หลังจากสะบักสะบอมกับร่างข้อตกลงว่าด้วยการแยกตัวของอังกฤษออกจากสหภาพยุโรป (Brexit) มายาวนานถึง 2 ปี ในที่สุดเมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายนที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรีอังกฤษก็ได้มีมติผ่านร่างข้อตกลง Brexit ของนางเทเรซา เมย์ นายกรัฐมนตรีเป็นที่เรียบร้อย ทว่าร่างข้อตกลงดังกล่าวกลับไม่เป็นที่พอใจของรัฐมนตรีหลายฝ่าย จนเกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์และความแตกแยกทั้งภายในพรรครัฐบาลและรัฐสภา ขนาดถึงกับมีการเรียกร้องให้จัดการลงคะแนนไม่ไว้วางใจนายกฯหญิงแห่งเกาะอังกฤษให้พ้นจากตำแหน่ง In Focus สัปดาห์นี้ จึงขอพาผู้อ่านไปตรวจวัดอุณหภูมิการเมืองที่ร้อนระอุบนเกาะอังกฤษ พร้อมจับตาแนวโน้มล่าสุดก่อนที่ประชุมสุดยอดสหภาพยุโรป (EU) จะเปิดฉากลงมติร่างข้อตกลง Brexit ในวันที่ 25 พ.ย.นี้
ศึกในพรรคร้อนระอุ รัฐมนตรียกขบวนถอยทัพ
"การปลดดิฉันออกจากตำแหน่งไม่ได้ทำให้ร่างข้อตกลง Brexit ง่ายขึ้นแต่อย่างใด" นี่คือถ้อยแถลงของนางเทเรซา เมย์ นายกรัฐมนตรีหญิงเหล็กอีกคนแห่งเกาะอังกฤษ ที่เผยให้เห็นถึงมรสุมหลังการผ่านรับรองร่างข้อเสนอ Brexit จากคณะรัฐมนตรี แม้ว่าร่างฉบับดังกล่าวจะปูทางให้อังกฤษคงไว้ซึ่งความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับ EU ตลอดจนปกป้องการค้า และไม่ก่อให้เกิดสถานการณ์ตึงเครียดบริเวณชายแดนระหว่างสาธารณรัฐไอร์แลนด์และไอร์แลนด์เหนือ รวมถึงจะยังให้ความสำคัญกับผลการลงประชามติเรื่อง Brexit ปี 2559 แต่ดูเหมือนว่าความพยายามดังกล่าวจะไม่ได้รับเสียงเห็นชอบจากบรรดารัฐมนตรีที่ร่วมสนับสนุนแนวทางเดียวกันเสียเท่าไร มิหนำซ้ำยังกระพือความโกรธาตลบอบอวล
กระแสความไม่พอใจจากสมาชิกพรรคอนุรักษ์นิยมที่มีต่อร่างข้อตกลง Brexit โหมสะพัดไปทั่วบ้านเลขที่ 10 บนถนนดาวนิ่ง กรุงลอนดอน บรรดารัฐมนตรีหลายคนตบเท้าลาออกเพื่อแสดงการต่อต้านร่างข้อตกลงที่เป็นปัญหา จนเกิดเสียงเรียกร้องให้มีการลงคะแนนไม่ไว้วางใจนางเมย์ โดยรัฐมนตรีคนแรกที่ประกาศลาออก คือ นายโดมินิก ราบบ์ รัฐมนตรีฝ่ายกิจการ Brexit หัวหอกคนสำคัญ โดยระบุว่า "ตนไม่สามารถปฏิบัติตามเงื่อนไขในข้อตกลง Brexit ของนางเมย์ได้ เนื่องจากไม่สอดคล้องกับคำสัญญาที่พรรคอนุรักษ์นิยมให้ไว้แก่ประชาชนในการเลือกตั้งปีที่แล้ว"
ยังไม่ทันข้ามวันดี นางเอสเธอร์ แมคเวย์ รัฐมนตรีฝ่ายกิจการบำนาญของอังกฤษ กระโดดลงจากนาวารัฐขึ้นฝั่งเป็นรายที่ 2 พร้อมชี้แจงเหตุผลว่า "ดิฉันไม่สามารถให้การรับรองข้อตกลงฉบับนี้ได้ ซึ่งถ้าดิฉันทำลงไป ก็จะไม่สามารถมองหน้าผู้ที่ลงคะแนนให้ดิฉันได้ ดิฉันจึงไม่มีทางเลือกอื่น นอกจากต้องลาออกจากรัฐบาล" สถานการณ์ภายในพรรคปรากฎรอยร้าวลึกอย่างไม่หยุดหย่อน เมื่อรัฐมนตรีพรรคอนุรักษ์นิยมประกาศลาออกเพิ่มอีก 2 ราย รวมทั้งสิ้นเป็น 4 ราย ภายในระยะเวลาเพียง 24 ชั่วโมง ได้แก่ นางซูเอลลา เบรเวอร์แมน รัฐมนตรีช่วยฝ่ายกิจการ Brexit และนางแอน-มารี เทรเวลแยน รัฐมนตรีช่วยศึกษาธิการ
ความไม่พอใจของเหล่ารัฐมนตรีมีสาเหตุมาจากการทำลายคำมั่นสัญญาว่าด้วยข้อตกลง Brexit ภายในพรรค ที่มีการผ่อนปรนมากจนเกินไปและไม่ได้บ่งชี้ถึงการแยกตัวอย่างเด็ดขาดจาก EU ตามที่พรรคต้องการ เก้าอี้นางเมย์ในบ้านหมายเลขที่ 10 สั่นคลอนจวนจะล้มครืนอีกครั้ง เมื่อสมาชิกพรรคเรียกร้องให้มีการลงมติไม่ไว้วางใจต่อตัวเธอ โดยกระบวนการนำไปสู่การโหวตทางรัฐสภาเพื่อลงมติการไม่ไว้วางใจนายกฯอังกฤษนั้น ส.ส.ต้องยื่นจดหมายเพื่อให้จัดการลงมติไม่ไว้วางใจถึง 48 คน เท่าที่ผ่านมา พบว่ามีการยื่นหนังสือจำนวน 20 ฉบับเป็นอย่างน้อยที่ถูกเปิดเผยสู่สาธารณะ และมีการคาดเดาว่า อาจมีหนังสืออีกจำนวนหนึ่งที่ยังไม่ได้มีการเปิดเผย
ทั้งนี้ การแสดงจุดยืนอันแข็งกร้าวด้วยการประกาศการลาออกของรัฐมนตรีเหล่านี้ ส่งผลให้บรรยากาศการซื้อขายในตลาดหุ้นและตลาดปริวรรตเงินตราเกิดความผันผวนอย่างหนัก เงินปอนด์ดิ่งร่วงติดต่อกันหลายวัน นักลงทุนวิตกกังวลเกี่ยวกับภาวะไร้เสถียรภาพทางการเมืองในอังกฤษ และหวั่นว่า จะเกิดโอกาสที่อังกฤษจะตกอยู่ในภาวะไร้ซึ่งข้อตกลง (No-deal Brexit) หากการประชุมสภาสามัญชนในเดือนหน้าคว้าน้ำเหลว
ไม่เพียงแต่คลื่นใต้น้ำที่ก่อกวนบรรยากาศภายในพรรครัฐบาล ร่างข้อตกลงฉบับดังกล่าวยังเผชิญกับเสียงคัดค้านจากเหล่ารัฐมนตรีที่เซ็งแซ่ไปทั่วห้องประชุมรัฐสภา รัฐมนตรีจากพรรคฝ่ายค้านและรัฐมนตรีจากประเทศสมาชิกในสหราชอาณาจักร ซึ่งประกอบไปด้วย ไอร์แลนด์เหนือและสกอตแลนด์ ส่งเสียงไม่เห็นด้วยกับร่างปัญหาดังกล่าวแกมไม่พอใจที่ถูกหักหลังอย่างเจ็บแสบ ขนาดถึงประกาศเตรียมโหวตคัดค้านร่างฉบับดังกล่าวในการประชุมสภาสามัญชนเดือนหน้า
นายเจเรมี คอร์บิน หัวหน้าพรรคฝ่ายค้านจากพรรคแรงงาน แสดงความเห็นว่า ร่างข้อตกลงฉบับฉบับดังกล่าวเป็น "ความเสียหายและความล้มเหลวครั้งยิ่งใหญ่" และเป็น "ข้อตกลงที่ไม่เรียบร้อย" เขาไม่คิดว่าข้อตกลงนี้จะก่อให้เกิดประโยชน์แก่ประเทศชาติเพราะไม่ใช่ความต้องการของทุกภาคส่วนในอังกฤษ และยิ่งไปกว่านั้น ร่างข้อตกลงฉบับนี้ยังไม่ผ่านข้อเสนอทั้ง 6 ประการของพรรคแรงงานที่ต้องการออกจากสหภาพยุโรปด้วยวิธีการที่อ่อนข้อ (Soft Brexit) มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้
แม้แต่นางอาร์ลีน ฟอสเตอร์ หัวหน้าพรรคสหภาพประชาธิปไตย (Democratic Unionist Party หรือ DUP) ผู้สนับสนุนตัวยงในการลงมติเห็นชอบของรัฐบาลอังกฤษมาโดยตลอด กลับประนามการตัดสินใจของนางเมย์ครั้งนี้ว่าเป็นการ "ผิดสัญญา" ที่เคยให้ไว้ พร้อมระบุว่าจะไม่สนับสนุนข้อตกลงใดก็ตามที่ปฏิบัติกับไอร์แลนด์เหนืออย่างแตกต่างไปจากดินแดนอื่นๆของสหราชอาณาจักร ไม่มีกลุ่มสหภาพนิยมคนไหนที่ต้องการจะสนับสนุนให้เกิดสถานการณ์ดังกล่าว
ขณะเดียวกันด้านนางนิโคลา สเตอร์เจีย นายกรัฐมนตรีสกอตแลนด์ หัวหน้าพรรคชาตินิยมสกอตแลนด์ (SNP) ให้ความเห็นว่า พรรคของเธอพร้อมออกเสียงคว่ำร่างข้อตกลงฉบับนี้อย่างแน่นอน เนื่องจากร่างข้อตกลงมีข้อบกพร่องมากมาย รวมถึงไม่มีการระบุอย่างชัดเจนเกี่ยวกับอนาคตของอังกฤษและสหภาพยุโรป เธอชี้ว่า "ดิฉันคิดว่าเป็นความผิดพลาดและการไร้ซึ่งความรับผิดชอบโดยสิ้นเชิงสำหรับสภาสามัญชนอังกฤษในการที่จะอนุมัติร่างนี้"
แม้ว่าความแตกแยกภายในพรรคและในสภาดูท่าจะบานปลาย แต่ภาคธุรกิจของอังกฤษกลับมีท่าทีที่เป็นบวกต่อร่างข้อตกลง Brexit ฉบับที่มีความประนีประนอมสำหรับภาคธุรกิจ ซึ่งจะสร้างความเชื่อมั่นและเสถียรภาพสำหรับการตัดสินใจของภาคธุรกิจและภาคเศรษฐกิจ และช่วยให้อังกฤษผ่านพ้นวิกฤตที่ปราศจากข้อตกลงไปได้ รวมถึงหายนะที่อาจจะเกิดขึ้นกับภาคอุตสาหกรรมต่างๆ
นายเจอร์เกน ไมย์เออร์ ผู้บริหารของบริษัทซีเมนส์ อังกฤษ ระบุว่า "แม้ข้อตกลงดังกล่าวจะไม่ใช่ข้อตกลงในอุดมคติ แต่ก็ยังดีกว่าการที่อังกฤษตกอยู่ในภาวะไร้ซึ่งข้อตกลง" ซึ่งสอดคล้องกับทิศทางของ นายมาร์ค คาร์นีย์ ผู้ว่าการธนาคารอังกฤษที่ออกโรงหนุนข้อตกลงฉบับดังกล่าวที่ตนเองมองว่า จะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจอังกฤษ
หากย้อนกลับมาดูประเด็นในร่างข้อตกลง Brexit ที่พัดพาคลื่นมรสุมการเมืองอังกฤษระลอกใหม่ ซึ่งมีรายละเอียดยาวกว่า 585 หน้า และยังระบุชัดเจนถึงความสัมพันธ์ในอนาคตระหว่างสหราชอาณาจักรและ EU หลังการแยกตัวในช่วงเดือนมีนาคม 2562 พบว่า มีข้อสำคัญดังนี้
ประการแรก สหราชอาณาจักรจะสิ้นสุดการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรปในวันที่ 29 มีนาคม 2562 แต่ระยะเวลาเข้าสู่ช่วงเปลี่ยนผ่านจะดำเนินไปจนถึงเดือนธันวาคมปี 2563 ในระหว่างนี้ อังกฤษจะยังคงอยู่ภายใต้กฎระเบียบของ EU แต่อังกฤษจะไม่มีสิทธิออกเสียงหรือลงคะแนนต่อมติ โดยช่วงเวลาเปลี่ยนผ่านดังกล่าวจะยาวนานเพียงพอที่จะให้ทั้ง 2 ฝ่ายสามารถเจรจาเกี่ยวกับความสัมพันธ์ในอนาคต รวมถึงการเจรจาข้อตกลงทางการค้าแบบถาวรระหว่างอังกฤษและ EU ได้
ประการที่สอง หนึ่งในสาเหตุหลักที่ทำให้อังกฤษกับ EU ยังไม่สามารถบรรลุข้อตกลงระหว่างกัน คือ ปัญหาพรมแดนระหว่างไอร์แลนด์เหนือ ซึ่งเป็นดินแดนส่วนหนึ่งของสหราชอาณาจักร กับสาธารณรัฐไอร์แลนด์ รัฐสมาชิกของสหภาพยุโรป ทั้งสองฝ่ายพยายามหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิด Hard Border หรือพรมแดนที่มีการตั้งด่านตรวจคนเข้าเมืองและด่านตรวจศุลกากร ด้วยการอาศัยนโยบาย Backstop หรือนโยบายที่ทั้งสองฝ่ายใช้ระบบศุลกากรร่วมกัน ครอบคลุมสินค้าเกือบทุกชนิด ยกเว้นสินค้าประมง ซึ่งหมายถึงการมอบอำนาจในการกำหนดอัตราภาษีขาเข้าให้กับสหภาพยุโรปหลังแยกตัวไปแล้ว
ประการที่สาม ข้อตกลงยังระบุถึงการคุ้มครองสิทธิในด้านความปลอดภัยของพลเมืองสหภาพยุโรปในสหราชอาณาจักรกว่า 3 ล้านคน รวมถึงพลเมืองสหราชอาณาจักรที่อาศัยอยู่ในยุโรปกว่า 1 ล้านคนก็จะได้รับการปฏิบัติที่คล้ายคลึงกัน
ประการที่สี่ รัฐบาลอังกฤษจำต้องจ่ายเงินชดเชยสำหรับแยกทางกับสหภาพยุโรปสูงถึง 50 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
ก่อนที่การประชุมสุดยอด EU เพื่อหารือเกี่ยวกับร่างข้อตกลง Brexit ของนางเมย์ จะเปิดฉากขึ้นในวันอาทิตย์นี้ หลายฝ่ายที่มีส่วนเกี่ยวข้องและได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ Brexit ต่างก็ออกมาแสดงความคิดเห็นที่ต่างกันออกไป ประเทศสมาชิกบางส่วนมีท่าทีเป็นบวกต่อร่างข้อตกลง แต่จะไม่ยอมผ่อนปรนให้มีการเจรจารอบสอง ขณะที่บางประเทศชี้ว่าร่างฉบับดังกล่าวยังขาดความชัดเจนในประเด็นสำคัญบางประการ
นายมิเชล บาร์นิเยร์ ตัวแทนเจรจาฝ่าย EU เผยว่าหลังบรรยายสรุปต่อรัฐมนตรีทั้ง 27 ชาติ สมาชิกส่วนใหญ่ให้การสนับสนุนร่างข้อตกลงฉบบนี้ พร้อมแสดงความเห็นว่า "มีความเป็นธรรมและมีความสมดุล" โดยมีเนเธอร์แลนด์รวมถึงประเทศคู่ค้าของอังกฤษให้การสนับสนุนข้อตกลงฉบับบนี้และคาดหวังจะสานสัมพันธ์ที่ดีในอนาคตกับอังกฤษต่อไป
ด้านมหาอำนาจยักษ์ใหญ่ของยุโรปอย่างเยอรมนีแสดงความกระอักกระอ่วนที่จะจัดการเจราขึ้นอีกครั้ง และยืนยันว่าอังกฤษจำเป็นต้องเตรียมพร้อมรับมือต่อภาวะไร้ซึ่งข้อตกลง นายมิคาเอล รอธ รัฐมนตรีต่างประเทศเยอรมนี แสดงความเห็นว่า "คงไม่มีร่างข้อตกลงใดที่ดีต่ออังกฤษมากไปกว่าร่างข้อตกลงที่ส่งมาอยู่บนโต๊ะฉบับนี้"
อย่างไรก็ดี เสียงวิจารณ์จากบางประเทศเรียกร้องให้มีการลงรายละเอียดเพิ่มเติมต่อประเด็นที่อาจเป็นชนวนข้อพิพาทระหว่างประเทศ ด้านฝรั่งเศสเตรียมผลักดันให้สหภาพยุโรปออกแถลงการณ์อย่างเป็นทางการเพื่อเพิ่มรายละเอียดในบางประเด็น เช่น สิทธิในการทำประมง และการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม นางนาตาลี ลัวโซ รัฐมนตรีฝ่ายกิจการยุโรปของฝรั่งเศส ย้ำว่า "เราจะให้ความสนใจอย่างใกล้ชิดกับแถลงการณ์ทางการเมืองฉบับนี้ที่มีความเกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ในอนาคตของฝรั่งเศส-อังกฤษ รวมถึงการค้าที่เป็นธรรมและการเข้าถึงน่านน้ำอังกฤษของกลุ่มชาวประมง"
ขณะที่ทางฝั่งสเปนขู่ที่จะโหวตคัดค้าน Brexit สืบเนื่องมาจากปัญหาความขัดแย้งเรื่องพื้นที่บริเวณช่องแคบยิบรอลตาของอังกฤษ และยืนกรานว่าจะตกลงกันผ่านการพูดคุยโดยตรงระหว่างสเปนกับอังกฤษเท่านั้น
ด้านนักวิเคราะห์อย่างนายวิน ธิน ประธานกลฝ่ายกลยุทธ์ค่าเงินสากลของธนาคา บราวน์ บราเธอร์ แฮรริแมน กลับมองแนวโน้มจากสถานการณ์ล่าสุดว่า "ไม่ว่าอังกฤษและ EU จะตกลงเห็นพ้องอะไรกัน ร่างฉบับดังกล่าวก็มีท่าที่จะไม่ผ่านการประชุมภายในประเทศ โอกาสที่อังกฤษจะออกจาก EU โดยปราศจากข้อตกลงนั้นเพิ่มสูงขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ"
ทั้งนี้ ยังไม่มีใครทราบถึงบทสรุปตอนจบของร่างฉบับนี้ว่า จะดำเนินต่อไปในทิศทางใด หรือการประชุมสุดยอด EU ปลายสัปดาห์นี้จะออกมาในรูปแบบไหน อังกฤษจะเดินออกจาก EU อย่างละมุนละม่อม หรือต้องลาขาดจากอียูแบบไร้ข้อตกลง เราคงจะต้องจับตารอดูกันต่อไปไม่ให้คลาดสายตา