In Focusย้อนรอยภัยพิบัติทั่วโลกปี 2561 บทสะท้อนปัญหาโลกร้อนจากธรรมชาติและมนุษย์

ข่าวต่างประเทศ Thursday December 6, 2018 11:39 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ปีนี้ เป็นปีที่มีภัยพิบัติเกิดขึ้นมากมาย และหลายๆ ครั้งก็รุนแรงกว่าภัยพิบัติที่มักจะเกิดขึ้นในปีที่ผ่านๆมา ไม่ว่าจะเป็นแผ่นดินไหว ภูเขาไฟระเบิด วาตภัย และอุทกภัย ซึ่งเกิดขึ้นจากธรรมชาติ แต่บางเหตุการณ์ เช่น คลื่นความร้อน (Heat Wave) ที่ทำให้อุณหภูมิสูงผิดปกติรวมถึงทำให้อากาศแห้งแล้ง ส่งผลให้เกิดไฟป่าในบางพื้นที่ รวมถึงสภาพอากาศแห้งแล้งอย่างยาวนานจนนำมาซึ่งพายุฝุ่นในออสเตรเลียและอินเดียที่รุนแรงกว่าปกตินั้น แม้จะเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจากธรรมชาติ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่ามนุษย์เรามีส่วนทำให้เหตุการณ์เหล่านี้ร้ายแรงขึ้นกว่าเดิม In Focus จะพาย้อนรอยเหตุภัยพิบัติต่างๆ ที่เกิดขึ้นในปีนี้ ทั้งที่เกิดจากธรรมชาติ และที่มนุษย์มีส่วนทำให้เลวร้ายลง

*แผ่นดินไหว – ภัยเงียบที่ไม่มีสัญญาณเตือน

แผ่นดินไหวเกิดจากการเคลื่อนที่ของเปลือกโลก โดยมากมักจะเกิดบริเวณที่มีรอยเลื่อนของแผ่นเปลือกโลก ซึ่งทำให้บริเวณที่มีรอยเลื่อนขนาดใหญ่อยู่มากอย่างเช่น วงแหวนไฟ (Ring of Fire) เกิดแผ่นดินไหวบ่อยครั้ง และในปีนี้ ญี่ปุ่น และ อินโดนีเซียซึ่งตั้งอยู่ในแนววงแหวนไฟก็ได้รับผลกระทบจากเหตุแผ่นดินไหวอย่างมาก

ญี่ปุ่น

วันที่ 9 เม.ย. แผ่นดินไหวขนาด 6.1 แมกนิจูด ส่งผลให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บ 3 ราย และสิ่งก่อสร้างบางส่วนเสียหาย

วันที่ 18 มิ.ย. ญี่ปุ่นเผชิญแผ่นดินไหวขนาด 6.1 แมกนิจูดที่โอซากา ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 4 ราย บาดเจ็บกว่า 300 ราย วันที่ 6 ก.ย. เกิดเหตุแผ่นดินไหวขนาด 6.7 แมกนิจูดที่เกาะฮอกไกโด ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 44 ราย และบาดเจ็บกว่า 660 รายและยังทำให้เกิดไฟไหม้โรงงานของบริษัท มิตซูบิชิ สตีล รวมทั้งโรงงานของบริษัทโตโยต้า มอเตอร์ และร้านค้าอีกหลายร้อยแห่งต้องหยุดทำการชั่วคราว

อินโดนีเซีย

เกาะลอมบอก ได้เกิดแผ่นดินไหวรุนแรงขึ้นหลายต่อหลายครั้งในช่วงปลายเดือนก.ค.จนถึงกลางเดือนส.ค. โดยเริ่มครั้งแรกเมื่อวันที่ 29 ก.ค. เกิดแผ่นดินไหวขนาด 6.4 แมกนิจูด ตามมาด้วยวันที่ 5 ส.ค.เกิดแผ่นดินไหวขนาด 7.0 แมกนิจูด รวมถึงมีอาฟเตอร์ช็อกอีก 593 ครั้ง และชุดสุดท้ายในวันที่ 20 ส.ค. เกิดแผ่นดินไหวขนาด 6.9 แมกนิจูด และ 6.3 แมกนิจูด รวมถึงยังเกิดอาฟเตอร์ช็อกตามมาอีกอย่างน้อย 22 ครั้ง

เมื่อวันที่ 30 ส.ค. รัฐบาลอินโดนีเซียได้ประกาศฟื้นฟูบูรณะพื้นที่บนเกาะลอมบอก โดยมีตัวเลขผู้เสียชีวิตจากแผ่นดินไหวครั้งนี้อย่างน้อย 560 ราย บาดเจ็บกว่า 7,000 ราย บ้านเรือนเสียหาย 83,392 หลัง และอาคารอื่นๆ จำนวน 3,540 แห่ง และทำให้ประชาชน 396,032 คนไร้ที่อยู่อาศัย คิดเป็นมูลค่าความเสียหายทางเศรษฐกิจ 7.7 ล้านล้านรูเปียห์ (528 ล้านดอลลาร์) ซึ่งการฟื้นฟูเกาะครั้งนี้คาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 6 เดือน

เมืองสุลาเวสี เกิดแผ่นดินไหวขนาด 7.7 แมกนิจูดขึ้นที่สุลาเวสี และมีการประกาศเตือนสึนามิ อย่างไรก็ตามสำนักงานอุตุนิยมวิทยา ภูมิอากาศวิทยา และธรณีฟิสิกส์ ของอินโดนีเซียได้ปรับลดความแรงของแผ่นดินไหวดังกล่าวลงเหลือ 7.5 แมกนิจูดและยกเลิกประกาศเตือนสึนามิ

แม้ว่า จะมีการปรับลดความแรงของแผ่นดินไหว แต่ในเวลาต่อมาได้เกิดคลื่นสึนามิซัดถล่มเมืองต่างๆ บนเกาะสุลาเวสี โดยบางลูกมีความสูงถึง 6 เมตร รวมถึงเกิดอาฟเตอร์ช็อกตามมาอีกหลายครั้งส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 2,073 ราย สูญหายกว่า 5,000 ราย และไร้ที่อยู่อาศัยประมาณ 87,000 ราย

*ภูเขาไฟระเบิด – ภัยร้ายที่ยากจะป้องกัน

ภูเขาไฟระเบิดนั้น จัดเป็นภัยพิบัติที่ทำนายล่วงหน้าได้ยาก เนื่องจากบางครั้งเป็นการระเบิดที่ไม่มีการเตือนล่วงหน้า และในภูเขาไฟบางแห่ง จะมีการปะทุเล็กๆ น้อยๆ เป็นเรื่องปกติ ทำให้ผู้คนบริเวณภูเขาไฟเกิดความเคยชิน

เมื่อวันที่ 4 มิ.ย. ภูเขาไฟวัลแคน เดอ ฟูโกของกัวเตมาลาเกิดการปะทุขึ้นอย่างรุนแรง โดยพ่นเถ้าถ่านและลาวาไหลท่วมหมู่บ้านหลายแห่ง เถ้าถ่านและลาวาที่ไหลออกมามีความร้อนพุ่งสูงถึง 700 เซลเซียส (1,300 องศาฟาห์เรนไฮต์) ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 99 ราย สูญหายเกือบ 200 ราย และทำให้ประชาชนกว่า 3,300 รายต้องอพยพออกจากที่อยู่อาศัย การปะทุของภูเขาไฟลูกนี้นับเป็นภัยพิบัติที่ร้ายแรงที่สุดในรอบกว่า 100 ปีของกัวเตมาลา

*พายุและอุทกภัย – ภัยพิบัติที่ป้องกันไม่ง่าย

ขณะที่โลกเราเผชิญกับพายุมาโดยตลอด และเกือบทั้งหมดสามารถพยากรณ์ได้ล่วงหน้า รวมถึงระบุได้ถึงความรุนแรงที่อาจเกิดขึ้น รวมถึงวิธีบรรเทาความเสียหายที่เกิดขึ้น แต่ไม่ว่าจะอย่างไร มนุษย์ก็ทำได้แค่บรรเทาความเสียหาย แต่ไม่สามารถป้องกันความเสียหายได้ อย่างเช่นในปีนี้

พายุ "พระพิรุณ" พัดกระหน่ำญี่ปุ่นช่วงต้นเดือน ก.ค. ส่งผลให้มีฝนตกลงมาอย่างหนักนำมาซึ่งน้ำท่วมและดินถล่มในทางภาคตะวันตกของญี่ปุ่นคร่าชีวิตผู้คนไปถึง 223 ราย จากนั้นเดือนก.ย.ญี่ปุ่นต้องเผชิญกับพายุไต้ฝุ่น "เชบี" เข้าพัดถล่มชายฝั่งตะวันตกของญี่ปุ่นอีกครั้ง นับเป็นพายุไต้ฝุ่นที่มีความรุนแรงมากที่สุดในรอบ 25 ปี ซึ่งส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 10 ราย บาดเจ็บอีก 300 ราย และสนามบินคันไซเสียหายอย่างหนัก และสุดท้ายวันที่ 1 ต.ค. พายุไต้ฝุ่น "จ่ามี" ได้พัดถล่มเกาะฮอนชูของญี่ปุ่น ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 4 ราย และบาดเจ็บ 200 ราย ส่งผลให้ภาคขนส่งมวลชนหยุดให้บริการในพื้นที่ตอนกลาง ตะวันออก และตะวันตกของญี่ปุ่น

พายุไต้ฝุ่นเซินตินห์ก็เป็นพายุอีกลูกที่ได้พัดขึ้นฝั่งที่ทางเหนือของเวียดนามเมื่อวันที่ 23 ก.ค. ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 32 ราย สูญหาย 17 ราย อาคารและบ้านเรือนกว่า 5,000 หลังเสียหาย และพื้นที่เกษตรประมาณ 100,000 เฮกตาร์จมอยู่ใต้น้ำ

ฟิลิปปินส์ เผชิญซูเปอร์พายุไต้ฝุ่น "มังคุด" ความเร็วลมสูงสุด 330 กิโลเมตร/ชั่วโมง พัดถล่มเกาะลูซอนทางตอนเหนือของฟิลิปปินส์ ในวันที่ 15ก.ย. ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 81 ราย สูญหาย 70 ราย

ขณะที่อินเดียเผชิญอุทกภัยครั้งเลวร้ายที่สุดในรอบ 100 ปี ในรัฐเกรละ หลังมีฝนตกลงมาอย่างหนักติดต่อกัน โดยมีปริมาณน้ำฝนมากกว่าปกติถึง 75% นับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่ทางการอินเดียสั่งเปิดระบายน้ำในเขื่อนพร้อมกัน 35 แห่งจากเขื่อนทั้งหมด 54 แห่งในรัฐ ทำให้เกิดมวลน้ำปริมาณมหาศาลท่วมพื้นที่ในรัฐเกรละ ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 483 ราย สูญหายอีก 14 ราย และคิดเป็นความเสียหายต่อทรัพย์สินประมาณ 5.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

ภัยพิบัติเหล่านี้ ล้วนเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจากธรรมชาติ ซึ่งมนุษย์อาจมีส่วนทำให้รุนแรงขึ้นในทางอ้อม อย่างไรก็ตาม ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา โลกเรากำลังเผชิญกับภาวะโลกร้อน อันเกิดจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Greenhouse Gas) ที่มากเกินไป ทำให้อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกสูงขึ้น ส่งผลให้อากาศแปรปรวน และทำให้ภัยพิบัติบางประเภททวีความรุนแรงขึ้นโดยตรง ดังนี้

*คลื่นความร้อน – ภัยธรรมชาติที่รุนแรงเพราะมนุษย์

ญี่ปุ่นเผชิญกับคลื่นความร้อนที่สูงเป็นประวัติการณ์ในปีนี้ โดยทำสถิติสูงสุด 41.1 องศาเซลเซียสที่เมืองคุมากายะของจังหวัดไซตามะเมื่อวันที่ 23 ก.ค. และเมื่อนับรวมผู้เสียชีวิตจากคลื่นความร้อนทำให้มีผู้เสียชีวิตรวม 125 ราย และต้องนำตัวส่งโรงพยาบาลถึง 57,534 ราย นอกจากนี้จากจำนวนผู้เสียชีวิตทั้งหมดพบว่า 85.4% เป็นผู้ที่มีอายุมากกว่า 60 ปี

ขณะที่เกาหลีใต้ก็เผชิญคลื่นความร้อนที่สูงเป็นประวัติการณ์ด้วยเช่นกัน โดยในปีนี้ อุณหภูมิพุ่งแตะ 41 องศาเซลเซียสในวันที่ 1 ส.ค. ซึ่งส่งผลให้มีตัวเลขการเสียชีวิตสูงที่สุดนับแต่ปี 2554 โดยมีผู้เสียชีวิตอย่างน้อน 42 ราย

ข้ามมาทางฝั่งยุโรป หลายประเทศเผชิญกับคลื่นความร้อนที่ทำให้อุณหภูมิเฉลี่ยสูงขึ้นกว่าปกติ โดยอากาศที่ร้อนและแห้งส่งผลให้เกิดไฟป่าในโปรตุเกสและกรีซ ขณะที่สเปนมีผู้เสียชีวิต 9 รายจากคลื่นความร้อน ขณะที่ในอิตาลีมีผู้เสียชีวิต 8 ราย ถนนบางแห่งในเนเธอร์แลนด์ละลาย และฝรั่งเศสต้องปิดเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ 4 แห่งในประเทศเนื่องจากอุณหภูมิน้ำที่นำมาหล่อเย็นเตาปฏิกรณ์นั้นสูงเกินไป

*ไฟป่า – ภัยธรรมชาติ หรือภัยจากมนุษย์

เมื่อวันที่ 10 พ.ย. ได้เกิดไฟป่าขึ้นหลายจุดในแคลิฟอร์เนีย โดย 3 วันให้หลัง รัฐบาลสหรัฐได้ประกาศให้แคลิฟอร์เนียเป็นพื้นที่ประสบภัยพิบัติ และเจ้าหน้าที่สามารถควบคุมไฟป่าได้ในวันที่ 26 พ.ย. หลังจากลุกลามเป็นเวลานานกว่า 2 สัปดาห์ โดยเหตุการณ์ครั้งนี้นับเป็นไฟป่าที่รุนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ของแคลิฟอร์เนีย มีผู้เสียชีวิต 88 ราย สูญหายกว่า 200 ราย

นายเจอร์รี บราวน์ ผู้ว่าการรัฐแคลิฟอร์เนีย ระบุว่า การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศเป็นสาเหตุสำคัญของการเกิดไฟป่า ขณะที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ระบุว่า ไฟป่าในแคลิฟอร์เนียเป็นผลจากการจัดการที่ไม่ดี

*พายุฝุ่น – เหตุการณ์เดิมๆ เพียงแต่ไม่เหมือนเดิม

อินเดีย

เฉพาะในปี 2561 เพียงปีเดียว มีพายุฝุ่นที่รุนแรงประมาณ 50 ครั้ง ใน 16 รัฐทั่วประเทศ ทำให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 500 ราย ซึ่งเพิ่มขึ้นจากเดิมอย่างมหาศาล โดยในระหว่างปี 2546 – 2550 นั้น มีพายุเกิดขึ้นเพียง 22 ครั้งเท่านั้น

ครั้งร้ายแรงที่สุดในปีนี้คือเมื่อต้นเดือนพ.ค.ที่พายุฝุ่นพัดถล่มภาคเหนือของอินเดียทำให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 100 ราย อาคารบ้านช่องถล่มพังลงมา พืชผลเสียหาย และเที่ยวบินถูกยกเลิก ซึ่งคิดเป็นมูลค่าความเสียหายทางเศรษฐกิจกว่า 2.3 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ นอกจากนี้พายุฝุ่นที่เกิดขึ้นยังนำมาซึ่งปัญหาสุขภาพเนื่องจากมลพิษทางอากาศ

ออสเตรเลีย

เมื่อวันที่ 21 ก.พ. เกิดพายุฝุ่นความเร็วลมประมาณ 96 กิโลเมตรต่อชั่วโมง พัดถล่มเมืองชาร์ลวิลล์ และทำให้บริเวณสนามบินมีทัศนวิสัยหลือเพียง 200 เมตร อย่างไรก็ตามเหตุพายุฝุ่นในเมืองนี้เป็นเพียงเหตุปกติที่เกิดขึ้นเป็นประจำทุกๆ ปีอยู่แล้ว

วันที่ 22 พ.ย. ได้มีพายุฝุ่นขนาดความกว้าง 500 กิโลเมตร พัดถล่มหลายพื้นที่ในภาคตะวันออกเฉียงใต้ของออสเตรเลีย โดยทำให้เกิดเที่ยวบินดีเลย์ในนครซิดนีย์ และหลายพื้นที่ในรัฐนิวเซาท์เวลส์มีทัศนวิสัยแย่ อย่างไรก็ตามเหตุการณ์ครั้งนี้ยังไม่ร้ายแรงเท่าเหตุพายุฝุ่นพัดถล่มออสเตรเลียในปี 2552 โดยในครั้งนั้น พายุมีกระแสลมแรงถึง 100 กิโลเมตรต่อชั่วโมงได้พัดพาเอาฝุ่นสีแดงจากภาคกลางของออสเตรเลียมายังชายฝั่งตะวันออกของประเทศ และส่งผลให้ท่าอากาศยานซิดนีย์ต้องเปลี่ยนเส้นทางของเที่ยวบินจากต่างประเทศให้ไปลงจอดที่เมลเบิร์นและบริสเบน รวมถึงการงดให้บริการเรือเฟอร์รี

ทั้งสองเหตุการณ์นี้แม้จะเป็นพายุฝุ่นที่เกิดขึ้นอยู่เป็นประจำในพื้นที่นั้นๆ แต่ได้ทวีความรุนแรงขึ้นกว่าปกติ โดยในอินเดียนั้น ผู้เกี่ยวข้องระบุว่าเป็นเพราะการตัดไม้ทำลายป่า การสูบน้ำบาดาลขึ้นมาใช้มากจนเกินไป รวมถึงสภาพอากาศที่ร้อนผิดปกติในบริเวณดังกล่าวล้วนมีส่วนทำให้พายุฝุ่นในปีนี้รุนแรงกว่าที่ผ่านๆ มา ทางด้านกรมอุตุนิยมวิทยาของออสเตรเลียระบุว่า สาเหตุของพายุฝุ่นครั้งนี้เกิดจากสภาพอากาศที่แห้งแล้งยาวนานตั้งแต่เดือนส.ค.ในพื้นที่รัฐนิวเซาท์เวลส์ ซึ่งนับเป็นภัยแล้งครั้งร้ายแรงที่สุดในรอบ 100 ปี จนถึงขั้นที่รัฐบาลอนุญาตให้สามารถฆ่าจิงโจ้ซึ่งเป็นสัตว์ประจำชาติได้ เนื่องจากพบว่าจิงโจ้มีส่วนแย่งน้ำที่ใช้สำหรับอุตสาหกรรมปศุสัตว์ได้

ขึ้นชื่อว่าภัยพิบัติแล้ว สิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้คือความสูญเสีย ทั้งชีวิตและทรัพย์สิน รวมไปถึงความเชื่อมั่นของผู้คนทั้งในและต่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งบาดแผลที่เกิดขึ้นจากสิ่งที่สูญเสียไป แม้ปัจจุบันเราจะยังไม่สามารถหยุดยั้งภัยพิบัติที่เกิดขึ้นได้ แต่เราสามารถช่วยลดความรุนแรงของภัยพิบัติที่เกิดขึ้นได้ ไม่ว่าจะเป็นลดการตัดไม้ทำลายป่า ลดการใช้พลาสติก ประหยัดไฟ ลดการใช้รถยนต์ส่วนตัว ถ้าเราเริ่มลงมือทำตั้งแต่วันนี้ เหตุการณ์ภัยพิบัติในคราวหน้าอาจไม่รุนแรงถึงเพียงนี้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ