงสัปดาห์นี้

ข่าวต่างประเทศ Wednesday October 24, 2018 14:45 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

จากสัปดาห์ที่ผ่านมาที่ In Focus ได้รายงานถึงสถานการณ์ที่เกี่ยวข้องกับกรณีที่นายจามาล คาช็อกกี ผู้สื่อข่าวชาวซาอุดีอาระเบียได้หายตัวไปอย่างลึกลับในระหว่างที่เดินทางเข้าไปในสถานกงสุลซาอุดีอาระเบียประจำนครอิสตันบูล ประเทศตุรกี ซึ่งเหตุการณ์ดังกล่าวได้กลายเป็นปริศนาและกลายเป็นประเด็นร้อนไปทั่วโลก แม้เวลาจะผ่านไปเพียงสัปดาห์เดียว แต่ก็นับว่าประเด็นดังกล่าวมีความคืบหน้าเกิดขึ้นมากมาย และมีหลายประเด็นที่น่าสนใจที่สามารถหยิบยกมาวิเคราะห์กันได้

In Focus สัปดาห์นี้ จึงจะยังคงหยิบยกประเด็นนี้มาเพื่อให้ผู้อ่านได้ติดตามความคืบหน้าของสถานการณ์นี้กันต่อ

*ซาอุฯ ยืนยันแล้ว "คาช็อกกี" เสียชีวิต

ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา เรื่องราวการหายตัวไปของนายชาช็อกกียังคงเป็นปริศนา โดยประเด็นที่ว่า นายคาช็อกกีเสียชีวิตแล้วหรือไม่ ได้กลายเป็นประเด็นที่มีการถกเถียงกัน แม้ว่าจะมีการฟันธงจากสื่อหลายสำนักว่า ผู้สื่อข่าวรายนี้ได้เสียชีวิตแล้ว อย่างไรก็ดี ก็ยังไม่มีการยืนยันข้อมูลดังกล่าวอย่างเป็นทางการ จนกระทั่งเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมาที่ทางการซาอุดีอาระเบียก็ได้ออกมายืนยันว่า นายคาช็อกกีนั้นเสียชีวิตแล้ว โดยเสียชีวิตภายในระยะเวลาไม่นานหลังจากที่ได้เข้าไปที่สถานกงสุลซาอุดีอาระเบียประจำนครอิสตันบูลอันเนื่องมาจากเหตุทะเลาะวิวาท ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของซาอุฯ ได้ชี้แจงผ่านทางทวิตเตอร์ว่า การหารือของนายจามาล คาช็อกกี ที่สถานกงสุลของซาอุดีอาระเบีย ณ นครอิสตันบูลไม่ได้เป็นไปตามที่คาดหมายและมีความรุนแรงขึ้นจนนำไปสู่การวิวาทและการเสียชีวิตของเขา ทั้งนี้ ซาอุดีอาระเบียเปิดเผยว่า ได้มีการจับกุมตัวผู้ต้องสงสัย 18 รายที่อาจเกี่ยวข้องกับเหตุดังกล่าว นอกจากนี้ได้มีการปลดเจ้าหน้าที่ระดับสูง 2 รายที่มีความเกี่ยวข้องกับมกุฎราชกุมารโมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน หนึ่งในนั้นเป็นเจ้าหน้าที่ฝ่ายข่าวกรอง ก่อนหน้านี้ ทางการซาอุดีอาระเบียเคยระบุไว้ว่า นายคาช็อกกีได้เดินออกจากสถานกงสุลขณะที่ยังมีชีวิตอยู่ หลังจากนั้นจึงเปลี่ยนเป็นว่า นายคาช็อกกีเสียชีวิตอันเนื่องมาจากความผิดพลาด ซึ่งการออกมายืนยันครั้งนี้ทำให้หลายฝ่ายได้ออกมากดดันซาอุฯ ให้มีการสอบสวนอย่างละเอียดและโปร่งใสต่อไป

ท่ามกลางกระแสกดดันจากทั่วโลก และกระแสวิตกที่ว่า ประเด็นดังกล่าวจะส่งผลต่อราคาน้ำมันโลกหรือไม่ ล่าสุด ซาอุดีอาระเบียได้ออกมายืนยันว่า จะไม่มีการใช้น้ำมันเป็นเครื่องมือทางการเมืองตอบโต้ชาติอื่น ๆ แม้จะถูกคว่ำบาตรอันเนื่องมาจากการเสียชีวิตของนายจามาล คาช็อกกี ก็ตาม โดยนายคาลิด อัล-ฟาลีห์ รัฐมนตรีกระทรวงน้ำมันซาอุดีอาระเบีย กล่าวว่า "ซาอุดีอาระเบียเป็นประเทศที่มีความรับผิดชอบ ซึ่งในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา เราใช้นโยบายน้ำมันเป็นเครื่องมือเศรษฐกิจที่มีความรับผิดชอบ และไม่เกี่ยวข้องกับการเมือง"

*"ตุรกี" ในฐานะเจ้าของบ้าน ย้ำการสืบสวนคดี "ต้องโปร่งใส"

เมื่อเหตุการณ์ได้เกิดขึ้นในนครอิสตันบูลของตุรกี จึงทำให้เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ตุรกีต้องเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการกับปัญหานี้เช่นกัน ภายหลังเกิดเหตุ ก็ได้มีการหารือกันในระดับผู้นำระหว่างสหรัฐและตุรกีขึ้นผ่านทางโทรศัพท์ หลังจากนั้นทำเนียบประธานาธิบดีตุรกีจึงได้ออกแถลงการณ์ว่า ทั้งสองผู้นำต่างเห็นพ้องว่า ประเด็นการเสียชีวิตของนายคาช็อกกีควรมีความชัดเจนโปร่งใสในทุกๆ ด้าน

ล่าสุดเมื่อวานนี้ นายเรเซป ตอยยิบ เออร์โดกัน ประธานาธิบดีตุรกี ได้ออกมาเปิดเผยว่า มีหลักฐานที่ชี้ให้เห็นว่า นายคาช็อกกีถูกฆาตกรรมโดยมีการไตร่ตรองไว้ก่อน พร้อมระบุด้วยว่า มีการถอดฮาร์ดดิสก์ของกล้องวงจรปิดในสถานกงสุลทำให้กล้องวงจรปิดใช้การไม่ได้ ซึ่งนายเออร์โดกันได้เรียกร้องให้ซาอุดีอาระเบียเร่งหาคำตอบให้กับประเด็นนี้และขอให้ส่งตัวผู้ต้องสงสัยชาวซาอุดีอาระเบีย 18 รายมารับการสอบสวนในตุรกี

ความเคลื่อนไหวจากทางตุรกีต่อเรื่องนี้ยังคงมีการรายงานอย่างต่อเนื่อง ล่าสุด สำนักข่าวสกายนิวส์ระบุว่า พบชิ้นส่วนของนายคาช็อกกีในบริเวณสวนภายในบ้านพักของกงสุลใหญ่ โดยที่ทางการตุรกีจะรายงานประเด็นดังกล่าวเพิ่มเติมหากมีความคืบหน้า

*มหาอำนาจอย่างสหรัฐพยายามใส่บทบาทเต็มที่ ขณะผู้นำสงวนท่าที

จากสัปดาห์ที่ผ่านมาที่ผู้นำสหรัฐได้กดดันซาอุดีอาระเบีย และได้ต่อสายตรงไปถึงสมเด็จพระราชาธิบดี ซัลมาน บิน อับดุลลาชิช อัล ซา อุด เพื่อหารือประเด็นดังกล่าวแล้ว ยังได้ส่งนายไมค์ ปอมเปโอ รัฐมนตรีต่างประเทศของสหรัฐไปเข้าพบมกุฎราชกุมารซัลมานด้วย นอกจากนี้ยังมีการขู่ว่าจะดำเนินการกับซาอุฯ หากพบว่าซาอุฯ มีส่วนเกี่ยวข้องกับการฆาตกรรมนายคาช็อกกี

แม้ซาอุดีอาระเบียได้ปฏิเสธอย่างชัดเจนว่าไม่ได้มีส่วนรู้เห็นใด ๆ กับคดีนี้ แต่เรื่องราวยังไม่จบลงง่ายๆ สหรัฐยังคงเคลื่อนไหวกับเรื่องนี้ต่อไป จากการติดตามสถานการณ์ตลอดช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาจะพบว่า มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของสหรัฐทั้งจากพรรครีพับลิกันและเดโมแครตได้เสนอให้สหรัฐยกเลิกการขายอาวุธให้แก่ซาอุดีอาระเบีย รวมไปถึงให้ทำการสอบสวนกรณีดังกล่าวเอง เนื่องจากไม่เชื่อมั่นในการสืบสวนของทางการซาอุดีอาระเบีย โดยนายแรนด์ พอล ที่โพสต์ข้อความลงบนทวิตเตอร์ว่า เขาเห็นด้วยว่า สหรัฐควรยกเลิกการขายอาวุธและการให้ความช่วยเหลือแก่ซาอุดีอาระเบียในทันที สมาชิกสภาสหรัฐบางส่วนได้เรียกร้องให้สหรัฐใช้กฎ Magnitsky Act กับซาอุดีอาระเบีย ซึ่งเป็นพระราชบัญญัติที่อนุญาตให้รัฐบาลสหรัฐสามารถคว่ำบาตรผู้ที่ละเมิดสิทธิมนุษยชน สั่งห้ามไม่ให้บุคคลเหล่านั้นเดินทางเข้าสหรัฐ รวมไปถึงมีการอายัดทรัพย์สินด้วย ในขณะเดียวกัน สหรัฐได้ส่งนางจีน่า แฮสเปล ผู้อำนวยการ CIA ไปนครอิสตันบูลเมื่อคืนวันจันทร์ที่ผ่านมา เพื่อช่วยดำเนินการสืบสวน

สื่อต่างชาติหลายสำนักมีความคิดเห็นไปในทางเดียวกันว่า แม้สหรัฐจะไม่เห็นด้วยกับเรื่องนี้ แต่นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐกลับไม่ได้ออกมาวิจารณ์ซาอุดิอาระเบียอย่างรุนแรง เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา ทรัมป์เปิดเผยว่า สหรัฐจะไม่ยุติข้อตกลงค้าอาวุธกับซาอุดีอาระเบีย แต่อาจพิจารณาใช้มาตรการอื่นๆเช่นการคว่ำบาตร และล่าสุด ผู้นำสหรัฐได้ออกมายอมรับว่า การพิจารณาตอบโต้ซาอุฯ อาจต้องใช้เวลา เพราะสหรัฐและซาอุฯ เป็นพันธมิตรกันและมีผลประโยชน์ด้านเศรษฐกิจร่วมกันหลายด้าน การดำเนินการกับซาอุโดยปราศจากความระมัดระวังอาจนำมาสู่ความเสียหายทั้งแก่ซาอุฯและสหรัฐเอง

*ประเทศอื่น ๆ กับการแสดงท่าทีต่อประเด็นนี้

นอกจากสหรัฐ ตุรกี และซาอุดีอาระเบียแล้ว ชาติตะวันตกที่มักจะแสดงบทบาทในเวทีการเมืองโลกอยู่เสมออย่าง อังกฤษ ฝรั่งเศส และเยอรมนีได้ออกมาเคลื่อนไหวในเรื่องนี้เช่นกัน โดยทั้งสามประเทศได้ร่วมกันต่อต้านอย่างชัดเจน เยอรมนีได้ระบุในแถลงการณ์ร่วมว่า "ไม่มีคำอธิบายใดที่จะสามารถสร้างความชอบธรรมได้ และเราขอประณามอย่างรุนแรงที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้" ซึ่งด้านนางอังเกลา แมร์เคิล นายกรัฐมนตรีเยอรมนีประกาศว่า เยอรมนีจะไม่ขายอาวุธให้ซาอุดีอาระเบียในขณะที่การเสียชีวิตของนายจามาล คาช็อกกี ยังไม่มีความชัดเจน

ด้านพันธมิตรของสหรัฐในเอเชียอย่างญี่ปุ่นกลับแสดงท่าทีที่แตกต่างจากประเทศมหาอำนาจยุโรป 3 ประเทศ โดยมีนายโยชิฮิเดะ ซูกะ หัวหน้าเลขาธิการคณะรัฐมนตรีญี่ปุ่น กล่าวว่า การเสียชีวิตของนายจามาล คาช็อกกี นับเป็นเรื่องที่ "น่าเสียใจเป็นอย่างยิ่ง" และทางการญี่ปุ่น "หวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะได้ทราบความจริงและคำตอบที่ยุติธรรรมและโปร่งใสอย่างรวดเร็ว" ผ่านทางการสืบสวนคดีดังกล่าวของตุรกี จุดยืนดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงความลังเลของญี่ปุ่นในการวิพากษ์วิจารณ์ซาอุฯ ซึ่งเป็นผู้จัดหาน้ำมันดิบรายใหญ่ที่สุดของประเทศ

แน่นอนว่าเรื่องราวการเสียชีวิตของนายคาช็อกกีได้กลายเป็นประเด็นการเมืองโลกไปแล้ว แต่ผู้ที่มีบทบาทต่อการเมืองโลกนั้นไม่ได้มีเพียงผู้แสดงที่เป็นรัฐเท่านั้น ยังมีผู้แสดงสำคัญรายอื่น ๆ ที่ไม่ใช่รัฐ ได้ออกมาเคลื่อนไหวและตอบสนองต่อเหตุการณ์ครั้งนี้ด้วย เช่น องค์การระหว่างประเทศอย่างองค์การสหประชาชาติ (UN) รวมถึงบุคคลต่าง ๆ จากภาคธุรกิจ ซึ่งในส่วนต่อไปจะเป็นการพูดถึงความเคลื่อนไหวของความเคลื่อนไหวขององค์กรที่ไม่ใช่รัฐ เพื่อที่จะแสดงให้เห็นว่า การเมืองโลกในปัจจุบันไม่ใช่เรื่องของบทบาทของรัฐเท่านั้นอีกต่อไป

*UN ไม่นิ่งนอนใจ ผู้เชี่ยวชาญ นักเคลื่อนไหว บุคคลสำคัญแห่วิจารณ์เพียบ

บรรดานักเคลื่อนไหวและผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิมนุษยชนและเจ้าหน้าที่จากสหประชาชาติหลายรายได้ออกมาพูดถึงประเด็นดังกล่าว นางมิเชล บาเชอเล็ต ข้าหลวงใหญ่แห่งสำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชน (OHCHR) นายเบอร์นาร์ด ดูไฮม์ ประธานคณะทำงานสหประชาชาติว่าด้วยการบังคับบุคคลให้สูญหายโดยไม่สมัครใจ นายแดนเต เพส ประธานคณะทำงานด้านองค์กรธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติ ที่ต่างออกมาวิพากษ์วิจารณ์กรณีการเสียชีวิตของนายคาช็อกกี หรือแม้กระทั่งนางออเดรย์ อะซูเลย์ เลขาธิการองค์กรการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) ที่ได้ออกมาประณามการสังหารนายคาช็อกกีอย่างทารุณเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา ในที่สุดเลขาธิการแห่งสหประชาชาติอย่าง นายอันโตนิโอ กูร์เตอเรส ก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ และกล่าวแสดงความอาลัยต่อครอบครัวและมิตรสหายของนายคาช็อกกี พร้อมเรียกร้องให้มีการสืบสวนกรณีการเสียชีวิตของนายคาช็อกกีอย่างรวดเร็ว ถี่ถ้วน และโปร่งใส

*กลุ่มธุรกิจตบเท้าถอนตัวจากการประชุม FII ต่อเนื่อง

นับเป็นเรื่องบังเอิญที่ประเด็นการหายตัวของนายจามาล คาช็อกกี ได้เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่ไล่เลี่ยกับงานประชุม "Future Investment Initiative (FII) Summit" หรือที่เรียกว่า "Davos in the Desert" ซึ่งเปิดฉากขึ้นเมื่อวานนี้และจะจัดไปจนถึงวันที่ 25 ต.ค. นี้ ทำให้บุคคลในแวดวงการเมืองและธุรกิจจากทั่วโลกยกเลิกการเข้าร่วมประชุมดังกล่าว โดยข้อมูลเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา ทางผู้จัดงานระบุว่า จะมีวิทยากรและผู้ดำเนินรายการรวม 120 รายจะเข้าร่วมงานดังกล่าว จากเดิมที่มีมากกว่า 150 ราย และหนึ่งในบุคคลสำคัญที่ได้ตัดสินใจไม่เข้าร่วมงานดังกล่าวแล้วก็คือ นายสตีเวน มนูชิน รมว.คลังสหรัฐ ที่ก่อนหน้านี้ยังไม่ได้ยืนยันว่าจะเข้าร่วมงานดังกล่าวหรือไม่ นอกจากนี้ยังมีบุคคลสำคัญทางการเมืองอีกหลายรายที่ถอนตัวจากการร่วมประชุม เช่น นายเลียม ฟ็อกซ์ รัฐมนตรีด้านการค้าระหว่างประเทศของอังกฤษ นายบรูโน เลอ แมร์ รัฐมนตรีคลังฝรั่งเศส นายจิม ยอง คิม ประธาน ธนาคารโลก นางคริสติน ลาการ์ด ผู้อำนวยการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) และนางแคทเธอรีน แม็คกินเนส ประธานคณะกรรมาธิการด้านนโยบายและทรัพยากรของบริษัทนครหลวงลอนดอน( City of London Corporation ) รวมถึงสื่อยักษ์ใหญ่หลายราย เช่น บลูมเบิร์ก เดอะไฟแนนเชียลไทมส์ และ CNN ได้ขอถอนตัวจากงานนี้ด้วย

อย่างไรก็ดี หลังจากที่งาน FII ได้เปิดฉากวันแรกไปเมื่อวานนี้ ได้มีการลงนามสัญญาในโครงการต่างๆไปแล้วมูลค่ากว่า 5.5 หมื่นล้านดอลลาร์โดยสำนักข่าวซินหัวรายงานว่า สัญญาโครงการต่างๆ ครอบคลุมถึงโครงการด้านพลังงาน ปิโตรเคมี และการคมนาคม หนึ่งในนั้นเป็นโครงการรถไฟความเร็วสูงฮาราเมนระยะที่สอง และโครงการ Saudi Land Bridge ซึ่งก็ถือว่างานดังกล่าวยังสามารถจัดต่อไปได้ ส่วนจะมีความคืบหน้าเช่นไร และจะปิดฉากลงอย่างไรก็คงต้องรอติดตามจนถึงวันพรุ่งนี้

*เหตุร้อนที่ซาอุฯ สะเทือนถึงตลาดหุ้นตลอดช่วงต้นสัปดาห์นี้

ภาพรวมของตลาดหุ้นตั้งแต่ช่วงต้นสัปดาห์จนมาถึงวันนี้ สะท้อนให้เห็นว่า ตลาดหุ้นในช่วงสัปดาห์นี้ยังคงได้รับผลกระทบจากซาอุดีอาระเบีย โดยเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา ดัชนีนิกเกอิตลาดหุ้นญี่ปุ่นเปิดร่วงลง ซึ่งหนึ่งในปัจจัยสำคัญคือความวิตกของนักลงทุนเกี่ยวกับความสัมพันธ์อันตึงเครียดระหว่างสหรัฐและซาอุดีอาระเบีย จากนั้นในวันอังคาร ดัชนีดาวโจนส์ล่วงหน้าได้ร่วงลงเกือบ 300 จุด ท่ามกลางความสัมพันธ์ที่ตึงเครียดระหว่างสหรัฐและซาอุดีอาระเบีย

สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดขยับขึ้นเมื่อคืนวันจันทร์ที่ผ่านมา(22 ต.ค.) หลังจากรัฐมนตรีต่างประเทศของซาอุดีอาระเบียได้ออกมายอมรับว่า การเสียชีวิตของนายคาช็อกกีเป็นความผิดพลาดครั้งใหญ่และร้ายแรง ในขณะเดียวกัน รัฐมนตรีน้ำมันของซาอุฯได้ประกาศว่า ซาอุฯจะยังคงเพิ่มการผลิตน้ำมัน และจะไม่ใช้น้ำมันเป็นอาวุธ ซึ่งถือเป็นการส่งสัญญานว่า ซาอุฯ จะรักษาสเถียรภาพตลาดน้ำมันและจะเพิ่มการผลิตต่อไป ปัจจัยดังกล่าวส่งผลให้ สัญญาน้ำมันดิบเท็กซัส (WTI) เมื่อคืนนี้(23 ต.ค.) ร่วงลงแตะระดับต่ำสุดในรอบ 2 เดือน

ทั้งหมดนี้เป็นการสรุปไฮไลต์สำคัญที่เกิดขึ้นเนื่องมาจากประเด็นร้อน "คาช็อกกี" ที่ถือว่ายังคงมีความเคลื่อนไหวเกิดขึ้นมากมาย ทั้งจากซาอุดีอาระเบียในฐานะผู้ต้องสงสัย ตุรกีในฐานะเจ้าบ้าน สหรัฐในฐานะผู้คุ้มครองคาช็อกกี องค์การสหประชาชาติในฐานะผู้พิทักษ์สันติภาพและผู้ปกป้องสิทธิมนุษยชน หน่วยงานภาคธุรกิจที่ออกมาแสดงบทบาทในการเป็นส่วนหนึ่งของประชาคมโลกผู้มีสิทธิเคลื่อนไหวเพื่อแสดงออกถึงความเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยต่อประเด็นต่างๆ จากเหตุการณ์ที่ยกมาข้างต้นนี้ทำให้เห็นว่า แม้ระยะเวลาจะผ่านไปเพียง 1 สัปดาห์แต่กลับมีเรื่องราวที่สืบเนื่องมาจากเหตุดังกล่าวอีกมากมาย และยังคงส่งผลกระทบต่อหลายภาคส่วนจนถึงทุกวันนี้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ