การประชุมสุดยอด ASEAN ครั้งที่ 33 ซึ่งสิงคโปร์เป็นเจ้าภาพได้เปิดฉากขึ้นแล้วอย่างเป็นทางการ หลายฝ่ายคาดการณ์ว่าประเด็นสำคัญหลัก ๆ ที่จะได้รับการหยิบยกขึ้นมาพูดคุยคงหนีไม่พ้น ปัญหาผู้อพยพชาวมุสลิมโรฮิงญาและข้อพิพาทในทะเลจีนใต้ ท่ามกลางการจับตามองอย่างใกล้ชิดเกี่ยวกับการดำเนินนโยบายของสหรัฐต่อภูมิภาคดังกล่าว หลังประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ไม่เข้าร่วมการประชุมดังกล่าว และส่งไมค์ เพนซ์ รองประธานาธิบดีสหรัฐปฎิบัติภารกิจเดินทางเยือนเอเชียแทน ขณะเดียวกันการประชุมครั้งนี้ยังเกิดขึ้นในช่วงที่ความขัดแย้งระหว่างญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ทวีความตึงเครียด หลังศาลเกาหลีใต้พิพากษาให้บริษัทเหล็กญี่ปุ่น จ่ายเงินชดเชยพลเรือนเกาหลีใต้ ฐานบังคับใช้แรงงานช่วงสงครามโลก ทำให้ความเป็นไปได้ในการหารือทวิภาคีนอกรอบของสองผู้นำเท่ากับศูนย์ In Focus สัปดาห์นี้ จึงเกาะติดการประชุมสุดยอด ASEAN ที่ส่อเค้าความยุ่งยากมาตั้งแต่ต้น ก่อนที่จะส่งไม้ต่อให้ไทยรับหน้าที่ประธานอาเซียนในปีหน้า
จับตาผู้นำหารือหลายประเด็นร้อน
การประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 33 ซึ่งสิงคโปร์เป็นเจ้าภาพมีขึ้นในช่วงเดียวกันกับที่แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประกาศถอดรางวัล "ทูตแห่งมโนธรรมสำนึก" รางวัลเกียรติยศด้านสิทธิมนุษยชนสูงสุดขององค์กร จากนางอองซาน ซูจี ที่ปรึกษาแห่งรัฐของเมียนมา เนื่องจากมองว่าเพิกเฉยต่อประเด็นผู้ลี้ภัยชาวมุสลิมโรฮิงญาในรัฐยะไข่ ทางตะวันตกของประเทศ ท่ามกลางการคาดการณ์ว่า วิกฤตผู้ลี้ภัยโรฮิงญาจะได้รับการหยิบยกขึ้นมาหารือกันในที่ประชุมครั้งนี้ รวมไปถึงการผลักดันให้เกิดกระบวนการส่งผู้อพยพกลับโดยสมัครใจขึ้นโดยเร็ว
ท่าทีความเคลื่อนไหวดังกล่าวมีขึ้นหลังรัฐบาลเมียนมาและบังกลาเทศเห็นพ้องที่จะเริ่มต้นกระบวนการส่งชาวโรฮิงญากลุ่มแรกจากค่ายผู้ลี้ภัยบังกลาเทศกลับประเทศ ตั้งแต่ช่วงกลางเดือนพฤศจิกายนเป็นต้นไป ขณะเดียวกันยังมีความเป็นไปได้ที่รัฐบาลเมียนมาจะขอความร่วมมือจาก 9 ประเทศสมาชิกอาเซียนในการดำเนินการแก้ไขปัญหาผู้ลี้ภัยอย่างเหมาะสม แม้ว่ากรอบความร่วมมือของกลุ่มประเทศอาเซียนจะวางอยู่บนฉันทามติ และหลักการไม่แทรกแซงกิจการภายในระหว่างกันก็ตาม หลังชาวโรฮิงญากว่า 7.2 แสนคนต้องอพยพจากรัฐยะไข่นับตั้งแต่กองทัพเมียนมาเปิดฉากปฏิบัติการกวาดล้างช่วงเดือนสิงหาคม ปี 2560 เพื่อตอบโต้กรณีกลุ่มติดอาวุธโจมตีป้อมตำรวจและหน่วยงานความมั่นคง ด้านสำนักข่าวเกียวโดรายงานอ้างแหล่งข่าวในที่ประชุมระบุว่า พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีของไทยกล่าวว่า "อาเซียนสามารถเข้าไปมีบทบาทสำคัญในการแก้ไขสถานการณ์ในรัฐยะไข่ด้วยมาตรการที่เป็นรูปธรรมและยั่งยืน"
นอกจากนี้ประเด็นด้านความมั่นคงทางทะเลในพื้นที่พิพาทยังเป็นวาระสำคัญในการประชุม โดยร่างเนื้อหาระบุว่า ทั้ง 10 ผู้นำทราบว่ามีความกังวลบางประการเกี่ยวกับการสร้างเกาะเทียมและการดำเนินกิจกรรมทางทหารของจีนในทะเลจีนใต้ ซึ่งทำให้ความไว้วางใจและความเชื่อมั่นลดลง อีกทั้งยังเพิ่มความตึงเครียดและอาจเป็นการบ่อนทำลายสันติภาพ เสถียรภาพและความมั่นคงในภูมิภาค" เนื่องจากรัฐบาลจีนและ 4 ประเทศในภูมิภาค ได้แก่ บรูไน, มาเลเซีย, ฟิลิปปินส์และเวียดนามต่างอ้างอธิปไตยเหนือพื้นที่พิพาทดังกล่าว
อย่างไรก็ดี จีนถือเป็นประเทศคู่ค้ารายใหญ่สุดกับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเมื่อไม่นานมานี้ ชาติสมาชิกอาเซียนทั้ง 10 ประเทศได้ร่วมกันพิจารณาถึงแนวทางที่จะร่วมมือในประเด็นเศรษฐกิจและความมั่นคงกับจีน ขณะที่นายหลี่ เค่อเฉียง นายกรัฐมนตรีจีนซึ่งมีกำหนดจะเข้าร่วมการประชุมดังกล่าว ระบุว่า รัฐบาลต้องการที่จะบรรลุการเจรจา "แนวปฏิบัติในทะเลจีนใต้" หรือ Code of Conduct กับอาเซียนภายใน 3 ปี เพื่อหลีกเลี่ยงการปะทะกันในทะเลจีนใต้
ด้วยการแก้ปัญหาของจีนเพื่อลดแรงเสียดทานกับหลายประเทศคู่กรณีในอาเซียนนั้น ผู้เชี่ยวชาญมองว่า รัฐบาลจีนภายใต้การนำของนายสี จิ้นผิง ประธานาธิบดีจีน จะพยายามลดบทบาทและการมีอิทธิพลของสหรัฐอเมริกาในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งเป็นที่ตั้งของเส้นทางเดินเรือที่คึกคักที่สุดในโลก และที่ผ่านมาจีนได้สร้างเกาะเทียมจำนวนมากขึ้นอย่างรวดเร็ว พร้อมโครงสร้างพื้นฐานทางทหาร ขณะที่สหรัฐส่งเรือรบแล่นเข้าใกล้เกาะพิพาทในทะเลจีนใต้ ตามปฏิบัติการ "เสรีภาพในการเดินเรือ" เพื่อท้าทายการดำเนินกิจกรรมและการอ้างกรรมสิทธิ์ของจีนเหนือพื้นที่ดังกล่าว
ส่วนในการประชุมสุดยอดผู้นำเอเชียตะวันออกของผู้นำ 16 ประเทศที่จะเกิดขึ้นในการประชุมอาเซียนครั้งนี้ ยังมีขึ้นในขณะที่สถานการณ์ความตึงเครียดระหว่างสหรัฐและจีน สองประเทศเศรษฐกิจที่มีขนาดใหญ่สุดในโลก กำลังทวีความตึงเครียดจากประเด็นความขัดแย้งด้านการดำเนินนโยบายตอบโต้ทางการค้า ท่ามกลางสายตาประชาคมโลกที่จับจ้องว่าทั้งสองประเทศจะสามารถเจรจาเพื่อปูทางไปสู่การปรับปรุงความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศได้หรือไม่ ก่อนหน้าที่การประชุมสุดยอดระดับทวิภาคีระหว่างนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีของสหรัฐ และนายสี จิ้นผิง ประธานาธิบดีของจีน จะเปิดฉากขึ้นที่การประชุมนอกรอบของการประชุมสุดยอด G20 ณ ประเทศอาร์เจนตินาในช่วงปลายเดือนนี้
สำหรับประเด็นปัญหานิวเคลียร์เกาหลีเหนือ มีความเป็นไปได้ที่ผู้นำประเทศสมาชิกอาเซียนจะแสดงจุดยืนถึงความจำเป็นในการร่วมมือกัน เพื่อผลักดันให้เกิดการบรรลุการปลดอาวุธนิวเคลียร์บนคาบสมุทรเกาหลีผ่านการเจรจา รวมถึงแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในประเด็นความร่วมมือด้านเศรษฐกิจและความมั่นคงในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก
รัสเซียเล็งกระชับสัมพันธ์ในภูมิภาคเอเชีย
การประชุมสุดยอดอาเซียนในครั้งนี้ยังเป็นที่จับตามอง จากการที่นายวลาดิเมียร์ ปูติน ประธานาธิบดีของรัสเซียเดินทางเข้าร่วมหารือเป็นครั้งแรก โดยมีจุดประสงค์เพื่อกระชับความสัมพันธ์กับประเทศในภูมิภาคเอเชียให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น หลังจากที่รัสเซียกำลังเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจตกต่ำจากมาตรการคว่ำบาตรระหว่างประเทศ เพื่อตอบโต้รัฐบาลรัสเซียต่อกรณีวิกฤตในยูเครน
นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า ประธานาธิบดีปูตินจะหารือกับนายชินโซ อาเบะ นายกรัฐมนตรีของญี่ปุ่นในการประชุมนอกรอบระหว่างการประชุมสุดยอดที่เกี่ยวข้องกับอาเซียน ในประเด็นข้อพิพาทเหนือดินแดน ที่ญี่ปุ่นอ้างอำนาจอธิปไตยเหนือเกาะ 4 เกาะ นอกชายฝั่งของเกาะฮอกไกโด ซึ่งญี่ปุ่นเรียกหมู่เกาะพิพาทดังกล่าวในชื่อว่า "ดินแดนทางเหนือ" ขณะที่รัสเซียเรียกเกาะเหล่านี้ว่า "คูริลใต้" ซึ่งสหภาพโซเวียตบุกเข้ายึดครองช่วงสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 ความไม่ลงรอยกันในประเด็นพิพาทเหนือดินแดนทำให้ญี่ปุ่นและรัสเซียปฎิเสธการลงนามในสนธิสัญญาสันติภาพหลังสงคราม
ทั้งนี้ ญี่ปุ่นและรัสเซียกำลังจะจัดการประชุมสุดยอดขึ้นเป็นครั้งแรก หลังจากที่เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา ผู้นำรัสเซียเสนอว่า ญี่ปุ่นและรัสเซียจะลงนามในสนธิสัญญาสันติภาพโดย "ปราศจากเงื่อนไขใด ๆ" ภายในสิ้นปี 2561 เพื่อยุติความขัดแย้งที่ดำเนินมาอย่างยาวนาน แต่ทางการญี่ปุ่นแย้งว่าควรตัดสินใจอย่างมีหลักการต่อประเด็นด้านดินแดน ก่อนการเจรจาเกี่ยวกับสนธิสัญญาสันติภาพระหว่างกัน
"ทรัมป์" เมินหารือ, สะท้อนสหรัฐปรับทิศทางนโยบาย?
ขณะที่ก่อนหน้านี้ทำเนียบขาวแถลงว่า ทรัมป์ จะไม่เข้าร่วมการประชุมสุดยอดผู้นำสหรัฐ-อาเซียนและการประชุมสุดยอดผู้นำเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่สิงคโปร์ แต่ไม่ได้ให้เหตุผลที่แน่ชัด ถือเป็นครั้งแรกในรอบ 5 ปีที่ผู้นำสหรัฐไม่เข้าร่วมหารือใน 2 เวทีดังกล่าว หลังจากที่เมื่อปี 2556 อดีตประธานาธิบดีบารัค โอบามา ส่งอดีตรองประธานาธิบดีโจ ไบเดน เข้าหารือแทน เนื่องจากรัฐบาลกำลังประสบภาวะชัตดาวน์ในขณะนั้น
ไมค์ เพนซ์ รองประธานาธิบดีสหรัฐจะปฏิบัติหน้าที่แทนผู้นำสหรัฐในภารกิจเยือนเอเชีย ด้วยพันธกิจสำคัญในการเน้นย้ำถึงยุทธศาสตร์ "อินโด-แปซิฟิก" ที่เสรีและเปิดกว้าง ซึ่งตั้งอยู่บนพื้นฐานของการเคารพอธิปไตย หลักนิติธรรม ตลอดจนหลักการของการค้าเสรี เป็นธรรมและสมประโยชน์ต่างตอบแทน ขณะที่หลายฝ่ายมองว่า รองประธานาธิบดีเพนซ์ต้องเผชิญกับความท้าทายในการย้ำความเชื่อมั่นกับชาติพันธมิตร ต่อทิศทางการดำเนินนโยบายต่างประเทศของสหรัฐที่มีต่อเอเชีย ท่ามกลางความแคลงใจที่เพิ่มขึ้นเกี่ยวกับความมุ่งมั่นและความคงเส้นคงวาของสหรัฐ
นักวิเคราะห์มองว่า การไม่ปรากฎตัวของทรัมป์ในที่ประชุมอาเซียนครั้งนี้ถือเป็นการเสียโอกาสและการคาดคะเนที่ผิดพลาด ในขณะที่สหรัฐและจีน กำลังต่อสู้เพื่อช่วงชิงอิทธิพลเหนือภูมิภาคที่เปรียบได้กับยุทธศาสตร์สำคัญของจีน โดยนายไบอัน ฮาร์ดิ้ง รองผู้อำนวยการโครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษาของศูนย์ยุทธศาสตร์และการศึกษาระหว่างประเทศ ระบุว่า "ทุกประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กำลังพยายามเสริมสร้างความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับรัฐบาลสหรัฐ เนื่องจากไม่ต้องการให้ภูมิภาคถูกครอบงำโดยจีน พวกเขาต้องการตัวเลือกและต้องการให้สมดุลทางอำนาจเกิดขึ้นในภูมิภาค"
สอดคล้องกับนายแอนโธนี นีลเส็น อดีตผู้อำนวยการสภาธุกิจสหรัฐอเมริกา-อาเซียนที่มองว่า "เป็นเรื่องน่าผิดหวังที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ไม่ได้แสดงเจตจำนงที่จะเข้าร่วมการประชุมครั้งนี้" และระบุว่า "รองประธานาธิบดีเพนซ์อาจจะสามารถพูดในสิ่งที่ถูกต้องได้ แต่ไม่อาจให้คำมั่นถึงข้อเสนอที่เป็นรูปธรรมได้"
อย่างไรก็ดี ทางการสหรัฐยืนยันว่าการที่ประธานาธิบดีทรัมป์ไม่เข้าร่วมประชุมครั้งนี้ไม่ได้เป็นการส่งสัญญาณถึงการลดความสำคัญต่อภูมิภาคนี้ลงแต่อย่างใด โดยรองประธานาธิบดีเพนซ์ได้ชี้แจงผ่านบทความในหนังสือพิมพ์เดอะ วอชิงตัน โพสต์ ก่อนหน้านี้ โดยระบุว่า ความมุ่งมั่นของสหรัฐต่อยุทธศาสตร์ "อินโด-แปซิฟิก" อย่างแน่วแน่และมั่นคง
สำหรับประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งมีประชากรประมาณ 10% ของประชากรโลกทั้งหมด ตั้งอยู่ท่ามกลางประเทศเพื่อนบ้านมหาอำนาจ อย่าง อินเดีย, จีน, เกาหลีใต้และญี่ปุ่น ขณะเดียวกันยังค่อนข้างอ่อนไหวต่อประเด็นภูมิรัฐศาสตร์ และมีแนวโน้มที่จะต้องรับมือกับการแข่งขันของชาติมหาอำนาจที่ต้องการคานอิทธิพลซึ่งกันและกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านการลงทุน ทั้งจากสหรัฐอเมริกาและจีน
ขณะที่อดีตเอกอัครราชทูตอินโดนีเซียประจำสหรัฐอเมริการะบุว่า ผู้นำในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กำลังส่งสัญญาณเตือนถึง "การแข่งขันด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่มีผลได้เสีย" ระหว่างสองประเทศมหาอำนาจ และภูมิภาคดังกล่าวไม่ต้องการถูกบังคับให้ต้องเลือกฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดด้วยเช่นกัน" แต่ปัจจุบันจะเห็นได้ว่า การลงทุนและบทบาททางการเมืองของสหรัฐในภูมิภาคนี้ลดน้อยถอยลงอย่างเห็นได้ชัด
ปมขัดแย้งญี่ปุ่น-เกาหลีใต้ระอุในที่ประชุมภูมิภาค
การประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งนี้ยังมีขึ้นในขณะที่ความสัมพันธ์ระหว่างญี่ปุ่น และเกาหลีใต้กำลังร้อนระอุ หลังจากที่ศาลสูงสุดของเกาหลีใต้พิพากษายืนตามคำตัดสินของศาลชั้นต้นที่สั่งให้บริษัท นิปปอน สตีล แอนด์ ซูมิโตโม่ เมทัล คอร์ป ผู้ผลิตเหล็กสัญชาติญี่ปุ่นจ่ายค่าชดเชยให้กับชาวเกาหลีใต้ 4 คนที่ตกเป็นแรงงานบังคับในช่วงที่ญี่ปุ่นปกครองประเทศ
สัญญาณความสัมพันธ์ทวิภาคีที่ตึงเครียดขึ้นส่งผลให้นายชินโซ อาเบะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น และนายมูน แจ อิน ประธานาธิบดีเกาหลีใต้ ไม่มีแนวโน้มว่าจะพบปะหารือกันนอกรอบการประชุมระดับภูมิภาค รวมถึงในที่ประชุมสุดยอดอาเซียนและที่ประชุมความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิกหรือเอเปค ซึ่งผู้นำทั้งสองมีกำหนดเข้าร่วมในเดือนนี้
แหล่งข่าวในกระทรวงการต่างประเทศญี่ปุ่นเปิดเผยว่า การประชุมสุดยอดระหว่างผู้นำญี่ปุ่นและเกาหลีใต้จะปราศจากความหมาย หากรัฐบาลเกาหลีใต้ยังไม่มีความเคลื่อนไหวที่แน่ชัดว่าจะตอบสนองต่อข้อวินิจฉัยของศาลในแนวทางใด
สรุป
อย่างไรก็ดี ยังคงต้องติดตามกันต่อไปว่า วาระการพูดคุยในหลากหลายประเด็นที่ได้รับการหยิบยกขึ้นมาพูดคุยระหว่างการประชุมทั้งในกรอบผู้นำชาติสมาชิกอาเซียน และกรอบความร่วมมือกับประเทศนอกกลุ่มอาเซียนว่าจะมีความคืบหน้าไปในทิศทางใด ซึ่งความเคลื่อนไหวและความท้าทายที่เกิดขึ้นในภูมิภาคยังถือเป็นบทพิสูจน์ความท้าทายที่รัฐบาลไทยจะต้องเผชิญและเตรียมความพร้อมรับมือ ในฐานะประธานอาเซียนในปีหน้าด้วยเช่นกัน